วิวรณ์หมอกธุมเกตุ

[For the English-language original “And the Dust Shall Reveal,” click here.]

ดีโยน ณ มานดารูน เขียน
พีระ ส่องคืนอธรรม แปล

ภาพประกอบจากผู้ใช้เฟ้ซบุ๊ครายหนึ่งที่ทำภาพนี้แจกฟรี แต่ปัจจุบันคอมเม้นต์ที่แนบภาพดังกล่าวได้ถูกลบไปแล้ว

 

ถ้ามึงติดแหง็กอยู่บนสะพานไน้นฺธ์อวตารนานพอ ปกติมึงจะมองเห็นเส้นขอบ(ตึกระ)ฟ้าไล่ไปทางทิศใต้จนถึงสะพานโกลเด้นจูบิลีเลย (มองถนนดิมึง! ขับรถประสาอะไรวะ) แต่ช่วงที่ผ่านมาเนี่ยะ มองจากจุดเดิมจะเห็นไปถึงแค่ดงยอดแหลมทางทิศตะวันออก ที่มีตึกหน้าปลวกปานหนูแทะยืนโทนโท่หัวโด่อยู่นั่นแหละ ถัดออกไปตรงนอกริมก็มีตึกรามผีสิงตั้งอยู่เหมือนยักษ์ยอตุนยืนไว้อาลัยทวยเทพ ณ จุดสิ้นชีพิตักษัย บางวันแสงอาทิตย์นอกหน้าต่างข้างที่นั่งประจำของกูจากแปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็นจะเป็นสีฉี่มีน้ำผสมเล็กน้อยถึงปานกลาง สีเหมือนฉากลาสเวกัสใน เจาะอนาคตอันตราย เบลด รันเนอร์ 2049 นั่นน่ะ ยังไงก็แล้วแต่ กูชักจะไม่ค่อยแน่ใจแล้วว่าควรเรียกท้องฟ้าว่าท้องฟ้า

ความเชื่อเรื่องกรรม-วิบากจะมีหน้าที่ใช้สอยอะไรเล่าหากมิใช่การเป็นกรอบคิดเรื่องเหตุ-ผลที่อาศัยความเพ้อฝันว่าจะได้ล้างแค้นเอาคืนมาเป็นตัวช่วยทำให้พุทธศาสนิกเข้าถึงมันได้ง่ายๆ? ใครใคร่จะนิยามมันอย่างโลกสวยกว่านี้ก็เชิญนิยามเอาเถิด พออรุณเบิกฟ้าสีเยี่ยวต่อกันหลายวันเข้า กูก็ชักเกิดอยากให้อะไรๆ มันย่ำแย่ลง ให้เชื้อไวรัสสักสายพันธุ์ที่ไม่อาจขจัดจากร่างกายมันระบาดหนักๆ ให้อากาศมันใช้หายใจไม่ได้ขึ้นมาทันที ให้ฯลฯ… ปีศาจน้อยบนบ่ากระซิบวรสารใส่หูกู มันว่ามันปรารถนาให้การมีส่วนรู้เห็นเป็นใจถูกลงทัณฑ์กันอย่างถ้วนทั่ว ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงคำที่ใครเคยบอกว่าเดี๋ยวนี้เรานึกภาพวันสิ้นโลกได้ง่ายกว่านึกภาพวันสิ้นทุนนิยมซะอีก

พล็อตเรื่องวันสิ้นโลกมันมีที่ทางยังไงในเรื่องแต่งแนวเวียร์ด? แบร็ต เดวิดสัน ท้าทายไว้ในงานศึกษาว่าด้วยเวียรดิสต์ชาวบริเตนนาม วิลเลี่ยม โฮ้ป ฮ้อดจสัน ว่าทั้งเวียร์ดฟิคชั่นและไซนฺส์ฟิคชั่นผู้เป็นญาติใกล้ชิด ต่างก็เกิดมาในโลกแวดล้อมของระบอบจักรพรรดิตะวันตก อันเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูที่ทั้งสองไม่ทันคิดคดทรยศเมื่อครั้งยังเยาว์ นั่นแล ด้วยไร้เจตน์จำนงจะจินต์นาการหลุดโลกผิดมนุษย์มนามากเกินไป เวียร์ดิสต์และไซนฺส์ฟิคชเนียร์จำนวนมากในยุคแรกก็ได้แต่เอาวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาเป็นแรงบันดาลใจ ที่เด่นสุดก็เห็นจะเป็นกฎข้อที่สองของอุณหพลศาสตร์ ที่ถูกนำมาขยายจนเห็นผลสุดท้ายของการแตกดับไม่จีรังยั่งยืนของธาตุจักรวาล อาจกล่าวได้ว่านิยายที่โด่งดังที่สุดสองอันดับแรกของ ว.ฮ.ฮ. นั่นคือ เดอะ เฮ้าส์ ออน เดอะ บอร์เด้อร์แลนด์ กับ เดอะ ไน้ท์ แลนด์ (พิมพ์ปี 1908 กับ 1912 ตามลำดับ) นั้นเป็นสุดยอดของพล็อตทำนองนี้ เพราะแม้กระทั่งเวียร์ดิสต์เสาหลักของวงการอย่าง เอช.พี.เลิ้ฟคร้าฟต์ ก็ยังไม่เคยจินต์นาการได้เห็นภาพชัดเจนถึงการดับสูญของจักรวาลเลยในบรรดา “เทพตำนานคทฮูลฮู” ที่เขาเขียน โลกทัศน์ของ ว.ฮ.ฮ. นั้น เดวิดสันจัดประเภทให้เป็นของตัวเองไปเลยว่า “เดอะ ลอง อาพ้อคาลิปส์” หรือ “กลียุคอันยาวนาน”

แทนที่จะหมายความว่า “การเปิดเผยหรือตีแผ่ให้รู้เห็นทั่วกัน” เหมือนอย่างในภาษาสํสกฤตว่า วิวรณ “กลียุคอันยาวนาน” ของ ว.ฮ.ฮ. กลับฉีกนัยเป็น “การสิ้นโลกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน: ไม่มีอะไรถูกเปิดเผยอย่างฉับพลันทันที หากแต่ค่อยเห็นผลชัดขึ้นเรื่อยๆ ตามการเพิ่มพูนของความรู้” ตัวละครเอกไม่ทราบชื่อของ เดอะ เฮ้าส์ ออน เดอะ บอร์เด้อร์แลนด์ โลดแล่นผ่านอสงไขยกัลปาวสาน เป็นสักขีพยานแห่งการดับสูญของปฐพีตั้งแต่เริ่มการดับสูรย์จนกระทั่งสิ้นสูรยจักรวาล ส่วนในเรื่อง เดอะ ไน้ท์ แลนด์ ซึ่งมีขั้นตอนการสิ้นโลกแบบเดียวกันแต่อยู่คนละจักรวาล เล่าเรื่องปราการสุดท้ายของมนุษยชาติในอนาคตอันไกลโพ้นสมัยที่ดวงตะวันดับสนิทแล้ว เล่าเรื่องความสยดสยองที่ปิดล้อมแหล่งลี้ภัยและจู่จับจิตใจคนในที่แห่งนั้น สำหรับฮ้อดจสันแล้ว ณ จุดจบของจุดจบจะไม่มีพระผู้ไถ่และจะไม่มีโลกใหม่รออยู่ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ด้วยเหตุที่เขามีชีวิตอยู่ถึงแค่ช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งเป็นยุคสมัยที่ไม่มีวี่แววหวือหวาว่าจะเกิดภัยพินาศเชิงนิเวศระดับโลก ฮ้อดจสันก็จนปัญญาจะกล่าวโทษโยนบาปให้ใครหรือสิ่งใดอย่างเป็นรูปธรรม

พล่ามมาถึงตรงนี้ กูต้องสารภาพก่อนว่ากูแทบไม่รู้ห่าอะไรเลยเรื่องนิเวศวิทยา เรียนในห้องก็ไม่เคยเรียน เคยอ่านอยู่แค่อย่างเดียวคือบทความ มนุษโยซีน, ทุนนิยโมซีน, ไร่ไพศาโลซีน, คฮทฮูลฮูซีน: สร้างสานว่านเครือ เขียนโดย ดอนน่า แฮราเว สำหรับวารสาร มนุษยศาสตร์เชิงสิ่งแวดล้อม ฉบับ 6 ต้องสารภาพอีกอย่างว่าที่กูอ่านก็ไม่ใช่เพราะสนใจนิเวศวิทยาดอก กูแค่อยากรู้ว่าอีอีโค่เฟมินิสต์จะเอาชื่อสัตว์ปลาดอันโด่งดังของเลิ้ฟคร้าฟต์ไปทำประโยชน์อะไรได้

“คฮทฮูลฮูซีน” บ่งชี้ถึงยุคทางนิเวศที่ผู้คนและสปีชีส์นานาพันธุ์ต้องมาอยู่ด้วยกันและตายด้วยกันเพื่อจะหาทางเฟื่องฟู ยุคทางนิเวศนี้ต่อท้ายยุคอื่นๆ บ้าง ดำรงควบคู่กันไปกับยุคอื่นๆ บ้าง อย่างเช่นยุคมนุษโยซีน ยุคทุนนิยโมซีน ยุคไร่ไพศาโลซีน ยุคฯลฯโอซีน การหยิบคำประดิษฐ์ของเลิ้ฟคร้าฟต์มาใช้นี้ในแว้บแรกอาจดูไม่ได้เรื่องได้ราว เพราะยังไงๆ แล้ว “คทฮูลฮูผู้ยิ่งใหญ่” ก็เป็นร่างอวตารของความบ้าคลั่ง การทำลายล้าง และนามธรรมต่อต้านชีวิตอย่างอื่นๆ แฮราเวชี้ให้พินิจความต่างในการสะกดคำอันแปลกปลาดนี้ ให้เห็นความหมายใหม่ที่แตกหน่อขึ้นมา “คฮทฮูลฮู” ของแฮราเว ประกอบกันขึ้นมาจากสองส่วน หนึ่งคือ “คทฮูลฮู” อันเป็นการพันเกี่ยวสัตว์สาวาสิ่งรโยงรยางค์อย่างชวนประหวัดถึงหนวดปลาหมึกยักษ์บนพระพักตร์ของเทพเจ้าต่างดาว และสองคือเติม “ฮ” เข้าอีกหนึ่งตัวจาก “คฮทฮอนิค” อันเป็นขุมพลังเก่าแก่ใต้ปฐพีที่มีศักยภาพแห่งการปลดปล่อยมากกว่าเมื่อเทียบกับมารมืดจากดาวดึกดำบรรพ์ของเลิ้ฟคร้าฟต์

ศิษย์สกุลเวียร์ดอาจรู้สึกคันปากอยากถามต่อว่าอ้าวงั้นทำไมไม่เขียน “คฮทฮอโนซีน” ไปเลย ไม่ต้องเอาเลิ้ฟคร้าฟต์มาเอี่ยวกับความฟูมฟายของมนุษย์โดยมนุษย์เพื่อมนุษย์ได้มะ? กูคิดงี้นะ: การที่แฮราเวได้เอาพลังสองอย่างมาประสานงากันเนี่ย ก็เป็นการยอมรับกลายๆ ว่ามีการฟาดฟันกันอยู่โดยไม่รู้ว่ามันจะออกหัวหรือออกก้อย แล้วอีกอย่างนะ ไม่ต้องมาพูดเลยว่าอย่าเอาเลิ้ฟคร้าฟต์มาเอี่ยว มันพ้นสมัยไปนานแล้วกับไอ้สุนทรียะสูงส่งเกินกว่าจะลดตัวลงมากลั้วเกลือก มรฎกใดๆ ในโลกจักต้องถูกเพ่งเล็ง ผนวกกลืน และเปื่อยเป็นปุ๋ยทั้งนั้น นี้แลก้าวเล็กๆ สู่ชัยชนะของพระแม่ปฤถวี

กูพูดมาเสมอว่ากลียุคน่ะเราท่านอยู่กันมานานแล้ว มิใช่เราๆ ท่านๆ หรือ เหล่าสักขีพยานที่โลดแล่นอยู่ในนิยายหลอกเด็กเก่าๆ แก่ๆ? มิใช่เราๆ ท่านๆ หรือ เหล่ามนุษย์ผู้ต้องชดใช้กรรมชั่วอย่างที่บรรดาอัจฉริยศิลปินไม่คาดคิดว่าจะเป็นได้เช่นนี้และเป็นกันขนาดนี้? พวกเราคือโอบะ โยโซ ผู้สูญสิ้นความเป็นคน ผู้โยนกระสอบข้าวทิ้งไปล้านกระสอบในมื้อเดียว พวกเราคือเด็กน้อยตรงปลายทางหม่นเทาของแม็คคาร์ธี่ พวกเราคือคนกินคนและคนที่คนกินสลับไปมา ในหมอกธุมเกตุที่ปกเกล้าคุมเกศจนคัดจมูกน้ำมูกน้ำตาไหลนี้ ในเทศะกาละของหน้ากากนี้ ในท่อนโหมโรงหรือท่อนเชื่อม—แต่มิใช่ท่อนธรณีกันแสง—ที่พวกเรากระสันอยากได้สัมผัสนี้ จะสูดลมหายใจเข้าลึกๆ บ้างก็ไม่หนักหนาอะไรหรอก.

๑ สำหรับราษฎรตาดำๆ ริมแม่น้ำหลอดส์ เราอาจเรียก “ทุนนิยม” เสียใหม่ว่า “ระบอบแห่งความรุ่งโรจน์อันเป็นนิรันดร์” เพื่อให้กินความครอบคลุมกว่า

๒ เป็นการฉีกแนวที่น่านับถือแต่ก็รุงรัง เพราะคำศัพท์แบบเลิ้ฟคร้าฟต์นั้นโดยมากแล้วจะออกเสียงได้หลายรูปแบบ สำหรับชื่อ “คทฮูลฮู” นี้ ส.ต.โชษี กล่าวในเวทีเสวนา NecronomiCon ปี ๒๕๕๖ ไว้ว่า เนื่องจากคำนี้ไม่ใช่คำที่มีไว้ให้มนุษย์ใช้ออกเสียงจากเส้นเสียงในลำคอ หากจะสะกดผิดแผกกันไปบ้างอย่างไรก็ไม่เสียหาย ตัวเขาเองก็เลือกที่จะอ่านออกเสียงคำนี้ว่า “คลูลู” ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร

๓ ธุมเกตุ หมายถึง ฝุ่นหมอกที่เกิดขึ้นผิดธรรมดา ธุมแปลว่าควันไฟหรือหมอกควัน เกตุคือพระเกตุ ดาวที่เป็นลางบอกเหตุร้ายตามหลักวิชาโหราศาสตร์ ธุมเกตุ จึงหมายถึงหมอกควันอันสำแดงให้เห็นโดยพระเกตุ ส่อนัยถึงเหตุวิปโยคแห่งบ้านเมือง