ปรากฏการณ์ “ทรงพระสเลนเดอร์” ใครกลืนใคร ระหว่างราชาศัพท์กับคำสแลง?

เมื่อคุณอุบลรัตนฯ มหิดล เสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคทษช. ในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ (วันเกิดฉันพอดี!) ก็เกิดปรากฏการณ์แซ่ซ้องสาธุการด้วยวลี “ทรงพระสเลนเดอร์” เต็มสื่อสังคมออนไลน์

เสมือนเป็นเวอร์ชั่นอัพเดตใหม่ล่าสุดของ “ทรงพระเจริญ” ที่หักมุมให้เข้ากับบุคลิกป๊อปๆ รูปร่างผอมเพรียว แต่งตัวโฉบเฉี่ยวของอุบลรัตน์

คำว่า “ทรงพระสเลนเดอร์” นี้ ไต่เส้นอยู่ระหว่างการล้อเลียนความศักดิ์สิทธิ์ที่อุปโลกน์กันขึ้นมาของราชาศัพท์ กับการยืนยันความยืนยงคงกระพันของราชาศัพท์ในสังคมไทย

อดไม่ได้ที่จะนึกถึงปรากฏการณ์ “ทรงพระฟิตแอนด์เฟิร์มมากพ่ะย่ะค่ะ” สมัยที่เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ใส่ชุดรัดรูปโปรโมทอีเว้นท์ปั่นจักรยาน Bike for Mom กับ Bike for Dad

ฉันเคยเขียนวิเคราะห์ปรากฏการณ์ “gym body” (ที่เป็นมากกว่า “geo-body”) ไว้ในช่วงครบหนึ่งปีหลังการสวรรคตของกษัตริย์ภูมิพล (บทความนั้นถูกบก.ที่เป็นฝรั่งมองว่าสุ่มเสี่ยงเกินไป จนฉันต้องระหกระเหินไปตีพิมพ์กับ “สื่อนอก” อย่าง New Mandala) ฉันเสนอไว้ว่าคอมเม้นต์อย่าง “ทรงพระฟิตแอนด์เฟิร์มมากพ่ะย่ะค่ะ” เป็นหนทางปลดปล่อยอารมณ์ของคนในสังคมที่พูดอะไรไม่ได้ สังคมที่เต็มไปด้วย public secrets สังคมที่ต้องไม่ติดใจการตายอันชวนสยดสยองอย่างการ “ติดเชื้อในกระแสเลือด” การเปิดโอกาสให้ไพร่ฟ้ามีหนทางได้ “ฟิน” ผ่านการตะลึงมองไตรเศปส์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินจึงนับเป็นนวัตกรรมแห่งราชเทคโนโลยีโดยแท้

แต่ฉันจะคิดแบบเดียวกันได้ขนาดไหนกับสามัญชนที่ชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา คนเดียวกันกับที่เมื่อหลายปีก่อนเคยเขียนบอกเหล่า followers (ผู้ตามเสด็จ?)ในหน้าอินสตาแกรม @nichax ของตนว่าไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ให้เกร็งกันแล้ว?


ประเด็นปัญหาอย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “ภาษาอีสาน” ก็คือ ใช่หรือไม่ที่มันเป็นผลผลิตของการที่สยาม “กลืน” ลาวฝั่งขวาแม่น้ำโขงจนสิ้นความเป็นชาติพันธุ์ที่เป็นตัวของตัวเอง?

ท่งกุลาลุกไหม้ วรรณกรรมจากภาษาสเปนที่ฉันแปลเป็นภาษาอีสานก็เป็นความพยายามหนึ่งที่จะตอบปัญหานี้ ด้วยการถามกลับว่า ถึงวันนี้ “อีสาน” กลืน “ไทย” ได้แล้วหรือยัง? เป็นไปได้ไหมที่ “อีสาน” จะไม่เป็นฝ่ายถูกกลืนแต่ฝ่ายเดียว? มีความหมายอะไรไหมถ้าจะมองว่า “ภาษาอีสาน” คือการยืนหยัดของมหาชนที่มีพลังพอจะ “กลืน” วัฒนธรรมไทยร่วมสมัย?

นึกไปถึงกบฏหมอลำโสภา พลตรี สมัยเมื่อราวแปดสิบปีก่อน ที่มองว่าการเรียนภาษาไทยคือการครอบงำทางวัฒนธรรม ไม่ยอมส่งลูกเรียนในโรงเรียนประชาบาลเพราะ “ภาษาไทยกินเด็ก” แทนที่จะอยู่ในศีลกินในธรรมดังเดิมด้วยภาษาลาวในตัวอักษรธรรม

ทุกวันนี้แทบไม่ได้เห็นทัศนคติทำนองนั้นแถวบ้าน แต่ฉันก็ได้ยินมาว่า ทางภาคใต้ยังมีแนวคิดว่าการสนับสนุนให้ใช้ตัวไทยเขียนภาษายาวีเป็นการ “ถูกกลืน” ที่พึงต่อต้านอยู่

อะไรจะเป็นตัวตัดสินว่าใครกลืนใคร? กลืนแล้วใครเป็นใคร? ฉันยังคิดไม่ออก เลยอยากลองโยงคำถามนี้กับปรากฏการณ์ “ทรงพระสเลนเดอร์” ดู เผื่อจะคิดอะไรออกบ้าง


ราชาศัพท์
Royal-speak (1952)
คึกฤทธิ์ ปราโมช

นับตั้งแต่วันที่ในหลวงเสด็จกลับพระนครมาจนถึงวันนี้ ผู้เขียนสังเกตดูคนไทยทั่ว ๆ ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกคนหนังสือพิมพ์อย่างผู้เขียนเรื่องนี้เอง ดูชักจะแก่ราชาศัพท์กันมากเอาการอยู่ทีเดียว วันหนึ่ง ๆ ก็ได้ยินเสียงแต่คนพูดกันว่า ทรงนี่ทรงนั่น หรือพระโน่นพระนี่ สุดแล้วแต่ใครจะบัญญัติราชาศัพท์ของตนขึ้นได้ตามใจชอบ ผู้เขียนสังเกตเห็นราชาศัพท์ที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปในเวลานี้ดูชักจะสวิงมากขึ้นตามกาลสมัย . . .

ในที่นี้ก็ต้องขอวางหลักไว้ว่า “ราชาศัพท์นั้น ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงเสียดีกว่า พึงใช้เฉพาะในกรณีจำเป็นจริง ๆ เท่านั้นเอง”


การใช้ราชาศัพท์อย่างฟุ่มเฟือยในคำว่า “ทรงพระสเลนเดอร์” อาจมองในแง่หนึ่งได้ว่าเป็นการพลิกไพล่ราชาศัพท์ที่ควรศักดิ์สิทธิ์มาใช้แบบลำลองผสมล้อเลียนพอหอมปากหอมคอ เป็นการไม่ยอมรับหลักการของคึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ขอให้ผู้ไม่รู้จริงเรื่องราชาศัพท์เลี่ยงใช้มันเสีย เพราะพูดไปก็ผิด ราชาศัพท์ไม่ใช่คำสแลงที่บัญญัติกันเองได้ตามใจชอบ

แต่เท่าที่ฉันเห็นคนใช้ ก็พบว่าถึงจะไม่มีเจ้ามีนายสั่งและใช้กันอย่างไม่บันยะบันยังปาน spam มันก็ยังเป็นการใช้แบบมีท่าทีสรรเสริญ “นารีขี่ม้าขาว” คนใหม่ผู้มากอบกู้สถานการณ์อยู่ดี โดยไม่ทิ้งกลิ่นของการ slander เสียดสี ประชดประชัน หรือแม้กระทั่งล้อเลียนแต่อย่างใด

แต่ถึงยังไงๆ การประกบราชาศัพท์บ้านๆ อย่าง “ทรง” กับ “พระ” เข้ากับคำสแลงเชยๆ อย่าง “สเลนเดอร์” แม้ด้วยเจตนาสรรเสริญ คำนี้ก็ฟ้องด้วยตัวมันเองว่ามันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์อะไรนักหนา แถมยังไม่เห็นสาธารณ์ตรงไหนเลย ไม่ได้ลบหลู่ ไม่ได้เชิดชู วลีนี้ไม่ได้เล่นกับขั้วตรงข้ามระหว่างความศักดิ์สิทธิ์กับความสาธารณ์ หากแต่เป็นอีกเทรนด์หนึ่งในภาวะไร้แก่นสารและไร้เหตุผลตามธรรมดาสังคมไทยเท่านั้นเอง

เผลอๆ คำประกาศของ @nichax ที่ว่าการเปิดหน้าเล่นการเมืองของตนเอง…

“เป็นเพียงการแสดงถึงสิทธิ เสรีภาพ และความไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ เหนือปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หากแต่การกระทำครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยความจริงใจและความตั้งใจเสียสละในการขอโอกาสนำประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง”

อาจฟังดูศักดิ์สิทธิ์เสียมากกว่า—ดูสิเธอ หล่อนตั้งใจเสียสละถึงเพียงนี้! อ้างถึงสิทธิ เสรีภาพ และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยไม่ใช้ราชาศัพท์เลยแม้แต่คำเดียว!

Image may contain: 1 person, smiling, text
(นี่ฉันวางรูปอุบลรัตน์ไว้ตรงข้อตีนของข้อเขียน จะเป็นอะไรไหมนี่?)

ในคำประกาศของอุบลรัตน์ มากกว่าฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ที่ถูกกลืนลงใต้สถานะสามัญชน ก็ปรากฏความเป็นฮีโร่ผู้เสียสละตามระบอบประชาธิปไตยตระหง่านกลม “กลืน” ไปกับลัทธิเทวราชบนฟ้า

ในคำว่า “ทรงพระสเลนเดอร์” ของพวกเรา มากกว่าคำสแลงที่กลืนราชาศัพท์จนสามัญ ไพร่ฟ้าหน้าใสในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้อัพเดตตัวเองล้ำยุคล้ำสมัยในพริบตา กลายเป็นไพร่ฟ้าหน้าใสในระบอบ Slender Democracy อันมีพระ Fit-and-Firm Monarch ทรงเป็นประมุข

ถ้าต่อไปนี้เราพูดอะไรไม่ได้มากนักนอกจาก “ทรงพระสเลนเดอร์” ขณะที่เสี้ยวหนึ่งในใจยังสะใจไม่หายต่อปฏิกิริยาของบางฝ่าย เราอาจกลายเป็นฝ่ายปฏิกิริยาเสียเอง เพราะไม่สามารถตั้งประเด็นพูดอะไรที่เป็นของตัวเองได้ ประทังศักดิ์ศรีไปวันๆ ด้วยการ “ฟิน” อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว สุดท้ายแล้วสิ่งที่ถูก “กลืน” อาจเป็นน้ำลายของเราเอง

ก็ถ้ามันเป็นความสัมพันธ์ระหว่าง “คน” กับ “คน” จริงๆ ไม่ใช่ “เทวดา” บนฟ้าที่ไหน เราต้องถ่มน้ำลายรดฟ้าได้สิ.