ความเดิมตอนที่แล้ว: หลังจากบังเอิญได้พบคุณหญิงทองหยอดผู้ “เสีย” ไปเนิ่นนาน นักเขียนบางคนก็ริอ่านจะเป็นนัก “สืบ”
ประเดิมตอนนี้: Detective P ไขคดีขี้เรื้อนในสำนวนแปลนวนิยาย โคทาน ของเปรมจันท์ และเรื่องสั้น “บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!” ของฆวาน รูลโฟ
เวลาอ่านสำนวนแปลวรรณกรรมของ จิตร ภูมิศักดิ์ ฉันมักรู้สึกสดชื่นที่ได้เห็นภาษาไทยที่ไม่ตามสูตร-ตายซาก เป็นภาษาปากที่หลายครั้งหูฝาดได้ยินคำลาวที่พูดกันอยู่แถวบ้านแต่ไม่เห็นเขียนกันแล้วในภาษาไทย
จะยกเครดิตข้อนี้ให้จิตรคนเดียวก็คงไม่ถูก นอกจาก ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ ที่เอางานแปลของน้องชายนักปฏิวัติผู้ล่วงลับมาเผยแพร่และอุตสาหะแปลต่อจนจบแล้ว เราอาจไม่ต้องขอบคุณใครเป็นพิเศษ เพราะภาษาไทยกับภาษาลาวสมัยก่อนๆ มันอาจใกล้กันมากกว่าเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าอ่านอะไรเก่าๆ ก็อาจจ๊ะเอ๋คำแถวบ้านได้โดยไม่มีใครตั้งใจ
โคทาน, จิตร ภูมิศักดิ์ (1930–1966), ภิรมย์ ภูมิศักดิ์ (1928–2012) แปล (1978)
Godan, translated by Jai Ratan and P. Lal (1957)
เปรมจันท์
เขาปรี่เข้าใส่ปุนยา ดึงนางออกมา แล้วลงมือทุบตีเป็นพัลวัน ปุนยาร้องเสียงหลง
“ขอให้โรคห่าเจ็ดร้อยย่านน้ำลงมากินไอ้คนจังไร” นางกรีดเสียง “ขอให้ขี้เรื้อนกุดถังกินตีนมึงทีละข้าง ละข้าง”
ความโกรธเกรี้ยวดังเพลิงกัลป์ของหิราเซาลงถนัดใจ พอได้ยินเสียงสาปแช่งด้วยขี้เรื้อนกุดถัง* ถ้าเป็นโรคปอดบวมหรืออหิวาต์แผล็บเดียวก็ตาย ไม่ยากเย็นทรมาน แต่ไอ้เรื่องตายช้า ให้ขี้เรื้อนกุดถังกุดมือกุดตีนไปทีละน้อย ๆ นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เขาปรารถนา เขากระหน่ำนางเสียอีกยกหนึ่ง
แรกเห็นคำว่า “เซา” ฉันปิ๊งเลย ไม่รู้มาก่อนว่ามันเป็นคำไทย (เคยเห็นแต่ “ซบเซา”) ได้มาเห็นตรงนี้ก็เลยรู้สึกว่ามันพ้องความหมายดีกับคำลาวอีสานอย่างใน “เซาเคียด” (หายโกรธ), “ฝนเซา” (ฝนหยุด), “เซามีแฮง” (พักผ่อนเอาแรง—เป็นชื่อสตูดิโอดนตรีอีสานอินดี้ SOUND ME HANG ของก้อง ห้วยไร่ ด้วย)
แล้วยังมีคำว่า “จังไร” ชวนให้ฉันหูฝาดตาฝาดไปถึงคำด่าแถวบ้านว่า “จังไฮ” ซึ่งการสะกด “จัญไร” แบบไทยๆ ที่เห็นบ่อยกว่าไม่เคยทำให้หูฝาดเช่นนั้น
ที่ชวนสะดุดสุด คงเป็นคำว่า “กุดถัง” จิตรใส่ดอกจันแล้วหมายเหตุไว้ว่า:
*กุดถัง: คำที่ถูกเป็นกุฏฐัง (บาลี) แต่ที่เขียนกุดถังก็เพราะในความรับสำนึกของชาวบ้านนั้นสำนึกเป็นกุดถัง พ้องกับมือตีนกุดในภาษาไทย – ผู้แปล
ก็ไม่ทราบว่าจิตรล่วงรู้ไปถึง “ความรับสำนึก” (perception?) ของ “ชาวบ้าน” (villagers?) ได้ยังไง แต่ถึงยังไง ประเด็นว่าด้วยการสะกดคำแบบบาลีบ้างสันสกฤตบ้าง VS การสะกดคำตามการออกเสียง ที่จิตรเสนอมาก็มองข้ามไม่ได้—มันถึงกับเป็นตัวแยกสำคัญของ “จริต” ระหว่างภาษาไทยกับพาสาลาวยุกปัดจุบันเลย
หลังจากเติบโตมากับการอ่านวรรณกรรมที่มักไม่มีเชิงอรรถ เมื่อได้ไปอ่านที่จิตรแปล กลับเจอฟุตโน้ตอธิบายอะไรแปลกๆ ฝังอยู่ในความทรงจำ จนนำมาคิดมาเขียนสืบได้อีกเป็นคุ้งเป็นแคว
วิทยานิพนธ์ด้านมานุษยวิทยาการแพทย์ว่าด้วยโรคเรื้อนในรัฐมัธยประเทศ, อินเดีย
Cultural Explanation of a Chronic Disease: Leprosy (1995)
Susan Julia Hansdak
(หน้า 140)
คำศัพท์ที่ใช้ในการตรวจหาเคส
การสอบถามเรื่องผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นแบบตรงไปตรงมา ผู้ทำงานด้านโรคเรื้อนถามคนในชุมชนตรงๆ ว่ามีใครเป็น “Kodh” (เกี่ยวกับอวัยวะปูดโปน) การถามเช่นนี้แต่ก่อนทำให้เกิดความรู้สึกต่อต้านอย่างแรง และผู้ทำงานด้านโรคเรื้อนก็ถูกสาปแช่งดูแคลนโดยคนในชุมชน
ราวๆ ทศวรรษที่ 1970s คำว่า “Kodh” ถูกเปลี่ยนเป็น “Kusht rog” ด้วยเจตนาของผู้ออกแบบโครงการควบคุมโรคเรื้อนที่พยายามจะขจัดตราบาปที่ติดอยู่กับคำเดิม ผู้ทำงานด้านโรคเรื้อนใช้คำศัพท์ว่า “Pani ki bemari” กันทั่วไป อันเป็นคำที่หมายถึงสภาพบวมของร่างกาย เพราะคำว่า “Kusht rog” หลายคนฟังไม่เข้าใจ คำอื่นๆ มีเช่น “daagi wala bemari” (โรคผิวหนังเป็นแผ่น)
(หน้า 299)
ฟูลูไบ (อายุ 55 ปี, เพศหญิง, ไทป์ MB-RFT, หมู่บ้าน ฆุมกา) ไปตรวจโรคกับนายแพทย์ครั้งแรกที่โรงพยาบาลโรคเรื้อนพสันตปุระ (ห่างจากบ้าน 60 กม.) ในทศวรรษที่ 1970s หมอตรวจหาอาการสูญเสียประสาทสัมผัสด้วยวิธีการ “ค้อตตั้นทัช” พบว่าแขนขาของเธอมีสภาพไร้ความรู้สึก หน้าเธอบวม ถึงแม้ว่าหมอจะแจ้งเธอว่าเป็นโรค “kusht” เธอก็ไม่เข้าใจคำศัพท์นี้ . . . ถึงแม้หมอ[หลายคนในช่วงเวลาหลายปี]จะพยายามรักษาโรคของเธอ หมอก็ไม่เคยเปิดเผยความจริงของโรค นอกจากนั้นหมอก็ไม่เคยคุยเรื่องการดูแลตัวเองหรือความพิการให้เธอเข้าใจ เป็นสาเหตุให้โรคกำเริบและอวัยวะเริ่มพิการหงิกงอ ขณะที่เล่าประสบการณ์ข้างต้นนี้เธอก็โอดครวญว่าถ้าหากหมอบอกเรื่องโปรแกรมป้องกันความพิการกับเธอแต่แรก สภาพอย่างนั้นก็จะไม่เกิดขึ้น
กูเกิ้ลทานสะเหลด
Google Translate
Hindi ←→ Thai
โคทาน โดย เปรมจันท์ (1936)
गोदान
प्रेमचंद
โดยไม่รู้ภาษา ฉันผีบ้าสืบหาต้นตอของคำที่จิตรแปลเป็น “ขี้เรื้อนกุดถัง” ในต้นฉบับ โคทาน ภาษาฮินดี อาศัยเทียบตำแหน่งเอากับฉบับภาษาอังกฤษ (ซึ่งแปลไว้อย่างละเอียดครบถ้วนกว่าที่จิตรแปลมากๆ) สุดท้ายก็เจอย่อหน้าเจ้ากรรมจนได้ ตัวใบ้คือมันมีเครื่องหมายตกใจเยอะเหมือนคนกำลังด่ากัน!
เมื่อใช้กูเกิ้ลทานสะเหลดเปิดหาคำฮินดีที่แปลว่า “โรคเรื้อน” ออกมาแล้ว ก็จัดการเทียบรูปทรงของคำฮินดีที่เห็น ว่ามันตรงกับรูปทรงคำไหนในตัวบทสองสามย่อหน้านี้หรือไม่ ก็ไปจ๊ะเอ๋กับรูปทรงของ “कोढ़ | kodh | ขี้เรื้อน” กับ “कोढ़ी | kodhee | คนขี้เรื้อน” จนได้
และก็ไม่ปรากฏ “kushth | กุษฐ” ซึ่งสะกดแบบสันสกฤตเลยใน โคทาน
เลยสรุปได้ว่า สำนึกของชาวบ้าน—ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องความรู้-ไม่รู้—ในคำว่า “kodh | โกฏ” มันต่างกันจริงๆ จากสำนึกของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูง—ที่ต้องการเลี่ยงคำที่เป็นตราบาป—ในคำว่า “kusht rog | กุษฐโรค” และสำนึกของนายแพทย์—ที่ไม่คิดว่าคนไข้ควรรู้ความจริง—ในคำว่า “kushth | กุษฐ”
(หมายเหตุสารวัตรนักสืบ บี: ข้าพเจ้าได้สั่งให้นักสืบ พี กลับไปตรวจสอบข้อสันนิษฐานกับผู้รู้ภาษาฮินดีแล้ว นักสืบ พี ได้ยืนยันมาว่า ได้ปรึกษากับ Dr Akilesh Kumar Sharma พบว่าคำว่า कोढ़ kodh เป็นคำที่ชาวบ้านและผู้มีการศึกษาน้อยใช้ ส่วน कुष्ठ kushth เป็นศัพท์ทางเทคนิคจากภาษาสันสกฤตที่แพทย์และผู้มีการศึกษาดีใช้ ในตัวบทของเปรมจันท์ข้างต้น ที่ตัวละครชาวบ้านใช้คำว่า कोढ़ी kodhi หรือ “ไอ้ขี้เรื้อน” ก็นับเป็นการสบถด่าที่รุนแรงมาก เพราะ kodh ใช่หมายถึงเพียงตัวเชื้อโรค Mycobacterium leprae แต่หมายถึงโรคเรื้อนที่มีอาการรุนแรงและทุกข์ทรมานมาก โรคที่ภาษิตชาวบ้านหลายภาษิตมองว่าเป็นการลงโทษของเทพเจ้าข้อหากระทำชั่วช้าสามานย์ คำนี้จึงไม่สามารถใช้แทนกันกับ kushth ได้ นอกจากนี้ ในภาษาฮินดีไม่พบการเติมสระอีท้ายคำว่า kushth ในลักษณะเดียวกันเพื่อเรียกผู้ป่วยโรคเรื้อน: “There is no such word as kushthee.”)
“บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!” ฉันแปลเอง (2018)
“Tell Them Not to Kill Me!” translated by George D. Schade (1967)
«¡Diles que no me maten!» de Juan Rulfo (1951)
“…ข้อยได้ซดใซ้มันแล้วเดผู้กอง ซดเซยมันไปหลายรอบแฮง ถืกเขาริบเอาไปสู่อย่าง ถืกลงทัณฑ์มาหลายแนวคัก สี่สิบปีมานี้ข้อยลี้ซ้นอยู่พอปานคนเป็นขี้ทูดกุฏฐัง ตื่นย้านว่าสิถืกฆ่าอยู่บ่เซา ข้อยบ่สมควรต้องมาตายจั่งซี้ผู้กอง อย่างน้อยๆ กะป่อยให้พระเจ้าท่านเป็นผู้อภัยบาปข้อยเทาะ อย่าฆ่าข้อยเลย! บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!”
“I’ve already paid, colonel. I’ve paid many times over. They took everything away from me. They punished me in many ways. I’ve spent about forty years hiding like a leper, always with the fear they’d kill me at any moment. I don’t deserve to die like this, colonel. Let the Lord pardon me, at least. Don’t kill me! Tell them not to kill me!”
—…Ya he pagado, coronel. He pagado muchas veces. Todo me lo quitaron. Me castigaron de muchos modos. Me he pasado cosa de cuarenta años escondido como un apestado, siempre con el pálpito de que en cualquier rato me matarían. No merezco morir así, coronel. Déjame que, al menos, el Señor me perdone. ¡No me mates! ¡Diles que no me maten!
เอ้า แล้วทำไมฉันแปลไปว่า “ขี้ทูดกุฏฐัง” ล่ะ? ทั้งๆ ที่ตัวละครที่พูดก็เป็น “ชาวบ้าน” แก่ๆ จนๆ ที่กำลังร้องขอชีวิตจาก “ผู้กอง” ที่ไม่ได้พูดภาษาชาวบ้าน?
ย้อนนึกถึงตอนแก้สำนวนแปลฉบับท้ายๆ ไอดา (บก.คำอังกฤษ) สะกิดให้แก้จาก “หมาขี้เรื้อน” เพราะมันไม่ตรงกับ “leper” ในฉบับแปลภาษาอังกฤษซึ่งพูดถึงคน ไม่ใช่หมา
ฉันเถียงกลับไปว่า จริงๆ ต้นฉบับภาษาสเปนมันก็ไม่ได้บอกว่าเป็นโรคอะไรด้วยซ้ำ แค่ว่าเป็นการเปรียบเปรยกับโรคระบาด “apestado” แต่ฉันคิดอีกทีแล้วก็ยอมรับว่า ถึงผู้พูดจะไม่บอกโรค แต่การบอกว่าต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เสียไปจากสังคม เขาก็คงไม่ได้เปรียบเปรยกับผู้ป่วยโรคอื่น
เลยจัดการส่งข้อความถามแบ๊ง (บก.คำลาว) ทางเฟ้ซบุ๊คว่า “ขี้เรื้อน” ภาษาบ้านเฮามันว่าจั่งใด๋นะ? ก็ได้คำตอบกลับมาว่า “ขี้ทูด” คำนี้แหล่ะ
ฉันเปิดคัมภีร์แล้วพบว่า “ขี้ทูด คือ โรคเรื้อน ชนิดที่ตีนมือไม่หงิกงอ เรียก ขี้ทูด ชนิดที่ตีนมือหงิกงอ เรียก กุฏฐัง. leprosy.” (ปรีชา 133) จึงได้เผยแผ่คำสอนให้ไอดา
“แล้วในเรื่องมันมือตีนหงิกงอหรือไม่หงิกงออ่ะ?” ไอดาถาม
“หนูจะรู้มั้ยอ่ะป้า” ฉันหัวเราะร่วน “ใช้มันทั้งสองคำนั่นแหละ มันเป็นการเปรียบเทียบเฉยๆ”
เปิดคัมภีร์อีกเล่มพบว่า “ขี้ทูด น. โรคเรื้อน ทำให้อวัยวะ เช่น มือ ใบหู กุดสั้นลง, มักใช้คู่กับคำ กุฏฐัง เป็น ขี้ทูดกุฏฐัง. ว. อย่างเลว, ทราม.” (มติชน 136)—เห็นมั้ยป้า ขี้ทูด+กุฏฐัง เขานิยมใช้คู่กัน
แล้วในตอนนั้น ความทรงจำถึงเชิงอรรถอันนั้นของ จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ผุดขึ้นมา—จะเขียน “กุดถัง” แบบจิตร ภูมิศักดิ์ หรือจะเขียน “กุฏฐัง” แบบคัมภีร์ดี?
สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจสะกดแบบหลังก็คือ “มันมีตัว ฏ ปฏัก” ได้ใช้แล้วรู้สึกดี
เหตุผลง่ายๆ จนอาจเข้าขั้นเหตุผลโง่ๆ ถ้าฉันจะแถให้ฟังดูฉลาดขึ้นหน่อยก็ได้ว่า:
ใช้ ฏ ปฏัก แล้วรู้สึกดีเพราะมันเป็นการยืนยันว่า “ภาษาอีสาน” กับ “ภาษากลาง” ไม่ได้แยกขาดจากกันถึงขนาดนั้น ทำไมเราต้องชี้ว่าสำนึกของ “อีสาน” ผิดแผกจากสำนึกของ “ส่วนกลาง” จนกระทั่งไม่สามารถใช้พยัญชนะร่วมกันได้?
ในระหว่างกระบวนการอันคดเคี้ยวของการตัดสินใจว่าจะใช้อักขรวิธีอีสานอย่างไร มีครั้งหนึ่งตอนโฆษณาหนังสือให้ อิสระ ชูศรี ฟัง ฉันบอกด้วยความภูมิใจว่า ฉันเขียน “ประโยชน์” ว่า “ปะโหญด” ราวกับว่ามันเป็นข้อพิสูจน์ของความ authentic อีสานขนานแท้
เพียงเพราะว่าชนชั้นปกครองของ สปป. ลาว ได้เปลี่ยนอักขรวิธีภาษาลาวให้เป็นพาสาลาว เลิกใช้พยัญชนะที่ไม่จำเป็น และสะกดคำตามการออกเสียงทั้งหมด เราต้องทำตามขนบนั้น—ซึ่งถึงที่สุดแล้วก็เป็นจริตอีกระดับหนึ่ง—ด้วยหรือ?
ลำพังเลือกแปลให้ตัวละครที่กำลังร้องขอชีวิตใน “บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!” พูดภาษาลาว ในขณะที่ตัวละครผู้ออกคำสั่งให้ประหารเขาพูดภาษาไทย มันก็ขีดเส้นการเมืองเรื่องภาษาแบ่งสำนึกของ “ชาวบ้าน” ออกจากสำนึกของ “ทางการ” ไปพอแรงแล้ว ฉันไม่อยากล้ำเส้นเข้าไปอีกว่า แม้แต่ตัวอักษร ฏ ปฏัก ก็มีแค่ฝ่ายเดียวที่สามารถใช้ได้
ว่าแล้วก็นึกถึงเรื่องที่ผู้กองพูดลอยๆ เล่าความหลังให้เขาได้ยินว่า
“มารู้ทีหลังว่าพ่อถูกเขาฟันมีดอีโต้ใส่ แล้วเอาปฏักเสียบท้องอีก คนเล่าให้ข้าฟังว่าแกหายสาบสูญไปสองวันกว่าๆ ถึงมีคนไปเจอแกนอนอยู่ในห้วย ยังทุรนทุรายอยู่ พร่ำเพ้อถามหาคนจะฝากฝังให้ช่วยดูแลครอบครัวแทน”
“ผ่านไปนานเข้าก็เหมือนจะหลงลืมไป คนเราก็พยายามลืมมันให้ได้น่ะนะ แต่ไอ้ที่ลืมไม่ลงก็ตอนได้ข่าวว่าตัวการยังมีชีวิตอยู่ ยังหล่อเลี้ยงจิตใจสวะนั้นต่อไปด้วยภาพฝันว่าตัวอยู่ค้ำฟ้า แบบนี้ให้อภัยมันไม่ได้ ถึงไม่รู้จักมันก็เถอะ”
ก็ถ้าชาวบ้านคนเลี้ยงงัวอย่างเขาสามารถใช้ ฏ ปฏัก เสียบท้องเจ้าที่ดินจนตายได้ ทำไมเขาจะใช้ ฏ ปฏัก เปล่งคำว่า “ขี้ทูดกุฏฐัง” ไม่ได้ล่ะ?
Sí se puede | นี่เด้ เฮาเฮ็ดได้ ◼