ย้อนมองระบบสาธารณสุขไทยผ่านวัณโรคในปี 2493


ย้อนมองระบบสาธารณสุขไทยผ่านวัณโรคในปี 2493
ข้อเขียนชวนคิดจาก น.พ.เจริญ สืบแสง อดีตผู้แทนราษฎรปัตตานี



 

จำนวนผู้ป่วยวัณโรคปีละเป็นเรือนแสนกับผู้เสียชีวิตอีกเรือนหมื่นนับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเรื่อยมา คือค่าประมาณเชิงสถิติที่นายแพทย์เจริญ สืบแสง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดปัตตานี อ้างอิงไว้ในบทความเรื่อง “วัณโรค ปีศาจที่กำลังคุกคาม” โดยเขาได้อธิบายถึงสถานการณ์ของวัณโรคซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรงและแพร่ระบาดไปทั่วโลก และขยายความให้เห็นถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศในปี 2493

บทความดังกล่าวตีพิมพ์ลงใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2493 เจริญในฐานะผู้แทนราษฎร ชี้ให้เห็นถึงความทุกข์และความเดือดร้อนของผู้ป่วยวัณโรคที่ถูกรังเกียจและกีดกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนยากไร้ที่เผชิญเคราะห์กรรมอย่างซ้ำซ้อน จากการที่ฐานะทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้เจ็บป่วยและไร้หนทางรักษาให้หายขาด

ในฐานะแพทย์ เจริญอธิบายถึงลักษณะการติดต่อของวัณโรค วัคซีนรักษาโรค ตลอดจนศักยภาพในการรักษาพยาบาลของประเทศไทย เขาให้ข้อมูลด้วยว่าสถานพยาบาลทั่วประเทศในเวลานั้นมีเตียงสำหรับคนไข้เพียงร้อยกว่าเตียง และมีบุคลากรไม่เพียงพอ จึงไม่ได้สัดส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยจำนวนมากมาย เจริญเสนอหนทางแก้ไขว่าต้องย้อนกลับไปที่นโยบายของรัฐบาล และความร่วมมือประสานงานกันหลายส่วนรวมถึงกับองค์กรระหว่างประเทศด้วย

บทความอายุ 70 ปีชิ้นนี้มีหลายส่วนที่น่าอ่านเปรียบเทียบกับสถานการณ์โรคระบาดและระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน   และไม่เพียงแค่เนื้อหาเท่านั้นที่น่าสนใจ แต่บทความนี้ยังเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แล้ว ผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตยต่างก็ทำหน้าที่ของตนเองตามความรู้ความสามารถ และเสนอความคิดเห็นต่างๆ เพื่อผลักดันให้สังคมไทยทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ

น่าเสียดายที่งานเขียนของผู้แทนราษฎรเหล่านี้ตกหล่นพลัดหายไป (ยังไม่นับว่าผู้แทนฯ บางคนก็ถูกฆาตกรรมอย่างโหดเหี้ยม อย่างเช่นในกรณี “4 รัฐมนตรีอีสาน”!) เราจึงต้องพยายามค้นหางานของพวกเขากลับมาอ่านใหม่กันในวาระต่อๆ ไป

เจริญ สืบแสง หมอและนักการเมือง ผู้ซึ่งต่อมาได้ก้าวไปเป็นประธานคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย และได้ถูกรัฐบาลกวาดจับพร้อมกับเพื่อนร่วมอุดมคตินับร้อยคนในกรณี “กบฏสันติภาพ” เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 เขียนถึงวัณโรคไว้อย่างไร ต่อไปนี้คือเนื้อหาทั้งหมดจากบทความของเขา

สำนักพิมพ์อ่านขอขอบคุณ คุณเฉลิมชัย สืบแสง บุตรชายของนายแพทย์เจริญ สืบแสง ที่อนุญาตให้เผยแพร่เนื้อหาทั้งหมดของบทความเรื่องนี้ ส่วนภาพบทความนี้จากหนังสือพิมพ์ สยามนิกร สำนักพิมพ์อ่านถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับซึ่งได้รับการเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

วัณโรค ปีศาจที่กำลังคุกคาม
โดย นายแพทย์เจริญ สืบแสง

วัณโรค หรือโรคที่เรียกกันตามธรรมดาสามัญว่าฝีในท้องนั้น ทุกวันนี้กำลังลุกลามแพร่หลายในทุกประเทศที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากภัยสงคราม รวมทั้งประเทศเราด้วย การอพยพหลบภัยสงคราม การขาดแคลนอาหาร บ้านที่อยู่อาศัย ความอัตคัดขัดสนและความหิวโหย บุคคลที่ได้รับภัยเหล่านั้นมีโอกาสเปนเหยื่อของโรคนี้ได้ง่ายยิ่งกว่าบุคคลอื่น

วัณโรคในเมืองเราไม่เปนโรคที่บังคับให้ต้องแจ้งความต่อพนักงานสาธารณสุข เปนเงียบๆ ตายเงียบๆ ไม่มีพิธีเอะอะโครมครามเปิดหวูดเปิดหวอ อย่างไข้ทรพิษ อหิวาต์ หรือกาฬโรค เปนโรคที่แผนกราชการ และองค์กรของรัฐบาลรังเกียจ ไม่ยอมรับบุคคลที่เปนโรคนี้เข้าทำงาน จะต้องมีใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้น ๑ รับรองว่าไม่เปนโรคนี้จึงจะเข้าทำงานได้ ขณะที่รับราชการหรือทำงานอยู่ เมื่อเปนโรคเช่นนี้ขึ้นก็จะต้องลาออก หรือถูกปลด หายจึงกลับเข้ามาใหม่ เพื่อนร่วมงานก็ชันจะรังเกียจ ช่างตัดผม ดัดผม แต่งหน้า แต่งเล็บ ที่เปนโรคนี้ เทศบาลทุกแห่ง มีเทศบัญญัติบังคับไม่ให้ประกอบอาชีพ ครูทุกคนจะต้องถูกออกจากงาน หากว่าเปนโรคนี้ขึ้นมา เพราะเกรงจะถ่ายโรคให้กับศิษย์ของตัวรวมไปกับวิชาที่สอน

ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ในระยะที่อาการไม่ค่อยดี ตามจังหวัดต่างๆ จะโดยสารรถไฟเข้ามารักษาตัวในจังหวัดพระนครโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารตามนโยบายของรัฐบาลที่ประกาศเอาอกเอาใจไปด้วยความหวังว่าจะมีทางหายได้ ก็ถูกกรมรถไฟห้าม โดยถือว่าเปนโรคติดต่อ “ที่น่ารังเกียจ และเปนภัยแก่สังคม” รวมอยู่ในพวกโรคเรื้อน อหิวาต์ ไข้ทรพิษ ไข้กาฬนกนางแอ่น ฯลฯ (ประกาศกรมรถไฟ พ. ๕ ด.ส.๑.๗/.๔ ลงวันที่ ๒๐ พ.ค. ๙๒)

แต่ถ้าไม่ไปขอใบรับรองจากข้าหลวงประจำจังหวัด นายอำเภอหรือแพทย์สาธารณสุขเพื่อแสดงแก่นายสถานีขอยกเว้นค่าโดยสารแล้วไม่เปนที่น่ารังเกียจ หรือเห็นว่าเปนภัยต่อสังคมแต่อย่างใด ซื้อตั๋วแล้วก็ขึ้นไปนั่งได้เลย

กรรมของผู้ป่วย

บุคคลผู้มีเคราะห์กรรมเหล่านี้ไม่ได้เที่ยวเสาะแสวงหาโรคมาใส่ตัวเองอย่างแผลริมอ่อน, ริมแข็ง, หนองใน หรือสิพิลิซ มีคนกี่เปอร์เซ็นต์ที่รู้ว่าวัณโรคเปนโรคติดต่อ และติดต่อกันได้อย่างไร ฐานะการดำรงชีพอย่างยากจนค่นแค้น ความไม่สามารถที่จะหาบ้านอยู่อาศัยที่ถูกอนามัย และกินอาหารที่มีวัตถุธาตุทำให้ร่างกายสมบูรณ์เพียงพอที่จะต้านทานโรคนี้ได้ การบกพร่องในเรื่องการจัดการสุขาภิบาล ผังเมือง และการควบคุมการก่อสร้างอาคารทั่วไปของรัฐบาล การปล่อยปละละเลยให้ผู้ป่วยเก่ามีอิสสระเสรีในการที่จะแจกจ่ายโรคนี้ให้แก่บุคคลอื่นอยู่ได้อย่างสม่ำเสมอ และไม่มีวิธีการแยกผู้ป่วยให้พ้นจากการมั่วสุมคลุกคลีในระหว่างผู้ที่ยังไม่ป่วยเหล่านี้ เปนมูลเหตุสำคัญบางประการที่ทำให้เขาได้รับเคราะห์เพิ่มขึ้น โดยไม่มีทางที่จะหลีกเลี่ยงได้

คร่าชีวิตปีละหมื่น

จำนวนผู้ที่ตายไปเพราะโรคนี้ในประเทศเราก่อนสงครามก็ดี ระหว่างสงครามและหลังสงครามก็ดี ไม่ได้แสดงว่าโรคนี้ได้ลดความคุกคามลงเลย  ตัวเลขของกองสถิติพยากรณ์ชีพ กรมสาธารณสุข รวบรวมไว้ชั่วระยะ ๑๐ ปี นับจากปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ถอยหลังขึ้นไปบอกให้เราทราบได้ว่าโรคนี้โรคเดียวได้คร่าชีวิตมนุษย์ไปเสียแล้ว ๑๐๐,๙๙๗ คน คิดเฉลี่ยเปนปีก็ปีละหมื่นคนเศษ และก็เนื่องจากโรคนี้ไม่บังคับให้จำต้องแจ้งความเมื่อป่วย จึงไม่รู้กันแน่ว่า ที่ตายกันปีละเท่านี้นั้น มีผู้ที่ป่วยอยู่เท่าไร แต่ถ้าจะถือเอาการประมาณตามมาตรฐานการคำนวนแบบของอเมริกา โดยเอา ๑๐ คูณจำนวนตาย ก็จะได้ผลลัภเปนจำนวนผู้ป่วยแสนเศษเปนประจำปี และฉะเพาะในเขตต์เทศบาลนครกรุงเทพฯ ขณะนี้มีประมาณ ๑๕,๐๐๐ คน

เรามีพลเมือง ๑๗ ล้านเศษ ป่วยเปนวัณโรคปีละแสนคนเศษ และตายด้วยโรคนี้ปีละหมื่นเศษ ทุพลภาพ กะปลกกะเปลี้ยอีกเท่าไรไม่ทราบแน่ แต่เรามีโรงพยาบาลวัณโรคกลางที่ปากเกล็ด นนทบุรี มีเตียงรับคนไข้ได้ ๕๐ คน กำลังสร้างเพิ่มเติมในปีนี้ให้จุได้อีก ๒๕ เตียง รวมเปน ๗๕ เตียง แห่งหนึ่ง เรามีสมาคมปราบวัณโรคที่หลักสี่กำลังสร้างตึกเพื่อให้มีเตียงรับคนไข้ได้ ๔๐ เตียงอีกแห่งหนึ่ง รวมสถานพยาบาล ๒ แห่ง มีเตียงพอจะรับคนไข้ได้ ๑๑๕ เตียง สำหรับแยกผู้ป่วยหรือผู้ป่วยต้องการแยกให้พ้นจากความรังเกียจ และความเปนภัยแก่สังคม หรือพักผ่อนรับการรักษาพยาบาล การปลีกตัวคนไข้ออกมาจากคนดี เปนวิธีที่จะลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น แต่จะมีทางลดได้อย่างไร ในเมื่อมีเตียงเปนผักชีโรยหน้าอยู่ ๑๑๕ เตียงต่อผู้ป่วย เอากันแต่ในจังหวัดพระนครแห่งเดียวก็ไม่พอ บางคราวโรงพยาบาลวัณโรคกลางนนทบุรีต้องใช้ตึกอำนวยการเปนตึกคนไข้สำหรับวางเตียงเพิ่มเพื่อรับคนไข้รายที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ดังนั้นคนเดินถนนทั้งหลายบางขณะจะเห็นคนไข้พวกนี้นอนรอรับความตายอยู่ทางเท้าริมถนน อีกสักเมื่อไหร่ เราจะมีจำนวนเตียงพอที่จะไล่หลังจำนวนผู้ป่วยซึ่งกำลังรอรับความช่วยเหลืออยู่นั้นได้ ไม่ทิ้งกันไกลลิบลับอย่างเดี๋ยวนี้

ควรเพิ่มสถานตรวจปอด

ผู้ป่วยขณะนี้ มีอยู่เท่าไรแน่ และอยู่ที่ไหนบ้าง ตลอดจนชายหญิงเท่าไหร่ อายุวัยไหนเปนมากกว่ากัน อาชีพอย่างไหนเปนมากเปนน้อย น่าจะเปนเรื่องจำเปนที่ควรจะรู้กันเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคนี้ เมื่อไม่เปนโรคจำต้องแจ้งความก็มีทางเดียวคือสำรวจ จะให้มาแจ้งความหรือเจ้าหน้าที่ออกเสาะหาสืบค้นเอาเอง ก็น่าจะได้ผลบ้าง งานของสถานตรวจโรคปอดที่ยศเสพระนครถึงแม้จะได้เคยทำการทดลองทุเบอร์คุลิน (tuberculin test) และตรวจปอดนักเรียนบางโรงเรียนในพระนครมาคราวหนึ่ง ก็คงได้ตัวเลขในวงจำกัดที่ได้ทำ จะยึดเอาเปนหลักในการที่จะทำแผนการควบคุมโรคนี้คงไม่ได้ แต่ผลที่ได้ทราบจากการทำงานคราวนั้นน่าจะเปนเรื่องให้กระทำต่อเนื่องกันไปอีก ฉะเพาะในพระนครและธนบุรีสถานตรวจปอดอย่างที่ยสเสควรจะได้มีเพิ่มขึ้นอีกหลายๆ แห่ง ให้พอสมดุลย์กับจำนวนผู้ป่วยที่ประมาณกัน ควรมีเจ้าหน้าที่และงานเพิ่มขึ้นด้วย คืองานรับแจ้งความคนป่วยและสืบเสาะค้นหาผู้ป่วยเปนต้น

กันดีกว่าแก้

ผู้ป่วยส่วนมากเปนผู้ยากจน ไม่มีรายได้เหลือเฟือพอที่จะสะสมไว้ในยามเจ็บไข้ บางคนอาจเปนหัวหน้าครอบครัว มีภาระที่ต้องเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว เมื่อป่วยเปนนี้โรคนี้และต้องแยกไปอยู่ต่างหากในสถานพยาบาล ก็ไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้ บุคคลในครอบครัวก็ตกอยู่ในฐานะลำบากอย่างกระทันหันชั่วขณะ หากจะมีบริษัทรับประกัน การป่วยด้วยโรคนี้ บุคคลที่มีรายได้ฝืดเคืองเช่นนั้นก็ไม่สามารถจะเอาประกันได้ เพราะไม่มีรายได้เหลือพอที่จะเจียดจ่ายค่าพรีเมียมได้ ซึ่งไม่ใช่เปนปัญหาในเรื่องคุ้มครองครอบครัวอย่างเดียว ยังพลอยเปนเรื่องยุ่งยากแก่การสำรวจค้นหาจำนวนผู้ป่วยอีกด้วย

วัณโรคเปนโรคที่หายช้าและค่อยเปนค่อยไป เมื่อยังมีเรี่ยวแรงทำงานได้ก็ยังไม่หยากแยกไปเพราะเปนห่วงครอบครัวยิ่งกว่าตัวเอง จึงปิดบังอำพรางโรคของตัว เพื่อให้ได้ประกอบอาชีพต่อไป ซึ่งเปนการฆ่าตัวเองเร็วขึ้น และมีโอกาศแจกจ่ายโรคให้แก่บุคคลในครอบครัวเพิ่มขึ้นอีก

ประชาชนทั่วไปควรจะได้รับความเข้าใจให้ดีว่าการที่จะสู้รบกับวัณณโรคนั้น การป้องกันเปนเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการรักษาพยาบาลกันภายหลังมาก ทุกวันนี้ด้วยความช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกองทุนฉุกเฉินระหว่างประเทศสำหรับเด็ก (UNICEF) การฉีดปลูกวัคซีน BCG ในหลายประเทศ ทำนองการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้ผลดีในทางป้องกัน โดยลดจำนวนผู้ป่วยและตายลงได้มาก วัคซีน BCG คือ Bacillus Calmette Guerin ได้ชื่อมาจากชาวฝรั่งเศสสองคน คือนายแพทย์คัลเมตกันายแพทย์เกอแรงเปนผู้ค้นคิดทำ กล่าวกันว่าวัคซีนนี้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ถึง ๘๐% เมื่อเปรียบเทียบกับที่ยังไม่ได้ฉีด ผลของการทลองทุเบอร์คุลินแก่นักเรียนโรงเรียนบางแห่งในพระนครตามที่สถานตรวจโรคปอดยสเสเคยทำเมื่อปีกลาย ก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปต้องการวัคซีน BCG เพื่อให้ความคุ้มกันโรคนี้แก่เขาอย่างรีบด่วน เมื่อไหร่เราจะมีวัคซีนชนิดนี้?

ต้องประสานงาน

อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมกันว่าการสร้างสถานตรวจโรคปอดก็ดี การสร้างสถานพยาบาลผู้ป่วยเพื่อแยกออกจากสังคม การสร้างสถานที่พักฟื้น หรือการปลูกวัคซีน BCG เหล่านี้แต่ละอย่างไม่อาจสัมฤทธิผลได้ตามลำพัง ทุกอย่างต้องประสานเกี่ยวโยงกัน และพร้อมๆ กัน

รัฐบาลได้ตั้งเงินไว้ ๑๐๐,๐๐๐ บาท เปนค่าใช้จ่ายในการควบคุมวัณโรคร่วมกับสหประชาชาติในปีนี้ เงินเท่านี้พอที่จะร่วมมือกับเขาแล้วหรือ? องค์การสหประชาชาติได้วางหลักการให้ความร่วมมือไว้ตั้งแต่ก่อตั้ง Unicef ว่า รัฐบาลหรือองค์การใดๆ ในประเทศนั้น จะต้องให้ความร่วมมือช่วยเหลือร่วมไปกับ Unicef ด้วย ไม่ใช่ Unicef ออกเงินข้างเดียว อย่างน้อยเปนจำนวนเงินเท่าๆ กับที่ Unicef ออกช่วย เมื่อรัฐบาลวางเงินล่อไว้เท่านี้ ก็จะได้จาก Unicef อีกเท่าๆ กัน เพื่อควบคุมวรรณโรค ซึ่งมีผู้ป่วยหนึ่งแสนคนเศษ จะสร้างสถานวิจัยสักหลัง หรือทำวัคซีน BCG ก็ไม่พอ และรัฐบาลก็น่าจะละอายในการประหยัดที่ไม่ถูกทางเช่นนี้

แพทย์ก็ดี พยาบาลก็ดี ที่คลุกคลีปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ท่ามกลางกลิ่นไอละออง เสมหะน้ำลาย น้ำเหลือง หนอง มีโอกาศติดโรคนี้ และเสี่ยงชีวิตอยู่ทุกขณะ จึงหาแพทย์และพยาบาลได้ยาก จึงควรได้รับความเหลียวแล ในการที่จะให้ความคุ้มครอง และส่งเสริมกำลังใจจากรัฐบาลบ้างตามสมควร

เรากำลังต้องการพลเมือง ไม่ใช่แต่เพียงจำนวนเท่านั้น แต่ต้องปราศจากความพิการทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ จิตต์ฟั่นเฟือน หรือไม่สมประกอบแต่อย่างใดด้วย

๒๔ มีค. ๙๓