“ในสมัยปัจจุบันจังหวัดทั้งสามได้รับความเจริญทางวัตถุเพิ่มเติมจากความเจริญทางจิตต์ใจอีกมาก จังหวัดปัตตานีมีตึกสามชั้นและใหญ่โต มีโรงน้ำแข็ง มีโรงไฟฟ้า มีน้ำประปา มีโรงมหรศพพอใช้ได้ 1 โรง มีตลาดสอาดกว้างใหญ่ มีรมณียสถานหลายแห่ง เช่น แหลมตาชีซึ่งมีกระโจมไฟและชายทะเล รูสะมิแล ปะนาเระ และบางตาวา เปนต้น จังหวัดนราธิวาสมีตึกทันสมัยใหญ่โต มีโรงมหรสพ มีโรงไฟฟ้า มีตลาดกว้างขวาง มีโรงแรมซึ่งยื่นลงไปในทะเล ในยามราตรีมองไปตามตลิ่ง จะเห็นโคมไฟฟ้าส่องแสงลงไปในทะเลระยิบระยับทั่วไป จังหวัดยะลาที่สะเตงซึ่งเปนที่ตั้งจังหวัด แต่เดิมนั้นเงียบเชียบ แต่ที่นิบงอันเปนสถานีรถไฟเปนที่พลุกพล่าน มีตึกรามใหญ่โต มีตลาดทันสมัย และมีไฟฟ้า ความเจริญที่นิบงเทียบเกือบเท่าที่อำเภอหาดใหญ่ ส่วนอำเภอเบตงนั้นเล่าก็เปนถิ่นที่สอาดสอ้าน มีโรงมหรศพหรูหรา มีตลาดเช่นเดียวกับเยาวราชและสามแยกในกรุงเทพฯ ยังขาดอยู่แต่ไฟฟ้า ซึ่งมีแต่บ้านนายกเทศมนตรีแห่งเดียว ที่เที่ยวเตร่ก็มีเปนเนินซึ่งมีสวนยางและสวนผักผลไม้อันอุดม นอกจากนี้ยังมีพุน้ำร้อน ซึ่งมีน้ำเดือดเปนไออยู่เสมอ สามารถต้มไข่ให้สุกได้เท่ากับบนเตา บริเวณพุน้ำร้อนมีกลิ่นกำมะถันตลบอยู่ทั่วไป และลำน้ำเปนสีโลหิต”
เสียงฮึมฮำเบาๆ ดังขึ้นเป็นระยะขณะที่ฉันกำลังอ่านตอนหนึ่งของสารคดีพิเศษชุด ‘บริเวณ 7 หัวเมือง’ ให้นักกิจกรรมหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งฟัง ฉันเลือกอ่านตอนนี้ยาวสักหน่อย เพราะอยากรู้ว่าสภาพบ้านเมืองแบบที่นายผีเคยเห็นมาเมื่อ 70 ปีก่อนตามที่เขาบรรยายนั้น แตกต่างจากในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร แต่ยังไม่ทันซักถาม แบมะก็ร้องขึ้นว่า “แดง แดง แดง” ตามมาด้วยเสียงหัวเราะของคนอื่นๆ ฉันกับพี่กอฟได้แต่งง ใครคนหนึ่งจึงอธิบายว่า ‘ที่ว่าแดง ก็คือพื้นที่สีแดง ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังไม่กล้าเข้าไป แต่นายผีเขียนถึง แถมบางที่ก็เป็นแค่ชื่อหมู่บ้านเล็กๆ ไม่ใช่ตัวอำเภอใหญ่’ อีกคนพูดต่อว่า ‘บางคนอาจจะรู้จักชื่อ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน นายผีรู้จัก แสดงว่าเขารู้พื้นที่จริงๆ’ ทีนี้ใครอีกคนก็เสริมว่า ‘ไปถามผู้ว่า ดูซิว่ารู้จักรึเปล่า’ เรียกเสียงฮาของคนในวงให้ดังขึ้นอีก พร้อมกับเสียงประสานแทรกตามกันมาว่า ‘ถามคุณนายผู้ว่าด้วยนะ’ และ ‘โอ๊ย ของขึ้น’ ฉันคิดในใจว่านายผีนี่ร้ายนัก เขียนแนะนำสถานที่ยังไม่วายซ่อนคมไว้
ข้างต้นนี้คือบันทึกส่วนหนึ่งจากการเข้าร่วมวงเสวนาวงเล็กๆ เรื่อง “นายผีกับ ‘บริเวณ 7 หัวเมือง’” ซึ่งดิฉันในฐานะตัวแทนของสำนักพิมพ์อ่าน ได้ไปนั่งคุยกับนักกิจกรรมในพื้นที่ราว 10 คน ที่ร้านกาแฟข้างแปลงนา ภายในบริเวณของ Patani Art Space เมื่อราวต้นปี 2561[1]
ตอนนั้นดิฉันได้แต่จดเรื่องต่างๆ ระหว่างการเดินทางไว้คร่าวๆ แล้วกลับมาเร่งงานชำระต้นฉบับหนังสือชุดอ่านนายผีเพื่อให้ทันวาระ 100 ปีชาตกาลของเขาเมื่อกลางเดือนกันยายนปีกลาย
จนกระทั่งมาถึงวันนี้ เวลาผ่านไปหนึ่งปี และบังเอิญว่างานเขียนชุดที่นำมาตั้งเป็นชื่อวงเสวนาวงนี้ก็มีอายุ 72 ปีด้วย ดิฉันจึงอยากจะเล่าเรื่องบางแง่มุมเกี่ยวกับงานในครั้งนี้ ซึ่งทีแรกนั้นดิฉันตั้งใจว่าจะนำงานเขียนของนายผีส่วนที่ว่าด้วยจังหวัดชายแดนใต้ กลับไปคืนให้เจ้าของพื้นที่ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเขียนงานจำนวนมาก แต่การณ์กลับเป็นว่า ดิฉันเองเป็นฝ่ายได้เข้าใจเกี่ยวกับงานของนายผีมากขึ้น
เพื่อนนักกิจกรรมในพื้นที่กลุ่มนี้ บางคนเป็นครู บางคนทำงานมูลนิธิด้านสังคม อีกสองสามคนเปิดร้านกาแฟ และร้านอาหารของตนเอง และบางคนแนะนำตัวเพียงแค่ว่าเป็นนักอ่านหนังสือ แต่ถ้าจะสรุปรวบยอดตามคำของพี่กอฟ ผู้นำทางของดิฉันแล้ว เธอบอกว่านี่คือกลุ่มเพื่อนที่เป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี” ซึ่งทุกคนก็หัวเราะกันครืนโดยไม่มีเสียงค้าน ส่วนดิฉันนั้นนับตัวเองเป็น “ตัวอย่างที่ไม่ดี” จากแปลกถิ่นเพียงคนเดียวในวันนั้น
เราตั้งต้นกันด้วยประวัติชีวิตโดยคร่าวๆ ของนายผีหลังจากที่ดิฉันสอบถามผู้ร่วมงานแล้วพบว่า แทบไม่มีใครรู้จักเขามากไปกว่าที่เป็นผู้แต่งเพลงเดือนเพ็ญ เรื่องนี้ไม่น่าแปลกใจเลย ในเมื่องานเขียนของเขามากมายถูกทิ้งร้างไปเสียนาน เฉพาะเรื่อง “บริเวณ 7 หัวเมือง”[2] นี้ หลังจากที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ระหว่างวันที่ 14-21 มกราคม 2490 แล้ว ก็ยังไม่เคยมีการนำกลับมาเผยแพร่อีก
แต่ข้อที่ประหลาดก็คือ เมื่อเราได้มานั่งอ่านงานเขียนชุดนี้กันใหม่ในเวลาบ่ายคล้อยของวันที่ 14 มกราคม 2561 ดูเหมือนทุกคนในที่นั้นจะรู้สึกตรงกันว่า นอกจากข้อมูลเชิงกายภาพของพื้นที่จะลงลึกในรายละเอียดอย่างน่าทึ่งแล้ว บรรดาปัญหาคับข้องใจของผู้คนเมื่อ 70 ปีก่อนก็ยังคงอยู่ ไม่ได้คลี่คลายไปสักเท่าไร
อย่างไรก็ดี เมื่อมีคำถามแรกแว่วขึ้นมาจากหญิงสาวผู้มีดวงตาแจ่มใสคนหนึ่งว่า “ทำไมนายผีจึงตั้งชื่อตัวเองอย่างนี้” ในตอนนั้นดิฉันนึกถึง “ฟาตีมะห์” ตัวละครเอกที่นายผีเขียนถึงในงานของเขาขึ้นมาทันที
และอยากให้เจ้าของนามปากกาได้มาแถลงเกี่ยวกับตัวเขาเองเหลือเกิน เขาคงดีใจเป็นที่สุด หากได้ยินคำถามนี้จากคนรุ่นใหม่ที่กำลังพยายามร่วมมือกันนำสันติคืนสู่ “ปาตานี”
ดิฉันเล่าต่อว่าจากการสำรวจงานเขียนเกี่ยวกับชายแดนใต้เท่าที่มีอยู่ราว 20 เรื่อง พบว่า ทั้งหมดตีพิมพ์เผยแพร่ในระยะเวลาคาบเกี่ยวก่อนและหลังรัฐประหาร วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ไปจนถึงปี 2495 โดยเป็นงาน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มบทความหรือบางครั้งเรียกว่าสารคดี กับกลุ่มเรื่องสั้นซึ่งบางทีเรียกว่านิทานการเมือง แต่รูปแบบการเขียนของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ
งานเขียนในระยะเริ่มต้นมักเป็นบทความ สารคดี และบทบรรณาธิการ ซึ่งเป็นงานในเชิงเนื้อหาสาระ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้คนและพื้นที่สุดปลายชายแดน ทั้งในเรื่องภาษา ศาสนา วรรณคดี และการเมืองการปกครอง ตัวอย่างก็เช่น “ความเกี่ยวข้องของภาสามลายูไนภาสาไทย”, “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร”, “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” รวมทั้ง “บริเวณ 7 หัวเมือง” ซึ่งนายผีเขียนต่อเนื่องกันถึง 6 วัน เป็นต้น
แต่หลังรัฐประหารปี 2490 ซึ่งจะตามมาด้วยการจับกุมผู้นำสำคัญของชนมุสลิม คือท่านฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดอร์ โต๊ะมีนา[3]ในวันที่ 16 มกราคม 2491 และกรณีดุซงญอที่นราธิวาส ในปลายเดือนเมษายนปีเดียวกัน งานเขียนเกี่ยวกับบริเวณ 7 หัวเมือง เปลี่ยนไปเป็นนิทานการเมืองและเรื่องสั้นมากขึ้น ซึ่งในทางรูปแบบดูเหมือนงานลำลอง ไม่เป็นทางการมากนัก แต่เมื่ออ่านในเนื้อหา เรื่องแต่งเหล่านั้นกลับสนับสนุนการต่อต้านอำนาจกดขี่ และการไม่ยอมจำนนของผู้คน อย่างชัดเจนและหนักแน่นเสียยิ่งกว่างานในกลุ่มบทความ
ในตอนนั้นดิฉันเพิ่งรวบรวมต้นฉบับต่างๆ ของนายผีมาได้และยังไม่ได้อ่านในรายละเอียดมากพอ จึงได้เลือกเฉพาะงานชุด “บริเวณ 7 หัวเมือง” ไปอ่านด้วยกันในวงพูดคุยซึ่งจัดในพื้นที่ที่นายผีเคยมารับราชการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยนาน 2 ปีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2
ดูเหมือนนายผีเองก็เตรียมการเขียนงานชุดนี้อย่างดีด้วย
เพราะปรากฏว่ามีโฆษณาแจ้งให้ผู้อ่านทราบก่อนหน้าที่สารคดีชุดนี้จะตีพิมพ์หลายวันทีเดียว และแน่ละ คราวนี้เขาใช้นามปากกา “อ.ส.” อย่างมีจุดมุ่งหมาย !!!
“ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ขึ้น จักด้วยความโอ้อวดดีประการใดก็หามิได้ แท้จริง ย่อมหวังประโยชน์แต่จะกระชับสายสัมพันธ์ อันมีมาแต่กาลนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเท่านั้น หากเปนพระประสงค์แห่งพระเปนจ้าวผู้ทรงมเหศวรศักติ!
-อินษะ อัลล่ะห์ อัลละหู อักบาร-”
ฉันอ่านข้อความล้อมกรอบที่มีอยู่ในสารคดีพิเศษทุกตอนแล้วก็อธิบายว่าในบรรดา 20 นามปากกาของนายผี มีเพียงงานเกี่ยวกับชายแดนใต้ของ อ.ส. เท่านั้นที่มีรูปบุคคลประกอบด้วย แต่ทันใดนั้นเอง
“หมวกที่ใส่อยู่นี้ไม่ใช่กาปีเยาะ แต่เรียกว่าซงก๊อก (songkok)” เสียงหนึ่งดังขึ้นมา แล้วฉันก็ยิ่งตื่นเต้นเมื่อใครต่อใครช่วยกันอธิบายต่ออีกว่า “เป็นหมวกแข็งทรงรีๆ หน่อย คนแหลมมลายูนิยมใส่กันตั้งแต่ปัตตานี มาเลย์ บรูไน” “หมวกแบบนี้มีอารมณ์ของการต่อสู้ ไม่ใช่แค่เรื่องวัฒนธรรม แต่เป็นเรื่องการรักษาอัตลักษณ์ด้วย” “อย่างตอนนี้มีกระแสทำให้เป็นอาหรับ คือเอากาปีเยาะเข้ามา แต่บางโรงเรียนรณรงค์ให้ใส่ซงก๊อก” และ “ถ้าจะเทียบกับอินโดนีเซียก็คือ ประธานาธิบดีซูการ์โนก็ใส่”
ดิฉันมาย้อนอ่านสิ่งที่จดไว้ตอนนั้นแล้วก็นึกสงสัยว่า เป็นพระประสงค์ของพระเปนจ้าวรึเปล่า ที่พาให้ดิฉันได้มาเข้าใจเรื่องรูป อ.ส. นี้ที่ปัตตานี ตอนนี้ดิฉันพอจะรู้แล้วว่า ทำไมในเรื่องสั้นหลายเรื่องของเขาจึงใช้ฉากหลังเรื่องการเรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย อย่าง “มรฺเดกา สูเปโน มรฺเดก้า!” กับ “จดหมายถึงมิลลี่” หรือแม้แต่บทความ “อินโดเนเซียจักไม่เป็นทาส” นั้น เขาถึงกับใช้นามปากกา “หะยี ซัมซูดิน บิน อับดุลฆานี”
ส่วนเรื่องที่นายผีมักจะเขียนนิทานการเมืองโดยมีตัวเอกชื่อฟาตีมะห์กับกุลิศนั้น ดิฉันอยากเดาว่า เขาจงใจกลับทิศทางของเรื่องเล่าให้ต่างไปจากที่เรามักคุ้นเคยกันว่าพระเอกของเรื่องต้องมีบทบาทนำและคอยช่วยเหลือนางเอก
นายผีคงตั้งใจให้ฟาตีมะห์ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่เป็นมุสลิมและอยู่ที่สุดชายแดน เป็นผู้กระทำการและตัดสินใจเลือกทางเดินไปตามอุดมคติของตน ในขณะที่ชายหนุ่มผู้มีการศึกษาและมาจากจุดศูนย์กลางพระนครอย่างกุลิศ เป็นฝ่ายที่หมกมุ่นกับความรักและมีบทบาทเป็นเพียงผู้สนับสนุน หรือหากว่าเขาจะเข้าร่วมการต่อสู้ทางชนชั้น ก็เป็นด้วยแรงบันดาลใจจากฟาตีมะห์ ผู้อยู่ที่ชายขอบในทุกความหมายเมื่อเปรียบเทียบตัวเอกทั้งสองในแบบคู่ตรงข้าม
นี่คงยืนยันได้ดีว่านายผีทั้งผูกพันและให้เกียรติปัตตานีอย่างยิ่ง
วงเสวนาวันนั้นทอดยาวไปจนค่ำ เพราะดิฉันยังหยิบบางบทตอนจากสารคดีเรื่อง “บริเวณ 7 หัวเมือง” มาอ่านและคุยกันต่อ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชี้ชวนว่า บทบรรณาธิการของสยามนิกร เรื่อง “การเมืองใน 7 หัวเมือง” ซึ่งตีพิมพ์หลัง “บริเวณ 7 หัวเมือง” ราวหนึ่งเดือน อาจจะเป็นชิ้นงานที่ อ.ส. พูดถึงความเดือดร้อนของชนมุสลิมอย่างชัดเจนที่สุด:
ข้อกระทบกระทั่งอย่างแรงที่สุดก็คือ การขัดกันระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนในบริเวณ ๗ หัวเมืองนั้นต้องถูกบังคับให้เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน นอกจากการบังคับให้สรวมหมวกสวมรองเท้านั่งเก้าอี้ ซึ่งเปนการบังคับที่รบกวนตลอดถึงคนไทยภาคต่างๆ เหมือนกันแล้ว ยังมีการบังคับให้คนในบริเวณ ๗ หัวเมืองเลิกนุ่งโสร่ง ซึ่งที่แท้ก็สุภาพสวยดี เพราะไม่ใช่นุ่งอย่างนักเลงกรุงเทพฯ ให้สวมหมวกมีปีกซึ่งคนไทยอิสลามปฏิบัติตามได้ยากในขณะกระทำกิจทางศาสนาบางอย่าง (เช่นการสมายัง) ให้เลิกสวมเสื้อแขนยาวผ้าโปร่ง ซึ่งเปน fashion ของผู้หญิงกรุงเทพฯ สมัยนี้ ให้เลิกนำของทูลหัวไป (ยุนยง) โดยเด็ดขาด ซึ่งเขาไม่สามารถใช้ความชำนาญแบกหามหรือหาบไปได้ ให้ผู้หญิงเลิกไว้ผมมวย และให้ผู้ชายไว้ผมยาวใส่น้ำมัน ซึ่งเปนของขบขันพอดู ให้เลิกพูดภาษาไทยอิสลาม (ที่เข้าใจว่าเปนภาษามลายู) ซึ่งในที่สุดการซื้อขายติดต่อต้องใช้ใบ้กันทั่วไปจนหลือรำคาญ การบังคับให้ผู้ต้องขังกินหมู (รวมทั้งการบังคับให้เลี้ยงหมู) ซึ่งเปนการทำลายศาสนาทางอ้อม เหล่านี้ทำให้เกิดความขมขื่นกันทั่วไป
การศาสนาได้รับความบีบคั้นมากที่สุด ได้มีสังฆมนตรีซึ่งสึกออกมาทำหน้าที่ทางการเมืองอยู่บัดนี้ เดินทางไปโฆษณาพุทธศาสนาเหนือคนไทยอิสลามได้มีการประชุมบรรดาดาโต๊ะ หะยี ในวัดร่วมกับพระ ให้ฟังปาฐกถาของพระบางองค์ ซึ่งมีนัยอันย่ำยีบีฑาฝ่ายอิสลามโดยทางอ้อม มีการประชุมดาโต๊ะ หะยี ให้รับข้อปฏิบัติของทางราชการสมัยนั้น อันเปนไปเพื่อการเผด็จการไปปฏิบัติ ทั้งนี้เปนการกดขี่ในทางศาสนา ซึ่งควรมีผิดตาม กม. ว่าด้วยอาชญากรรมสงคราม
ข้อร้ายที่สุดคือการกล่าวหาบุคคลด้วยมาตรา ๑๐๔ (ซึ่งถูกยกเลิกไปนมนานแล้ว) และ กม. มาตรานี้ได้เปนเครื่องมือกำจัดบุคคลที่หัวรั้นไม่ปฏิบัติตามนโยบายเผด็จการอย่างได้ผลยิ่ง มีข้าราชการบำนาญไทยอิสลามผู้หนึ่งต้องได้รับโทษ และถูกส่งมาจำคุกที่กรุงเทพฯ ไม่เท่าไรก็ตาย และข่าวว่าป่วยตาย การพิจารณาในศาลบางครั้งเปนไปอย่างป่าเถื่อน ศาลได้ใช้วาจาสามหาวต่อจำเลยและพะยาน มีการขู่ตะคอกด่าทอด้วยคำหยาบคาย และร้องเรียกว่า “ไอ้แขก” ซึ่งที่แท้ก็ขัดกับ “นโยบายจอมพลฯ” ทั้งนี้ เพราะผู้พิพากษาโดยมากมีโทษาคติตามวิสัย มีการจับกุมไทยอิสลามให้ญี่ปุ่นใช้ ซึ่งญี่ปุ่นได้ทำความทารุณให้เปนอันมาก ครั้นหนีญี่ปุ่นได้ก็กลับต้องโทษฐานหลบหนีการคุมขังซ้ำอีก การกระทำเพื่อญี่ปุ่นนี้ทำให้น้ำใจคนไทยอิสลามคิดออกห่าง และมีคนที่มีความรู้ดีๆ ต้องคิดผิดไปก่อการกบฏขึ้นเพราะความแค้นเปนมูล
ต่อมาเมื่อสิ้นรัฐบาลเผด็จการแล้ว รัฐบาลใหม่ได้รีบแก้ไขข้อนี้เปนการด่วนโดยตรา กม. ให้ความอุปการะแก่ศาสนาอิสลาม และมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง แสดงให้คนไทยอิสลามทั้งหลายรู้สึกว่า ผลปฏิบัติอันชั่วร้ายซึ่งมีอยู่ในระยะหนึ่งนั้น เปนแต่วิธีการของคนบางคน ไม่ใช่ของชาติ ซึ่งอาศัยภราดรภาพ แลสมภาพ เปนที่ตั้งน้ำใจของคนไทยอิสลามจึงสงบลงได้ ค่อยเปนการดีแก่ชาติบ้านเมือง
ฉะนั้นจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลควรคำนึงถึงบริเวณ ๗ หัวเมืองให้จงหนัก ข้าราชการที่จะส่งไปประจำอยู่ในเขตนี้ ควรได้รับการอบรมในเรื่องนโยบายเปนพิเศษ ไม่ว่าเปนข้าราชการฝ่ายมหาดไทย หรือฝ่ายยุติธรรม ควรจะจัดการทุกอย่างให้เกิดประโยชน์สุขแก่ราษฎรในเขตนี้โดยสมบูรณ์ ควรเร่งรีบในเรื่องการศึกษา ซึ่งเปนต้นตอของความเข้าใจดีในกันและกัน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ข้าราชการแผนกศึกษาธิการจังหวัดได้ “เซ็งลี้” หนังสือเรียนและอื่นๆ จนทำให้การเรียนหนังสือไทยด้อยลงไปกว่าการเรียนหนังสือมลายูอย่างที่เปนมาแล้วโดยขนาดหนัก แหละในที่สุดต้องไม่ลืมว่า การรื้อฟื้นการสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ขึ้นใหม่นั้น จะไม่ใช่บังคับให้คนไทยอิสลามต้องเลี้ยงหมูบ้านละ 2 ตัว ซึ่งความสงบย่อมจะมีอยู่ไม่ได้เพราะเหตุนี้โดยแท้
การเมืองในบริเวณ 7 หัวเมืองควรเปนไปในทางน้ำเย็นแต่อย่างเดียวเท่านั้น.
มีภาวะเงียบงันเมื่อดิฉันอ่านงานชิ้นนี้จบ ใครจะไม่รู้สึกรู้สาในเมื่องานเขียนอายุ 72 ปีกำลังพูดราวกับเป็นเรื่องราวในปัจจุบัน ดิฉันกลับมาคิดทีหลังอีกว่า ที่ทุกวันนี้เรานิยมพูดกันเรื่องทักษะวัฒนธรรม หรือพหุวัฒนธรรมนั้น จะยังทันใช้แก้ไขความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ที่สะสมมาเป็นเวลานานได้หรือไม่ แต่ดูเหมือนเพื่อนๆ ในวงสนทนาเมื่อปีที่แล้ว จนวันนี้พวกเขาก็ยังตั้งใจทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงปาตานีให้สงบสุข ดิฉันได้แต่ติดตามดูอยู่ไกลๆ ด้วยความชื่นชม อินษ่ะ อัลละห์
ดิฉันนึกถึงภาพนายผีขี่จักรยานในยามเช้าเมื่อ 70 กว่าปีก่อน แล้วมาเล่าให้เราฟังว่าบริเวณ 7 หัวเมืองที่เขาถูกสั่งย้ายไปอยู่จนห่างไกลถึงสุดปลายชายแดนใต้นั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไร
ในเวลาเช้าราว 6 นาฬิกา ถ้าขี่จักรยานผ่านเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆ จะได้ยินเสียงเด็กอ่านหนังสือมะลายูออกเสียงดังๆ พร้อมๆ กันอยู่ตามปอเนาะต่างๆ ซึ่งอยู่ห่างกันไม่เกินปอเนาะละ 10 เส้น บางทีก็อยู่ติดๆ กัน เมื่อเสร็จจากการเรียนหนังสือมะลายูแล้ว จึงไปเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนประชาบาลต่อไป และเมื่อกลับจากโรงเรียนประชาบาลแล้ว ตกค่ำก็ต้องขึ้นปอเนาะอ่านหนังสือมะลายูต่อไปอีก ในเวลาเช่นนั้นจะไม่ได้เห็นเด็กแม้แต่สักคนหนึ่งมาเล่นอยู่ข้างทางเลย และน่าปลาดจริงๆ ที่เด็กเล็กๆ อายุราว 7-8 ขวบ คนหนึ่งแต่งกายสวยสะอาด นั่งพลิกกีตับภาษาอาหรับโยกตัวอ่านอย่างแคล่วคล่องอยู่กลางตลาดกตาบารู เมื่อหวนรำลึกถึงเด็กไทยภาคกลางแล้วก็อดเห็นความแตกต่างอันไกลกันลิบนั้นไม่ได้
ไปปัตตานีคราวหน้า ดิฉันจะตื่นนอนแต่เช้า
แล้วออกไปหาจักรยานสักคัน.
[1] การเดินทางไปปัตตานีระหว่างวันที่ 13-15 ม.ค. 2561 ก็เพื่อตามหาร่องรอยและค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับชีวิตและการงานของอัศนี พลจันทร ผู้เคยเป็นอัยการอยู่ที่นั่นนาน 2 ปีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ขอขอบคุณพี่กอฟกับแบมะ อะลาดี ที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ ตลอดการเดินทาง ขอบคุณเพื่อนๆ นักกิจกรรมที่ให้ที่พักพิงและมาร่วมวงเสวนาเล็กๆ ของสำนักพิมพ์อ่าน และขอขอบคุณ Patani Art Space ที่เอื้อเฟื้อสถานที่
[2] ขอขอบคุณสำนักหอสมุดแห่งชาติที่อนุเคราะห์ให้สำนักพิมพ์อ่านได้เข้าไปสืบค้นหนังสือพิมพ์สยามนิกร ทำให้เราพบงานเขียนอีกมากของอัศนี พลจันทร ภายใต้นามปากกาต่างๆ
[3] ขอขอบคุณ คุณจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ที่ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับท่านอัจยีสุหลง ซึ่งนำไปสู่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์และการช่วยเหลือกันและกันระหว่างท่านฮัจยีสุหลง นายแพทย์เจริญ สืบแสง และอัศนี พลจันทร