คอสมิคฮอร์เร่อ (Cosmic Horror) กับข้อคิดไปเรื่อยว่าด้วยคอมมูนิสซึ่ม, วรรณคดี, และเฮ็ด.พี. เลิฟคราฟท์

[For the English-language original “Cosmic Horror, and Random thoughts on communism, literature, and H.P. Lovecraft”, click here.]

ใครจะว่าแนวทางตรอตสกี้อิสซึ่มมีข้อบกพร่องในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่พักหลังนี้ข้าพจ้าวถึงคราวจำต้องสำเหนียกได้เสียทีแล้วว่าฐานคติในทางการเมืองของข้าพจ้าวนั้นแท้แล้วคืออะไร ในเมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า หนึ่งในนักเขียนสุดโปรดของข้าพจ้าวตอนนี้คือ นายโจล เลน นักเขียนแนวปลาดซึ่งเป็นสมาชิกผู้เอาการเอางานของพรรคการเมืองสำนักตรอตสกี้อย่างพรรคสังคมนิยมแห่งอังกฤษและเวลส์ (พ.ส.อ.ว.) ผู้เป็นเจ้าของผลงานนวนิยายและเรื่องสั้นที่แสดงให้เห็นถึงเยื่อใยสายสัมพันธ์ที่เขามีกับชนชั้นแรงงานของเมืองเบอร์มิ่งแฮมแห่งยูเค  งานเขียนของเลนซึ่งอยู่ในขนบเลิฟคราฟเชี่ยนนั้นหักล้างความคิดความเข้าใจแต่ไหนแต่ไรที่ว่า ลัทธิคอสมิค หรือ จักรวาลนิยม (cosmicism)[1] เป็นแนวคิดที่ต่อต้านลัทธิมนุษย์นิยมและมองมนุษย์ด้วยสายตาเมินเฉยและเหยียดเย้ย ด้วยว่างานของเลนนั้นเป็นการชี้ถึงรากของความขัดแย้งภายในกรอบของสัจนิยมเชิงสังคม(นิยม) ซึ่งตรงกันข้ามกับยี่ห้อเลิฟคราฟเชี่ยนทั่วไปที่อยู่ในกรอบของการฝ่าฝืนสัจนิยมจักรกล

เห็นได้ชัดว่าการเลือกว่าจะใช้สัจนิยมประเภทไหนในที่นี้ มิใช่เป็นเพียงเรื่องของเทคนิคการประพันธ์หรือรูปแบบทางศิลปะ แต่มันเป็นการเลือกในทางการเมืองด้วย  มิตรสหายหลายท่านก็ได้คอยกระตุ้นเตือนไว้ให้ข้าพจ้าวคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการปฏิบัติการปฏิวัติ กับอารมณ์อ่อนไหวทางศิลปะที่ตระหนักรู้ในปัญหาสังคม ก็เช่น อัศนี พลจันทร ในนามอินทรายุธ ที่แปล ปาฐกถา ณ เหยียนอันฟอรั่มว่าด้วยวรรณคดีและศิลปะ โดยเหมา เจ๋อตง จากจีนเป็นไทยด้วยหวังจะเขย่าแนวทางศิลปะและวรรณคดีก้าวหน้าของประเทศที่อีกประเดี๋ยวต่อมาจะกลายเป็นไทยแลนด์ แล้วก็มีนายจิตร ภูมิศักดิ์ ที่โดนพักการเรียนจากมหาลัยจุฬาในปี 2497 ด้วยเหตุผลเดียวกับที่นายโจเซฟ สตาลิน โดนไล่ออกจากศาสนวิทยาลัยทิฟลิสตอนปี 2442 คือชอบไปไล่บี้หาเรื่องกับวรรณคดี  ว่าแต่ไฉนความหวังต่ออนาคตของชาวโซเวียตถึงได้ถูกนำไปโยงเข้ากับสัจนิยมเชิงสังคมนิยมที่แข็งที่อแบบนี้  ไปไงมาไงถึงได้ถูกนำมาโยงเข้ากับการผลิตงานศิลปะที่ดูเหมือนเป็นตัวประกอบให้กับบรรดางานเขียนนับไม่ถ้วนที่ออกมาบรรยายให้เห็น “สภาพความเป็นจริง” ในยูเอ็สเอ็สอาร์ ทั้งแบบที่เขียนโดยผู้เคยไปเยือนและผู้หลบหนีออกมา ทั้งแบบที่เขียนโดยผู้สรรเสริญยกย่องและผู้ใส่ร้าย

ให้ตอบง่ายๆ แบบฝ่ายซ้ายสมัยนี้ก็คือ โทษไปที่วาทกรรมจากยุคสงครามเย็นเจี๊ยบเอาไว้ก่อน การหาความชอบธรรมเป็นเกมใครก็เล่นได้ในราคาถู๊กถูก แต่ผลที่เกิดขึ้นตามมามันเกิดขึ้นเพราะว่าไอ้ความผิดพลาดที่มันเกิดขึ้นจริงนั้น มันเกิดขึ้นในตอนที่เดิมพันของสถานการณ์มันสูงกว่าตอนนี้มาก  ในบทปราศรัยที่สหายสตาลินพูดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยคอมมูนิสท์สำหรับจับกังแดนตะวันออกฟังบทหนึ่ง เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมกรรมาชีพกับวัฒนธรรมชาติ เขาพูดจากความเข้าใจที่อยู่บนฐานของการทึกทักว่าการผลิตเชิงวัฒนธรรมมีองค์ประกอบพื้นฐานสองอย่าง คือ รูปแบบ และเนื้อหา[2]  สิ่งที่เขาไม่ได้นับรวมเข้ามาคือองค์ประกอบที่สาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เหล่าศิลปินโซเวียตอะวองการ์ด[3] ถือว่าอันนี้ต่างหากคือองค์ประกอบสำคัญอันดับที่หนึ่ง นั่นคือ ตัวกระบวนการของการผลิต  การละเลยองค์ประกอบที่สามอันนี้ พอเอาไปขยายความเทียบเคียงกับการปฏิบัติทางการเมืองของสหภาพโซเวียตภายใต้สภาวะเงื่อนไขของยุคเวลาของปัญหาครั้งที่สอง (Second Time of Troubles)[4]  ก็อาจอุปมาให้เห็นกระบวนการแข็งทื่อของระบบราชการโซเวียตที่ตามมาหลังจากยุคนั้นได้ด้วยส่วนหนึ่ง  ดังนี้แหละ สำหรับนายเลน สัจนิยมเชิงสังคม(นิยม)จึงทำงานในระดับของกระบวนการผลิต ขณะที่สำหรับปัญญาชนโซเวียตกระแสหลักที่เกาะอยู่กับแนวทางของพรรคนั้น สัจนิยมเชิงสังคม(นิยม) ได้หยุดทำงานลงแล้ว และกลายมาเป็นโหมดหนึ่งของภาพเสนอหรือไม่ก็ภาพแทน

กระบวนทัศน์ (Paradigm)

เช่นกัน ให้ข้าพจ้าวอุปมาไปเรื่อยมันก็ทำให้เห็นภาพการสนทนาในแวดวงแฟนด้อม เฮ็ด.พี. เลิฟคราฟท์ ในไทย ที่ไปไม่ไกลเกินการพูดถึงอิทธิพล (ที่เขาว่ากันว่าปฏิเสธไม่ได้) ของเลิฟคราฟท์ในสื่อบันเทิงเชิงสยองขวัญของป๊อปคัลท์เจ้อตะวันตก ท่าทีเทิดทูนบูชาถึงขั้นเข้าใกล้อารมณ์ขลังต่อเนื้อหา “ทางปรัชญา” ในนิยายแนวเลิฟคราฟเชี่ยน (ซึ่งก็หมายถึงคอสมิคฮอร์เร่อนั่นล่ะ) ทำให้การสำรวจเลิฟคราฟท์เชิงวิพากษ์ในฐานะมนุษย์และนักเขียนเป็นไปอย่างล่าช้า ยังมาไม่ถึงซักที จะมีก็แต่โคว้ตเอาคำชมมาจากนักเขียนคนอื่นไม่ว่าจะจากยุคเขาหรือยุคเรา ไม่ก็ท่องอ้างอิงข้อเท็จจริงทางชีวประวัติเขามาเฉยๆทำไมก็ไม่รู้ พอเอาเนื้อหาของคอสมิคฮอร์เร่อ หรือจักรวาลนิยม มาผูกรวมเป็นเนื้อเดียวกับความเข้าใจเชิงอัตวิสัยเกี่ยวกับโลกและจักรวาลของเลิฟคราฟท์ ณ จุดใดจุดหนึ่งในชีวิตและการงานของเขา มันก็มีความเสี่ยงที่คนอ่านจะทึกทักเอากระบวนทัศน์ที่เป็นตัวแทนความคิดแค่กระบวนทัศน์เดียวไปเข้าใจว่านั่นคือทั้งหมดทั้งปวงแล้วของวรรณกรรมแนวปลาด

การที่มีกระบวนทัศน์เชิงคอสมิคอันอื่นอยู่ มิได้เป็นเพียงสิ่งที่คนยุคหลังมองย้อนไปดูแล้วสร้างมันขึ้นมาเอง แม้แต่เลิฟคราฟท์ก็เคยประสบกับอัตวิสัยที่ตรงกันข้ามกับอัตวิสัยของเขาในงานเขียนของปลาดชนชาวบริติช นายวิลเลี่ยม โฮป ฮอดจ์สัน ทั้งๆ ที่ทั้งสองเขียนงานในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันและพูดถึงเนื้อหา “ทางปรัชญา” เดียวกัน อันนายฮอดจ์สันนั้นเป็นหนึ่งในนักเขียนที่นักวิชาการอาศัยกระแสเลิฟคราฟท์เรเนอซ้อง (Lovecraft renaissance) พ่วงชุบชีวิตขึ้นมาด้วย  วิสัยทัศน์คอสมิคที่นายฮอดจ์สันสร้างขึ้นมามันไร้การประนีประนอมไม่แพ้เลิฟคราฟท์หรือคนอื่นๆ รุ่นหลังที่ทำงานตามขนบที่เลิฟคราฟเชี่ยนเลย กระนั้นตัวละครของฮอดจ์สันพอเผชิญหน้ากับสิ่งไม่อาจรู้ได้ กลับไม่ตกอยู่ในภาวะสยดสยองหรือสยบยอม  ในสถานการณ์ที่ตัวละครปัญญาชนตามฉบับเลิฟคราฟท์เล่นบทเป็นผู้ที่ได้แต่มองดูหรือเป็นเหยื่อโดยยินยอม ตัวละครของฮอดจ์สันที่มากหน้าหลายตา ไม่ว่านักสืบเรื่องเหนือธรรมชาติ ทหารหาญ และกัปตันเรือ ล้วนเอาตัวเข้ารบรับขับสู้กับชะตากรรม มีทั้งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ไอ้การดิ้นรนในงานของฮอดจ์สันนี้ เลิฟคราฟท์เรียกมันว่าเป็นอารมณ์ “โรแมนติก” และ “ดาษดื่น” เป็นจุดอ่อนในนิยายเอกของฮอดจ์สันเรื่อง บ้านชายขอบ (The House on the Borderland) กับ พิภพราตรี (The Night Land)[5]  ข้อขัดแย้งที่รู้ได้จากประสบการณ์ชีวิตที่มีการบันทึกไว้ ยืนยันความขัดแย้งระหว่างความสัมพันธ์เชิงอัตวิสัยต่อจักรวาลของปลาดชนทั้งสอง  ขณะที่ในปี 2469 เลิฟคราฟท์ตกลงคอมมิชชั่นจะเขียนเรียงความยาวเรื่องประวัติศาสตร์ความเชื่องมงาย[6] ให้นายแฮร์รี่ ฮูดินี่ คนที่เขาเคยรับเป็นนักเขียนผีปั่นเรื่องสั้น โดนขังกับฟาโรห์ (Imprisoned with the Pharaohs) ให้ตอนปี 2467 นายฮอดจ์สันกลับเคยท้านายฮูดินี่และเกือบเอาชนะกลปลดล็อคพันธนาการของเขาได้มาแล้ว สามารถทำให้นักมายากลฮูดินี่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีในการสลัดออกจากพันธนาการที่ฮอดจ์สันออกแบบขึ้นมาเป็นการเฉพาะ[7]  ที่หนักข้อกว่านั้นคือกรณีสงครามโลกครั้งที่ 1 คือในระหว่างที่เลิฟคราฟท์มัวแต่พล่ามให้เพื่อนๆ ทนฟังอยู่ได้เรื่องความกระสันสงครามอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์กับวาทกรรมฟาสซิสท์ที่ว่าชนชาวทิวทอน (teutonic) กำลังขายหน้าเพราะถูกเชื้อชาติต่ำต้อยอื่นๆ ยุให้รบพุ่งกันเองนั้น[8]  นายฮอดจ์สันได้เข้าร่วมสงครามแล้วมากกว่าสองปีก่อนที่จะตายในสนามรบที่มอนท์ เค็มเม็ว (Mont Kemmel)  คำสรรเสริญผู้วายชนม์ของผู้บังคับบัญชาของเขา ควรคู่ที่จะได้กล่าวถึงในที่นี้:

“ให้ข้าพจ้าวชื่นชมความกล้าหาญของเขาเท่าไหร่ก็คงไม่พอ เขาอาสาปฏิบัติหน้าที่อันตรายอยู่โดยตลอด และคงเพราะความไร้สิ้นซึ่งความกลัวของเขานั่นแหละ ที่ทำให้เขาพบกับความตายเมื่อวันที่ 17 เมษายน”[9]

แม้แต่การอ่านตัวเลิฟคราฟท์เองโดยไม่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับใครก็สามารถทำให้เห็นคอสมิคฮอร์เร่อที่ต่างไปจากภาพนิยมของมันมาก ลองย้อนกลับไปดูตอนที่เลิฟคราฟท์พูดดูแคลนตัวเองไว้ในจดหมายปี 2472 ถึงนางเอลิซาเบ็ธ โทลดริด์จ  ‘ฉันเขียนแล้วทั้งงานแบบ “โพ” & งานแบบ “ดันเซนี่” – แต่อนิจจา – แล้วงานแบบ เลิฟคราฟท์ ของฉันมันอยู่ที่ไหน?’[10]  หารู้ไม่ ในตอนนั้นเลิฟคราฟท์ได้วางรากฐานให้กับกลุ่มงานออริจินอลของเขาเรียบร้อยแล้ว งานที่เป็นเอกลักษณ์แบบ เลิฟคราฟท์ นั่นแหละ เขาปลดปล่อยพลังงานสร้างสรรค์ผลิต เสียงเพรียกจากคธูลู ออกมาได้มิใช่เพราะเขาชำเลืองไปเห็นการผุดบังเกิดขึ้นมาของพระเจ้าต่างด้าว หรือความกว้างใหญ่ไพศาลเหนือธรณีกาลแต่อย่างใด หากแต่ผลิตออกมาหลังจากเขาประสาทแดกหนีชีวิตสมรสที่กำลังล้มเหลวและหนีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของนครนิวยอร์คตอนปี 2469  กระบวนทัศน์นี้ให้ภาพของคอสมิคฮอร์เร่อในฐานะความไร้สมรรถภาพที่ถูกเก็บกดเอาไว้ มากกว่าจะเป็นเรื่องของความกลัวอันเป็นสากล[11]

กระบวนการ (Process)

หากการพึ่งพาผู้แทน/ตัวแทนในกระบวนการทางประชาธิปไตย เป็นการฉุดรั้งการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกทางการเมืองไม่มากก็น้อยฉันใด ปลาดชนนิยมสังคมหากต้องการให้เกิดความต่อเนื่องทางสังคมนิยมในปลาดคดี ก็สมควรตั้งมั่นแรงผลักดันความสร้างสรรค์จากการมีส่วนร่วมทางสังคมในความสยองขวัญ มากกว่าจะเป็นการสร้างภาพแทนความสยองขวัญทางปัจเจกเอกชนฉันนั้น  ว่าแต่กระบวนการหรือการมีส่วนร่วมนี้มันหมายความว่ายังไง?

นิยายสั้นเรื่อง การกลับมาของราชาแห่งโลกพิศวง ของนภ ดารารัตน์ จินตนาการว่าเลิฟคราฟท์ฟื้นคืนชีพเพื่อมาเขียนนิยายใหม่เรื่องหนึ่งในยุคสมัยของเรา จนกลายเป็นข่าวออกสื่อประโคมกันให้ทั่ว การคืนพระชนม์ครั้งนี้แม้จะตั้งคำถามน่าสนใจว่านิยายแนวเลิฟคราฟเชี่ยนมีส่วนร่วมกับโลกในวันนี้ยังไง แต่คำถามนี้มันไม่ไปด้วยกันกับการจำลองลัทธิปริศนัยยะปรีชา (esoteric) ต่างๆขึ้นมาใหม่อย่างแดกดันตัวเองของนีชผู้บริโภคสินค้าแนวเลิฟคราฟเชี่ยน  การมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างหลังนี้เรียกร้องการลงทุนเอกชนในทางความใคร่และในทางการเงินรอบๆ ตัวบท “ต้องห้าม” ที่เค้าติ้ด (cultist) ทุกคนดีแต่ท่องได้ขึ้นใจแต่ไม่เห็นจะเคยเอาเรื่องเอาราวอะไรกับมันได้ในรูปแบบอื่น  ยังจำได้ตอนที่มีวงพูดเรื่องมรดกของเลิฟคราฟท์จัดโดยสำนักพิมพ์เวลา บนเวทีที่มหกรรมหนังสือระดับชาติไทยแลนด์ครั้งที่ 27 เมื่อตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ข้าพจ้าวเอะใจกับคำพูดของผู้พูดท่านหนึ่งที่ว่า ไม่จำเป็นต้องอ่านงานของเลิฟคราฟท์ก็เข้าใจแก่นแท้ของมันได้เพราะเดี๋ยวนี้มีวิธีอื่นมากมายที่จะสกัดเอาแก่นสารของคอสมิคฮอร์เร่อแล้วเอาไปใช้ได้  ข้าพจ้าวมิได้แย้งไปด้วยว่าไม่ได้เตรียมตัวมาเจอความเฉยเมยระดับนี้ และยังพิการทางความคิดเพราะยังมีความเกรงใจอยู่[12]  แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ได้เห็นกันแล้วว่า เมื่ออาศัยแค่เนื้อหามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนก็เพียงพอแล้วที่จะเอ็นจอยเลิฟคราฟท์ได้ซะแบบนี้ กระบวนการการอ่านที่หมดความจำเป็นไปแล้วจึงกลายเป็นกิจกรรมที่มีพิษสงต่อจักรวาลที่ถูกทำให้เป็นของคลังของใคร่และต่อการอุปมาเล่นเป็นลัทธิ

มีงานวิชาการมากมายอยู่แล้วที่ศึกษาความเชื่อที่เป็นปฏิกิริยาและล้าหลังแม้แต่โดยมาตรฐานยุคสมัยของเลิฟคราฟท์เอง  ส่วนเรื่องที่ว่าเขาเอาความเชื่อพวกนั้นไปฟอกขาวให้ออกมาเป็นนิยายที่ดูผิวเผินไม่มีเนื้อหาทางการเมืองนั้นก็เป็นที่รู้กันดีอยู่ทั่วไป  ในวารสาร รายงานเลิฟคราฟเชี่ยน ฉบับที่ 3 บทความ “ฟาสซิสซึ่มหลับใหลเป็นนิรันดร์: เฮ็ด.พี. เลิฟคราฟท์, ชอฌส์ บาทายิล, และชะตากรรมของฟาสซิสท์” ของเรย์ ฮิวลิ่ง เสนอกระบวนทัศน์คอสมิคที่อโคจรอยู่รอบๆ การวิภาษระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับความน่าขยะแขยงในความหลงใหลลัทธิฟาสซิสซึ่มของเลิฟคราฟท์  ส่วนบทความ “เชื่อมความสัมพันธ์ของลับของเลิฟคราฟท์” โดยฟิโอน่า เมฟ และเซดี้ เชอร์เบิร์ก ก็ถกจนเห็นภาพความเหยียดเชื้อชาติพันธุ์กับเพศวิถีของเลิฟคราฟท์ได้ครอบคลุม  แล้วก็แน่นอน ตะวันตกตกบัลลังก์ ของเอส.ที. โจฉี ยังคงเป็นตัวบทหลักที่ยังใช้ศึกษาพัฒนาการทางการเมืองและปรัชญาของเลิฟคราฟท์กันอยู่  แต่ที่ว่ามาส่วนใหญ่นี้ น้อยนักที่ได้ใช้ประโยชน์จากวัตถุนิยมวิภาษวิธี ยังกับว่าจะเลียนแบบเลิฟคราฟท์ผู้ดื้อด้านต่อต้านม้ากซิสซึ่มถึงขนาดที่พออ่านๆ ชีวประวัติลงลึกไปแล้ว ดูเลิฟคราฟท์เขาจะยอมเปลี่ยนความคิดที่มีต่อลัทธิฟาสซิสซึ่มได้ง่ายกว่าม้ากซิสซึ่มเสียอีก  เขาถ่ายทอดความดื้อด้านนี้ออกมาสม่ำเสมอผ่านความเชื่อที่ว่าโลกนี้มีเส้นแบ่งระหว่างแรงงานใช้ปัญญากับแรงงานใช้กำลังอย่างชัดเจนและลบออกไม่ได้ รวมถึงการยืนยันจนวันตายว่าการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกมันมีประโยชน์ต่อชาติที่โดนรุกรานมากกว่าโทษนะ เพราะเราคนขาวเอาอารยธรรมไปให้  ข้อดื้อด้านข้อแรกเป็นประเด็นเถียงในจดหมายลงเดือนกันยายน 2476 ถึงรอเบิร์ต อี. ฮาวเวิร์ด[13] ส่วนข้อหลังยังยืนยันอยู่ตอนโตเป็นควายแล้วในจดหมายลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2479[14]  จะให้ตัดสินบนฐานของเงื่อนไขทางวัตถุและสังคมที่ทำให้เขายังคงยึดตำแหน่งทางอุดมการณ์สองอันนี้ไม่ปล่อยมันก็ไม่ยากอะไร แต่เราควรอดใจไม่โดนล่อไปตามปฏิกิริยา และเตือนสติอยู่ตลอดว่าอัตวิสัยนั้นก็เป็นกระบวนการหนึ่งเช่นกัน

อุบัติการณ์นานาชาติในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ที่ปะทุออกมาเป็นขบวนการปลดแอกชาติปฏิวัติต่าง ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่เลิฟคราฟท์คนนั้นคิดไม่ถึงและไม่อยากจะคิด  เลิฟคราฟท์คนนั้นคือคนที่งานอันเป็นเอกลักษณ์ของเขามากที่สุดนั้นได้เขียนออกมาเรียบร้อยหมดแล้วในห้วงประวัติศาสตร์ก่อนจะถึงจุดโหดเหี้ยมสุดยอดของยุคเรืองปัญญาตะวันตก (Western Enlightenment)  คนเดียวกับเลิฟคราฟท์ที่ “ตอนโค้งสุดท้ายเปลี่ยนไปวิ่งเต้นให้นโยบายสังคมนิยมเต็มที่ . . . แต่ด้วยเหตุผลที่ว่ามันมีประโยชน์ใช้งาน ไม่ใช่เหตุผลทางจริยธรรมแต่อย่างใด” อย่างที่เรย์ ฮิวลิ่ง ว่าเอาไว้[15]   แต่การเลี้ยวหักโค้งนี้จะเรียกว่าเป็นโค้งสุดท้ายได้ก็ต่อเมื่อเลิฟคราฟท์รู้ตัวเองว่าจะตายในปี 2480 และตั้งใจอยากรักษาชื่อเสียงของตัวเองเอาไว้หลังตาย  จะเป็นการมองโลกที่ไม่สวยน้อยกว่าถ้าจะมองการเปลี่ยนใจทีละนิดทีละน้อยของเขาเป็นกระบวนการที่แท้งไปซะก่อน  ลองมาดูจะพบว่าเลิฟคราฟท์เขียนงานวรรณกรรมชิ้นสุดท้ายคือ ผู้มาหลอกหลอนในความมืด (The Haunter of the Dark) ตอนพฤศจิกายนปี 2478  จดหมายจากช่วงนั้นชี้ว่าเขาสนับสนุนชุดนโยบายนิวดีล (The New Deal) เพื่อเป็นแนวทางปฏิรูปสู่ยูโทเปียสังคมนิยม[16] ซึ่งความคิดสังคมนิยมแบบเอาประโยชน์เป็นหลักพร้อมมีลักษณะคลั่งชาติของเขาอันนี้ มิได้ต่างอะไรไปจากโปรแกรมการเมืองช่วงก่อนสงครามขององค์กรสังคมนิยมใหญ่ๆ อย่างเช่นพรรคประชาธิปัตย์นิยมสังคมแห่งเอาสเตรีย (Austrian SDP) และสมาคมแรงงานชาวยิว (The Jewish Labour Bund)  การยอมรับคำว่าสังคมนิยมมาใช้อย่างเปิดเผยตอนช่วงบั้นปลายชีวิตมันต่างกับอุดมการณ์ของเขาหลังเขียน เสียงเพรียกจากคธูลู เสร็จราวฟ้ากับเหว ตอนนั้นเขาพูดถึงขั้นว่า “การกระจายความรู้ขั้นพื้นฐานให้คนเข้าถึงอย่างถ้วนหน้า มันทำให้ความสมดุลทางอารมณ์สั่นคลอน อันจะเป็นโทษทำลายขุมพลังของวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาได้”[17]  เป็นเพราะเขาเป็นคนเมืองที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในชีวิตการผลิตของทั้งในเมืองหรือในชนบทนั่นแหละ เมื่อเราอ่านเรื่องราวใน สีสันจากห้วงอวกาศ (The Colour Out of Space) กับ เรื่องสยองของดันนิช (The Dunwich Horror) เราถึงได้เห็นการผสมผเสกันอย่างปลาดๆ ระหว่างความเชื่องมงายแบบชุมชนกับความเชื่อแบบสถาบันมหาลัยมะริกัน ที่ครอบลงไปในชนบทนิวอิงแลนด์ (New England) เพื่อให้มันเป็นต้นธารให้แก่ “ขุมพลังชีวิต” ที่จะให้กำเนิดสัจนิยมที่อยู่นอกความเป็นจริงของอุตสาหกรรมภิวัตน์

ในวิธีปฏิบัติของชาวคอมมูนิสท์ จุดอุบัติการณ์ก้าวหน้าจะเกิดขึ้นหลังการวิจารณ์ตนเองอย่างมีหลักการ และกลายเป็นหมุดหมายในพัฒนาการของผู้คนและสรรพสิ่ง เรามาเห็นจุดนี้ของเลิฟคราฟท์เอาในจดหมายฉบับเกือบสุดท้ายในชีวิตของเขาซึ่งเขียนขึ้นพียงหนึ่งเดือนก่อนจะม้วยมรณา ข้าพจ้าวยกช่วงตาสว่างมาหนึ่งดุ้น:

“นี่แน่ะ – ที่ฉันเข้าใจความมืดบอดเฉื่อยชา & ความอิกนอร์อย่างอวดดีของเหล่าสลิ่มได้ มันมาจากเหตุที่ฉันก็เคยเป็นหนึ่งในนั้น ฉันรู้ว่าฉันเคยอิกนอร์แบบเชิดหน้าขนาดไหน - ทั้งติดพันอยู่แต่ในศิลปะ, วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (ไม่มีสังคมศาสตร์เลย), ปัจจัยภายนอกของประวัติศาสตร์ & การเสพย์โบราณสถานและโบราณวัตถุ, ห้วงที่เสพย์ปรัชญาเชิงวิชาการนามธรรมบ้างก็มี และอื่นๆ . . . โอ้พระจ้าวจอร์จ! ตอนนั้นฉันมองข้ามอะไรไปก็หลายอย่าง - ข้อเท็จจริงภายในของประวัติศาสตร์, การอธิบายอย่างมีเหตุผลเกี่ยวกับวิกฤตสังคมยุคต่างๆ, รากฐานของเศรษฐศาสตร์ & สังคมวิทยา, สภาพในความเป็นจริงของโลกทุกวันนี้ & เหนือสิ่งอื่นใด, การเอาความมีเหตุมีผลแบบไม่แยแสไปใช้มองปัญหาให้เป็นนิสัย ซึ่งแต่ก่อนจะมาถึงตอนนี้ฉันใช้แต่วิธีบูชาเป็นประเพณี, โบกธงชาติ, & ยักไหล่เพราะไม่ใช่เรื่องของฉัน!”[18]

ต้องขอบคุณที่มีโมเม้นท์นี้ เพราะหลังจากนี้ที่เลิฟคราฟท์รู้ตัวแล้วว่าความไม่แยแสที่เขาใช้เป็นฐานกำเนิดสุนทรียภาพของคอสมิคฮอร์เร่อ จริงๆ แล้วมันมาจากความอิกนอร์และการลงทุนทางความใคร่ หลังจากนี้เราสามารถอ่านเลิฟคราฟท์ได้เป็นสเป็คคูเลถีบ (speculative หรือเป็นจินตภาพ) มากที่สุด เราสามารถถามคำถามได้ว่าหน้าตาของคอสมิคฮอร์เร่อที่รูปแบบถูกเก็บรักษาไว้และเนื้อหาถูกเอาไปตีความใหม่โดยนักเขียนคลื่นก่อนหน้ายุคปลาดชนใหม่ (New Weirdists) มันจะเปลี่ยนไปยังไงบ้างถ้าเลิฟคราฟท์อายุยืนกว่านี้และได้ผลิตนิยายออกมาหลังการวิจารณ์ครั้งสุดท้าย? สำหรับนักเรียนที่สนใจคอมมูนิสซึ่มและปลาดคดี การศึกษาอัตตะทางการเมืองของเลิฟคราฟท์ยังไม่จบสิ้น เพราะปี 2566 นี้ (ตามที่นายโจฉีบอกไว้ในบล็อกของเขา ถ้าไม่มีอะไรติดขัด) สนพ. Hippocampus Press จะออกรวมเล่มจดหมายที่ทุกคนรอคอยมานานมาก เล่มจดหมายระหว่างเลิฟคราฟท์กับเพื่อนของเขาที่เป็นตรอตสกี้อิสท์ นายแฟรงค์ เบลแน๊ป ลอง

คราวล่าสุดที่ข้าพจ้าวเขียนถึงเฮ็ดพีแอล[19] ข้าพจ้าวได้มีคำพิพากษาตัดสินว่าเขา “มีจินตนาการที่จำกัด” ด้วยมาตรฐานตามบทบัญญัติของอะเลง บะดยิว ว่าด้วยทหารหาญ ที่เลิฟคราฟท์ไม่เคยได้เป็นในชีวิตจริง ราวกับว่าข้าพจ้าวต้องการจะแดกนักเขียนไอด้อลในวัยรุ่นของข้าพจ้าวที่เขาไม่มีความกล้าหาญพอจะทุ่มตัวให้โลกที่เขามองเป็นแง่ร้าย โลกที่ปรากฏในนิยายเป็นเพียงอภิปรัชญาบริสุทธิ์แต่มาเปิดเผยตัวเองในบทอื่นว่าเป็นอุดมการณ์และปฏิกิริยาสุดโต่งที่มีเนื้อหนัง หลังจากได้อ่านจดหมายช่วงหลังๆ ของเขา ข้าพจ้าวพบภาพที่มันมีพลวัตกว่านั้นมาก และถึงแม้ปาก(กา)เขาจะบอกเสมอว่าเกลียด “คอมมูนิสซึ่มฉบับคัมภีร์” ขนาดไหน หรือจะพร่ำสอน “ความกลัวในสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้” ซักเพียงใด แต่มีจุดหนึ่งที่เขายอมถอย จุดนี้อยู่กลางบทเขียนด่าการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ที่เขาชอบด่าเป็นประจำ มันเป็นนัยให้เรารู้ว่าอย่างน้อยตอนช่วงหลังแล้ว เขาก็มิได้จะขยาดความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเต็มใจจะเผชิญหน้ากับมันตามจังหวะจะโคนและเงื่อนไขของเขาเอง:

“ไม่ว่าขาขึ้นมันจะมาแบบไหน หายนะตอนปี 2460 มันเป็นการถอยหลังถึงขั้นวิปโยคที่แทบจะแก้ไม่หายภายในหนึ่งศตวรรษ ข้อดีข้อเดียวของเหล่าศิลปินในเหตุการณ์พลิกแผ่นดินครั้งนี้คงจะมีแค่ความรู้สึกถึงอนาคตในอารยธรรมนั่นแหละ ไอ้พวกบอลเชวิคมันมีตรงนี้ที่เราไม่มี พวกเขาอยู่ ณ จุดเริ่มต้นของยุคใหม่ - ต่อให้มันเป็นยุคที่ต่ำทรามหรือเอียงกะเท่เร่ขนาดไหนก็เถอะ -แต่เรานี่สิ เห็นชัดแล้วว่ามาถึงจุดสิ้นสุดของยุค . . . หรืออย่างน้อยก็จุดสิ้นสุดของช่วงหนึ่งของยุค”[20]

 เชิงอรรถ

[1] ลัทธิคอสมิค หรือ จักรวาลนิยม (cosmicism) หมายถึง (อภิ)ปรัชญาหรือสุนทรียภาพที่มีคำอธิบายการเกิดขึ้นของมันว่ามาจากการตระหนักถึงความเล็กจ้อยของอัตตะมนุษย์ภายในจักรวาลกว้างใหญ่อันไม่มีที่สิ้นสุด งานของเลิฟตราฟท์เป็นการนำอารมณ์ความกลัวเข้าไปจับกับความเล็กจ้อยนี้ เรียกได้ว่าเป็นคอสมิคฮอร์เร่อ (cosmic horror) ในงานประเภทนี้แบบเข้านิยามสุดโต่ง การดิ้นรนของตัวละครมนุษย์มักจะไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อ “เรื่องราว” ที่คลี่คลายไปของมันเองในระดับจักรวาลหรือระดับของอัตตะของ “เทพจ้าว” หรือสิ่งมีชีวิตที่มาจากต่างญาณวิทยา อาจกล่าวได้อีกขั้นหนึ่งว่าสุนทรียภาพแบบคอสมิคคือการใคร่มองตนเองภายในสายตาของอัตตะอื่นที่มนุษย์ไม่มีนิยามให้

[2] โจเซฟ สตาลิน, “งานการเมืองของมหาวิทยาลัยแห่งประชาชนแดนตะวันออก”, ม้ากซิสซึ่มกับคำถามเรื่องชาติและอาณานิคม, (สนพ. Foreign Languages Press, 2564) หน้า 200.

[3] ลองอ่านบทนำที่สาโรช กีรี เขียนให้เล่ม แนวคิดและแบบแผน: ‘ว่าด้วยแนวคิดโพสท์นิยมและเรียงความอื่น ๆ (สนพ. Foreign Languages Press, 2563) ของ เค. มูราลิ (อาจิต)

[4] หมายถึงห้วงเวลาตั้งแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐโซเวียตแห่งแรกไปจนถึงปี 2480 เป็นช่วงที่โซเวียตต้องต่อสู้กับการรุกรานโดยกำลังทหารต่างชาติและกองกำลังต้านการปฏิวัติภายในประเทศ เทียบได้กับวิกฤตการณ์ชื่อเดียวกันครั้งที่หนึ่งที่เกิดขึ้นในรุสเซียศตวรรษที่ 17 นิยามนี้มาจากหน้า 90 – 91 ของเล่ม สตาลิน: ประวัติศาสตร์และข้อวิพากษ์ตำนานทมิฬ โดยนายโดเมนิโก้ โลเซอร์โด้ แปลเป็นอังกฤษโดยนายดาหวิด เฟอเรย์ร่า (ดั้งเดิมเขียนเป็นภาษาอิตาเลี่ยน ชื่อเล่ม Stalin. Storia e critica di una leggenda nera พิมพ์โดย สนพ. Carocci ณ กรุงโรม)

[5] ลองอ่านบล็อกของนายแซม แกฟเฟิร์ด หัวข้อ งานปลาดของวิลเลี่ยม โฮป ฮอดจ์สัน โดย เฮ็ด.พี. เลิฟคราฟท์ (https://williamhopehodgson.wordpress.com/2012/08/01/the-weird-work-of-william-hope-hodgson-by-h-p-lovecraft/) เขาถอดความเอาเรียงความเรื่อง “งานปลาดของวิลเลี่ยม โฮป ฮอดจ์สัน” มาเผยแพร่ เรียงความนี้ปรากฏครั้งแรกในแฟนซีน The Phantagraph ฉบับกุมภา 2480 แต่เลิฟคราฟท์เคยอ่านและอยากจะเขียนเกี่ยวกับฮอดจ์สันอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2470 แล้ว

[6] ลองอ่านบทความ “พบแล้ว! งานที่สาบสูญของเฮ็ดพี เลิฟคราฟท์ คอมมิชชั่นโดยฮูดินี่” ของนางอะลิสัน ฟลัด เผยแพร่วันที่ 16 มีนาคม 2559 ใน The Guardian (https://www.theguardian.com/books/2016/mar/16/hp-lovecraft-harry-houdini-manuscript-cancer-superstition-memorabilia)

[7]  ลองอ่านเอสเส “ฮูดินี่ ฉะ ฮอดจ์สัน: ศึกประลองแบล๊คเบิร์น”  ของแซม แกฟเฟิร์ด ใน ฮอดจ์สัน: รวมเล่มเรียงความโดยแซม แกฟเฟิร์ด (สนพ. Ulthar Press, 2556)

[8] ลองไปอ่านเรียงความ “อาชญากรรมแห่งศตวรรษ” (เมษายน 2458) กับ “รากของปัญหา” (กรกฎาคม 2461) ในเล่ม รวมเรียงความ  เล่ม 5: ปรัชญา; อัตชีวประวัติ & เรื่องจิปาถะ บรรณาธิการโดย เอส.ที. โจฉี (สนพ. Hippocampus Press, 2549)

[9] ตัวเน้นโดยข้าพจ้าวเอง ลองอ่านบล็อกของแซม แกฟเฟิร์ด เรื่อง ชีวิตของวิลเลี่ยม โฮป ฮอดจ์สัน ตอนที่ 8 (https://williamhopehodgson.wordpress.com/2013/06/14/the-life-of-william-hope-hodgson-part-8/) กับเรียงความ “ดับเบิ้ลยูเฮ็ดเฮ็ดในสงครามโลกครั้งที่ 1” ในเล่ม ฮอดจ์สัน: รวมเล่มเรียงความ

[10] เฮ็ดพีแอล, จดหมายถึงนางเอลิซาเบ็ธ โทลดริด์จ ลงวันที่ 8 มีนาคม 2472, คัดสรรจดหมายเล่ม 2 ปี 2468 – 2472 บรรณาธิการโดยเอากุสต์ เดอร์เล็ธ และโดนัลด์ วานเดรย์ (สนพ. Arkham House, 2511) หน้า 315

[11] มีประเด็นที่ทำให้สับสนเรื่องความเป็นเลิฟคราฟท์แบบแท้ๆ เข้าไปใหญ่ คือไอ้งานแบบ เลิฟคราฟท์ ที่ว่านี้ มันไปปูเนื้อหาให้กับตำนานนิยายคธูลู (Cthulhu Mythos) ซึ่งเป็นลัทธิแก้ของนายเอากุสต์ เดอร์เล็ธ ที่เคลมความต่อเนื่องไม่มีขาดจากปกรณัมของเลิฟคราฟท์ แต่มีอุดมการณ์ต่างไปจากอภิปรัชญาวัตถุนิยมเชิงจิตนิยม

[12] ความเกรงใจจัดอยู่ในกระบวนการความคิดแบบเสรีนิยมประเภทที่หนึ่ง ลองอ่าน ต่อสู้เสรีนิยม ของเหมา เจ๋อตง

[13] จดหมายจากรอเบิร์ต อี. ฮาวเวิร์ด ถึง เฮ็ด.พี.แอล. ราว ๆ กันยายน 2476, วิถีสู่เสรี: รวมจดหมายของเฮ็ด.พี.เลิฟคราฟท์ กับรอเบิร์ต อี. ฮาวเวิร์ด ฉบับที่ 2  บรรณาธิการโดย เอส.ที. โจฉี, ดาหวิด อี. ชูลสท์, รัสตี้ เบิร์ค (สนพ. Hippocampus Press, 2011) หน้า 651

[14] จดหมายจาก เฮ็ด.พี.แอล. ถึงรอเบิร์ต อี. ลง 7 พฤษภาคม 2479 เล่มเดียวกับเชิงอรรถ 12 หน้า 929

[15] เรย์ ฮิวลิ่ง, “ฟาสซิสซึ่มหลับใหลเป็นนิรันดร์: เฮ็ด.พี. เลิฟคราฟท์, ชอฌส์ บาทายิล, และชะตากรรมของฟาสซิสท์”, รายงานเลิฟคราฟเชี่ยน ฉบับที่ 3 บรรณาธิการโดยเด็นนิส พี. ควินน์ (สนพ. Hippocampus Press, 2562) หน้า 87

[16] ยกตัวอย่างเช่นในจดหมายถึงคลาร์ค แอชตั้น สมิธ ลงวันที่ 30 กันยายน 2477 ใน คัดสรรจดหมาย เล่ม 5 ปี 2477 – 2480 บรรณาธิการโดยเอากุสต์ เดอร์เล็ธ และจาเมส เทอร์เนอร์ (สนพ. Arkham House, 2519)

[17] เฮ็ดพีแอล, จดหมายถึงเบอร์หนาด ออสติน ดไวเออร์ ราวๆ มิถุนายน 2470, คัดสรรจดหมาย เล่ม 2, หน้า 132

[18] เฮ็ดพีแอล, จดหมายถึงแคเธอรีน แอล. มัวร์ ลงเดือนกุมภาพันธ์ 2480, คัดสรรจดหมาย เล่ม 5, หน้า 407

[19] ดีโยน ณ มานดารูน, “เหนือฟ้ายังมีอาซาท็อท: เลิฟคราฟท์กับสุดปลายทางจินตนาการสลิ่ม” (https://readjournal.org/news/17008/)

[20] เฮ็ดพีแอล, จดหมายถึงนางเฮเล็น วี. ซัลลี่ ลงวันที่ 5 มีนาคม 2478, คัดสรรจดหมาย เล่ม 5, หน้า 115 จุดที่น่าจินตนาการโดยเฉพาะคงจะเป็นความคิดเห็นของเลิฟคราฟท์เกี่ยวกับวัฒนธรรมโซเวียตหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นตอนที่สมาคมวรรณคดีและกิจการสร้างสรรค์อื่นๆ กลายมาเป็นส่วนสำคัญธรรมดาส่วนหนึ่งของชีวิตในชุมชนโซเวียตที่พัฒนาแล้ว มีตัวอย่างให้อ่านในเล่ม ผู้คนโซเวียตในเมืองหนึ่ง โดยโจเซฟ กาเรลิค (สนพ. International Publishers, 2493) มีเล่าภาพชีวิตโดยรวมของเมืองนีปรัสเซียซินสค์ ใน ส.ส.ซ.ยูเครนพร้อมบทสัมภาษณ์พลเมืองหลายบท