นพพร ประชากุล ทิ้งรอยโดยทิ้งรอย

นพพร ประชากุล

อาจารย์นพพร ประชากุล ด่วนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และทิ้งงานจำนวนไม่มากนักไว้ให้คนรุ่นหลัง แต่งานเหล่านี้ก็ถือได้ว่ามีความเข้มข้นทางความคิด จนสามารถจะเป็นหลักไมล์สำคัญของกระแสความคิดด้านวรรณกรรมวิจารณ์และมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

ในช่วงเวลาสิบกว่าปีตั้งแต่ปี 2535 – 2548 ก่อนที่เขาจะล้มป่วยและเสียชีวิตในปลายปี 2550 อาจารย์นพพรเขียนบทความและบทวิจารณ์เผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะอย่างต่อเนื่อง งานเหล่านี้ถูกนำมาพิมพ์ภายหลังการเสียชีวิตของเขารวมกันได้เป็นหนังสือสองเล่ม ความหนานับพันหน้า ได้แก่ ยอกอักษร ย้อนความคิด (2551) เล่ม 1 ว่าด้วยวรรณกรรม และเล่ม 2 ว่าด้วยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ขณะเขามีชีวิตอยู่อีกหนึ่งเล่มคือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส (2546) เป็นการสำรวจและวิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศสชิ้นสำคัญๆ ตั้งแต่ยุคอัศวินจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 และมีผลงานด้านการแปลวรรณกรรมและแนวคิดทฤษฎี ทั้งที่เขาเป็นผู้แปลเอง หรือเป็นบรรณาธิการแปลอีกจำนวนหนึ่ง

ความพิเศษที่เห็นได้ง่ายสุดในงานของอาจารย์นพพร คือความครบเครื่องครบถ้วนอันยากจะหาคนอื่นเทียบเท่าได้ เขาสร้างงานที่เป็นการสรุปสังเคราะห์แนวคิดและทฤษฎีวรรณกรรมและทฤษฎีด้านสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ในแนวโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมหลายทฤษฎีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีสัญศาสตร์ ทฤษฎีสตรีนิยม แนวคิดเรื่องอำนาจของฟูโกต์ ทฤษฎีหลังอาณานิคม และการวิจารณ์แนวนวประวัติศาสตร์ (new historicism)

เขาสาธิตให้เห็นถึงวิธีการนำทฤษฎีเหล่านั้นมาใช้วิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรม ศิลปะ และวัฒนธรรม ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ สามารถเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจในทฤษฎีเหล่านี้ใช้เป็นแนวทางในการนำทฤษฎีมาใช้อย่างเหมาะสมและทรงพลัง

และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเขาเป็นผู้แปลและ/หรือเป็นบรรณาธิการแปล งานเขียนแนวทฤษฎีของนักคิดคนสำคัญๆในช่วงหลังศตวรรษที่ 20 หลายชิ้น หนึ่ง อาทิ งานที่เป็นผู้แปลเองได้แก่ “บทตัดตอนจากลิขิตวิทยา” โดย ฌากส์ แดร์ริดา” “กิจกรรมแบบโครงสร้างนิยม” ของโรล็องด์ บาร์ตส์ ทั้งสองชิ้นนี้รวมพิมพ์อยู่ใน สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศส ศตวรรษที่ 20 (2542) งานที่เป็นบรรณาธิการแปล ได้แก่ มายาคติ โดย โรล็องต์ บาร์ตส์ (2544), ร่างกายใต้บงการ โดย มิแชล ฟูโกต์ (2547), เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ โดย ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (2550) เป็นต้น เปิดโอกาสให้ผู้สนใจแนวคิดทฤษฎีเหล่านี้ได้เข้าถึงตัวบทชั้นต้นของนักทฤษฎีเหล่านี้ได้โดยตรง

ทิ้งรอยโดยทิ้งรอย

เมื่อพูดถึง “การตามรอยเท้า” ใครสักคน ภาพที่จะผุดขึ้นมาในความคิดคือ ผืนทรายหรือผืนหญ้าว่างเปล่า มีรอยเท้าหรือรอยทางเดินที่เด่นชัดโดดเดี่ยวอยู่หนึ่งทาง ซึ่งเชื้อเชิญให้เราเดินตาม ภาพชวนเคลิ้มฝันเชิงโรแมนติคดังกล่าว สื่อความหมายของการบุกเบิก ถากถาง เพื่อสร้างทาง และทิ้งรอยไว้ให้คนรุ่นหลังได้เจริญรอยตาม จากที่ไม่มีทางก็เกิดเป็นทางขึ้นมา

แต่ในโลกของความเป็นจริง โดยเฉพาะในโลกของวงวิชาการนั้น ภูมิทัศน์ทางปัญญาและความคิดของมนุษย์นั้นมิได้เป็นดั่งผืนทรายหรือผืนหญ้าอันว่างเปล่า ที่รอให้ใครคนใดคนหนึ่งมาประทับรอยหรือทิ้งรอยให้เป็นทางเดิน หากแต่อุดมไปด้วยสารพัดรอยของความคิด ความเชื่อ ตลอดจนแบบแผนค่านิยมทางสังคมที่ประทับอยู่แล้ว อย่างหนักแน่นบ้าง เบาจางบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้างแตกต่างกันไป

ด้วยเหตุนี้ ในโลกของความเป็นจริงแล้วไซร้ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครสักคนจะทิ้งรอยของตนเองไว้บนภูมิทัศน์ทางปัญญา ที่สำคัญคือเขาผู้นั้นจำต้องทิ้งรอยเดิม จึงจะสามารถทิ้งรอยของตนเองได้ นั่นคือเขาต้องสลัดตัวเองให้หลุดออกจากรอยความคิดเดิมๆ ซึ่งทำหน้าที่ตีกรอบให้ทุกคนอยู่ในร่องในรอยเสียก่อน หาไม่แล้วก็เป็นการยากที่เขาจะสามารถสร้างรอยใหม่ของตนเองจนคนรุ่นหลังสามารถตามรอยได้

ดังนั้นเมื่อพูดถึงการตามรอยนพพร ประชากุล เราจำต้องพูดไม่เพียงแต่ว่าเขาได้ทิ้งรอยความคิดใดไว้บ้างบนภูมิทัศน์ทางปัญญาของสังคมไทย แต่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับร่องรอยความคิดใดบ้างที่เขาต้องวิพากษ์ ลบล้าง เพื่อสร้างรอยใหม่ขึ้นมา

อาจเป็นความบังเอิญทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นโชคชะตาลิขิต จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของงานอาจารย์นพพร จะพ้องพานกับจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของยุคสมัยทางการเมืองไทยยุคหนึ่งอย่างน่าประหลาด หากไม่นับบทความเรื่อง “ชีวิตและงานของวอล์แตร์” ที่เผยแพร่ใน วารสารธรรมศาสตร์ ในปี 2525 แล้ว เขาประเดิมบทบาทปัญญาชนสาธารณะและนักวิจารณ์วรรณกรรมด้วยบทความ “ว่าด้วย ‘ความรัก’ ในวรรณกรรมฝรั่งเศส” ในนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนเมษายน 2535 เพียงหนึ่งเดือนก่อนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่เปิดศักราชใหม่ของยุคประชาธิปไตยเต็มใบในสังคมไทย ขณะที่งานชิ้นสุดท้ายของเขาคือบทความชื่อ “ศิลปะกับวาทกรรม” เผยแพร่ในหนังสือ เข้านอก/ออกใน รวมบทสัมภาษณ์และบทความศิลปะร่วมสมัย ในปี 2548 เพียงหนึ่งปีก่อนการรัฐประหาร 2549 ที่ปิดฉากประชาธิปไตยเต็มใบซึ่งเริ่มต้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

เมื่อมองจากจุดที่เรายืนอยู่ในขณะนี้ แม้ว่าเวลาจะผ่านมาแค่เพียงสิบกว่าปี แต่งานของเขาดูเหมือนจะมาจากอีกยุคสมัยอันเก่าแก่และไกลแสนไกล ในเชิงเวลาและอารมณ์ของยุคสมัยก็เป็นเช่นนั้นจริง เพราะเรากำลังอยู่ในโลกของศตวรรษที่ 21 ขณะที่งานของอาจารย์นพพรนั้นเป็นงานของศตวรรษที่ 20 แต่ในขณะเดียวกันในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา สังคมและการเมืองไทยปัจจุบันได้ถอยหลังกลับไปไกลมากจนทำให้ประเด็นหลายประเด็นในงานของอาจารย์นพพรดูล้ำสมัยอย่างยิ่ง

อาจารย์นพพรก็เหมือนนักวิชาการหลายคนในยุคนั้น ที่สวมบทบาทปัญญาชนสาธารณะ นำเสนอผลงานตามหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายเล่มอย่างต่อเนื่องและในบางช่วงก็หลายเล่มในเวลาเดียวกัน เริ่มจากการเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมเป็นประจำในคอลัมน์ “คนกับหนังสือ” ในนิตยสาร สารคดี (2533-2543) และเขียนบทความว่าด้วยวัฒนธรรมในคอลัมน์ “เชิงอรรถวัฒนธรรม” ในหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน 2536-2537ก่อนจะหันไปเขียนบทวิจารณ์วรรณกรรมในคอลัมน์ “วิจักษ์ วิจารณ์” เป็นประจำให้กับนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ (2542-2543) และเขียนเกี่ยวกับนักคิดและปรัชญาในคอลัมน์ “คิดสร้าง ต่างสรรค์” ในนิตยสาร สารคดี (2543-2544) พร้อมกับรับเขียนบทความตามคำเชิญให้วารสารและนิตยสารอีกหลายเล่มในวาระต่างๆ กัน

ในช่วงเวลาสิบกว่าปีที่อาจารย์นพพรเผยแพร่งาน ถือได้ว่าเป็นช่วงห้วงเลี้ยวในประวัติศาสตร์การเมืองและภูมิปัญญาไทย พอๆ กับที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษา งานของอาจารย์นพพรมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมต่อความก้าวหน้าของวงวิชาการในระดับสากลกับวงวิชาการในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ช่วยสถาปนาแนวทางใหม่ในการวิจารณ์วรรณกรรมด้วยจุดยืนเชิงวิพากษ์ ประสานการใช้ทฤษฎีกับการวิเคราะห์ตัวบทเพื่อตรวจสอบค่านิยมและระบบคุณค่าที่กำกับงานวรรณกรรม จนทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวกลายมาเป็นยุคอันรุ่งโรจน์ยุคหนึ่งของวรรณกรรมวิจารณ์ในสังคมไทย หรือบางคนอาจจะมองว่าความเจิดจรัสดังว่าเป็นดั่งแสงเจิดจ้าสุดท้ายของพลุไฟก่อนจะดับลับไปในความมืด จะอย่างไรก็ตามผมหวั่นใจว่าเราจะไม่มีโอกาสได้เห็นบรรยากาศของการวิจารณ์ที่คึกคักมีชีวิตชีวาเช่นนั้นอีกแล้วในสังคมไทย อย่างน้อยๆ ก็ในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือมากกว่านั้น

เพื่อจะเข้าใจบทบาทและคุณูปการที่งานของอาจารย์นพพรมีต่อวงวิชาการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์โดยรวม และวรรณกรรมศึกษาโดยเฉพาะ เราควรจะเข้าใจถึงบริบททางสังคมและวงวิชาการทั้งในและนอกประเทศในยุคนั้น ดังนี้

บริบทภายนอกประเทศและภายนอกวงวิชาการไทย

บรรยากาศทางวิชาการในระดับสากลเกิดแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม รื้อสร้าง หลังอาณานิคม สตรีนิยมและหลังสตรีนิยม วัตถุนิยมวัฒนธรรม (cultural materialism) นวประวัติศาตร์ ฯลฯ ครั้นล่วงมาถึงทศวรรษ 1980 แนวคิดเหล่านี้ได้สถาปนาตัวเองอย่างค่อนข้างมั่นคงในโลกวิชาการตะวันตก กลายเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ของการแสวงหาความรู้ ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในโลกตะวันตกกับวงวิชาการไทยยังไม่เคยปรากฏมาก่อน นักศึกษาไทยที่ไปศึกษาต่อในต่างประเทศในยุคนี้ประสบกับภาวะตกขบวนรถไฟความรู้ ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับแนวคิด ทฤษฎี และการวิเคราะห์ วิจัยที่ใช้กันในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดความกระหายใคร่รู้ทฤษฎีและแนวคิดใหม่ๆที่เรียกรวมๆกันว่า “หลังสมัยใหม่” ในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาไทยอย่างกว้างขวาง

สำหรับบริบทของสังคมไทยในช่วงนี้ที่ควรกล่าวถึง คือการล้มละลายทางความคิดและทางอุดมการณ์ของแนวคิดมาร์กซิสต์ในช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งส่งผลให้นักคิดและนักวิชาการทั้งพวกที่อกหักมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และพวกคนรุ่นใหม่ ต่างตื่นตัวสนใจศึกษาและแสวงหาแนวคิดและแนวทางใหม่ที่จะให้คำอธิบายและ/หรือเสนอทางออกให้กับสังคมได้ดีกว่าเดิม ดังจะพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีการนำเสนอแนวคิดและแนวทางอันหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้สังคม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบพุทธ แนวคิดประชาสังคม แนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เสรีนิยมใหม่ ฯลฯ แนวคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมเป็นหนึ่งในแนวคิดที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากว่ามีสปิริตของวิพากษ์อย่างถึงรากเช่นเดียวกับแนวคิดมาร์กซิสต์ โดยเฉพาะการวิพากษ์อุดมการณ์ ทั้งนี้เพราะแนวคิดเหล่านี้สร้างเครื่องมือที่ซับซ้อนยิ่งกว่าแนวคิดมาร์กซิสต์ [1]

 
ที่สำคัญคือบรรยากาศทางการเมืองที่เปิดกว้าง เกิดภาวะ “ฟองอากาศประชาธิปไตย” [2] ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับภูมิปัญญาในสังคม หล่อเลี้ยงให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นอย่างค่อนข้างอิสระ ส่งผลให้บรรยากาศของการวิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นวิจารณ์วรรณกรรม ภาพยนตร์ ศิลปะ เป็นไปอย่างคึกคักมีชีวิตชีวา ขณะเดียวกันสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับก็เปิดพื้นที่ให้กับการวิจารณ์อย่างเต็มที่

ปัจจัยเชิงวิชาชีพ

ในช่วงทศวรรษ 2530 เป็นช่วงท้ายๆก่อนการเถลิงอำนาจของ “ทรราชย์มคอ.” อาจารย์มหาวิทยาลัยในยุคนั้นยังมีอิสระพอสมควรในการค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่งานตามความสนใจส่วนบุคคล ปลอดจากการแทรกแซงหรือควบคุมด้วยระเบียบข้อบังคับต่างๆ นานา ไม่ถูกตีกรอบด้วยภาระงานที่ไร้สาระอย่างการประกันคุณภาพ ซึ่งที่ถูกแล้วควรจะเรียกว่าการประกันปริมาณมากกว่า เพราะเป็นระบบที่นำไปสู่การผลิตเอกสารปริมาณมหาศาลกองสุมเป็นภูเขา จนทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยไม่มีเวลาจะสร้างสรรค์งานวิชาการที่มีคุณภาพได้ ที่สำคัญคือ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีอิสระในการสร้างผลงานวิชาการที่ไม่ต้องอิงอยู่กับสถาบันการศึกษาและทุนวิจัย หรือถูกบังคับให้ต้องเผยแพร่งานวิชาการเฉพาะแต่ในวารสารวิชาการซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีคนอ่าน และมีสภาพเป็น ดังที่อาจารย์นพพรเคยนิยามไว้ว่า “junk journal” [3]

ที่ควรกล่าวถึงเป็นกรณีพิเศษก็คือวัฒนธรรมองค์กรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยรวม และที่คณะศิลปศาสตร์โดยเฉพาะในยุคนั้นที่ให้อิสระในการทำงานวิชาการ โดยไม่เข้ามากำกับ ควบคุม หรือกะเกณฑ์แต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นภาควิชาฝรั่งเศสที่อาจารย์นพพรสังกัดอยู่ก็ให้การสนับสนุนอย่างแข็งขัน โดยช่วยแบ่งเบาหรือรับทำแทนภาระงานด้านการบริหารและงานธุรการส่วนที่อาจารย์ต้องรับผิดชอบ ทำให้อาจารย์นพพรมีเวลาว่างมากพอจะทุ่มเทให้กับการสอน การค้นคว้า และการเผยแพร่ผลงานได้

ปัจจัยเชิงตัวบุคคล

ความสามารถที่ครบเครื่องของอาจารย์นพพร ซึ่งหาได้ยากที่จะมีอยู่ครบถ้วนในคนคนเดียว

1.อาจารย์นพพร ศึกษาร่ำเรียนวรรณกรรมฝรั่งเศสจนเชี่ยวชาญ และผ่านการฝึกฝนสถาบันชั้นสูงด้านการแปลและการล่าม ESIT(École Supérieure d’Interprètes et de Traducteurs) อันเลื่องชื่อของฝรั่งเศสมาอย่างช่ำชอง เขาเป็นผู้มีพื้นความรู้อันแน่นหนาและลึกซึ้งด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และที่พิเศษขึ้นไปอีกคือ ในบรรดานักคิดนักวิชาการที่ศึกษาและเผยแพร่แนวคิดหลังโครงสร้างนิยมในขณะนั้น อาจารย์นพพรน่าจะเป็นคนเดียวที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้โดยตรงมาจากฝรั่งเศส ผิดกับคนอื่นที่ศึกษาทฤษฎีเหล่านี้จากโลกวิชาการของอังกฤษและอเมริกา และเป็นคนเดียวที่พยายามยืนยันตลอดมาว่า ในฝรั่งเศสไม่มีการจำแนกระหว่าง โครงสร้างนิยมกับหลังโครงสร้างนิยม เพราะถือเป็นกระแสที่ต่อเนื่องกัน[4]

2. มีความปราดเปรื่องในการคิดวิเคราะห์ เป็นคนช่างพินิจ พิจารณาปรากฏการณ์รอบๆ ตัว ทั้งเรื่องใหญ่ระดับจักรวาล หรือเรื่องเล็กเท่ากระผีกริ้น ทั้งยังมีความสันทัดเจนจัดในการเขียนเป็นพิเศษ ความสามารถทางภาษาทั้งไทย ฝรั่งเศส และอังกฤษ ความสามารถในการถ่ายทอดความคิดนามธรรมอย่างเป็นรูปธรรม

3. ความใฝ่รู้ เปิดกว้างทางความคิด ไม่ยึดติดกับความรู้เดิมหรือความสำเร็จในอดีตของตนเอง ดังจะพบว่าแนวคิดทฤษฎีหลายแนวไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสตรีนิยมระลอกที่สาม ทฤษฎีหลังอาณานิคม ทฤษฎีนวประวัติศาสตร์ เป็นทฤษฎีใหม่ๆที่เกิดขึ้นหลังจากอาจารย์นพพรกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็เป็นทฤษฎีที่อาจารย์ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อทำความเข้าใจและนำมาใช้วิเคราะห์วิจารณ์วรรณกรรมได้อย่างช่ำชอง

องค์ประกอบทั้งสามด้านดังที่กล่าวมานี้เองที่ทำให้เห็นผลงานวิชาการของอาจารย์นพพรที่ทั้งครบถ้วนและครบเครื่อง เพียบพร้อมด้วยความหนักแน่นในทางข้อมูลและความรู้ทางวิชาการ และแหลมคมในทางจุดยืนและความคิด ก่อผลสะเทือนอย่างกว้างขวางต่อวงการวรรณกรรมศึกษาและวรรณกรรมวิจารณ์ในสังคมไทย และกลายมาเป็นพื้นฐานอันทรงคุณค่ายิ่งให้กับนักวิจารณ์และนักวิชาการด้านวรรณกรรมศึกษาได้พัฒนาและต่อยอดความรู้สู่วรรณกรรมศึกษาของศตวรรษที่ 21

จะเห็นว่าในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากยิ่งถึงขั้นเป็นไปไม่ได้แล้ว ที่องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้จะมาประจวบเหมาะกันได้อีก นักคิดและปํญญาชนไทยที่มีความสามารถเฉกเช่นหรือมากกว่าอาจารย์นพพรนั้นคงจะพอหาได้ แต่องค์ประกอบด้านอื่นดังที่แจกแจงมานั้น เพียงแค่นึกก็ชวนให้หดหู่ใจ

ทวิลักษณ์ทางวิชาการ และ ภาวะหว่างเขาควาย

ในบทความเกี่ยวกับประสบการณ์การไปเรียนในฝรั่งเศสช่วงหัวเลี้ยวสำคัญในโลกวิชาการฝรั่งเศส ช่วงทศวรรษ 70 หรือช่วง พ.ศ. 2516-2520 อาจารย์นพพรได้พูดถึง ”ทวิลักษณ์ทางวิชาการ” ของยุคนั้นว่า ทำให้เขาได้เรียนรู้และรับรู้ถึงแนวทางการศึกษาสองสำนักใหญ่ที่กำลังแข่งขันกันสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นกระบวนทัศน์หลักของการเรียนรู้ นั่นคือการศึกษาวรรณกรรมในแนวทางมนุษยนิยม เน้นการเชิดชูคุณค่าความเป็นมนุษย์ ผ่านการซาบซึ้งและการประเมินคุณค่าวรรณกรรม ซึ่งเป็นบรรทัดฐานหลักของการศึกษาวรรณคดีที่ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 กับแนวทางมนุษยศึกษา ของกลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ที่นำแนวคิดโครงสร้างนิยมมาใช้ศึกษาวรรณกรรม มุ่งอธิบายกระบวนการสื่อความหมายของตัวบทวรรณกรรม เพื่อทำให้เราเข้าใจและตระหนักถึงอุดมการณ์ ค่านิยมที่ดำรงอยู่และทำงานอย่างแยบยลในตัวบทวรรณกรรม

อาจารย์นพพรเล่าว่าการต้องเข้าไปเป็นผู้เรียนในช่วงที่เกิดภาวะ “‘หว่างเขาควายทางความคิด”[5] ในมหาวิทยาลัย สร้างความสับสนงุนงงในเบื้องต้น แต่ครั้นเมื่อปรับตัวและเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในวงวิชาการขณะนั้น ก็กลับกลายเป็นความสำราญทางปัญญา เพราะทำให้อาจารย์ได้มองเห็นมุมมองเกี่ยวกับวรรณกรรม อันหลากหลายและขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง สามารถจะดื่มด่ำกับความงามของวรรณกรรม พร้อมกันกับชำแหละความคิดที่แฝงอยู่ในตัวบทเดียวกันนั้นได้

ภาวะหว่างเขาควายทางความคิดหรือทวิลักษณ์ทางวิชาการ โดยเฉพาะในวงการวรรณกรรมศึกษาดังว่านั้นได้บังเกิดขึ้นเช่นกันในสังคมไทยช่วงทศวรรษ 2530 ผิดกันแต่ว่าในกรณีของไทย อาจารย์นพพรมิได้อยู่ในฐานะผู้ประสบพบเห็นเช่นในสมัยเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส แต่ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดสภาวะดังกล่าวขึ้น โดยการพยายามนำเสนอการวิจารณ์วรรณกรรมในแนวโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมให้เป็นทางเลือกใหม่ของการวิจารณ์ในสังคมไทย

โดยเปรียบเทียบแล้ว วรรณกรรมศึกษาเป็นศาสตร์ที่มีแนวโน้มเป็นชาตินิยมที่ทั้งโดดเดี่ยวและปิดกั้นตัวเองค่อนข้างสูงมาก ยิ่งถ้าเป็นสังคมที่อุดมการณ์ชาตินิยมแบบคลั่งชาติถูกโหมกระพือ วรรณกรรมศึกษาของสังคมนั้นก็ยิ่งจะมีแนวโน้มอนุรักษนิยมมากเป็นทวีคูณ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ต่อต้านคนนอกทั้งในแง่คนนอกวงวิชาการ คนนอกชาติตนเอง รวมไปถึงความคิดนอกคอก นอกขนบ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะไม่ว่าจะศึกษาวรรณกรรมในฐานะใดๆ จากกรอบคิดใดๆ หรือด้วยเป้าหมายใดๆ สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ วัตถุแห่งการศึกษาอันเป็นพื้นฐานของศาสตร์นี้คือเนื้อหนังมังสาของภาษา กล่าวคือผู้ที่จะสามารถศึกษาวรรณกรรมได้อย่างกว้างขวางและลุ่มลึก จะต้องมีความเชี่ยวชาญและความสันทัดในภาษานั้นๆ พอสมควร ผิดกับการศึกษาในศาสตร์อื่น ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ ปรัชญา มานุษยวิทยา ฯลฯ ที่ความสามารถทางภาษามิได้เป็นอุปสรรคร้ายแรงมากเท่า ในแง่นี้วรรณกรรมศึกษาจึงเป็นศาสตร์ที่จำกัดตัวเองอยู่แต่ในหมู่เจ้าของภาษานั้นเป็นส่วนใหญ่ มีคนต่างชาติต่างภาษาน้อยคนที่จะเอาดีในการศึกษาวรรณกรรมชาติอื่น ยิ่งในกรณีของวรรณกรรมไทยศึกษา ยิ่งเห็นชัดว่า มีชาวต่างชาติแทบนับคนได้ที่สนใจศึกษาและเชี่ยวชาญวรรณกรรมไทย หรือแม้แต่คนไทยด้วยกันเอง ก็จะพบว่ามีคนจากศาสตร์อื่นไม่มากนักที่ศึกษาวรรณกรรมไทย

กระนั้นก็ตาม เช่นเดียวกับศาสตร์อื่นๆ วรรณกรรมไทยศึกษาก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เป็นระยะ ทั้งจากภายในและภายนอกวงการวรรณกรรมไทยศึกษา อาทิ การท้าทายจากนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้าย ที่พยายามนำกรอบคิดแบบมาร์กซิสต์มาใช้ศึกษา วิเคราะห์ วิพากษ์ ตลอดจนสร้างสรรค์วรรณกรรมไทย หรือนักวิชาการด้านวรรณกรรมไทยเองและที่อยู่นอกสาขาวรรณกรรมที่พยายามนำกรอบคิดและทฤษฎีการวิจารณ์แนวใหม่ๆ มาใช้ศึกษาวรรณกรรมไทย ความท้าทายเหล่านี้ บางส่วนจะได้รับการต้อนรับและดูดซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์ความรู้เดิมได้ แต่หากเป็นความท้าทายที่เป็นปฏิปักษ์หรืออาจจะสั่นคลอนฐานคิดและคุณค่าเดิมอย่างถึงรากแล้ว มักจะถูกต่อต้านและตอบโต้จากคนในวงการวรรณกรรมไทยศึกษาในระดับที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ขั้นเป็นพวกไม่รักชาติ พวกไม่รู้จริง พวกตามก้นฝรั่ง พวกเห่อทฤษฎี ฯลฯ

ภายหลังที่จากที่นักคิด นักเขียนและปัญญาชนไทยได้พากัน “ละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสต์แบบเทกระจาด”[6] ในช่วงกลางทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ส่งผลให้ทั้งวรรณกรรมเพื่อชีวิตและการวิจารณ์วรรณกรรมในแนวนี้ก็ค่อยๆหมดที่ยืนในวงการวรรณกรรม แนวทางหลักของวรรณกรรมศึกษาไทยในช่วงนี้จึงเป็นการผสมผสานกันอยู่ระหว่างแนวอนุรักษ์นิยมกับแนวเสรีนิยมภายใต้ร่มเงาของลัทธิราชานิยมและชาตินิยม

นี่คือรอยแนวและรอยทางที่ประทับอยู่บนภูมิทัศน์ของวรรณกรรมศึกษาของสังคมไทยในช่วง 2520-2530 ก่อนหน้าที่อาจารย์นพพรจะนำเสนอการวิเคราะห์ในแนวโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมในฐานะทางเลือกใหม่ของการศึกษาวรรณกรรมไทย

ควรกล่าวในที่นี้ว่าสภาวะทวิลักษณ์ทางวิชาการในวงวรรณกรรมศึกษาของฝรั่งเศสที่อาจารย์เล่าถึงนั้นมีความต่างอย่างมีนัยสำคัญกับบริบทสังคมไทย นั่นคือการถกเถียงว่าด้วยแนวทางมนุษยนิยมกับโครงสร้างนิยมในฝรั่งเศสนั้นเป็นเรื่องความแตกต่างทางสมมติฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณกรรมที่ต่างกันและคนต่างรุ่นกัน แต่ในกรณีไทยประเด็นที่งอกเพิ่มขึ้นมา และกลายเป็นประเด็นใหญ่กว่าที่กลบทับประเด็นอื่นๆ คือ ประเด็นเรื่อง ไทยกับไม่ไทย และทฤษฎีกับไม่ทฤษฎี

ในการนำเสนอแนวคิดโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมในบริบทสังคมไทย อาจารย์นพพรจึงต้องทำมากกว่าแค่การอธิบายแจกแจงแนวคิดเหล่านี้ หากยังต้องพิสูจน์และสาธิตให้ประจักษ์ว่าแนวคิดเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือและแนวทางในวิเคราะห์ทำความเข้าใจวรรณกรรมไทยได้ด้วย ดังจะพบว่าจุดเด่นในงานเขียนของอาจารย์นพพรคือ เมื่อมีการนำเสนอและอธิบายแนวคิดใดๆ ก็มักจะต้องสาธิตการใช้แนวคิดเหล่านั้นมาวิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรมไทยด้วย เพื่อยืนยันให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ว่าแนวคิดเหล่านี้เป็นหลักการกว้างๆ ที่สามารถนำมาใช้หรือประยุกต์ใช้กับการวิเคราะห์วรรณกรรมไทยได้

ที่น่าสนใจและควรได้กล่าวถึงก็คือการนำแนวทางและแนวคิดใหม่ๆเหล่านี้ไปใช้วิเคราะห์ตัวบทวรรณคดีโบราณของไทย ข้ออ้างเชิงชาตินิยมที่พบบ่อยคือลักษณะพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครของวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะวรรณคดีโบราณที่ไม่สามารถนำทฤษฎีหรือแนวคิดต่างชาติใดๆมาใช้อธิบายได้ ทฤษฎีใหม่ๆเหล่านี้อาจจะใช้วิเคราะห์วรรณกรรมร่วมสมัยของไทยได้ แต่ถ้าเป็นวรรณคดีโบราณแล้วย่อมไม่มีทางเป็นไปได้เลย นี่คือความท้าทายโดยตลอดมาของนักวิจารณ์ที่ต้องการใช้แนวทางใหม่ๆมาวิเคราะห์วรรณกรรมไทย และเป็นที่น่าสังเกตว่านักวิจารณ์รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ต้องการท้าทายแนวทางการศึกษาวรรณกรรมของไทย ต่างถือว่าด่านทดสอบสำคัญของพวกเขา คือการหยิบงานวรรณคดีโบราณโดยเฉพาะงานขึ้นหิ้งอย่าง ลิลิตพระลอ มาวิเคราะห์ด้วยแนวทางใหม่[7]

เมื่อครั้งที่คุณอัศนี พลจันทร หรือ “นายผี” ต้องการจะเสนอแนวทางการวิเคราะห์วรรณกรรมแบบมาร์กซิสต์ เขาได้หยิบ ลิลิตพระลอ มาวิพากษ์อย่างไม่มีชิ้นดี[8] จิตร ภูมิศักดิ์ แม้จะไม่เคยวิจารณ์ ลิลิตพระลอ แต่เขานำวรรณคดีโบราณหลายชิ้นมาวิเคราะห์ อาทิ โองการแช่งน้ำ และ นิราศหนองคาย[9]

อาจารย์นพพร ก็น่าจะตระหนักดีว่า หากจะโน้มน้าวให้คนในวงการวรรณกรรมศึกษาไทย และบุคคลทั่วไปยอมรับหรือเล็งเห็นคุณประโยชน์และคุณค่าของการนำแนวคิดใหม่ๆ มาใช้วิเคราะห์วรรณกรรมไทย เขาจะต้องผ่านด่านทดสอบนี้ ดังจะพบว่ามีบทความถึงสองชิ้นของเขาที่นำ ลิลิตพระลอ มาวิเคราะห์ด้วยมุมมองและกรอบคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม ชิ้นแรกคือบทความเรื่อง “ภาพลักษณ์ของพระลอ: รอยรูปในกาลเวลา” วิเคราะห์พัฒนาการของแนวคิดเรื่องกษัตริยภาพ โดยเปรียบเทียบภาพลักษณ์ของพระลอ ที่ปรากฏใน ลิลิตพระลอ สมัยอยุธยา กับพระลอในบทละครเรื่องพระลออีกสามสำนวนในช่วงต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 5 ทั้งยังนำมาพิจารณาเทียบกับเพลง “ยอยศพระลอ” ของชินกร ไกรลาศ ในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยตั้งข้อสังเกตว่าในขณะที่ ลิลิตพระลอ ในสมัยอยุธยาให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษกับบทชมโฉมพระลอ ที่เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจง เพราะว่าพระโฉมเชิงอุดมคตินั้นเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงบุญญาธิการของพระลอ ครั้นมาถึงสำนวนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ บทชมโฉมในลักษณะดังกล่าวกลับลดความสำคัญลง แต่ไปเพิ่มเติมส่วนที่แสดงคุณลักษณะและคุณสมบัติเชิงสมจริง เพื่อสื่อถึงพระเดชและพระคุณของพระลอมากขึ้น ส่วน “ยอยศพระลอ” นั้นก็เป็นการผสมผสานภาพลักษณ์เชิงอุดมคติของกษัตริยภาพในยุคต้นสุโขทัยเข้ากับยุคต้นรัตนโกสินทร์อย่างลงตัว คือมีครบถ้วนทั้งพระโฉม พระเดชและพระคุณ (หน้า 20)

ส่วนบทความอีกชิ้นหนึ่งคือ “วาทกรรมทำเหตุใน ลิลิตพระลอ” ที่นำแนวคิดเรื่องปฏิบัติการเชิงวาทกรรมมาใช้วิเคราะห์เปรียบเทียบบทชมโฉมพระลอและกับบทชมโฉมพระเพื่อนพระแพง ทั้งนี้ได้เชื่อมโยงเข้ากับประเด็นเรื่องการทำงานของวาทกรรมสาธารณะผ่านสื่อสารมวลชนที่อยู่ในรูปของข่าวลือในท่อนที่ว่า “เสียงฤาเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย” ว่าทำงานอย่างไรและมีผลเช่นไร ถือว่าเป็นการเปิดมุมมองใหม่อย่างยิ่งในการอ่านวรรณคดีโบราณชิ้นนี้ (หน้า 3-9)

บทความ “สัมพันธบท” เป็นงานอีกชิ้นหนึ่งของอาจารย์นพพรที่นำตัวบทวรรณคดีโบราณในกรณีนี้คือ กำสรวลโคลงดั้น ของกวีที่เรียกกันว่า “ศรีปราชญ์” ในสมัยอยุธยา มาเทียบเคียงกับงานสมัยต้นรัตนโกสินทร์คือ นิราศนรินทร์ เพื่อสาธิตแนวคิดเรื่องความเป็นสัมพันธบทแบบหลังโครงสร้างนิยม (หน้า 329-336)

ดังที่เกริ่นไว้แต่ต้นว่า ภูมิทัศน์ทางวิชาการนั้นมิใช่พื้นที่บริสุทธิ์อันว่างเปล่าไร้เจ้าของหรือร่องรอยใดๆ นักคิดนักเขียนที่จะทิ้งรอยตนเองให้คนได้เห็นและเรียนรู้นั้น จะต้องทิ้งรอยเดิมและกระทั่งลบรอยเก่าเพื่อสร้างรอยใหม่ คุณูปการที่สำคัญอีกประการหนึ่งของอาจารย์นพพรต่อวงการวรรณกรรมศึกษาคือการถกเถียงโต้แย้งกับความคิดและสมมุติฐานเดิมๆ หลายประการ เพื่อปรับพื้นที่ของการวิจารณ์ให้เอื้อต่อการงอกงามของความคิดใหม่ ประเด็นสำคัญที่จะปรากฏซ้ำแล้วซ้ำเล่าในงานเขียนหลายชิ้นของอาจารย์นพพรคือความพยายามที่จะชี้ชวนให้เราหันมามองสถานะของวรรณกรรมและความสัมพันธ์ระหว่างวรรณกรรมกับสังคม ระหว่างตัวบทกับบริบทด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม แทนที่จะหลงยึดอยู่กับความเชื่อที่ว่าวรรณกรรมมีคุณค่าสูงส่งช่วยจรรโลงจิตใจ แสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของผู้ประพันธ์ และอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทย ดังที่เคยพร่ำสอนกันมา เราควรจะหันมาส่องสำรวจมิติอื่นๆของวรรณกรรมด้วย ไม่ว่าจะเป็นมิติทางชนชั้น เพศสถานะ และชาติพันธุ์ ที่ทำหน้าที่กำกับการสื่อความหมายของวรรณกรรม อันจะช่วยทำให้เราเข้าใจสถานะ ความหมาย ตลอดจนและชุดความเชื่อและระบบคุณค่าที่รองรับสนับสนุนวรรณกรรม แทนที่จะมองว่าวรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนความเป็นจริงในสังคมอย่างตรงไปตรงมาเช่นที่เคยเข้าใจกันมา เราพึงตระหนักว่าวรรณกรรมคือการประกอบสร้างความจริงที่อิงอยู่กับสัญนิยมหรือขนบการเขียน และขนบความเชื่อในสังคมหรือที่เรียกว่ารหัสทางวัฒนธรรม ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ “ความจริง” ที่เชื่อกันว่าดำรงอยู่นอกตัวบท แท้จริงแล้วเป็นสิ่งประกอบสร้างที่มาจากตัวบทหรือวาทกรรมที่ไหลเวียนอยู่ในสังคมนั้นนั่นเอง[10]

บทความที่นำมาซึ่งการอภิปรายแลกเปลี่ยนอย่างกว้างขวางในวงการวรรณกรรมไทยคือบทความชื่อ “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้” ที่อาจารย์นพพรได้ยกระดับการถกเถียงเรื่องบทบาทหน้าที่ของวรรณกรรมไปสู่ระดับอภิปรัชญา นั่นคือเขาได้เสนอว่าโดยพื้นฐานแล้ว วรรณกรรมทุกประเภททุกชนิดล้วนอิงแอบอยู่กับขนบหรือสัญนิยม (convention) ทั้งสิ้น กล่าวคือการสื่อสารของวรรณกรรมสำเร็จผลได้ก็เพราะทั้งผู้เขียนและผู้อ่านต่างเข้าใจในขนบหรือสัญนิยมที่วรรณกรรมชิ้นนั้นใช้เพื่อสร้างเรื่อง วาดตัวละคร บรรยายฉาก เหตุการณ์ ฯลฯ พูดอีกนัยหนึ่งวรรณกรรมนั้นมีความเป็นจารีตนิยมอยู่ในตัวเอง ดังนั้นยิ่งวรรณกรรมประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านมากเท่าใด ก็หมายความวรรณกรรมช่วยตอกย้ำคติและชุดความเชื่อของคนในวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น วรรณกรรมแนวสะท้อนสังคมซึ่งเป็นวรรณกรรมแนวสัจนิยมนั้นก็ไม่พ้นไปจากตรรกะการสื่อความหมายของวรรณกรรมที่อิงกับขนบความเชื่อในสังคมดังที่กล่าวมา เพราะ “โดยตรรกะแล้ว วรรณกรรมสัจนิยมย่อมไม่อาจสร้างจิตสำนึกของการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปัญหาใดๆ ได้ เพราะที่แท้แล้วมันอิงอยู่กับสัญนิยมซึ่งเป็นอันเดียวกันกับค่านิยมที่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านั้นขึ้นมานั่นเอง” (หน้า 192) ความเป็นไปได้เดียวที่วรรณกรรมจะสามารถมีพลังกระตุ้นผู้อ่านให้เกิดวิจารณญาณที่จะตั้งคำถามกับเรื่องต่างๆรอบตัว คือวรรณกรรมนั้นต้องตั้งคำถาม และบ่อนเซาะความเป็นวรรณกรรมของมันเอง ฝ่าฝืนและดื้อแพ่งกับขนบหรือสัญนิยมของความเป็นวรรณกรรม[11]

ในขณะที่งานจำนวนมากของอาจารย์นพพรจะชี้ชวนให้เราลุกขึ้นมาสำรวจตรวจสอบสถานะและความหมายของวรรณกรรม วิเคราะห์สืบค้นคติความเชื่อ ค่านิยม อุดมการณ์ที่กำกับกระบวนการสร้างความหมายของตัวบท หรือกระทั่งวิพากษ์และเสียดเย้ยคุณค่าของวรรณกรรมว่าเป็นเพียง “ตู้โชว์ทางจิตวิญญาณ” ของกระฎุมพี (หน้า 209) แต่งานจำนวนไม่น้อยเช่นกันของนพพรก็แสดงให้เราประจักษ์ว่าเขาเป็นผู้ดื่มด่ำและซาบซึ้งในรสชาติของวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขามีความลุ่มหลงถึงขั้นหมกมุ่นในบทกวีนิพนธ์ บทความหลายชิ้นของเขาแสดงให้เห็นว่าการวิจารณ์แนวซาบซึ้งตรึงใจให้ลุ่มลึกควรเป็นเช่นไร แตกต่างกับการพูดตามๆ กันว่างาม ว่าล้ำค่า โดยไม่อาจแจกแจงได้ว่างามและล้ำค่าเช่นไรและอย่างไร[12] โดยเฉพาะบทความ “การวิจักษ์กวีนิพนธ์ในแนวผัสสนิยม”[13] เขาชี้ว่าพลังอันลึกลับของบทกวีนั้นเกิดขึ้นจากถ้อยคำในบทกวีที่ปลุกเร้าผัสสะต่างๆ ของผู้อ่าน จนกระทั่งสามารถสร้าง “ประสบการณ์จำลองของผัสสะ” ขึ้นในใจ (หน้า 254) ดังที่เขาแสดงให้ประจักษ์ผ่านการวิเคราะห์แจกแจงอย่างละเอียดลออข้อความวรรคหนึ่งที่เปรียบเทียบความรู้สึกเสียดายอย่างแรงกล้าของอิเหนาที่ต้องสูญเสียบุษบาไปว่าเป็น “ดั่งดวงแก้วตกต้องแผ่นผา” อาจารย์นพพรอธิบายว่ามนต์ขลังของบทกวีวรรคนี้มาจากการเร้าผัสสะอย่างน้อยสามผัสสะคือ จักษุสัมผัส โสตสัมผัส และกายสัมผัส และสรุปว่า “มหรสพที่กวีสร้างขึ้นจาก “ธาตุดิน” ผ่านถ้อยคำหกพยางค์นี้ประมวลความรุนแรงของความแตกดับ ความร้าวรานของการสูญเสีย และการรับรู้ถึงอนิจจังของสสารไว้ในปรากฏการณ์เดียวได้อย่างลงตัวยิ่ง” (หน้า 249)

แม้ว่าเขาเองจะสารภาพว่าการวิจารณ์ในแนวนี้เป็น “งานวิจารณ์ที่ยังความสุขใจให้แก่ตัวผู้วิจารณ์เองเสมอมา (หน้า 255) แต่ในขณะเดียวกันเขาก็อดไม่ได้ที่จะเตือนสติตนเองและผู้อ่านถึงจุดเด่นที่เป็นจุดด้อยในเวลาเดียวกันของการวิจารณ์แนวนี้ไว้ในตอนจบของบทความว่า “ความอิ่มเอิบใจนี้เองอาจจะบังตามิให้นักอ่านและนักวิจารณ์สนใจมองอีกด้านหนึ่งของปรากฏการณ์ นั่นคือ กระบวนการความเชื่อ ค่านิยม และมิติทางสังคม-วัฒนธรรมที่แฝงฝังอยู่ในกวีนิพนธ์ เฉกเช่นที่แฝงฝังอยู่ในวรรณกรรมโดยทั่วไป” (หน้า 255)

“ทวิลักษณ์ทางวิชาการ” ที่อาจารย์นพพรประสบในสมัยที่เรียนที่ฝรั่งเศสในช่วงทศวรรษ 2520 และมีส่วนสร้างขึ้นในวงวิชาการไทยช่วงกลางทศวรรษ 2530 จนถึงปลายทศวรรษ 2540 นั้นจะว่าไปแล้วก็เป็นคุณสมบัติส่วนตัวของเขาเองด้วย ดังที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่านพพรเป็นนักแปลอันเอกอุ ผลงานแปลข้อเขียนเชิงทฤษฎีทางสังคมศาสตร์หลายชิ้นที่เขาแปลเองหรือเป็นบรรณาธิการคือประจักษ์พยานที่ไม่ต้องขยายความใดๆ ข้อที่น่าสังเกตคือนพพรนั้นฝึกฝนเล่าเรียนการแปลมาจากสถาบันชั้นสูงด้านการล่ามและการแปล (École Supérieure d’Interprètes et de Traducteurs (ESIT)) ของ Université Sorbonne Nouvelle – Paris 3 อันโด่งดังในฝรั่งเศส ทฤษฎีการแปลของสำนักนี้เห็นว่าการแปลมิใช่การถ่ายภาษาจากภาษาหนึ่งไปสู่ภาษาหนึ่ง แต่เป็นการถ่ายทอดความหมาย ดังที่นพพรได้อธิบายไว้ว่า เจ้าของทฤษฎีแปลนี้อันได้แก่ดานิกา เซเลสโกวิทช์ และ ยูจีน ไนดา เชื่อว่า “การแปลมิใช่เป็นเพียงกระบวนการทางภาษา หากเป็นกระบวนการสื่อสารความคิด ข้อความที่สื่อความหมายอาศัยภาษาเป็นเพียงสื่อ เจ้าของต้นฉบับแสดงความคิดของตนออกมาในรูปของข้อความที่เป็นภาษา นักแปลมีหน้าที่ดึงเอาความคิดออกจากข้อความเดิมอย่างถูกต้องและครบถ้วน แล้วนำเอาความคิดนี้มาถ่ายทอดในรูปของข้อความที่เป็นภาษาใหม่อย่างบริบูรณ์ โดยไม่ได้มุ่ง ‘ถ่ายภาพ’ ของภาษาเดิม” (ยอกอักษรฯ เล่ม 2, หน้า 562) นี่เป็นหลักการที่กำกับงานแปลที่อาจารย์นพพรเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะผู้แปลหรือบรรณาธิการ อันส่งผลให้งานแปลเหล่านี้มีความราบรื่นอ่านเข้าใจง่ายปราศจากกลิ่นนมเนยใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นการแปลที่มุ่งจับความหมายในภาษาของต้นฉบับ และนำความหมายนั้นมาเขียนขึ้นใหม่ในภาษาไทย

อย่างไรก็ตามเราจะพบว่าสมมุติฐานของทฤษฎีแปลแบบยึดความหมายของสำนัก ESIT นี้ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับทฤษฎีทางภาษาของสำนักโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ที่เชื่อว่าภาษากับความหมายมิอาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด และความหมายกับตัวภาษานั้นก็มิได้หยุดนิ่งแต่หลากเลื่อน ผมเคยถามเขาว่าเขาจัดการกับความขัดแย้งอย่างถึงรากระหว่างฐานคิดในการแปลและการวิเคราะห์วรรณกรรมอย่างไร เขาพูดว่าเขาใช้วิธีปิด-เปิดสวิทช์โหมดคิด ขึ้นอยู่ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่

การเปิด-ปิดโหมดคิดเพื่อจัดการกับทวิลักษณ์ทางวิชาการนี้ยังพบได้อีกในทวิลักษณ์ทางรสนิยมการอ่านและการวิจารณ์วรรณกรรม อาจารย์นพพรมักจะปรารภกับคนรู้จักเป็นครั้งคราวว่าในฐานะนักอ่านแล้ว เขาถือว่าพรุสต์คือนักเขียนนวนิยายคนสุดท้ายในโลกนี้ นวนิยายเรื่อง “การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย” ของพรุสต์เป็นหนังสือที่เขาหวนกลับไปอ่านครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่รู้เบื่อ แต่ในฐานะนักวิจารณ์จะพบว่าเขาสามารถหยิบงานอันหลากหลายสารพัดชนิดมาวิเคราะห์แจกแจง ไม่ว่าจะเป็นงานคลาสสิก งานร่วมสมัย หรือกระทั่งงานมหาชนนิยม

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของอาจารย์นพพร ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และน่าสนใจยิ่งคือความโดดเด่นในด้านการเขียนและการใช้ภาษาของอาจารย์นพพร กล่าวโดยรวมแล้วข้อเขียนของเขาเจริญรอยมาตรฐานการเขียนของนักเขียนยุคเหตุผลนิยมในศตวรรษที่ 18 ได้อย่างน่าทึ่ง นำเสนอประเด็นได้แจ่มชัด กระจ่างแจ้ง จัดลำดับความคิดอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลง่ายต่อความเข้าใจ ใช้ภาษากระชับ รัดกุมและชัดเจน จนเพื่อนฝูงอดจะเปรยไม่ได้ว่า เขาเขียนถึงความคิดหลังสมัยใหม่ที่ต่อต้านลัทธิเหตุผลนิยมด้วยลีลาการเขียนของนักเหตุผลนิยม

แต่ที่พิเศษยิ่งในงานเขียนของอาจารย์นพพรคือความสามารถในการเขียนอธิบายความคิดอันเป็นนามธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ในที่นี้ผมมิได้หมายถึงการยกตัวอย่างรูปธรรมเพื่อสาธิตความคิดนามธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายและทำไม่ง่าย แต่ก็เป็นสิ่งที่โดยปกติเราคาดหวังจากงานเขียนเชิงทฤษฎี แต่ในกรณีของอาจารย์นพพรนั้น นอกเหนือการการยกตัวอย่างประกอบแล้ว ความพิเศษนั้นอยู่ที่เขาพยายามใช้ภาษาอันเป็นรูปธรรมมาอธิบายความคิดนามธรรม วิธีที่ง่ายที่สุดจะเข้าใจประเด็นนี้คือการพิจารณาตัวอย่างจากงานของเขาเอง โดยอาจจะดูจากคำอธิบายแนวคิดเรื่องอำนาจของฟูโกต์ อันถือว่าเป็นแนวคิดที่มีลักษณะเฉพาะตัวและแตกต่างไปจากความเข้าใจโดยทั่วไปเกี่ยวกับอำนาจ อาจารย์นพพรอธิบายแนวคิดของฟูโกต์ไว้ดังนี้

อำนาจทุกชนิดเริ่มต้น ด้วยการมีที่มา (เช่น จากรัฐ จากทุน) แต่เมื่อกระบวนการของมันดำเนินไป ถึงจุดหนึ่ง อำนาจก็ กลายเป็น สิ่งนิรนาม ไม่มีใครเป็นเจ้าของมันอย่างแท้จริง หลังจากที่ไหลลงมาเป็นกระแสใหญ่ ในทิศทางเดียว มันก็ไหลเวียนไปมา ในทุกทิศทุกทาง จนแผ่ซ่าน อยู่ในทุกระดับทุกพื้นที่ของสังคมอย่าง ไม่มีหัวไม่มีหาง อำนาจกลายเป็นเหมือน “โครงสร้าง” อย่างหนึ่งที่เปิดประตูให้ผู้คนอันหลากหลายเข้าไป “สวมบทบาท” เป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ เวียนสลับกัน ไป (ยอกอักษรฯ เล่ม 2 หน้า 182-183 การเน้นข้อความเป็นของผู้เขียนบทความ)

จะเห็นว่าการใช้ภาษาภาพพจน์โดยเฉพาะบุคลาธิษฐาน เพื่ออธิบายการทำงานของอำนาจในที่นี้ ทำให้เราสามารถเข้าใจความหมายของอำนาจในทัศนะของฟูโกต์ได้ชัดเจนและแจ่มชัด จนสามารถเห็นภาพได้ว่าอำนาจทำงานเยี่ยงไร ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าถึงสารัตถะของความคิดนามธรรมเรื่องอำนาจของฟูโกต์ได้ด้วย ขอให้สังเกตคำที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่เขาเลือกใช้ในที่นี้ ไม่ว่าจะเป็น “ไหลลงมาเป็นกระแสใหญ่” “ไหลเวียนไปในทุกทิศทุกทาง” “แผ่ซ่าน” “เปิดประตู” “เวียนสลับ” เป็นชุดคำที่สอดรับกันและอยู่ในกระบวนชุดความเปรียบชุดเดียวกัน ทำหน้าที่สร้างภาพว่า อำนาจเป็นประหนึ่งสายน้ำ แต่ก็เป็นมากกว่าสายน้ำ ดังจะเห็นจากคำว่า “แผ่ซ่าน” ที่อาจารย์นพพรจงใจเลือกใช้คำนี้แทนคำว่า “แพร่กระจาย” หรือ “แผ่ขยาย” ทำไมจึงต้อง “ซ่าน” ผมคิดว่าคำว่า “ซ่าน” ในที่นี้ช่วยขยายความหมายของการแพร่กระจายว่าเป็นมากกว่าระดับพื้นผิวภายนอก แต่ “ซ่าน” ลงไปในระดับลึกถึงอารมณ์ความรู้สึกและจิตสำนึกของมนุษย์ และนี่คือสารัตถะสำคัญของแนวคิดเรื่องอำนาจของฟูโกต์[14]

การที่จะสรรคำเพื่ออธิบายความคิดนามธรรมได้อย่างแจ่มชัดเป็นรูปธรรมขนาดนี้ ต้องอาศัยไม่เพียงความสามารถทางภาษาแต่ประการเดียวดังเช่นที่หลายคนมักใช้เป็นข้ออ้างให้กับข้อเขียนทางทฤษฎีที่คลุมเครือมัวๆและมั่วๆคลุกเคล้ากันไปว่าเป็นเพราะขาดความสันทัดทางภาษา ที่สำคัญยิ่งกว่าความสามารถทางภาษาและคลังคำที่ใช้ในการเขียน คือความเข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งจนสามารถเห็นความคิดนามธรรมนั้นเป็นภาพรูปธรรมชัดเจนต่างหาก เมื่อเข้าใจจนแจ่มแจ้งแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถถ่ายทอดความเข้าใจนี้ออกมาเป็นภาษาที่แจ่มชัดเป็นรูปธรรมได้

สำนึกขบถ

ท้ายที่สุด ผมคิดว่าปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้งานของอาจารย์นพพรทรงพลังอย่างยิ่งคือสำนึกขบถที่ตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลาต่อขนบจารีตที่ดำรงอยู่ในสังคม และกระทั่งต่อรสนิยมและความชอบส่วนตัวของตนเอง

ในยุคที่ “จิตสำนึก” “เกียรติภูมิ” “เอกลักษณ์” “ความสุข” “ความรัก” หรือแม้แต่ “ความดี” ถูกจับอัดกระป๋องขาย นักวิชาการย่อมมีพันธกิจที่เร่งด่วนยิ่งกว่าครั้งใดๆ ในอันที่จะต่อสู้กับอวิชชา การมอมเมา การเอาเปรียบ ซึ่งมาในรูปที่ซับซ้อนแยบยลแนบเนียนขึ้นทุกที แต่ศัตรูเช่นนี้จะมีอาวุธใดเล่าที่จะทรงอานุภาพได้เท่ากับปัญญาอันตื่นตัว ต่อต้าน ระแวดระวัง ตั้งคำถาม เพราะเสรีภาพใดที่ไร้ซึ่งสำนึกขบถ ย่อมเป็นแต่เพียงมายาคติของเสรีภาพ ( “คำนำเสนอในเชิงอรรถวัฒนธรรม” ยอกอักษรฯ เล่ม2, หน้า 232-233)

“ปัญญาอันตื่นตัว ต่อต้าน ระแวดระวัง ตั้งคำถาม” นี้กระมังที่เป็นสปิริตในงานทั้งหมดของอาจารย์นพพร และคือตัวตนของความเป็นอาจารย์นพพร ประชากุล นั่นคือ

นักอ่านที่หลงใหลในวรรณกรรม ผู้สงสัยในคุณค่าของวรรณกรรม

นักมนุษย์ศาสตร์ผู้เคลือบแคลงในลัทธิมนุษยนิยม

คนเปี่ยมเหตุผล ผู้หวาดระแวงในลัทธิเหตุผลนิยม

คนมากน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ผู้สูญสิ้นศรัทธาในมนุษยชาติ

ในบทวิจารณ์เรื่อง “ภาพลักษณ์ของพระลอ: รอยรูปในกาลเวลา” อาจารย์นพพรได้จบบทความของเขาว่า “ตัวละคร ‘พระลอ’ นั้นจึงเป็นเสมือน ‘ร่องรอย’ (trace) ที่รอคอยให้วัฒนธรรมต่างยุคต่างสมัยได้ขีดคราดจินตนาการของตนทาบทับลงไปใหม่ …อย่างไม่รู้เลือน” (หน้า 21) ในที่นี้ เราพบว่าความหมายอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่าวรรณกรรมอมตะนั้น มิใช่เพราะมันเป็นวรรณกรรมที่คนจดจำและนำมาฉายซ้ำๆ อยู่ร่ำไปสถานเดียว หากอยู่ที่มันสามารถสร้างบทสนทนาใหม่ๆกับคนข้ามยุคข้ามสมัยได้โดยไม่เสื่อมคลาย

ฉันใดก็ฉันนั้น งานเขียนของอาจารย์นพพรนั้นจะดำรงอยู่เป็นรอยอันมิอาจลืมเลือน เพราะมันเชื้อเชิญให้นักอ่านต่างรุ่นต่างสมัยได้เดินตามรอย มิใช่เพื่อซ้ำรอย แต่เพื่อทับรอย และทิ้งรอย เพื่อสร้างรอยใหม่ให้คนได้จดจำ

เชิงอรรถ

[1] ดูเพิ่มเติมบทความของ Peter Jackson ซึ่งสำรวจงานของนักวิชาการไทยและนักวิชาการต่างชาติที่นำทฤษฎีหลังโครงสร้าง หลังสมัยใหม่ และ หลังอาณานิคม มาใช้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์, รัฐศาสตร์, วรรณกรรมศึกษา, มานุษยวิทยา และ สื่อสารมวลชน ใน “The Tapestry of Language and Theory: Reading Rosalind Morris on Post-Structuralism and Thai Modernity.” South East Asia Research 12:3 (2004): 337-77.

[2] บรรยากาศของเสรีภาพและประชาธิปไตยในช่วงนี้ก็เป็นเพียง “ฟองอากาศ” เท่านั้น เนื่องจากเปราะบางและง่ายต่อการถูกทำลายยิ่งนัก เพียงลมปากเบาๆ ฟองอากาศประชาธิปไตยที่ว่านี้ก็แตกสลายเป็นอากาศธาตุ  ดังที่ทราบกันดีว่าภายหลังการรัฐประหาร 2549 บรรยากาศประชาธิปไตยเช่นที่เกิดขึ้นตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 2535 ก็ไม่หวนกลับมาอีก แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่วี่แววว่าฟองอากาศประชาธิปไตยดังว่าจะกลับมา ที่มีอยู่เป็นเพียงออกซิเจนประชาธิปไตยจากเครื่องช่วยหายใจที่  “คุณหมอผู้รู้ดี” นึกจะเปิด-ปิดเครื่องเมื่อไรได้ตามความพอใจ

[3] ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ปรากฏว่าในช่วงทศวรรษ 2530-40 นั้นเป็นช่วงที่มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเผยแพร่ผลงานของพวกเขาในฐานะคอลัมนิสต์ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะเป็นจำนวนมาก ครั้นเมื่อระบบประกันคุณภาพและระบบประเมินอาจารย์แบบใหม่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วทุกมหาวิทยาลัยตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา จะพบว่าอาจารย์รุ่นใหม่ต่างก็หันไปผลิตงานวิจัยและเผยแพร่ “ผลงานวิชาการ” ตามระบบ มากกว่าจะนำเสนองานพวกเขาในสื่อสิ่งพิมพ์สาธารณะที่ไม่สามารถนำมาคิดเป็นคะแนนหรือนับเป็นผลงานทางวิชาการได้

[4] สำหรับผู้สนใจประเด็นดังกล่าว โปรดดูเพิ่มเติมหนังสือเล่มล่าสุดของ Johannes Angermuller ที่เสนอว่า “หลังโครงสร้างนิยม” เป็นประดิษฐกรรมของวงวิชาการอังกฤษ-อเมริกัน และเสนอว่าความเคลื่อนไหวของวงวิชาการในฝรั่งเศสช่วงดังกล่าวมิได้เป็นกลุ่มก้อนหรือกระแสความคิดชัดเจนดังที่โลกนอกวงวิชาการฝรั่งเศสวาดภาพ Johannes Angermuller, Why There Is No Poststructuralism in France : The Making of an Intellectual Generation

[5] นพพร ประชากุล, ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 หน้า (19) เพื่อความสะดวกข้อความต่างต่างๆที่อ้างจากหนังสือเล่มนี้ จะระบุเพียงเลขหน้าในวงเล็บท้ายข้อความที่ยกมา

[6] แปลจากสำนวน “the wholesale abandonment of Marxism” ที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ใช้ในการอภิปรายความเห็นหลายครั้งหลายคราในเวทีการประชุมวิชาการต่างๆ เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ของปัญญาชนฝ่ายซ้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

[7] ในทางกลับกัน การหลีกเลี่ยงไม่นำ ลิลิตพระลอ มาวิเคราะห์ในแนวทางใหม่ของนักวิจารณ์บางคนก็เป็นบททดสอบจุดยืนทางการวิจารณ์เช่นกัน กรณีที่น่าสนใจคือ วิทยานิพนธ์เรื่อง “การนำวรรณคดีวิจารณ์แผนใหม่แบบตะวันตกมาใช้กับวรรณคดีไทย” ของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา (2513) เลือกจะใช้ตัวบทประเภทวรรณกรรมพื้นบ้านอย่าง ขุนช้าง ขุนแผน และนิทานคำกลอนต่างๆ เช่น สิงหไกรภพ และ สังข์ทอง  มาใช้วิเคราะห์ในแนวจิตวิทยาและ “แนวหลักแบบฉบับ” (archetypal approach) แต่เมื่อจะวิเคราะห์ ลิลิตพระลอ กลับไปใช้ความคิดทางพุทธศาสนามาวิเคราะห์ ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยที่เขียนในช่วงไล่เลี่ยกันคือ “ลิลิตพระลอ : การศึกษาวิจารณ์ตามแนวพุทธปรัชญา” (2519)

[8] บทวิจารณ์หลายชิ้นของอัศนี พลจันทร รวมพิมพ์อยู่ ใน ข้อคิดจากวรรณคดี กรุงเทพฯ: อ่าน, 2559

[9] บทวิจารณ์วรรณคดีโบราณหลายชิ้นของจิตร ภูมิศักดิ์ รวมเล่มอยู่ใน บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2561.

[10] ดูรายละเอียดข้อเสนอนี้ใน  “‘สมจริง’ มิใช่ ‘เหมือนจริง’ และยิ่งมิใช่ ‘สมควร’”  “วรรณกรรมในวัฒนธรรมกระฎุมพี: สัจจะในสัญญะ”  และ “ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้” ใน ยอกอักษรฯ เล่ม 1

[11] ดูเพิ่มเติมข้อโต้แย้งของ ดวงมน จิตจำนงค์ “สืบเนื่องจากคำถาม ‘ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้’” เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 366 (10 – 16 มิถุนายน 2542.) หน้า 44–45

[12] ดูตัวอย่างการวิเคราะห์แนวนี้จากบทความ เช่น “สารัตถะของกวีนิพนธ์ไทยสมัยใหม่,”  “เรื่องเล็กคือเรื่องใหญ่: จากญาณทัศน์สู่จินตภาพเชิงกวี” ใน ยอกอักษรฯ เล่ม 1

[13] อาจารย์นพพรบัญญัติคำว่า การวิจารณ์แนวผัสสนิยม เพื่อครอบคลุมการวิจารณ์แนวต่างๆ เช่น  phenomenological approach, theories of archetypes, thematic approach ที่มุ่งดูประเด็นผลกระทบของวรรณกรรมต่อการรับรู้

[14] ในบทความชิ้นนี้ เราจะพบวิธีการใช้คำอันเป็นรูปธรรมไปบรรยายความคิดนามธรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ อาจารย์นพพรอธิบายว่าฟูโกต์มองการปลดปล่อยว่า “เป็นการตกลงไปในกับดักของอำนาจที่แสวงหาวิธีสอดส่องพฤติกรรมของผู้คนโดยหลอกให้คนเหล่านั้นหลงนึกไปว่าตนเองเป็นอิสระ” (หน้า 177) และบรรยายความเป็นสมัยใหม่ว่า “มีการสถาปนาบรรทัดฐานบางอย่างขึ้นมา แล้วจับแยกสิ่งที่ไม่เข้ากับบรรทัดฐานเหล่านั้นไปกักขังควบคุมโดยอ้างว่าเพื่อเป็นไปเพื่อการปรับปรุงแก้ไข” (หน้า 180) หรือกล่าวถึงยุคเหตุผลนิยมว่า  “แนวคิดเรื่องเหตุผลเอ่อล้นจากปริมณฑลของธรรมชาติและจักรวาลสู่ประเด็นทางสังคมในศตวรรษต่อมา” (หน้า 181)

เอกสารอ้างอิง

จิตร, ภูมิศักดิ์. บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย. นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2561.
ชลธิรา กลัดอยู่. “ลิลิตพระลอ : การศึกษาวิจารณ์ตามแนวพุทธปรัชญา” ใน รักเมืองไทย เล่ม 1 ภาคปรัชญาและการเมืองในวรรณคดี. กรุงเทพฯ : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2519. 1-104
ชลธิรา สัตยาวัฒนา. “การนำวรรณคดีวิจารณ์แผนใหม่แบบตะวันตกมาใช้กับวรรณคดีไทย.” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต. จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2513.
ดวงมน จิตจำนงค์. “สืบเนื่องจากคำถาม ‘ทำไมวรรณกรรมสะท้อนสังคมจึงแก้ปัญหาสังคมไม่ได้’” เนชั่นสุดสัปดาห์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 366 (10 – 16 มิถุนายน 2542). หน้า 44–45.
นพพร ประชากุล. ยอกอักษร ย้อนความคิด. เล่ม 1 ว่าด้วยวรรณกรรม. กรุงเทพฯ: อ่านและวิภาษา, 2552.
——————–. ยอกอักษร ย้อนความคิด. เล่ม 2 ว่าสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. กรุงเทพฯ: อ่านและวิภาษา, 2552.
อัศนี พลจันทร. ข้อคิดจากวรรณคดี. โครงการอ่านนายผี. กรุงเทพฯ: อ่าน, 2561.
Angermuller, Johannes. Why There Is No Poststructuralism in France : The Making of an Intellectual Generation. London: Bloomsbury Academic, 2015.
Jackson, Peter. “The Tapestry of Language and Theory: Reading Rosalind Morris on Post-Structuralism and Thai Modernity.” South East Asia Research 12: 3 (2004): 337-77.

ภาคผนวก

รายชื่อผลงานบางส่วนของนพพร ประชากุล ในฐานะผู้เขียน ผู้แปล และบรรณาธิการแปล

ผู้เขียน

ยอกอักษร ย้อนความคิด. เล่ม 1 ว่าด้วยวรรณกรรม เล่ม 2 ว่าด้วยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์. กรุงเทพฯ: อ่านและวิภาษา, 2552.

วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2546.

ผู้แปล

แดริดา, ฌากส์. “บทตัดตอนจาก ลิขิตวิทยา ” แปลโดย นพพร ประชากุล. สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสศตวรรษที่ 20. บ.ก. นพพร ประชากุล และคณะ. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2542. 347-68.

บาร์ตส์, โรล็องด์. “กิจกรรมแบบโครงสร้างนิยม.” แปลโดย นพพร ประชากุล. สรรนิพนธ์มนุษยศึกษาและสังคมศาสตร์ในประเทศฝรั่งเศสศตวรรษที่ 20. บ.ก. นพพร ประชากุล และคณะ เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2542. 251-66.

บรรณาธิการแปล

บูร์ดิเยอ, ปิแยร์. เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์. แปล ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, บ.ก. นพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550.

พรุสต์, มาร์แซ็ล. กงเบรย์ โลกใบแรกของมาร์แซ็ล. แปลโดย วชิระ ภัทรโพธิกุล, บ.ก. นพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2554.

ฟูโกต์, มิแช็ล. ร่างกายใต้บงการ. แปลโดย ทองกร โภคธรรม, บ.ก. นพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2558.

รุสโซ่, จัง จ๊ากส์. คำสารภาพ เล่มที่หนึ่งและเล่มที่สอง. แปลโดย พาชื่น องค์วรรณดี และ รัตนสุดา กิตติก้องนภางค์, บก. นพพร ประชากุล และ ธรณินทร์ มีเพียร. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2550.

บาร์ตส์, โรล็องด์. มายาคติ. แปลโดย วรรณพิมล อังคศิริสรรพ, บ.ก. นพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2544.

ศาสตร์การแปล: รวมบทความเชิงทฤษฎีและปฏิบัติ. บ.ก. จิระพรรษ์ บุณยเกียรติ และ นพพร ประชากุล. กรุงเทพฯ: โครงการศูนย์การแปลคณะศิลปศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.

หมายเหตุ

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สุธิดา วิมุตติโกศล (บ.ก.) อ่านคนละเรื่อง (Read Other-Wise): ปริทัศน์งานวิจารณ์ร่วมสมัย  รวมบทความเนื่องในวาระ[ถูกกำหนดให้]เกษียณอายุราชการของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ 29 กันยายน 2561 (กรุงเทพฯ: สาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2562) โดยเป็นการปรับปรุงจากบทความ “นพพร ประชากุล กับการศึกษาวรรณกรรม” นำเสนอในงานประชุมวิชาการเรื่อง “ตามรอย: วิธีวิทยาของนักวิชาการไทยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการขององค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ไทย” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสงเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่โรงแรม AETAS Lumpini วันที่ 31 สิงหาคม 2562