คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – จดหมายจากเบอร์ลิน ปี 2019

ชิ้นงานชวนอ่าน “จดหมายจากเบอร์ลิน” (ปี 1951[2494]) เรื่องสั้นในรูปแบบจดหมายจาก “ปทุม” ถึงชายคนรัก ชื่อ “อรรถ”  โดย “อ.ส.” กำหนดให้ปทุมเดินทางไปร่วมงานฉลองของเยาวชนและนักศึกษาสากลครั้งที่ 3 ที่เบอร์ลิน แล้วเขียนเล่าถึงการเดินทางของเธอ เพื่อนำไปสู่ประเด็นความก้าวหน้าของผู้หญิงและการเรียกร้องสันติภาพต่อต้านสงคราม

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและที่ผ่านการคัดเลือกในการประกวดเขียนใหม่ “จดหมายจากเบอร์ลิน” ให้ร่วมสมัยกับปี 2019 มีความแตกต่างทั้งในแง่การตีโจทย์ของการ “เขียนใหม่” และในแง่การสร้างสรรค์รูปแบบข้อเขียนประเภท “จดหมาย” โดยผู้อ่านสามารถสัมผัสได้ถึงการหยิบจับแง่มุมคนละแง่ของชิ้นงานชวนอ่านไปต่อยอด ซึ่งบ่งชี้ว่ารูปแบบจดหมายของชิ้นงานชวนอ่านมีความก้ำกึ่งหลายประการที่เอื้อต่อการแตกประเด็นใหม่ๆ ตั้งแต่ความก้ำกึ่งระหว่างความรู้สึกนึกคิดจากมุมส่วนตัวกับความคิดเห็นเปิดผนึกที่ต้องการสื่อในที่สาธารณะ ความก้ำกึ่งระหว่างระยะห่างทางเวลาและสถานที่ที่ทำให้ต้องเล่าทุกอย่างให้ฟังอย่างพรั่งพรูกับความสนิทชิดใกล้ที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายให้มากความ กระทั่งความก้ำกึ่งระหว่างการเขียนไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีโครงสร้างกับการตั้งมั่นครุ่นคิดอยู่กับเรื่องสำคัญที่คาใจ

ประเภทผู้อาศัยอยู่ภายในราชอาณาจักรไทย

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่

“จดหมายจากเบอร์ลิน ปี 2019” โดย วรรณา แต้มทอง

จดหมายจากเบอร์ลิน ปี 2019

จดหมายจาก ลวอย เซ ชาวกะเหรี่ยงอพยพในค่ายพักพิง “ชั่วคราว” ของไทยที่ได้เดินทางไปเบอร์ลิน เขียนถึง ลุงควา จี ที่เคารพนับถือ เล่าเรื่องชีวิตใหม่ในฐานะผู้อพยพ ว่าต้องปรับตัวอย่างไร โดยเปรียบเทียบความเป็นอยู่ที่เบอร์ลินกับที่ค่ายอพยพซึ่งเขาเติบโตมา พร้อมกับหยอดคำถามถึงสภาวะผู้อพยพที่ไม่เคยมีโอกาสกลับบ้านจริงๆ แต่นอกจากเรื่องของตัวเอง เขายังเล่าเรื่องเพื่อนใหม่ผู้ลี้ภัยหนีสงครามซีเรียมา และความเดือดร้อนของผู้คนในภาวะสงคราม ทำให้เห็นถึงชะตากรรมร่วมกันของผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในโลกปัจจุบัน

ผลงานชิ้นนี้มีความโดดเด่นที่การสร้างรายละเอียดของตัวละครอย่างมีเลือดเนื้อ ถ่ายทอดให้เห็นความสัมพันธ์ของลุงกับหลานได้ละเมียดละไม พร้อมกันนั้นยังพาผู้อ่านให้สัมผัสได้โดยลำดับถึงความยากลำบากของชีวิตผู้อพยพ ทั้งที่ใกล้ตัวอย่างกรณีชาวกะเหรี่ยง และที่ไกลตัวแต่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ในปัจจุบัน คือสงครามซีเรีย ทำให้เชื่อมโยงกลับไปถึง “จดหมายจากเบอร์ลิน” ซึ่งพูดถึงประเด็นใหญ่ในเวลานั้นคือการรณรงค์สันติภาพได้อย่างลงตัว

การกำหนดให้ภาพตัวแทนของเยาวชนเบอร์ลินผู้รอบรู้โลกกว้างเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่มีชื่อและภูมิหลังอันจำเพาะเจาะจง แทนที่จะเป็นคนผิวขาวเจ้าถิ่น หรือตัวแทนจากนานาชาติ หรือคนไทยที่เดินทางไปเรียนรู้โลกศิวิไลซ์ที่เมืองนอก ได้สร้างมิติที่ลึกล้ำและชวนครุ่นคิดมากกว่าการเปรียบต่างอย่างผิวเผินระหว่าง “ประเทศของเขา” ที่เจริญแล้วกับ “ประเทศของเรา” ที่ยังไม่เจริญ ด้วยสายตาของตัวละครที่ยังสัมผัสได้ถึงสงครามที่ยังไม่ห่างหายไปแม้จะได้อยู่อย่างปลอดภัยที่เบอร์ลิน เมื่ออ่านจดหมายจากหลานถึงลุงฉบับนี้ ผู้อ่านจะเห็นถึงความหมายและความสำคัญของสันติภาพทั้งต่อปัจเจกชนและต่อสังคมโลกในบริบทที่ร่วมสมัย โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยมุมมองของ “คนไทย” เป็นศูนย์กลาง นับเป็นการสานต่อสำนึกสากลนิยมของอัศนี พลจันทร ชนิดที่ไปได้ไกลกว่าเดิม

นอกจากนั้ันยังมีผลงานที่ทางโครงการฯ เห็นว่ามีความน่าสนใจและผ่านการพิจารณาเผยแพร่ออนไลน์อีก 2 เรื่อง ได้แก่

“จดหมายถึงเบอร์ลิน ปี ๒๐๑๙” โดย ชนา ชุติสมิต

จดหมายถึงเบอร์ลิน ปี ๒๐๑๙

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มีความน่าสนใจที่การนำเสนอความคิดอย่างแจ่มชัดเอาจริงเอาจังเพื่อสนทนาตอบชิ้นงานชวนอ่านในประเด็นเรื่องสันติภาพโดยย้อนไปตั้งต้นที่คำว่าความเสมอภาค เสรีภาพ และประชาธิปไตย เขียนถึง “คุณ…ที่รัก” อย่างค่อนข้างนามธรรม จึงอาจเป็นการสนทนากับผู้เขียน “จดหมายจากเบอร์ลิน” ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้พร้อมๆ กับเป็นการสนทนากับผู้อ่านร่วมสมัยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเยี่ยงอารยชนในยุคที่คำว่า “ชังชาติ” ผุดขึ้นมาเป็นเครื่องมือสาดโคลนและกีดกันการสนทนา

“จดหมายจากรัฐนี่” โดย ภูมิชาย คชมิตร

จดหมายจากรัฐนี่

ข้อเขียนชิ้นนี้มีความน่าสนใจตรงความพยายามของผู้เขียนที่จะเขียนทับรอยเดิมอย่างแทบจะเถรตรงไปทุกเม็ดในระดับประโยค โดยแทนค่าชุดคำสำนวนและเหตุการณ์ในอดีตด้วยสิ่งที่ดูร่วมสมัยแต่บิดพลิ้วความหมายไปคนละทิศคนละทาง จนทำให้เกิดตัวบทที่ชวนสะดุดใจ กลายเป็นการ “เขียนคนละเรื่อง” ของคนที่ใช้ภาษาเดียวกันแต่ความหมายตามจริงเหมือนอยู่คนละโลก เสมือนเป็นการท้าทายสโลแกนของโครงการฯ “เพื่อชุบชีวิตผลงานประวัติศาสตร์ให้เป็นอดีตที่ร่วมสมัย” ไปโดยปริยาย

ประเภทผู้อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทย

ไม่มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ

แต่มีผลงานที่ผ่านการคัดเลือก ได้แก่

“จดหมายจากมิวนิค” โดย พฤศจิกัญ

จดหมายจากมิวนิค

จดหมายกึ่งบันทึกชิ้นนี้มีความน่าสนใจที่ได้ให้รายละเอียดของการเรียนรู้ปรับตัวของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งตัดสินใจแต่งงานไปอยู่ที่มิวนิค และได้ไปรู้เห็นชีวิตผู้อพยพซึ่งเป็นเพื่อนใหม่ต่างเชื้อชาติภาษากับเธอ รวมทั้งการดูแลผู้อพยพชาวไนจีเรียของรัฐบาลเยอรมนี เมื่อเทียบกับจดหมายจากเบอร์ลินของ “อ.ส.” แล้วก็สามารถเห็นจุดร่วมของการเดินทางไกลด้วยตนเองของผู้หญิงเพื่อความหวังอย่างกระตือรือร้นต่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับทั้งตนเอง ประเทศบ้านเกิด และสังคมโลก นับเป็นการเติมเต็มชิ้นงานชวนอ่านในแง่ของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ประจำวันของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ในเยอรมนี อันเก็บเกี่ยวมาจากประสบการณ์การอาศัยอยู่ที่นั่นของตัวผู้เขียนใหม่

ประกาศ ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2562

ในวาระครบรอบวันสันติภาพไทย จากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488