คนรุ่นมิลเลนเนียลอย่างฉันเกิดไม่ทันซาบซึ้งกับเพลงเพื่อชีวิตยุค ’70s พอถึงวัยแสวงหาทำท่าจะทะล่าไปฟัง ก็เกิดคดี “ขอเรียนศาลแห่งสีที่เคารพ สีต้องใช้ไม่ครบกระบวนสี / ขอเรียนศาลเลือกข้างสีที่ไม่เคารพ สีไม่ครบเพราะถูกใช้เติมใส่สี” (หงา คาราวาน v. วิสา คัญทัพ, 2012) ขึ้นเสียก่อน ฉันจึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า วงดนตรีการเมืองไทยที่ฉันโปรดปรานที่สุดในชีวิตคือ วงไฟเย็น (555+)
จะเรียกว่าพลาดไปอย่างน่าเสียดาย หรือจะเรียกว่ารอดไปอย่างหวุดหวิด ขอยกให้ผู้สันทัดกรณีตัดสินก็แล้วกัน
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สมาชิกวงไฟเย็นจำนวนหนึ่งได้ลี้ภัยสังหารจากประเทศลาวไปถึงกรุงปารีสโดยสวัสดิภาพ และภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ก็จัดคอนเสิร์ตและปราศรัยขนาดย่อมที่ลานสาธารณรัฐ ตัวฉันก็อดไม่ได้ที่จะไปด้อมๆ มองๆ ตามประสาแฟนคลับที่อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ
ท่าเต้นประกอบเพลง “ไม่รักนะ…ระวังติดคุก” ยังคงน่ารักน่าชังเหมือนเดิม ผิดแต่คุณจอมผอมซีดลงถนัดตา แต่มีอยู่หลายเพลงที่ไม่เคยฟังมาก่อน ที่แปลกหูและแปลกใจที่สุดคือเพลงต่อไปนี้ (ขอขอบคุณปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ที่ช่วยตรวจทานการแกะเนื้อเพลง ความผิดพลาดใดๆเป็นของผู้แกะ)
ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย จึงได้ตัดตอนวิดีโอคอนเสิร์ตมาเฉพาะเนื้อเพลงส่วนที่จะกล่าวถึง
โอ่ยน้อ…
เรื่องการเมืองคู่มื้อนี้ จั๊กใผดีจั๊กใผซั่ว
จั๊กใผหลงเมามัว ให้เขาตั๋วหลอกต้ม ให้งมโง่อยู่บ่หาย
แผนการเขาโหดร้าย สร้างเคือข่ายดอกคนดี
ป้นอำนาจปะซาซี โดยทหารดอกคนกล้า… รื้รรรร
ผ่านมาแล้วหลายสิบปี บ่เห็นมีแนวเจริญ
เศรษฐกิจกะซ้ำเติม ปุ้นญับเญินเฮาคนจน ปุ้น!ญับเญินเฮาคนจน
ปะซาซนต้องพอเพียง อย่าส่งเสียงคำคัดค้าน
ร้อยสิบสองกะคือกัน สร้างตำนานให้วีระซน สร้างตำนานให้วีละซน
แล้วตัดเข้าท่อนที่อธิบายขยายความตรงๆในภาษาไทยกลางตามขนบของเนื้อเพลงหมอลำสมัยใหม่จำนวนมาก ซ้ำความ แต่คนละลาย คนละเท็มโปเหมือนกาพย์ห่อโคลง หลังจากนั้นจึงกลับเข้าท่อนภาษาลาวอีกครั้ง
โอ่ย… เด้นอเด้น้อ…
จั่งแม่นท้อเทื่อละน่อฟังข่าว จั่งแม่นท้อเทื่อละน่อฟังข่าว
บ่เถียงกันจักคาวบ่ได้แหน่เลยบ่ น้อท่านผู้แทน
ทุกข์ญากแค้น ญากแค้น
เห็นใจแหน่เป็นหญัง คือคนจนผู้พัง อุกอั่งเอ้าอ้าย
ขายเข้าได้บ่ทำทุนจักเทื่อ ขายเข้าได้บ่ทำทุนจักเทื่อ
มีกะสิซ่อยเหลือ ญามมาเถียงมาเว้า ผู้เพิ่นนั้นคักหลาย
โง่เข้าไว้ละคุยใหญ่คุยโต จั่งคนพาโลบ้านเมืองเฮานี้
อาจเป็นเพราะยุคสมัยของเราไม่มีอะไรใหม่ หรือคนแต่งเพลงเพิ่งไปฟังข่าวรัฐสภาไทยปี 2019 มาจึงได้เขียนว่า “บ่เถียงกันจักคาวบ่ได้แหน่เลยบ่ น้อท่านผู้แทน” ก็ไม่รู้ชัด เพลงนี้ชื่อว่า “สถาปนาอำนาจประชาชน” เป็นครั้งแรกที่ฉันได้ฟังเพลงลาวคักๆ ทั้งคำ ทำนอง และไวยากรณ์จากวงไฟเย็น เทียบกับก่อนหน้านี้ที่เคยฟังจากซีดีสองแผ่น มีเฉพาะไม่กี่คำในไม่กี่เพลงเท่านั้นที่เป็นคำลาว นอกจากเพลงลายเต้ยโขง “ทหารจอมพล” ที่พูดถึงการ “ญิงปะซาซนแล้วบอกบ่ได้ญิง” แล้ว ที่จดจำได้ดีที่สุดก็เป็นท่อนฮุกเพลง “ประชาธิปไตยนามสกุลอันมี” ดั่งว่า
บ้านเมืองละไปไหนบ่ได้ ปะซาธิปไตยนามสกุลอันมี
ผ่านมาตั้งหลายสิบปี คนไทยยากจนสิ้นดี
อันมี้ อันมี ไทยบ่จะเริ้น…
เมื่อเอาไปเทียบกับเพลงเพื่อชีวิตและเพลงประท้วงยุค ’70s ที่ใช้ภาษาอีสานและมีการพูดถึงปัญหาของคนทำนา จะเห็นความแตกต่างสำคัญอย่างหนึ่งคือ ไม่ปรากฏคำว่า “อีสาน” ในเนื้อเพลงของไฟเย็นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในขณะที่คำว่า “อีสาน” จะปรากฏอย่างเด่นชัดในเนื้อเพลงยุคก่อน ยกตัวอย่างเช่น เพลง “ควายตัวสุดท้าย” ของ จิ้น กรรมาชน เนื้อเพลงโดย กิติพงษ์ บุญประสิทธิ์ (ท่อนแรก) และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (ท่อนสอง) ท่อนแรกเปิดมาเลยว่า “ข้อยเป็นหนุ่มชาวอีสาน” และอุดมไปด้วยสีสันพื้นถิ่นแต่ใช้ภาษาอีสานเพียงกะปริบกะปรอย
ข้อยเป็นหนุ่มชาวอีสาน
เที่ยวระหนด้นดั้น มาแสนไกล มาแสนไกล
ได้เงินเก็บออมจากควายไปขาย เป็นควายตัวสุดท้าย
เพื่อนใจ นะเพื่อนใจ ข้อยนั่งรถไฟมุ่งสู่เมืองหลวง
เขาว่าเมืองหลอกลวง ศิวิไลซ์ เมืองศิวิไลซ์
ข้อยตัดสินใจว่าจะลองเสี่ยงดู
เพราะว่านามีอยู่ ทำบ่ได้ มันทำบ่ได้
ขอเพียงแต่ว่าให้มีงานทำ
แม้เป็นงานชั้นต่ำ ทนได้ ทนได้
หนักเอาเบาสู้ไม่ขอเกี่ยงงาน
อ้อนวอนพระท่าน ช่วยลูกไว้ ช่วยลูกไว้
ข้อยจะเก๊บออม ถ้าว่าพอจะมีครอบครัวข้อยมีอยู่บ้านไกล…
หรืออย่างเพลง “แปนเอิดเติด” ของวงคาราวาน แต่งโดยประเสริฐ จันดำ ที่ให้บทแสดงนำแก่คำ “แปนเอิดเติด” “โล่งโจ่งโป่ง” “ปูสังกะสาย่าสังกะสี” ได้อย่างอลังการ ท่อนฮุกก็ลงท้ายด้วยคำว่า “อีสาน” ดังว่า
ว่างเปล่าเหลือแสนแปนเอิดเติด
รอระเบิดกาลเวลาถล่มสิ้น
ผู้กดขี่สูญสลายจากธรณิน
ว่างเปล่าเหมือนดินถิ่นอีสาน
หรืออย่างเพลง “เซิ้งอีสาน” ของวงคาราวาน ไม่ทราบผู้แต่ง ที่ใช้คำลาวและฉันทลักษณ์ลาวแบบกลอนลำวรรคหน้าสามวรรคหลังสี่ได้ม่วนถึงก้นบึ้งใจ (ม่วน แปลว่าไพเราะ) ก็ปรากฏคำว่าอีสานตลอดเพลง
แดนอีสานกำลังเดือดฮ้อน
มันเป็นญ้อนพวกเจ้านายมัน
มันกวดขันแต่เรื่องการปราบ
มันกำราบชาวไฮ่ชาวนา
มันตั้งข้อหาให้เป็นคอมมิวนิสต์
คนบ่ผิดมันกะจับไปขัง
มันซังใผ มันกะเอาไปฆ่า
ผู้ใดว่ามีเหตุผล
ประซาซนปากหลายกะบ่ได้
มันกะใซ้อำนาจข่มเหง
มันเป็นนักเลงญิงปืนเข้าใส่
พวกผู้ใหญ่บ่มีศีลธรรม
พวกห่าตำ พวกทรราชย์
มันปล้นซาติฉ้อราษฎร์บังหลวง
มันหลอกลวงพวกเฮาพี่น้อง
มันญกญ้องแต่อเมริกา
ให้มันมาจัดตั้งฐานทัพ
มันตั้งไนท์คลับเต็มบ้านเต็มเมือง
ไทเฮาเปลืองทั้งข้าวทั้งน้ำ
คนซั้นต่ำอึดอยู่อึดกิน
บนแดนดินอีสานอึดอยาก
เก็บหมากไม้ หมากอึ หมากแตง
เอามาแกงกินแลงต่างเข้า
ลูกสาวเฮามันกะเอาไปกอด
เมียเฮาฮอดมันกะจับไปเซิง
มันอยู่เทิงกฎหมายของซาติ
น่าอนาถแท้หนอพวกเฮา
อาจมีบางเพลงที่ไม่ได้ใช้คำว่า “อีสาน” อย่างเพลง “จดหมายจากชาวนา” ของวงคาราวาน แต่งโดยประเสริฐ จันดำ แต่ก็มิวายใช้คำที่โคตรอีสานอย่างคำว่า “ออนซอน” ซึ่งจนป่านนี้ฉันก็ไม่เข้าใจว่ามันแปลว่าอะไรได้บ้าง รวมถึงในบริบทนี้:
ยากจนอย่าตามเข่นฆ่า
ชาวนาจะหันต่อกร
โปรดจงช่วยไถ่ช่วยถอน
โอ้แสนออนซอนพวกเราชาวนา
เนื้อเพลงเหล่านี้มีลักษณะชาตินิยมต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา–ว่าแต่ว่าสถาบันกษัตริย์ไทยนี่จะถูกอ่านเป็นภาคส่วนหนึ่งใต้ปีกอเมริกา หรือว่าสถิตอยู่ในกลีบเมฆเฉยๆ? มีคนเคยเปิดเพลง “ชายคนนั้น” ให้ฉันฟัง หงา คาราวานแต่งเสียด้วย ฟังแล้วหวาดเสียวไม่น้อย แล้วก็ให้สงสัยว่าชายคนนี้มีที่ทางยังไงในเพลงประท้วงอื่นๆสมัยนั้น แล้วชายคนนี้ถูกมองอย่างเดียวกันกับ “ลุงสมชาย” ในเพลงของไฟเย็นหรือเปล่า?
ทั้งวงดนตรีล้มเจ้าจักรวรรดิยุค ’70s และวงดนตรีล้มทรราชย์ยุคปัจจุบันต่างก็ข้องแวะกับการแปลและแปลงเพลงประท้วงจากต่างประเทศ ในขณะที่หงา คาราวาน แต่งเพลง “ตายสิบเกิดแสน” โดยถอดทำนองมาจากเพลง “A Hard Rain’s a-Gonna Fall” ของบ๊อบ ดีลัน วงไฟเย็นช่วงเปิดตัวก็แต่งเพลง “ปลดปล่อย…เปลี่ยนแปลง” โดยถอดทำนองมาจากเพลง Bella Ciao ของขบวนการชาตินิยมอิตาลีต่อต้านเผด็จการฟาสซิสต์ ส่วนช่วงที่ไฟเย็นลี้ภัยหลังรัฐประหาร 2557 ก็มีเพลง “ต้นมะขามสนามหลวง” ที่ถอดทำนองและคำร้องจากเพลง “The Hanging Tree” จากซีรี่ส์นิยายเยาวชน เดอะ ฮังเกอร์ เกมส์ ที่มาของสัญลักษณ์ชูสามนิ้วต้านเผด็จการ
นอกจากศัตรูที่เพลงชี้เป้า จุดที่ต่างอย่างน่าสนใจระหว่างสองวงสองยุคนี้คือสิ่งที่แปลไม่ได้หรือไม่ถูกแปลในบทเพลงของพวกเขา ซึ่งอาจจะบอกเราได้ว่าดนตรีประท้วงสองยุคอาจยืนอยู่บนฐานความคิดเรื่องการแปลต่างกันหรือไม่อย่างไร จริงอยู่ที่ภาคอีสานในเพลงของวงคาราวานเป็นส่วนหนึ่งของภาพสังคมไทยยุคอเมริกา ประสบการณ์ของชาวนาภาคอีสานสามารถแปลถึงกันได้กับประสบการณ์ถูกถลุงทรัพยากรของชาวไทยภาคใต้ ฯลฯ แต่ถึงกระนั้นเนื้อเพลงเหล่านี้ก็มีสร้างจินตนาการถึงอีสานให้ไม่สามารถเทียบได้กับที่อื่น คำว่า “แปนเอิดเติด” ข้างต้นให้ความรู้สึกสิ้นไร้ไม้ตอกเสียยิ่งกว่า “ว่างเปล่าเหลือแสน” โดยเฉพาะในหูของผู้ที่ไม่รู้ภาษาลาว (เหมือนรีแอ๊คชั่นหนึ่งต่อ ท่งกุลาลุกไหม้ ที่ว่า “อ่านแล้วรู้สึกบรรยากาศในเรื่องร้อนมากเพราะเป็นภาษาอีสานด้วยหรือเปล่า”) และคำว่า “ออนซอน” ข้างต้นก็สามารถให้ความรู้สึกลึกซึ้งอย่างประหลาดโดยไม่อาจแปลและไม่จำเป็นต้องแปล
ในทางตรงข้าม คำว่า “ประชาธิปไตยนามสกุลอันมี” สำหรับวงไฟเย็น กลับเป็นสิ่งที่ถูกเปล่งออกเป็นสำเนียงอื่นภาษาอื่นได้โดยไม่ต้องบอกในชื่อเพลง คำว่า “ปะซาทิปะไต” มีความหมายเดียวกันกับ “ประชาธิปไตย”
น่าตั้งคำถามว่า ที่นักดนตรีร่วมสมัยอย่างไฟเย็นเบล็นด์คำลาวและเพลงลาวลงไปได้ง่ายๆอย่างทะลุกลางปล้องกลางคอนเสิร์ตเช่นนี้ มันเป็นการสานต่อมรดกของการสร้างจิตสำนึกแบบชาตินิยมสาขาอีสานนิยมยุค ’70s ทำให้ทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องเอ่ยคำว่า “อีสาน” ก็สามารถรู้กันในเจตนารมณ์ หรือว่ามันเป็นการสานต่อจิตสำนึกอีกแบบหนึ่งไปเลย สำนึก “แองเตอร์นาซิอองนาลนิยม” ที่ไม่เชื่อว่ามีอะไรที่เป็น “แบบไทยๆ” หรือ “แบบอีสานๆ” มันเป็นแบบไหนมากกว่ากัน หรือว่ามันเป็นทั้งคู่ได้โดยไม่ขัดฝืนอะไร? ขอยกให้ผู้สันทัดกรณีตัดสินก็แล้วกัน
เนื้อเพลง “ผู้ใหญ่ลี 2554” เหมือนจะชวนให้คิดว่าสำนึกแบบไฟเย็นเป็นได้ทั้งรักชาติและนิยมสากล เพราะที่ทำมาทั้งหมดนั้นใจความของมันก็คือต้องการสร้างประชาธิปไตยให้ “เมืองไทย” เจริญนั่นเอง
ประชาธิปไตยสากล คนทุกๆคนนั้นเท่าเทียมกัน
ไม่มีการแบ่งชนแบ่งชั้น ไม่มีใครมีสิทธิ์เหนือกว่ากัน
มีเศรษฐกิจและสังคมเท่ากัน นี่คือหลักการของประชาธิปไตย
อย่าไปเชื่อว่าเป็นแบบไทยๆ ต้องอายอ๊ายอาย อายคนเสื้อแดง
ขืนเป็นอย่างนี้บ้านเมืองต้องอ่อนแรง จะชวนคนเสื้อแดงสร้างประชาธิปไตย
คนเสื้อแดงต้องร่วมมือร่วมใจ สร้างประชาธิปไตยให้เมืองไทยเจริญ
แต่ฉันก็ไม่แน่ใจอยู่ดีว่าจะสามารถแปลข้อสรุปเกี่ยวกับตำแหน่งแห่งที่ของ “ไทย” สำหรับไฟเย็น ไปเป็นคำตอบประเด็นความเป็นลาวได้ เท่าที่ฉันเห็นในตอนนี้ คือก้าวหนึ่งที่น่าสนใจของดนตรีแนวนี้ ที่ไวยากรณ์ลาวไปยืนอยู่ที่ลานสาธารณรัฐเคียงข้างไวยากรณ์ไทยได้อย่างไม่ต้องปักป้ายบอกและไม่ต้องคิดแทนผู้ฟัง.
หมายเหตุ: ท่านสามารถติดตามฟังผลงานของวงไฟเย็นได้ทาง bandcamp.com