เรื่องสั้น “ความยุติธรรม”

เขียนโดย กุลิศ อินทุศักดิ์
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สยามสมัย เมษายน 2497
พิมพ์รวมเล่มใน นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขึ้นชื่อว่าคุณหลวงนิเทศธรมา ใครๆ ก็รู้จัก!

สาวๆ จะหายใจสะท้อนถี่ เมื่อรำลึกถึงร่างอันสูงโปร่งเต็มไปด้วยสง่าภาคภูมิแห่งท่านผู้พิพากษาผู้สูงเกียรติ แม้มีวัยอันกำลังจะล่วงความกลางคนไปแล้ว ทำไมเล่า? ก็เพราะว่าความเป็นคุณนายท่านผู้พิพากษานั้น ไม่ว่าจะเป็นคุณนายใหญ่หรือคุณนายเล็ก ย่อมจะส่งเสริมความพริ้งของหญิงสาวสวยหรือไม่ก็ตามที ให้เพริดพรายยิ่งขึ้น ท่านผู้พิพากษาเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจราชศักดิ์ ‘สามารถตัดหัวคนได้!’ เขาว่ากันดังนี้ ซึ่งความเชื่อ เก่าๆ ที่ว่าเป็นถึง ‘เจ้าแผ่นดิน’ และ ‘เจ้าชีวิต’ นั้น ยังเป็นที่แน่นแฟ้นอยู่, แม้ในวงราชการ คุณนายของผู้ที่ ‘สามารถตัด หัวคนได้’ ย่อมจะมีราศีของ ‘การตัดหัวคนได้’ เปล่งประเจิดประเจ้ออยู่บ้างไม่มากก็น้อย สุดแล้วแต่หิริแลโอตตัปปะของคุณนายผู้เรืองรัศมีเหล่านั้น และก็ผู้หญิงคนไหนบ้างเล่า, ในสังคมอันคร่ำคร่านี้ ที่จะไม่อยากเป็นฝ่ายหรือสะเก็ดของฝ่ายที่ทรงอำนาจราชศักดิ์พอที่จะข่มหมู่มนุษย์สัตว์ที่อาภัพอับวาสนา ซึ่งเป็นข้าทาสนับแสนนับล้านเหล่านั้น?

ผู้เฒ่าผู้แก่จะสะดุ้งจนตัวงอ เมื่อได้ยินชื่อคุณหลวงนิเทศธรมา ซึ่งมักจะตวาดจนบัลลังก์สะเทือน ในเมื่อเจอกับความงกๆ เงิ่นๆ โง่เง่าและสกปรกโสมมของพยานที่ถูก ‘หมายศาล’ พรากเขาจากท้องไร่ท้องนามาให้การกลางสาธารณชน ผู้ใคร่แต่จะฟังเรื่องราวประหลาดพิสดารต่างๆของคนอื่นแทนดูยี่เก ซึ่งต้องเสียสตางค์ค่าดู ผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อเดินกันมาเป็นทิวแถว จะต้องลนลานทรุดนั่งราบลงกับพื้นริมถนนหลวงอันเต็มไปด้วยฝุ่นขี้ตีน สองมือประนมนบชูเป็นฝักถั่ว เพื่อสำแดงคารวะแด่ท่านผู้พิพากษาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งสวมถุงน่องรองเท้างดงาม นุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินส่งกลิ่นหอมฝาดๆ คละคลุ้ง และสวมเสื้อราชปะแตนแพรสีขาวสะอาดขัดดุมทองลงยา แขวนเหรียญกระดานชนวน เดินเชิดหน้า สวมหมวกไหมปานามาอย่างดีบนศีรษะ คาบบุหรี่ฝรั่ง ควงไม้หวายฉับๆ ไปกลางถนนอย่างไม่แยแส แลเมื่อคุณหลวงนิเทศธรมา เนติบัณฑิตสยามแลอังกฤษ ผ่านเลยไปไกลแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่เหล่านั้นจะลุกขึ้นอย่างเหนื่อยอ่อน ถอนหายใจใหญ่อย่างโล่งอก แล้วออกเดินงุดๆ เป็นทิวแถวต่อไป

เด็กๆ ที่วิ่งเกรียวอยู่ตามตลาดจะร้อง “มาละโว้ย!” ด้วยเสียงอันดัง แล้วก็จะวิ่งพรวดพราดถลาออกจากตรอกซอกต่างๆ มารวมกันเป็นกระจุกใหญ่ แล้วร้องตะโกน “ไปเถอะโว้ย!” อย่างกึกก้องขึ้นพร้อมกันอีกทีหนึ่ง กระจุกเด็กสกปรกเหล่านั้นก็จะแตกฮือออก สร้านและหายสูญไปอย่างเงียบกริบ ในเมื่อได้ยินเสียงรองเท้าหนังอย่างดีของคุณหลวงนิเทศธรมา ‘ผู้ตัดหัวคนได้’ ดังกึกๆ ชัดขึ้นทุกทีเข้ามาทางปากถนน เด็กๆ ที่เคยชินเหล่านั้น รู้ดีว่าไม้หวายคู่มือของคุณหลวงผู้มีใบหน้าสละสลวย แต่มีสีหน้าเคร่งเครียดอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมไม่ยั้งที่จะหวดลงไปบนหลังเล็กๆ ที่เปล่าเปลือยของตน ด้วยโทษฐานเกะกะ!

ชาวเมืองนั้นสั่นหัวในความดุของคุณหลวง แต่ก็ไม่มีใครสักคนเดียวที่จะกล่าวให้ประจักษ์ว่า ที่สั่นหัวนั้น เป็นเพราะกลัวหรือเบื่อหน่าย อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่าง

ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักท่านผู้พิพากษาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ แน่นอน ความเด็ดขาด ความเฉียบแหลม ความยิ่งใหญ่ และประการสุดท้าย ความยุติธรรมของคุณหลวงนิเทศธรมาย่อมกำจายไปในทิศทั้งหลาย

ทุกๆ คนรู้ดี คุณหลวงมีความเด็ดขาดและแกมดุ คุณหลวงมีความเฉียบแหลม สามารถที่จะใช้คารม ‘ปัด’ ข้อพิพาท
ของทนายโจทก์จำเลยให้กระเด็นหวือออกไปจากประตูศาลได้อย่างรวดเร็วและโผงผาง คุณหลวงมีความยิ่งใหญ่ ซึ่งแม้แต่ผู้ว่าราชการจังหวัด แลเทศภิบาลมณฑลก็ยังต้องค้อมหัวให้และถอยหลังกรูด เมื่อสบตาอันถลึงของคุณหลวงเข้าอย่างจัง

และทุกคนรู้ดี คุณหลวงมีความยุติธรรมอย่างเหลือสติกำลัง คุณหลวงจะพูดบ่อยๆ และดังๆ ว่า ท่านตายเสียดีกว่าตัดสินความไม่ยุติธรรม ทุกคนที่ได้ยินจะยกมือขึ้นท่วมศีรษะ ร้องสาธุการสนั่นหวั่นไหว และนี่เองเป็นเครื่องยืนยันอย่างดีเยี่ยมและเชื่อถือได้ว่า คุณหลวงยังไม่เคยตัดสินความไม่ยุติธรรมเลย เพราะคุณหลวงยังไม่เคยตาย แม้แต่สักหนเดียว!

อะไรคือความยุติธรรม? นี่สิเป็นปัญหาที่ไม่มีใครรู้ได้ คุณหลวงพูดผางกลางชุมนุมชนว่า จะไม่ยอมตัดสินลงโทษจำเลยที่ไม่ผิดเลยเป็นอันขาด! จำเลยยกมือขึ้นลูบอกเหมือนตัวได้หลุดลอยลิ่วออกไปจากตะรางแล้วในทันทีทันใดนั้น

“โจทก์เขาฟ้องว่า แกแทงเขา, จริงไหม?”
“จริงขอรับ พระเดชพระคุณ, แต่— ”
“อ๋าย, ไม่เอาน่ะ ไม่ต้องพูดมาก” คุณหลวงตวาดแหว “แกถูกเขาฟ้องว่าแทงเขา จริงหรือไม่จริงเท่านั้น คำเดียว จริงก็รับสารภาพเสีย ได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง ไม่จริงก็สู้ความไป ว่าไง รับว่าไม่รับ?”
“จริงครับ”
“หา, รับสารภาพเหรอ?”
“รับครับ, ผมแทงเขาจริง, เพราะเขาจะยิงผม—”
“ฮะ, ถ้ายังงั้นก็ไม่รับน่ะซี, หมายความว่าแกจะสู้ความยังงั้นเหรอ?”
“ไม่สู้ครับ ผมรับ ผมแทงเขาจริงๆ ครับ ผมไม่สู้”
“แกแทงเขาข้างเดียวนะ, เขาไม่ได้จะยิงจะแย็งแกนะ?”
“จะยิงครับ เขาจะยิง ผมจึง—”
“อ้าว, ก็แกไม่รับน่าซี ไม่รับก็สู้ไป ไม่มีใครว่า—”
“จริงครับ”
“จริงยังไง? เขาจะยิงแกหรือเปล่าเล่า?”
“จะยิงครับ”
“เอ้า, ถ้างั้นสู้ นัดสืบพยานไป สู้ไม่ได้ ติดตะราง ไม่ได้ลด”
“ผมไม่สู้ครับ ผมไม่มีพยาน”
“ไม่สู้ก็ต้องรับสารภาพซี”
“เอาครับ, ผมรับ”
“รับว่าแกแทงเขาข้างเดียวนะ เขาไม่ได้จะยิงแกนะ?”
“เอายังงั้นก็เอาครับ ผมไม่มีพยาน แต่ความจริงเขาจะยิงผมก่อนแท้ๆ”
“ฮะ, ไม่ได้, แกจะรับโดยผิดความจริงไม่ได้ ศาลจะลงโทษคนไปโดยไม่ตรงต่อความจริงไม่ได้ เอ้า, นัดสืบพยานไป—”
“ผมรับครับ รับทุกอย่าง”
“แน่นะ ฉันจะได้จด เขาไม่ได้จะยิงแกก่อนนะ?”
“ครับ ครับ”

ความจริงในศาล กับความจริงนอกศาลไม่เหมือนกัน ความยุติธรรมคือความจริงในศาล เพราะศาลไม่สามารถรับรู้ความจริงนอกศาลได้ นี่คือหลักของความยุติธรรมที่ศาลทั้งหลายได้ถืออยู่

แน่นอน ผู้พิพากษาไม่ใช่เทวดา ใครจะไปตรัสรู้ความจริง, จริงๆ ได้!

และนี่, คือความยุติธรรมที่ศาลทั้งหลายในสังคมแห่งเราทั้งหลายนี้ได้ถืออยู่!

ความยุติธรรมเจ้าข้าเอ๋ย, รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างนี้เองละหนอ!

และก็ด้วยความยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์นี้เองที่ได้บันดาลให้กิตติศัพท์ของคุณหลวงนิเทศธรมาบันลือไป

ทุกคนที่ได้ยิน หดหัว และยอบระย่อ ชูมือเป็นฝักถั่วให้แก่ความยุติธรรมที่คุณหลวงผู้เชี่ยวชาญและเด็ดขาด ได้
จัดสรรขึ้นตามกฎหมาย

ตามกฎหมาย!

อะไรคือตามกฎหมาย?

กฎหมายในสมัยนั้น ใครเล่าเป็นผู้ตราไว้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้? แน่นอน มันไม่ใช่เราๆ ท่านๆ ผู้โง่เง่าเบา
ปัญญาทั้งหลาย

และก็กฎหมายในสมัยนี้อีกเหมือนกัน ใครเล่าเป็นผู้ตรา? มันอาจจะเป็นเราๆ ท่านๆ ที่บุญมาวาสนาส่ง ได้มีโอกาสเข้าไปยกมือพึ่บพั่บอยู่ในรัฐสภาอันบันลือเกียรติ แต่แน่นอน มันไม่ใช่ตาสีตาสา หรือยายมายายมี

ก็ถ้าดังนั้น อะไรเล่า คือความยุติธรรมตามกฎหมาย?

ไม่รู้!

“ไม่รู้ไม่ชี้” สำนวนอันติดปากของคุณหลวงนิเทศธรมามักกล่าว

วันนี้ คุณหลวงนิเทศธรมา ขรึมไปถนัด

เมื่อวานนี้แท้ๆ คุณหลวงยังเบิกบานอย่างแสนสุขใจ ท่านผู้พิพากษาเอามือโอบสะเอวแม่จำเนียร ภริยาคู่ชีพแล้ว
กระซิบ “เธอจ๋า จะมีอะไรในโลกนี้อีกเล่า นอกจากเธอแล้ว ที่จะทำให้ฉันเป็นสุขใจเท่ากับที่จะได้ตัดสินปล่อยจำเลยในคดีอุกฉกรรจ์”

และเมื่อวานนี้แท้ๆ แม่จำเนียรซึ่งเขย่งปลายเท้าขึ้นจูบปากสามีด้วยความรัก ได้ถามอย่างสงสัย “ทั้งๆ ที่ปรากฏว่ามันทำผิดจริงๆ น่ะหรือคะ?”

คุณหลวงผลักแม่จำเนียรออกห่าง
“พิโธ่ ไม่น่าถามเลย” ท่านผู้พิพากษาครางเบาๆ “อยู่กินด้วยกันมาเป็นหลายปี ยังไม่รู้ใจฉัน—ผิดจริงก็ต้องประหารซี ที่ได้ปล่อยก็เพราะมันไม่ผิดต่างหาก”
“มันน่ะใครล่ะคะ”
“ไอ้เบี้ยวที่ฆ่าเจ๊กแตงไงล่ะ”
“อ้าว, คุณขา ก็มันฆ่าเขาแล้วทำไมจะไม่ผิดเล่า?”
“ฆ่าที่ไหน— ”
“ก็เขารู้กันทั่วเมือง แล้วเมื่อกี้คุณก็ว่า—”
“เขาหาว่ามันฆ่าต่างหาก ที่จริงมันไม่ได้ฆ่า”
“ทำไมคุณรู้?”
“ก็พยานมันเหลวหมด ใช้ไม่ได้เลย แตกกันวินาศ ฟังไม่ได้สักปาก!”
“ใครๆ เขาก็ว่ามันฆ่าเจ๊กแตงทั้งนั้น พยานมันแตกก็ส่วนพยาน ที่จริงมันฆ่า” แม่จำเนียรยืนยัน
“ไม่ได้ ไม่ได้ ฉันต้องถือตามคำพยาน คนพูดกันน่ะมันจะพูดยังไงก็ได้ ขืนฟังเรื่องข้างนอกก็เป็นบ้า”
“แล้วมันจะยุติธรรมเหรอ?”
“ยุติธรรมซี นี่ล่ะยุติธรรมล่ะ! นี่ล่ะคือความยุติธรรมในศาลยุติธรรม ซึ่งฉัน, หลวงนิเทศธรมา เนติบัณฑิตสยามและอังกฤษจะได้ให้แก่จำเลย—ไอ้เบี้ยวที่น่าสงสาร!”

แต่แล้ว ในวันนี้ คุณหลวงนิเทศธรมา ผู้มีความเบิกบานว่า จะได้ปล่อยจำเลยคดีฆ่าคนให้พ้นอาญา ก็กลับกระสับ
กระส่าย เซื่องซึมแล้วก็ฮึดฮัด ฮึดฮัดแล้วก็ระโหยใจ

ทำไม?

มันจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย ถ้าเมื่อตอนเช้ามืดวันนี้คุณหลวงจะไม่ไปตีกอล์ฟตามปกติ

แต่ถึงจะไปตีกอลฟ์ มันก็จะไม่เป็นเช่นนั้นเลย ถ้าคุณหลวงจะไม่ได้พบกับยายบางที่ลอบไปเพื่อพบคุณหลวงที่
สนามกอล์ฟนั้น

และมันก็จะไม่เป็นเช่นนั้นไปได้ ถ้ายายบางจะไม่ฟูมฟายน้ำตา เข้าไปกอดขาทั้งสองของท่านผู้พิพากษา ละล่ำละลัก วิงวอน โอดครวญขอไถ่โทษไอ้เบี้ยวลูกชายของแก

“ไม่ได้, ไม่ได้” คุณหลวงสะบัดขาและตวาดอย่างหัวเสีย “แกอย่ามาพูดเรื่องนี้กับฉันเป็นอันขาด ลูกของแกจะเป็นอย่างไรมันต้องแล้วแต่สำนวน ถ้าผิดก็ประหารกัน ถ้าไม่ผิดก็ปล่อย แกจะมาขอให้ฉันช่วยไม่ได้ ฉันต้องรักษาความยุติธรรม”

“พี่โธ่เอ๋ย, พระเดชพระคุณเจ้าขา, ดิฉันมีไอ้เบี้ยวคนเดียวหาเลี้ยง ถ้าไอ้เบี้ยวต้องถูกตัดหัว ดิฉันก็ต้องอดตาย สงสารอีฉันเทอค่าพระเดชพระคุณเจ้าขา แล้วก็ไอ้เบี้ยวมันไม่ได้ไปฆ่าเขาจริงๆ”

“ถ้าไม่จริงศาลก็ปล่อยเอง ฉันช่วยไม่ได้!”
“ก็พระเดชพระคุณไม่ช่วย มันก็ต้องตาย พระเดชพระคุณจะตัดหัวมันนี่เจ้าข้า”

คุณหลวงนิเทศฯ โยนไม้ตีกอล์ฟผลุง
“แกรู้ได้ยังไง ว่าฉันจะตัดหัวมัน?”

“ก็พระเดชพระคุณเชื่อไม่ใช่หรือเจ้าคะ ว่าไอ้เบี้ยวมันฆ่าเจ๊กแตง พยานมาเบิกความว่าไม่รู้ไม่เห็น พระเดชพระคุณยังไม่เชื่อพยาน, พระเดชพระคุณว่าจะเอาพยานเข้าตะรางฐานเบิกความเท็จ โธ่เอ๋ย, พระเดชพระคุณเจ้าขา จริงๆ นาเจ้าคะ, ไอ้เบี้ยวมันบริสุทธิ์จริงๆ นึกว่าเลี้ยงมันไว้เป็นข้าสักคนเทอเจ้าค่ะ”

คุณหลวงนิเทศฯ หัวเสียสุดขีด คุณหลวงอยากเอาไม้ตีกอล์ฟหวดยายบางให้ตายลงไปกับมือ ค่าที่แกอวดดีตรัสรู้ ดูดู๋ ยังพูดกับแม่จำเนียรอยู่เมื่อวานนี้เลย ว่าจะต้องปล่อยไอ้เบี้ยว วันนี้แม่ไอ้เบี้ยวจำเลยกลับตรัสรู้ว่าจะตัดหัวมัน

แต่ท่านผู้พิพากษาจะทำอย่างไร?

รับปาก หรือเออออกับยายบางน่ะไม่ได้แน่ ชื่อเสียงอันหอมฟุ้งของคุณหลวงก็จะกลับกลายเป็นเหม็นฟุ้งไป เพราะตัดสินด้วยความลำเอียง จริงอยู่ ไม่ได้ทุจริตคดโกง กินสินบนใคร และคนจนแทบจะกรอบเป็นข้าวเกรียบอย่างยายบางนี้ ที่ไหนจะมีปัญญาหาสินบนมาให้ ถูกละ, ใครๆ ก็คงจะไม่เห็นว่าหลวงนิเทศธรมา ผู้ทรงความสุจริต กินสินบนยายบาง แต่ทว่า—ใครก็อาจจะพูดได้ว่า หลวงนิเทศธรมาตัดสินคดีไอ้เบี้ยว เพราะเห็นแก่ยายบาง เพราะสงสารยายบาง เพราะเข้าข้างยายบาง หลวงนิเทศธรมาตัดสินความฉันทาคติ ลำเอียงไปเพราะเห็นแก่หน้ากัน!

แล้วทีนี้ หลวงนิเทศธรมาย่างเท้าไปข้างไหน มันก็จะคลุ้งไปด้วยคาวแห่งคำติฉินนินทา

แต่ถ้าลงโทษไอ้เบี้ยวจำเลย มันก็ต้องถึงประหารชีวิต คนที่ไม่ได้ทำความผิดนั้น—

คุณหลวงนิเทศธรมาแทบจะหักคอตนเอง มันเหมือนกับว่ามีความดำมืดอันยุ่งยากพลุ่งปะทะขึ้นมาในกลางหัวใจ

คุณหลวง ท่านผู้พิพากษาที่ทรงศักดิ์, กลัดกลุ้มอยู่เหมือนคนบ้า เดินกลับไปกลับมาอยู่ในห้องหนังสือที่เต็มไปด้วยสมุดตำรากฎหมายทั้งไทยและฝรั่ง เดินกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น ตั้งแต่หัวค่ำจนดึกดื่น ตั้งแต่ดึกดื่นจนค่อนสว่าง

เพราะเช้าวันนี้ จะต้องอ่านคำพิพากษาคดีไอ้เบี้ยวฆ่าเจ๊กแตง แล้วจะทำอย่างไร!

ท่านผู้พิพากษาคิดไม่ตก คิดไป– คิดไป– หน้าที่ขึ้นค้ำคออยู่ และความยุติธรรมนั้นก็ยิ่งใหญ่อยู่ แต่คิดไป–คิดไป–เกียรติชื่อเสียงของตนเองก็สำคัญอยู่

จะทำอย่างไรดี?

แสงตะวันยิ่งส่องฉายสูงขึ้นเหนือขอบฟ้า เกือบจะได้เวลารับประทานอาหารเช้า และนั่นคือ เกือบจะได้เวลาไปศาล

และก็นั่นคือ เกือบจะได้เวลาตัดสินไอ้เบี้ยว!

ท่านผู้พิพากษาแทบจะแผดเสียงร้องให้ก้องห้อง แทบจะกราดเข้าไปทุบตู้กฎหมายให้แตกกระจาย แทบจะหยิบตำรากฎหมายเหล่านั้นขว้างทิ้งลงไปในกองไฟให้หมด

“คุณขา, อาหารพร้อมแล้วค่ะ”
เสียงของแม่จำเนียรเหมือนคำเตือนแห่งพญายม ท่านผู้พิพากษาสะดุ้ง ทอดถอนใจใหญ่ เขาเดินอย่างไม่รู้สึกตัวไปที่โต๊ะอาหาร

ท่านผู้พิพากษาถอนใจใหญ่ ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน

“คุณขา”

ดวงตาของหลวงนิเทศธรมาเหม่อลอย

“คุณขา เป็นอะไรไปคะ” แม่จำเนียรดึงแขนสามีเขย่าค่อยๆ
“เปล่า”
“แล้วทำไมไม่ทาน”
หลวงนิเทศธรมาหยิบมีดเขี่ยหมูแฮมในจาน แล้วก็ปล่อยหลุดมือตกลงถูกขอบจาน
“คุณขา” แม่จำเนียรทำตาแดงๆ “คุณเป็นอะไรไป”
“เปล่า”
“แล้วทำไมคุณเป็นยังงี้”

ปัญหาทั้งหลาย ท่านโบราณาจารย์สอนไว้ ถ้าคิดไม่ตกไซร้ ให้ถามภรรยา

เหมือนแสงสว่างส่องวาบ ลงมาในกลางใจอันมืดมนของท่านผู้พิพากษา

ภรรยาให้ความเห็นอย่างใด ท่านโบราณาจารย์กล่าวต่อ พึงทำตรงข้าม

“เรื่องไอ้เบี้ยว”
“ทำไมคะ?”
“ฉันจะตัดสินวันนี้”
“แล้วยังไงคะ จะปล่อยแน่หรือ?”
“นั่นน่ะซี ฉันหนักใจ”

แล้วท่านผู้พิพากษาผู้เชื่อคำที่ท่านโบราณาจารย์ได้สั่งสอนไว้ ก็เล่าให้แม่จำเนียรฟังอย่างละเอียดลออ เล่าถึงที่ยายบางแกมาอ้อนวอน และเล่าถึงความวิตกกังวลของตนเอง

“ฉันจึงขอความเห็นจากเธอ แม่จำเนียร ว่าฉันควรตัดหัวไอ้เบี้ยวหรือปล่อยมันไปดี”

แม่จำเนียรหวังจะเอาใจสามี หล่อนจับแขนหลวงนิเทศฯบีบเบาๆ

“คุณคะ เมื่อคุณเห็นว่าควรปล่อยมัน คุณก็ควรจะปล่อยมัน คุณเป็นคนรักความยุติธรรม ก็ต้องทำโดยถือความยุติ
ธรรมเป็นใหญ่ เสียงของคนอย่าไปเอานิยายเลยค่ะ ถ้าคดีไม่มีหลักฐานว่ามันฆ่าเจ๊กแตงจริง ก็ควรปล่อยมันอยู่แล้วนี่คะ”

และแล้วตอนสายวันนั้น ไอ้เบี้ยวจำเลยซึ่งท่านผู้พิพากษาเห็นว่าควรตัดสินปล่อยมาแต่ต้น ก็ถูกตัดสินประหารชีวิต ในขณะที่ท่านผู้พิพากษานั่งตะลึงแลดูการฟูมฟายน้ำตาของยายบาง ยายบางแกไม่รู้หรอกว่า ที่ลูกชายสุดที่รักผู้ไปทำความผิดของแกต้องถูกตัดหัวครั้งนี้ ก็เพราะแกลอบไปกอดขาวิงวอนท่านผู้พิพากษาในตอนเช้ามืดวันก่อนที่สนามกอล์ฟนั่นเอง