ซุบอาโวคาโด | guacamole

ท่งกุลาลุกไหม้ ไม่ใช่วรรณกรรมแปลเป็นภาษาลาวอีสานเรื่องแรกในประวัติศาสตร์แน่นอน

เพราะอย่างน้อยก็มี เวสสันดรชาดก มาก่อน

คุณรู้จักไหม คนชื่อ “ซูซะกะ”? เห็นครั้งแรกฉันคิดในใจว่าชื่อแปลกจัง แปลกพอๆ กับ “เฟาสตีโน” หรือ “ฆวานรูลโฟ” เลยเนาะว่าไหม

แต่! “ซูซะกะ” (ที่ไม่ใช่ “ชิซูกะ”) ไม่ใช่คนอื่นคนไกล เขาคือ “ชูชก” จอมตะกละนั่นเอง อิ_อิ

อยู่มาวันหนึ่ง ความเป็นคำที่ต้องทำตัวเอียงของเวสสันดรชาดกก็เลือนสลายหายไป วันดีคืนดี มีประเพณีบุญพระเวส/บุญผะเหวด มีพ่อค้าปาแดกปรากฏตัวนิทานชาดกบางเรื่องหน้าตาเฉย ของที่นำเข้าจากต่างชาติกลับกลายเป็น “ธรรมชาติ” หรือแม้กระทั่ง “อัตลักษณ์” ของภาษาและวัฒนธรรมไปเสียอย่างนั้น

เหมือนบักหุ่งบ้านเฮาเลย


สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ (พ.ศ.๒๕๓๒)
Isan-Thai-English Dictionary (1989)
ปรีชา พิณทอง

หุ่ง น. มะละกอ มะละกอเรียก หมากหุ่ง มะละกอเป็นพืชเศรษฐกิจ คนอีสานชอบกินตำหมากหุ่ง สินค้าที่ขายดีประเภทหนึ่งคือหมากหุ่ง แต่ไม่มีใครชอบปลูกเป็นสินค้า ปลูกไว้ตามสวนคนละต้นสองต้น ถ้าปลูกมากก็เกรงว่าจะร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี สิ่งที่พ่อค้าอีสานนิยมปลูกคือมันสำปะหลัง ตลาดอยู่นอกประเทศ ปีไหนประเทศนอกต้องการ มันสำปะหลังก็ราคาดีหน่อย แต่ก็ไม่คุ้มทุนที่ลงไป ส่วนหมากหุ่งตลาดอยู่ที่อีสานเอง อยากจะขายกิโลกรัมละเท่าไรก็ขายได้ ไม่มีใครสนใจ คนอีสานจึงไม่ร่ำรวยเหมือนคนภาคอื่น หมากหุ่งถ้าจะให้แซบนัวต้องใส่ปลาแดกต้วง ปลาแดกต้วงคือปลาแดกที่มีกลิ่นฉุน อย่างว่า อย่าลืมซุบหมากมี้ของดีตั้งแต่ปูอย่าลืมปลาแดกต้วงตำส้มหมากหุ่งเฮา (กลอน). papaya.


แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน
Anna and the Prince (2014)
รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค ตัดต่อ เขียน กำกับ / directed, written, edited by Ratchapoom Boonbunchachoke

“อีทับทิม กูหิว ไปทำอะไลมาให้กูกินซิ” / “Tubtim, go cook something. I’m hungry.”

“ค่ะ” / “I’m coming.”

“นี่มันเหี้ยอะไล” / “What the hell is this?”

“สเต๊กเนื้อวากิวกับซีซ่าร์สลัด—” / “Wagyu steak and Ceasar salad”

“วากิวเหี้ยอะไล กูจะกินโพนยางคำ… นี่สลัดห่าอะไล ทำไมไม่กินส้มตำ… ไปทำมาใหม่ [หยิบสเต๊กโยนใส่หน้า] ไอ่พวกบ้าต่างชาติ” / “Screw your Japanese Wagyu. Get me Thai Pon Yang Kam. And this shitty salad, huh? Where is Thai papaya salad? Fix this. Westernphilic whore.”

“…แต่โพนยางคำ ก็มาจากพ่อพันธุ์วัวฝรั่งเศสนะคะ” / “But Pon Yang Kam is actually a Thai-French breed.”

“เฮอะ?” / “Huh?”

“วัวโพนยางคำเกิดจากการผสมพันธุ์กันระหว่างวัวพ่อพันธุ์จากฝรั่งเศส กับวัวตัวเมียในท้องถิ่นที่หมู่บ้านโพนยางคำ ก็เลยได้วัวสายพันธุ์ใหม่ที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านค่ะ / “They breeds beef cattle from France with local cattle from Pon Yang Kam village. That’s how this new breed originated.”

“ที่มึงพูดมาเนี่ยะ มึงต้องการจะสื่อสารอะไล” / “What are you trying to convey?”

“ปะเด็นก็คือ ไอ่วัวที่พริ้นซ์คิดว่ามันคือวัวเอกลักษณ์ของไทย มันเกิดจากการผสมกันละหว่างวัวต่างชาติ กับวัวท้องถิ่น… วัวโพนยางคำมันไม่ได้เกิดจากการที่วัวท้องถิ่นมันเอากันเองอย่างเดียวหลอกนะคะ!” / “The breed you see as nationally unique is actually a hybrid. Two local cows fucking won’t make Pon Yang Kam exist!”

“หนอฮ์ฮ์ฮ์ยแน่ะ เดี๋ยวนี้มึงคิดจะสอน— / Lecturing me, huh?”

“แล้วส้มตำ ไอ้มะละกอที่อยู่ในส้มตำเนี่ยะไม่ใช่พืชที่มีถิ่นกำเนิดแถวนี้นะคะ มันเป็นพืชที่มีอยู่แต่ในละตินอเมริกา เข้ามาในไทยเพาะว่าโปรตุเกสเอาเข้ามาสมัยอยุธยาตอนที่โปรตุเกสมีอาณานิคมในอเมริกาใต้แล้ว” / “And papaya is not our tropical fruit but Latin America’s. Portuguese brought it here during Ayutthaya period after they already colonized South Africa!”

“ฮึ้ยยย!” /

“พริ้นซ์คะ เราไม่ได้อยู่ในโลกยุคหินกันแล้วนะคะ ถ้าเกิดว่าวัวกับมะละกอมันเดินทางข้ามทวีปมาถึงนี่ได้อ่ะ แล้วทำไมพริ้นซ์ถึงคิดจะ@#$&#%!—!!! [ฟังไม่ออก]” / “Prince, we’re not in the Stone Age anymore! If cow and papaya can travel across continents, so why in the world you wannna glue your ass to the floor!”

“อีดอออกกก!!! [ลุกพรวดขึ้นหยิบไม้เรียว]” / “Cunt!”


อาหารอีสานจานโปรดของฉันคือ “ซุปบักเขีย”
ซุปมะเขือบ้านเรานั่นเอง

ยิ่งข้น ฉันยิ่งชอบ จ้ำข้าวเหนียวลงไปแล้วมันติดชิ้นมะเขือเผาหอมปลาร้าขึ้นมาเยอะ
หรือจะปั้นข้าวเหนียวแล้วเอานิ้วโป้งกดตรงกลางให้บุ๋มลงเป็นช้อน จ้วงลงไปก็ได้รสซุปเข้มข้น

ประทานโทษ—ซุบ สะกด บ ใบไม้เด้อหัวหน่า บ่แม่น ป ปลา
ราชบัณฑิตเขาย้ำนักย้ำหนา!


คลังความรู้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา
Knowledges, Office of the Royal Society
แสงจันทร์ แสนสุภา

อาหารอีสานอย่างหนึ่งที่คนทั่วทุกภาครู้จักกันดี คือ อาหารจานที่ออกเสียงว่า [ซุบ–หน่อ–ไม้] และคนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะร้านอาหารจะเขียนชื่ออาหารนี้ว่า ซุปหน่อไม้ หากลองพิจารณาลักษณะของซุปหน่อไม้ที่ว่านี้ เทียบกับซุปอย่างอื่น เช่น ซุปข้าวโพด ซุปผักขม ซุปไก่ หรือมิโซะซุปของญี่ปุ่น ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่างซุปทั้ง ๒ อย่างนี้อย่างชัดเจน

ซุปหน่อไม้ที่เป็นอาหารอีสานจะประกอบด้วยหน่อไม้ต้มฉีกเป็นเส้น ๆ ปรุงรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด ด้วยมะนาว น้ำปลา พริกป่น และข้าวคั่ว ส่วนซุปอย่างอื่นจะมีลักษณะเป็นของเหลว บางอย่างก็ข้น บางอย่างก็ใส บางทีก็มีสีสันคล้ายกันจนเดาไม่ออกว่าเป็นซุปอะไร

ที่พยายามชี้ให้เห็นความแตกต่างของอาหารอีสาน “ซุปหน้อไม้” กับซุปอย่างอื่น ก็เพื่อต้องการจะบอกว่า อาหารอีสาน “ซุปหน่อไม้” จานเด็ดนั้นไม่ใช่อาหารประเภท “ซุป” ดังนั้น อาหารชนิดนี้จึงไม่น่าจะสะกดว่า “ซุปหน่อไม้”

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นิยามคำว่า ซุป กับ ซุบ ไว้ดังนี้ ซุป เป็นคำนาม หมายถึง อาหารน้ำชนิดหนึ่ง ต้มด้วยเนื้อสัตว์หรือผัก เป็นต้น คำนี้มาจากภาษาอังกฤษว่า soup  ส่วนคำว่า ซุบ เป็นคำนามในภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง ชื่ออาหารชนิดหนึ่งจำพวกยำ เรียกชื่อตามสิ่งของที่นำมาประกอบเป็นหลัก เช่น ซุบหน่อไม้ ซุบเห็ด

บทนิยามข้างต้นเป็นสิ่งยืนยันได้อีกแรงหนึ่งว่า ซุบหน่อไม้ที่เป็นอาหารอีสาน คำว่า ซุบ ต้องสะกดด้วย บ ใบไม้ ไม่ใช่ ป ปลา เช่นเดียวกับอาหารอีสานจานอื่นเช่น ซุบเห็ด ซุบขนุน ก็ต้องสะกดว่า “ซุบ” ส่วน “ซุป” ที่สะกดด้วย ป ปลา ทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษว่า soup (ในภาษาอังกฤษออกเสียงสระเป็นเสียงยาว–อู)  คำว่า “ซุป” เป็นคำยืมจากภาษาต่างประเทศที่ใช้กันจนกลายเป็นคำไทยไปแล้ว พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงได้เก็บคำนี้ไว้

ถ้าสื่อสารคำว่า “ซุบ” กับ “ซุป” ได้ตรงกัน ก็จะได้รับประทานอาหารที่หวังไว้ ซุปหน่อไม้(ฝรั่ง) ก็จะไม่กลายเป็น ซุบหน่อไม้(ไทย)  ซุปเห็ด(แชมปีญอง) ก็จะไม่กลายเป็น ซุบเห็ด(ฟาง)


ครั้งแรกที่ได้อ่านบทความ “ซุบหน่อไม้” ของราชบัณฑิต จำได้ว่าฉันโกรธมาก

รู้สึกเหมือนความเป็นอีสานถูกกักขัง เห็ดแชมปีญอง (ก็แค่เห็ดกระดุม เรียกซะเว่อ–เอ้อ สงสัยนิด champignon ภาษาฝรั่งมันก็แปลว่าเห็ดเฉยๆ ไม่ใช่เหรอ) มันต่างชั้นกันจากเห็ดฟางขนาดนั้นเชียวหรือ?

แล้วจะจำแนกอะไรกันนักกันหนา ใครวะจะเข้าร้านอาหารอีสานไปสั่ง “ซุปเห็ดแชมปีญอง”!

ในหมู่บ้านพูดลาวแห่งหนึ่ง (น่าจะที่บ้านโนนยาง ต.กำแมด อ.กุดชุม จ.ยโสธร) ลุงคนหนึ่งเคยพูดถึงคำว่า “ซุบ” ที่พ้องกับ “soup” เพื่อเปรยให้ฉันฟังว่าภาษาบ้านเฮามันช่างอัศจรรย์ขนาด—ในทัศนะของลุง “ซุบ” กับ “soup” มีจุดร่วมมากพอที่จะนับสองอย่างเป็นคำพ้องความหมาย

และใช่เพียงลุงคนนั้นที่ “อ่านออนซอน” ไปกับภาษาอีสานในคราบ English
อุดม บัวศรี ผู้แต่งตำรา วัฒนธรรมอีสาน ก็อดที่จะอุทาน “Amazing EEE-San” ไม่ได้ เมื่อเจอคำพ้องทั้งเสียงและความหมายอย่าง “เวียก | Work” หรือ “เอียน | Eel”

ไม่ว่าสุดท้ายมันจะถูกหรือมันจะผิด แต่คนก็ “ออนซอน” ในความคล้ายคลึงไปแล้ว ฉันว่าก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายนี่?

ตอนแรกก็คิดแค่นั้น แต่พอได้มาอ่านคำนิยาม “ซุบ” ของปรีชา พิณทอง ฉันกลับพบว่ายังคิดไม่ถึงที่สุด


สารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ (พ.ศ.๒๕๓๒)
Isan-Thai-English Dictionary (1989)
ปรีชา พิณทอง

ซุบ น. อาหารจำพวกยำ เช่นซุบเห็ด ซุบหอย ซุบหน่อไม้ ซุบเห็ดกระด้าง ซุบชิ้น ซุบปลา ชุบใบม่วง ชุบหมากมี้ ซุบเส้น ซุบผักอี่ฮีน อาหารจำพวกซุบมีรสอร่อยเหมาะแก่คนอีสานมาก อย่างว่า ซุบหมากมี้ของดีตั้งแต่ปูอย่าลืมปลาแดกต้วงตำส้มหมากหุ่งเฮา (บ.). thick stew or salad, various dishes made of sliced and mixed food.


อะไรทำให้นักปราชญ์สักคนถึงกับเขียนในสารานุกรมว่า “อาหารจำพวกซุบมีรสอร่อยเหมาะแก่คนอีสานมาก”

อันนี้มันสารานุกรมหรือว่าหนังสือแนะนำเมนูพื้นบ้านอ่ะ?

ถ้าเราลองพูดบ้างว่า “อาหารจำพวกผัดมีรสอร่อยเหมาะแก่คนไทยเชื้อสายจีนมาก” หรือ “อาหารหลากหลายจำพวกมีรสอร่อยเหมาะแก่คนปักษ์ใต้มาก” ทำไมมันฟังดูประดักประเดิดกว่ากันจัง?

ทำไมการเป็น “คนอีสาน” มันต้องมีอะไรเป็นเครื่องหมายกำกับตัวตนมากมายไปหมด?
เราถูกกดขี่ หยามเหยียด รังเกียจเดียดฉันท์ในทุกมิติ
จนเราต้องคว้าเอาอะไรต่อมิอะไรที่ไทบ้านนิยม กอบกู้พลิกกลับมาเป็นสิ่งดีงามประจำเผ่าพันธุ์ และกะเกณฑ์มันให้เป็นสิ่งเหมาะสมแก่คนร้อยพ่อพันแม่สิบแปดชาติพันธุ์เลยเหรอ?

เห็นทีจะต้องแหกกรอบคำว่า “ซุบ” ทั้งของราชบัณฑิตและของปรีชา พิณทอง สาแล้ว

แต่เอาล่ะๆ ซุบเหมาะกับคนอีสานก็ได้ รับประกันได้ตามหลักตรรกศาสตร์ดังต่อไปนี้ว่า:

กำหนดให้ P คือซุบหมากเขือ, Q คือฉัน, R คือคนอีสาน
P→Q ซุบหมากเขือเหมาะกับฉัน จริง และ
Q→R ฉันเป็นคนอีสาน จริง จึงสรุปได้ว่า
P→R ซุบหมากเขือเหมาะกับคนอีสาน จริง!

แล้วนำมาพิสูจน์ต่อตามหลักอุปนัย (inductive; แต่บางตำราแปลว่า “อุปมาน” บางตำราแปลว่า “อนุมาน”—โอ๊ย หนูงง!) ได้ว่า:

base case ซุบหมากเขือ มีรสอร่อยของซุบติดมากับหมากเขือ
n-case ซุบn ย่อมมีรสอร่อยของซุบติดมากับ n
เขียนในรูปประโยคสัญลักษณ์ได้ว่า ซุบ×(รสอร่อย+n)
จึงสรุปได้ว่า ซุบใส่อะไรคงไม่สำคัญ เพราะจะมีรสอร่อยติดมากับสิ่งนั้นเสมอ

ถ้าซุบหมากเขือมีรสอร่อยเหมาะกับคนอีสาน จริง
ก็แสดงว่า ซุบใดๆ ก็มีรสอร่อยเหมาะกับคนอีสาน จริง! ฮิ_ฮิ

สมเหตุสมผลตามหลักคณิตศาสตร์
สมพ๊อเพิ่นได้เป็นนักปราชญ์


«Día del derrumbe» de Juan Rulfo (1955)
“The Day of the Collapse,” translated by Ilan Stavans (2012)
จากเรื่องสั้น “วันแผ่นดินปี้น” ฉันแปลเอง (2018)

—Y eso que nomás estuvieron un día y en cuanto se les hizo de noche se fueron, si no, quién sabe hasta qué alturas hubiéramos salido desfalcados, aunque eso sí, estuvimos muy contentos: la gente estaba que se le reventaba el pescuezo de tanto estirarlo para poder ver al gobernador y haciendo comentarios de cómo se había comido el guajolote y de que si había chupado los huesos, y de cómo era de rápido para levantar una tortilla tras otra rociándolas con salsa de guacamole; en todo se fijaron.

“And they only stayed a day and as soon as night fell they left, otherwise, who knows how much we would have ended up in debt, but let’s face it, we were very happy: people were craning their necks so far to be able to see the gobernador and making comments of how he had eaten guajolote and if he had sucked the bones and how quickly he picked up one tortilla after another, spreading them with guacamole salsa; they paid attention to everything.”

“มาแล้วอยู่มื้อเดียว หัวค่ำหมู่เพิ่นกะไป บ่ซั้นหมู่เฮาสิเหมิดเงินถงเงินถังไปอีกส่ำใด๋บู๋ แต่กะแม่นอยู่ว่าเฮาญินดีปีดากันหลาย ไทบ้านญื้อคอจนเอ็นตึง หวังได้เห็นหน้าผู้ว่าฯ เป็นบุญตา พากันโสเหล้ว่าเพิ่นกินไก่งวงแบบใด๋ เพิ่นได้ดูดเนื้อติดดูกหือบ่ เพิ่นคือกินเอาๆ แท้ แผ่นตอร์ตียาจ้ำซุบอาโวคาโดกะดาย สู่อันสู่แนวไทบ้านกะซอมเบิ่งเหมิด”


เชิงอรรถท้ายเรื่องสั้น “Día del derrumbe” ในหนังสือประมวลผลงาน ฆวาน รูลโฟ ฉบับนักวิจารณ์
Toda la obra / Juan Rulfo; edición crítica (1992)
แซร์ฆิโย โลเปซ เมนา

กวากาโมเล (จากภาษานาหวัตล์ อาวากามุลลี, ผัดอาโวคาโด): อาหารอันเป็นแบบฉบับที่ปรุงขึ้นจากอาโวคาโด หมากพริก หมากเขือเครือ (หมากเขือเทศ) และเกลือ

[Guacamole (del náhuatl ahuacamulli, guisado de aguacate): platillo típico elaborado con aguacate, chile, jitomate (tomate) y sal.]


คุณรู้จักอาหารจานที่ทำจากอาโวคาโดชื่อ “กวาคาโมเล” ไหม ถ้าคุณรู้จัก คุณรู้จักมันจากใครที่ไหน? และถ้าคุณรู้จัก คุณมีชื่อเรียกมันอย่างอื่นนอกจากจะทับศัพท์ (แบบติดสำเนียงภาษาอังกฤษอเมริกันหน่อยๆ) ไหม?

จากย่อหน้าข้างต้นในเรื่องสั้น “วันแผ่นดินปี้น” ที่ท่านผู้ว่าราชการกิน guacamole เราจะแปลทับศัพท์ไปเลยดี หรือจะคิดสร้างสรรค์แปลมันเป็น “ยำอาโวคาโด” หรือ “อาโวคาโดคลุก” หรือ “ผัดอาโวคาโด” หรือ “สตูอาโวคาโด” หรือ “ซอสอาโวคาโดข้น” ดี?

ฉันไม่อยากทับศัพท์ เพราะความรู้สึกต่อคำว่า “กวาคาโมเล” ในภาษาไทย มันรู้สึกว่าเป็นอาหารเมืองนอกชิคๆ ในห้างในภัตตาคาร ไม่มีความเป็น “แบบฉบับ” (típico) เอาเสียเลย

ก็ตั้งแต่ฉันกลับมาอยู่ประเทศไทยหลังเรียนจบปริญญาตรีจากประเทศแถวๆ เม็กซิโกเมื่อหลายปีก่อน นอกจากไม่กี่ครั้งที่ได้รับประทานเป็นเครื่องเคียงตามภัตตาคารอาหารเม็กซิกันราคาแพง ฉันแทบไม่ได้กิน guacamole อันเป็นที่นิยมในสหรัฐอเมริกาจนมีชื่อย่อว่า “กว๊อค” อีกเลย (ขี้เกียจหาซื้ออาโวคาโดมาทำเองน่ะ)

ขอให้สังเกตว่าในสำนวนแปลภาษาอังกฤษข้างต้น (ปี 2012) ทั้ง tortilla และ guacamole ถูกนับเป็นคำภาษาอังกฤษทั่วไป หลุดจากการทำตัวเอียงชวนให้ต้องสงสัยอย่างที่เป็นกับ guajolote และ gobernador

หลังผ่านไปเกินครึ่งศตวรรษจากจุดที่เรื่องสั้นเรื่องนี้ปรากฏเป็นครั้งแรก (ปี 1955) อาหารเม็กซิกันทั้งสองก็ได้กลายเป็นเมนูธรรมดาในสหรัฐอเมริกาไปแล้ว

แต่ถ้าเราทับศัพท์ทำนองเดียวกันในสำนวนแปลอีสาน (ปี 2018) ก็กลับจะเป็นการรักษาสถานะ “ของนอก” ที่เข้าไม่ถึงชนหมู่มาก ทั้งๆ ที่ตัวละครชาวบ้านผู้เล่าเรื่องคุ้นเคยกับมันดี

เนื่องจากคนอีสานอย่างฉันชอบ guacamole เอามากๆ
ฉันจึงเชื่อว่า อาหารจำพวกนี้มีรสอร่อยเหาะ น่าจะเหมาะแก่คนอีสานจริงๆ
ขอแปลล่วงหน้าไปก่อนเลยแล้วกันว่า “ซุบอาโวคาโด” อิ_ฮิ

แปลงร่าง “ของนอก” ที่ชนหมู่มากเข้าไม่ถึง
กลายเป็น “ของนอก” ที่ฟังดูเข้าลิ้นคนบ้านเรา

คอยดูเทอะ สักวันมันอาจได้กลายเป็น “ของดีบ้านเฮา” เหมือนตำบักหุ่ง!

Sí se puede | นี่เด้ เฮาเฮ็ดได้ ◼