อ่านนายผีฉบับย่อ#1 : เป็นเหตุเพราะโรคห่า

“เป็นเหตุเพราะโรคห่า” คือชื่อเรื่องสั้นเขียนโดย “หง เกลียวกาม” (นามปากกาหนึ่งของอัศนี พลจันทร) ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร ปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อปี 2501  เหตุการณ์อหิวาตกโรคระบาดในปีนั้นเป็นฉากหลังของเรื่องซึ่งมี ป๋อง กับ แถม เป็นตัวละครหลัก คนทั้งสองถกเถียงกันเรื่องโรคที่เรียกกันอย่างลำลองว่า “โรคห่า” จนกระทั่งได้พลัดเข้าไปอยู่ท่ามกลางความโกลาหลหน้าโรงพยาบาล แถมถูกจับให้น้ำเกลือเพื่อรักษาโรคทั้งที่เขาไม่ได้ป่วย ส่วนป๋องอาศัยช่วงชุลมุนหนีออกจากโรงพยาบาลไปได้อย่างหวุดหวิด

เรื่องสั้นชวนขัน ล้อไปกับสถานการณ์โรคระบาดขณะนั้น นอกจากจะอ่านสนุกและให้เราเห็นภาพความปั่นป่วนของระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยเมื่อหกสิบกว่าปีก่อน (ซึ่งจะว่าไปก็มีหลายส่วนที่ยังคล้ายกับที่เราๆท่านๆ เพิ่งประสบพบเห็นกันเมื่อเร็วๆนี้) แล้ว บทสนทนาทีเล่นทีจริงระหว่างป๋องกับแถม ยิ่งน่าทึ่ง เพราะมันกลายเป็นคำวิจารณ์สังคมอย่างลงลึกภายใต้การถกเถียงกันของคนทั้งสองว่า อหิวาตกโรคระบาดจริงๆ หรือว่าหนังสือพิมพ์เข้าใจสับสนกับ “ห่าลงกินเมือง” ซึ่งเป็นคำเปรียบเทียบถึงการโกงกินบ้านเมืองกันแน่

หง เกลียวกาม แสดงให้เห็นตั้งแต่ตอนต้นเรื่องทีเดียว เมื่อป๋องตกอกตกใจกับข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “อหิวาตกโรคระบาดทั่วเมือง!” แต่แถม เพื่อนของเขา ค้านหัวชนฝาว่าหนังสือพิมพ์โกหกและเขียนข่าวยกเมฆ

“หนังสือพิมพ์ไม่ยกเมฆไม่มี อั๊วทำมากะมืออั๊วเองนี่หว่า สมัยนั้นอั๊วยกเมฆเสียนายปรีดีขี้แตก”

“เออ, บาปกรรมของแกไม่มีใครล้างให้หรอก อย่าลืมว่าที่แกยกเมฆไปนั้น ไม่เพียงทำให้คนขี้แตก แต่ยังทำให้คนตายเปล่าๆ ปลี้ๆ”

“ไม่ใช่อั๊วคนเดียวโว้ย, มันยกกันทั้งชุด—อั๊วเป็นแต่ด้านหนังสือพิมพ์”

(นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2, หน้า 236)

นี่เท่ากับผู้เขียนได้แทรกกรณีให้ร้าย ดร.ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งคงค้างคาใจคนในสังคมมานับสิบปี (จนถึงขณะนั้น) เข้าไปในการพูดคุยกันระหว่างเพื่อนเกลออย่างไม่ขัดเขิน ต่อจากนั้นเขายังผลักดันบทสนทนาให้แถมซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ ยอมรับการเขียนข่าวยกเมฆโดยอ้างว่าเป็นความรักชาติ ตัวละครแถมยังถูกขยายความว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ทำตามอุดมคติและศรัทธาใน “หม่อมท่าน” ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการที่แม้ไม่เอ่ยชื่อ แต่ใครก็คงพอคาดเดาได้ว่าพาดพิงถึงหนังสือพิมพ์ฝ่ายอนุรักษนิยมฉบับใดในขณะนั้น

แถมซึ่งไม่พอใจที่ป๋องมีความเห็นแตกต่างจากเขา จึงคอยค่อนขอดป๋องว่าเห็นด้วยกับหนังสือพิมพ์ที่เป็น “คอมมูนิด” และแถมยินดีเสียสละทุกอย่างได้เพราะความรักชาติ

“ลื้อไปเห็นด้วยกับอ้ายพวกนั้น เกลียดเจ้าเกลียดนาย เกลียดฝรั่งยังงี้ไม่เป็นคอมมูนิดแล้วจะเป็นอะไรอีก?  ยิ่งกว่านี้ ลื้อมันยังมีเชื้อคอมมูนิดอยู่โดยธรรมชาติ”

“อูวะ, นี่มันยังไงกัน?”

“ก็แกมันเป็นคนจน คนจนน่ะมันมีเชื้อคอมมูนิดอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว ทีแรกอั๊วก็ไม่รู้ หม่อมท่านชี้แจงให้ฟังถึงได้รู้  คนจนมันเป็นคอมมูนิดง่าย คนมั่งมีเขาไม่เป็นคอมมูนิดกันหรอก”

“แล้วนี่แกจะเอาตะรางมาให้ไกหรือ?” ป๋องตกใจ “แกนี่จะยกเมฆให้ไกติดตะรางจนได้”

แถมหัวเราะเอิ้ก “ถ้าลื้อยังด่าฝรั่ง ด่าเจ้าด่านาย เข้าข้างอ้ายพวกหนังสือพิมพ์หัวแดงละก็ อั๊วต้องยกเมฆให้ลื้อเข้าตะรางจนได้ เพื่อนก็ส่วนเพื่อนโว้ย อั๊วต้องเสียสละเพื่อนเพื่อชาติ”

(นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2, หน้า 239)

เป็นบรรยากาศของสังคมการเมืองในราวปี 2501 ในช่วงรอยต่อของรัฐประหาร ในเดือนกันยายน 2500 และรัฐประหารซ้ำในเดือนตุลาคม 2501 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ บวกกับสถานการณ์โลกยุคสงครามเย็นที่สหรัฐฯ มีอิทธิพลสูงและถือข้างผู้นำอนุรักษนิยมในไทย

แม้ว่าทุกวันนี้บทบาทของการเมืองระหว่างประเทศที่รายล้อมอยู่ภายนอกจะสลับสับเปลี่ยนทิศทางกัน กล่าวคือฝ่ายอนุรักษนิยมที่เคยชื่นชมโลกตะวันตกที่เรียกกันว่า “ฝรั่ง” และรังเกียจพวกหัวแดง “คอมมูนิด” เมื่อครั้งปีกึ่งพุทธกาล ได้ย้ายฝักฝ่ายมาสร้างกระแสเกลียดชังตะวันตกและเชิดชูจีนคอมมิวนิสต์แทนเสียแล้ว แต่การกลับไปอ่าน “เป็นเหตุเพราะโรคห่า” ในวันที่ “โควิด-19” ระบาดลุกลามข้ามจากปี 2021 มาถึงปี 2022 ก็ชวนให้เราได้เปรียบเทียบความวุ่นวายโกลาหลทั้งจากโรคระบาด และจากโรครักคลั่งชาติ ที่คล้ายจะเป็นเป็นรอยโรคข้ามยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน

แต่ที่สำคัญก็คือ หง เกลียวกาม ไม่ได้ทำให้เราหมดหวังเพราะ “โรคห่า” แต่อย่างใด เขาส่งต่อความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งมาให้คนรุ่นหลัง ดังที่ป๋องรำพึงรำพันในใจ:

ป๋องส่ายหน้าอย่างเอือม มองดูคนตามถนนเห็นตกใจกันมาก และพูดเอะอะกันต่อไปอีก มองขึ้นไปตามคฤหาสน์ใหญ่ๆ ข้างถนนกลับดูสงบเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คนจนกลัวโรคห่า, ป๋องคิด, แต่คนมีไม่กลัวเลย เพราะเขามีทางป้องกันและทางแก้ไข  คนจนไม่มีที่หลีกเลี่ยงต้องเผชิญกับอันตรายอันร้ายแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งๆ รู้ว่าจะมีอันตราย ชีวิตเมื่อไม่มีที่หลีกเลี่ยงก็ต้องเผชิญไป แต่ก็ชีวิตอย่างนี้แหละที่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงชีวิตเช่นนี้เสียที,อยากจะให้มีที่หลีกเลี่ยงจากความทุกข์ยาก และความทรมานอันตรายเช่นนี้เสียที ส่วนชีวิตที่มีบรมสุขอยู่แล้วของคนมั่งมีเหล่านั้นไม่ต้องการให้มีเปลี่ยนแปลงอะไร, ต้องการที่จะให้ชีวิตอันฟุ้งเฟ้อสุขสบายของเขาได้ดำรงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย  แต่โลกนี้หมุนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน, เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเวลานาที สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ไม่สามารถจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่กระดุกกระดิก ของบางอย่างดูเหมือนจะนิ่งอยู่กับที่ แต่ความจริงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โลกอันกว้างใหญ่ของเรานี้ก็ดูเหมือนแบนและแน่นิ่งไม่ติงไหว, แต่ที่แท้มันกลมและหมุนรอบตัวเอง แล้วก็หมุนรอบดวงอาทิตย์อยู่ทุกเวลาไม่ใช่หรือ เมื่อชีวิตในโลกนี้หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป, ชีวิตใหม่ที่ดีกว่าก็จะต้องเข้ามาแทนที่ชีวิตเก่าที่คร่ำคร่านั้นจนได้สักวันหนึ่ง, ไม่เร็วก็ช้า, ใครจะไปรั้งไปฉุดมันไว้ให้หยุดอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ก็ไม่สามารถจะมีกำลังไปฉุดไปรั้งมันไว้เช่นนั้นได้ (หน้า 242-3)

 
หวังว่าผู้อ่านคงเห็นด้วยและมีความหวังเช่นเดียวกับป๋อง

“สิ่งทั้งปวงในโลกนี้ [และในบ้านเมืองนี้] ไม่สามารถจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่กระดุกกระดิก [เช่นกัน]”

 

หมายเหตุ: เรื่องสั้น “เป็นเหตุเพราะโรคห่า” ตีพิมพ์รวมเล่มใน นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2 เป็นหนังสือลำดับที่ 9 ในโครงการอ่านนายผี โดยสำนักพิมพ์อ่าน สั่งซื้อได้ที่ https://readjournal.org/product/naipheenithaanvol2/
นอกจากนั้นยังมีหนังสือเล่มอื่นๆ ของนายผีจำหน่ายในราคาพิเศษ:
ชุดกาพย์กลอนนายผีหกเล่ม 300 บาท https://readjournal.org/product/vol_1to6/
ชุดนายผี box set 20 เล่ม 1,900 บาท https://readjournal.org/product/naiphee-box-set-extra/