หนึ่งความฝันถึงสยามประเทศของเตียง ศิริขันธ์ : จาก “เอมีล” ถึง “เพื่อนครู”

“… ขอให้ผู้เขียนคำแนะนำนี้ฝันถึงวันข้างหน้าเถิดว่า แม้ผู้เขียนจะล่วงลับไปแล้ว วิญญาณของผู้เขียนก็จะหยั่งทราบว่าครูไทยได้นำหลักวิทยาศาสตร์ เข้าสนับสนุนความสถาพรของสยามรัฐธรรมนูญ!  ครูไทยได้เพาะพลเมืองไทยให้เป็นผู้กอปร์ด้วยเหตุผล!   ในวันข้างหน้าโน้น ผู้เขียนหวังอยู่ว่า ความหยั่งรู้ถึงเหตุผลนี้แหละ จะทำให้ชาวไทยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในการเลือกตั้งห่างไกลจากมุโขโลกนะ ความเห็นแก่หน้าบุคคลเพราะอคติเข้าครอบงำ!  ความหยั่งรู้เหตุผลนี้แหละจะทำให้เราได้ผู้แทนราษฎรที่ดี!  และในที่สุดความหยั่งรู้เหตุผลนี้แหละจะนำให้สยามประเทศก้าวหน้า ผู้เขียนขอยกเรื่องเหล่านี้ให้เพื่อนครูไทยช่วยคิดต่อๆ ไป”
— เตียง ศิริขันธ์, บทที่ 17 วิธีสอนวิทยาศาสตร์ ใน เพื่อนครู เล่ม 4, หน้า 328-329 (สะกดคำและเน้นข้อความด้วยการขีดเส้นใต้ตามต้นฉบับ)

หลายปีมาแล้ว ในร้านหนังสือแห่งหนึ่งกลางเมืองกรุง ดิฉันบังเอิญเจอหนังสือแปลเล่มหนึ่งที่ดึงดูดสายตาตั้งแต่แว่บแรก  เอมีล [1] คือชื่อหนังสือเล่มนี้ ผู้ประพันธ์คือ ยัง ยาคส์ รูซโซ หรือ และ “ศิริขันธ์” คือชื่อผู้แปลที่ทำให้ต้องรีบหยิบมาพลิกอ่าน

น่าดีใจที่เดาไม่ผิด ว่านี่คือนามปากกาของเตียง ศิริขันธ์ อดีตครูผู้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าของฉายา “ขุนพลภูพาน” ผู้แทนราษฎรคนหนึ่งในความทรงจำและในความใฝ่ฝันของราษฎรไทย แม้เตียงจะจากโลกนี้ไปในวัยเพียงสี่สิบสามปี  โดยเขากับเพื่อนอีกสี่คน[2] ถูกอุ้มหายในเดือนธันวาคม 2495 ภายหลังกรณีกบฏสันติภาพวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495

ที่น่าดีใจมากขึ้นก็คือ เอมีล พากย์ไทย ตีพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 หรือในราวสี่ปีภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เป็นที่ทราบกันว่า เอมีล มีเนื้อหาว่าด้วยการศึกษา และเป็นหนังสือที่โด่งดังคู่กันกับ สัญญาประชาคม ซึ่งว่าด้วยการเมือง หนังสือสองเล่มนี้ตีพิมพ์ออกมาในฝรั่งเศสปีเดียวกัน คือ ค.ศ.1762 (พ.ศ. 2305) และเป็นส่วนหนึ่งของการเสนอแนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมกันของมนุษย์และหลักประชาธิปไตย ก่อนหน้าการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส ค.ศ. 1789  ส่วนรูซโซ ผู้เขียน ต้องหนีเอาตัวรอดหลังจากที่ทางการสั่งห้ามจำหน่ายและเผาทำลายหนังสือสองเล่มนี้

ศิริขันธ์เกริ่นในคำนำว่าเขา­รู้สึกหวั่นใจเมื่อคิดถึงความรู้ความสามารถของตนเอง แต่เป็นเพราะได้ “ปักใจ” ไว้ว่าจะแปล เอมีล ตั้งแต่เมื่อยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย จึงทำตามเจตนาของตนและทำตามคำสอนของรูซโซด้วย

“การปักใจของข้าพเจ้านั้นเป็นอันว่าจะไม่ยอมถอน ท่านรูซโซสอนข้าพเจ้าไว้เช่นนั้น ‘เป็นคนต้องทำตามปากพูด’ ” (น.5-6)

จากข้อมูลเกี่ยวกับผู้แปลที่ท้ายเล่ม เตียง ศิริขันธ์ เกิดในปี 2452 พื้นเพมาจากครอบครัวคหบดีฐานะดีมากในจังหวัดสกลนคร เขาจบประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ แล้วเข้าศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นรับราชการครูที่โรงเรียนหอวัง แล้วย้ายไปเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ที่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี

ด้วยพื้นฐานการศึกษาดังกล่าว ศิริขันธ์จึงแปล เอมีล ของรูซโซได้โดยไม่ขัดเขิน ทว่าเขาไม่เพียงแค่ “ทำตามปากพูด”  ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น เตียงกับมิตรสหายยังช่วยกันจัดทำหนังสือชุด เพื่อนครู เพื่อเป็นคู่มือสำหรับครูในต่างจังหวัดไว้ใช้สอบเลื่อนวิทยฐานะ หนังสือชุดนี้มีห้าเล่มด้วยกัน คือ หลักการศึกษา ประวัติการศึกษา จิตวิทยา การสอนวิชาเฉพาะ และนักการศึกษา [3] นอกจากนั้นเขายังร่วมกับจำรัส สุขุมวัฒนะ เขียนหนังสือเรื่อง หัวใจปฏิวัตรในฝรั่งเศส อีกด้วย

เท่ากับว่าเตียงในขณะที่เป็น “ครูสอนวิชาครู โรงเรียนฝึกหัดครูประถม” [4] ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานเพื่อ “ให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร” ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร ก่อนหน้าที่เขาจะเป็นผู้ก่อตั้งพรรคสหชีพ และลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครในปี 2480 แล้วเข้าสู่วงการเมืองจนวาระสุดท้าย

เอมีล และ เพื่อนครู [5]  จึงเป็นหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาในยุคแรกประชาธิปไตยของไทย ทั้งสองเล่มมีเสน่ห์ชวนอ่านต่างกันไป ผู้แปล เอมีล ทำงานอย่างพิถีพิถัน เขาบอกเล่าเหตุผลของการแปลหนังสือเล่มนี้ เขียนบทแนะนำเกี่ยวกับรูซโซ และเขียนบทวิพากษ์ เอมีล ไว้ท้ายบทแปลเพื่อแลกเปลี่ยนถกเถียงกับตัวบทด้วย ส่วน เพื่อนครู นั้น ดูเผินๆ เป็นหนังสือชุดคู่มือสำหรับครู แต่เท่าที่ดิฉันได้อ่านเฉพาะ เพื่อนครู เล่ม 4 (เนื่องจากข้อจำกัดในการสืบค้น) ซึ่งว่าด้วยการสอนวิชาการต่างๆ ปรากฏว่า ประเด็นแกนกลางของเนื้อหารวมอยู่ที่การสร้างประชาธิปไตย และสร้างพลเมืองใหม่ให้กับประเทศอย่างน่าทึ่ง ดัง­­จะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

เอมีล กับ คำวิพากษ์เอมีล

เอมีล พากย์ไทยโดยศิริขันธ์ บรรจุเนื้อหาของบรรพแรก แต่อันที่จริงศิริขันธ์ได้แปลบรรพที่สองไว้แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้จัดพิมพ์ อีกทั้งเขามีโครงการจะแปลหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดด้วย ดังที่เขาเล่าในคำวิพากษ์ เอมีล ท้ายเล่มว่า “เพราะ เอมีล ของรูซโซเป็นพากย์ไทยออกมาแต่เพียงบรรพเดียว การวิพากษ์ข้อความของรูซโซจึงจำเป็นต้องทำไว้พอเป็นทาง และต้องพักไว้เพียงเท่านี้ก่อน ขอให้ท่านรออ่านบรรพต่อไป อันเป็นเนื้อแท้ของมติของรูซโซ และต่อท้ายทุกๆบรรพจะมีคำวิพากษ์เสมอไป” (น.159)

เมื่อดูโครงสร้างของหนังสือ เอมีล นอกจากศิริขันธ์จะเกริ่นถึงมูลเหตุของการแปลหนังสือนี้แล้ว ก่อนเข้าสู่ตัวบทแปล เขาเขียนชีวประวัติย่อของ ยัง ยาคส์ รูซโซ และแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักงานเขียนสำคัญๆ ของรูซโซโดยสังเขป ได้แก่ “Had the Restoration of the Arts and Sciences had a Purifying Effect upon Morals?”[6] , “The Origin of Inequality” (หรือ “มูลเหตุแห่งความไม่เสมอภาคในหมู่มนุษย์”), The New Heoise (Les Noevelle Helolise), The Social Contract (สัญญาประชาคม)

เฉพาะในส่วนที่แนะนำ เอมีล ศิริขันธ์เขียนเค้าความเนื้อหาของทั้งห้าบรรพให้ผู้อ่านได้เห็นภาพรวมของหนังสือด้วย ต่อจากนั้นจึงเป็นตัวบทแปลบรรพที่หนึ่ง ที่มีความยาวราวเก้าสิบหน้า แล้วปิดท้ายด้วย “คำวิพากษ์” อีกในราวสี่สิบหน้า

ศิริขันธ์แนะนำว่า เอมีล ของรูซโซ “มีมูลค่าอยู่ในระดับเดียวกันกับหนังสือชั้นคลาสสิก (Classic) ที่เกี่ยวกับการศึกษาเล่มอื่นๆ หรือจะนับว่าสูงกว่าก็อาจจะได้” (น.23) เขาอ้างชื่องานเขียนอื่นๆ เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็น “Republic ของเพลโต, Politics ของอริสโตเติล, Moral ของพลูตาช, Institutes ของควินทิเลียน, The Great Didactic ของคอมมีเนียส, The Levana ของริชเตอร์, How Gertrude Teaches Her Children ของเปสตาลอซซี, Education Of Man ของเพรอเบล, Philosophy of Education ของโรสเสนกราน, Gargantua ของราบิเร, Essays ของมองตาญ, Positions ของมาล คาสเตอร์, School Master ของอาชชัม, Thoughts on Education ของล็อก และ Education ของสเปนเซอร์” (น. 23-24)

หนังสือเหล่านี้ล้วนมีชื่อในทางการศึกษา และบางเล่มก็พาดพิงการเมือง แต่ เอมีล “เข้าลักษณะสองประการ” คือเป็นหนังสือที่แสดงแนวคิดของรูซโซเกี่ยวกับครอบครัว การศึกษา การศาสนา และการเมือง อีกทั้งจะต้องพาดพิงกันกับ สัญญาประชาคม ซึ่งเป็นเสมือนงานเขียนต่อจาก เอมีล  ถึงตรงนี้ศิริขันธ์ยังแนะนำผู้อ่านที่สนใจ สัญญาประชาคม ให้ติดตามอ่านพากย์ไทยได้จากที่มีผู้แปลไว้แล้วลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ประชาธิปไตย ด้วย

เอมีล บรรพแรก เริ่มต้นด้วยเรื่องการดำรงชีวิตในครอบครัว การเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตร ผ่านตัวละครสมมุติชื่อเอมีลซึ่งยังอยู่ในวัยเยาว์ (เอมีลจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเข้าไปเกี่ยวข้องในสังคมการเมืองต่อไป) แม้จะเป็นช่วงต้นของเนื้อหาทั้งหมดจากทั้งหมดห้าบรรพ แต่รูซโซได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ด้วยสำนวนโวหารที่ชวนอ่าน ซึ่งศิริขันธ์เห็นว่า “นอกจากจะถือเอาประโยชน์ในทางความรู้เกี่ยวกับการศึกษา การเมืองแล้ว อาจจะถือเป็นตัวอย่างในเชิงประพันธ์ และถือเอาเป็นเครื่องสะกิดใจให้รำลึกถึงวิถีทางดำรงชีวิตในครอบครัวได้” (น. 23)  อันที่จริง ความคิดเห็นจากศตวรรษที่ 18 ของรูซโซ ก็ยังมีการถกเถียงอยู่แม้ในปัจจุบัน ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างบางตอนเพื่อให้เห็นสำนวนทั้งของผู้เขียน และผู้แปล:

“ว่าตามระเบียบแห่งธรรมชาติแล้ว คนเราย่อมเท่ากันหมดทุกคน สิ่งที่เขามีเขาเป็นร่วมกันก็คือความเป็นคนนั่นเอง ความเป็นคนเป็นเสมือนอาชีพร่วม คนที่ได้รับการศึกษามาดีย่อมไม่เสียการที่จะประกอบอาชีพอันนี้ให้เป็นไปด้วยดีและทำการเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆ ที่มีงานพาดพิงถึงกัน ตามความเห็นของข้าพเจ้าตามอัตโนมัติแล้ว ข้าพเจ้าไม่แปลกเลยในการที่ลูกของข้าพเจ้าจะไปเป็นทหาร จะไปบวชเป็นพระหรือเป็นหมอกฎหมาย เพราะก่อนที่พ่อแม่จะเลือกอาชีพให้แก่เด็ก ธรรมชาติได้เรียกเด็กนั้นไปเตือนแล้วว่าเขาเป็นคนๆ หนึ่ง ข้าพเจ้าจะสอนลูกของข้าพเจ้าว่าชีวิตนี้เปรียบเสมือนการค้า ย่อมมีได้มีเสีย มีขาดทุนได้กำไร ท่านผู้อ่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ากล้าพอที่จะบอกแก่ท่านว่า เมื่อลูกของข้าพเจ้าออกจากอกของข้าพเจ้าแล้ว เขาจะเป็นตุลาการ เป็นทหารหรือเป็นพระก็ไม่แปลก แต่เขาจะต้องเป็นคนหนึ่งโดยแท้จริง เมื่อเขาเป็นคนแล้ว เขาย่อมเรียนได้อย่างรวดเร็วเหมือนเช่นกันกับคนอื่นๆ เขาจะไม่หวาดหวั่นต่อโชคชะตาอันอาจจะมาพานพัดเพื่อเปลี่ยนสภาพของเขา เขาจักต้องดำรงตนสมกับตำแหน่งของเขาเสมอไป” (ตอนที่ 29, น. 39-40)

หรือในตอน 32:

“คนเรามักจะคิดแต่เพียงให้ลูกของตนรอดเป็นคนอยู่ได้เท่านั้นหาเพียงพอไม่ เด็กจักต้องได้รับการสั่งสอนให้รู้จักการรักษาตนเองในเมื่อตนเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เพื่ออดทนต่อโชตชะตาราศี เพื่อกล้าหาญต่อความมั่งมีดีจน เพื่อให้รู้จักยังชีวิตตนเองได้ไม่ว่าในท่ามกลางความหนาวแห่งเกาะหิมะหรือในแดนอันร้อนระอุแห่งก้อนศิลาในประเทศแถบศูนย์สูตร. ป่วยการที่จะมาระวังรักษาไม่ให้มีความตาย ลูกของท่านจักต้องตายโดยแน่นอน และแม้ท่านจะไม่ได้ทำให้ลูกท่านตายเพราะท่านระมัดระวังอยู่ก็ตามที ลูกของท่านก็หนีไม่พ้น ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านควรจักสอนเขาให้รู้จักวิธีดำรงชีวิตดีกว่าที่จะมามัวสอนเขาให้คอยหลีกเลี่ยงจากความตาย ชีวิตนี้ไม่ใช่ลมปราณเท่านั้น ต้องเข้าใจว่าชีวิตหมายถึงการกระทำด้วย คือว่าหมายถึงการใช้ประสาทต่างๆ การใช้จิตใจ การใช้มันสมอง และการใช้ทุกส่วนแห่งร่างกายของเราให้เรารู้ตัวว่าเรามีชีวิตอยู่ เราอย่านึกว่าชีวิตนี้คงทนไปได้วันหนึ่งๆ เท่านั้นก็พอใจแล้ว ให้เรานึกว่าชีวิตนี้สั้นหรือยาวเพียงใดนั้นอยู่ที่ความรู้จักความเป็นอยู่ของตนดี บางคนอาจจะเข้าโลงเมื่ออายุได้ร้อยเศษ แต่ไม่รู้จักความเป็นอยู่ของตน เขาก็เหมือนไม่มีอายุยาวถึงเพียงนั้น คนเช่นนี้ตายเสียเมื่อยังเด็กจะดีกว่า.” (หน้า 41-42)

เนื้อหาส่วนที่ต่อจากบทแปลบรรพ 1 และมีส่วนทำให้ เอมีล พากย์ไทยน่าอ่านและน่าทึ่ง คือ “คำวิพากษ์”  ซึ่งศิริขันธ์แถลงตั้งแต่ต้น ว่าเขาจะวิพากษ์เรื่องของรูซโซโดยวางใจเป็นกลางที่สุดเท่าที่จะทำได้ และขอให้ผู้อ่านวางอารมณ์เป็นกลางเช่นเดียวกับเขา

ศิริขันธ์วางเกณฑ์ในการวิพากษ์งานของรูซโซไว้สองข้อ คือ หนึ่ง การวิพากษ์ใดๆ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ในสมัยที่รูซโซมีชีวิตอยู่ว่าเป็นอย่างไร ด้วยเหตุผลว่า “ถ้าปราศจากความคิดคำนึงถึงสภาพเหตุการณ์อันแวดล้อมนักคิดหรือนักเขียนผู้นั้นเสียแล้ว, นักศึกษาก็จะถือเอาอำเภอใจตนเองเป็นประมาณ ไม่มองเห็นอกเห็นใจเห็นความลำบากยากเข็ญของนักเขียนนักคิดนั้นเลย ผลลัพธ์คือ ความยุติธรรมที่เราจะพึงให้แก่เขาจึงนับว่าน้อยมาก” (น. 120) และ

สอง ในการเลือกเครื่องมือในการวิพากษ์ความคิดความเห็นของรูซโซ ซึ่งศิริขันธ์ใช้คำว่า “ตราชู” เพื่อกำหนดว่าข้อเขียนของรูซโซดี เด่น หรือไม่อย่างไร หรือว่า “ถูกต้องและสมควรถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง, หรือว่าชั่ว, ว่าเคลือบคลุม, และว่าผิดไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง?”  ศิริขันธ์ตั้งคำถามว่า ผู้ที่เป็นปราชญ์นั้น “จะต้องทำอะไรไม่มีผิด ไม่มีข้อบกพร่องกระนั้นหรือ?” จากนั้นเขาตอบว่าไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด อีกทั้งสิ่งที่เรียกว่าผิดหรือถูกนั้นยังขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ดูอีกด้วย ดังนั้น “เมื่อท่านจะอ่านงานของรูซโซขอให้ท่านมีตาข้างหนึ่งคอยจับผิด อีกข้างหนึ่งคอยจับถูก” (น. 121)

ศิริขันธ์มองว่า แม้แต่ความสัตย์จริงในหนังสือหรือความรู้อันถูกต้องในหนังสือก็หาใช่ของตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับยุคสมัย อย่างเช่นสมัยหนึ่งคนเชื่อว่าโลกแบนและนั่นคือความสัตย์จริงในอดีต แต่ทุกวันนี้โลกแบนคือความเชื่องมงาย เขาจึงได้ข้อสรุปอย่างคนใจกว้างและเล็งการณ์ไกล:

“ท่านผู้อ่านเรื่องของรูซโซต้องขจัดเหตุแห่งความลำเอียงข้อนี้ ยึดเอาหลักสำคัญตรงที่ว่า หนังสืออันสมควรสงเคราะห์เข้าในระดับดีคือหนังสือที่เป็นเครื่องเร้าให้เราเองเกิดความคิด และถ้าหนังสือนั้นมีอิทธิพลที่จะทำให้เราใช้ความคิดได้มากเท่าใดหรือนานเท่าใด ก็ควรยกฐานะหนังสือนั้นอยู่ในระดับควรชมเชย, มากกว่าที่จะติเตียนในความบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ … ข้าพเจ้าเขียนตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ซึ่งอาจไม่ตรงกับความคิดความเห็นของท่าน ความไม่ตรงกันไม่ใช่ของสลักสำคัญสำหรับข้าพเจ้าและท่าน ถ้าสิ่งใดในคำวิพากษ์นี้เป็นเครื่องปลุกใจให้ท่านคิด และถ้าสิ่งใดที่ท่านคิดแล้วเห็นว่าแตกต่างกับข้าพเจ้าและกรุณาให้ข้าพเจ้าทราบด้วย เพื่อข้าพเจ้าจะได้คิดใหม่ สิ่งนั้นคือหัวใจของคำวิพากษ์นี้ รูซโซเคยกล่าวไว้ในเรื่องเอมีลนี้ว่า รูซโซไม่ยอมเอานัยน์ตาของใครอื่นมาประดับกายของเขา ท่านและข้าพเจ้าก็คงทำนองเดียวกัน” (น. 121)

ข้อตกลงในการวิพากษ์นี้ ศิริขันธ์ใช้เป็นหลักในการวิพากษ์รูซโซในหัวข้อต่างๆ เรียงต่อกันไปจนจบเล่ม ได้แก่ วิพากษ์ชีวิตของรูซโซ, รูซโซนักปฏิรูปและนักปฏิวัติทางความคิด, วิธีปฏิรูปตามมติของรูซ, รูซโซกับธรรมชาตินิยม และรูซโซกับการศึกษา

แต่ละหัวข้อเหล่านี้นอกจากจะช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทแปล เอมีล บรรพแรกแล้ว เรายังจะได้เห็นด้วยว่าศิริขันธ์เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรูซโซในเรื่องใด อย่างไร เพราะเขาจะอ้างอิงกลับไปที่ตัวบทในแต่ละตอน พร้อมกับเสนอความคิดเห็นของเขาสนับสนุนหรือคัดค้านความคิดเห็นของรูซโซเป็นเรื่องๆไป และศิริขันธ์ก็ใช่ว่าจะถกเถียงกับตัวบท เอมีล เท่านั้น เมื่อวิพากษ์รูซโซในฐานะนักปฏิรูปและนักปฏิวัติทางความคิด เขาเชื่อมโยงต่อไปถึงงานเขียนอื่นๆของรูซโซด้วย เช่นที่เขาได้เปรียบเทียบโดยย่อแต่เห็นภาพชัดดังนี้

“เราจะเห็นได้ว่ารูซโซได้ฟาดฟันระบอบต่างๆ ด้วยคมปากกาของตนเองทุกด้านทุกมุม รูซโซได้ใช้ความเรียงเรื่องสนทนาปัญหาความไม่เสมอภาคในหมู่มนุษย์ (The Origin of Inequality) ต่างจอบเล่มใหญ่เข้าขุดโค่นรากเหง้าแห่งระบอบประชาคมในทวีปยุโรปให้ล้มลง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้สั่นสะเทือนแทบทรงตัวไม่ติด  รูซโซได้ใช้หนังสือสัญญาประชาคม (The Social Contract) ต่างดินระเบิดทำลายรากฐานระบอบการเมือง การปกครองในสมัยนั้นให้แตกกระจาย  รูซโซใช้ The New Heloise ต่างคบไฟชุดเชื้อเพลิงแห่งความรู้สึกเวทนาสงสาร เห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ให้พลุ่งโพล่งขึ้น และทะลายสภาพความเป็นอยู่ภายในครอบครัวให้แปรโฉมหน้าจากแบบที่ใช้อยู่ให้หันเข้าหาธรรมชาติ  รูซโซใช้หนังสือเอมีลต่างดาบฟาดฟันระบอบการศึกษาและการศาสนาให้หันเข้าหาธรรมชาติเช่นเดียวกัน” (น. 132-133)

ในเรื่องแนวคิดธรรมชาตินิยมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ศิริขันธ์มองว่า “เป็นลัทธิที่เข้าทำการโค่นการกระทำและพฤติการณ์ทุกอย่างอันเป็นการกระทำสืบๆกันแต่โบราณจนเหลือแต่เพียงประเพณี ไม่มีเหตุผลและแก่นสารอันใด … โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ธรรมชาตินิยมเป็นอาการเคลื่อนไหวเพื่อล้มเลิกสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันอำนาจสูงสุดตกอยู่ในเงื้อมมือของคนๆเดียว หันเข้าหาธรรมชาติคือประชาธิปไตยและอำนาจอธิปัตย์มาจากปวงชนทั้งหลาย” (น. 138)

แต่รูซโซใช้คำว่าธรรมชาตินิยมในความหมายต่างกันถึงสามความหมาย คือธรรมชาติอันหมายถึงสิ่งไม่มีชีวิต ก้อนกรวดดินทรายต่างๆ และธรรมชาติในความหมายทางจิตวิทยาซึ่งโยงไปถึงการกระทำหรืออากัปกิริยาต่างๆของมนุษย์ แต่ที่สำคัญคือรูซโซเน้นพูดถึงธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกับประชาคมด้วย เขาบอกว่าฝรั่งเศสในขณะนั้นตกอยู่ในสภาพไร้แก่นสาร เต็มไปด้วยความตบตา หลอกลวง ไม่มีความจริง หรือเรียกว่า ผิดธรรมชาติ

การศึกษาอันถูกต้องตามธรรมชาติใน เอมีล จึงหมายถึง “การศึกษาที่ผันแปรตามธรรมชาติอันแท้จริงของเด็ก ยึดเอาธรรมชาติของเด็กเป็นหลักเกณฑ์ มิใช่ถือเอาหลักที่ว่า เคยทำมาอย่างไรก็หลับหูหลับตาทำเช่นนั้น, ประชาคมเคยนิยมทำอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้นโดยไม่พักคำนึงถึงผู้คอยรับการศึกษา รูซโซว่าการศึกษาจะเป็นไปตามธรรมชาติก็ต่อเมื่อผู้ให้รู้จักใจผู้รับ ผู้มุ่งหน้าจะปั้นให้คนเป็นพลเมืองดี ไม่คำนึงถึงธรรมชาติของเด็ก มักจะเขวไปไกลมาก ความจริงเราไม่ควรห่วงนักในเรื่องพลเมืองดี เพราะอย่างไรเสียเด็กก็จะต้องเป็นพลเมืองดีเอง ถ้าเราทำให้เขารู้จักธรรมชาติของความเป็นคนผู้ซึ่งจะต้องตกเข้ามาอยู่ในประชาคม” (น. 141)

ศิริขันธ์ชื่นชมรูซโซว่า “เป็นผู้เน้นและสลักรอยพิมพ์ใจในเรื่องการอบรมคนให้มีหัวประชาธิปไตย แก่คนทุกชั้นทุกหมู่” (น. 143) และคงด้วยอุดมคติเดียวกันนี้เอง เขาจึง “ปักใจ” แปลหนังสือ เอมีล ของรูซโซ พร้อมทั้งเขียนคำวิพากษ์ที่ช่วยเสริมบทแปลบรรพ 1 ได้อย่างน่าทึ่ง

ศิริขันธ์ขอบคุณเพื่อนฝูงของเขา “ที่ได้อนุเคราะห์แบ่งเบาความยากจากอกของข้าพเจ้าในการทำหนังสือเล่มนี้ หากแต่ว่ามิตรผู้มีคุณแก่ข้าพเจ้าเหล่านั้นไม่พึงประสงค์จะให้ข้าพเจ้าเอ่ยนาม”

แม้เราจะไม่ทราบชื่อของผู้ที่ร่วมมีส่วนในงานแปลชิ้นสำคัญนี้ แต่ความจริงก็คือ ศิริขันธ์และมิตร “นิรนาม” เหล่านั้นคือคนกลุ่มหนึ่งที่ช่วยกันผลักดันให้หนังสือวิพากษ์วิจารณ์การศึกษาอีกเล่มหนึ่งได้มีขึ้นในยุคแรกเริ่มของประชาธิปไตย

เพื่อนครู เพื่อครูประชาธิปไตย

ดิฉันพยายามเสาะหาหนังสือชุด เพื่อนครู ตามที่ได้ข้อมูลจาก เอมีล และมีโอกาสได้อ่านเฉพาะเล่ม 4[7]  พบว่า เตียง ศิริขันธ์ ซึ่งปรากฏชื่อผู้เขียนบนปก ได้ขอบคุณ ชุบ มุนิกานนท์ ป.ม., สหัสส์ กาญจนพังคะ ป.ม. และกนก มาณะวิท ป.ม. รวมทั้งศิษย์ของเขาอีกหลายคน ไว้ในคำนำของหนังสือความหนา 448 หน้าเล่มนี้

เมื่อลองไล่เรียงเนื้อหาจำนวนยี่สิบบทใน เพื่อนครู เล่ม 4 พบว่า นี่คือหนังสือว่าด้วยวิธีสอนวิชาต่างๆ อย่างละเอียด[8] ยอดจัดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม ราคาหนึ่งบาท ในคราวพิมพ์ครั้งที่สอง เมื่อเดือนเมษายน 2478 หรือสามปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็น่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย คงกล่าวได้ว่าหนังสือชุด เพื่อนครู เป็นคู่มือสำหรับครูในสมัยประชาธิปไตยยุคแรก และเป็นผลของการทำงานอย่างหนักร่วมกันของเตียง กับกลุ่มคนที่ต้องการให้มีการศึกษาแก่ราษฎรอย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของหลักการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร

เนื้อหาวิธีสอนวิชาต่างๆในแต่ละบท มักเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมาย ความสำคัญ หรือนิยามของวิชานั้นๆ เพื่อให้ครูได้เข้าใจหลักเหตุผลของวิชา โดยเฉพาะในวิชาใหม่ๆ อย่างเช่นพลศึกษา ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ขณะที่วิชาประวัติศาสตร์ เตียงได้ขยายความถึงคุณค่าของวิชานี้เป็นพิเศษ และเขาดูจะให้ความสำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์มาก ถึงกับฝากฝังครูไทยให้นำหลักวิทยาศาสตร์ “เข้าสนับสนุนความสถาพรของสยามรัฐธรรมนูญ!” และ “เพาะพลเมืองไทยให้เป็นผู้กอปร์ด้วยเหตุผล!” ดังที่คัดมาเป็นบทเปิดบทความนี้แล้ว

คำเกริ่นนำสั้นบ้างยาวบ้าง ตลอดจนเนื้อหาของวิธีสอนวิชาต่างๆ ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางการศึกษาสมัยใหม่ และชี้แนะให้ครูเห็นความสำคัญของเด็กนักเรียนในฐานะพลเมืองของประเทศ การสอนวิชาต่างๆ โดยคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กนักเรียนแต่ละวัย แต่ละกลุ่ม และกระทั่งแต่ละบุคคลด้วย ดังนั้นในบทแรกของเพื่อนครู เล่ม 4 ซึ่งว่าด้วย “วิธีสอนจรรยา” เราจึงไม่เห็นอาการพร่ำบ่นหรือกะเกณฑ์เด็กนักเรียนท่องจำหน้าที่สิบประการใด (?) แต่เข็มมุ่งของวิชานี้ปรากฏชัดในหัวข้อสรุปท้าย:

“เนื่องจากสยามได้เปลี่ยนระบอบการปกครองใหม่ ความจำเป็นต้องอบรมเด็กไทย ให้หมุนตัวตามแผนความเจริญของประเทศนั้น เป็นการเจริญอย่างยิ่ง (ตามความเห็นของข้าพเจ้า) ว่าบัดนี้วิชาฝึกคนให้เป็นพลเมืองดี (Civics or Citizenship) ของประเทศประชาธิปไตย์นั้นจำเป็นอย่างยิ่ง เรื่องสิทธิและหน้าที่ของพลเมือง ควรได้รับความเอาใจใส่จากครูไปปลูกฝังเป็นสันดานในตัวเด็ก สั่งสอนให้รู้จักสิทธิคืออะไร หน้าที่คืออะไร และเกี่ยวข้องกันอย่างไร เริ่มกล่อมเกลาให้เด็กรู้จักติชมตัวเองและผู้อื่น ยอมรับการติชมจากผู้อื่นด้วยอารมณ์เย็น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวเด็กเท่านั้น และประโยชน์ส่วนใหญ่คือประเทศ” (“การอบรมจรรยาเด็กที่จะไปเป็นพลเมืองดีของประเทศประชาธิปไตย์”, หน้า 18-19)

การสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยนี้เป็นแกนกลางของวิธีสอนทุกวิชา จึงพบร่องรอยแทรกอยู่ในคำอธิบายเนื้อหา หรือแม้แต่ในการยกตัวอย่างต่างๆ ไปตลอดทั้งเล่ม ในที่นี้จะขอเลือกเสนอบางมุมมองต่อวิธีสอนบางวิชา เพื่อให้เห็นว่า เตียงและคณะของเขามุ่งมั่นผลักดันการศึกษาสมัยใหม่อย่างไรบ้าง

  1. “ประเทศจึงอยากให้พลเมืองทุกๆ คนได้รับการศึกษา แม้อย่างต่ำเพียงอ่านออก-เขียนได้”

ราว 250 หน้าแรกหรือครึ่งเล่มของเพื่อนครู เล่ม 4 (ยกเว้นวิธีสอนจรรยาในบทแรก) มีเนื้อหาว่าด้วยวิธีสอนหนังสือไทย (บทที่ 2-7) และวิธีสอนภาษาอังกฤษ (บทที่ 8-13) โดยแยกเป็นบท ตอน และหัวข้อย่อยอย่างมีรายละเอียดเพื่อปูพื้นฐานการอ่านออกเขียนได้ให้แก่เด็กนักเรียน

ในบทที่ 2 “วิธีสอนหนังสือไทยวิธีสอนอ่าน” หลังจากไล่เรียงถึงประวัติการสอนอ่านหนังสือของไทยไว้ในตอนแรก (“ว่าด้วยการสอนเด็กให้อ่านหนังสือออก”) เพื่อเกริ่นนำให้เข้าใจประวัติการสอนอ่านหนังสือ ตลอดจนหนังสือเรียนในสมัยก่อนแล้ว ในตอนที่ 2 “ว่าด้วยการสอนอ่านเมื่อเด็กอ่านหนังสือออกแล้ว” เขาเปิดเนื้อหาด้วยวาทะของฟรานซิส เบคอน: “ท่านเบคอน – การอ่านทำให้คนเป็นคนเต็มคน” (หน้า 35) เพื่อชี้ให้เห็นว่าการอ่านเป็นสิ่งสำคัญในชีวิต และเป็นเครื่องมือค้นความรู้ในวันข้างหน้า “เราผู้เป็นครูจะต้องประกอบเครื่องมืออันนี้ให้แก่เด็กของเราเป็นอย่างดี” (หน้า 35)

เตียงแนะว่าครูควรมุ่งให้เด็กมีความสามารถในการอ่านหนังสือทั่วๆไปมิใช่เฉพาะแต่หนังสือเรียนเท่านั้น

“น่าเสียใจที่เด็กไทยได้รับการฝึกฝนในการอ่านไม่เพียงพอ ครูมักสอนให้เด็กอ่านทื่อๆ ไม่ทำเสียงให้เป็นไปตามความในเนื้อเรื่องที่อ่าน ครูพอใจแล้ว ในการที่ตนได้สอนเด็กให้อ่านถึงหน้านั้นๆ ครูพอใจในการที่เด็กมีความรู้เกี่ยวกับคำนั้นๆ ครูมักไม่เฉลียวใจถึงความชำนาญทั่วไป ครูไม่นึกถึงการฝีกหัดมันสมอง ถ้าเราลองเอาหนังสือที่ยากง่ายขนาดเดียวกันกับหนังสือที่เด็กเรียนในชั้น มาให้เด็กอ่าน เด็กมักอ่านไม่ได้ดีเหมือนอ่านหนังสือที่เรียนในชั้น ที่จริงในการสอนอ่านครูต้องมุ่งฝึกหัดความสามารถทั่วไป หัดสมองของนักเรียนให้สามารถอ่านเรื่องราวหรือหนังสือใดๆ ที่มีความยากง่ายเท่าๆ กับหนังสือที่กำหนดให้เรียนในชั้นได้” (หน้า 35-36)

และสรุปว่า

“วิชาทั้งหมดที่มีอยู่ในหลักสูตร์ก็ดี ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสอนให้แก่เด็ก ทำ ก็ดี ไม่มีอะไรจะสำคัญเกินไปกว่า การอ่าน เพราะว่าการอ่านนอกจากเป็นการฝึกหัดปัญญาอย่างประเสริฐไปในตัวแล้ว ยังเป็นเครื่องมือของการศึกษาด้วย ถ้าอ่านหนังสือเป็นแล้ว เรียนอะไรๆ ก็ได้ทั้งนั้น จะฝึกฝนคนในทางจรรยาก็ได้ ในทางปัญญาก็ได้และทางกายก็ได้ ด้วยเหตุนี้ประเทศจึงอยากให้พลเมืองทุกๆ คนได้รับการศึกษา แม้อย่างต่ำเพียงอ่านออก-เขียนได้” (หน้า 37-38)

แต่การอ่านออก-เขียนได้ในเพื่อนครู เล่ม 4 นี้ ครูต้องประกอบเครื่องมือมากมายเพื่อฝึกฝนทักษะทางภาษาให้เด็กนักเรียน ดังนั้น “อ่านออก” จึงครอบคลุมตั้งแต่อ่านฟังเสียง อ่านร้อยแก้ว อ่านคำประพันธ์ อ่านเอาเรื่อง  ส่วน “เขียนได้” ก็เริ่มตั้งแต่คัดลายมือ เขียนตามคำบอก แต่งไทยหรือเรียงความ แต่งจดหมาย ย่อความ และไวยากรณ์ ดังรายละเอียดในสารบัญที่ยกมาข้างต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อเข้าสู่วิธีสอนภาษาอังกฤษ จุดเน้นของเตียงย้ายมาอยู่ที่การสอนพูดก่อนสอนอ่านและเขียน เขาวิจารณ์วิธีสอนภาษาอังกฤษว่า “มักตั้งต้นด้วยให้เด็กเรียน A B C D แล้วหัดผะสมคำ a b = ab, a d = ad. ทีเดียว พูดง่ายๆ ก็คือเราพยายามสอนให้เด็กอ่านภาษาอังกฤษออกโดยที่เด็กยังพูดอังกฤษคำนั้นๆ ไม่ได้ และยังไม่เข้าใจความหมายของคำอังกฤษนั้นเลย” (หน้า 120)

แม้วิธีสอนแบบนี้ “เราก็ใช้กันมาจนนักเรียนได้เป็นใหญ่เป็นโต ทำงานทำการใช้ภาษาอังกฤษคล่องแคล่วแล้วก็ดี วิธีนี้ยังหาเป็นทางเรียน หรือวิธีสอนภาษาที่ทำให้เด็กรู้ภาษาเร็วไม่ เราลืมคิดไปว่าการที่จะให้เด็กไทยผู้พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลยแม้แต่คำเดียว เรียนผะสมตัวอังกฤษอ่าน เหมือนเด็กอังกฤษเรียนภาษาของเขานั้นเป็นการยากยิ่ง เป็นการก้าวข้ามบันไดขั้นต้น และเป็นเหตุแห่งความเบื่อหน่าย เนื่องจากเด็กไทยไม่ทราบว่า ab หรือ ad มีความหมายว่าอะไร? เอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างไร?

“ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นอยู่ที่ครูจะต้องดำเนินวิธีสอน เจริญรอยธรรมชาติ คือ หัดพูด และเข้าใจความหมาย ของ คำพูดก่อนหัดอ่าน  ในที่นี่มิได้หมายความว่า เด็กไทยจะต้องพูดอังกฤษ ได้เหมือนเด็กอังกฤษเสียก่อน แล้วจึงลงมือหัดอ่าน แต่ความหมายเพียงว่า เมื่อจะให้เด็กอ่านหรือเขียนคำใด เด็กจะต้องพูดและเข้าใจความหมายของคำนั้นอย่างชัดเจนก่อน” (หน้า 120-121)

เตียงวิจารณ์วิธีการสอนแบบเก่าพร้อมกับเสนอวิธีสอนแบบใหม่ซึ่งเขาเรียกว่า “วิธีตรง (Direct Method) และเป็นวิธีเจริญรอยธรรมชาติแห่งการเรียนภาษา” :

“วิธีนี้มิได้อาศัยการแปล และไวยากรณ์เป็นใหญ่ การแปลและไวยากรณ์เป็นแต่เพียงเครื่องอุปกรณ์ เรารักและนับถือการแปลและไวยากรณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราจงเก็บ ๒ สิ่งนั้นไว้ให้ดี จงนำออกใช้แต่ในคราวจำเป็นจริงๆ … โดยวิธีตรงนี้เด็กได้มีโอกาสใช้กำลังว่องไวมากที่สุด เด็กเรียนโดยการกระทำของตนเอง ได้พูดเอง ได้ทำอาการประกอบคำพูด รวมความว่าได้ฝึกหัดพูดและทำความเข้าใจข้อความที่พูดนั้นเสมอๆ” (หน้า 124-125)

เตียงย้ำวิธีสอนภาษาอังกฤษ “วิธีตรง” ทั้งในการพูด การอ่าน การเขียน แต่วิธีสอนไวยากรณ์ก็มีคุณค่าในแง่ที่จะฝึกฝนความสังเกต การใช้เหตุผล และความคิดทางตรรกวิทยา แต่ครูต้องรู้วิธีสอนไวยากรณ์ให้สนุก ชวนขบคิด แทนการท่องจำกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็น “ยาขมขนานใหญ่” สำหรับเด็กนักเรียน

“การที่เด็กรู้วิภาคของกิริยาแยกไปตั้ง ๙ ชะนิด มีชื่อประจำแต่ละอย่างนั้นหรูหราเช่น Causative verb, Quasi-Passive Verb, Defective Verb, Anomalous Verb ฯลฯ จะทำให้เขียน Essay หรือพูดอังกฤษได้ดีขึ้นก็หาไม่” (หน้า 192)

เขาวิพากษ์ปิดท้ายอย่างเฉียบคม :

“การที่ไม่สอน ‘ไวยากรณ์’ เลยนั้น ดีกว่าสอน ‘ไวยากรณ์’ ก่อนภาษาและตัวอย่าง ภาษาคือภาษาและต้องสำคัญกว่าไวยากรณ์  ไวยากรณ์นั้นควรจะเรียนก็จริงอยู่ แต่ว่าคนที่ไม่รู้ไวยากรณ์เลยก็สามารถเขียนหรือพูดภาษาได้  ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปาฐกตัวเอก, นักเขียนผู้เชี่ยวชาญ, และนักอ่านคงไม่ต้องการกฎไวยากรณ์แม้แต่ข้อเดียว เพื่อจะปาฐกถาได้ดี จะเขียนหนังสือได้อย่างงาม หรือจะอ่านหนังสือได้คล่อง แต่ว่าท่านเหล่านั้นไม่ผิดไวยากรณ์ เพราะว่าท่านเรียนภาษา ไม่ใช่เรียนไวยากรณ์” (หน้า 194-195)

อ่านวิธีสอนภาษาไทยและอังกฤษใน เพื่อนครู เล่ม 4 แล้ว ก็ชวนให้นึกย้อนถึงคำของรูซโซที่ว่าการศึกษาอันถูกต้องต้องยึดเอาธรรมชาติของเด็กเป็นหลัก “มิใช่ว่าเคยทำมาอย่างไรก็หลับหูหลับตาทำเช่นนั้น, ประชาคมเคยนิยมทำอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้นโดยไม่พักคำนึงถึงผู้คอยรับการศึกษา” (เอมีล, หน้า 141)

  1. “เป็นความประสงค์ของประเทศอยากจะให้พลเมืองเป็นคนแข็งแรง”

พลศึกษาถูกจัดอยู่ในบทที่ 14 และเป็นบทแรกหลังจากจบเนื้อหาที่ว่าด้วยวิธีสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว เตียงเล่าถึงการถกเถียงกันในที่ประชุมสภาศึกษาสยามก่อนจะลงมติเห็นพ้องกันว่า พลศึกษาไม่ใช่การเรียนกีฬาหรือเล่นเกมต่างๆ แต่หมายถึง “กิจการฝึกหัดเพื่อจะยังให้ร่างกายสมบูรณ์ถูกต้องตามอนามัยที่ดี” และ “เป็นความประสงค์ของประเทศอยากจะให้พลเมืองเป็นคนแข็งแรง” (หน้า 249-250)

นี่คือวิชาสร้างพลเมืองที่นอกจากจะอ่านออก-เขียนได้แล้ว ยังต้องมีสุขภาพอนามัยแข็งแรง มีอิริยาบถดี  เตียงมองว่าพลศึกษาจะช่วยฝึกฝนจิตใจและสติปัญญาด้วย โดยฝึกให้เด็กนักเรียน “หัดการสมาคม ไม่เห็นแก่ตนเป็นใหญ่ รักหมู่รักคณะ ฝึกหัดตัดสินใจตนเองปกครองตนเอง ความอดทน ความเป็นสง่าในที่ประชุม” (น. 251)

และเช่นกันที่การสอนพลศึกษานั้นต้องคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กนักเรียน วิธีสอนจึงไม่ได้เน้นเพียงแค่การฝึกฝนร่างกาย แต่ครูต้องรู้จักสังเกตสภาพร่างกายของเด็กนักเรียนว่าสามารถหรือมีความพร้อมที่จะรับการฝึกมากน้อยแค่ไหน โดยครูต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน และต้องคำนึงถึงสภาพของโรงเรียน ทั้งในเรื่องเครื่องเล่น สนาม ตลอดจนเครื่องแต่งกาย เขาแนะนำว่า

“๑. ครูต้องรู้จักเลือกแบบกายกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กของตน คือเลือกให้เหมาะแก่ชั้น แก่อายุ แก่อนามัยและสุขภาพของเด็ก

๒. ในบทเรียนหนึ่งๆ ทุกๆ ส่วนของร่างกายต้องได้รับการออกแรงตามสมควร ฉะนั้นแบบกายกรรมต้องมีสำหรับทุกส่วนของร่างกาย

๓. เพื่อความสนุกสนานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญยิ่งข้อหนึ่ง ในการหัดกายกรรมให้นอกเหนือไปจากแบบบ้างตามสมควร อย่าให้มีซ้ำๆ ซากๆ มากนัก

๔. ต้องดัดแปลงการสอนและแบบกายกรรมไปตามสภาพของโรงเรียน ของสถานที่ และของเครื่องใช้” (น. 258-259)

เตียงมักจะยกวาทะของนักปราชญ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เขากำลังนำเสนอแทรกในเนื้อหา ในบทว่าด้วยวิธีสอนพลศึกษานี้ เขาอุตส่าห์รวบรวมวาทะนักปราชญ์ไว้ท้ายบทเช่น “ร่างกายเจริญย่อมให้ประโยชน์แก่จิตต์ (เพลโต้)”, “จิตต์อันเจริญดีอยู่ภายในร่างกายแข็งแรง (ล็อก)”

  1. “ตนเป็นหน่วยหนึ่งของโลก คือเป็นพลโลก”



ภูมิศาสตร์เป็นวิชาใหม่และมีเนื้อหากว้างขวางมาก เตียงจึงใช้พื้นที่ในส่วนเกริ่นนำแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับความหมายของวิชา และอธิบายว่าภูมิศาสตร์จะต้องอาศัยการศึกษาวิชาอื่นๆ ควบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นดาราศาสตร์ อุตุนิยมศาสตร์ ภูมิวิทยา พฤกษศาสตร์ สัตวศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ชาติมนุษยศาสตร์ สมาคมวิทยา[9] และประวัติศาสตร์

เตียงมองว่าประวัติศาสตร์เปรียบเสมือนเป็นจิตใจหรือวิญญาณขณะที่ภูมิศาสตร์เป็นเหมือนสรีระสองวิชานี้จึงควรสอนคู่กันไป นอกจากนั้นภูมิศาสตร์ยังต้องอาศัยการคำนวณจากวิชาคณิตศาสตร์ ต้องให้นักเรียนฝึกหัดสังเกตพืชต่างๆ จึงเกี่ยวข้องกับวิชาทำสวน อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับวิชาฟิสิกส์ เคมี การฝีมือ และภาษา ดังนั้น “วิชานี้เป็นวิชาที่สนุกสนานกว่าวิชาอื่นๆ ถ้าหากครูรู้รักสอน” (หน้า 264)

ความมุ่งหมายของการสอนภูมิศาสตร์ก็ไม่ใช่ฝึกหัดความจำอย่างที่ครูมักปฏิบัติกัน แต่ให้เด็กฝึกฝนความสังเกต ความคิดคำนึง การหาเหตุผล และการตัดสินตกลงใจ นอกจากนั้นยังมีความมุ่งหมายสำคัญที่ไกลออกไปกว่าในโรงเรียนอีก กล่าวคือ ภูมิศาสตร์แนะนำให้เด็กนักเรียนทำความเข้าใจโลกกว้าง และมองเห็นว่าตนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับโลก ต้องมีการติดต่อ พึ่งพาอาศัยกันและกันระหว่างผู้คนบนโลก

ในสมัยนี้ประเทศแทบทุกประเทศต้องการจะปลุกใจเด็กทุกคนให้มองเห็นว่า ในวันข้างหน้าตนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องจำเป็นกับโลก, ตนต้องติดต่อ, ตนต้องอาศัย, สันนิบาตชาติต้องการหนักหนาให้มนุษย์ทุกคนรักใคร่กัน สามัคคีกัน ต้องการให้มนุษย์ทุกๆ คนถือว่า ตนเป็นหน่วยหนึ่งของโลก คือเป็นพลโลก นี่คือมติของนักการศึกษาสมัยนี้ และเป็นมติสำคัญเกี่ยวกับวิชาภูมิศาสตร์โดยตรง เพื่อจะให้นักเรียนเข้าใจว่าทุกวันนี้การติดต่อระหว่างที่ต่างๆ ในโลกใกล้กันเข้าทุกที การที่คนทุกคนจะต้องถือว่าตนเป็นพลโลกคนหนึ่งนั้นใกล้เข้ามาทุกที เพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจอันถูกต้องนี้ วิชากวีนิพนธ์และวิชาประวัติศาสตร์จะเป็นแขนขวาซ้ายของภูมิศาสตร์ทีเดียว เพราะกวีนิพนธ์เป็นวิชาสอนให้เรารู้เชิงความคิดดีๆ ของคนสมัยอดีต ว่าเจริญขึ้นอย่างไร เจริญขนานไปกับความเจริญในทางภูมิศาสตร์อย่างไร ประวัติศาสตร์ สอนให้เรารู้ความเป็นไปต่างๆ ในกาลล่วงแล้วของหมู่ชน ทำให้เราเห็นความเจริญในทางการสมาคมระหว่างมนุษย์ ซึ่งเป็นกำลังอย่างดีช่วยในการเรียนภูมิศาสตร์” (หน้า 268-269)

  1. “เป็นวิชาที่ฝึกฝนคน แนะนำคนโดยอาศัยพะยาน หลักฐาน หรือตัวอย่างทั้งทางดีและชั่วที่เป็นมาแล้ว”


ในคำอธิบายถึงคุณค่าของการสอนประวัติศาสตร์ ก่อนเข้าสู่วิธีสอนประวัติศาสตร์ เตียงชี้ให้เห็นว่าวิชานี้เพาะความเจริญให้แก่เด็กและช่วยสร้างพลเมืองดี เขาอ้างวาทะของนักปราชญ์ประกอบความเห็นดังนี้

“คุณค่าของวิชาประวัติศาสตร์นั้น นักการศึกษาได้พากันลงความเห็นว่า เป็นวิชาที่เพาะความเจริญขึ้นในตัวเด็กอย่างยิ่ง เป็นวิชาที่ฝึกฝนคน แนะนำคนโดยอาศัยพะยาน หลักฐาน หรือตัวอย่างทั้งทางดีและชั่วที่เป็นมาแล้ว เป็นวิชาที่สอนคนให้เป็นพลเมืองดี ท่านอาโนลด์ เบนเนท์ กล่าวว่า ‘วิชาประวัติศาสตร์เป็นเนื้อไขที่จะเพาะความเป็นพลเมืองดี ถ้าครูรู้จักสอน แต่ทุกวันนี้ครูยังสอนไม่ถูกวิธี หรือยังเรียกไม่ได้ว่าครูได้สอนประวัติศาสตร์’ ท่านปรัชญาเมธีคองเต (Auguste Comte) กล่าวว่า ‘วิชาประวัติศาสตร์เป็นมรรคุเทศก์แห่งชีวิตของมนุษย์’  ข้าพเจ้าใคร่จะเสริมว่า ประวัติศาสตร์นั้นไม่ฉะเพาะแต่เป็นมรรคุเทศก์แห่งชีวิตของมนุษย์เอกชนเท่านั้น ย่อมเป็นมรรคุเทศก์หรือดวงประทีปส่องมรรคให้แก่หมู่ชน, ให้แก่ชาติ, และให้แก่โลกด้วย ประวัติศาสตร์ย่อมสอนให้เรารู้ว่าสิ่งใดจะให้ผลเช่นไร หากเราทราบว่าสิ่งใดให้ผลร้ายเราก็รู้จักหาทางเลี่ยงเสีย … ขอให้ข้าพเจ้าเตือนเพื่อนครูของเราว่า ประวัติศาสตร์นี่แหละเป็นเครื่องดลบรรดาลใจเอกชน, หมู่ชน, ชาติ และโลก, ให้แสวงหาทางปฏิบัติอันนำมาซึ่งสันติสุข ประวัติศาสตร์สอนให้ชาติต่างๆ เอาอย่างกัน ประวัติศาสตร์สอนให้โลกตั้งสมาคมสันนิบาตชาติ ฯลฯ เมื่อฝีมือของประวัติศาสตร์ปราณีต, เมื่อประวัติศาสตร์มีอิทธิพลที่จะดลบรรดาลใจมนุษย์ได้ดี เห็นปานดังนี้แล้ว ขอให้เพื่อนครูใช้ประวัติศาสตร์เป็นลูกมือที่ดีของครูในการกล่อมเกลาและดลบรรดาลใจศิษย์ของครูบ้าง” (หน้า 283-284)

เขาแจกแจงรายละเอียดต่อไปถึงคุณค่าสามประการของประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ประวัติศาสตร์ย่อมให้ความรู้ ประวัติศาสตร์ย่อมฝึกความจำ และประวัติศาสตร์ย่อมปลุกความคิดคำนึงและหาเหตุผล  แล้วแนะว่าครูมีหน้าที่ในการชี้ให้นักเรียนเห็นว่าประวัติศาสตร์เป็น “กู่หรือขุมทรัพย์แห่งศิลปะและวิทยาทั้งปวงในอดีต” (หน้า 285) และต้องปลุกให้เด็กเกิดความรักและพอใจในขุมทรัพย์นี้ เมื่อเด็กรู้ว่าขุมทรัพย์นี้ “บรรจุไปด้วยความสัตย์จริงต่างๆ และปรารถนาที่จะทราบ” ครูก็จะใช้จุดนี้ฝึกความจำของเด็กได้โดยไม่ทำให้เด็กเบื่อหน่าย

เตียงบอก “ครูที่ฉลาดย่อมพบโอกาสมากมายในขณะที่สอนประวัติศาสตร์” และยกตัวอย่างคำถามที่จะปลุกใจให้นักเรียนหาเหตุผลมาให้ดูดังนี้

“ทำไมฝรั่งครั้งพระนารายณ์จึงเข้าใจกันว่าพระนารายณ์จะทรงเข้ารีตศาสนาด้วย?

“ทำไมพระนารายณ์จึงทรงเร่งรัดการศึกษาในสมัยของพระองค์ยิ่งนัก?

“การปลงพระชนม์พระเจ้าตากนั้นสมควรหรือไม่? เพราะเหตุใด?” (หน้า 288)

มีคำเตือนจากเตียงถึงครูอีกว่า ในทางจิตวิทยานั้นเด็กมีแนวโน้มจะบูชาวีรบุรุษและวีรสตรี และเกิดความรู้สึกรักชาติตามอิทธิพลของครูได้ง่าย “ถ้าครูรู้จักวิธีนำมาสอนแล้ว ก็จะเป็นเครื่องดลบรรดาลใจนักเรียนให้รักหมู่คณะ รักชาติได้เป็นอย่างดี” แต่ “ถ้าครูปลุกใจให้นักเรียนรักชาติของตน โดยไร้ความยุตติธรรม คือว่า เหยียดหยามชาติอื่นเพื่อความดีของชาติตนแล้ว ก็ผิดความประสงค์ของสมัยปัจจุบัน ซึ่งมุ่งหวังจะให้เกิดศานติสุขแก่สากลโลก เพราะฉะนั้นจงอย่าใช้ชาติอื่นเป็นเหยื่อสำหรับยุให้เด็กเกิดรักชาติอย่างรุนแรง แต่จงอาศัยเหตุผลสำหรับปลุกความรัก” (หน้า 290)

  1. “วิทยาศาสตร์นี้แหละเพาะนิสสัยนักเรียนให้รู้จักไว้วางใจตนเองในกิจที่ตนทำไป, และเพาะให้นักเรียนเป็นคนช่างคิดช่างทำ ไม่หวาดเกรงต่อการวิจารณ์ใดๆ”


“(เพราะเรามองเห็นว่าสยามในสมัยนี้เพิ่งตื่นขึ้นสู่โลกวิทยาศาสตร์ เราจึงพยายามเขียนบทนี้โดยละเอียด)” (หน้า 311)

ข้อความสั้นๆ ในวงเล็บต่อท้ายบทว่าด้วยวิธีสอนวิทยาศาสตร์ยืนยันอยู่ในที ว่าเตียงให้ความสำคัญกับวิชานี้เพียงใด บทนี้จึงตั้งต้นด้วยคำอธิบายถึงกำเนิดวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คืออะไร และมีความมุ่งหมายอย่างไร อย่างละเอียด และเต็มไปด้วยการอ้างอิงคำพูดของนักวิทยาศาสตร์และงานเขียนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนงานทดลองเกี่ยวกับความสนใจของเด็กนักเรียนในวัยต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางให้ครูได้เข้าใจและเลือกเนื้อเรื่องที่เหมาะสมสำหรับการสอน

ในส่วนของความหมายและความมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์ เตียงรวบรวมและอ้างอิงจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน และจากหนังสือหลายเล่ม[10]  ก่อนประมวลสรุปว่า “วิทยาศาสตร์ คือ วิชาที่เอาความคิดความอ่านในตัวเราไปใช้ไปจัดให้ถูกที่ เป็นวิชาที่ช่วยให้เกิดความรู้ทั่วๆ ไป เป็นวิชาที่มีหลักมีเกณฑ์ ซึ่งค้นพบด้วยเหตุผล และแสดงถึงความจริงซึ่งได้ทดลองแล้วโดยถูกต้อง … เป็นวิชาที่สอนให้รู้จักความจริงของธรรมชาติ สอนให้รู้จักจัดความคิดเป็นขั้นเป็นชั้น มีผู้กล่าวว่าวิทยาศาสตร์นั้นคล้ายกับว่าเป็นวินัยของมนุษย์ การเรียนวิทยาศาสตร์ก็เพื่อการครองชีวิต” (หน้า 314-315)

ทั้งนี้โดยมีความมุ่งหมายเบื้องต้นของวิทยาศาสตร์ว่า “จะฝึกหัดให้คนรู้จักหาเหตุผล, ให้เป็นคนแน่นนอน, และมุ่งหวังที่จะแสดงความจริงที่เราทดลองได้แล้วโดยถูกต้อง นอกจากนั้นวิทยาศาสตร์ยังหวังที่จะฝึกหัดคนให้เป็นคนโดยบริบูรณ์ ให้เป็นคนมีชีวิตอยู่อย่างง่ายและให้เป็นเครื่องก่อสร้างปัญญา (Intellect) จัดว่าวิทยาศาสตร์มุ่งหมายที่จะแสดงให้เห็นได้โดยจริง มิใช่เป็นเครื่องแปรให้ฟัง หรือเพียงการอธิบายเท่านั้น” (หน้า 315)

ส่วนความมุ่งหมายปลายทางหลังจากเด็กได้รับการสั่งสอนอบรมทางวิทยาศาสตร์ไปแล้วนั้น ข้อแรกคือ “เกิดประโยชน์แก่ตัวเด็กเอง” คือ เด็กจะรู้จักใช้ปัญญาที่ตนมีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ไม่เชื่อถือในโชคลางอันปราศจากเหตุผล และเป็นผู้ที่ช่างคิดหาเหตุผลด้วยตนเอง ไม่งมงายในตำราใดๆ โดยฉะเพาะ ไม่หูเบาใจเบาเชื่อคำของคนง่ายๆ  และสอง “เกิดประโยชน์แก่หมู่ชน” คือ เมื่อเด็กรู้จักใช้เหตุผลไม่งมงายไม่หูเบาแล้ว เด็กนั้นย่อมนำประโยชน์มาสู่หมู่ชน และ “ยิ่งสำหรับประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยแล้ว พลเมืองที่เป็นช่างคิด, ที่เป็นผู้ประกอบด้วยเหตุผล จะมีค่าตัวสูงยิ่ง เพราะเหตุว่าผู้นั้นมีจิตต์อันมั่นคงไม่โลเลโดยอำนาจการปลุกปั่นต่างๆ” (หน้า 321)

เตียงย้ำแล้วย้ำอีกถึงการสอนเด็กนักเรียนให้รู้จักใช้เหตุผล เขาคาดหวังเต็มเปี่ยมว่าครูไทยจะช่วยกันสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ดังข้อความที่คัดมาเป็นบทเปิดบทความนี้แล้ว แต่ทั้งที่เขาคาดหวังเต็มเปี่ยมจากครูว่าจะเป็น “ผู้กล่อมเกลาเด็กให้เป็นผู้หยั่งถึงเหตุผลธรรมดาตามแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในวันข้างหน้า?” เขาก็มีคำเตือนถึงเพื่อนครู ซึ่งจะว่าไปแล้วเสียงเตือนของเขาคงข้ามเวลามาถึงครูแม้ในปัจจุบัน :

“จึงใคร่จะขอเตือนเพื่อนครูผู้กล่อมเกลามนุษย์ชาติให้เจริญดีงามว่า เรายังมิได้อบรมเด็กไทยของเราให้รู้จักไว้วางใจตนเองมากนัก เรายังไม่ได้ฝึกหัดให้เด็กไทยทำอะไรด้วยฝีมือของตน เราชอบแต่ให้เด็กเลียนแบบหรือเจริญรอยผู้อื่น วิทยาศาสตร์นี้แหละเป็นวิชาสำคัญวิชาหนึ่ง ในการเพาะนิสสัยนักเรียนให้รู้จักไว้วางใจตนเองในกิจที่ตนทำไป, และเพาะให้นักเรียนเป็นคนช่างคิดช่างทำ ไม่หวาดเกรงต่อการวิจารณ์ใดๆ ขอให้เพื่อนครูปลุกใจให้นักเรียนไทยเป็นผู้มีอารมณ์เย็น และเล็งเห็นผลประโยชน์ของการติชมจากผู้อื่นเถิด การติชมเป็นครูวิเศษ เมื่อเราทำสิ่งใดลงไปด้วยมือตนเองและเรามั่นใจว่าเราจะถูกแล้ว ภายหลังมีผู้วิจารณ์ว่ายังมีหนทาง หรือวิธีที่ดีกว่าของเราเช่นนี้ ก็จงเข้าใจเถิดว่าคำวิจารณ์นั้นราวกับเป็นคำสอนของศาสดาที่จะพาเราไปสู่ความเจริญ ทั้งผู้วิจารณ์และเราต่างก็ช่วยกันทำกิจเพื่อความก้าวหน้าของชาติ ขอให้เพื่อนครูของเราถามตนเองว่า ‘ข้าพเจ้าเป็นผู้เล็งเห็นประโยชน์ของการวิจารณ์เมื่อก่อนแล้วหรือ?’ ‘ข้าพเจ้าจะปลุกใจและอบรมเด็กของข้าพเจ้าให้มีความรู้สึกทางฝ่ายดีต่อการวิจารณ์ได้อย่างไรบ้างหนอ?’ ” (หน้า 330-331)

­“ตามจับเตียงศิริขัณฑ์”

วันที่ 31 ตุลาคม 2491 หนังสือพิมพ์ สยามนิกร พาดหัวข่าวการตามจับนักการเมืองคนสำคัญในสมัยที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยตั้งข้อหาขบถในราชอาณาจักร ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือการตามล่าฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ที่เป็นต้นตอของการทำลายระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบันนั่นเอง ล้อมกรอบตรงกลางหน้า มีพาดหัวย่อยว่า “ตามจับเตียงศิริขัณฑ์” (สะกดตามต้นฉบับ) มีรายชื่อผู้ที่ถูกตามจับห้าคน และระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมแล้ว 2 คนคือ จำลอง ดาวเรือง กับทองอินทร์ ภูริพัฒน์

ที่มุมซ้ายของหน้าหนังสือพิมพ์ มีรูปผู้ชายคนหนึ่งยืนยิ้มกริ่ม พร้อมคำบรรยายสั้นๆ ว่า “เตียง ศิริขันฑ์ –ไปสกลแล้ว–”

เตียง ศิริขันธ์ หรือครูเตียง ผู้ฝากฝังสยามประเทศไว้กับเพื่อนครูทั้งหลาย ด้วยความหวังและเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมในศักยภาพของครูที่จะสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทว่าบัดนี้ วิญญาณของเขาคงรู้แล้วและคงดีใจว่า มิใช่ครู หากเป็นนักเรียน ที่กำลังถือธงนำพลเมืองให้ไกลจากมุโขโลกนะ ไม่เห็นแก่หน้าบุคคลใดเพราะอคติเข้าครอบงำ.­

[1] เอมีล ฉบับที่ใช้อ้างอิงในบทความนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2554 โดยสำนักพิมพ์โฆษิต โดยเป็นบทแปลเพียง 1 บรรพจากต้นฉบับทั้งหมด 5 บรรพ ทั้งนี้ผู้เขียนบทความนี้ได้เสาะหาฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2479 จากหอสมุดหลายแห่งแล้วแต่ไม่พบ

[2] ได้แก่ ชาญ บุนนาค, เล็ก บุนนาค, ผ่อง เขียววิจิตร และสง่า ประจักษ์วงศ์

[3] อ้างตามข้อมูลในส่วน “เกี่ยวกับผู้แปล” ใน เอมีล (น. 160)  ทั้งนี้ จากการสืบค้นล่าสุดพบ เพื่อนครู เล่ม 3 และ เล่ม 4 ในส่วนหนังสือหายาก สำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉพาะเล่ม 4 ผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่ลิงก์ http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra55_0387/mobile/index.html

[4] ข้อความนี้คัดจากปกหนังสือ เพื่อนครู เล่ม 4 ซึ่งระบุชื่อผู้เขียนว่า “นายเตียง ศิริขันธ์ ป.ม. ครูสอนวิชาครู โรงเรียนฝึกหัดครูประถม”

[5] เพื่อนครู เล่ม 3 ระบุชื่อผู้เขียนคือ เตียง ศิริขันธ์ และสหัสส์ กาญจนพังคะ ส่วน เพื่อนครู เล่ม 4 ระบุชื่อผู้เขียนคือ เตียง ศิริขันธ์ ผู้เดียวที่หน้าปกหนังสือ ในบทความนี้เลือกพิจารณาเนื้อหาของ เพื่อนครู เล่ม 4 เท่านั้น

[6] หรือในพากย์ไทยคือ “การฟื้นฟูศิลปะและวิทยาต่างๆ เกิดผลในการทำให้ศีลธรรมบริสุทธิ์ขึ้นบ้างหรือหาไม่? ซึ่งศิริขันธ์เล่าด้วยว่า “บทประพันธ์ชิ้นนี้ข้าพเจ้าได้ถอดออกมาเป็นพากย์ไทยไว้โดยตลอดแล้ว เมื่อโอกาสอำนวยจะได้พิมพ์ออกมาให้เพื่อนนักอ่านทั้งหลายอ่าน” (น. 17)

[7] ผู้สนใจสามารถอ่านได้ที่ลิงก์ http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book2/clra55_0387/mobile/index.html

[8] เนื้อหาทั้ง 20 บทเริ่มตั้งแต่วิธีสอนจรรยาในบทแรก วิธีสอนหนังสือไทยวิธีสอนอ่าน วิธีสอนเขียนหนังสือไทย วิธีสอนแต่งไทย วิธีสอนแต่งจดหมาย วิธีสอนย่อความ วิธีสอนไวยากรณ์ไทย วิธีสอนภาษาอังกฤษเบื้องต้น วิธีสอนสะกดตัว วิธีสอนเขียนคำบอกอังกฤษ วิธีสอนคัดอังกฤษ วิธีสอนไวยากรณ์แบบรูปธรรม วิธีสอนแต่งอังกฤษปากเปล่า วิธีสอนพลศึกษา วิธีสอนภูมิศาสตร์ วิธีสอนประวัติศาสตร์ วิธีสอนวิทยาศาสตร์ วิธีสอนธรรมชาติวิทยา วิธีสอนสุขวิทยา และวิธีสอนคณิตศาสตร์

[9] มนุษยศาสตร์ ชาติมนุษยศาสตร์ สมาคมวิทยา หมายถึง Anthropology, Ethnology และ Sociology ตามลำดับ

[10] ทั้งนี้ เตียงอ้างนิยามจากนักวิทยาศาสตร์ 4 คน คือ ฮักเลย์ (Huxley), วิลสัน (Wilson), กานอง (Garnong) และฮาตแมน (Hart Man) และจากหนังสือต่อไปนี้ คือ ได้แก่ Teaching of General Science, How To Teach Physics และ Science Teaching