ซุมบักห่าหมาสี้แม่มึงเอ๊ย! | ¡Hijos de la tal por cual!

พจนานุกรมผลงานของ ฆวาน รูลโฟ
Diccionario de la obra de Juan Rulfo
Sergio López Mena

hijo de la tal por cual. Frase eufemística ofensiva. En sentido directo sería: “¡hijo de la chingada!” En “El Llano en llamas”, recuerda el Pichón que en el enfrentamiento de la Piedra Lisa sus enemigos les gritaban “¡Viva mi general Petronilo Flores, hijos de la tal por cual!” (Ll, 92)


โลกภาษาไทยเรามีวิธีการด่าคนผ่านการด่าแม่อยู่หลายแบบ อย่างเช่น “ไอ้ลูกกะหรี่” หรืออย่าง “ไอ้แม่เย็ด” คำด่าอย่างแรกเป็นการกล่าวหาว่าแม่ของผู้ถูกด่าเป็น “ผู้หญิงไม่ดี” มีลูกนอกสมรส ส่วนคำด่าอย่างหลังเป็นการกดแม่ของผู้ถูกด่าลงให้เป็นเดียรัจฉาน คือมีพฤติกรรมทางเพศนอกกรอบสังคมมนุษย์ปุถุชน สมสู่กับลูกของตัวเอง

ประเทศเม็กซิโกมีคำด่าคนผ่านการด่าแม่เป็นเอกลักษณ์ในโลกภาษาสเปน คือแทนที่จะด่าว่า “hijo de puta”/“ไอ้ลูกกะหรี่” หรือ “hijo de perra”/“son of a bitch” อย่างที่พบในที่อื่นๆ ชาวเม็กซิกันกลับนิยมใช้คำว่า “hijo de la chingada” หรือแปลตามตัวว่า “ลูกอีถูกเย็ด”

ทำไมการถูกเย็ดถึงเป็นเหตุแห่งคำบริภาษ?

Octavio Paz พินิจพิเคราะห์คำว่า chingar คำกริยาสารพัดประโยชน์ของชาวเม็กซิกันในบท “Los hijos de la Malinche” [English] ในเรียงความเล่มสำคัญของละตินอเมริกา El laberinto de la soledad

อีนางมาลีนเชเป็นชนพื้นเมืองผู้เป็นล่ามแปลภาษาและเมียน้อยของแอร์นัน กอร์เตส ชาวสเปนผู้พิชิตเม็กซิโกเมื่อเกือบห้าร้อยปีก่อน

ภาพ La Malinche โดย Rosario Marquardt ปี 1992

ปาซได้ข้อสรุปว่า

La Chingada คือมารดาที่ถูกเปิด ขืนใจ หรือล่อลวงด้วยกำลัง “ลูกอีถูกเย็ด” คือมารหัวขนจากการข่มขืน การลักพาตัว หรือการหลอกลวง

[La Chingada es la Madre abierta, violada o burlada por la fuerza. El “hijo de la Chingada” es el engendro de la violación, del rapto o de la burla.]

นอกจากจะทำให้หญิงมีผัวทุกคนเป็น la chingada คือไม่เป็นอะไรนอกจากผู้ถูกกระทำ(ชำเรา) ทั้งถูกสอดใส่และยังมีนัยประหวัดถึงการ(ถูกหลอกให้)ทรยศต่อชาติ คำว่า chingar ยังให้คุณค่าชายใหญ่คับโลก—el chingón ใช้เรียกผู้ทรงอำนาจ, un chingo ใช้เรียกสิ่งของจำนวนเยอะๆ—และทำให้การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาอีกด้วย อย่างในภาษิตว่า “o chingas o te chingan”/“ไม่เขาเสร็จมึง มึงก็เสร็จเขา”

ถ้าเราถือตามนี้ ก็จะเกิดผลตามตรรกะว่า เราทุกคนไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ล้วนแล้วแต่เป็น “ลูกอีถูกเย็ด” ทั้งนั้น ซึ่งมีนัยยะรุนแรงมากกว่าการมี “หญิงคนบาป” อย่างโสเภณีหรืออย่างอีฟเป็นบรรพสตรี ปาซบอกว่านี่แหละปมขัดแย้งในตัวตนของคนเม็กซิกัน

เมื่อตัวละครทหารฝ่ายรัฐบาลในเรื่องสั้น “ท่งกุลาลุกไหม้” ของ ฆวาน รูลโฟ ตะโกนหาฝ่ายกบฏว่า “¡Viva mi general Petronilo Flores, hijos de la tal por cual!” แปลตามตัวได้ประมาณว่า “แม่ทัพของกู เปโตรนีโล โฟลเรส จงเจริญ พวกลูกอีคนถืกเฮ็ด!” หากอาศัยการตีความของปาซ ก็สามารถอ่านได้ว่าคำกู่ร้องนี้ไม่ได้หมายรวมถึงเฉพาะฝ่ายตรงข้าม หากมีเสียงสะท้อนกลับเข้าตัว ประณามบรรพชนและภาวะความเป็นลูกผสมของชาวเม็กซิกันทุกคน

ปัญหาคือ จะแปลวรรคนี้เป็นภาษาลาวอีสานว่ายังไงดี?


สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ
Isan-Thai-English Dictionary
ปรีชา พิณทอง

ลุน ว. ทีหลัง, ภายหลัง ลูกที่เกิดทีหลังเรียก ลุน ผู้ชายเรียก บักลุน ผู้หญิงเรียก อี่ลุน บักกับอี่เป็นคำพูดสามัญ ไม่เห็นหยาบคายที่ตรงไหน […]

สี้ ก. ร่วมประเวณี การร่วมประเวณี โบราณ เรียก สี้ อย่างว่า ซื่อหลายเขาเอาเฮ็ดขื่อ โงหลายเขาเอาเฮ็ดด้ามเกี่ยว เคียวหลายเขาสี้ (ภาษิต). to have sexual intercourse with (vulgar).

มึง ส. คนที่เราพูดด้วยคือมึง ผู้พูดคือกู กูกับมึงเป็นคำสามัญ ใช้พูดกันทั่วไป ไม่ถือเป็นคำหยาบ อย่างว่า มึงนี้คือคู่หนูชิงน้อยเล็มเลียคมดาบ จริงรือ กูจักเปื้องป่ายแผ้วศรช้ำมิ่งมรณ์ แท้แล้ว (สังข์). you, second person singular pronoun.


“หมาสี้แม่มึง” เป็นคำด่าคนผ่านการด่าแม่ของลาวอีสานที่ฟังดูใกล้เคียง “hijo de la chingada” มากที่สุดแล้ว

เพราะคำว่า “สี้” ไม่เหมือนคำว่า “to have sexual intercourse with” ดังที่ Samuel Mattix เขียนกำกับไว้ในสารานุกรมของปรีชา พิณทอง เพราะการ “มีเซ็กซ์” เป็นการกระทำบนระนาบที่เท่าเทียม เป็นการกระทำซึ่งกันและกัน ไม่มีการพูดว่า “ฉันถูกเธอมีเซ็กซ์”

แต่คำว่า “สี้” มีส่วนเหมือนกับคำว่า “chingar” ตรงที่มันมีทิศทางของการกระทำชัดเจน (แม้ว่าจะไม่หนักเท่าเม็กซิโก เพราะยังใช้แบบเท่าเทียมอย่าง “สี้กันโลดสู” ได้) มีระบุประธานผู้กระทำการ chingar ชัดเจนในตัวอย่างภาษิตของปรีชา พิณทอง และทั้งในคำด่า “หมาสี้แม่มึง” นั่นคือ ใครไม่รู้เคียว (ร่าน, คะนอง) นัก “เขา” เลยสี้, “แม่มึง” เป็นยังไงก็ไม่รู้ล่ะ “หมา” เลยสี้

ขอให้สังเกตว่า “แม่มึง” ไม่ได้เดินเข้าไปสี้หมานะ หมาเดินเข้ามาสี้ “แม่มึง” เอง

แค่จะสี้ แม่ยังไม่ได้เป็นผู้กระทำเลย

สำนวนแปลร่างที่ฉันเอาไปนั่งขัดเกลากับแบ๊ง (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม บรรณาธิการคำลาว ท่งกุลาลุกไหม้) ฉันเลือกแปลท่อนนั้นไปแล้วว่า “บักหมาสี่แม่มึงเอ้ย!”

ยังมีที่ไม่ลงตัวอยู่อย่างน้อยสองจุด คือหนึ่ง คนถูกด่ามีหลายคน และสอง คำนี้รูลโฟเขียนโดยเลี่ยงการใช้คำหยาบตรงๆ แต่เลี่ยงไปใช้ euphemism แทนเป็น “hijos de la tal por cual” (ซึ่งก็ไม่ใช่ “คำสุภาพ” ตามความหมาย เพราะมันไม่ได้มีความหมายอะไร เหมือนเอาคำกว้างๆ มาวางแทนเพื่อให้คนอ่านนึกย้อนไปถึงคำต้นทางเท่านั้น–ดังเช่นคำว่า “ไม่รู้สี่รู้แปด” ที่ใช้ตัวเลขวางแทนคำว่า “หี” และ “แตด”)

ข้อแรกแก้ไม่ยาก เพียงเอาคำว่า “ซุม” ตบหน้า ก็ด่าทั้งโคตรได้แล้วเป็น “ซุมหมาสี้แม่มึงเอ๊ย!” สุดท้ายฉันเลือกเติม “ซุมบักห่า” เข้าไปยาวๆ เพื่อจะได้เข้าใจว่าซุมใช้ขยายคน ไม่ได้ใช้ขยายหมา

ข้อที่สองนี่สิ จะแก้ยังไงดี… ทำไมรูลโฟถึงไม่เขียนคำหยาบตรงๆ ล่ะ? ทีแรกฉันสันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งมาจากขนบการเขียนสมัยก่อนที่สิ่งตีพิมพ์ไม่สามารถใช้คำหยาบได้

ทว่าข้อสันนิษฐานนี้ก็เหมือนจะตกไป เมื่อพบว่ามีการใช้คำหยาบอยู่ในเรื่องสั้น “Paso del Norte”/“หน้าด่านไปเหนือ” นอกจากจะมีคำว่า “qué diablos” แทนคำเลี่ยง “qué diantres” ตามที่ปรากฏในเรื่องอื่น ยังใช้คำหยาบคายเอ่ยเรียกผู้หญิงคนหนึ่งด้วยว่า “Rejodida” หรือที่ฉันแปลว่า “เด็กน้อยร้อยผัว” แต่ถ้าแปลให้ใกล้เคียงความหมายตามตัวอักษรที่สุดคงต้องแปลประมาณว่า “หีมุ่นอุ้ยปุ้ย”

แต่เอาละ มีแค่เรื่องเดียวที่ใช้คำหยาบจริงๆ ยังพอสันนิษฐานได้ว่าเป็นการฉีกน้ำเสียงให้เรื่อง “หน้าด่านไปเหนือ” โดดเด่นท่ามกลางเรื่องสั้นสิบกว่าเรื่องที่เหลือ ให้อ่านแล้วรู้สึกเป็นภาษาพูดยิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ ขึ้นไปอีกสเต็ป

หรือฉันเข้าใจผิดว่า rejodida มันหยาบพอๆ กับ chingada หว่า? ก็ไม่รู้เหมือนกัน

แต่ที่รู้แน่ๆ คือคำว่า “สี้” นี่หยาบ เวลาโพล่งถามใครๆ ที่เป็นเจ้าของภาษา ก็มักมีความสะพรึงในแววตาเป็นคำตอบ (ฉันเฉยๆ เพราะไม่ใช่เจ้าของภาษา อิ_อิ)

นั่นแหละ ยกเว้นเจ้าของภาษาชื่อแบ๊ง แบ๊งไม่เคยเห็นบอกว่ามันหยาบ

“ภาษาบ้านเฮามันตงไปตงมาจั่งเซียะล่ะ”

คือคำที่แบ๊งตอบตลอดการนั่งขัดเกลาต้นฉบับแปล เวลาฉันถามว่า “คำนี้มีเวอร์ชั่นที่สุภาพกว่านี้บ่?”

มันไม่มีเวอร์ชั่นที่สุภาพกว่านี้จริงๆ ใช่ไหมแบ๊ง

เอาวะ ไม่มีก็ไม่มี ไม่ต้องดัดจริตคิดคำเหมือนเลี่ยง “ผักบุ้ง” เป็น “ผักทอดยอด” เพียงเพราะ “ผักบุ้ง” มันผวนเป็น “พุ่งบัก” ตามข้อมูลที่ฉันเคยอ่านตอนเด็กในหนังสือ 108 ซองคำถาม เล่มหนึ่งว่า คำว่า “บัก” มันหยาบเพราะมันแปลว่าควย! (จริงเหรอ? What the heck! ปรีชา พิณทอง ช่วยหนูด้วย!)

สุดท้ายคำนี้ไอดา (อรุณวงศ์ บก.ด่านถัดจากแบ๊ง) ปล่อยผ่าน
เย้ๆ ดีใจๆๆ สะใจๆๆๆ
#เลื่อนแม่มึงสิ ซุมบักห่าหมาสี้แม่มึงเอ๊ย!!!

แต่ไม่ใช่ทุกครั้งหรอกนะพีระ ที่ความสาแก่ใจของเธอจะถูกปล่อยผ่าน

(อ่านตอนต่อไปได้ที่นี่)