รีวิว “ดอนกิโฆเต้” ฉบับภาษาสปังกฤษ

Miguel de Cervantes, Ilan Stavans, Roberto Weil
Don Quixote of La Mancha
2018, The Pennsylvania State University Press, 131 หน้า.

Spanglish หรือสปังกฤษ หรือสแปงกลิช เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อโลกภาษาอังกฤษและโลกภาษาสเปนมาบรรจบอย่างไม่กระทบกระทั่งกันในครอบครัวและชุมชน ปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษาพันทางแบบนี้เกือบหกสิบล้านคน โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีผู้ใช้ภาษาสเปนติดอันดับท็อปไฟว์ของโลก บางสถิติก็ว่าเป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากประเทศเม็กซิโกซึ่งครองแชมป์เหนือประเทศสเปนอย่างไม่ติดฝุ่น

ว่าแต่ว่า “ภาษาพันทางแบบนี้” มันพันทางแบบไหนกันล่ะ? อีลาน สตาวานส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสปังกฤษกล่าวไว้ในอารัมภบทกราฟฟิคโนเวล ดอนกีโฮเต้ อ๊อฟ ลามันช่า ที่เขาเป็นผู้ดัดแปลงแต่งใหม่ ว่าเขาได้ใช้ “ภาษาสแปงกลิชที่ปรับให้เป็นมาตรฐาน” (“standardized Spanglish” — เขาใส่อัญประกาศกำกับชวนให้กังขา) ซึ่งผสานส่วนผสมต่างๆขึ้นมาให้เป็นภาษาที่เข้าใจได้ไม่ว่าผู้อ่านจะคุ้นเคยกับ Nuyorrican อันเป็นภาษาของคนเชื้อสายปวยร์โตริโกที่ไปตั้งรกรากที่นิวยอร์ก หรือ Cubonics อันเป็นภาษาของคนเชื้อสายคิวบาที่ลี้ภัยระบอบคาสโตรไปอยู่ไมแอมี หรือ Chicano อันเป็นภาษาของคนเชื้อสายเม็กซิกันในภาคหรดีของสหรัฐอเมริกาที่ข้อตกลงหลังสงครามปี 1848 ได้ย้ายเส้นพรมแดนลอยข้ามหัวชาวเม็กซิกันไปจนขาดจากเม็กซิโก หรือฯลฯ

ฉันได้รับรู้การมีอยู่ของ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ฉบับภาษาสปังกฤษนี้จากฐิติพงษ์ ด้วงคง วิทยากรท่านหนึ่งในงานเสวนา “ท่งกุลาลุกไหม้: อัตลักษณ์อีสานกับการเมืองของการแปล” (19 มิ.ย. 62 คณะศิลปศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์) ผู้ได้พาผู้ฟังไปรู้จักอีลาน สตาวานส์  ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้แปลรวมเรื่องสั้นของฆวาน รูลโฟ เป็นภาษาอังกฤษฉบับปี 2012 แล้ว ยังเป็นผู้แต่ง ดอนกิโฆเต้ เป็นภาษาสปังกฤษด้วย

อ.ฐิติพงษ์ เชื่อมโยงให้ฉันได้คิดใหม่ว่า “ภาษาอีสาน” เห็นทีจะมีฐานะเทียบเท่ากับสปังกฤษ มากกว่าจะเทียบเท่ากับภาษาสเปนในเม็กซิโก ด้วยความที่สปังกฤษไม่มีมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับ แถมยังถูกดูหมิ่นถิ่นแคลนว่ามีสารรูปอย่าง “ภาษาพูด” ที่ไม่ควรค่าแก่ฐานานุรูปอย่าง “ภาษาเขียน” เช่นภาษาสเปนในแต่ละรัฐชาติที่ต่างก็มีองค์กร “ราชบัณฑิต” หรือเทียบเท่าเป็นของประเทศตัวเอง การกดเหยียดนี้เห็นได้จากนิยามอย่างเป็นทางการของคำว่า “espanglish” เมื่อแรกบรรจุในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสภาสเปนฉบับล่าสุดว่า

Modalidad del habla de algunos grupos hispanos de los Estados Unidos, en la que se mezclan, deformándolos, elementos léxicos y gramaticales del español y del inglés.

นอกจากจะจำกัดความให้แคบเป็นเพียง “โหมดการพูด” แล้ว คำนิยามนี้ยังส่อนัยเชิงลบว่าสปังกฤษเป็น “ภาษาวิบัติ” ที่ทำให้โครงสร้างคำศัพท์และไวยากรณ์ของภาษาสเปนและภาษาอังกฤษ “ผิดรูป” ไปอีกด้วย

(ล่าสุดเมื่อฉันไปเปิดหาคำนี้ในเว็บไซต์ของราชบัณฑิตสเปน ก็พบว่าคำว่า “deformándolos” นั้นหายไปจากนิยามแล้ว)

แม้นักวิชาการบางคนจะไม่นับสปังกฤษเป็นภาษา สตาวานส์ก็ยืนยันว่าภาษาสปังกฤษได้ถึงจุดสุกงอมที่มีลักษณะเป็นภาษาเขียนแล้วในปัจจุบัน เขาอ้างว่าการแปลและแปลงเป็นภาษานี้ตอบสนองต่อความจำเป็นทางสังคมที่คนพลัดถิ่นพูดภาษาสเปนได้อย่างเดียวนั้นมีลูกพูดสองภาษาขณะที่ลูกหลานของลูกเริ่มฟังภาษาสเปนไม่ออกอีกต่อไป

สำนวนภาษาสแปงกลิชใน ดอนกิโฆเต้ แต่งโดยอีลาน สตาวานส์ ก็ดูจะเล่นกับความเป็น “ภาษาวิบัติ” นี้เต็มที่ ถึงสตาวานส์จะอ้างว่าตัวใช้ภาษา “ที่ปรับให้เป็นมาตรฐาน” แต่มันก็มิได้มีมาตรฐานในแง่ของการกำหนดอักขรวิธีที่ถูกต้อง หรือลักษณะไวยากรณ์ที่ถูกต้อง ตรงข้าม ภาษาที่ใช้กลับมีท่วงทำนองด้นสดอย่างถึงที่สุด ไม่ว่ามันจะฝ่าฝืนเขตอำนาจอธิปไตยของภาษาสเปนและอังกฤษอย่างไร ตัวอย่างเช่น

  • เอาคำภาษาอังกฤษมาผันกริยาแบบสเปน เช่น “Habiendo foundeado un nombre tan pleasant pa’ su caballo, decidió to do the same pa’ himself. Así él fue henceforth: Don Quixote de la Mancha. Una sola laqueaba: Él must seekiar una lady of whom él could enamorarse.”
  • ใช้ภาษาอังกฤษแบบแปลกๆ เพราะคิดในหัวเป็นภาษาสเปน เช่น “Translation is one of las actividades more difficult en el mundo.”
  • สะกดคำผิดมาตรฐานแต่อ่านออกเสียงแล้วรู้เรื่อง เช่น “A la vívora de la mar, por aquí puedrán pasar” หรืออย่าง “God! Estoy rodeado by enchanted demonds!”
  • ประสมคำหรือวลีข้ามภาษา เช่น “Yo am el most importante ever, hands abajo [hands down]” หรืออย่าง “He es muy handsomete [เติม -te หลังคำคุณศัพท์เพื่อเน้น]
  • เล่นกับป๊อปคัลเจอร์ในโลกร่วมสมัย เช่นในจดหมายจากดอนกิโฆเต้ถึงคู่หูซานโช่ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองในที่สุด “You are my sunshine, my only Sunshine… yo creo in you. Not every squire se hace governador, so you tienes suerte. Viva Catalonia independiente! General Francisco Franco era a tirano. La idea de Spain is a lie. There are many autonomías y different lenguas. Unity es una estrategia política.”

“ภาษาสแปงกลิชมาตรฐาน” ที่ว่านั้นจึงมิใช่ความพยายามสถาปนารัฐชาตินิยมรวมศูนย์อย่างในกรณีภาษา “Québécois” ในแคนาดาที่ Annie Brisset ได้ตั้งข้อวิพากษ์ไว้ในงานศึกษากระแสการแปลละครเวทีคลาสสิคเป็นภาษาเคเบ็คที่ตั้งตนเป็นภาษาแม่ เป็นของแท้และเป็นเอกเทศจากภาษาฝรั่งเศสในฝรั่งเศส ตรงข้าม มันหากเป็นการเปิดพื้นที่พันทางที่ไม่สนใจตัดสินว่าแบบไหนผิดหรือถูก ต่างด้าวหรือเจ้าถิ่น เพราะต่างคนต่างถือหลักร่วมกันว่ามันไม่มีมาตรฐานแน่นอน

ถ้าหากจะพอมีสิ่งที่เป็นมาตรฐานอยู่บ้าง ก็คงเป็นมรดกภาษาเขียนที่คนทุกถิ่นเคยชินอยู่แล้ว เช่น ตัวอักษรโรมัน และความคงเส้นคงวาของการใช้ตัว s เป็นตัวสะกดในคำอย่าง “español” แม้สำเนียงจำนวนมากจะออกเป็นเสียง /h/ เช่น “ehpañol” เหมือนในภาษาเขมรในกัมพูชาปัจจุบัน (และเป็นความเคยชินคล้ายๆ ที่คนอีสานจำนวนมากยังคงเขียนสระเอือในภาษาลาวอีสาน แม้ว่าตัวเองจะออกเสียงคำนั้นเป็นสระเอีย)

คำถามว่า “สเปงกลิชสำเนียงถิ่นไหน” จึงอาจสามารถตอบแบบพอกล้อมแกล้มได้ว่า “ถิ่นไหนก็ได้แหละ” แล้วแต่ว่าใครจะอ่านออกเสียงของใครของมันไป แม้เมื่อพยายามส่องดูจริงๆแล้วจะเห็นถ้อยคำสำเนียงเม็กซิกันของผู้แปลอย่าง “órale” มากกว่าสำเนียงอื่นๆก็ตาม (หรือตูไม่รู้สำเนียงอื่นเองหว่า)

ภาษาลูกผสมพันทางนี้ สำหรับฉันที่ไม่ใช่ native speaker อ่านแล้วก็สมองรวนประมวลผลไม่ทันอยู่ไม่น้อยเลยว่า เอ๊ะ! คำนี้มันควรอ่านเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาสเปนวะ เอ๊ะ! คำนี้ถ้าพูดเป็นภาษาสเปนจะว่ายังไงนะทำไมนึกไม่ออก เอ๊ะ! พอบังคับตัวเองให้ปล่อยวางด้วยการอ่านออกเสียง ทำไมมันอ่านลื่นและรู้เรื่องขึ้นแท้ล่ะ ทำไมมันไม่ปวดหัวแล้วแถมยังขำกว่าเดิมล่ะ พ้องกันกับที่ผู้รีวิวคนหนึ่งแนะนำไว้บนเว็บแอมะซอนว่าเป็น “หนังสือที่เหมาะแก่การล้อมวงกันอ่านออกเสียง แนะนำอย่างยิ่งสำหรับคนมีอารมณ์ขัน”

การแหกคอกของ ดอนกีโฮเต้ อ๊อฟ ลามันช่า มิได้ติดพันอยู่แต่ในโลกของภาษา มันยังหลุดกรอบเนื้อหาของยุคสมัยด้วย ภาพประกอบสีสันสดใสของ Roberto Weil เต็มไปด้วยรายละเอียดหลงยุคตั้งแต่โดรนไปจนถึงโลโก้ Taco Bell ส่วนตัวละครตามท้องเรื่องก็ถูกนำมาเสนอเสมือนเป็นคนร่วมสมัยศตวรรษที่ 21 โดยที่ยังคงเค้าเดิม ตัวอย่างเช่น ในเรื่องเล่าของเชลยศึกชาวสเปนที่ลักลอบหนีจากแอลเจียร์สโดยพาหญิงคนรักชาวมุสลิมลูกขุนนางไปด้วย หญิงคนนั้นก็ตะโกนกล่าวลาบิดาผู้วิ่งไล่ตามมาถึงท่าเรือว่า

“It’s mi decisión, father. Quiero vivir in Spain. It is parte de la European Unión. I can trabajar and travelear everywhere sin problema. And yo quiero a este hombre. I want to ser cristiana. Yo quiero ser freeeee! And I quiero to espik spanglish. Te amo, though.”

หรืออย่าง มาร์เซลา หญิงสาวผู้ปฏิเสธสถาบันการแต่งงานเพื่อใช้ชีวิตอิสระอย่างคนเลี้ยงแกะ จนทำให้ชายคนรักฆ่าตัวตาย เธอออกมาพูดว่าเธอไม่มีความผิดที่เกิดมาสวย ผู้ชายมันตัดสินใจแทงตัวตายเองนี่ เธอประกาศสวยๆว่า

“Enough with su misoginia! Enough con su abuso del other genre! I want to be libre. Quiero estar sola. Quiero ser what I Please.”

ขอให้สังเกตคำว่า “เพศ” ที่เน้นไว้ ว่ามันถูกเขียนเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “genre” ซึ่งเป็นการแปลจากคำภาษาสเปนว่า “género” ซึ่งเป็นการแปลอีกทีจากคำภาษาอังกฤษยุคปัจจุบันว่า “gender” การใช้คำว่า genre ในที่นี้เสมือนเป็นการประกาศกลายๆ ว่าจงอย่าได้ยกวรรณะของ “วรรณคดี” ให้อยู่เหนืองาน genre ตลาดล่างอย่าง “กราฟฟิคโนเวล” อีกเลย

น่าคิดยิ่งไปกว่านั้นว่า ลูกเล่นของรูปแบบและเนื้อหาทั้งหมดนี้มันอาจสะท้อนสปิริตของ ดอนกีโฮเต้ ได้ดียิ่งกว่าการ “แปลตรงตัว” เสียด้วยซ้ำ ด้วยความที่ ดอนกิโฆเต้ เป็นวรรณกรรมที่เสียดสีล้อเลียนวรรณกรรมในหลายระดับ เป็นตัวบทที่ตัวละครได้ตอกกลับผู้ประพันธ์จนไม่มีใครมีอำนาจสูงสุด เป็นหนังสือที่ผู้ประพันธ์อ้างว่าไม่ได้เขียนเองหากแต่ว่าแปลมาจากต้นฉบับภาษาอาหรับของ Cide Hamete Benengeli เป็นเรื่องที่เอื้อให้อ่านได้หลายแบบจนผู้อ่านสามารถสวมบทบาทผู้ประพันธ์เองได้ — การแปลงแบบขี้เล่นเน้นสนใจการกลายพันธุ์ของเรื่องราวอาจได้ผลไม่แพ้การแปลแบบรักษาภาษาโบราณและย้วยยานของฉบับเซร์บันเตส

แทนที่จะมีเชิงอรรถยาวเฟื้อยเพื่อช่วยให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงบริบททางภาษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของสเปนเมื่อสี่ร้อยกว่าปีก่อน สำนวนแปลงฉบับนี้เต็มไปด้วยการยักคิ้วหลิ่วตาบอกหลักหมายการกลายพันธุ์ของนวนิยายเรื่องนี้เท่าที่ผ่านมา อาทิเช่นละครบรอดเวย์ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ [Man of La Mancha] (1965) ที่เป็นคนละเรื่องเดียวกันกับนิยายของเซร์บันเตส น่าเสียดายที่สตาวานส์ไม่ล่วงรู้ถึงอิทธิพลของบทเพลงแปลไทยที่ขึ้นว่า “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” อย่างน้อยๆเขาควรมีโอกาสได้อ่านข้อเขียน “มีสติปัญญา มีความฝัน …แต่ไม่มีความจริง” ของเดือนวาด พิมวนา ดู (ใน วารสารหนังสือใต้ดิน Underground Buleteen #18, 2558, น. 151-166) เผื่อจะได้เห็นวิบัตยาการของการอ่านดอนกิโฆเต้ในอีกมุมโลก ในประเทศที่ความจริงถูกปราบปรามในนามของความดี

ถึงมันจะแหกกรอบอย่างไร กราฟฟิคโนเวลเล่มนี้ก็เป็นบรรณาการ (tribute) อันเพิ่มพูนความ “คลาสสิค” ของฉบับเซร์บันเตสอยู่นั่นเอง ด้วยขนาดที่ย่อส่วนมาจาก 125 ตอนเหลือเพียง 30 ตอน ย่นความยาวจากตัวหนังสือเกือบพันหน้าเหลือเพียงการ์ตูนร้อยหน้าเศษ ประกอบกับการเล่นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะ “เก๊ต” ได้ก็ต่อเมื่อรอบรู้ผลงานฉบับเต็มมาก่อน การได้อ่านนิยายภาพฉบับนี้ก็ทำให้ฉันฉงนสนเท่ห์จนอยากไปอ่าน “วรรณกรรมอมตะ” เล่มนั้น (มันยังไม่เคยอ่าน! จะเสียชาติเกิดไหมเนี่ยตู)

จริงอย่างที่บอร์เฆสเคยบอกว่า “กิโฆเต้กำชัยชนะเหนือกองทัพนักแปลในชีวิตหลังความตายและแคล้วคลาดไปได้ในทุกเวอร์ชั่นของความชุ่ย” ด้วยเหตุที่ว่าสไตล์หรือลีลาการใช้ถ้อยคำไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญสำหรับเซร์บันเตส คลื่นลมรานลายซอยบนรอยทรายฉันใด คลื่นสมัยก็ลบเลือนลวดลายสไตล์ภาษาฉันนั้น สปิริตตัวที่เข้าครองใจคนอ่านต่างหากที่เป็นแก่นแท้อันอยู่ยงคงกระพันมาได้ตั้งสี่ร้อยกว่าปี

ถึงแม้ว่าฉบับแรกสำหรับฉัน จะเป็นต้นฉบับ ดอนกีโฮเต้ อ๊อฟ ลามันช่า ภาษาสแปงกลิชสีสันฉูดฉาดลีลาจัดจ้านเน้นจริตจะก้านก็ตาม.

(หน้า 73-76) รอยต่อระหว่างภาคแรกกับภาคที่สองดอนกิโฆเต้ เปิดฉากด้วยปัญหาว่าด้วยสิทธิขาดและสิทธิที่ขาดของผู้ประพันธ์ ร่วมแสดงโดยสตาวานส์ (ในบทบาทหัวขโมยผลงาน), เชคสเปียร์ (ในบทบาทผู้อ่านต่างชาติ), และท่านผู้อ่าน (ที่ถูกซานโช่และกิโฆเต้ส่งสายตากดดันให้มีส่วนร่วม)

(หน้า 77) เกี่ยวกับดุลสิเนอานางในฝันของดอนกิโฆเต้