“ความรักอันเริงแรง” ของอัศนี พลจันทร

ขณะนั้นปืนกลลั่นรัวขึ้นทางฝั่งแม่น้ำซีกโน้น คนหลบกันราบลงกับพื้นดินแต่ไม่ทัน เด็กคนหนึ่งถูกปืนลงไปดิ้นร้องครวญคราง ข้าพเจ้าออกวิ่งตื๋อไปทางตลาดใหม่ เห็นรถยนต์กำลังจะออกไปอยู่หลายคัน“คอยด้วย!” ข้าพเจ้าเรียก“คอยไม่ได้!”“นี่ผู้พิพากษาสั่งนะ!” ข้าพเจ้าเอ็ดตะโรไม่มีใครฟังเสียง รถยนต์เหล่านั้นออกได้ก็แล่นอ้าวไป ไม่มีใครกลัวใคร ข้าพเจ้าชักเดือดปุดๆ ขึ้นมา เสียงปืนดังอยู่ไม่ขาดระยะ ความกลัวมีมากกว่าความโมโห ข้าพเจ้าวิ่งตามรถคันสุดท้ายไปอย่างไม่คิดชีวิต…“โธ่, ไม่รับกันด้วย” ข้าพเจ้าตัดพ้อ“ใครจะรู้” คนหนึ่งพูดเสียงดุๆ “ให้มาด้วยก็ดีแล้ว หรือจะลง?”กวนโมโหจริง แต่ข้าพเจ้าก็ดับโมโหเสียได้ พยายามมองดูตัวผู้พูด“อ้อ คุณพระน่ะเอง” ข้าพเจ้าทัก “นี่จะไปไหนกันครับ?”“ไม่รู้” พระพิชัยชาวชน ข้าหลวงประจำจังหวัด ตอบห้วนๆ “จะไปด้วยกันหรือไม่ไปเล่า?”“โธ่, ไปซีครับ”ข้าพเจ้ามองดู ทั้งคันรถนั้น นอกจากคนขับรถแล้ว ก็ล้วนแต่เปนครอบครัวของข้าหลวงประจำจังหวัดทั้งนั้น กลางรถบันทุกกะสอบที่มีของใส่เต็มหลายใบจนดูแน่นอัดไปหมดทั้งคัน…ขณะที่กำลังกินอาหารกันอยู่อย่างอร่อยนั้น หัวหน้าสถานีตำรวจวิ่งหน้าตื่นมารายงานว่า ได้รับโทรศัพท์ว่าทหารญี่ปุ่นเข้ายึดตัวเมืองปัตตานีไว้ได้หมดแล้ว และกำลังตามหาตัวคุณพระกันอยู่“แกบอกเขาไปหรือเปล่าว่าฉันอยู่นี่?” คุณพระตะคอกถาม“เปล่าครับ”“ดีแล้ว…นี่นายอำเภอ จัดราษฎรเกณฑ์ที่มีปืนมาสมทบตำรวจ ให้ตำรวจไปสกัดอยู่ที่ถนน อย่าปล่อยให้ญี่ปุ่นรุกล้ำผ่านเข้ามาได้เป็นอันขาด สู้ตายตามคำสั่งรัฐบาล เข้าใจไหม?”หัวหน้าสถานีตำรวจวิ่งไปทันที นายอำเภอก็ออกไปเกณฑ์ราษฎรอย่างขมีขมัน อยู่ทางนี้คุณพระสั่งให้ราษฎรช่วยกันขนของกลับขึ้นบรรทุกรถตามเดิม เร่งลูกเมียขึ้นรถไม่ขาดปาก รวมทั้งเร่งข้าพเจ้าด้วย

(กุลิศ อินทุศักดิ์, “ความรักอันเริงแรง”, นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 1, หน้า 197-200)


ฉากความโกลาหลขณะที่ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่จังหวัดปัตตานีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้น “ความรักอันเริงแรง” ซึ่งผู้อ่าน สยามสมัยรายสัปดาห์ ในเดือนมกราคม 2495 คงรู้สึกได้ถึงอารมณ์ขันขื่นและสะท้อนใจกับพิษภัยของสงคราม ที่มาจากความขลาดเขลาของเหล่าข้าราชการระดับสูงมากเสียยิ่งกว่าจากการต่อสู้กับผู้บุกรุก

หน้าปก สยามสมัยรายสัปดาห์ ฉบับที่ตีพิมพ์เรื่องสั้น “ความรักอันเริงแรง”


กุลิศ อินทุศักดิ์ (นามปากกาของอัศนี พลจันทร) เองก็คงไม่ได้เขียนเรื่องสั้นเรื่องนี้เพียงเพื่อจะทบทวนความทรงจำของสังคม เพราะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ก็เข้าสู่ภาวะสงครามเย็นที่โลกแบ่งแยกเป็นสองค่ายอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมืองในประเทศไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ขณะนั้นอัศนีกับเพื่อนพ้องในขบวนการสันติภาพ กำลังคัดค้านรัฐบาลไม่ให้ส่งทหารเข้าร่วมในสงครามเกาหลีอย่างถึงที่สุด จนกระทั่งในปลายปี ผู้คนที่ร่วมกันรณรงค์มากกว่า 100 คน ถูกรัฐบาลจับกุมเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495

การคัดค้านสงครามอย่างสุดจิตใจเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะไม่ว่าจะด้วยชะตาชีวิต หรือเรื่องบังเอิญก็ตามที อัศนีผู้ถือกำเนิดในปี 2461 ที่จังหวัดราชบุรี ได้เข้าสู่ชีวิตวัยรุ่นและเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ต่อมาเมื่อเขาเรียนจบธรรมศาสตร์บัณฑิต และกำลังเริ่มต้นชีวิตการงานในปี 2484 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็พลันอุบัติขึ้น ซ้ำร้ายเขายังถูกสั่งย้ายไปเป็นอัยการผู้ช่วยที่ปัตตานีในปีถัดมา

แต่เคราะห์กรรมคราวนั้นกลับทำให้เขาได้รู้เห็นโดยตรงถึงความทุกข์ยากในยามสงคราม และเขายิ่งเข้าใจถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในบ้านเมืองอย่างลึกซึ้ง

วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2489 หนังสือพิมพ์ สยามนิกร ตีพิมพ์กาพย์กลอน “นายผีคือใคร?” ในคอลัมน์ “วรรณมาลา” (หน้า 3) นายผีบอกว่าเขาไม่ได้ชื่อผี แต่คือพระศิวะผู้เป็นนายของผี และเขาอาสามาแก้เก่งภูตผีในสังคม

“นายผีคือใคร?” ตีพิมพ์ใน สยามนิกร, 8 ธ.ค. 2489





นี่คือคำแถลงถึงภารกิจของเขาในวันครบ 5 ปีของเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ปัตตานี (และอันที่จริงควรนับรวมกาพย์กลอน “อ.ส.ไหน?” ใน สยามนิกรเดือนถัดมา ซึ่งแยกแยะให้ผู้อ่านรู้ว่า นี่คือนามปากกาที่ใช้เขียนเรื่องชนมลายูมุสลิม) ซึ่งสอดคล้องกับที่อัศนีได้เริ่มเขียนงานอย่างสม่ำเสมออีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2489 นั้นแล้ว (หากไม่นับงานยุคแรกใน เอกชนรายสัปดาห์ ช่วงต้นปี 2484 ก่อนหน้าที่เขาจะเข้ารับราชการในกลางปีเดียวกันและเขียนงานน้อยลง)

และเขาจะเขียนงานอีกมากมายในทุกรูปแบบและในสิ่งพิมพ์อีกหลายฉบับนับจากนี้ไปจนถึงปลายปี 2495 ซึ่งเขาถูกคำสั่งจับตาย และตัดสินใจลาออกจากราชการในวันสิ้นปี เมื่อเขาอายุอยู่ในราว 34 ปี

หลังจากนั้น เรารู้กันว่า อัศนีเดินหน้าสู่การทำงานปฏิวัติอย่างเต็มตัว แม้ว่าเขาจะมีงานเขียนตามหนังสือพิมพ์อีกเป็นช่วงสั้นๆ ในระหว่างปี 2501-2503 และ “ความรักอันเริงแรง” ของ
อัศนีตั้งแต่ครั้งเป็นอัยการผู้ช่วยที่ปัตตานี ก็ได้ไปปักหลักบนฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน ซึ่งภายหลังจะแตกสลายลงในราวปี 2526 แต่
ขณะนั้นแม้อัศนีอยู่ในวัยเลยหกสิบแล้ว เขาก็ไม่เคยคลอนแคลนไปจากอุดมคติ นั่นคือ โครงการสร้างสังคมใหม่ซึ่งไร้ชนชั้น ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค และถือความยุติธรรมเป็นหลักการพื้นฐาน

“ความรักอันเริงแรง” เมื่อครั้งตีพิมพ์ใน สยามสมัยรายสัปดาห์ ล่าสุดรวบรวมตีพิมพ์ในหนังสือ นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 โดยสำนักพิมพ์อ่าน

“ความรักอันเริงแรง” ของอัศนี เราได้เห็นประจักษ์จากชีวิตและการงานของเขาแล้ว ซึ่งก็เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งฟาตีมะห์เคยเป็นฝ่ายอธิบายให้ผู้พิพากษากุลิศฟัง ดังนี้

ที่สถานีโคกโพธิ์วันนั้นมันช่างเต็มไปด้วยความพิพักพิพ่วนเสียนี่กะไรเลย บรรยากาศอึดอัดเหมือนอุ้มอยู่ด้วยหมอกควันอันหนาทึบ ข้าพเจ้ายังจำได้ดี เสียงหวูดรถไฟที่เปิดดังสนั่นนั้นประหนึ่งจะเฉือนเอาหัวใจของข้าพเจ้าให้ขาดออกเปนสองซีก ตีเมาะยังมีอาการโผเผเพราะเพิ่งหายป่วยใหม่ๆ หล่อนไม่ตายก็เพราะกะสุนปืนรอดอวัยวะที่สำคัญไปได้ ข้าพเจ้าหวังจะประคับประคองหล่อนไว้ให้ปลอดภัย จะช่วยบำรุงสุขภาพของหล่อนให้คืนดีโดยเร็ววัน แต่ต้องผิดหวัง เพราะความหัวดื้ออันไร้เดียงสาของหล่อนอยู่จนแล้วจนรอด “กุลิศ, เธอคิดไม่ออกหรอกว่า ทำไมหัวใจของฉันปวดร้าวถึงเพียงนี้” หล่อนพูดเบาๆ ที่สถานีรถไฟวันนั้น “ตราบใดที่ทหารญี่ปุ่นยังอยู่เต็มแผ่นดินไทย ฉันก็จะนิ่งอยู่ไม่ได้ ฉันจะเปนสุขก็ต่อเมื่อทหารญี่ปุ่นคนสุดท้ายไปพ้นแผ่นดินของเราผืนนี้แล้ว” “เธอมีใจอาฆาตเกินไป, ตีเมาะ, แต่ฉันก็เห็นใจเธอเพราะญี่ปุ่นยิงเธอบาดเจ็บมาก” “กุลิศเข้าใจผิดถนัด” หญิงสาวท้วง เงยหน้าขึ้นดูข้าพเจ้า “ฉันไม่มีจิตใจอาฆาตเช่นนั้น แต่ฉันทนเห็นเมืองไทยตกอยู่ในความครอบงำของศัตรูไม่ได้” “ใครบอกว่าศัตรู” ข้าพเจ้าท้วงบ้าง “มิตรต่างหาก มหามิตรด้วย เราตกลงเปนมิตรกันแล้ว…” “ตกลงอย่างนั้น ฉันรับรู้ไม่ได้ กุลิศ ฉันทนดูอำนาจญี่ปุ่นบนผืนแผ่นดินไทยไม่ได้จริงๆ” “พระท่านว่า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร” “ก็นั่นน่ะซี ฉันจึงว่าเธอคิดไม่ออกหรอก ว่าทำไมฉันจึงคิดสู้อย่างไม่หยุดยั้ง ความคิดของเราไม่เหมือนกัน” “เธอจะสู้เขายังไงไหว เปนผู้หญิง แล้วก็คนเดียว” หญิงสาวหัวเราะแค่นๆ “ผู้หญิง…ผู้หญิงอย่างฉันนี่แหละที่วันนั้นฆ่าญี่ปุ่นเสีย 4 คนกับมือ และถ้าวันนั้นเราไม่ถูกบังคับให้วางอาวุธ ถึงฉันจะตาย ก็คงได้ยิงอีกสัก 2 คนเปนอย่างน้อย ที่ว่าคนเดียวสู้ไม่ได้น่ะจริงล่ะ แต่เราก็ต้องไม่คนเดียวซี” “ใครเขาจะเอากะตีเมาะ เขากลัวกันทั้งนั้น” “คนอย่างกุลิศ แน่นอนเขากลัวกันทั้งนั้น แต่คนอย่างฉัน ไม่มีใครกลัวญี่ปุ่นเลย ด้วยเหตุนี้ฉันจึงต้องจากเธอไป ถ้าฉันทำการสำเร็จ เราก็จะได้พบกันใหม่” “เธอจะไปที่ไหน? และจะไปทำอะไร?” “อย่าให้ฉันบอกเลย รู้ไว้แต่ว่า ฉันไปหาพวกของฉันก็แล้วกัน” “เธอคิดในเรื่องไม่เปนเรื่อง เธอควรคิดถึงความรักที่มีต่อฉันมากกว่า” ข้าพเจ้าตัดพ้อ “กุลิศ” หญิงสาวพูดเสียงดัง “ฉันรักเธอและก็คงจะรักอยู่เช่นนี้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ความรักที่ฉันมีต่อเธอนั้น แม้มั่นคงก็ไม่มากมายเหมือนที่ฉันมีต่อชาติบ้านเมืองของฉัน ต่อประชาชนที่มีฐานะเช่นเดียวกับฉัน กุลิศที่รัก ความรักของเราเปนความรักตามธรรมชาติอันหนึ่งก็ถูก แต่มันก็ยังไม่ใช่ความรักอันเริงแรงแท้จริง ความรักอันหนักแน่นเหนือความรักในสิ่งอื่นและเปนความรักอันเริงแรงแท้จริงของบุคคลนั้น คือความรักที่มีต่อปิตุภูมิและชนชั้นของเรา แน่นอน เธออย่ากังวลใจเลยกุลิศ ฉันจะกลับมาหาเธออีกในเมื่ออิสสระภาพของบ้านเมืองเรามีมาแล้ว”

(เรื่องเดียวกัน,หน้า 203-205)


อัศนี พลจันทร บอกเราว่าหน้าตาเขาไม่น่าดู และยิ่งดูก็ยิ่งเหมือน “นกฮูกแห่งราตรีกาล” เรื่องนั้นก็ช่างเขาเถอะ

แต่ข้อที่ว่าเขามีชีวิตวัยหนุ่มอยู่ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในช่วงที่ทั้งคลุมเครือและขาดแคลนข้อมูลอย่างที่เห็นกันอยู่ การอ่านงานของเขาในฐานะเอกสารประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ที่เขียนด้วยปากกาของคนธรรมดาสามัญ แต่คัดง้างและต้านทานประวัติศาสตร์กระแสหลักตลอดมา จึงอาจจะน่าสนใจไม่ใช่น้อย

ใช่หรือไม่อย่างไร “ความรักอันเริงแรง” จะสาธิตให้เห็นเมื่อ “วันที่ 8 ธันวาคม” เวียนมาบรรจบอีกครั้ง

หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจสำนักพิมพ์อ่าน วันที่ 8 ธันวาคม 2561

เรื่องสั้น “ความรักอันเริงแรง” ตีพิมพ์ใน นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร ซึ่งสำนักพิมพ์อ่านจัดพิมพ์เป็นหนังสือลำดับที่ 8 ในโครงการอ่านนายผี ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือชุดนี้ได้ที่ https://readjournal.org/pocketbooks/naipheenithaanvol1/