มนุษย์ล่องหน คนอันตรธาน ในจักรวาลของแอมโบรส เบียซ

[For the English-language original “Ambrose Bierce Would Probably Die Here,” click here.]

ดีโยน ณ มานดารูน เขียน
พีระ ส่องคืนอธรรม แปล
ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการแปล

พระมหากษัตริย์, น. บุคคลผู้ข้องแวะอยู่กับการครองราชย์ . . . ในรุสเซียและแดนบูรพา พระมหากษัตริย์ยังมีอิทธิพลอยู่พอสมควรในกิจการสาธารณะและการหลุดเลื่อนของตำแหน่งศีรษะมนุษย์ . . .

รัฐบาลอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, น. รัฐบาล.

—นักวัจนานุกรมของพญามาร, ปทานุกรมของพญามาร (นรก [ไม่ก็นิวยอร์ก]: ดอลฟินบุ๊คส์), หน้า 139.

แอมโบรส เบียซ (2385-?)

ประชจจัง เว สัจจา วาจา. มีมุกตลกตกทอดมามุกหนึ่ง เล่าถึงเศรษฐีผู้โอดครวญว่า “เราทนไม่ได้ที่ต้องเห็นพวกง่อยกับพวกยาจกนี่ตามถนนหนทาง จงเข็นพวกมันไปให้พ้นตาเราเสียเดี๋ยวนี้!” ไม่จริงหรอกหรือว่าเศรษฐีผู้นี้ได้พูดแทนใจผู้มีอันจะกินและผู้พอจะพอมีพอกินในกรุงก๊อดส์นี่ แถมยังพูดแทนพระราชหฤทัยทั้งขึ้นทั้งล่องของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งในก้าวแรกสู่พุทธิและวุฒิภาวะ ได้กล่าวกับข้าทาษว่า “เราทนไม่ได้ที่ต้องเห็นพวกง่อยกับพวกยาจกนี่ตามถนนหนทาง จงเข็นเราไปให้พ้นในป่าดงเสียตั้งแต่นี้!” หรือว่าไม่จริง? คำถามก็คือทำไมการประชดเสียดสีต้องแบกรับหน้าที่เป็นตัวบอกสัจธรรมด้วยล่ะวะ? ในบรรดาบรรพชนผู้ให้กำเนิดการเขียนแนวเวียร์ดตามที่ได้รับการรับรองโคตรเหง้าศักราชโดยวงวิชาการ ก็ปรากฏ แอมโบรส เบียซ หัวโผล่โด่เด่นขึ้นมาด้วยฐานะที่มีชื่อเสียงเพิ่มเติมในทางเป็นนักคิดคำคมขำสอนใจ

ศิษยานุศิษย์น่าจะพอรู้จักเบียซกันอยู่แล้ว ด้วยผลงานขึ้นหิ้งอย่าง เดอะแดมด์ธิง, เดอะอินแฮบิเทินท์เสิฟการ์โกซา, และ ฮายีตาเดอะเช็พเผิร์ด ซึ่งมีเนื้อหากระเดียดไปทางแบบฉบับดั้งเดิมของเรื่องแนวสยองขวัญเชิงจักรวาลวิทยายุคก่อนเลิ้ฟคร้าฟต์  แต่อาณาจักรการเขียนของเบียซนั้นก็กว้างใหญ่ไพศาลเสียจนผลงานที่เขาฝากไว้ในทำเนียบวรรณกรรมกระแสหลักยังเลื่องชื่อฦๅชาไปถึงแม้กระทั่งหูของผู้กระตือรือร้นสนใจเรื่องแต่งสัญชาติอเมริกันทั่วๆไป  เบียซเป็นอดีตทหารผ่านศึกสงครามกลางเมืองผู้อยู่ข้างฝ่ายเหนือและอดีตนักหนังสือพิมพ์ในยุครุ่งโรจน์ของหนังสือพิมพ์หน้าเหลืองอเมริกัน เขาถนัดจัดเจนในทางเรื่องแต่งขนาดสั้น โดยมีผลงานหลากไหลตั้งแต่นิทานสงคราม เรื่องเหนือธรรมชาติ ยันเรื่องลวงโลกที่แต่งอย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์  ประเภทหลังสุดนี้เขาเขียนในรูปของข่าวหวือหวาขายให้วิลเลียม แรนดอล์ฟ เฮิสต์ เจ้าของ ซานฟรานซิสโกอิกแซมิเนอร์ ที่มีนักประพันธ์ร่วมเครือส่วนหนึ่งเป็นโคมทองของอเมริกาอย่าง แจ๊ก ลอนดอน กับ แซมเวล เคล็มเม็นส์ แห่งสำนักจิงจูฉ่ายสายพันธุ์เนวาด้า

เรื่องลวงโลกของเบียซรายงานจากปากคำพยานที่น่าเชื่อถือยิ่งถึงประดาเหตุหายตัวอันแปลกปลาดเช่นว่า ชายนักวิ่งมาราธอนผู้หนึ่งอันตรธานเป็นอากาศธาตุเมื่อจวนถึงเส้นชัย, ครอบครัวทั้งครอบครัวล่องหนไปในบ้านของตัวเองในคืนหนึ่ง, ชาวไร่คนหนึ่งสะดุดล้มขณะเดินลัดทุ่งแต่ไม่มีใครเห็นสิ่งใดหรือผู้ใดลุกกลับขึ้นมาอีกจากตรงจุดนั้น และอีกสารพัดสารพัน  เรื่องราวเหล่านี้กระโดดจากหน้ากระดาษไปเป็นเรื่องเล่าปากต่อปากในไม่ช้า จนกลายเป็นตำนานร่วมสมัยที่ไม่ทราบแหล่งที่มาแน่ชัด เบียซล็อกคอชาวบ้านร้านตลาดอเมริกันผู้บริโภคสื่อให้ต้องสบตากับความกลับกลอกของตนเอง

ในขณะที่ผู้ด้อยประสบการณ์อาจรู้สึกอยากอ่านเรื่องราวเหล่านี้ตามครรลองของไซไฟ มุมมองสายเวียร์ดิสต์น่าจะนำมาเทียบให้เห็นได้แม่นกว่าถึงภาวะสิ้นหวังในใจสิ่งมีชีวิตแดนบูรพาที่ศีรษะจะเลื่อนหลุดจากบ่าได้ทุกยามตามแต่อาณัติจะอำนวย  ทั้งนี้ โดยกระทำการผ่านรัฐบาล พระมหากษัตริย์ชาวไทยได้บรรลุภาพภาวะดุจเดียวกันของการวางเฉยปลอดความพัวพันใด ภาพภาวะโดยธรรมชาติของพลังจักรวาลอันไม่อาจมีใครถามหาความรับผิดชอบได้เฉกเช่นในเรื่องลวงโลกของเบียซ  เกิดอะไรขึ้นกันแน่กับคนเหล่านั้น? ทำไมต้องเป็นพวกเขา? แล้วกูจะหายวับตามไปอีกคนไหม? ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้ ไม่ว่าในกรณีของชายนักวิ่งมาราธอน, ของครอบครัวในบ้านผีอำ, ของชาวไร่ผู้ล้มหัวคะมำ หรือในกรณีของชาวไทยผู้เห็นต่างจากรัฐผู้ถูกบังคับให้สูญหาย

แต่ชาวเวียร์ดิสต์ย่อมตระหนักได้ว่าภาพภาวะที่อยู่เหนือพ้นการประทุษร้ายทั้งปวงนี้ถึงที่สุดแล้วก็เป็นเล่ห์มายา  ลองย้อนคิดถึงตัวเอกตามแบบฉบับของเลิ้ฟคร้าฟต์ผู้กรีดร้องอย่างบ้าคลั่งเมื่อได้พบเจอความรู้จากเผ่าพันธุ์เอเลี่ยนดึกดำบรรพ์อย่างจะๆ มิใช่ว่าสิ่งที่เผยออกมานั้นสะเทือนขวัญเกินจะรับได้หรอก หากแต่เป็นตัวเอกนั่นเองที่สติสัมปชัญญะไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นได้เมื่อจินตภาพที่เคยมีมาตลอดต่ออำนาจใหญ่ต้องมาเผชิญหน้ากับความรู้นี้แบบเพียวๆ  ตัวเอกตามแบบฉบับของเลิ้ฟคร้าฟต์เก็บเรื่องลี้ลับให้พ้นสายตาสาธารณชนเพียงเพื่อจะยืดเวลาดื่มด่ำดำดิ่งในความกลัวสิ่งลี้ลับนั้นอย่างภิรมย์พิเรนทร์  ดุจเดียวกัน ก็เป็นรอแยลลิสต์พิเรนทร์เสียสติผู้ที่ไม่อาจยินยอมให้จินตภาพต่ออำนาจหลวงต้องมาประจัญหน้าความจริงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์อย่างหมดเปลือก และในเมื่อพวกมันก็ปราศจากหัวคิดที่จะทำให้ความเป็นจริงทุเลาเบาบางลงจนพอจะอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ก็สมควรที่จะเก็บภาษีพวกมันให้จงหนักเพื่อชดเชยให้แด่นักประชดเสียดสีผู้มอบอารมณ์ขันและทัศนคติเย้ยหยันโลกให้เป็นบริการแก่สาธารณะโดยไม่ถูกเห็นค่า

ในวัยสนธยา บางทีเบียซคงมีคำนิยามของความเป็นผู้ถูกเนรเทศฉบับพญามารอยู่ในใจตอนที่เขาตัดสินใจเดินทางลงใต้ต่อไปหลังเสร็จจากการแวะเวียนไปตามสมรภูมิในอดีตของตน แล้วหายตัวไปเสียเองอย่างไร้ร่องรอยในความชุลมุนฝุ่นตลบของการปฏิวัติเม็กซิโก  ด้วยภัยคุกคามของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่กำลังคืบคลานเข้ามา การพยายามตามหาเขาก็ทำกันอย่างรวบรัด หลักฐานวันวารสุดท้ายของเบียซหลงเหลือแต่เพียงในตำนานกล่าวขานตามท้องถิ่นและเพลงกลอนเล่าเรื่องรอบกองไฟ แหละถึงแม้นไม่มีกองกระดูกอยู่ใต้แผ่นศิลาจารึกชื่อของเขา กูก็มีใจอยากคิดว่าต้องมีมูลความจริงอยู่บ้างแหละในเรื่องราวเล่าขานถึงตาแก่ฝรั่งผิวขาวที่สู้รบและตกตายโดยไม่ถูกฝังในทุ่งไหนสักแห่งที่โอฆินากา.

ผู้ถูกเนรเทศ, น. ผู้รับใช้ประเทศของตนด้วยการอาศัยอยู่ต่างแดน ทว่ามิได้เป็นเอกอัครราชทูต.

 

 

หนังสือพิมพ์หน้าเหลือง, น. ศิลปะการเล่นแร่แปรธาตุ ที่ซึ่งคำลวงสองส่วนกับคำประชดเสียดสีหนึ่งส่วนรวมกันแล้วเท่ากับยอดที่สูงขึ้นในบัญชีธนาคารของผู้พิมพ์ ผลข้างเคียงอาจได้แก่ความเสื่อมสมรรถภาพทางอุดมการณ์ในหมู่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เขาว่ากันอย่างนั้น และถึงแม้จะสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง สูตรนี้ก็ยังถือเป็นมาตรฐานอยู่ในแดนบูรพา โดยเฉพาะในราชอาณาจักรที่เป็นที่รู้จักกันในอดีตว่าสยาม
จริงอยู่ที่เบียซเคยบุ้ยใบ้ไปถึงมิติคู่ขนานและเรขาคณิตแบบนอนยูคลิเดียนในเรื่องลวงโลกเรื่องหนึ่ง แต่เท่าที่กูรู้ นั่นเป็นเพียงหนเดียวที่มีการอ้างอิงแนวคิดวิทยาศาสตร์ไม่ว่าแท้หรือปลอมในบรรดาเรื่องแต่งขนาดสั้นทั้งหมดของเขา
กูแนะนำให้ไปหาอ่าน เวรี่ทรัสต์เวิร์ธีวิตเนสเสิส เรียงความที่ให้ความเพลิดเพลินยิ่งนักของกวีนามฟอร์เรสต์ แกนเดอร์ ว่าด้วยตำนานเล่าขานถึงความตายหลากหลายรูปแบบของเบียซ