อ่าน “บ้านป่าผมแดง”: ผู้ชายอีสานอยู่ตรงไหนในโลกของเมียฝรั่ง?

รู้สึกติดใจชื่อบทความ “โลกของ เมียฝรั่งเรื่องเล่าที่ไม่มีผู้ชายอีสาน ในสังคมที่ไม่มีอนาคต” ของวจนา วรรลยางกูร ผลงานที่มียอดผู้อ่านอันดับหนึ่งประจำปี 2019 บนหน้าสื่อ The101.world   ติดใจเพราะนานทีปีหนจะเห็นการเขียนเชิงวิเคราะห์ถึง “ผู้ชายอีสาน” เป็นกลุ่มเป็นก้อนแยกต่างหากจากการพูดถึง “คนอีสาน”  แถมครั้งนี้พูดถึงมันในฐานะสิ่งที่ไม่ปรากฏด้วย

คำถามที่เกิดขึ้นตลอดการชมสารคดี [Heartbound: A Different Kind of Love Story (2018), dir. Janus Metz & Sine Plambech] คือ “ผู้ชายอีสานหายไปไหน?” เมื่อตลอดทั้งเรื่องปรากฏแต่เรื่องเล่าการดิ้นรนของผู้หญิงอีสานที่ต้องดูแลลูกและครอบครัวอยู่ฝ่ายเดียว แต่ไม่ปรากฏการพูดถึงความรับผิดชอบของฝ่ายชาย กระทั่งว่าผู้ชายไทยไม่มีตัวตนในเรื่องเล่านี้ เมื่อชายหนุ่มอีสานเพียงคนเดียวที่ปรากฏในภาพยนตร์คือหลานพิการของสมหมายที่ต้องให้แม่ของเขาดูแลอยู่บ้าน

ผู้หญิงในสารคดีที่มุ่งมั่นอยากแต่งงานกับฝรั่ง ล้วนเป็นผู้หญิงที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตคู่อันไม่น่าจดจำกับชายไทยมา เข็ดขยาดการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกนอกใจ ต้องอยู่ในสภาพจำยอมเพราะต้องพึ่งพาการเงินจากฝ่ายชายที่ก็หาเงินได้ไม่มากมายนัก

การไม่ปรากฏตัวในภาพยนตร์ส่อถึงการหลุดวงโคจรไปจากชีวิต วลีภาษาอังกฤษว่า out of the picture สื่อภาพภาวะนี้ได้ลงตัวทั้งความหมายตามตัวอักษรและความหมายตามสำนวน ซึ่งมีคนให้คำนิยามไว้อย่างกระชับและจับใจว่า “Gone. Left. Could sometimes even mean dead. No longer important.”

ให้สงสัยว่า ถ้าพวกเขาไม่ได้อยู่ในภาพชีวิตผู้หญิงอีสานที่มุ่งหาผัวฝรั่ง ผู้ชายอีสานอยู่ตรงไหนบ้างล่ะในความสัมพันธ์นั้น? แวบไปแวบมาอยู่ข้างหลังหวังเกาะผู้หญิงกิน? ยืนหลบมุมด้วยสายตาเหยียดๆอย่างริษยาอยู่ในที? มองเมินไม่มัวหมกมุ่นกับภาวะเสียเปรียบในการเลือกคู่รักของตน?

(โถ่ อยู่แบบมีประโยชน์น่ะไม่มีบ้างเหรอ แฟร์ๆหน่อยสิ ขืนเขียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตุ๊ดฝ่ายซ้ายอย่างเธอจะกลายเป็นนักเหยียดผู้ชายอีสาน เป็นเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง เวอร์ชั่นมุมกลับนะ” ฉันเตือนตัวเอง)

…เค้นสมองจนคิดพ้อว่ารูปถ่ายใดๆ ก็ต้องมีคนกดชัตเตอร์ และคนถ่ายก็มักจะไม่ปรากฏตัวในรูปนั้น แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีบทบาทสำคัญในการจัดเฟรม – ศิลปินนักเขียนผู้ชายอีสานนั่นอย่างไรล่ะที่เป็นผู้ถ่ายทอดความสัมพันธ์นี้ไม่น้อยเลยทีเดียว

เพื่อเป็นตัวอย่างชวนคิด จะกล่าวถึง บ้านป่าผมแดง หนังสือรวม “เรื่องจริงจากประสบการณ์ตรง” เขียนโดย รอน โพนทอง ตีพิมพ์เมื่อปี 2556 ผู้ชายอีสานในเล่มนี้มีมิติน่าสนใจไม่แพ้ผู้หญิง จนรู้สึกว่าคำนำผู้เขียนไม่ยุติธรรมต่อตัวบทเท่าไหร่ :

“บ้านป่าผมแดง” คือชื่อของเรื่องที่ผู้เขียนได้คลุกคลีกับตัวละครที่ผ่านมาในชีวิตของผู้เขียน ตลอดเวลาสามสิบกว่าปี ที่ได้รับรู้เรื่องราวของพวกเธอ

เรื่องทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องจินตนาการ แต่มันเป็นเรื่องจริงที่ผู้เขียนได้สัมผัส อยากจะถ่ายทอดความสมหวัง ผิดหวัง ของพวกเธอที่คิดว่า ฝรั่งคือคนรวย หวังจะกอบโกยจากเขา พวกเขาลืมคิดไปว่า การแต่งงานกับคนต่างชาติ ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม มีอุปสรรคมากเพียงใด

“บ้านป่าผมแดง” เป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่ผู้เขียนอยากจะเล่า ถ่ายทอดให้คนได้รับรู้ มีคนพูดกันเสมอว่า ลูกสาวโตขึ้นให้มันไปแต่งงานกับฝรั่ง ไม่อยากได้คนไทย เพราะคนไทยจน ซึ่งเป็นค่านิยม ที่คนกำลังเห่อกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องจริงที่ว่า ทุกคนต้องแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า

 

[ท่าของหุ่นฟางบนปกชวนให้นึกถึง “แจ๊ก” กับ “โร้ส” แห่งภาพยนตร์ ไทแทนิก]

ถ้าอ่านเผินๆ อาจรู้สึกว่าคำนำนี้ไปพ้องกับการเหมารวมสาวอีสานของเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ว่ามีอุปนิสัยที่อยากเลื่อนชนชั้นผ่านการหาผัวฝรั่ง แทนที่จะขวนขวายให้การศึกษาแก่ตัวเอง ซึ่งรอน โพนทอง ก็พูดไปทำนองนั้นจริงๆนั่นแหละ เพียงแต่มีประโยคสุดท้ายที่โทนเสียงต่างออกไป ด้วยการอ้างสัจจะสากล “ทุกคนต้องแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า” โดยไม่มีท่าทีกล่าวโทษ  จึงขอให้พวกเราอย่าเพิ่งด่วนสรุปทัศนคติของนักเขียนจากภาคอีสานคนนี้

หนังสือมีสี่บทตามชื่อนางเอก “อีแหล่” “น้อย” “ต้อยติ่ง” “บัวสาย” แต่ในที่นี้จะเล่าเรื่องย่อแต่ละเรื่องโดยให้ความสนใจเป็นพิเศษกับตัวละครสมทบฝ่ายชาย จุดประสงค์เพื่อแย้มพรายภาพผู้ชายอีสานในหนังสือเล่มนี้

1 – อีแหล่เคยเป็นเมียของทิดก่ำ (ชื่อเข้าคู่กันมาก) ตอนแรกทิดก่ำก็เป็นคนดี แต่อยู่มาวันหนึ่งทิดก่ำติดการพนัน กลายเป็นคนไม่รับผิดชอบ ปล่อยให้แหล่รับจ้างขุดมันสำปะหลังหาเลี้ยงครอบครัวอยู่คนเดียว เล่นไฮโลเสียจนหมดตัว จำนำฮอดมอเตอร์ไซค์ แล้วด้วยหนี้สินที่ทิดก่ำก่อให้แหล่ก่อนหายหัวไป แหล่จึงทิ้งลูกสาวไว้ที่หมู่บ้าน ไปตายเอาดาบหน้าที่พัทยา ทำงานไปก็เข้าโรงเรียนสอนภาษาไปด้วย สุดท้ายแหล่ได้ตกล่องปล่องชิ้นกับโจ ชายใจดีชาวสวิสที่อายุมากกว่าแหล่ 30 ปี  แหล่ส่งเงินหมื่นกลับหมู่บ้าน ผู้ชายในหมู่บ้านล้อมวงวิจารณ์ว่าหรือคนดีๆอย่างแหล่จะไปหาผัวฝรั่งซะแล้ว  แหล่พาโจไปเยี่ยมบ้านป่า โจหลงรักธรรมชาติบริสุทธิ์ของชาวบ้านและชนบท จึงให้แหล่หาซื้อที่แล้วสร้างคฤหาสน์ขึ้นสำหรับชีวิตหลังเกษียณจนบั้นปลาย ระหว่างนี้ผู้อ่านได้รับทราบจากวงโสเหล่ว่า ทิดก่ำไปมีเมียใหม่แล้วอยู่อีกหมู่บ้าน น่าจะเห็นกันที่วงไฮโล ไม่กลับมาดูลูกอีกเลย “มันเสียใจที่เมียมันหนีไป” “แล้วใครที่ทำให้เมียมันหนี” (หน้า 42)

2 – น้อยเป็นแฟนกับจิมหนุ่มใหญ่ชาวเยอรมัน ไปสมัครเรียนภาษาอังกฤษกับครูคำทองเพราะแฟนอยากให้เรียน จะได้เขียนจดหมายถึงกันได้ น้อยเองก็อยากเรียนสูงๆกว่านี้และมีความคิดก้าวไกลชนิดที่ครูคำทองไม่คาดคิด น้อยมีลูกติดจากแฟนคนไทยสองคน ด้วยขาดรายได้จึงไปทำงานบริการชายฝรั่งมากมาย จนมาเจอจิมนี่แหละที่น้อยจะฝากผีฝากไข้ได้ ต่อมาจิมหัวใจวายหลังถูกชายฝรั่ง-สาวอีสานคู่หนึ่งโกงเงินลงทุน ทิ้งมรดกทั้งเงินและบ้านไว้ให้น้อยกับลูกสามคน ด้วยความเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของครอบครัว น้อยให้พงษ์พี่ชายคนโตยืมเงินไปซื้อที่เก็งกำไร ตามด้วยน้องสาวกับญาติๆจนเกลี้ยงบัญชี เหลือแต่บ้านกับรถ ต่อมาน้อยจำเป็นต้องใช้เงินสด ส่งลูกเรียนจนหมด คนสุดท้องกับจิมเพิ่งจะเข้าชั้นอนุบาล น้อยไปขอพงษ์ พงษ์บอกไม่มี ที่ดินยังไม่อยากขายตอนนี้ จะรอให้ราคาที่ดินขึ้นไปอีก “บอกว่าเงินไม่มี…ไม่มีเงินสด” (หน้า 66) วิภาเมียพงษ์ออกมาปกป้องพงษ์แทน แดกดันน้อยว่าไม่มีน้ำใจ น้อยทะเลาะกับญาติๆ สุดท้ายน้อยเดินทางกลับไปทำงานบาร์ที่เกาะสมุย

3 – ต้อยติ่งมาติดต่อครูคำทอง (อีกแล้ว) ให้ช่วยเขียนจดหมายหาแฟนที่ญี่ปุ่น (เขียนหาแฟนที่ยังไม่มี ไม่ใช่เขียนหาแฟนที่มีแล้ว) ครูคำทองเขียนตามสั่งเป็นภาษาอังกฤษ แล้วเอเยนซี่หญิงไทย-ชายญี่ปุ่นคู่หนึ่งจะเอาไปแปลอีกต่อ ต้อยติ่งตกเบ็ดได้โตชิ ครูคำทองเขียนจดหมายอีกหลายฉบับจนมัดใจโตชิได้ จนโตชิมาจัดพิธีวิวาห์ที่ห้องสวีทของโรงแรมในตัวเมือง แต่ชั่วข้ามคืนโตชิก็กลับฝันสลาย เพราะหนุ่มใหญ่วัย 48 ปีอย่างเขาต้องการหญิงพรหมจรรย์ ซึ่งสาวสวยวัย 19 อย่างเธอให้ไม่ได้ เป็นอันว่าเอวัง แต่จริงๆตัวเอกเรื่องนี้คือครูคำทอง เพราะเป็นพ่อสื่อตัวจริงอย่างไม่ทันรู้ตัว นอกจากต้อยติ่งเขายังเคยเป็นโกสต์ไรเตอร์ให้ผู้หญิงจำนวนมาก (ครูไม่ระบุว่ากี่ึคน แต่จากความนัยโคว้ตนี้:

ในเช้าวันนั้น ครูคำทองรู้สึกปลื้มกับคำชมของแม่ต้อยติ่ง ถ้าหากงานสำเร็จ ครูคงได้รับความขอบคุณและรางวัลค่าเหนื่อยบ้างล่ะ…เขาคิดในที เพราะเขาเขียนจดหมายให้สาวๆติดต่อกับฝรั่งมามากแล้ว จดหมายที่เขาเขียน…เขาไม่เคยเรียกร้องว่าต้องได้แค่นั้นแค่นี้ เขาเขียนเสร็จส่งให้ผู้หญิงเจ้าของจดหมายบางคนให้ค่าตอบแทนบ้าง บางคนไม่ให้ ถ้าเขาจะขอค่าเหนื่อยเขาก็เป็นคนกระดากที่จะพูด เขาเคยเขียนจดหมายให้ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นสิบๆฉบับ ไม่เคยได้รับค่าตอบแทนแม้แต่บาทเดียว เธอให้เขียนไปหาฝรั่งว่า พ่อป่วย แม่ป่วย ทั้งๆที่พ่อ แม่ของเธอตายไปแล้ว เธอเขียนจดหมายไปขอเงินมาซื้อหมู ค่ารำหมู หมูออกลูก ก็เขียนจดหมายไปขอเงินจากฝรั่ง ครูคำทองเคยพูดกับสาวคนนี้ว่าจะหาเรื่องอะไรให้โกหกอีกล่ะเธอก็ย้อนกลับว่า โกหกไปเถอะมันไม่ได้มาบ้านหรอก และเด็กสาวคนนี้ ยังติดต่อกับฝรั่งหลายคน (หน้า 73-74 และยังมีต่ออีกเยอะ)

ก็เดาได้ว่าหลักสิบแน่ๆ)

4 – บัวสายเดินไปหาครูคำทอง (อีกแล้วครับท่าน) ให้ครูเขียนจดหมายไปขอเงินบ็อบชาวออสเตรเลียให้หน่อย บัวสายมีแฟนหลายคน รวมถึงแฟนคนไทยที่เธออ้างว่าติดเหล้าและไฮโล เรื่องนี้ยาว 50 กว่าหน้า จุดพีคคือบ็อบหนุ่มแน่นชนชั้นแรงงานทำโอทีเก็บหอมรอมริบบินลัดฟ้ามาหาต้องหัวใจสลายเมื่อรับรู้ว่านางอยู่กับผัวชาวอิตาลีที่สร้างบ้านให้นางอยู่ตั้งนานแล้ว สรุปว่าบัวสายหลอกผู้ชายทุกคน รวมถึงครูคำทองด้วย:

“ผมรู้สึกผิดหวังกับบัวสาย”

“เธอทำให้ผมผิดหวังและเสียความรู้สึก”

“มันเกี่ยวกับครูด้วยหรือ”

“แน่นอน เพราะผมเขียนจดหมายให้เธอหลายฉบับแล้ว เขียนขอเงิน และแฟนเขาก็ส่งเงินมาให้ทุกเดือน”

“แฟนคนไหนล่ะ” บัวสายมีแฟนหลายคนแต่ละคนส่งเงินมาให้ใช้ มันสลับแฟนยังกะคนดัง

ครูคำทองได้ฟังประชาเล่า เขายิ่งเกิดความเคียดแค้นบัวสายเพราะเธอมาให้เขาเขียนถึงคนเดียว แต่คนอื่นๆไปจ้างคนทำธุรกิจในเรื่องนี้ เขียนให้คนในจังหวัด

ครูคำทองถูกหลอกเช่นเดียวกับบ็อบถูกเธอหลอก เขาทำงานด้วยความหวังดี ต้องการให้เธอและครอบครัวมีความสุข ไม่ได้ค่าตอบแทนในการเขียนจดหมาย

บัวสายอยู่ที่บ้านของตัวเอง อยู่กับฝรั่ง แต่เธอจะเอาเงินจากอีกคนหนึ่งแล้วกลับบ้านปล่อยให้คนที่เธอบอกให้มาหาในเมืองไทยอยู่คนเดียว ทั้งที่เขาเดินทางมาไกล จิตใจของเธอทำด้วยอะไร (หน้า 128-129)

มหากาพย์บัวสายจบลงด้วยตาฝรั่งชาวเบลเยี่ยมวิ่งหน้าตื่นหัวแตกเลือดเต็มหน้ามาหาครูคำทอง บอกว่าเมียด่าแล้วเอาไม้ตีหัว แล้วครูคำทองก็ได้รู้ว่าฝรั่งคนนี้คือผัวบัวสายอีกคน คนที่เขาเคยเป็นโกสต์ไรเตอร์ให้นั่นเอง! ตลอดทั้งเรื่องครูทองเป็นผู้คอยรับฟัง ปลอบใจและอวยชัยให้แก่ผู้ชายฝรั่งทั้งบ็อบและคนอื่นๆ

(อ่าน บ้านป่าผมแดง จบแล้วก็ได้แต่อุทานว่า Poor translator! ทั้งในความหมายตามตัวอักษรและความหมายตามสำนวน โถ นักแปลผู้น่าสงสาร!)

ถ้าจะเอาเรื่องทั้งสี่มาพล็อตกราฟพัฒนาการระดับคุณธรรม เส้นสีน้ำเงินของฝ่ายชาย ส่วนเส้นสีแดงของฝ่ายหญิง จะได้เป็นตัว X ตัดกันน่าฉงนฉงาย กล่าวคือเส้นสีน้ำเงินเริ่มจากทิดก่ำ ตามด้วยเป็นพงษ์ แล้วพุ่งขึ้นเป็นครูคำทองที่ขยับฐานะจากผู้รับฟังไปเป็นผู้สั่งสอน ในขณะที่เส้นสีแดงเริ่มจากอีแหล่คนดี ตามด้วยน้อย แล้วร่วงลงเป็นต้อยติ่ง จนถึงบัวสายอีตั๋วต้มต่ำตม

ผู้เขียนเองก็คงเซ้นส์ได้ถึงการสร้างภาพประทับเชิงลบนั้น อย่างที่ครูคำทองต่อว่าบัวสายว่า “มันผิดศีลธรรม ผิดประเพณี มันผิดทุกอย่าง และมันเสียหายแก่สังคมประเทศชาติของเรา คนต่างชาติเขาจะคิดว่าคนไทย ผู้หญิงไทยปลิ้นปล้อนตอแหล ทุกคน คบไม่ได้ ไว้ใจไม่ได้” (หน้า 133) เพราะอย่างนี้ละมั้งในตอนท้ายมหากาพย์บัวสาย ผู้เขียนจึงเล่า “กรณีศึกษา” (หน้า 149) ของหญิงอีสานใจงามมีการศึกษาลูกข้าราชการครูที่ลงเอยอย่างสุขสมหวังกับหนุ่มดัตช์นักทำสารคดี ให้เป็นตัวอย่างค้านพอหอมปากหอมคอ

กลับมาที่คำถามตั้งต้น “ผู้ชายอีสานอยู่ตรงไหนในความสัมพันธ์ระหว่างหญิงอีสาน-ชายต่างชาติ?” นอกจากชายไม่เอาไหนอย่างทิดก่ำ และชายเห็นแก่ตัวอย่างพงษ์แล้ว ก็ไม่มีผู้ชายอีสานคนใดในจักรวาลของ บ้านป่าผมแดง ที่จะโดดเด่นและเป็นประโยชน์เท่าครูคำทอง  คำทองโดดดิด่งไปมาระหว่างครูผู้เข้าอกเข้าใจในทางเลือกอันจำกัดกับครูผู้สั่งสอนศีลธรรม ระหว่างนักแปลหน้าชื่นที่ได้ช่วยให้หนุ่มสาวได้สุขสมหวังกับนักแปลอกตรมที่ถูกเอาเปรียบเหมือนผู้ชายหัวอกเดียวกัน ก็นับเป็นตัวอย่างที่ก้ำกึ่งดีทีเดียวของชายอีสานผู้ “ทำตัวเป็นประโยชน์”!

ทว่า ครูคำทองก็คือตัวแทนของ รอน โพนทอง ผู้แต่งหนังสือด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย  เขามิได้เพียงมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ผ่านจดหมายเหล่านั้น แต่เขามีส่วนวางเฟรมที่จะทำให้ผู้อ่านรับรู้ปรากฏการณ์นี้ในสังคมด้วย  ครูรอนผู้หลวมตัว (หรือถูกหลอกใช้) เป็นพ่อสื่อหัวจักร เป็นนักแปล-โกสต์ไรเตอร์ โดยที่บ่อยครั้งไม่ได้อะไรตอบแทนนอกจากความนับถือกลวงๆ จึงคล้ายได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจด้วยการจดจารเรื่องราวเหล่านี้ที่จะว่าเหยียดก็ไม่ใช่ จะว่าโอ๋ก็ไม่เชิง แต่ตีกรอบชีวิตเมียฝรั่งแน่ๆ

รอน โพนทอง ตั้งตนในช่วงเปิดเรื่องว่าเป็นผู้รู้จริงจากการอยู่คลุกคลีในพื้นที่ (สำหรับปรากฏการณ์ข้ามถิ่นที่ยากจะเข้าใจได้จากที่ที่เดียว) เป็นผู้ไกล่เกลี่ยทางวัฒนธรรมที่อยากถ่ายทอดเรื่องจริงให้คนรับรู้  ส่วนจะเป็นนิทานสอนใจใครอย่างไรก็ดูจะขึ้นอยู่กับคนอ่าน  ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าควรทำอะไรกับค่านิยม “ลูกสาวโตขึ้นให้มันไปแต่งงานกับฝรั่ง” หรือไม่ แต่ก็บอกชัดเจนว่ามันเป็นค่านิยมที่มีอยู่จริง

ส่วนที่ว่าค่านิยมนี้จะมีส่วนสร้าง “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” อย่างที่เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทองเขียนหรือไม่ จากการอ่านก็รู้สึกว่าคงมีส่วน การที่ผู้เขียนเพียรกล่าวถึงความจริงใจใสซื่อ เอื้ออาทร ว่าเป็นอุปนิสัยพื้นฐานของคนแถบสองฝั่งแม่น้ำของที่ทำให้ฝรั่งหลงเสน่ห์ในทุกเรื่องของ บ้านป่าผมแดง ทำให้รู้สึกว่าถ้าไม่ใช่ข้อยกเว้นทางกมลสันดาน พฤติกรรมของบัวสายก็ต้องเป็นการกลายพันธุ์อุปนิสัยนั้นตามกระแสสังคม

วิเคราะห์ตีความมาถึงตรงนี้ก็ชักจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับกรอบความคิดความเข้าใจอย่าง “ค่านิยม” “อุปนิสัย” “กระแสสังคม” แม้กระทั่ง “วัฒนธรรม” เต็มที เพราะบัวสายไม่ใช่ตัวแทนของสาวอีสานและบ็อบไม่ใช่ตัวแทนของชายชนชั้นแรงงานออสเตรเลีย พอๆกับที่รอน โพนทอง ไม่ใช่ตัวแทนของผู้ชายชาวอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด ประเทศไทย — เมื่อใดที่กรอบคิดกลายเป็นกรงครอบ ก็ต้องมองให้ทะลุมัน

การที่คนสองคนจากต่างทวีปจะมาสร้างความสัมพันธ์กัน มันมีแนวโน้มเกิดภาวะที่กรอบประเพณีของทั้งสองฝ่ายต้องถูกปล่อยไปอย่างช่วยไม่ได้  ในแง่นี้ฉันนึกเทียบกับความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่แบบชาย-หญิงตามกรอบประเพณี เช่นความสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกัน หรืออย่างความสัมพันธ์รักหลายคน (แบบที่ตกลงกับทุกฝ่ายนะคะ) ที่ทุกฝ่ายต้องเรียนรู้และเลือกกรอบความสัมพันธ์กันเอง ส่งผลให้ความเป็นตัวของตัวเองของแต่ละคนจะมีความสำคัญขึ้นมามากกว่าค่านิยมและกรอบประเพณี

จริงอยู่ที่ว่าแม้กรอบประเพณีจะถูกปล่อยไป มันก็ยังปล่อยไม่ไปอยู่นั่นเอง ดังที่วจนา วรรลยางกูร ถ่ายทอดในบทความ

หลังสารคดีเรื่องนี้เดินทางไปฉายหลายประเทศในยุโรป สมหมายเจอคำถามซ้ำๆ ว่า ทำไมลูกผู้หญิงต้องเป็นคนดูแลพ่อแม่และครอบครัว ทำไมลูกผู้ชายไม่ทำหน้าที่นี้

“เราตอบไม่ได้ จริงๆ ก็ไม่ใช่การบังคับ อีกอย่างที่ตอบไม่ได้คือทำไมประเทศไทยไม่มีสวัสดิการดูแล ขนาดโปแลนด์เขายากจนยังมีสวัสดิการเลย ไม่เหมือนบ้านเรา”

นี่เองพลังเกินต้านทานของวัฒนธรรม มันไม่ใช่การบังคับ แต่มันก็แกมบังคับ “จั๊กสิว่าจั่งใด๋” เป็นคำที่วัฒนธรรมเตะขึ้นมาจุกคอหอย เป็นการใช้ภาษาปิดปากแผลของกฎการกตเวทีที่บาดลึกในตัวเรา ใช่เพียงคำนินทาของชาวบ้านทั้งไทยและเทศอย่างที่เมียฝรั่งมักเจอ แต่ยังมีเสียงปีศาจใต้สำนึกแทงออกมาด้วยเมื่อไม่ดันทุรังทำ “หน้าที่” ลูกผู้หญิงที่ใจหนึ่งเจ้าตัวก็รู้อยู่ว่ามันเกินไปและไม่แฟร์ ทว่าอีกใจหนึ่งก็ไม่ลงไปปะฉะดะกับมัน ได้แต่เสมองไปยังนโยบายรัฐซึ่งอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง

และจริงอยู่ที่ว่าในการแต่งงานข้ามชาติ ยังมีความเสี่ยงภัยหลายอย่าง ตั้งแต่การใช้ข้ออ้างทางประเพณีของตัวเองเอาเปรียบอีกฝ่าย (อย่างผู้หญิงหลายคนใน บ้านป่าผมแดง) ไปจนถึงการถูกค้าหรือถูกฆ่าอยู่ต่างแดนโดยที่ญาติมิตรของตนไม่รู้ข่าวคราวนานนับสิบปี (อย่างกรณีศพปริศนาของคุณลำดวนที่คนอังกฤษเรียกว่า “The Lady of the Hills”)

แต่ถึงอย่างไรการหลุดไปจากวงโคจรของผู้ชายอีสานและการหลุดไปจากกรอบการมองโลกแบบไทยๆก็นับเป็นโชคลาภอันประเสริฐ ฉันอยากปิดท้ายด้วยการเปิดออกไปสู่ความเป็นไปได้แห่งเสรีภาพในความสัมพันธ์ข้ามชาติ ผ่านแชทติดเรทของหนุ่มฝรั่ง-สาวอีสานคู่หนึ่ง ซึ่งบังเอิญสาวอีสานคนนี้คือ “นางบี” เจ้าของภาพถ่ายที่ถูกนำไปพาดหัว “อุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม” บทความเจ้าปัญหาของมติชนออนไลน์  ก่อนหน้าเธอจะรับรู้ถึงบทความนั้นไม่นาน เธอโพสต์สกรีนช็อตของการแชทกับแฟน “อ้ายสติ๊ก” ให้ผู้ติดตามกว่าสี่แสนรายบนเฟซบุ๊กชื่อ Jessica Difford ได้อ่าน

โพสต์นั้นจั่วหัวว่า

“ทะลึ่งข้ามขอบฟ้า บักห่านิกะดาย
ส่งมาหาสะแตกหยังตอนตี1 กุกำลังหลับ
งึด!”

จากนั้นเป็นภาพแชทแมสเซนเจอร์ ซึ่งถอดเป็นตัวอักษรให้อ่านสะดวกได้ว่า

Stick: [ส่งรูปหน้าตะแคงบนหมอนตะมุตะมิมาให้]

Bee: E yang?

Stick: Whao kap Nong Bee easy

Stick: Khin hot

Bee: Kit hod
Baa man khin hot
Buk haa ni !

Stick: Baa man

Stick: Khin hot

Stick: Khin hee

[แชทส่วนหนึ่งถูกข้ามไป]

Bee: 🤣🤣🤣

Bee: Ta lueng na mueng! Diew gu si tob!

Stick: Diew diew mueng rawang na, Gu si tob h** mueng

Stick: Mueng pai khin bee boom khon

Bee: Err gin leaw

Bee: Non non

Bee: Soa woa gu yak non

Stick: Mueng ma krung thep baa ? Ma hen aye stick, got, jub, kap 4 khan duay

Bee: Buk haa ni mea…

Bee: Non!

นี่ยังไงล่ะ หนึ่งความเป็นไปได้ของเรื่องราวเมียฝรั่งแบบที่ไม่ต้องผ่านการเรียบเรียง, แปลความ, หรือบรรณาธิการโดยผู้ชายไทยๆ.