“ในสมุดบันทึก” กับการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลา

ในสมุดบันทึก

ในสมุดบันทึก ฉันเคยบันทึกไว้
บทสนทนากับเพื่อนเก่า
ฉันเล่า ว่าสมัยราวแปดขวบนั้น
ฉันชอบดูดาวประกายพรึกตอนค่ำ
ดื่มด่ำ ชวนฝัน ชวนมุ่งมั่น
อธิษฐานว่าอะไรบ้างนั้นอย่ารู้เลย
ฉันอาย

เพื่อนฟังแล้วลอบถอนใจ
เขาว่า รู้ไหม ณ จุดที่เรายืนอยู่นี้
ไกลจากดวงดาวหลายพันปีแสง
แล้วไง ฉันถาม
ก็แปลว่าดาวที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้
ความจริงอาจแตกดับไปนานแล้ว

ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม
เพื่อจะรำลึกว่ากาลครั้งหนึ่งฉันเคยดูดาว
หรือเพื่อจะจำใส่หัว ว่าความจริงแล้ว อาจไม่มีดาว
หรือเพื่อจะไม่ลืมว่าเราจะรู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี

ว่าแต่เราจะมีดาวไว้ทำไม
กะจิ๊ดริดในสายตา
สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง
สว่างเพียงชี้นำหนทาง
แต่ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น
นางพรานเถื่อนคงได้แต่คว้าตะเกียงดุ่มเดินไป
ช่างขุนทองปะไร
มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง —

กลับไปนั่งจดจารให้เป็นที่รำลึกไว้
รำลึกว่ามันจะลืมรำลึกเสียมิได้
ว่าไม่ว่าถึงที่สุดใครจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร
ดาวฤกษ์เกิดมาเพื่อเป็นดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง, จำไว้
ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง

ครั้นหากนางพรานเถื่อนจะบันทึกสิ่งที่เคยเห็นบ้างอย่างคนไม่เขียนบันทึก
จะบันทึกอย่างไร

“พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว
ส่องฟากฟ้า…”

โอ๊ะ ไม่ใช่

“เห๊น, เห๊น”
จะเขียนยังไง?
สระเอ หอหีบ ไม้ตรี นอหนู
“เห๊น, เห๊น…”

หรือว่า “เห็น”
สระเอ หอหีบ ไม้ไต่คู้ นอหนู
“เห็น, เห็น…”

หรือว่า “เห้น”
สะเอ หอหีบ ไม้โท นอหนู

“เห้น, เห้น –
เห้นทรวงฟ้ากว้าง หมื่นดาวนั้น สำอาง วับวาว
แม้นเดือนสกาว ไม่ยอมให้ดาว ขาวเฉิดไฉไล
ถึงตัวฉัน มีสวรรค์ ลอยมาใกล้
เชิญฉันเป็นดาวใหม่
ฟ้ามาวอนไหว้
ไม่-เป็น-แล้ว-ดาว!”

แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร
รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย
หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?

อย่ากระนั้นเลย อย่างมากก็แค่ท่อนฮุกของทุกคนที่ฉันจะเขียนขึ้นใหม่
ปอดไม่ดี, ฉันเขียนแล้วท่องแทนร้องได้ไหม

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย
ครั้นผืนฟ้าใกล้ดับจวนลับมลาย
ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว
ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

ไอดา
6 ตุลา 59

ในการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง (อโนชา สุวิชากรพงศ์ ) รอบพิเศษเฉพาะแขกรับเชิญเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2559 เพื่อร่วมรำลึกวาระครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม

คุณอโนชาผู้กำกับฯ ได้ขอให้คุณไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการวารสารอ่าน ขึ้นไปอ่านบทกวีก่อนภาพยนตร์จะเริ่มฉาย โดยไม่ได้นัดแนะกันมาก่อนทั้งบทกวีชื่อ “ในสมุดบันทึก” ของไอดา และภาพยนตร์ ดาวคะนอง ของอโนชา ต่างนำเสนอประเด็นว่าด้วยความทรงจำเดือนตุลา ด้วยน้ำเสียง ลีลา และท่าทีที่ทั้งคารวะและวิพากษ์ไปพร้อมกัน

และที่พ้องกันอีกอย่างน่าประหลาดใจคือทั้งภาพยนตร์และบทกวีชิ้นนี้เล่นกับคำว่า “ดาว” ในฐานะรูปสัญญะล่องลอย/ว่างเปล่า/ (floating/empty signifier) ซึ่งอัดแน่นไปด้วยนัยยะเชิงอุดมการณ์ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้นได้อย่างซับซ้อนซ่อนเงื่อน

อาจเป็นเพราะทั้งคุณอโนชาและคุณไอดาต่างเป็นผู้หญิงร่วมรุ่นเดียวกัน ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการได้ยินได้ฟังเรื่องราวของขบวนการนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเล่าต่อๆ กันมาอย่างเงียบๆ ลับๆ ล่อๆ ก่อนจะกลายมาเป็นตำนาน “คนเดือนตุลา” อันลือลั่นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535

ตำนานที่ตัวละครจำนวนมากยังมีมีชีวิตโลดแล่นโดดเด่นอยู่ในสังคม และเป็นผู้หล่อเลี้ยงให้ตำนานดังกล่าวดูสูงส่ง ทอดเงาทะมึน บดบังและทาบทับเรื่องราวคนรุ่นอื่นๆ ทั้งก่อนหน้าและภายหลังพวกเขาจนแทบหมดสิ้น

ดังที่คุณไอดาได้เคยบรรยายความรู้สึกของคนรุ่นเธอต่อคนรุ่นเดือนตุลา โดยหยิบยืมคำพูดของวิลเลี่ยม ฟอล์กเนอร์ นักเขียนอเมริกันมาปรับใช้ว่า คนรุ่นเธอ

“เป็นรุ่นที่เกิดไม่เร็วพอที่จะทันร่วมกับเขา แต่เกิดไม่ช้าพอที่ไม่ต้องมาแบกรับอะไรที่เป็นของเขา เพราะฉะนั้น มันจึงเป็นภาวะที่มีแรงตึงเครียดบางอย่าง ในทางหนึ่งก็เคารพชื่นชมเห็นเป็นฮีโร่ ในทางหนึ่งก็ข้องใจมีปัญหาอึดอัดกับพวกเขา”

(จากคำอภิปรายในงาน เปิดตัวหนังสือ คำนำ ของ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ณ บ้านจิม ทอมป์สัน วันที่ 7 ตุลาคม 2559 สามารถค้นหาเพื่อรับฟังได้ทางยูทูบ)

หากจะต้องยืมคำพูดของฟอล์กเนอร์ในนวนิยายอีกเรื่องหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าบทกวีชิ้นนี้พยายามชี้ว่าคนเดือนตุลาเป็น “สัญลักษณ์ของความน่าคารวะและความหวัง ทั้งยังเป็นตัวการของความสิ้นหวังและความตรอมตรม” (“symbol also of admiration and hope, instruments too of despair and grief,” Faulkner, Absalom, Absalom!)

บทกวี “ในสมุดบันทึก” ร่วมรำลึกเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา ด้วยการหวนทบทวนสถานะของคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลา พร้อมกับตั้งคำถามกับบทบาทและข้อจำกัดของการนำเสนอความจริงและความทรงจำในยุคสมัยแห่งความท่วมท้นล้นเกินของความจริงและความทรงจำ ที่โดดเด่นก็คือบทกวีชิ้นนี้ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับตำแหน่งแห่งที่ของผู้หญิงในความทรงจำ 6 ตุลา และในฐานะผู้จดจำความทรงจำดังกล่าว

ดังที่กวีขมวดปมปัญหาข้างต้นด้วยคำถามในช่วงท้ายของบทกวีว่า

แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร
รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย
หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?

บทกวีค่อนข้างยาวชิ้นนี้มีเนื้อหาแวดล้อมอยู่กับการครุ่นคิดคำนึงของกวีต่อนัยยะและความหมายของดาวที่ผูกพันกับชีวิตและความทรงจำของกวีตั้งแต่วัยเด็ก

โดยเริ่มต้นจากการหวนกลับไปอ่านบทสนทนากับเพื่อนเกี่ยวกับดาวในสมุดบันทึก ที่ทำให้กวีต้องทบทวนเกี่ยวกับความคิดและความเชื่อของตนเองต่อความทรงจำเดือนตุลา

เนื้อหาในช่วงแรกของบทกวีมาจบลงตรงที่กวีนึกเปรียบเทียบคนเดือนตุลาและความทรงจำของพวกเขา กับนางพรานเถื่อนที่ต้องลุกขึ้นมาบันทึกเรื่องราวความทรงจำของตนเองบ้าง

เนื้อความในครึ่งหลังคือบันทึกของนางพรานเถื่อนผ่านบางท่อนของเนื้อเพลงสองเพลงที่เป็นทั้งตัวแทนความทรงจำและตัวตนในอดีต ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ และ “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ และมาจบลงด้วยเสียงของกวีที่นำเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาแต่งใหม่

“ในสมุดบันทึก” เป็นเสมือนท้องฟ้าจำลองของจักรวาลดวงดาวอันหลากหลายที่โคจรอยู่รายรอบชีวิตและความทรงจำของกวี ไล่มาตั้งแต่ดาวในความหมายเชิงโรแมนติกที่เป็นคู่แย้งกับความหมายเชิงเรียลลิสติก ฟิสิกส์และเมตาฟิสิกส์ดังที่ปรากฏในบทสนทนากับเพื่อน

ดาวในฐานะสัญญะทางวัฒนธรรมของฝ่ายซ้ายผ่านเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เป็นคู่เทียบกับดาวในฐานะสัญญะทางวัฒนธรรมของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ผ่านเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ทั้งยังมีนัยประหวัดไปถึงสัญญะทางวัฒนธรรมของความเป็นนักศึกษายุค “ดาวประจำมหาวิทยาลัย”

และท้ายสุดคือดาวในฐานะคู่แย้งกับดินดังที่ปรากฏในเนื้อเพลงแต่งใหม่ในท่อนจบ มิพักต้องพูดถึงว่าบทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อนำมาอ่านเป็นครั้งแรกในการฉายภาพยนตร์ ดาวคะนอง ที่กลายมาเป็นดาวอีกหนึ่งดวงบนผืนฟ้าของบทกวีชิ้นนี้

หาก ดาวคะนอง ใช้ท่าทีและชั้นเชิงของภาษาหนังในลักษณะ meta-cinema เพื่อเปิดประเด็นว่าด้วยการนำเสนอความทรงจำผ่านสื่อภาพยนตร์ โดยจงใจไม่ใช้ภาพข่าวบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลา แต่เลือกถ่ายทอดด้วยภาพของการจำลองเหตุการณ์ในโรงถ่ายภาพยนตร์

ส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงตั้งคำถามเชิงยั่วล้อตัวเองอย่างรู้ตัวถึงข้อจำกัดของภาพยนตร์ในการถ่ายทอดความจริงในอดีต แต่ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของข่าว รูปภาพ และภาพเคลื่อนไหวต่อการสร้างความทรงจำในอดีตไปพร้อมกัน

ฉันใดก็ฉันนั้น บทกวี “ในสมุดบันทึก” นำเสนอตัวตนและความทรงจำของกวีด้วยชั้นเชิงและทีท่าของภาษากวีที่ขับเน้นความเป็นสัมพันธบท (intertextuality) ที่เชื่อมโยงตัวตนของกวีเข้ากับเหตุการณ์และความทรงจำเดือนตุลา กล่าวคือ บทกวีอาจไม่ได้ระบุถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาไว้อย่างชัดเจน แต่อาศัยการสร้างเครือข่ายของชุดคำและชุดภาพเปรียบที่ผูกพันกับเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เพื่อสะกิดใจผู้อ่านให้ประหวัดถึงกรณีดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายสัมพันธบทที่เป็นทั้งการผลิตซ้ำและการดัดแปลงสร้างใหม่ยังทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้อ่านต้องหวนคิดและทบทวนสถานะ คุณค่า ตลอดจนความหมายของอดีต และความทรงจำเกี่ยวกับอดีต ควบคู่ไปกับการตั้งคำถามกับสถานะและบทบาทของกวีนิพนธ์ในการบันทึกและ/หรือสร้างความทรงจำในอดีต

อันทำให้บทกวีชิ้นนี้มีลักษณะเป็น meta-poetry ในเวลาเดียวกันด้วย

สัมพันธบทสองทิศทาง

สัมพันธบทคือสภาวะที่ตัวบทหนึ่งๆ อ้างอิงไปถึงตัวบทอื่นๆ ทั้งในลักษณะที่อ้างอิงถึงโดยตรง นั่นคือยกข้อความจากตัวบทต้นทางมาใส่ไว้ในตัวบทปลายทาง หรืออ้างอิงโดยอ้อมหรือโดยนัยโดยอยู่ในลักษณะของชุดรหัสทางวัฒนธรรมหรือรหัสของการประพันธ์ นักทฤษฎีวรรณคดีบางสำนักเสนอว่าไม่มีตัวบทใดที่ดำรงอยู่โดยเอกเทศ ทุกตัวบทล้วนเป็นสัมพันธบททั้งสิ้น

การพิจารณาสัมพันธบทในบทกวี “ในสมุดบันทึก” จะพิจารณาสัมพันธบทที่เป็นการอ้างอิงโตยตรงเป็นสำคัญ โดยมุ่งดูนัยยะของปฏิสัมพันธ์สองทิศทางจากตัวบทต้นทางสู่ตัวบทปลายทาง

ความเป็นสัมพันธบทของบทกวีชิ้นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการอ้างอิงไปถึง “วรรคทอง” ของงานวรรณกรรมยุค 14 ตุลา และ 6 ตุลา เช่นในท่อนที่ว่า “ช่างขุนทองปะไร มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง-” ขุนทองในที่นี้อ้างอิงไปถึงบทกวี “เจ้าขุนทอง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ในช่วงที่นักศึกษาประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหารถนอม-ประภาส

บทกวีของสุจิตต์ชิ้นนี้โดยตัวมันเองก็เป็นสัมพันธบทอ้างอิงไปถึงเพลงกล่อมเด็กชื่อ “เจ้าขุนทอง” ที่แพร่หลายในภาคกลางมายาวนาน โดยกวีได้ปรับแต่งและให้ความหมายเจ้าขุนทองเสียใหม่ว่าคือนักศึกษาที่ยอมสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตยดังที่ปรากฏในท่อนจบว่า

ไม่มีร่างเจ้าขุนทอง มีแต่รัฐธรรมนูญ
แม่กับพ่อก็อาดูร แต่ภูมิใจลูกชายเอย ฯ

นอกจากนี้ ในวรรคที่ว่า “มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง” ก็เป็นการอ้างไปถึงเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ของอัศศิริ ธรรมโชติ เผยแพร่ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เดือนกันยายน 2520 ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาไม่ครบปี เนื้อหาเกี่ยวกับแม่ที่เฝ้ารอการกลับมาของลูกหรือ “เจ้าขุนทอง” ที่หลบหนีออกจากบ้านไป

เนื่องจากชื่อเรื่องสั้นชิ้นนี้อ้างอิงกลับไปที่บทกวี “เจ้าขุนทอง” ของสุจิตต์ วงษ์เทศ จึงทำให้เข้าใจได้ไม่ยากว่าเจ้าขุนทองในเรื่องเป็นสัญลักษณ์หมายถึงนักศึกษาที่หลบหนีการกวาดล้างของรัฐบาลทหารภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งส่วนใหญ่ได้ไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต่อสู้กับรัฐบาลทหารเพื่อปลดปล่อยประเทศจากอำนาจเผด็จการ ดังนั้น ชื่อเรื่องสั้นจึงมีนัยยะสื่อถึงความหวังในสังคมที่ดีกว่าเมื่อเจ้าขุนทองกลับสู่เมือง

แต่ที่สำคัญกว่านัยประหวัดถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม และการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม คือน้ำเสียงตัดพ้อต่อว่าปนหยามหยัน เมื่อกวีนำเจ้าขุนทองมาเทียบเคียงกับนางพรานเถื่อน

ว่าแต่เราจะมีดาวไว้ทำไม
กะจิ๊ดริดในสายตา
สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง
สว่างเพียงชี้นำหนทาง
แต่ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น
นางพรานเถื่อนคงได้แต่คว้าตะเกียงดุ่มเดินไป
ช่างขุนทองปะไร
มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง-

บทกวีเปิดประเด็นอันแหลมคมยิ่งว่าด้วยสถานะและบทบาทของคนเดือนตุลาในฐานะผู้ชี้นำและผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง โดยนำไปเทียบกับดาวนำทาง พร้อมกันนั้นก็พลิกผันนัยยะและความหมายของดาวนำทาง โดยเฉพาะในวรรคที่ว่า “สุกสกาวก็ต่อเมื่อหมดแสงรอบข้าง” ช่วยสะกิดให้เราฉุกคิดว่าความโดดเด่นน่าจดจำของคนเดือนตุลาได้มาก็ด้วยการกดทับ บดบัง ลบล้างเรื่องราวของคนอื่นอีกมากมาย

ยิ่งไปกว่านั้นการหลงติดอยู่กับบทบาทของผู้นำทาง ทำให้พวกเขา “ไม่เป็นธุระจะส่องทางให้เห็น” โดยทิ้งภาระให้คนอย่างนางพรานเถื่อนเป็นผู้แบกรับแทน

แต่วรรคที่ถือว่าเป็นหมัดฮุกคือวรรคสุดท้ายในท่อนนี้ แม้ว่าบทกวีจะอ้างอิงในลักษณะสัมพันธบทถึงวรรคทองของวรรณกรรม 14 ตุลา และ 6 ตุลา แต่ข้อความในวรรคนี้ก็เป็นการสร้างใหม่เพื่อตอบโต้กับวรรคทองของตัวบทต้นทางด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ในที่นี้ ขุนทอง “มันกลับไปแล้วตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง” มิใช่ “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ที่เป็นชื่อเรื่องสั้นของอัศศิริ

หากขุนทองในเรื่องสั้นของอัศศิริเป็นตัวแทนของความหวังที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่สังคมใหม่ เหมือนพระอาทิตย์ที่นำแสงสว่างมาสู่โลกในยามเช้า เจ้าขุนทองในบทกวีชิ้นนี้คือตัวแทนของผู้ละทิ้งความหวังในสังคมที่ดีกว่า และหนีกลับบ้าน “ตั้งแต่ก่อนฟ้าสาง”

คำว่า “กลับ” ในที่นี้มีนัยยะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับคำเดียวกันนี้ที่ปรากฏในชื่อเรื่องสั้นของอัศศิริ มันคือ “การกลับ” ในความหมายเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา นักศึกษาได้ทยอยกันกลับสู่เมือง มิใช่ในฐานะผู้ร่วมปลดปล่อยสังคมไทยดังที่พวกเขาคาดหวังไว้ในวันที่ตัดสินใจทิ้งเมืองไปจับปืน

แต่ในฐานะ “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ตามนโยบาย 66/23 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ดังจะพบได้จากบทกวีท่อนถัดมาที่แทรกน้ำเสียงถากถางการกลับมาของเจ้าขุนทองไว้อย่างเจ็บปวด

กลับไปนั่งจดจารให้เป็นที่รำลึกไว้
รำลึกว่ามันจะลืมรำลึกเสียมิได้
ว่าไม่ว่าถึงที่สุดใครจะเห็นหรือไม่เห็นอะไร
ดาวฤกษ์เกิดมาเพื่อเป็นดาวที่มีแสงสว่างในตัวเอง, จำไว้
ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง

ในที่นี้บทกวีชี้ให้เห็นอาการหลงตัวเองจนน่าหมั่นไส้ ด้วยภาพของเจ้าขุนทองที่คอยพร่ำเตือนตนเองและผู้อื่นให้จดจำพวกเขา

ขณะเดียวกันก็สะท้อนอาการหลอกตัวเองจนน่าหัวร่อของเจ้าขุนทอง ที่ปลอบประโลมความล้มเหลวไร้น้ำยาของพวกเขา ด้วยการย้ำเตือนถึงความยิ่งใหญ่ในตัวเอง ที่ไม่พึงต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำใดๆ เพราะพวกเขาคือดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง วรรคสุดท้ายของท่อนนี้ “ว่าแล้วมันก็ดับสวิตช์ไฟหัวเตียง” บอกผู้อ่านอย่างไม่อ้อมค้อมถึงความจอมปลอมของดาวฤกษ์กลุ่มนี้

จากที่แจกแจงมา จะเห็นได้ว่า “เจ้าขุนทอง” ในฐานะสัมพันธบทได้เชื่อมโยงนางพรานเถื่อนเข้ากับความทรงจำเดือนตุลา แต่ในเวลาเดียวกันนางพรานเถื่อนก็ใช้สัมพันธบทนี้ในการนิยามตัวตนของนาง ด้วยการตั้งคำถามกับความทรงจำนั้น

เจ้าขุนทองในฐานะสัมพันธบทที่เกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อรำลึกและตั้งคำถามกับความทรงจำเกี่ยวกับคนเดือนตุลาเป็นเพียงเพลงโหมโรงของบทกวีชิ้นนี้

สัมพันธบทที่โดดเด่น เข้มข้น คมคาย หลากหลายนัยยะที่ทั้งลึกและซึ้งอย่างยิ่งในบทกวีชิ้นนี้ คือการอ้างอิงถึงบทเพลงที่เป็นเสมือนเพลงประจำรุ่นของคนเดือนตุลา ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำไปเทียบเคียงกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เป็นตัวแทนเพลงประจำยุคของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ รุ่นไล่เลี่ยกัน และลงเอยด้วยการสร้างเพลงใหม่ของกวีในท่อนจบ

ความทรงจำเดือนตุลากับสัมพันธบทสองทิศทาง

เจ้าขุนทองในฐานะสัมพันธบท (intertextuality) ที่เกิดขึ้นจากการผลิตซ้ำและสร้างใหม่เพื่อรำลึกและตั้งคำถามกับความทรงจำเกี่ยวกับคนเดือนตุลาที่วิเคราะห์ไว้ในตอนแรกของบทความเป็นเพียงเพลงโหมโรงของบทกวีชิ้นนี้

สัมพันธบทที่โดดเด่น เข้มข้น คมคาย หลากหลายนัยยะที่ทั้งลึกและซึ้งอย่างยิ่งในบทกวีชิ้นนี้ คือการอ้างอิงถึงบทเพลงที่เป็นเสมือนเพลงประจำรุ่นของคนเดือนตุลา ได้แก่ “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ โดยนำไปเทียบเคียงกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เป็นตัวแทนเพลงประจำยุคของคนชั้นกลางกรุงเทพฯ รุ่นไล่เลี่ยกัน และลงเอยด้วยการสร้างเพลงใหม่ของนางพรานเถื่อนในท่อนจบ

ตามเนื้อความของบทกวีในท่อนนี้ ทั้งบทเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” คือความพยายามของนางพรานเถื่อนที่จะ “บันทึกสิ่งที่เคยเห็นบ้างอย่างคนไม่เขียนบันทึก” ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องอาศัยหยิบยืมถ้อยคำจากสิ่งที่ผูกพันกับชีวิตมาพูดแทนใจตนเอง อันได้แก่บางท่อนของเพลงสองเพลงดังกล่าว

เนื้อเพลงท่อนที่นางพรานเถื่อนนำมาร้องในที่นี้มีลักษณะเหมือนเพลงผสมหรือเพลง medley ที่ตัดตอนมาจากหลายๆ เพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวนางที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงชาวบ้าน และ/หรืออวตารของ “ฉัน” ในบทกวีชิ้นนี้

อันได้แก่ชีวิตที่เริ่มต้นด้วยท่อนเปิดของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (พร่างพรายแสง ดวงดาวน้อยสกาว ส่องฟากฟ้า…) ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของความใฝ่ฝัน ความหวังและความศรัทธาของนาง

แต่นางพบว่า “โอ๊ะ ไม่ใช่” จากนั้นจึงเปลี่ยนไปพยายามร้องเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” เพื่อพูดความในใจของนางว่า “ถึงตัวฉัน มีสวรรค์ ลอยมาใกล้ เชิญฉันเป็นดาวใหม่ ฟ้ามาวอนไหว้ ไม่-เป็น-แล้ว-ดาว”

จะเห็นว่าแม้เนื้อหาของเพลงท่อนที่ตัดตอนมาร้องต่อกันจะสอดคล้องกลมกลืน แต่นัยยะเชิงอุดมการณ์และความหมายทางวัฒนธรรมของเพลงสองเพลงนี้กลับขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

เพลงหนึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดยนักปฏิวัติ มีเนื้อหาเพื่อการปฏิวัติ ดาวในบทเพลงนี้น่าจะหมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (ดาวโดยเฉพาะดาวแดงเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชาวคอมมิวนิสต์ทั่วทุกมุมโลก) และถูกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม

ที่สำคัญคือมันถูกเชื่อมโยงเข้ากับขบวนการนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา จนถึงการสังหารหมู่ 6 ตุลา อย่างแนบแน่น ทั้งในแง่ที่เพลงดังกล่าวถูกทำให้แพร่หลายโดยขบวนการนักศึกษาในช่วงดังกล่าว และในแง่ของความเป็นเพลงประจำรุ่นที่บ่งบอกตัวตนและความใฝ่ฝันของคนรุ่นนี้

ส่วนอีกเพลงหนึ่งนั้นคือเพลงยอดนิยมที่เป็นแทบจะทุกอย่างที่ตรงกันข้ามกับเพลงแรก ไม่ว่าจะเป็นผู้แต่ง วงดนตรีที่นำเพลงนี้มาเล่น เนื้อหาโดยรวมของเพลง ตลอดจนสถานที่และโอกาสที่เพลงนี้จะถูกนำไปร้อง

สิ่งเดียวที่เพลงทั้งสองมีร่วมกันจนสามารถนำมาร้องต่อกันได้ก็คือต่างเป็นตัวแทนความทรงจำและตัวตนในอดีตของนางพรานเถื่อนที่ผูกพันกับสองเพลงนี้

การตัดตอนเพลงทั้งสองมาผสมกันเป็นเพลงเมดเลย์จึงแทบจะเหมือนกับเป็นการลบหลู่หยามเหยียดและลดทอนคุณค่าของเพลงปฏิวัติให้มีฐานะไม่ต่างจากเพลงรักอันดาษดื่น (คำว่า “ตัดตอน” ในที่นี้ใช้อย่างจงใจแต่จะอภิปรายขยายความในภายหลัง)

อย่างไรก็ตาม หากคำนึงถึงบริบทสังคมในปัจจุบันที่บทกวีชิ้นนี้เขียนขึ้น จะพบว่านัยยะเชิงอุดมการณ์และความหมายทางวัฒนธรรมของทั้งเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” เปลี่ยนไปมากจากเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

ทุกวันนี้เราจะยังถือว่า “แสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นเพลงปฏิวัติอยู่อีกหรือไม่ เมื่อเราพบว่าเพลงดังกล่าวถูกนำไปใช้ประกอบมิวสิกวิดีโอที่มีผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยวิ่งเล่นบนชายหาด เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงดังกล่าวขับขานอยู่ในภัตตาคารหรูไม่ต่างจากสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเราจะได้ยินเพลง “ไม่ขอเป็นดาว”

เมื่อเพลงนี้ถูกนำไปร้องอยู่ต่อหน้าผู้ชมผู้ฟังที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เป็นปฏิปักษ์โดยสิ้นเชิงกับเนื้อหาของเพลงหรืออุดมการณ์ของผู้แต่งเพลง เมื่อเพลงนี้ถูกนำไปร้องโดยอดีตทหารมือเปื้อนเลือดจากกรณี 6 ตุลา หรือแม้แต่โดยอดีตคนเดือนตุลาที่ประกาศบนเวทีชุมนุมเรียกร้องทหารให้เข้ามายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ก็ไม่ต่างจากความทรงจำเดือนตุลาต้องประสบกับชะตากรรมพลิกผันไปมาตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย และการเปลี่ยนจุดยืนทางอุดมการณ์ของคนเดือนตุลาชนิดกลับซ้ายเป็นขวา กลับหน้ามือเป็นหลังมือ

เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” เป็นตัวอย่างอันสมบูรณ์แบบของรูปสัญญะล่องลอยว่างเปล่า เพราะอัดแน่นไปด้วยนัยยะเชิงอุดมการณ์ต่างๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่หลายชั้น

กระบวนการแปรทุกอย่างให้เป็นสินค้าและกระบวนการดูดกลืนทางอุดมการณ์ได้ถอดเขี้ยวเล็บและบั่นทอนความแหลมคมของนัยยะทางการเมืองและวัฒนธรรมของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา”ไปจนแทบจะหมดสิ้น มีสถานะเป็นเพียงเพลงซึ้งๆ เพลงหนึ่งไม่ต่างจากเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” ที่นิยมร้องและฟังกันในหมู่คนสูงวัยที่โหยหาอดีตยุควันชื่นคืนสุขของพวกเขา

แท้จริงแล้ว การนำเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาอยู่คู่กับ “ไม่ขอเป็นดาว” ในฐานะความทรงจำร่วมของนางพรานเถื่อน มิใช่การลดทอนคุณค่าของเพลงดังกล่าว แต่คือการร่วมรำลึกความหมายที่หายไปของมันต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างเพลงทั้งสองกับนางพรานเถื่อนจึงเป็นไปในสองทิศทาง กล่าวคือ ทางหนึ่งเพลงทั้งสองมีบทบาทหล่อหลอมและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนาง แต่ในอีกทางหนึ่งเธอเป็นผู้ทำให้เพลงทั้งสองสามารถมีที่มีทางและมาอยู่ร่วมกันได้

หรือจะพูดด้วยกรอบคิดเรื่องสัมพันธบทแบบหลังสมัยใหม่ ทั้งสองเพลงเป็นตัวบทต้นทางทำหน้าที่เขียนชีวิตของนางพรานเถื่อนผู้มีฐานะเป็นตัวบทปลายทาง แต่ในเวลาเดียวกันนางพรานเถื่อนก็เป็นตัวบทต้นทาง และเพลงทั้งสองคือตัวบทปลายทาง

เพราะเธอเขียนซ้ำและเขียนใหม่ให้ทั้งสองเพลงนี้มาอยู่ด้วยกันในบริบทใหม่ ที่สื่อความหมายและอุดมการณ์ซึ่งต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกวี/นางพรานเถื่อน นำเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่เป็น “ท่อนฮุกของทุกคน” มาแต่งใหม่ เพื่อทำหน้าที่บ่งบอกตัวตนและเจตนารมณ์ใหม่ของเธอ

“ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ
ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย
ครั้นผืนฟ้าใกล้ดับจวนลับมลาย
ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว
ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

ในที่นี้ การแปลงและแปลความหมายใหม่ให้กับ “ท่อนฮุก” ของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” (และน่าจะมีเสียงแว่วๆ จากเพลง “เดือนเพ็ญ” ของนายผีอยู่ด้วยในวลี “ดาวคืนเพ็ญ”) เป็นทั้งการคารวะ วิพากษ์ และสานต่อสร้างใหม่ความทรงจำเดือนตุลาไปพร้อมกัน

กล่าวคือ ในวรรคต้นการยกข้อความทั้งวรรคมาจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ทำหน้าที่ย้ำเตือนเจตนารมณ์เดียวกันกับคนเดือนตุลาของกวี/นางพรานเถื่อน ขณะที่ในวรรคถัดมาการปรับเปลี่ยนคำจากเนื้อเพลงเดิมที่ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” มาเป็น “ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย” แสดงน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์สถานะของคนเดือนตุลาในปัจจุบัน ผู้กลายมาเป็นคนเด่นดาราดังในแวดวงสังคม จนลืมอุดมการณ์และยึดติดอยู่แต่วีรกรรมในอดีตของพวกเขา

ส่วนสองวรรคสุดท้ายเป็นการแปรเจตนารมณ์เดิมของเพลงให้สอดรับกับความใฝ่ฝันใหม่ในบริบทสังคมปัจจุบัน โดยการนำคำว่า “ดิน” เข้ามาเป็นคู่เปรียบกับ “ดาว”

ในที่นี้ ดินเป็นตัวละครอีกหนึ่งตัวในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม อันได้แก่ชาวบ้านผู้ไร้สิทธิไร้เสียงเป็นเพียงธุลีดินในสังคมไทย ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ พวกเขาเริ่มจะออกมาแสดงตัวตนและเรียกร้องสิทธิของพวกเขาด้วยตัวเขาเองมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องรอให้พวกนักศึกษา ปัญญาชน และนักเอ็นจีโอมาเป็นปากเป็นเสียงแทนดังเช่นที่เคยผ่านมา

ความหมายของ “ดาว” ที่เพิ่มขึ้นมาเมื่อเทียบกับดิน ทำให้ดาวในบทเพลงแปลงใหม่นี้เป็นมากกว่า “ดาว” ที่หมายถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยตามความหมายดั้งเดิมที่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้ หรือเป็นตัวแทนของความใฝ่ฝันในสังคมใหม่ดังที่คนเดือนตุลาสร้างขึ้น แต่ยังมีความหมายรวมไปถึงคนเดือนตุลาผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและที่มาของความผิดหวังของนางพรานเถื่อน จนนางสามารถประกาศว่า “ดินจะพราย-ไม่ว่ามี-หรือไม่-มีดาว ดินจะกลาย-เป็น-หรือไม่-เป็นดาว!”

การเลือกใช้คำว่า “หรือ” ในที่นี้นับว่าน่าสนใจ ในแง่ที่มันไม่ได้ปฏิเสธหรือตัดขาดสถานะและการมีอยู่ของดาวในทั้งสามความหมายข้างต้นโดยสิ้นเชิง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้ให้ค่ากับดาวจนสูงส่งเหมือนเช่นที่ปรากฏในบทเพลงเดิม กล่าวคือ ถ้ามีดาวหรือกลายเป็นดาวได้ก็ดี แต่ถึงไม่มีหรือไม่เป็นดาวก็มิได้ทำให้ดินจะเดือดร้อนหรือจะเป็นจะตายแต่อย่างใด เพราะนี่ไม่ใช่ยุคสมัยของการปั้นดินให้เป็นดาว

การสร้างใหม่บนร่างเดิมของเนื้อเพลงในที่นี้จึงมิใช่เพียงเพื่อประกาศเจตนารมณ์ของคนรุ่นหลัง 6 ตุลาอย่างกวี/นางพรานเถื่อน แต่เป็นการจัดที่จัดทางใหม่ให้กับคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลาด้วย

ความหมายใหม่ของดาวในตอนจบของบทกวีพาเรากลับไปสู่บันทึกว่าด้วยบทสนทนาระหว่าง “ฉัน” กับ “เพื่อนเก่า” เรื่องการมีหรือไม่มีอยู่ของดาวที่มนุษย์เห็นบนท้องฟ้า ที่สะท้อนให้เห็นความแตกต่างระหว่างทัศนะต่อดวงดาวในเชิงโรแมนติกของกวี (“ฉันชอบดูดาวประกายพรึกตอนค่ำ ดื่มด่ำ ชวนฝัน ชวนมุ่งมั่น”) เมื่อเทียบกับทัศนะเชิงเรียลลิสติกและเย้ยหยันของเพื่อน “ก็แปลว่าดาวที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้ ความจริงอาจแตกดับไปนานแล้ว”)

คำอธิบายเชิงฟิสิกส์ของเพื่อนที่ว่า เพราะความต่างของระยะทางนับเป็นพันปีแสง ดาวที่เห็นขณะนี้อาจแตกดับไปแล้ว มีนัยประหวัดถึงความหมายของดาวในเชิงเมตาฟิสิกส์ (อภิปรัชญา) ดังที่ “ฉัน” ขมวดปมใว้ในคำรำพึงที่ว่า

ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม
เพื่อจะรำลึกว่ากาลครั้งหนึ่งฉันเคยดูดาว
หรือเพื่อจะจำใส่หัว ว่าความจริงแล้ว อาจไม่มีดาว
หรือเพื่อจะไม่ลืมว่าเราจะรู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี

ข้อความในรูปปฏิเสธซ้อนปฏิเสธซ้อนปฏิเสธที่ผสมผสานกันระหว่างคำสอนของนิกายเซนกับลีลาการเขียนของวิลเลียม ฟอล์กเนอร์ (“รู้ความจริงว่าดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี”) เปลี่ยนประเด็นว่าด้วยการมีอยู่ของดาวในทางฟิสิกส์และเมตาฟิสิกส์ ไปสู่ประเด็นทางญาณวิทยา

กล่าวคือ เป็นความจริงเชิงฟิสิกส์ว่า ดาวที่เห็นจากพื้นโลกในเวลานี้ อาจแตกดับไปแล้ว อันนำไปสู่ปัญหาเชิงเมตาฟิสิกส์ว่าสิ่งที่เราเห็นว่ามีอยู่นั้น ในความจริงอาจไม่มีอยู่จริง หรือถ้ามีอยู่จริงก็อาจมิได้เป็นอย่างที่เราเห็น และสิ่งที่เราเห็นอาจเป็นเพียงเงาหรือแม้แต่ร่องรอยของเงาของความจริงที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น

แต่สิ่งที่ “ฉัน” เสนอในวรรคสุดท้ายของท่อนที่ยกมาคือการเปิดประเด็นว่าด้วยญาณวิทยา นั่นคือการรับรู้ของมนุษย์ต่างหากเป็นตัวชี้ขาดการมีอยู่หรือไม่มีอยู่

นัยยะของข้อความที่ว่า “ดาวไม่มีอยู่จริงได้ก็ต่อเมื่อเราไม่เคยรู้ว่ามันไม่มี” คือการรู้ว่าดาวไม่มีอยู่จริงโดยตัวมันเองทำหน้าที่ยืนยันการมีอยู่ของดาว อย่างน้อยก็ในระดับของการรับรู้ เพราะ “ดาว” ถูกจัดให้เข้ามาอยู่ในสาระบบของการรับรู้ในฐานะสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

ประเด็นเชิงฟิสิกส์/เมตาฟิสิกส์/ญาณวิทยาของดาวบนท้องฟ้าในท่อนเปิดดังที่แจกแจงมานี้เกี่ยวข้องอย่างไม่ต้องสงสัยกับประเด็นเรื่องดาวใน “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในฐานะความทรงจำเดือนตุลาและในฐานะคนเดือนตุลา

“นางพรานเถื่อน” มีทัศนะต่อคนตุลาคล้ายคลึงกันกับทัศนะต่อดวงดาวของ “ฉัน” ในท่อนเปิด นั่นคือนางไม่ปฏิเสธว่าความทรงจำเดือนตุลาและคนตุลาที่เธอรับรู้และเชื่อมั่นศรัทธา อาจจะเป็นเหมือนดาวที่แตกดับและไม่มีอยู่จริง และคนตุลาและความทรงจำตุลาที่ปรากฏอยู่ก็เป็นเพียงเงา หรือร่องรอยของเงาของอดีตเท่านั้น แต่ “นางพรานเถื่อน” ยืนกรานที่จะเชื่อว่าการรู้ว่าคนตุลาและความทรงจำตุลามีหรือเคยมีอยู่หรือไม่มีอยู่นั้น ทำให้พวกเขามีจริงอย่างน้อยในระดับอัตวิสัยของนาง

และด้วยเหตุนี้เธอจึงไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” แม้จะรู้แก่ใจดีว่าความหมายเชิงปฏิวัติของเพลงอาจจะหมดสิ้นแล้วซึ่งพลัง

อีกทั้งคนเดือนตุลาที่เป็นตัวแทนของเพลงนี้ก็แปรเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม

แต่นางพร้อมจะยอมรับการมีอยู่ของมันในฐานะส่วนหนึ่งของตัวตนและความทรงจำของนางโดยนำมันมาผสมกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” และเลือกที่จะนิยามมันขึ้นใหม่ มากกว่าจะลบมันทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ดังเห็นได้จากการเขียนใหม่เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ในท่อนจบของบทกวี

การผลิตซ้ำและเขียนใหม่เพื่อสร้างสัมพันธบทระหว่างวรรณกรรมเดือนตุลากับกวี ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าขุนทอง” หรือ เพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ตามที่ได้แจกแจงมาทั้งหมด ชี้ว่าสัมพันธบทในบทกวีชิ้นนี้มิได้เป็นเพียงกลวิธีทางวรรณศิลป์เพื่อแสดงปฏิภาณกวีเท่านั้น

แต่คือกระบวนการนิยามใหม่ความทรงจำเดือนตุลาและตัวตนของกวี ที่ไม่ปฏิเสธสถานะและบทบาทของคนเดือนตุลาและวรรณกรรมเดือนตุลาซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวบทต้นทางของกวีและบทกวีชิ้นนี้ แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมจะเดินผ่านพวกเขาไป เพื่อเริ่มต้นบทใหม่ของความทรงจำและหน้าใหม่ของกวีนิพนธ์

เพศสถานะของความทรงจำและสมุดบันทึก

นอกเหนือจากการสร้างสัมพันธบทเพื่อหวนรำลึกและทบทวนความหมายของความทรงจำเดือนตุลาแล้ว บทกวีชิ้นนี้พยายามตั้งคำถามกับประเด็นเรื่องเพศสถานะ (gender) ของความทรงจำเดือนตุลาด้วย

ดังจะเห็นได้จากคำถามช่วงท้ายของบทกวีที่ว่า “แล้วจะให้ฉันจดว่าควรจำรำลึกอย่างไร” ที่ตามมาด้วยทางเลือกสองทางคือ “รำลึกอย่างดาวประกายพรึกที่เพียงดึกก็ลับหาย” กับ “หรือบันทึกอย่างนางพรานเถื่อนที่ถูกทิ้งไว้กับตะเกียง?”

บทกวีจงใจสร้างคู่เปรียบชายหญิงหลักๆ ไว้หลายคู่ เช่น เจ้าขุนทอง ในฐานะคนเดือนตุลาและความทรงจำเดือนตุลา เทียบกับนางพรานเถื่อนในฐานะคนหลัง 6 ตุลา หรือเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ของจิตร ภูมิศักดิ์ เทียบกับ “ไม่ขอเป็นดาว” ที่ขับร้องโดยบุษยา รังสี

นอกจากนี้ จินตภาพและอุปมาสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนเดือนตุลาล้วนขับเน้นความเป็นชายแกร่งอย่างเข้มข้น อาทิ การเปรียบเทียบคนตุลาในฐานะผู้นำและผู้ชี้นำ เป็นดาวนำทางหรือดาวประกายพรึก ผิดกับนางพรานเถื่อนเดินดินและ “เดินดุ่ม” ที่ต้องถือตะเกียงเพื่อส่องทาง

หรือเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” โดยเฉพาะท่อนที่คนจำได้ขึ้นใจว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” นั้นสื่อความเป็นลูกผู้ชายเต็มตัว เทียบกับความเป็นหญิงจากจินตภาพ “เห็นทรวงฟ้ากว้าง” ในเพลง “ไม่ขอเป็นดาว”

ทั้งหมดนี้เพื่อจะสื่อว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ความทรงจำเดือนตุลานั้นถูกกำกับและครอบงำด้วยความคิดชายเป็นใหญ่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นชายและผู้ชายมากเป็นพิเศษ

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการตัดตอนเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” มาผสมกับเพลง “ไม่ขอเป็นดาว” เพื่อสร้างเพลงเมดเลย์ อาจเป็นกลวิธีของบทกวีชิ้นนี้ที่จะตัดและตอนความเป็นชายในความทรงจำเดือนตุลา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทเพลงสร้างใหม่ของนางพรานเถื่อนนั้น การจงใจตัดทิ้งวรรคทองที่ว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย” และแทนที่ด้วย “ดาวคืนเพ็ญมัวเด่นลืมท้าทาย” เป็นมากกว่าการสร้างสัมพันธบท แต่คือการลดทอนความเป็นชายอันล้นเกินที่ครอบงำความทรงจำเดือนตุลา

ขณะเดียวกันก็นำผู้หญิงและความเป็นหญิงกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเดือนตุลา โดยเฉพาะการสร้างตัวละครนางพรานเถื่อนให้ลุกขึ้นมาเขียนความทรงจำของนางในลักษณะที่ตอบโต้กับความทรงจำเจ้าขุนทองดังที่กล่าวมาแล้ว

อีกกลวิธีหนึ่งที่บทกวีนี้ใช้เพื่อแทรกแซงความเป็นชายในความทรงจำเดือนตุลาคือการขับเน้นความเป็นสมุดบันทึกในฐานะการเขียนของผู้หญิง

ดังจะพบว่าขณะที่ความทรงจำเดือนตุลาของคนตุลาจะอยู่ในรูปของบทกวี ไม่ว่าจะเป็น “เจ้าขุนทอง” และ “แสงดาวแห่งศรัทธา” หรือในรูปของเรื่องสั้น “ขุนทอง…เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง” ในทางตรงกันข้ามบทกวีชิ้นนี้เลือกเรียกข้อเขียนตัวเองว่าบันทึกดังจะเห็นจากชื่อ “ในสมุดบันทึก”

ในด้านรูปแบบการเขียน ก็เห็นชัดเจนว่าจงใจไม่ยึดแบบแผนฉันทลักษณ์มาตรฐานของร้อยกรองไทย แต่สร้างแบบแผนจังหวะและสัมผัสของตนเองขึ้นมาใหม่ ที่ผสมผสานระหว่างภาษาและเสียงอันหลากหลายไม่ได้ผูกขาดไว้ด้วยเสียงของกวีเพียงเสียงเดียว เหมือนเช่นที่พบในบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือสุจิตต์ วงษ์เทศ

แรกเริ่มเดิมที การเขียนบันทึกรายวันหรือไดอารี่ มีเพื่อบันทึกเรื่องราวรอบตัวที่สำคัญ และควรค่าต่อการบันทึก โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม หรือการเดินทางไปยังดินแดนต่างถิ่น ส่วนใหญ่มีผู้ชายเป็นผู้จดบันทึก

เมื่อเป็นที่นิยมแพร่หลายมากขึ้น การเขียนไดอารี่กลายเป็นรูปแบบการเขียนเพื่อบันทึกเรื่องลับส่วนตัว หรืออารมณ์ความรู้สึกส่วนลึกของผู้บันทึก มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของผู้หญิง หรือถูกทำให้มีความเป็นหญิง เป็นต้นว่า สำนวน “Dear Diary” กลายเป็นแบบฉบับของการเขียนคำขึ้นต้นในสมุดไดอารี่

การเลือกนิยามข้อเขียนชิ้นนี้ว่าเป็นสมุดบันทึกจึงเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้หญิง เพื่อเทียบแย้งกับความเป็นชายที่มากับรูปแบบกวีนิพนธ์ว่าด้วยความทรงจำเดือนตุลา และเตือนรำลึกเราว่ายังมีเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกอีกมากมายของผู้หญิงในอดีตที่ไม่ถูกรวมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำเดือนตุลา

ความเป็นสมุดบันทึกในบทกวีชิ้นนี้ไม่เพียงทำหน้าที่เปิดพื้นที่ให้กับความเป็นหญิงในความทรงจำเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการตั้งคำถามกับสถานะของความทรงจำและความเป็นกวีนิพนธ์ด้วย

บทกวีชิ้นนี้ตั้งชื่อว่า “ในสมุดบันทึก” และขึ้นต้นด้วยคำว่า “ในสมุดบันทึก” การซ้ำข้อความในที้นี้บังคับผู้อ่านต้องอ่านคำว่า “ในสมุดบันทึก” ซ้ำสองครั้ง ครั้งแรกในฐานะชื่อบท ครั้งที่สองในฐานะตัวบท

ลักษณะซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกันของสมุดบันทึกเป็นจุดเด่นที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ ดังจะพบว่าบทกวีชิ้นนี้มีสมุดบันทึกอยู่สองเล่มคือ สมุดบันทึกของฉันในตอนต้น และ “สมุดบันทึก” ของนางพรานเถื่อนในครึ่งหลัง

เล่มแรก อยู่ในรูปของการเขียน เล่มหลัง ในรูปของการร้องเพลง เล่มแรกพูดถึงการมีและ/หรือไม่มีอยู่ของดาวในเชิงโรแมนติก-เรียลลิสติก-ฟิสิกส์-เมตาฟิสิกส์-ญาณวิทยา เล่มหลังพูดถึงความหมายที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่ของดาวในฐานะสัญลักษณ์ของคน-องค์กร-ความคิด-ความเชื่อในสังคมไทย

และแน่นอนว่าชื่อบทกวี “ในสมุดบันทึก” ทำให้บทกวีชิ้นนี้มีฐานะเป็นสมุดบันทึกที่จดบันทึกสมุดบันทึกของ “ฉัน” และ “นางพรานเถื่อน” อีกทอดหนึ่ง

การจดบันทึกและสมุดบันทึกโดยตัวมันเองก็มีลักษณะซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนเดิม กล่าวคือ โดยทั่วไปเราเชื่อว่าการจดบันทึกคือเก็บรักษาสิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นมิให้สูญหาย ด้วยเหตุนี้เราจึงมั่นใจว่าความทรงจำและอดีตในรูปของสมุดบันทึกมีความเที่ยงตรงและเป็นจริงน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม การจดบันทึกไม่อาจจะผลิตซ้ำหรือจำลองสิ่งที่มันบันทึกได้โดยสมบูรณ์ เนื่องจากต้องแปรสิ่งที่เกิดขึ้นให้อยู่ในรูปของถ้อยคำในภาษา การจดบันทึกจึงเป็นการซ้ำสองที่เหมือนและไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกัน

เช่น “ฉัน” จดบันทึกบทสนทนากับเพื่อนว่าด้วยดาว สมุดบันทึกอาจช่วยเก็บรักษาบทสนทนาดังกล่าวไว้มิให้ล่องลอยหายไปในอากาศธาตุ ทันทีที่คำพูดถูกเปล่งออกมา และช่วยให้ “ฉัน” รู้ว่าครั้งหนึ่งเคยพูดอะไรกับเพื่อนบ้าง แต่ข้อความในสมุดบันทึกไม่สามารถถ่ายทอดน้ำเสียงในบทสนทนา หรือกระทั่งใบหน้า ท่าทางของคู่สนทนาได้ครบถ้วน ดังที่ “ฉัน” อดรำพึงไม่ได้ว่า “ไม่แน่ใจว่าฉันบันทึกบทสนทนานี้ลงสมุดบันทึกทำไม”

ในทำนองเดียวกัน บทกวีได้ชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของภาษาในการถ่ายทอดเสียง ดังเช่นที่นางพรานเถื่อนไล่เทียบเสียงวรรณยุกต์ของคำว่า “เห็น” ว่าควรเป็นไม้ตรี หรือไม้ไต่คู้ หรือไม้โท จึงจะสามารถถ่ายทอดระดับของเสียงได้ตรงกับเสียงที่เธอตั้งใจร้อง

ดังนั้น แม้ในแต่ระดับที่เล็กและดูไม่สลักสำคัญใดๆ อันได้แก่ระดับเสียงของคำ ภาษาเขียนยังไม่สามารถจะจำลองและบันทึกได้อย่างเที่ยงตรง

ที่สำคัญคือ ในคืนที่มีการอ่านบทกวีชิ้นนี้เป็นครั้งแรกก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ดาวคะนอง กวีจงใจเล่นกับข้อจำกัดของการเขียนและความไม่เที่ยงตรงของภาษา

กล่าวคือ ในท่อนที่เป็นเนื้อเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” และ “ไม่ขอเป็นดาว” นั้น กวีเลือกใช้วิธีร้องออกมาเป็นเพลงแทนการอ่าน ส่งผลให้บทกวีชิ้นนี้ในคืนนั้นโดยตัวมันเองกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจดบันทึกในรูปของบทกวีได้ เพราะบทกวีบนหน้ากระดาษไม่สามารถจะบันทึกและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่กวี อ่าน/ร้อง บทกวีชิ้นนี้ได้ครบถ้วนและเที่ยงตรง

บทกวี “ในสมุดบันทึก” ที่เราอ่านจึงเป็นเพียงบทบันทึกการอ่านบทกวีในวันที่ 6 ตุลาคม 2559 และนี่คือความเป็น meta-poetry ของบทกวีชิ้นนี้ที่ล้อและเล่นกับข้อจำกัดของการเขียนบันทึกและ/หรือบทกวี เพื่อตั้งคำถามกับสถานะของความทรงจำในบทกวีและกวีนิพนธ์เพื่อความทรงจำ

บทบันทึก/บทกวีชิ้นนี้เป็นการเกษียน/เกษียณความทรงจำเดือนตุลาผ่านการเขียนบันทึกแทรกและซ้อนทับลงไปบนบันทึกความทรงจำเดือนตุลาที่เคยมีมา กล่าวคือ มันหวนกลับไปเขียนใหม่ความทรงจำเดือนตุลาและคนเดือนตุลาในลักษณะที่เหมือนกับการเกษียนบันทึก ในรูปของการสร้างสัมพันธบทแบบสองทิศทางระหว่างวรรณกรรมเดือนตุลากับบทกวี/บทบันทึกชิ้นนี้

ขณะเดียวกัน บทกวี/บทบันทึกชิ้นนี้ก็ตอกย้ำถึงสถานะและข้อจำกัดของการบันทึกความทรงจำ ซึ่งจนแล้วจนรอดก็เป็นเพียงการกระทำซ้ำสองที่ทั้งเหมือนและไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงเป็นการสร้างอดีตใหม่ซ้อนทับบนอดีตเดิม เป็นการเกษียน (เขียน) ความทรงจำใหม่ ด้วยการเกษียณ (ปลดระวาง) ความทรงจำเดิม

ที่สำคัญเหนืออื่นใดคือความเป็น meta-poetry ของบทกวีชิ้นนี้ที่ล้อและเล่นกับความเป็นกวีนิพนธ์/ความเป็นสมุดบันทึกของตัวมันเอง อันแสดงให้เห็นถึงความตระหนักรู้อย่างเจียมตนในข้อจำกัดของตัวเองว่า วันหนึ่งมันก็จะต้องถูกเกษียน/เกษียณ เช่นเดียวกัน

และด้วยเหตุนี้จึงชิงเกษียน/เกษียณตัวมันเองตั้งแต่วันแรกที่ถือกำเนิดขึ้นมา นั่นคือวันที่กวีนำบทกวีชิ้นนี้ไปร้อง/อ่านก่อนการฉายภาพยนตร์ ดาวคะนอง เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2559

หมายเหตุ : ผู้เขียนขอขอบคุณอาจารย์สายัณห์ แดงกลม ที่กรุณาช่วยอ่านบทความชิ้นนี้และตั้งข้อสังเกตอันลุ่มลึก จนสามารถกลายเป็นบทความอีกชิ้นหนึ่งได้โดยตัวของมันเอง

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 – 29 มีนาคม 2561 และ ฉบับวันที่ 30 มีนาคม – 5 เมษายน 2561