กลับไปอ่าน “ผีมะขาม” : เรื่องผีสุดขำ (ขื่น) ของกุลิศ อินทุศักดิ์

“ผีมะขาม” ในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร 15 ธันวาคม 2489

ในระยะสองสามปีหลังมานี้เรื่องแนวผีสยองขวัญดูเหมือนยิ่งวันยิ่งมาแรงในแวดวงหนังสือ มีหลายครั้งข้าพเจ้านึกประหวัดไปถึงคุณอัศนี พลจันทร ผู้ประกาศตนว่าเป็น “นายแห่งผี” และขันอาสาปราบผีร้ายในสังคมไทยด้วยกาพย์กลอนของเขา  แน่ล่ะ นามปากกา “นายผี” เคยโด่งดังเป็นอย่างมาก แต่ข้าพเจ้านึกไม่ออกว่างานประเภทเรื่องสั้นของเขามีเรื่องไหนที่เข้าแนว “ผีๆ” บ้างไหม?  นี่จึงเป็นวาระให้กลับไปสำรวจงานนายผีอีกครั้ง

ในกลุ่มนิทานการเมืองและเรื่องสั้นราวห้าสิบเรื่องของเขา มีเพียงเรื่องเดียวคือ “ผีมะขาม” ที่มีชื่อเรื่องคล้ายจะเป็นเรื่องผี แต่เมื่ออ่านๆ ไป ไม่ปรากฏว่ามีผีร้ายตนใดออกมาแลบลิ้น ปลิ้นตา หรือเห็นแต่หัวกับไส้พุงลอยเป็นกระสือให้คนอ่านรู้สึกขนหัวลุกตามขนบเรื่องผีในสมัยก่อน

กุลิศ อินทุศักดิ์ เขียนเรื่องสั้นนี้อย่างติดตลกเสียด้วยซ้ำ เขาเล่าเหตุการณ์โดยเสียดสีทั้งชีวิตตนเองและสภาพสังคมขนานกันไป หรือจะว่าไป “ผีมะขาม” คือการปะทะกันของความเชื่อดั้งเดิมอย่างเรื่องผีกับเรื่องตลกร้ายของชีวิตข้าราชการไทยที่เป็นของสมัยใหม่ ทว่ามาเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำใน พ.ศ. 2489 ถึงขั้นที่กุลิศบรรยายไว้ว่า “ค่าเงินบาทต่ำกว่าราคาแมวไทยตัวหนึ่ง”

นายกุลิศตัวเอกของเรื่องรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด “กะจ้อยร่อยริมกรุงเทพฯ พระมหานคร” เขายากจนผิดกับข้าหลวงคนอื่นๆ เพราะไม่มีมรดกตกทอดจากปู่ย่าตายายที่ขูดรีดเอาเปรียบชาวบ้านโดย “สูบเลือดของปูสองขาทั้งหลายมาไว้สำหรับความสุขของบุตรหลาน”  ข้าราชการอย่างเขาจึงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายทุกทาง เขามีเครื่องแบบตรวจราชการเพียงสองชุด “มีมุ้งปุปะหลังหนึ่งนอน 3 คนด้วยกันกับบุตรภรรยา”

นายกุลิศเกลียดคำว่าสามี ภรรยา และบุตร เขาว่าคำทั้งสามเป็น “คำล่อลวงแลทารุณ” เขาไม่อยากให้ใครเป็นเจ้าของใคร ไม่อยากให้ใครเป็นภาระของใคร ครอบครัวเขามีความสุขตามอัตภาพ เพราะ

“ข้าพเจ้าไม่ใช่สามี ภรรยาข้าพเจ้าก็ไม่ใช่ภรรยา บุตรก็ไม่ใช่บุตร หากแต่เปนเพื่อนกันทั้งสามคน”

นี่ควรนับว่าเป็นความคิดที่ล้ำสมัยทีเดียว แต่กุลิศ อินทุศักดิ์ยิ่งล้ำและเล่าอย่างหน้าตายต่อไปอีก ว่าในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ขณะนั้น นายกุลิศถึงกับไม่สวมเครื่องแต่งกายใดๆ เมื่ออยู่ภายในบ้าน เขาติดป้ายหน้าบ้านว่า “ไม่รับแขก” เพราะ “ข้าพเจ้าเบื่อที่จะไล่บุตรภรรยาไปหลังบ้าน และเบื่อที่จะสวมเสื้อกางเกงคือเครื่องแบบตรวจราชการชุดใดชุดหนึ่งนั้นเอง ออกมารับแขก” เขาเกรงว่าหากเผอิญแขกเป็นตำรวจ “ก็จะพาลจับข้าพเจ้าไปขังหาว่าทำอนาจารหรือผิด พ.ร.บ.วัฒนธรรม” จากนั้นเขาก็สาธยายประโยชน์ของการนุ่งน้อยห่มน้อยต่อไป

วันหนึ่ง ภรรยาของกุลิศได้มาปรึกษาเรื่องจะขอแรงเขาโค่นต้นมะขามใหญ่หลังจวนข้าหลวง เพื่อจะใช้ไม้มะขามทำฟืนหุงข้าว ทีแรกกุลิศเกี่ยงงอนโดยอ้างว่าการโค่นต้นไม้ใหญ่จะทำให้เทพารักษ์โกรธเคืองและให้โทษได้ ที่จริงเขามักมานอนอ่านหนังสือในยามเย็นใต้ต้นมะขามใหญ่นี้

ภรรยาผู้มีความคิดอ่านทันกันกับสามีจึงไม่เพียงเสนอข้อถกเถียงถึงความแตกต่างระหว่างเทพารักษ์กับผี เธอว่าเทพารักษ์ย่อมมีแต่ให้คุณ ผู้ให้โทษมีแต่พวกผี เธอยังแนะกุลิศด้วยว่าหากใช้ไม้ฟืนแทนถ่านที่มีราคา “หาบละ 20 บาท” เขาจะมีเงินเก็บหอมรอมริบไว้ซื้อพจนานุกรมอาหรับเล่มโปรดได้เร็วขึ้นอีกด้วย เมื่อสองฝ่ายต่างสมประโยชน์ จึงพากันเลิกสนใจว่าเทพารักษ์จะอยู่อย่างไรเมื่อไร้ต้นมะขาม

ทว่า ให้หลังเพียงหนึ่งสัปดาห์ “ผีมะขาม” ก็ปรากฏตัวอย่างกราดเกรี้ยวเมื่อ “พณฯ รัฐมนตรี” ผู้หนึ่งมาตรวจราชการและพบความผิดร้ายแรงของนายกุลิศเข้าจนได้

“…ที่เลวยิ่งกว่าการทุจจริตนั้นก็คือเวลาอยู่บ้านไม่ใส่เสื้อผ้า ทำให้เกิดความอัปยศอดสูแก่วงราชการเปนอันมาก ส่วนการปฏิบัติราชการนั้น แม้ว่าจะยังไม่บกพร่อง ก็นับว่าเปนคนทำลายทรัพย์ของหลวงอย่างอภัยให้ไม่ได้ คือไปโค่นต้นมะขามเก่าแก่ในจวนมาทำฟืนหุงข้าว … ไม่ยอมซื้อถ่านใช้ ทำอย่างนี้เอาไว้ในราชการไม่ได้ … ต้องไล่ออก”

ทั้งหมดนี้คือข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่รายงานคำแถลงการตรวจราชการของ “พณฯ รัฐมนตรี”

 

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 3

ผู้อ่านลองเดาไหมคะว่ากุลิศ อินทุศักดิ์ จะเขียนเรื่องให้นายกุลิศกับภรรยาของเขามีปฏิกิริยาต่อข่าวผีหลอกข่าวนี้อย่างไร  และระหว่าง “เทพารักษ์” กับ “ผีมะขาม” ใครกันที่ให้คุณหรือให้โทษแก่สองสามีภรรยาผู้มีความคิดอ่านล้ำสมัย

ใช่ค่ะ เรื่องจบแบบตลกเสียดสีตามสไตล์การเขียนของกุลิศ อินทุศักดิ์ แต่เรื่องผีที่ไร้ผีนี้กลับทำให้สะดุ้งเมื่อคิดว่า อันที่จริง ผีบ้าอำนาจนี่แหละที่ยังผลุบๆ โผล่ๆ หลอกหลอนพวกเรามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มันนานขนาดที่ว่า เรื่องสั้นที่ตีพิมพ์ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2489 ยังกลับมาอ่านกันได้อย่างน่าขบขันและขื่นขันจนวันนี้ทีเดียว

หมายเหตุ: “ผีมะขาม” ตีพิมพ์อยู่ใน นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 3 หนังสือในโครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 10 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อ่าน สนใจสั่งซื้ออ่านต่อได้ที่  https://readjournal.org/product/shortstoriesvol3/  ในราคา 125 บาท (ลดจากราคาปก 180 บาท)  หรือหากสนใจงานเขียนของอัศนี พลจันทร ยกชุด 20 เล่ม บรรจุในกล่อง box set ในราคา 1,900 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://readjournal.org/product/naiphee-box-set-extra/