กรอบโฆษณาเชิญชวนผู้อ่านจองซื้อหนังสือ X.O.GROUP (เรื่องภายในขบวนเสรีไทย) นับว่าเป็นกรอบใหญ่ทีเดียว เมื่อเทียบกับโฆษณาจิปาถะที่เรียงคละปะปนกันอยู่ทางมุมขวาในหน้า 4 ของหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับวันที่ 10 กรกฎาคม 2489
จองเสียวันนี้
X.O.GROUP
(เรื่องภายในขบวนเสรีไทย)
เขียนจากเอกสาร, บันทึก และหลักฐานซึ่งได้รับจากทุกด้าน การสัมภาษณ์ทบทวนกับหัวหน้าใหญ่ และหัวหน้าสายทั้งภายในและภายนอกทุกหน่วย เปิดเผยความจริงหลังฉากเปนครั้งแรก โดยสมบูรณ์
พิมพ์ด้วยกระดาษปรู๊ฟนอก หนา ๕๐๐ หน้า
กำหนดออก ๒๕ กรกฎาคม แน่นอน
สั่งจองก่อนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม เฉพาะสั่งจองจะจะได้หนังสือปกแข็งหุ้ม ๒ ชั้น คาดริบิ้นพิมพ์พิเศษในราคาพิเศษ (ต่างจังหวัดส่งเงินก่อน พร้อมค่าส่ง ๑.๕๐ บาท ได้ที่
ร.พ.ไทยพานิช วรรธนะวิบูลย์ จำลองสาร บำรุงเมือง, เวิ้งนครเขษม, บางขุนพรหม
กรุงเทพฯ จองได้ที่
ศรีมงคล โอเดียนสตอลล์ โชคชัยเชิงสพานช้างโรงสี, หน้าโอเดียน, สี่เสาเทเวศร์
ดิฉันพบโฆษณาชิ้นนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปสืบค้นหนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร ฉบับล่วงเวลาที่หอสมุดแห่งชาติ ในวันเสาร์หนึ่งของเดือนตุลาคม 2560 ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาของการติดตามหางานเขียนของนายผีที่ยังตกหล่นอยู่ เพื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานในวาระ 100 ปีชาตกาลของเขาในเดือนกันยายน 2561
ในวันนั้น สยามนิกร อายุกว่า 70 ปี บรรจุเรียงกันอยู่ในกล่องกระดาษแข็งสีเขียว หนังสือพิมพ์สีเหลืองคร่ำคร่า บางหน้ามีรอยฉีกขาด รูปภาพและเนื้อข่าวถูกตัดหายไปบ้าง ริมขอบหน้ากระดาษหลุดแหว่งวิ่นไปตามสภาพ เมื่อหยิบจับหรือเปิดแต่ละที ยังได้ยินเสียงกรอบแกรบ จนต้องเบามืออย่างที่สุด แน่นอนว่ากลิ่นของหนังสือพิมพ์ยืนยันอายุของมันด้วย
เพื่อนสองคนที่อาสาไปช่วยงานครั้งนี้แนะนำว่า คราวต่อไปเราจะต้องสวมหน้ากากปิดจมูกป้องกันฝุ่น และสวมถุงมือเพื่อช่วยถนอมกระดาษหนังสือ โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องช่วยกันประคองหยิบหนังสือพิมพ์เข้า-ออกจากกล่องเก็บ หรือจัดวางเพื่อถ่ายรูป ดิฉันเห็นด้วย และเราก็ปฏิบัติเช่นนั้นเรื่อยมา
ในระหว่างที่ค่อยๆ พลิกหน้าหนังสือพิมพ์มองหาข้อเขียนของนายผีไปทุกคอลัมน์ ทุกหน้านี้เอง ที่ดิฉันสังเกตเห็นประกาศโฆษณาหนังสือ X.O. GROUP พออ่านรายละเอียดข้อมูลแหล่งที่มา ขนาด รูปเล่ม วิธีสั่งจองและชำระเงิน ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ ก็ฉุกคิดขึ้นว่า สิ่งที่เราเรียกกันว่า ‘พรีออเดอร์’ นั้น มีมาอย่างน้อยก็ 70 ปีแล้ว หนำซ้ำนี่คือพรีออเดอร์หนังสือเล่มสำคัญว่าด้วยขบวนเสรีไทยอีกด้วย ข้อน่าแปลกของโฆษณาก็คือ ไม่ระบุชื่อผู้เขียนหนังสือไว้
X.O.GROUP เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ดิฉันได้เคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว และจำได้ว่าอ่านอย่างตื่นเต้นเมื่อได้รู้ถึงการมีอยู่ของขบวนเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นครั้งแรก
หนังสือเล่มนี้ยังแนะนำให้ดิฉันได้รู้จักและจดจำชื่อ “จำกัด พลางกูร” ไว้ (รวมทั้งชื่อฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาของเขา ผู้มีชื่ออันไพเราะยิ่ง) ในฐานะผู้ยอมเสียสละชีวิตเพื่อบ้านเมือง และจำกัดคนเดียวกันนี้เอง เมื่อดิฉันมาทำงานในโครงการอ่านนายผี จึงได้รู้ว่าเขากับนายผีเป็นเพื่อนสนิทกัน อีกทั้งฉลบชลัยย์ยังเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายผีด้วย
ส่วนผู้เขียนนั้นเล่า ก็คือ “นายฉันทนา” ซึ่งเป็นนามปากกาหนึ่งของมาลัย ชูพินิจ หรือ “ครูมาลัย” ที่คนในแวดวงนักเขียนยกย่อง มาลัยยังเป็นคนเดียวกับ “เรียมเอง” ซึ่งครั้งหนึ่งมีผลงานเขียนลงในหนังสือพิมพ์ เอกชน ของจำกัด พลางกูร อีกด้วย
การพบเห็นโฆษณาขายหนังสือ X.O.GROUP ในบรรยากาศที่เล่ามานี้ จึงนำความดีใจมาให้ดิฉันไม่น้อยเลย ในตอนนั้นดิฉันตั้งใจไว้ว่าจะเสาะหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านใหม่ แต่กว่าจะสบโอกาส เวลาก็ผ่านไปแล้วอีกหนึ่งปีเศษ
X.O.GROUP ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ยังมีเก็บอยู่ในห้องหนังสือหายากของหอสมุดแห่งชาติ แต่สภาพหนังสือเก่ากรอบตามอายุที่พอๆ กันกับ สยามนิกร ที่ตีพิมพ์โฆษณาหนังสือเล่มนี้ อีกทั้งมีเนื้อหาขาดหายไปในตอนท้าย ดิฉันจึงอาศัยอ่านเนื้อหาจากฉบับตีพิมพ์ครั้งล่าสุด คือครั้งที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2544
ตามข้อมูลในหน้าเครดิตของหนังสือฉบับปี 2544 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กระท่อม ป.ล. มีคุณขนิษฐา (ชูพินิจ) ณ บางช้าง เป็นบรรณาธิการและผู้จัดการสำนักพิมพ์ โดยได้รับอนุญาตจากองทุนมาลัยชูพินิจ นั้น X.O. GROUP พิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2489 โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้า ต่อมาจัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 2 ในปี 2507 โดยสำนักพิมพ์ก้าวหน้าเช่นกัน และได้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2522 โดยสำนักพิมพ์เชษฐบุรุษ
แต่จากรายละเอียดในโฆษณาของสยามนิกรข้างต้น ระบุเพียงว่าผู้สนใจจะสั่งจองซื้อหนังสือได้ที่ใดบ้าง แม้จะมีชื่อ ร.พ.ไทยพานิช วรรธนะวิบูลย์ และจำลองสาร ปรากฏอยู่ แต่อ่านไม่ได้ชัดเจนว่าใครคือผู้จัดพิมพ์ จนเมื่อดิฉันย้อนมาเปิดอ่านใน “คำแถลง” ของหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรก (ซึ่งไม่ได้รวมตีพิมพ์ซ้ำไว้ในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4) จึงได้พบชื่อผู้ลงนามท้ายคำแถลง คือ ไทยพานิช วรรธนะวิบูลย์ และจำลองสาร
ดิฉันนึกชอบใจที่พวกเขาเรียกตัวเองว่า “สามกำลัง” และบอกกล่าวอย่างห้าวหาญในคำแถลงการจัดพิมพ์หนังสือ:
หนังสือเล่มนี้ แม้ว่าผู้เขียนไม่มีจุดมุ่งจะเขียนให้เป็นประวัติศาสตร์ มากไปกว่าเป็นบันทึกสังเขปเบื้องหลังงานของ ‘ขบวนเสรีไทย’ แต่การเขียนข้อความหรือเหตุการณ์ซึ่งอาจเป็นประวัติศาสตร์ขึ้นมาได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้าเช่นหนังสือเล่มนี้. ความประณีตและพินิจ การค้นคว้าสอบสวนเพื่อความแน่ชัด เอกสารจากหลายกระแสซึ่งจะต้องเฟ้นเลือกมารวบรวมไว้ในที่เดียว เพื่อผู้อ่านทุกคนและทุกฝ่ายจะได้รับทราบแก่นความจริงที่ปราศจากสีระบาย อันจะมีส่วนโน้มน้อมประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมมาสู่เอกชนหรือหมู่ชนพวกใด […] หนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของผู้เขียนและผู้พิมพ์ การหลอมโลหะเหตุการณ์ไว้ในเอกสารถาวร ในลักษณะที่ต้อง […] วัตถุธาตุแสลงออกจากเนื้อโลหะเช่นนี้ ช่างหลอมที่สุจริตต่อประชาชนและอุดมคติของตนเอง เช่น ‘นายฉันทนา’ […] ต้องการเวลา. ดังนั้น กำหนดวันหนังสือออกที่คลาดเคลื่อน […] จากวันประกาศในคำประกาศโฆษณา จึงเป็นความล่าช้าซึ่ง […] เข้าใจว่า ท่านที่รอรับและรออ่านจะให้อภัยได้เองโดยเราไม่ […] ขอ เมื่อได้เห็นรูปเล่มหนังสือ และได้อ่านเนื้อหาสาระของหนังสือซึ่งตกเป็นสมบัติของท่านแล้ว พร้อมกัน ท่านจะได้เห็นว่า สำนักพิมพ์ร่วมของเราได้พยายามอย่างยิ่ง การจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ให้สมคุณค่าของหนังสือใหญ่ การรวมทุนและกำลังงานร่วมกันเป็นสามกำลัง ซึ่งนับเป็นประวัติการณ์ชิ้นหนึ่งของงานพิมพ์หนังสือยุคนี้ …
(หน้า ก – ข, ฉบับพิมพ์ครั้งแรก, […] คือข้อความที่ไม่สามารถอ่านได้เนื่องจากการเย็บเล่มหนังสือ)
พอพลิกไปอ่านคำนำผู้เขียนดูบ้าง ก็พบว่าด้วยท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนของ “นายฉันทนา” นั้น เขามีความห้าวหาญอยู่ไม่น้อยไปกว่าผู้จัดพิมพ์ “สามกำลัง” ข้างต้นเลย
“นายฉันทนา” บอกในคำนำซึ่งลงวันที่ 1 มิถุนายน 2489 ว่าเขาตั้งใจให้หนังสือเล่มนี้ “เป็นเพียงบันทึกสังเขปเหตุการณ์ และงานกู้ชาติของ X.O. GROUP ซึ่งต่อมาได้ขยายออกเป็นองค์การใต้ดินอันไพศาลภายในนามของ ‘ขบวนเสรีไทย’” (น.15 การอ้างอิงเลขหน้าต่อจากนี้ ใช้ตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4)
แต่ทั้งที่เป็นความตั้งใจเล็กๆ ก็มีผู้หวังดีเตือนเขาว่า “อย่าเขียน หรืออย่างน้อยที่สุดก็อย่าเพิ่งเขียน” เรื่องของขบวนเสรีไทยในตอนนั้น เพราะขบวนเสรีไทยกำลังถูกสภาผู้แทนราษฎรสอบสวน เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินในระหว่างสงคราม “ราวอาชญากรในคดีอาชญากรรมสำคัญ” (น.16) น่าเสียดายที่ไม่มีหนังสือพิมพ์สยามนิกร ฉบับครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2489 หลงเหลืออยู่แล้ว ดิฉันจึงไม่อาจสืบหารายละเอียดในเรื่องนี้เพิ่มเติม แต่ในบทนำของหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 ซึ่งรวมพิมพ์อยู่ในหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4 ได้เอ่ยถึงกรณีที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะนั้น ได้ยื่นญัตติเข้าสู่ที่ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2489 เพื่อให้สภาฯ “สอบสวนสะสางทรัพย์สินของชาติ ซึ่งพลพรรคเสรีไทยได้นำไปใช้จ่ายกู้ชาติบ้านเมืองทั้งนอกและในประเทศในยามสงคราม ว่าได้ใช้จ่ายไปมากน้อยเท่าใดและเพื่ออะไร” (น.8)
(นอกจากนั้น ในคำนำดังกล่าวยังได้อ้างคำของ “ทหารเก่า” ผู้เขียนหนังสือ เบื้องหน้า-เบื้องหลังพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยว่า เจตนาของการเสนอญัตติดังกล่าว “ก็เพื่อที่จะทำลายชื่อเสียงของรัฐบาลและพรรคสหชีพ” [ซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกับดร.ปรีดี พนมยงค์] และยังอ้างถึงเอกสารรายงานการสอบสวนของกรรมาธิการวิสามัญของสภาฯ ซึ่งสอบสวนเรื่องดังกล่าว ในหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่สอง โดยศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ด้วย)
บรรดาผู้หวังดียังแนะนำให้ “นายฉันทนา” รอ “จนกว่าเวลาจะได้เยียวยาโรคภายหลังสงครามไปจากชีวิตและอารมณ์ของสังคมคนไทยบางหมู่ บางชั้น หรือเวลาจะได้คลี่คลายขยายเหตุการณ์ข้อเท็จจริง ซึ่งแฝงเร้นอย่างลึกลับซับซ้อนอยู่หลังฉากบางตอน และเบื้องหลังบางบุคคลออกมา” (น.16)
ทว่า “นายฉันทนา” เลือกฝืนคำแนะนำของผู้หวังดีเหล่านั้นโดยอธิบายว่า
ดูเหมือนเขาเข้าใจพันธกิจในการเขียนหนังสืออย่างชัดเจน ว่าแม้จะเป็นเพียงบันทึกประวัติศาสตร์โดยสังเขป:
คงเพราะวัยเยาว์และความเขลาในตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก ดิฉันจึงพลาดที่จะจดจำคำนำอันจับใจนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งยังพลาดที่จะค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้
การได้กลับมาอ่าน X.O. GROUP อีกครั้งโดยบังเอิญ แม้จะล่าช้าไปมาก แต่ก็คงไม่สายเกินไปที่จะชื่นชมผู้จัดพิมพ์ “สามกำลัง” ที่ลงทุนลงแรงกับหนังสือเล่มหนึ่งในสถานการณ์อันสุ่มเสี่ยง และดิฉันยิ่งรู้สึกประทับใจ “นายฉันทนา” ในแง่ของสปิริตต่อการเป็นนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ของเขา เพราะเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ต่อไป จะพบว่า เขาได้แสดงหลักฐานข้อมูลต่างๆ อย่างให้เกียรติต่อแหล่งที่มา แยกแยะให้ผู้อ่านรู้ ว่าตรงไหนคือข้อมูลอ้างอิงมา ตรงไหนคือการเน้นย้ำ หรือแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ยังไม่นับถึงการใช้ภาษาของเขาที่เล่าเรื่องราวอันสลับซับซ้อน ให้อ่านเข้าใจง่าย แต่เห็นถึงฝีไม้ลายมือ
ดิฉันชอบมากๆ ตอนที่อ่านข้อคิดเห็นของ “นายฉันทนา” หลังจากที่เขาแสดงข้อมูลหลักฐานต่างๆ ต่อกรณีที่หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกา ลังเลและบ่ายเบี่ยงที่จะตอบรับการติดต่อของจำกัด พลางกูร ผู้ที่ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มอบหมายให้เดินทางไปที่จุงกิง เพื่อประสานงานกับเสรีไทยนอกประเทศ ในเรื่องการกอบกู้ชาติจากการรุกรานของญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จนท้ายที่สุดจำกัด พลางกูร ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ และเสียชีวิตลง อย่างไม่สมควรเลย
“นายฉันทนา” นำข้อมูลจากบันทึกของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจาก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช มาเรียงลำดับให้ผู้อ่านอ่านและคิด ตรงไหนที่เขาเน้นข้อความด้วยตนเอง เขาจะแจ้งให้ผู้อ่านทราบ เช่นเดียวกับตรงที่เป็นความเห็นส่วนตัวของเขา
เขาไม่ได้กล่าวโทษใครต่อเรื่องการเสียชีวิตของจำกัด แต่ด้วยวิธีการเรียบเรียงข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อให้ผู้อ่านพิจารณา และสรุปในตอนท้ายเพียงแค่ว่า “เราท่านก็มีหนทางเดียวที่จะวินิจฉัยสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปว่า เกิดจากอุปนิสัย ยิ่งกว่าเจตนาของบุคคล”
ช่างเป็นข้อสรุปอันเยี่ยมยอดเหลือเกิน !!
ถ้าหากเมื่อ 30 ปีก่อน X.O. GROUP เคยแนะนำจำกัด พลางกูร ให้เป็นที่จดจำแก่ดิฉันมาจนวันนี้ นับจากนี้ไป ดิฉันย่อมจดจำ “นายฉันทนา” ในฐานะนักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ ผู้ควรแก่การนับถือและเป็นแบบอย่างอีกคนหนึ่ง
ดิฉันนึกต่อไปถึงนักเขียนรุ่นราวคราวเดียวหรือใกล้เคียงกันกับเขา ซึ่งหากมีชีวิตยืนยาวมาจนวันนี้ จะมีอายุ 100 ปีเป็นอย่างต่ำ ไม่ว่าจะเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์, สุภา ศิริมานนท์, สมัคร บุราวาศ, เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ “นายผี” เองก็ตาม
ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้ว ที่หากบังเอิญกลับไปอ่านงานของพวกเขาทีไร แม้จะอย่างกระโดดไปกระโดดมา หรือเป็นเพียงบางชิ้นบางเสี้ยว ก็มักทำให้รู้สึกตื่นเต้นอยู่เสมอ ทั้งในแง่ฝีมือ ความมีใจนักเลงประสานักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ และเหนืออื่นใด พวกเขาช่างมั่นคงไม่คลอนแคลนไปจากอุดมคติของตนเองเลย และถึงแม้ว่าในบางเรื่องดิฉันไม่ได้เห็นด้วย หรือไม่เข้าใจพวกเขาด้วยซ้ำไป แต่เมื่อทอดตามองดูในยุคสมัยของตนเอง ดิฉันกลับหมดสิ้นคำพูดใดๆ ยิ่งกว่า
“ช่าง-หัว-มัน อ่านหนังสือต่อไป” ดิฉันเตือนตัวเองว่ายังขอเลือกเชื่อคำของ “นายฉันทนา” อยู่
“การแสวงหาความจริงก็เป็นบริการอย่างหนึ่งเหมือนกัน”