สังเกตการเมืองโลกในงานประชุมนักแปลอเมริกัน โดย ช้างผอค


Prologue: Skills Like White Elephant

สมัยเป็นเด็กประถม จำได้ว่ามีผู้ใหญ่เรียกฉันว่าช้างเผือก คำที่เปรียบเปรยเยาวชนภูธรหัวกะทิเป็นสัตว์ป่าหายากที่ถูกลากเข้าเมืองไปประดับบารมีกษัตริย์ ถูกเรียกอย่างนั้นเพราะเป็นตัวแทนโรงเรียนไปสอบแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับภูมิภาคอยู่หลายปี จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ผอ.โรงเรียนอุทานกับฉันเมื่อเห็นตารางผลสอบว่า โห เธอได้คะแนนมากกว่าเด็กโรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ดเชียวนะ ฟังแล้วก็สะดุดใจว่า โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษของเรามันด้อยขนาดนั้นเลยหรอ? หรือว่าโรงเรียนพระกุมารร้อยเอ็ดเป็นโรงเรียนของเด็กพิเศษประเภทลูกท่านหลานเธอ? (กว่าจะรู้ว่าพระกุมารหมายถึงพระเยซูคริสต์ก็ราวสิบห้าปีหลังจากนั้นตอนขับรถผ่านทางเลี่ยงเมืองร้อยเอ็ดแล้วบังเอิญเห็นป้ายหน้าโรงเรียนที่มีชื่ออังกฤษ The Holy Infant Jesus Roi-Et School กำกับ) หรือว่าร้อยเอ็ดเป็นเหมือนอุบลที่เจริญกว่าศรีเกษ จังหวัดที่ว่ากันในสมัยนั้นว่ายากจนที่สุดในประเทศไทย?

คำว่าช้างเผือกจึงทั้งยกทั้งเหยียด ยกว่าเป็นหัวกะทิ แต่เหยียดโดยไม่เจตนาว่าเป็นหัวหมาที่คงมีค่าแค่หางราชสีห์ เหมือนคำว่า “เด็กโควต้า” ที่เกิดจากนโยบายเปิดรับคนมีความสามารถแต่ด้อยโอกาส ที่ไม่พ้นถูกมองว่ากินที่คนที่เข้ามาด้วยคะแนนสอบ เด็กโควต้าหลายคนจึงมีปมต้องพิสูจน์ตัวเองว่าข้าก็หนึ่งในตองอู ไม่ว่าจะเด็กโควต้าแพทย์ชนบท เด็กโควต้านักกีฬา หรือเด็กโควต้าชาติพันธุ์

ยี่สิบปีผ่านไป ช้างเผือกกลายร่างเป็น “ช้างผอค” เมื่อได้รับคัดเลือกเข้าโครงการอบรมนักแปลบัวปริ่มน้ำ (emerging translator—เสมอวิปัจจิตัญญู บัวเหล่าที่สอง) เพื่อฝึกวิชาแปลวรรณกรรมเป็นภาษาอังกฤษในที่นั่งที่เปิดรับเฉพาะคนที่เป็น BIPOC อ่านว่า “ไบผอค” คำย่อที่ชาวอเมริกันเห่อใช้กันในช่วงสองสามปีมานี้ หมายถึงคนผิวดำ (Black) คนพื้นเมือง (indigenous) และ/หรือคนผิวสี (person of color) พูดง่ายๆก็คือไม่ใช่คนขาวจ้า

ก่อนหน้านี้คำย่อที่ใช้กันคือ POC เฉยๆ อ่านว่า “พีโอซี” จะอ่านว่า “ผอค” ก็ต่อเมื่อสมาสเข้ากับคำอื่น นอกจาก BIPOC ก็มี QPOC อ่านว่า “คิวผอค” หมายถึงคนผิวสีผิดเพศ (queer—ขออนุญาตใช้คำแปลที่แสลงหูนี้เพื่อสื่อถึงคำอังกฤษที่ก็แสลงหูคนหลากเพศรุ่นก่อน), QTPOC อ่านว่า “คิ้วตี้ผอค” หมายถึงคนผิวสีผิดเพศและ/หรือข้ามเพศผู้น่ารัก เป็นต้น คำว่า POC ครอบคลุมหมดทุกกลุ่มเหมือน BIPOC แต่เติม BI เข้าไปข้างหน้าเพื่อยกอัตลักษณ์คนดำและคนพื้นเมืองให้เด่นเป็นไทแก่ตัวเองโดยไม่ถูกกลืนไปในคำว่าคนผิวสี คำซึ่งแต่ดั้งแต่เดิมหมายถึงเฉพาะคนที่มีเชื้อสายแอฟริกัน

เจ้าภาพคือสมาคมนักแปลวรรณกรรมอเมริกัน (American Literary Translators Association ตัวย่อ ALTA อ่านว่า “ออลท่า”) โครงการจับคู่พี่เลี้ยงกับนักแปลเกิดใหม่ประจำปี 2023 เปิดรับสมัครนักแปลที่ไม่เคยตีพิมพ์งานแปลภาษาอังกฤษเป็นหนังสือเล่มมาก่อนหรือเคยแต่ไม่เกินหนึ่งเล่ม มีที่สำหรับแปดคน หกที่จำกัดภาษาต้นทางหรือประเทศต้นทาง ได้แก่ภาษาเกาหลี ๒ (ร้อยแก้ว ๑ ร้อยกรอง ๑) ภาษาญี่ปุ่น ๑ ประเทศไต้หวัน ๑ ภาษาดัตช์ ๑ และภาษาสวีเดน ๑ อีกสองที่ไม่จำกัดภาษาต้นทาง หนึ่งในนั้นเปิดกว้างทุกอย่างทั้งประเภทงานและอัตลักษณ์นักแปล อีกหนึ่งจำกัดเฉพาะร้อยแก้วและนักแปลที่ไม่ใช่คนขาว

ฉันเคยสมัครเข้าโครงการนี้ปีก่อนด้วยโปรเจ็คแปลกลอนลำของหมอลำแบ๊ง ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ปรากฏว่าไม่ได้ ตั้งใจไว้ว่าจะลองใหม่ปีหน้า แต่แล้วก็ลืมไปจนได้รับอีเมลหัวข้อ “Hello & ALTA’s Emerging Translator Mentorship Program” จากคุณมุ่ย ภู่พกสกุล ผู้แปลหนังสือของปราบดา หยุ่น เดือนวาด พิมวนา และแดนอรัญ แสงทอง คนละสองเล่มเป็นภาษาอังกฤษ

สวัสดีค่ะคุณพีระ

หวังว่าสบายดีนะคะ และหวังว่าไม่เป็นไรที่เขียนมาทั้งๆ ที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน พี่เป็นนักแปลวรรณกรรมเหมือนกัน และพอดีเคยเห็นและชื่นชอบงานของคุณ เลยอยากเขียนมาบอกเกี่ยวกับโปรแกรม Emerging Translator Mentorship ของ American Literary Translators Association  เผื่อคุณพีระสนใจจะสมัคร (ปีนี้พี่เป็นหนึ่งใน mentors) ดูรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมและการสมัครได้ที่นี่นะคะ: https://www.literarytranslators.org/mentorships มีเวลาอีกเดือนหนึ่งสำหรับการสมัครค่ะ

ตายๆ ลืมไปเลย เหลือเวลาเตรียมใบสมัครเดือนเดียว เรียงความเสนอโครงการสองถึงสามหน้ากับตัวอย่างสำนวนแปลอีกแปดถึงสิบหน้า จะทันไหมวะ ไม่ทันก็ต้องทันแล้วหละ ราชรถมาเกยขนาดนี้ จะเอาโปรเจ็คกลอนลำมาปัดฝุ่นดีมั้ย แต่ถ้าอย่างนั้นก็ต้องไปสมัครของพี่เลี้ยงอีกคนสิเพราะคุณมุ่ยเขารับเฉพาะร้อยแก้ว ซึ่งถ้าไปสมัครของอีกคน แถมสมัครด้วยโปรเจ็คที่เคยถูกตีตกไปแล้วอีก โอกาสได้คงน้อย คิดอยู่สองสามวันก็ตกลงใจได้ว่าจะลองแปลเรื่องสั้นของจารุพัฒน์ เพชราเวช ส่งไปดู เพราะ ๑ ชอบ ๒ ไม่ใช่สลิ่ม ๓ ท้าทาย และที่สำคัญคือ ๔ ไม่มีปัญญาแปลเองแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะฉากชีวิตชนบทอีสานที่จารุพัฒน์สร้างผ่านตัวหนังสือมีรายละเอียดยิบย่อยอย่างน่าทึ่งแบบที่ไม่รู้จะเคาะประโยคภาษาอังกฤษออกมายังไงให้คนอ่านเข้าถึงความหมายและเห็นภาพตามได้ทุกช็อต คงต้องขอดาวน์โหลดสมองคุณมุ่ยที่ผจญร้อยแก้วรกชัฏอย่าง เจ้าการะเกด มาแล้ว (The Understory, Peirene Press, October 2023) ฉันถึงจะกล้าแปลเอง

สุดท้ายสมัครทัน (ดู Project Proposal, Translation Sample)

ปรากฏว่าได้ด้วยเว้ย อบรมตัวต่อตัวระยะแปดเดือนทางออนไลน์ พร้อมเงิน ๑,๕๐๐ เหรียญดอลล่าร์สหรัฐเป็นค่าเดินทางไปงานประชุมช่วงปลายปีพร้อมค่าอยู่ค่ากิน

แต่พอได้ปุ๊บ ก็เกิดคำถามปั๊บ ว่าที่กูได้นี่ เป็นเพราะความสามารถกูกับจารุพัฒน์ล้วนๆ หรือเปล่า หรือมีอย่างอื่นด้วย

เขียนเป็นโคลงห้าพัฒนาได้ว่า

เขาอยากเอื้อ สีผิว?

ช่วยเดบิวต์ เด็กเส้น?

พาลัดคิว ระบบ?

หาโท้คเข้น ประดับวง?

 หาคำตอบไปพร้อมกับฉันได้ในบันทึกการประชุมต่อไปนี้

Setting the Scene

งานประชุมประจำปี 2023 ของออลท่า จัดขึ้นระหว่างวันพุธถึงวันเสาร์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน ที่เมืองทูซอน รัฐแอริโซน่า เมืองกลางทะเลทรายอันอุดมความหลากหลายทางชีวภาพ มีตะบองเพ็ชรซากวาโรผู้อาวุโสยืนต้นสูงเท่าเปรตกระจายอยู่ทั่วแดน ผู้เข้าร่วมประชุมมีทั้งนักแปลมือรางวัลมืออาชีพมือใหม่จนถึงมือสมัครเล่น บรรณาธิการนิตยสารสำนักพิมพ์ต่างๆที่พิมพ์วรรณกรรมแปล นักศึกษาวิชาศิลปะการเขียนที่อยากแปล และผู้สนใจอื่นๆ รวมสามร้อยกว่าคน เป็นการกลับมาจัดประชุมในสถานที่อย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกหลังปี 2019

ป้ายชื่อของผู้เข้าร่วมแต่ละคนบอกภาษาที่แปล พบมากสุดสองอันดับแรกคือสเปนและฝรั่งเศส ตามด้วยรัสเซียโปรตุเกสโปแลนด์อิตาลีกาตาลาโรมาเนียและอื่นๆจากยุโรปอเมริกา รองลงมาคือภาษาจีนเกาหลีฮินดีคีร์กีซบังลาทามิฬอาหรับและอื่นๆจากเอเชีย พบน้อยสุดคือ “ภาษาแอฟริกาที่ไม่ใช่อาหรับ” ตามคำที่หนึ่งนักแปลจากภาษาโยรุบะประกาศตามหาหมู่เหล่า

ธีมงานคือ “The Place of Translation” สมาชิกสมาคมสามารถเสนอตัวเป็นผู้จัดสนทนาโต๊ะกลม (roundtable) หรือโต๊ะยาว (panel) หัวข้ออะไรก็ได้ ขอให้มีเอี่ยวคำว่า “ที่” สักนิดก็พอ ไม่ว่าจะเป็นถิ่นที่เชิงรูปธรรมอย่างการแปลฉาก การแปลภูมินาม การแปลภาษากวางตุ้งในฮ่องกง การแปลงานเขียนคนพลัดถิ่น หรือที่ทางเชิงนามธรรมอย่างนักแปลนอกลู่นอกทาง ฐานะของนิตยสารออนไลน์ในระบบนิเวศวรรณกรรมแปล หนทางใหม่ๆของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการแปล ฯลฯ รวมครั้งนี้มีโต๊ะเสวนาทั้งสิ้น ๕๒ โต๊ะ งานประชุมสามวัน แต่ละวันมี ๓-๔ คาบ แต่ละคาบยาวหนึ่งชั่วโมงสิบห้านาที (๙.๐๐-๑๐.๑๕ น., ๑๐.๔๕-๑๒.๐๐ น., ๑๔.๐๐-๑๕.๑๕ น. และ ๑๕.๔๕-๑๗.๐๐ น.) ถ้าไม่ใช่กิจกรรมสำคัญที่รวมศูนย์อยู่ห้องเดียวอย่างการแสดงปาฐกถาหรือพิธีมอบรางวัล จะมีห้องย่อยให้เลือกไปเข้าฟัง ๖-๘ ห้อง ส่วนใหญ่เป็นห้องโต๊ะยาว ห้องหนึ่งเป็นห้องโต๊ะกลม อีกห้องหนึ่งไว้ “อ่านออกเสียง” งานแปลของผู้ที่ลงชื่อไว้ล่วงหน้า โดยผู้จัดได้มัดไว้เป็นชุดๆ เช่น ช่อมาลาภาษาเอเชีย บทกวีภาษาโรมานซ์ เป็นต้น และอีกห้องหนึ่งเป็น “เทศกาลหนังสือ” ของมหาวิทยาลัยแห่งแอริโซน่าที่ขนหนังสือวรรณกรรมแปลมาขาย ไล่ดูชื่อนักแปลแล้วสะดุด ชื่อนี้เพิ่งไปนั่งฟังเขาพูดมานี่หว่า ส่วนชื่อนั้นก็เพิ่งจับมือแนะนำตัวกันไปตะกี้

คำอธิบายธีมงานขึ้นต้นว่า

ที่ของนักแปลในระบบวรรณกรรมหนึ่งๆ คืออะไร และเรานักแปลเลียบเลาะไปในที่นั้นของเราอย่างไร … เรานักแปลยืนอยู่ได้และมีที่พยุงได้ด้วยวิถีทางใดบ้าง และเราพยายามสลัดตัวให้หลุดจากที่ที่ถูกจัดว่าเป็นของเราด้วยวิถีทางใดบ้าง

ที่ยกมานี้ไม่ได้อธิบายเนื้อในงานประชุมเท่ากับสาธกอหังการผู้จัด อหังการตรงที่ตั้งประเด็นเรื่อง “ที่” ด้วยเจตนารมณ์ที่จะหาทางฝ่ามันไป คำว่า “เลียบเลาะ” (navigate) ให้ความรู้สึกเหมือนเดินสมุทรเพื่อให้แคล้วคลาดจากพายุและโขดหิน มากกว่าหาทางอยู่ร่วมหรือพักพิงอิงอาศัยที่นั้น แถมผู้จัดยังเขียนขยายด้วยว่าที่นั้น “ถูกจัดว่าเป็นของเรา” ดังนั้นจึงไม่ใช่ที่ของเราจริงๆ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่ที่ที่เราคู่ควร

สวนทางกับส่วนใหญ่ในโลก ตลาดหนังสือภาษาอังกฤษมีหนังสือแปลเป็นสัดส่วนน้อยมาก ฐานะของนักแปลก็ด้อยด้วย หลายสำนักพิมพ์ไม่นิยมโฆษณาว่าหนังสือแปลเป็นหนังสือแปล เพราะว่ากันว่ายอดขายจะตก ชาวบ้านร้านตลาดจะไม่อยากซื้อถ้ารู้แต่แรกว่าเป็นหนังสือแปล ชื่อผู้แปลจึงอาจไม่ปรากฏบนหน้าปก แต่ไปอยู่ปกหลัง ปกใน หน้าเครดิต หรือไม่ปรากฏเลยก็มีถ้านักแปลหลวมตัวเซ็นสัญญาโดยไม่อ่านให้ดี ดังที่ได้ฟังจากนักแปลคนหนึ่งที่ประสบ “เรื่องสยองขวัญ” มากมายตั้งแต่ผันตัวจากสเปนมาทำงานในโลกภาษาอังกฤษกับสำนักพิมพ์อเมริกัน

นอกจากแปล นักแปลวรรณกรรมในโลกภาษาอังกฤษยังมักต้องรับผิดชอบอีกหลายหน้าที่ ตั้งแต่แมวมองและเอเย่นต์ไปจนถึงฝ่ายขายและประชาสัมพันธ์ ดีกรีความเป็นเจ้าของผลงานจึงมีค่อนข้างสูงจนได้ยินนักแปลใช้วลี my book หรือ my work เรียกหนังสือที่ตัวเองแปลอย่างเป็นปกติ หรือเมื่อมีใครเข็นโปรเจ็คแปลจนเป็นเล่มได้สำเร็จ ก็จะใช้คำแสดงความเป็นเจ้าของพูดกันในวงการได้ว่า They published their first book this year! เสมือนหนึ่งเป็นผู้แต่งเอง

จึงไม่น่าแปลกใจที่นักแปลวรรณกรรมในโลกภาษาอังกฤษรุ่นนี้มีวาระทางวิชาชีพของการรวมตัวกันสู้เพื่อให้มีสิทธิ์ มีเสียง มีชื่อบนปก และมีฐานะกว่าที่เป็นมา อย่างที่หัวหอกขบวนการสะกิดว่า “ทุกคำที่คุณอ่าน นักแปลเป็นคนเลือกมานะ” ให้สำนักพิมพ์ตลอดจนผู้อ่านรู้จักเห็นหัวนักแปลบ้าง

ฉันไม่อินกับวาระทางวิชาชีพนี้ เพราะมาจากสังคมที่นักแปลถูกยกให้เป็นผู้มีความรู้เหนือคนทั่วไป มีอำนาจทางวัฒนธรรมที่จะสยบคำวิจารณ์ผู้อ่านได้ว่าก็เธอรสนิยมต่ำหรือเข้าไม่ถึงสำนวนภาษาไวยากรณ์ของผู้เขียนเอง สังคมที่ชื่อนักแปลอาจการันตียอดขายไม่แพ้ชื่อนักเขียน สังคมที่นักแปลไม่จำเป็นต้องง้อนักอ่าน แต่นักอ่านต้องรู้จักหงอนักแปล

(สภาพนี้กำลังถูกสั่นคลอนด้วยเสียงนักอ่านในโลกออนไลน์ที่สามารถถล่มหนังสือแปลคุณได้ถ้าพวกเขาจับผิดคุณได้แม้เพียงจุดเดียวหรือแม้จับไม่ยักกะถูกจุดก็ตาม เข้าใจว่าปรากฏการณ์นี้เกิดในโลกภาษาอังกฤษเหมือนกัน เพราะได้ฟังนักแปลคนหนึ่งเล่าว่าเจอสำนักพิมพ์แนะนำให้ใช้นามแฝง ป้องกันเสียชื่อเสียงหากคนอ่านถล่มสำนวนแปลนิยายภาพอย่างที่สำนักพิมพ์เคยเจอ ซึ่งผู้เล่ามองว่าเป็นการแก้ไม่ถูกจุด เพราะจะยิ่งลดความเป็นเจ้าของผลงานของผู้แปลที่ผูกไปในตัวกับความรู้รับผิด)

แต่ถึงปากจะบอกไม่อิน ปากก็กินโพดผลของขบวนการอยู่หมับๆ ทำนองเดียวกับที่ฉันไม่อินกับสมรสเท่าเทียม แต่ตอนลี้ภัยมาอยู่อเมริกาก็มาด้วยวีซ่าคู่หมั้น รางวัลสำหรับนักแปลในโลกภาษาอังกฤษผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีทั้งรางวัลหนังสือแปลยอดเยี่ยมมอบให้แก่ผู้เขียนและผู้แปลคู่กัน (แม้จะยังได้ยินเสียงบ่นว่าผู้แปลยังต้อง “ยืนข้างหลัง” ผู้เขียนอยู่ดีตามพิธีมอบรางวัล ที่ผู้เขียนจะอ่านต้นฉบับด้วยเสียงอันขรึมขลังก่อนผู้แปลจะสาวเท้าขึ้นไปอ่านสำนวนแปล) แล้วก็มีรางวัลที่เป็นทุนจัดพิมพ์หนังสือแปล ทุนแปล ทุนฝึกนักแปล หรือทุนให้นักแปลเกิดใหม่เดินทางมาร่วมงานประชุม เพิ่งซึ้งว่าการเป็นอนุชนเกิดใหม่ใหญ่ทีหลังมันดีอย่างนี้นี่เอง แทนที่จะต้องคอยหาทางเลียบเลาะอยู่ร่ำไปใต้แสงดาวรุ่นพ่อรุ่นพี่ผู้ชี้นำหนทางแต่ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น ขอขอบคุณเหล่านักแปลและชนกลุ่มน้อยทางเพศผู้ถางทางและถมกายเป็นทางจนคนรุ่นฉันได้มีวันนี้

แต่ขึ้นชื่อว่ารางวัล ก็ย่อมหมายความว่ามีแค่คนชนะที่ได้ ส่วนที่เหลือคือไม่ได้อะไรเลย ตกลงแล้วใครกันแน่ในหมู่คนรุ่นใหม่ที่ได้รับโอกาสให้มีที่มีทาง

 

Thai-breaker

โต๊ะแรกที่ฉันเข้าร่วมเป็นเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ “ที่ของเราเอง: ความสัมพันธ์พี่เลี้ยงกับการแปล” (A Place of Our Own: Mentor Relationships and Translation) คุยกันอยู่สิบสามคน ไม่มีผู้ฟังนอกโต๊ะ มีฉันคนเดียวที่เป็นน้องเลี้ยงหรือ “เมนที่” ส่วนใหญ่ของโต๊ะมีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงหรือ “เมนเท่อ” (บางคนออกเสียง “เมนทอร์”) ทั้งของออลท่าและองค์กรอื่นๆ มุ่ย ภู่พกสกุล พี่เลี้ยงมือใหม่ของฉันก็ร่วมโต๊ะด้วย และข้างๆมุ่ยนั้นก็ไม่ใช่ใครนอกจากคนที่ฉันส่งโปรเจ็คแปลกลอนลำหมอลำแบ๊งไปให้พิจารณาเมื่อปีก่อนนั่นเอง

เมื่อเวียนแนะนำตัวและเล่าคำถามที่ตนสนใจรอบโต๊ะแล้ว สองผู้นำบทสนทนาก็ชูประเด็นจากคนหนึ่งว่าอะไรคือมาตรวัดความสำเร็จของการอบรมนักแปล

เมนเท่อคนหนึ่งตอบว่าการตั้งเกณฑ์บังคับให้ผู้สมัครคิดโครงการแปลขึ้นมา ก็นับเป็นการสร้างความคาดหวังที่ช่วยพัฒนานักแปลปริ่มน้ำได้แล้วระดับหนึ่ง ส่วนการอบรมจะสำเร็จหรือไม่ ผมดูว่ามีผลงานตีพิมพ์หลังจบไปแล้วหรือเปล่า ซึ่งช่วงแรกที่ผมเป็นเมนเท่อผมไม่ค่อยเห็น แต่ผ่านไปสองสามปีถึงค่อยพากันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา

เมนที่ยกมือบ้าง ตอบไปว่าการได้รับคัดเลือกเป็นน้องเลี้ยงมาพร้อมกับความกดดันเงียบๆ ให้ต้องประสบความสำเร็จ  ทรัพยากรที่เทมาทั้งเงินทั้งเวลาทั้งการประคบประหงมทำให้ไม่ลืมความกดดันนี้ แต่หนูก็พยายามไม่กดดันตัวเอง ทำไปช้าๆ มาตรวัดความสำเร็จสำหรับตัวเองไม่ใช่ผลผลิตอย่างการตีพิมพ์หรือจำนวนหน้า เมนเท่อหนูเคยบอกว่าตัวเองเป็นหมาป่าไม่มีฝูง หนูก็สมาทานแนวคิดนี้ มุ่งพัฒนาตัวเองเพื่อจะได้เป็นหมาป่าลุยเดี่ยวอีกตัว ในสภาวะที่เงื่อนไขทางการเมืองไม่อำนวยให้มีโครงสร้างได้เลย (ตั้งแต่การเมืองโลก การเมืองของประเทศ ไปจนถึงการเมืองในแวดวง) ต่างคนจึงต่างต้องหาโอกาสเอาเอง เหมือนระบบนิเวศทะเลทรายไง นึกภาพแม่แมวบ๊อบแคทที่สอนลูกล่าเหยื่อในทะเลทรายสิ ที่พอผ่านไปซัก ๖-๘ เดือนก็ทิ้งลูกให้ออกหากินเอง ฉันใดก็ฉันนั้น มาตรวัดความสำเร็จสำหรับตัวเองจึงเป็นอิสรภาพ เป็นความมั่นใจว่าตัวเองทำได้แล้วนะ …พอดีหนูเพิ่งไปพิพิธภัณฑ์ทะเลทรายมาเมื่อวานน่ะ

เมนเท่ออีกคนหนึ่งเริ่มแตกประเด็น ตั้งคำถามว่าการขยายพันธุ์โครงการประเภทนี้ไปเรื่อยมันจะสร้างความเข้าใจผิดๆหรือเปล่าว่ามีเส้นทางอาชีพอยู่จริงหลังอบรม มันจะเป็นการซ้ำรอยความล้มเหลวของโมเดลที่ให้อภิสิทธิ์กับพวกลูกคนรวยหรือเปล่า (เมนเท่อคนเดียวกันนี้กล่าวในอีกโต๊ะเสวนาเกี่ยวกับการพิทักษ์สิทธินักแปลในการต่อรองสัญญากับผู้พิมพ์ว่า “จะพบนักแปลวรรณกรรมอาชีพในอังกฤษมากกว่าในอเมริกา เพราะทางโน้นเขามีบริการสุขภาพแห่งชาติ”)

เมนเท่ออีกคนหนึ่งเสนอว่าน่าจะมีอ๊อพชั่นให้อบรมออนไลน์ล้วนๆ ไม่ต้องเปลืองสังขารบินมางานประชุมตอนสิ้นปี เฉพาะค่าเดินทางกับค่าโรงแรมก็แทบจะหมดเงินที่ได้มาแล้ว

เมนเท่ออีกคนหนึ่งเล่าว่าพอโครงการเมนเท่อนักแปลเป็นที่รู้จักมากขึ้นและเกิดกระแสก๊อปกันไปทำในประเทศต่างๆ ภูมิภาคต่างๆ มากขึ้น ก็เริ่มได้รับคำถามจากเพื่อนนักแปลว่าต้องทำยังไงถึงจะได้เป็นเมนเท่ออย่างเธอบ้าง การเป็นพี่เลี้ยงกลายเป็นเกียรติประวัติ เอาไปใส่ CV ได้

เมนเท่ออีกคนหนึ่งต่อยอดประเด็นนี้ สาธยายว่าโมเดลที่เป็นอยู่นี้ผู้ชนะกวาดหมด ซึ่งเป็นลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอาของระบบทุนนิยม เวลาอ่านใบสมัครเรามักจะเจอมากกว่าหนึ่งคนที่สมควรได้ นี่เลยมักจะลงเอยติดต่อคนที่ชวดเก้าอี้ไปด้วย กลายเป็นอบรมอย่างไม่เป็นทางการซ้อนเป็นเงาตามกันไป ดังนั้น แทนที่พวกเราจะเป็นฟันเฟืองของระบบนี้ ที่นักแปลหน้าใหม่แย่งกันเป็นน้องเลี้ยงไม่พอ นักแปลหน้าเก่ายังจะวิ่งเต้นหาตำแหน่งให้ตัวเองอีก ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้ดลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แทนที่จะเอาความขาดแคลนเป็นกรอบคิด ก็วางกรอบใหม่ให้การเรียนรู้ตั้งอยู่บนกลุ่มหรือชุมชน ดูตัวอย่างโครงการอบรมนักแปลการละครที่อังกฤษสิที่เค้ารับสมัครเป็นคณะ หรืออย่างในออลท่าเองที่กลุ่มนักแปลไบผอคได้ตั้งกรุ๊ปแชทขึ้นมา ก็เป็นการสร้างชุมชนไว้ปรับทุกข์แลกเปลี่ยนความรู้สึกและพัฒนาทักษะวิชาชีพไปด้วย เสมือนเป็นเมนเท่อของกันและกันก็ว่าได้

ผู้นำสนทนาคนหนึ่งเสริมว่า เออนะ เราน่าจะลองคิดโครงการอบรมเมนเท่อดูไหม ให้เมนเท่อมาแชร์เทคนิคกันเหมือนนักจิตบำบัด มีทั้งล้อมวง ทั้งจับคู่แลกเปลี่ยน

เมนเท่อที่พูดไปแล้วครั้งหนึ่งพูดเสริมว่าผมเคยต้องเลือกระหว่างคนที่มั่นใจได้ว่าจะมีผลงานตีพิมพ์ตามมาแน่แต่เคยได้โอกาสทำนองนี้มาก่อนแล้ว กับคนที่มีแวว แต่ 50/50 ว่าจะออกมาอีท่าไหน ก็เป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจ

เมนเท่ออีกคนหนึ่งติงว่าก็จริงอยู่ที่ควรขยายโอกาสออกไปอีก เก้าอี้เมนเท่อก็ควรหมุนไปเรื่อยๆ เพราะเราแต่ละคนรสนิยมไม่เหมือนกัน และก็จริงอีกที่มันมักจะมีมากกว่าหนึ่งคนเสมอที่สมควรได้ ตัวเองก็ส่งอีเมลไปหาคนที่ชวดเหมือนกัน แต่ขอสวมบทเป็นฝ่ายค้านนะ ว่ามันจะขยายไปได้ถึงไหนกันเชียว ใครจะทำไหว สุดท้ายถ้าจะรับหมด เราก็กลับมาที่จุดเริ่มต้นป่ะ ส่วนของตัวเองตอนที่เลือกก็มีสองคนที่สูสีกัน เกณฑ์ที่เป็นไทเบรกตัดสินผู้ชนะคืออันไหนที่ตัวเองจะเป็นประโยชน์ได้มากกว่า (เป็นประโยชน์ต่ออะไรนะ เมนที่สงสัย—ต่อเมนที่ ต่อวงการ หรือต่อสังคม?) สำนวนว่าฟ้าไม่เคยผ่าที่เดียวสองครั้ง แต่นี่เมนเท่อแปลจากภาษาไทย แล้วยังได้เมนที่ที่แปลจากภาษาไทยด้วย

ใช่แล้ว เมนเท่อที่พูดคนสุดท้ายนี้คือมุ่ย คำถามที่ว่าฉันได้โอกาสนี้เพราะเป็นคนชาติเดียวกันรึเปล่านั้น ฉันเคยถามมุ่ยไปแล้วตั้งแต่นัดแรกที่เจอกันตัวต่อตัวทางซูมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ (นัดเจอกันเดือนละครั้ง ครั้งละ ๑.๕-๓ ชั่วโมง) มุ่ยเล่ากระบวนการคัดเลือกให้ฟังว่า สำหรับอันที่ไม่จำกัดภาษาจะมีผู้สมัครเข้ามามาก เจ้าหน้าที่ออลท่าจึงจะช่วยกรองให้ก่อน แล้วหมายใบสมัครที่ใช้ได้ด้วยรูปดาวปะหน้า จากสี่สิบกว่าใบ มีที่ได้ดาวอยู่สิบใบ มุ่ยเห็นของฉันได้ดาวด้วยก็ดีใจ สุดท้ายมุ่ยเลือกเหลือสองคนที่คุณภาพพอกัน เกือบจะเลือกอีกคนหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าฉันคือตัวเลือกที่ใช่ เพราะฉะนั้น โน ยูไม่ได้ชนะเพราะเป็นคนไทย ยูสบายใจได้

กลับมาที่โต๊ะกลม ผู้ร่วมสนทนาอีกคนหนึ่งซึ่งไม่รู้ว่าเป็นเมนเท่อไหมแต่ดูจากสีผมและสีหน้าก็รู้ทันทีว่าอาวุโสเปิดปากเบรคว่า ที่ว่ามาก็ดีทั้งนั้นแหละค่ะ แต่เงินสปอนเซอร์จะหามาจากไหนไม่ทราบ อย่าลืมว่าโครงการพวกนี้ต้องมีสปอนเซอร์ก่อน (ข้อนี้ตรงตามที่ผู้ก่อตั้งโครงการ แอลิสัน แชเร็ต ได้เล่าให้ฟัง เมื่อปี 2015 หรือแปดปีที่แล้ว นางเป็นสมาชิกใหม่ในคณะผู้บริหารสมาคม ได้เสนอต่อคณะว่าควรมีโครงการอบรมนักแปลเกิดใหม่เหมือนอย่าง National Centre for Writing ที่สหราชอาณาจักรบ้าง คำตอบที่ได้ก็คือ ไอเดียดี แต่จงไปหาสปอนเซอร์มาจ้า นางก็กระเสือกกระสนไปหามาจนได้ทั้งเงินและพี่เลี้ยงสำหรับภาษาฝรั่งเศส กาตาลา และโปแลนด์อย่างละที่ในปีแรก)

เมนเท่อคนหนึ่งสะท้อนว่า ที่ตัวเองได้เป็นเมนเท่อ กระทั่งที่ได้ทุนแปลหนังสือหลายครั้งที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่มีแบ็คเป็นกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ ถ้าไม่มีเงินจากโปแลนด์ ก็คงไม่มีอะไรเลย และที่โปแลนด์ให้ก็คงไม่ใช่เพราะน้ำใจอันดีงามอย่างเพียวๆอยู่แล้ว แต่ยังไงเราก็มีเงื่อนไขกับสปอนเซอร์ตลอดว่าเขาไม่มีสิทธิ์เลือกพี่เลี้ยง หนังสือ หรือนักแปลที่จะได้เข้าโครงการ

เมนเท่อคนหนึ่งหันไปถามเมนเท่ออีกคนว่า แล้วตำแหน่งที่ไม่จำกัดภาษาของไบผอคล่ะ สปอนเซอร์คือกลุ่มไบผอคของออลท่าใช่มั้ย คนถูกถามตอบว่าของปีนี้ไม่ใช่ พวกเราเพิ่งระดมทุนกันเองสำหรับปีที่จะถึงนี้

เมนที่ที่นั่งฟังอยู่อยากรู้แต่ไม่ได้ถามออกไปว่า แล้วของปีนี้ล่ะใครออกตังค์บ้าง ระหว่างเรียบเรียงบันทึกการประชุมนี้ถึงได้ไปไล่ดูรายนามผู้สนับสนุน Non-language-specific BIPOC mentorships สองปีที่ผ่านมา นับได้ทั้งหมด ๘๘ คน แทบทั้งหมดเป็นนักแปลและบรรณาธิการทุกสีผิวลงขันกันเอง ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวซึ่งไม่แปลกเพราะอัตราส่วนคนขาวในวงการนี้สูงมากอยู่แล้ว ที่สะดุดคือมีเมนเท่อร่วมโต๊ะกลมอยู่ในรายนามตั้งสามคนแหนะ

เมื่อรุ่นหนึ่งใกล้จบ รุ่นถัดไปก็เปิดรับสมัคร โครงการอบรมนักแปลของออลท่าปีหน้ามีเก้าอี้เพิ่มมากว่าเท่าตัว จากแปดเป็นสิบเจ็ด กว่าครึ่งมาจากสปอนเซอร์รายใหญ่ในนาม SALT: South Asian Literature in Translation เปิดรับเมนที่แปลภาษาบังลา ๑ ฮินดี ๑ มาลายาลัม ๑ เนปาล ๑ ปัญจาบ ๑ ทามิฬ ๑ อูรดู ๑ และบทกวีจากภาษาใดก็ได้ในเอเชียใต้ ๑ ส่วนที่เหลือมีภาษาเกาหลี ๒ กาตาลา ๑ ญี่ปุ่น ๑ โปแลนด์ ๑ สวีเดน ๑ วรรณกรรมจากไต้หวัน ๑ จากควีเบ็ค ๑ เก้าอี้ไบผอคยังอยู่ (แต่ไม่ได้อยู่กับมุ่ยแล้ว มันสลับกลับไปหาเมนเท่อหน้าเดิมคนหนึ่ง) ที่หายไปคือเก้าอี้ดัตช์และ—อนิจจา—เก้าอี้ไม่จำกัดภาษาไม่จำกัดอัตลักษณ์นักแปล

นับเป็นปีทองของเอเชียใต้ที่ผงาดขึ้นมายิ่งกว่าเอเชียตะวันออก แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราก็ไม่น้อยหน้า ล่าสุดกลุ่ม the seams ของนักแปลวรรณกรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภาษาอังกฤษ เพิ่งประกาศผู้ชนะเข้าร่วมโครงการอบรมนักแปลเกิดใหม่ปีแรก ผู้จัดเปิดเผยว่ามีผู้สมัคร ๔๖ ราย จากภาษาเวียดนาม ไทย ทมิฬ มาเล ชวา อินโดนีเซีย อีโลกาโน ฮินดี ฟิลิปิโน จีน และชาบากาโน ที่น่าสนใจคือนอกจากประกาศผู้ชนะที่บังเอิญเป็นนักโทษการเมืองแล้ว ยังประกาศผู้(ไม่)ได้(รางวัล)รองชนะสองอันดับด้วย โดยผู้จัดหมายเหตุว่า “เป็นการตัดสินใจที่ยากมาก ฉะนั้นเราจึงตัดสินใจบอกชื่อผู้เข้ารอบสุดท้ายด้วย!” ราวกับเป็นการบอกว่า สู้ต่อไปนะว่าที่เมนที่!

A Seat at the Table

หากค้นคำว่า “BIPOC” ในบล็อกข่าวสารของออลท่า จะพบว่าคำนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรกช่วงต้นปี 2021 ในแถลงการณ์หลังเกิดวิวาทะเกี่ยวกับการเลือกผู้แปลผลงานของอแมนดา กอร์มัน กวีหญิงผิวดำรุ่นเยาว์ผู้โด่งดังจากการแสดงสดในพิธีเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน เรื่องเริ่มขึ้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อมีผู้เขียนคอลัมน์ท้วงติงการที่สำนักพิมพ์ผู้ชนะประมูลสิทธิแปลบทกวีของกอร์มันเป็นภาษาดัตช์เลือกผู้แปลที่เป็นนักเขียนผิวขาวดาวรุ่งมือรางวัลที่ไม่มีประสบการณ์การแปลมาก่อน ทั้งที่ในโลกภาษาดัตช์ก็มีหลายคนที่เป็นกวีแสดงสดเพศหญิงผิวดำรุ่นเยาว์เหมือนกอร์มันที่น่าจะเหมาะสมกว่า ผู้เขียนคอลัมน์ตั้งคำถามต่อการเชิญคนที่กำลังเนื้อหอมในวงการมาแปลงานของคนเนื้อหอมอีกคนที่ดูเหมือนจะเป็นไปเพื่อทวีคูณเกียรติภูมิและยอดขาย แทนที่จะใช้โอกาสนี้อำนวยให้คนอื่นได้ผุดได้เกิดบ้าง

เมื่อปรากฏว่าผู้แปลที่ถูกพาดพิงขอถอนตัว ท่านผู้อ่านน่าจะเดาได้ว่าวิวาทะที่ตามมานั้นเป็นเช่นไร ประเด็นที่คนกลุ่มใหญ่หยิบไปโวยคือข้อเสนอโดยนัยที่ว่าคนแปลควรมีอัตลักษณ์หรือประสบการณ์ร่วมกับคนเขียน เหล่านักแปลหลากชาติหลายภาษาดาหน้าออกมาถล่มแนวคิดนี้ บ้างก็ผลักตรรกะไปสุดทางเช่นว่าถ้างั้นคนที่จะแปลพรุสต์ได้ดีก็ต้องเคยลิ้มรสขนมมาเดอแลนมาก่อนเท่านั้นสิ หรือถ้างั้นฉันก็ไม่มีสิทธิ์แปลเชคสเปียร์สิเพราะฉันไม่มีอัตลักษณ์อะไรร่วมกับเขาเลย บ้างก็เตือนว่าถ้าพยายาม “กันที่” แบบนี้ไปเรื่อยๆมันจะกลับกลายเป็นการกักกันที่ทางของชนกลุ่มน้อยให้ทำแต่เรื่องของกลุ่มตัวเองจนไม่ได้ผุดได้เกิดในวงกว้าง บ้างก็โยงเข้ากับแคนเซิ่ลคัลเจ้อ ว่านี่ไง พิษภัยของลัทธิการเมืองที่เอาอัตลักษณ์นำจนบ่อนทำลายหลักการพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ

แถลงการณ์ของออลท่าเองก็แตะประเด็นนี้ แต่เป็นการแตะเพื่อจะก้าวข้ามไป:

คำถามที่ว่าอัตลักษณ์ควรหรือไม่ควรเป็นปัจจัยตัดสินว่าใครแปลใครได้นั้นเป็นการตีกรอบประเด็นอย่างผิดๆ ออลท่าเชื่อว่าถ้านักแปลรู้สึกว่าตนมีสิทธิแปลเฉพาะผู้ที่ตนมีอัตลักษณ์ร่วมบางอย่าง นั่นจะสร้างความเสียหายแก่การแปลวรรณกรรมและวิชาชีพนักแปลวรรณกรรม […] การอ้างความชอบธรรมที่ตั้งอยู่บนการจับคู่อัตลักษณ์อย่างง่ายๆจะเป็นปัญหาแน่ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้

ในทรรศนะของเรา ปัญหาขั้นพื้นฐานที่วิวาทะนี้เผยออกมาคือภาวะขาดแคลนนักแปลผิวดำและนักแปลผิวสีอื่นๆ อันมีต้นเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติในการศึกษาและการพิมพ์ที่ซ้ำรอยเป็นแพทเทิร์นมายาวนาน แพทเทิร์นเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงโอกาสของพวกเขาเหล่านี้เมื่อเทียบกับนักแปลผิวขาว โดยมิพักต้องพูดถึงเกณฑ์การเข้าถึงโอกาสที่ในอดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบันถูกตีเส้นในแบบที่เอาคนขาวเป็นศูนย์กลาง นั่นได้สร้างความเสียหายแก่วิชาชีพนักแปลวรรณกรรมและการแปลวรรณกรรม ในเมื่อความเหลื่อมล้ำที่แผ่ซ่านทนนานด้านการเข้าถึงยังคงมีอยู่สำหรับผู้มีสิทธิจะกลายเป็นนักแปลจำนวนมากมายมหาศาล

สังเกตว่าแถลงการณ์นี้ใช้ไวยากรณ์แยกแยะประเด็น เรื่องที่ออลท่ามองว่าหลงประเด็นนั้นแถลงการณ์ใช้รูปประโยคสมมุติ มีคำว่า “จะ” (would be) นำหน้า ในขณะที่เรื่องที่ออลท่ามองว่าเข้าประเด็นใช้รูปประโยคบอกเล่าข้อเท็จจริง (is) ไวยากรณ์จึงลำดับความสำคัญไปในตัวว่า ตราบใดที่ปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งมีมายาวนานยังคงมีอยู่อย่างเข้มข้น อีกปัญหาหนึ่งก็ยังเป็นเพียงแนวโน้มหรือถ้ามีอยู่ก็ไม่นับเป็นประเด็น

ที่ว่ามานี้คงช่วยสาธกได้ว่าทำไมเขาจึงคิดกันที่ให้นักแปล BIPOC ปีนั้นเองที่พวกเขาลงขันกันจนเปิดตำแหน่งอบรมนักแปลไบผอคขึ้นมาได้สำเร็จ รุ่นแรกเปิดรับสมัครปี 2021 อบรมปี 2022 ตามด้วยรุ่นที่สองที่มุ่ยได้รับเชิญเป็นพี่เลี้ยง

แต่จะเรียกว่ากันที่ก็ไม่ถูกนัก เรียกว่าเปิดที่เพิ่มน่าจะถูกกว่า แถลงการณ์ของออลท่าสางประเด็นสำคัญเสร็จแล้วก็บอกว่าตัวเองได้มีมาตรการบรรเทาภาวะขาดแคลนอย่างไรบ้าง  เริ่มตั้งแต่ปี 2016 ที่ก่อตั้งทุนเดินทาง “Peter K. Jansen Memorial Travel Fellowship” ปีละ ๑,๐๐๐ เหรียญดอลล่าร์ ให้สำหรับนักแปลผิวสีหรือนักแปลที่แปลจากภาษาพลัดถิ่นด้อยโอกาสหรือภาษาไร้รัฐ

ย้อนนึกถึงตอนอ่านหนังสือโปรแกรมการประชุมแล้วสะดุดว่าทำไมเด็กทุนเดินทางคนหนึ่งถึงมีชื่อตำแหน่งยาวเฟื้อยกว่าอีกสี่คนที่ถูกเรียกว่า “แทรเว่ลเฟลโล่” เฉยๆ พอได้รู้จักมักคุ้นกับคนนั้นเลยถามไปอย่างไม่รู้อีโหน่อีเหน่ว่าทำไมชื่อทุนเธอถึงยาวกว่าคนอื่นล่ะ เธอเป็นเฟลโล่คนละชั้นกับคนอื่นเหรอ เขาก็บอกอ้าวเหรอ ไม่รู้เลย (อ้าว) แล้วมุ่ยที่ฟังอยู่ก็โฉบเข้ามากู้สถานการณ์ บอกว่ามันไม่ต่างกันหรอก ตัวเองเคยเป็นกรรมการคัดเลือกเฟลโล่เมื่อสามปีที่แล้ว คนสมัครเข้ามาเยอะมาก ที่ผ่านการคัดเลือกก็คือผ่านเกณฑ์เดียวกัน เราแค่จัดที่คนผ่านให้ลงล็อกที่นั่งเท่านั้น

ฉันกลับมาคิดก็รู้สึกพิศวงต่อความขัดแย้งในตัวเองของมาตรการขยายโอกาสนี้ ที่ในแง่หนึ่งดูโดดเด่นเป็นราคาคุยขององค์กร แต่ถ้าเข้ามาเป็นคนที่ได้รับโอกาสนั้นเอง องค์กรกลับจะไม่ขับเน้นให้เห็นมันเพื่อยืนยันว่าไม่มีใครด้อยกว่าใคร ว่าเธอไม่ใช่ token หรือชนกลุ่มน้อยที่ถูกรับเข้ามาเป็นไม้ประดับความก้าวหน้าขององค์กร ทั้งนี้ความขัดแย้งในตัวเองไม่ได้แปลว่ามีอะไรปลอมเสมอไป แต่อาจแปลว่าจริงทั้งสองแง่ ทั้งการต้องสร้างทัศนวิสัยและการต้องบดบังมัน เมื่อสองความจริงขัดฝืนกันเอง มันจึงได้ผูกกันเป็นปมให้คิดคลาย แทนที่จะเป็นแค่ความปลอมให้เปิดโปง

สำนวนภาษาอังกฤษเปรียบโอกาสเป็นที่นั่ง อำนาจเป็นโต๊ะ การมีที่นั่งร่วมโต๊ะหมายถึงการเข้าถึงโอกาสมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในองค์กรหรือสังคม การต่อโต๊ะให้ใหญ่พอสำหรับทุกคนคงเป็นจุดหมายในอุดมคติของนโยบายขยายโอกาส แต่ในเมื่อยังทำอย่างนั้นไม่ได้หรือไม่มีวันทำอย่างนั้นได้ ก็ต่อเก้าอี้ใหม่สักตัวสองตัวไปก่อน หรือบางคนอาจท้วงว่าทำไมต้องใช้โต๊ะ ชาวบ้านเขาปูเสื่อล้อมวงคุยกันกับพื้นก็เวิร์คได้แถมมีพื้นที่เขยิบให้คนเข้ามาแจมได้มากกว่า หรืออีกบางคนอาจเลือกสละที่นั่งของตัวเองให้คนอื่นได้เข้ามาร่วมโต๊ะแทน เช่นนักเขียนดาวรุ่งชาวดัตช์คนนั้น เขาไม่ได้ถอนตัวเพราะกลัวถูกถล่ม (อาจไม่มีอะไรต้องกลัวเพราะโดนหางเลขไปเรียบร้อยแล้ว) แต่เพราะความเข้าอกเข้าใจในประเด็น ถอนตัวเพื่อหลีกทางให้คนอื่นที่มีแสงน้อยกว่าแต่อาจแปลบทกวีของอแมนดา กอร์มันได้ดีกว่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลด้านทักษะการแปล ประสบการณ์แสดงกวีปากเปล่า หรือแม้กระทั่งอัตลักษณ์ร่วมทางสังคมที่ส่งผลต่อการอ่านที่ส่งผลต่อการเลือกคำแปล

แต่อย่างที่ออลท่าเองก็อดพูดไม่ได้ มันจะต้องไม่ใช่การจับคู่อัตลักษณ์อย่างมักง่าย ผู้จัดพิมพ์ดัตช์เผยภายหลังว่าอแมนดา กอร์มันเลือกคนนี้เป็นผู้แปลด้วยตัวเธอเอง เหตุเพราะเขาเป็นนักเขียนรุ่นเยาว์ที่พบความสำเร็จตั้งแต่เนิ่นๆเหมือนตัวเธอ เป็นอัตลักษณ์ร่วมแบบที่ไม่ถูกนับเป็นอัตลักษณ์ร่วมเพราะไม่ตอบโจทย์ผู้วิจารณ์ อีกอย่างที่น่าสนใจคือผู้ถอนตัวแสดงความรู้สึกต่อวิวาทะนี้ออกมาในรูปบทกวี บทกวีนั้นถูกแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษโดยเฉพาะในหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดี้ยน ฉันนำมาแปลในที่นี้เพื่อจะลองตรึกตรองไปกับมัน ข้อเขียนซึ่งแสดง solidarity หรือสำนึกเป็นปึกแผ่นโดยไม่ใช้สรรพนามเอกพจน์บุรุษที่หนึ่ง และเต็มไปด้วยความรู้สึกซับซ้อนสองจิตสองใจเกินกว่าจะลดรูปเป็นแถลงการณ์

ทุกสิ่งที่พออาศัย

เขียนโดยมาเรียเค ลูคัส ไรเนเวลด์ แปลอังกฤษโดยมิเชล ฮัตชิสัน

ไม่เคยหายไปหรอกความขัดฝืนนั้น การยื้อยุดในก้นบึ้งนั้นระหว่างเสียใจกับสุขใจ

ทั้งไม่หันไปขึ้นแท่นเทศนา เข้าหาพระคำที่ชี้นำว่าอย่างไหนถูก

อย่างไหนผิด ไม่เคยสันหลังยาวจนไม่ลุกยืนขึ้นประจัญ

กับทุกการกลั่นแกล้งรังแก ต่อสู้กับการจับคนใส่กล่องด้วยกำปั้น

ที่ชู ต่อกรประดาการไม่รู้ที่อื้ออึงอยู่ข้างในหัวเธอ

บรรเทาความไร้น้ำยาด้วยแดงก่ำในดวงตาเธอ และ

ประกาศเส้นทางของตัวเธอเองเสมอด้วยอหังการกล้าแข็ง

ดูใครบางคนถูกทุบตีจนเละ เห็นหยดสุดท้าย

ของศักดิ์ศรีซึมไหลจากร่าง เธอกำลังต่อกร

กับศาสตร์การวัดกะโหลกศีรษะ ต่อกรกับการใช้ไพร่ทาส

ต่อกรกับทุกการกักกันของมนุษยชาติ

ไม่เคยหายไปหรอกความขัดฝืนนั้น เมล็ดพันธุ์การดิ้นรนให้เป็นอิสระนั้น

ต้นกำเนิดของเธอกำลังแต่งชุดไว้ทุกข์ ต้นกำเนิดของเธอโชคดี

มันน่ะมีทางหนี ไม่ใช่ว่าประสบการณ์ของเธอพ้องกัน

ไม่ใช่ว่าเธอสังวรอยู่เสมอว่าหญ้าอีกฝั่งอาจจะไม่ได้

เขียวเท่าและอาจเหี่ยวเฉา — ประเด็นอยู่ที่ว่าเธอรู้จักเอา

ใจอีกคนมาใส่ใจเธอไหม เห็นทะเลโศกเบื้องหลังดวงตา

ของใครอีกคนไหม อภิมหาพิโรธนั่นที่ลุกลาม เธอ

อยากพูดว่าเธออาจจะไม่ได้เข้าใจไปซะทุกเรื่อง

ว่าเธอไม่ได้สื่ออารมณ์ได้ถูกจุดไปหมดอยู่แล้ว แต่ว่า

เธอรู้สึกถึงมันอยู่ ใช่ เธอรู้สึกถึงมัน แม้ความต่างจะเป็นช่องว่างก็ตามที

ไม่เคยหายไปหรอกความขัดฝืนนั่นแต่กระนั้นก็รู้จักตระหนักได้เมื่อมัน

ไม่ใช่ที่ของเธอ เมื่อเธอต้องคุกเข่าลงเพื่อกวีบทหนึ่งเพราะ

ใครอีกคนสามารถทำให้มันพออาศัยได้มากกว่า ซึ่งไม่ใช่

ด้วยความไม่เต็มใจ ไม่ใช่ด้วยรันทดท้อ แต่เพราะเธอรู้

ความเหลื่อมล้ำมีมากมายนัก ผู้คนยังคงถูกเลือกปฏิบัติ

ที่เธอต้องการคือภราดรภาพ เธอต้องการกำปั้นเดียว และอาจมือ

เธอยังไม่มีพลังเพียงพอ หรืออาจเธอควรจับมือของอีกคนเสียก่อน

ด้วยความปรองดอง เธอมีความจำเป็นแรงกล้าที่จะรู้สึกถึงความหวัง

ว่าเธอกำลังทำอะไรซักอย่างให้โลกดีขึ้น แต่เธอต้องไม่

ลืมนะ: จงยืนขึ้นอีกครั้งหลังคุกเข่าและพร้อมกันยืดหลังของเราให้ตรง

ท่านคิดเหมือนที่ฉันคิดไหมว่าสมัยนี้เป็นนักแปลคนขาวชักอยู่ยาก ว่าแต่นักแปลไม่ขาวล่ะ เขาอยู่กันยังไง ข้อนี้ช้างผอคคิดสงสัย โดยหารู้ไม่ว่ามันกำลังจะกลายไปเป็นพวกเขาในไม่ช้า

 

Kinship

โต๊ะที่หกที่มันเข้าฟังเป็นเสวนาโต๊ะยาวหัวข้อ “จัดการกับความละอายใจกับภาษาต้นทาง/ภาษามรดก” (Dealing with Shame and Source/Heritage Languages) มีผู้พูดสามคน ผู้ฟังยี่สิบกว่าคน น่าจะเป็นวงเสวนาที่พูดเรื่องอัตลักษณ์และอารมณ์ความรู้สึกมากที่สุดในงานประชุม ผู้พูดคนหนึ่งถึงกับตั้งข้อสังเกตในช่วงท้ายว่า “ทำไมความละอายใจต้องไหลเวียนอยู่แต่กับพวกเรา ทำไมพวกเราต้องเป็นฝ่ายแบกความรู้สึกนี้” คำว่าพวกเราในที่นี้นอกจากจะหมายถึงเหล่านักแปลมีปมทุกสีผิวในห้องแล้ว ยังน่าจะหมายถึงชนกลุ่มน้อยผิวสีโดยทั่วไปด้วยซึ่งผู้พูดเรียกอย่างพลิกไพล่ว่า global majority หรือชนส่วนใหญ่ของโลก

ผู้พูดผู้ดำเนินรายการเป็นนักแต่งละครเวทีที่แปลงานจากภาษาโรมาเนีย โรมาเนียเป็นภาษาของพ่อที่อพยพมาอยู่อเมริกาและไม่เคยสอนเธอให้พูดในวัยเด็ก เพิ่งจะมาเรียนก็เมื่อจบการศึกษาด้านการละครแล้วและอยากแปลละครจากภาษาโรมาเนีย ผู้พูดอีกคนเป็นนักเขียนที่แปลงานจากภาษาฝรั่งเศสและภาษาจีนกลาง พ่อแม่พูดภาษาจีนกวางตุ้งเป็นภาษาแรก แต่พูดจีนกลางที่บ้าน และสนับสนุนให้เธอเรียนพิเศษภาษาจีนกลางอย่างเข้มข้นตลอดวัยเด็กและวัยรุ่นแต่เธอไม่เคยเปิดรับ จนกระทั่งเริ่มมาสนใจแปลวรรณกรรมจีนจึงต้องอาศัยอ่านผ่านปุ่มออกเสียงตัวอักษรในกูเกิ้ลทรานสเลต และมีผู้พูดอีกคนเป็นกวีและบรรณาธิการที่แปลงานจากภาษาฟิลิปิโน ใช้ชีวิตวัยเด็กและวัยรุ่นที่ฟิลิปปินส์ ภาษาบีโคลเป็นภาษาภูมิภาคบ้านเกิดที่เธอพอพูดฟังได้ แต่ครั้นอยากจะลองแปลวรรณกรรมบีโคลบ้างก็พบว่าตนอ่านพจนานุกรมภาษาบีโคลไม่ออก

ความละอายใจที่แต่ละคนพูดถึงมีหลายระดับ ตั้งแต่ความเงียบงำที่สืบทอดมาจากบุพการีที่ทิ้งภาษาบ้านเกิดเพื่อสร้างตัวและสร้างตัวตนในสังคมใหม่ ความอึดอัดจากการถูกมองเป็นเอเลี่ยนในห้องเรียนเพราะเป็นลูกครึ่งที่พูดภาษาประจำชาติไม่ได้เหมือนเพื่อน ความหน้าแตกที่พูดกับคนขับรถรับจ้างในภาษาถิ่นแล้วเขาตอบกลับมาเป็นภาษากลาง ความขายหน้าที่ถูกญาติๆหัวเราะใส่เพราะพูดภาษามรดกไม่ชัด จนถึงชนักติดหลังว่าทำไมตัวเองตอนเป็นเด็กไม่รู้จักเปิดรับภาษาที่อยู่รายรอบตัว

แบ่งปันเรื่องราวแล้ว ผู้ดำเนินรายการก็บอกว่าเรื่องอดีตเรากลับไปแก้ไขไม่ได้ สำคัญว่าเราจัดการกับมันยังไง เธอบอกว่าการแปลเปรียบเหมือนยาถอนพิษสำหรับเธอ เมื่อได้ลงมือแปลละครคนอื่นเพื่อมากำกับ (ซึ่งกว่าจะได้ทำก็หลังเรียนจบ เพราะตอนเรียนต้องแต่งเองเท่านั้น ไม่มีคำว่าการแปลในสารบบของการเขียน) โดยขอความช่วยเหลือด้านภาษาจากพ่ออีกแรงหนึ่ง ก็พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อเปลี่ยนเป็นความเท่าเทียมกัน เป็นสองคนที่พยายามคิดคำแปลที่ใช่ไปด้วยกัน

ผู้พูดคนหนึ่งบอกว่ามันไม่ใช่ความผิดของเราตอนเด็กเลย การต้องหาทางไปให้ได้ภายใต้ระบบอาณานิคมนั้นเป็นเรื่องเกินวิสัยเด็ก แล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราไม่เชี่ยวชาญในมรดกวรรณคดีของเราเท่าปรมาจารย์นักแปลผิวขาว เพราะพวกเขาเข้าถึงมันผ่านสถาบันอุดมศึกษาที่มีทรัพยากรมากมาย แล้วก็ไม่รู้ทำไมการรู้ภาษาอังกฤษถึงแปลว่าเป็นเลิศ คิดถึงเพื่อนๆสมัยมัธยมที่ฟิลิปปินส์หลายคนที่เก่งกว่าตัวเองทุกวิชา แต่เพียงเพราะพวกเขาไม่ถนัดภาษาอังกฤษ กลับเป็นตัวเธอที่ถูกมองว่าเก่งกว่าใคร

เนื่องจากมีผู้พูดไม่กี่คน จึงเหลือเวลาเต็มที่ให้ผู้ฟังได้แลกเปลี่ยนความเห็น ซึ่งก็ไม่พ้นการแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคน คงไม่เกินจริงนักถ้าจะเรียกว่าเป็นกรุ๊ปเธราปี่หรือล้อมวงบำบัดปม ช้างผอคก็ชูงวงไปกับเขาด้วย โดยตอบประเด็นปัญหาที่ว่าทำไมความละอายใจนี้จึงมักพัวพันกับเครือญาติ มันพ่นน้ำออกมาว่ามันเคยคิดว่าความภาคภูมิใจจะเป็นยาถอนพิษความละอาย เคยปักป้ายอย่างครึกโครมว่าได้ทวงคืนภาษามรดกที่ฟังออกแต่พูดไม่ชัดผ่านโปรเจ็คการแปลเล่มหนึ่ง แต่จนถึงวันนี้มันก็พบว่าตัวเองยังไม่ยอมใช้สำเนียงบ้านเกิดพูด ปีนี้มันไปเยี่ยมบ้านนักเขียนคนหนึ่งซึ่งอยู่ในจังหวัดที่มีสำเนียงที่ว่ากันว่าไพเราะ ส่วนจังหวัดของมันซึ่งอยู่ติดกันมีสำเนียงที่ว่ากันว่าห้วน ระหว่างการสัมภาษณ์หลายชั่วโมง มันหลงสำเนียงตลอด พยายามพูดตามสำเนียงนักเขียนไปสักพักก็จะวนกลับเข้าสำเนียงตัวเอง จนญาตินักเขียนคนหนึ่งที่นั่งฟังอยู่ล้อสำเนียงเพี้ยนๆของมันขึ้นมาความยาวหลายประโยค แต่น่าประหลาดที่มันไม่เสียอกเสียใจที่โดนล้อ อาจเป็นได้ว่ามันไม่ใช่เด็กอีกต่อไปแล้ว หรืออาจเป็นได้ว่ามันมีสถานะของนักแปลพยุงไว้ไม่ให้ความอายกลายเป็นความทุกข์ มันถูกเรียกว่าอาจารย์ทั้งๆที่มันไม่ได้เป็นอาจารย์ ไม่ใช่ว่าความอายหายเป็นปลิดทิ้ง แต่มันไม่ทุกข์กับความอายนั้นแล้ว ก่อนหน้านี้มันเคยเป็นทุกข์เวลานักเขียนรุ่นพ่อรุ่นพี่จับผิดภาษาของมัน แต่แล้วมันก็ได้ค้นพบว่ามีนักอ่านรุ่นเดียวกันที่โตมากับปมคล้ายๆกันที่เขาเข้าใจและไม่ถือสาความไม่สมบูรณ์แบบ มันจึงได้กลับมาคิดว่า เอ๊ะ หรือว่าคนรุ่นพ่อรุ่นพี่พวกนั้นไม่ใช่บรรพชนของมัน หรือว่าหมู่เหล่าที่แท้จริงของมันคือคนอื่น พอคิดได้เช่นนั้นมันจึงได้คลายปม การมีตำหนิไม่ใช่แง่ลบ ตำหนิอาจเป็นเสน่ห์ก็ได้ ถึงมันจะยังอธิบายไม่ได้ว่าทำไมมันถึงไม่ยอมพูดสำเนียงบ้านเกิดตัวเอง แต่เสียงหัวเราะตอบสำเนียงพันทางและชุดคำศัพท์จับฉ่ายของมันก็ไม่ถูกอ่านเป็นการเยาะเย้ยอีกต่อไป ทว่าเป็นความบันเทิงใจในความน่ารักของความพยายามอันแสนเพี้ยนและความเพี้ยนอันแสนพยายาม

ช้างผอครู้สึกโล่งที่ได้พูดออกไป และโล่งยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเห็นว่ามันพูดภาษาเดียวกันกับคนในห้อง บางคนหัวเราะ บางคนนิ่งฟังแล้วพรั่งพรูเรื่องของตัวเองบ้างว่ามาจากเขตแคว้นที่ว่ากันว่าสำเนียงตลกเหมือนกัน บางคนเดินมาพูดกับมันหลังจบเสวนาด้วยอากัปกิริยาที่มันอ่านว่า เราคือญาติกัน

เขียนเป็นโคลงห้าพัฒนาได้ว่า

ฉันช้างเผือก ผิวสี

ขึ้นเวที เปล่งถ้อย

มองไปมี สะดุด

ครึ่งข้อนร้อย ญาติฉัน!

ลอยอยู่ได้ไม่นาน มันก็ต้องกลับสู่โลกสีเทาๆ เมื่อได้รับอีเมลหัวข้อ “Statement in solidarity with Palestine” จากเพื่อนร่วมโครงการอบรมนักแปลเกิดใหม่

Palestine

โต๊ะหนึ่งที่นักแปลเกิดใหม่ไม่ได้เข้าร่วม แต่รู้มาอีกทีว่าเต็มไปด้วยความอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่น่าพิศมัยยิ่งกว่าความละอาย คือโต๊ะประชุมบอร์ดผู้บริหารออลท่าที่มีการลงมติว่าองค์กรจะไม่ออกแถลงการณ์ใดๆเกี่ยวกับการเมืองโลก สมาชิกบอร์ดมีอยู่สิบห้าคน ไม่รู้ว่ามีกี่คนที่เห็นด้วยกับมตินี้ แต่รู้ว่าในหมู่ผู้คัดค้านมีน้ำตา ประชุมบ่ายวันพุธ ค่ำวันนั้นข่าวสะพัด ถึงวันพฤหัสมตินี้ก็เป็นที่รู้ทั่วกัน

วันพฤหัสศุกร์เสาร์ นักแปลหลายคนรวมตัวกันตั้งโต๊ะพิเศษเวลาเที่ยงวันเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์สนับสนุนเพื่อนร่วมวิชาชีพและประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่กำลังโดนล้างบางด้วยอาวุธโจมตีจากภาษีประชาชนอเมริกันหลังกลุ่มฮามาสบุกฆ่าคนไปกว่าสองพันในอิสราเอล ตัวเลขผู้เสียชีวิตในกาซาในขณะนั้นเกินหกพันหรือบางสำนักก็แตะหลักหมื่น แต่นักแปลไบผอคเกิดใหม่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง มันไม่ได้ไป

จริงๆแล้ว ความเคลื่อนไหวนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่หลายสัปดาห์ก่อนงานประชุม  ในห้องแชทกลุ่มนักแปลไบผอคของออลท่า หลายคนบ่นว่าออลท่าไม่ยอมออกแถลงการณ์ประณามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลย ซ้ำร้ายบางองค์กรยังปิดกั้นการสนทนาหาทางช่วยเหลือนักแปลในกาซาอีก คนหนึ่งขุดดูถึงต้นปีก่อนก็พบการส่งเสียงถามทางทวิตเตอร์ไปยังบอร์ดผู้บริหารออลท่าให้ออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับการที่รัสเซียรุกรานยูเครนเช่นกัน คนหนึ่งเสริมว่าถ้าจำไม่ผิดรองประธานในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งหลังล่ารายชื่อลงแถลงการณ์ประณามการรุกรานของรัสเซีย เธอหวังจะออกแถลงการณ์ในนามออลท่า แต่สุดท้ายก็เอาลงเว็บไซต์ตัวเอง คนหนึ่งตัดสินใจบอยคอตงานประชุม หลายคนส่งอีเมลกดดันบอร์ดผู้บริหาร นักแปลไบผอคเกิดใหม่ได้แต่ดูอยู่ห่างๆ ไม่อยากแสดงจุดยืน แต่สุดท้ายก็จวนตัว

เพื่อนนักแปลเกิดใหม่สองคนแจ้งพวกเราที่เหลือว่าจะมีการแถลงความเป็นปึกแผ่นกับปาเลสไตน์ระหว่างช่วงอ่านงานแปล และชวนให้พวกเราที่เหลือร่วมด้วยช่วยกันแถลงบ้าง—ถ้าสนใจ—เพื่อส่งเสียงไปยังออลท่า ร่างคำแถลงที่พวกเธอส่งมามีอยู่ว่า

อยากจะขอเวลาสักเล็กน้อยเพื่อแสดงความเป็นปึกแผ่นกับอุดมการณ์ปาเลสไตน์และเพื่อแสดงความผิดหวังที่องค์กรวรรณกรรมจำนวนมากไม่ออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา พวกเราเรียกร้องให้สมาชิกออลท่าทุกท่านพิจารณาว่าค่านิยมที่เรายึดถือนั้นสะท้อนอยู่หรือถูกขัดฝืนอยู่อย่างไรในขณะเวลานี้ และขอให้ท่านลงนามในแถลงการณ์ความเป็นปึกแผ่นที่ออกมาแล้วโดยนักแปลไบผอคและพันธมิตร โปรดมาร่วมกับพวกเราที่ห้องคอปเปอร์ในเวลาเที่ยงวันเพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมที่เราทำได้ทั้งในและนอกออลท่า และโปรดโทรหาผู้แทนของท่านต่อไป ขอบคุณค่ะ

อ่านแล้วมันหงุดหงิด คันปากอยากถามว่าอะไรคือ “อุดมการณ์ปาเลสไตน์” (the Palestinian cause—ผู้ร่างคงรับเอาวลีนี้มาจากแถลงการณ์ของ Writers Against the War on Gaza โดยไม่อธิบาย) แล้วค่านิยมที่เรายึดถือ (our stated values) นี่มีอะไรบ้าง แล้วทำไมไม่เอ่ยชื่อองค์กรวรรณกรรมที่จะคอลเอ๊าท์ จะด่าทำไมไม่ด่าตรงๆ ทำไมต้อง passive aggressive แบบฝากวรั้ยหั้ยคิสด้วยวะ แล้วจะให้กูโทรหาส.ส.ศรีสะเกษเขตหนึ่งเรื่องอะไรไม่ทราบ

แต่ถึงจะร่างแถลงการณ์มาดีอย่างไร นักแปลไบผอคเกิดใหม่ก็คงไม่เอาด้วยอยู่ดี มันไม่มีสำนึกเป็นปึกแผ่นกับชาวปาเลสไตน์ขนาดนั้น มันมัวแต่คิดถึงคนบ้านเดียวกันที่ไปเป็นแรงงานที่นั่นแล้วเป็นศพกลับบ้าน มันไม่รู้สึกเหมือนตอนที่มันเป็นนักเขียนเกิดใหม่ ที่เดบิวต์นามปากกาด้วยการลงชื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายหมิ่นกษัตริย์กับเหล่านักเขียนไทยอีกหลายร้อยคน สมัยนั้นมันรู้สึกว่าการลงชื่อในนามคนทำงานวรรณกรรมมีพลังตรงที่มันสวนกระแสพี่ใหญ่ในวงการ ซึ่งจะว่าไปมันก็เป็นความรู้สึกคล้ายๆกันมั้ยกับสิ่งที่เพื่อนนักแปลเกิดใหม่ของมันรู้สึกในตอนนี้ การเรียกร้องให้ออลท่าพิจารณาตัวเองแบบ passive aggressive ก็อาจเหมือนกับมันมั้ยที่เคยลงนามไปเพื่อให้เป็นที่ปรากฏโดยไม่ได้หวังความเปลี่ยนแปลงจากระบบ เพราะถึงพวกเขาจะกลับตัวกลับใจในสักวันหนึ่ง มันก็สายไปแล้ว

แต่ถ้าจะไม่พูดอะไรเลย มันจะไม่ใช่แค่ดูอิ๊กนอแร้นหรือเมินเฉย แต่จะถูกเข้าใจผิดว่าอยู่ฝั่งอิสราเอลด้วยหรือเปล่า นักแปลเกิดใหม่จึงไม่อาจปล่อยผ่าน แม้จะหวงแหนเวลาแปดนาทีที่ได้รับสำหรับอ่านงานแปลของตัวเองเพียงไร

มันส่งอีเมลตอบไปว่า

ขอบคุณนะที่จัดตั้งสิ่งนี้ บังเอิญพอดีว่าสิ่งที่ฉันเตรียมจะอ่านนั้นลงรายละเอียดเรื่องการพลัดถิ่นในประวัติศาสตร์ของชนชาติหนึ่ง—ชนชาติฉัน ฉันจะไม่แถลงการณ์ความเป็นปึกแผ่น แต่จะคิดหาทางแทรกข้อความสักสองสามบรรทัดในบทนำเพื่อแถลงว่าการพลัดถิ่นอันนั้นกลายมาพัวพันกับการยึดครองปาเลสไตน์อย่างไร ดังที่มีคนไทยภาคอีสานหลักหมื่นไปเป็นคนงานเกษตรที่นั่น ไม่นานมานี้หลายสิบคนกลายเป็นผู้เสียชีวิต หลายสิบเป็นตัวประกัน และหลายพันยังอยู่ต่อ[อย่างรู้เห็นเป็นใจ?]เพื่อค่าแรงขั้นสร้างตัวได้

อีเมลเพื่อนส่งมาเย็นวันศุกร์ กำหนดการอ่านงานแปลสายวันรุ่งขึ้น กลางดึกคืนนั้นหลังร่วมสนุกกับกิจกรรมการละครนอกสถานที่ มันแก้บทนำของตัวเองในคอมพิวเตอร์ล็อบบี้โรงแรม กว่าจะเสร็จก็ตีหนึ่งเศษ คืนนั้นนักแปลเกิดใหม่นอนหลับอย่างโล่งไปที

แต่นักแปลเกิดใหม่อีกคนผวาตื่นตอนตีสี่จากฝันร้ายเรื่องแถลงการณ์ นักแปลเกิดใหม่อีกคนเขียนแถลงการณ์สั้นๆตรงหัวมุมของสคริปต์อ่านแต่ก็สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่อ่าน นักแปลเกิดใหม่อีกคนโล่งใจเมื่อได้ทราบจากหน้างานว่าจะไม่มีการอัดวิดีโอ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการโดนล่าแม่มดหรือขึ้นบัญชีดำเพราะการแสดงออก(ของเพื่อน)ดังที่กำลังเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมมหาวิทยาลัยและสื่อมวลชน

ปรากฏว่ามีแค่สองคนต้นคิดที่ลงเอยแถลงการณ์ก่อนอ่านงานของตัวเอง ส่วนคนที่เขียนเรื่องปาเลสไตน์แทรกลงไปในบทนำ ก็คิดหนักว่าจะแฟร์ไหมถ้าใช้คำว่าปาเลสไตน์เฉยๆโดยไม่เอ่ยชื่ออิสราเอลราวกับไม่ยอมรับการมีอยู่ สุดท้ายมันแก้คำว่า Palestine เป็น Palestinian lands

 

การอ่านผลงานของนักแปลเกิดใหม่ทุกคนผ่านไปด้วยดี แต่ก็ทำให้ซึ้งว่าการเป็นอนุชนเกิดใหม่ใหญ่ทีหลังมันยากตรงนี้นี่เอง ตรงที่นักแปลโนบอดี้ที่ได้รับโอกาสให้แจ้งเกิดในวงการต้องปรับตัวเข้ากับธรรมเนียมการเคลื่อนไหวของพี่ๆที่ตกทอดมาถึงเพื่อนๆ—การเคลื่อนไหวประเภทที่อำนวยให้เกิดที่นั่งสำหรับไบผอคนี่แหละ การอ่านแถลงการณ์ของสองนักแปลเกิดใหม่เรียกเสียงปรบมืออันดังจากผู้ฟัง โดยเฉพาะผู้ฟังหน้าห้องหลายคนที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจัดงานประชุม แต่หลังงานจบก็ได้รับรายงานจากสามีว่าคนที่นั่งข้างๆเขาในแถวที่สี่ถอนใจเสียงดังหลังคนแรกอ่านแถลงการณ์ แล้วก็ลุกออกจากห้องไปเมื่อคนนั้นอ่านงานแปลจบ

 

Not Who We Pen, But How We Pen

จบการอบรมและงานประชุมแล้ว ก็พอจะตอบตัวเองได้ว่า

เพิ่นมุ่งเอื้อ สีผิว อยู่พ่อ

ใช่เดบิวต์ เด็กเส้น

พาเข้าคิว ต่างหาก ล่ะเฮย

ใช่โท้คเข้น ประดับเขา

แต่ก็ยังมีคำถามที่ค้างคา หนึ่งในนั้นคือคำถามว่านักแปลอย่างฉันกับมุ่ยมีอะไรต่างไปอย่างสำคัญจากนักแปลวรรณกรรมไทยที่เป็นคนขาว ตลอดงานประชุม มุ่ยได้พาฉันไปฝากเนื้อฝากตัวกับคนนั้นคนนี้ที่มุ่ยเคยร่วมงานและมีประสบการณ์ที่ดีด้วย บรรณาธิการคนหนึ่งในนั้นบอกว่ารอคนอย่างมุ่ยมานานมาก ก่อนที่จะมีมุ่ย คนที่แปลวรรณกรรมไทยก็เห็นมีแต่คนที่ทรีทมันเป็นภาษาชนกลุ่มน้อย ว่าแล้วเขาก็หันมาหาฉันว่ายินดีรับพิจารณางานที่ฉันแปลอย่างยิ่ง และเมื่อมุ่ยสำทับไปว่าฉันแปลจากอีสานด้วย เขาก็ตอบอย่างใจดีว่า ยิ่งดีใหญ่

เดินจากมาแล้วก็หันไปถามมุ่ยว่า นักแปลวรรณกรรมที่ทรีทภาษาไทยเป็นภาษาชนกลุ่มน้อยหมายความว่ายังไง แล้วเรามีอะไรที่ต่าง มุ่ยบอกว่าคงหมายถึงนักแปลที่นักเขียนจะรู้สึกโชคดีที่ได้รับความกรุณาหยิบงานไปแปล ไม่เหมือนเราที่เป็นฝ่ายรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้แปลงานนักเขียนของเรา ฉันฟังแล้วก็ยังข้องใจ เพราะเราก็ยังมีฟังก์ชั่นเป็นคนเฝ้าประตูอยู่ดีอย่างที่มุ่ยเคยบอกฉันเอง ถึงเราจะรู้สึกว่ามันเป็นการลักลอบขนหนังสือข้ามภาษามากกว่าการเปิดประตูให้ใครสักคนผ่านเข้าไป และนักเขียนคนที่เราเลือกแปลก็ยังรู้สึกโชคดีได้อยู่ดี เหมือนโครงการนี้ที่ลงเอยกับจารุพัฒน์คนเดียว แม้เราจะรู้สึกโชคดีที่สุดที่ได้แปลงานของนักเขียนที่เราชื่นชมก็ตาม มุ่ยตอบว่าก็จริง แต่เราหลุดออกมาเป็นกึ่งๆคนพลัดถิ่น มันเลยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงการที่มีสถานะแบบนั้น

คุยกันไม่ทันจบก็ต้องไปเข้าฟังปาฐกถาช่วงถัดไป ฉันนำประเด็นนี้มาถกกับสามีต่อระหว่างเขียนบันทึกนี้ เขาตีความว่ามันเป็นจริตที่ต่างไป ท่าทีแบบที่บรรณาธิการคนนั้นไม่นิยมคือการตัดสินคุณค่าวรรณกรรมในฐานะตัวแทนของชาติหรือประวัติศาสตร์ เหมือนตั้งตัวเป็นผู้กอบกู้อารยธรรมชายขอบ พาคนพื้นเมืองขึ้นเวทีโลก ในขณะที่จริตอีกแบบคือเลือกงานแปลด้วยความพ้องกันพอดีข้ามภาษาวัฒนธรรม และตัดสินคุณค่าผ่าน aesthetic หรือสุนทรียะ ฉันฟังแล้วก็พอจะเห็นความแตกต่างมากขึ้น

สะดุดกับคำว่าสุนทรียะ มันเป็นจุดขายสำคัญจริงๆของวรรณกรรมแปลอังกฤษสมัยนี้ ได้ฟังบรรณาธิการคนเดียวกันนี้พูดในโต๊ะยาวโต๊ะหนึ่งว่าความเปลี่ยนแปลงสำคัญของที่ทางวรรณกรรมแปลในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมาคือมันขยับขยายจากวารสารสำนักพิมพ์วิชาการไปสู่นิตยสารวรรณกรรมที่เปิดรับงานแปลมากขึ้น ซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ก็มาพร้อมกับความใส่ใจมากขึ้นต่อ craft หรือความประณีตของงานแปลในตัวมันเอง ไม่ใช่แปลเพื่อทำความเข้าใจบริบทวัฒนธรรมสังคมประวัติศาสตร์หรือการเมืองอีกที ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคุณแน่นอนต่อนักแปลที่ซีเรียสกับวรรณกรรมจนเรียกตัวเองอย่างเจาะจงว่านักแปลวรรณกรรม แต่ผลพวงหนึ่งของการยึดความประณีตเป็นสำคัญที่ฉันสัมผัสได้จากการนั่งฟังช่วงผู้พิมพ์แนะนำตัวหน้าไมค์ (Publishers Open Mic) คือแนวโน้มที่ผู้เฝ้าประตูวรรณกรรมแปลจำนวนไม่น้อยมีลักษณะ “craft-forward” คือยึดความหมายโดยแคบของความประณีตทำนอง “ชั้นเชิงวรรณศิลป์” จนละเลยความประณีตของข้อเขียนที่สามารถเข้าถึงความรู้สึกโดยเสมือนไม่มีชั้นเชิงหรือโดยไม่ได้มีความทะเยอทะยานที่จะเป็นวรรณกรรม แนวโน้มนี้จึงบีบช่องประตูให้แคบลงสำหรับงานเขียนอย่าง รักเอย ของรสมาลิน ตั้งนพกุล ที่ถ้านักแปลจะยังดันทุรังดันให้เข้า ก็จะต้องชักแม่น้ำทั้งห้ามาแสดงให้เข้าตากรรมการว่ามันมีคุณค่าทางวรรณกรรมอย่างไร

ซึ่งบางทีไม่ใช่แค่แพ็คเกจจิ้ง แต่เริ่มตั้งแต่การแปลตัวบท ฉันได้ซึมซับรับวิชาจากมุ่ยว่าเราแปลให้มัน “น่าอ่าน” ขึ้นได้ ในสภาพที่งานเขียนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ผ่านการบรรณาธิการต้นฉบับอย่างเข้มข้น นักแปลก็แอบเนียนทำหน้าที่บรรณาธิการไปด้วยได้ระหว่างแปล อย่างที่ได้หัดแปลเรื่องสั้นของจารุพัฒน์ เพชราเวช การแก้ไขสำนวนแปลแต่ละรอบไม่ใช่เพียงแก้คำผิดหรือตรวจจับ Thai-isms ว่ามีตรงไหนบ้างที่เราแปลตามถ้อยคำสำนวนหรือตามโครงสร้างไวยากรณ์ต้นฉบับแล้วมันไม่สื่อ แต่ยังต้องหลับตาคิดใหม่—บางครั้งก็หลับตาจริงๆ เพื่อเปิดหูเปิดตาของอีกภาษา—ว่าจะเขียนยังไงให้โดน วางประโยคยังไงให้น่าติดตาม ถ้าคิดคำได้สละสลวยกว่าต้นฉบับก็จัดเลย พรรณนาฉากให้คมชัดขึ้นได้ก็ทำเลย ตอนไหนย้วยทั้งที่เรื่องกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มก็รวบได้เลย ขอแค่ทำทั้งหมดนี้อย่างเบามือก็พอ

(เราจะไม่ค่อยได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้เวลาแปลหนังสือคลาสสิค แต่ความจริงมีอยู่ว่ากว่าที่หนังสือสักเล่มจะถูกนักอ่านในอีกภาษาหนึ่งนับว่าคลาสสิคหรือ “ต้องอ่าน” มันก็มักต้องผ่านการแปลให้ “น่าอ่าน” ทำนองนี้มาก่อน)

นั่นคือ นโยบายขยายโอกาสไม่ได้แปลว่าจะหย่อนทางคุณภาพได้ แต่คุณภาพนี้ก็มีพลวัตอยู่ เดี๋ยวนี้ในโลกภาษาอังกฤษเริ่มมีสำนักพิมพ์สวิงมาต้องการคนไม่ขาวเป็นผู้แปลหนังสือจากภาษาของตัวเอง ทั้งคนไม่ขาวที่เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษและคนไม่ขาวที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาอังกฤษ วาระคือเพื่อต่อกรกับจารีตการแปลที่ยึดความขาวเป็นศูนย์กลาง แสดงว่าในสมัยนี้สำนวนแปลกและสำเนียงแปร่งของนักแปลก็นับเป็นเสน่ห์ได้ ตราบใดที่นักแปลคนนั้นใช้ภาษาได้ต้องตาต้องใจ

เขียนเป็นลำดับผังได้ว่า อ่านแล้วต้องตา — รู้สึกต้องใจ — ฟังไม่แปร่งหูอีกต่อไป

ระหว่างใส่ซับไตเติ้ลวิดีโอที่ตัวเองอ่านงานแปล ได้ยินเสียงตัวเองจากคอมพิวเตอร์แล้วตกใจในไทยแอ๊คเซ่น ไม่รู้มาก่อนว่าสำเนียงอเมริกันแบบมีวรรณยุกต์ของเรามันยัง “ชัด” ขนาดนั้น นึกว่าขัดสีฉวีวรรณจนดูเป็นเจ้าของภาษาแล้ว

พอฟังไปถึงช่วงที่ตัวเองออกเสียงอีสานในต้นฉบับ ยิ่งพิศวงเข้าไปใหญ่ เพราะรู้สึกว่าแอ๊คเซ่นอุบล (อ่านว่า “อูบ๋น”) ของตัวเอง “คือ” กว่าที่คิด (คือแปลว่าเหมือน+เข้าท่า) ทั้งๆที่ตอนอ่านรู้สึกไม่มั่นใจ เกร็งว่าจะตกม้าตายอีกเมื่อพยายามใช้สำเนียงอันแสนไพเราะของบ้านเกิดจารุพัฒน์

ภาษาที่คล่องกลับไม่คือ ภาษาที่ไม่คล่องกลับคือ มิน่าหละ หลังอ่านจบถึงได้รับคำชมจากชายอาวุโสผิวขาวคนหนึ่งว่าภาษาอังกฤษของเรา magnificent ตามด้วย at home เพราะสำเนียงต่างด้าวมันสวนทางกับสำนวนนี่เอง

แต่ถึงที่สุด นักแปลไม่ว่าจะผิวสีไหน เป็นหรือไม่เป็นเจ้าของภาษาใด สำเนียงต่างด้าวหรือเปล่า กว่าจะผ่านประตูเข้าไปได้ก็ยังต้องวัดกันที่ผลงานที่ปรากฏเป็นตัวหนังสืออยู่ดี คำถามที่ว่าใครกันที่เราเป็น ต่างจากนักแปลคนขาวตรงไหน อาจตอบได้ดีกว่าถ้าตั้งใหม่ให้ชัดขึ้นว่า ยังไงกันที่เรา pen หรือรจนา ต่างจากให้คนอื่นมาทำตรงไหนบ้าง

ในพิธีประกาศรางวัลท้ายงานประชุม ผู้ชนะรางวัลใหญ่ในหมวดร้อยแก้วคือนวนิยายจากภาษาเวียดนาม นับเป็นครั้งแรกนับแต่ก่อตั้งรางวัลเมื่อปี 1998 ที่ผู้ชนะคือหนังสือที่มาจากภาษาในภูมิภาคของเรา ที่น่าสนใจกว่านั้นคือผู้แปลก็เป็นคนเวียดนาม (ดู สุนทรพจน์รับรางวัลของผู้แปล)

รางวัลนี้ของออลท่ามีชื่อว่ารางวัลการแปลแห่งชาติ เป็นรางวัลเดียวในสหรัฐอเมริกาที่คณะกรรมการดูต้นฉบับประกอบการพิจารณา เกณฑ์คือให้รางวัลกับนักแปลที่ “ทำคุณูปการโดดเด่นให้แก่วรรณกรรมในภาษาอังกฤษด้วยการสร้างสรรค์พลังศิลป์ของหนังสือเพชรน้ำเอกขึ้นใหม่ด้วยทักษะชั้นครู” เมื่อได้อ่านเกณฑ์นี้ก็ทำให้ได้คิดว่าการที่นักแปลแปลจากภาษาของตัวเองนั้นอาจเอื้ออำนวยพอดีให้ขุมพลังที่ฝังลึกของหนังสือเล่มหนึ่งเผยออกมาได้ดีกว่าในภาษาอังกฤษ เพราะ ๑ นักแปลที่เป็นเจ้าของภาษาต้นฉบับเข้าถึงความหมายบางอย่างได้ลึกกว่าเพราะโตมาในแวดล้อมภาษานั้น จึงมีสิทธิ์ถ่ายทอดออกมาได้มีมิติกว่านักแปลที่เรียนภาษานั้นๆจากสถานศึกษาเป็นหลัก หรือเพราะ ๒ นักแปลที่เป็นเจ้าของภาษาต้นฉบับมีความผูกพันบางอย่างกับต้นฉบับที่ทำให้เขาพยายามอย่างยิ่งที่จะทำซ้ำสำนวนที่คนอื่นคิดไม่ถึงว่าจะทำได้ตามธรรมเนียมการแปลให้ลื่นไหลไร้รอยต่อเข้าไว้ หาทางดิ้นไปจนเกิดเป็นลีลาภาษาแปลกใหม่ที่เข้าถึงได้เมื่อผู้อ่านเปิดใจรับความแปร่ง

แต่จะรู้ได้แน่ก็ต้องลงแรงอ่านหนังสือ จึงสรุปกับตัวเองว่าแทนที่จะหมกมุ่นมองที่ที่ใครได้นั่ง จะเป็นประโยชน์กว่าถ้าหันไปศึกษาผลงานแต่ละชิ้นของเขาที่วางอยู่แล้วบนโต๊ะ ถ้าเป็นหนังสือชื่อฉันแปลบ้าง อันดับแรกก็อยากให้คนอ่านมัน—โดยไม่ต้องอ่านฉัน—เช่นกัน

 

Epilogue: At Gate

บนเครื่องบินจากเมืองทูซอน ฉันเหลือบเห็นคนนั่งแถวถัดไปข้างหน้าหลายคนมีหนังสือในมือ จากหกที่นั่งมีตั้งสี่คนที่กำลังอ่านหนังสือเล่ม ไม่รู้ว่ามีกี่เล่มในนั้นเป็นวรรณกรรมแปล คิดแล้วก็ฝันหวานว่าสักวันหนึ่งหนังสือของจารุพัฒน์ที่ตัวเองแปลจะไปอยู่บนตักนักอ่านในเครื่องบินบ้าง

พอผล็อยหลับ ปรากฏว่าฝันร้ายว่านี่อาจเป็นโปรเจ็คสุดท้ายที่มันจะได้ผ่านประตู ผวาตื่นมาพร้อมความอื้ออึงในหูขณะเครื่องบินกำลังลดระดับ พอเครื่องลงจอดก็แชทถึงมุ่ย เล่าความฝันให้ฟังเป็นภาษาอังกฤษ

เพิ่งฝันร้ายบนเครื่องบินเรื่องแผนเสนอโปรเจ็คกับสำนักพิมพ์ ในรถตู้ที่อื้ออึง ยูหันมาพูดกับไอจากแถวถัดไปข้างหน้าว่า “นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่สารของยูคือ ‘ประเทศไทยมีอะไรมากกว่าภาพจำเดิมๆ’ หรือ ‘มีความเป็นอีสานมากกว่าหนึ่ง’ ไม่มีใครหรอกนะที่อ่านวรรณกรรมไทยเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าการท่องเที่ยวเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวมากกว่าต่อประเทศ” ฟังฟีดแบ็คนี้แล้วไอก็รู้สึกถึงความหนักอึ้งของไบผอคไม้ประดับที่จะหมดอายุในไม่ช้าถ้าไม่รีบวิวัฒนาการ

(อีโมจิขำน้ำตาเล็ดสี่ตัว)

ไอตื่นมาก็งงว่าอะไรวะ ตอนนี้ไอก็ไม่ได้นำเสนออย่างนั้นซักกะหน่อย

มุ่ยตอบกลับมา

(อีโมจิขำน้ำตาเล็ด)

ไอมีความกลัวนี้ตลอดในช่วงแรก แบบกลัวว่าคนจะบอกว่าชั้นอ่านหนังสือไทยหนึ่งเล่มแล้ว เป็นอันว่าไม่ต้องอ่านอีก ไอเลยรู้สึกว่าเราต้องสื่อเสมอถึงความซับซ้อนในตัวนักเขียนของเราอย่างที่พวกเขาคู่ควร

แล้วก็จำไว้นะ: การเป็นไม้ประดับนั่นไม่ใช่อะไรนอกจากสายตาคนอื่นที่มองมา.