เมื่อฉันถอดแว่นชูศักดิ์: ปัญหาการอ่าน ท่งกุลาลุกไหม้ ควบคู่ไปกับ ฟ้าบ่กั้น

บทวิจารณ์วรรณกรรมบางชิ้นมีชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่เกาะติดเหมือนลูกแหง่กับแม่บทที่มันวิจารณ์ มันออกไปวิ่งซุกซน แตกหนุ่มแตกหน่อไปถึงไหนต่อไหน

ตัวอย่างหนึ่งคือบทวิจารณ์ของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เรื่อง “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” ที่ตีฝ่าวงล้อมแนวการวิจักษ์วิจารณ์แบบเดิมๆเกี่ยวกับหนังสือ ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม ออกไปตั้งค่ายใหม่ กิตติศัพท์เป็นที่เลื่องลือในบรรณพิภพ

เมื่องานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด มีลูกค้าคนหนึ่งมาที่บู๊ธสำนักพิมพ์อ่านเพื่อถามหาบทวิจารณ์ชิ้นนั้นของชูศักดิ์ เมื่อฉันถามเขาว่าจะเอาไปทำอะไร จึงได้ทราบว่าเป็นการบ้านในชั้นเรียนวิชาสังคมวิทยาระดับมหาวิทยาลัย ที่อาจารย์สั่งให้ทุกคนเขียนบทวิจารณ์ต่อประเด็นที่ชูศักดิ์ได้เสนอไว้ โดยให้ใช้ทฤษฎีทางสังคมวิทยาที่ได้ศึกษามาประกอบ

“ผมควรอ่านตัวเรื่องสั้นด้วยไหมพี่” ลูกค้าถามหลังจากฉันบอกว่าบทวิจารณ์มีรวมอยู่สองที่ ที่หนึ่งนั้นพิมพ์โดดๆ ในวารสาร อีกที่หนึ่งอยู่กับรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น

ฉันแนะนำให้เขาอ่านตัวเรื่องสั้นก่อนสักเรื่อง จะได้ตัดสินมันด้วยตัวเองก่อนเผื่อจะได้มีประเด็นเห็นต่างกับการ “อ่านใหม่” ของชูศักดิ์ แค่ไม่กี่ชั่วโมงเองน่า – แนะนำไปอย่างดูเบา ทั้งๆที่ตอนตัวฉันเองอ่าน ฟ้าบ่กั้น ฉันก็อ่านบทวิจารณ์ของชูศักดิ์ก่อนที่จะได้อ่านตัวบทเสียอีก

ศิษย์นอกชั้นเรียนอย่างฉันอยากซ่อล่อถือวิสาสะทำการบ้านวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ซ้อนวิจารณ์ชิ้นนี้ส่งกับเขาบ้าง – แต่ไม่มีทฤษฎีสังคมวิทยาประกอบนะ วิจารณ์ลูกเดียว


ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน
A critical introduction to Read’s publication of Fa bo kan (2012)
ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์

นักวิชาการจำนวนมาก โดยเฉพาะนักวิจารณ์ที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางการโหมประโคมวาทกรรม “อีสานแล้ง” และ “อีสานโง่” ในยุคเร่งพัฒนาชาติให้เป็นสมัยใหม่ช่วงจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมครองเมือง (2501-2516) จึงรับเอาอัตลักษณ์ความเป็นอีสานดังกล่าวเข้ามาเป็นแว่นในการอ่าน ฟ้าบ่กั้น จริงอยู่ นักวิจารณ์เหล่านี้พยายามสร้างชุดคำอธิบายเพื่อจะชี้ว่า ความโง่ จน เจ็บ และแห้งแล้งกันดารที่พวกเขา “อ่าน” พบในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ทำหน้าที่ประชดประชัน เย้ยหยัน เสียดสี หรือปลุกสำนึกและมโนธรรมของผู้อ่านให้ต้องครุ่นคิดถึงชีวิตของผู้คนในชนบทที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแล คำอธิบายเหล่านี้แม้จะฟังดูดี แต่ว่าในท้ายที่สุดแล้วก็เป็นคำอธิบายที่ยิ่งช่วยตอกย้ำอัตลักษณ์ความเป็นอีสานที่ชนชั้นนำไทยสร้างขึ้นอยู่ดี เพราะพวกเขาได้พาตัวเองเข้าไปติดกับดักของวาทกรรมชุดนี้ แม้แต่คำอธิบายที่อ้างอิงหลักคิดเชิงมานุษยวิทยาอย่าง “พิธีกรรมกลับขั้วสถานะ” ท้ายที่สุดแล้วก็ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแบ่งขั้วไว้สองขั้วเป็นจุดเริ่มต้น

ยิ่งกว่านั้น คำอธิบายเพื่อแก้ต่างให้กับลักษณะ “โง่เขลา งมงาย” ที่พวกเขามองเห็นในตัวละครชาวบ้าน ในท้ายที่สุดก็กลับเป็นการยืนยันสถานะที่สูงกว่าของตัวนักวิจารณ์ ดังจะเห็นว่าพวกเขามักจะพูดในทำนองว่าเราจะเข้าใจนัยเยาะเย้ยหยันและล้อเลียนเหล่านี้ได้ก็ต้องเป็นคนช่างคิด เป็นต้นว่า “คนที่เป็นชาวบ้านอ่าน ลาว คำหอม แล้วรู้สึกสนุก พวกนักคิดอ่านก็มีแง่ที่ลึกซึ้งให้ขบ” (ส. ศิวรักษ์) หรือ “เขียนด้วยอารมณ์ขันอย่างมีศิลปะ และทำให้มันเป็นเรื่องที่ขมขื่น เจ็บปวดมากขึ้นสำหรับคนอ่านที่ช่างคิด” (วิทยากร เชียงกูล)


ไม่นานก่อนที่ฉันจะได้รู้จักกับ El Llano en llamas ของ ฆวาน รูลโฟ ฉันได้อ่าน ฟ้าบ่กั้น ฉบับที่มีบทวิจารณ์ของชูศักดิ์เป็นบทนำ นับจากนั้นผ่านมาได้หกปี อ่านเรื่องสั้นของรูลโฟใหม่ตั้งหลายรอบ จนแปลเสร็จอะไรเสร็จออกมาเป็น ท่งกุลาลุกไหม้ ฉันเพิ่งจะได้มาตระหนักว่ากรอบความคิดที่ชูศักดิ์ใช้เสนอในบทวิจารณ์ได้ครอบงำการอ่านรูลโฟของฉันจนทำให้ไม่ทันคิดถึงการตีความอีกแบบไปอย่างไม่น่าให้อภัย

ฉันมาได้คิดเรื่องนี้ เมื่อมานั่งไขปริศนาการแก้คำโดยรูลโฟในต้นฉบับเรื่องสั้นเสียดสีนักการเมืองและข้าราชการชื่อเรื่องว่า “วันแผ่นดินปี้น [El día del derrumbe]” ที่เล่าเรื่องการลงพื้นที่ของท่านผู้ว่าฯ ในชุมชนชนบทเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินปลิ้นครั้งหนึ่ง ซึ่งแทนที่จะช่วยบรรเทาปัญหาก็กลับเป็นการเปล่าเปลืองไปกับงานเลี้ยงต้อนรับและคำกล่าวสุนทรพจน์

ตัวบทของเรื่องสั้นทั้งเรื่องเป็นบทสนทนาระหว่างตัวละครชาวบ้านสองตัว ตัวละครตัวหนึ่งเป็นคนที่อยากเล่าเรื่องวันแผ่นดินไหวนี้ให้คนอื่นๆฟังเต็มแก่ ส่วนอีกตัวเป็นผู้รู้ความจำดี เป็นอดีตนายกเทศบาลผู้มีหน้าที่คอยคอนเฟิร์มและเพิ่มเติมรายละเอียดที่อีกฝ่ายเล่ามาให้ถูกต้องสมบูรณ์

ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก (1955) รูลโฟให้ตัวละครชาวบ้านที่เป็น “ผู้รู้” พูดคำผิด จากที่ควรพูดบรรยายลักษณะท่านผู้ว่าฯ ว่า “Impávido /อิมป๊าวีโด่/” ซึ่งแปลว่า “ไม่หวั่นเกรง” กลับพูดผิดเป็น “Impálido /อิมป๊าลีโด่/” ซึ่งฟังเหมือนคำว่า “Inválido /อิมบ๊าลีโด่/” ซึ่งแปลว่า “ง่อยพิการ”

แต่ในฉบับตีพิมพ์รวมเล่ม (1970) รูลโฟเปลี่ยนไปให้เขาพูดผิดอีกจุดหนึ่งแทน คือคำว่า “epifoco” [กัมปนาท] พูดผิดเป็น “efipoco” [กรรมอนาถ] ซึ่งไม่ชวนขบขันเท่า

“หมู่สูน่าได้มาเห็นตอนผู้ว่าฯ เพิ่นยืนโพ้โว้หน้าญุ่งหน้าญาก ตาสักซุมญ่องกันคือสิส่งสายตาบอกให้หยุดให้เซา

“จั๊กใผเป็นผู้บอกวงดุริยางค์ให้เริ่มเล่นเพง แต่สิ่งที่เกิดกะแม่นเพิ่นบรรเลงเพงซาติแบบเต็มกำลังเสียง ผู้เป่าทรอมโบนกะเป่าแฮงคักคือแก้มสิระเบิด แต่ซุมนั้นกะเฮ็ดคือเก่า บัดลุนมากะปากฎอีกว่ามีคนตีกันอยู่ทางนอกหม้องหัวทาง มีคนเข้ามาแจ้งผู้ว่าฯ ว่าทางนอกพุ้นมีคนแทงมีดโต้ใส่กัน คันตั้งใจฟังกะสิฮู้ว่าแม่นอีหลี ขนาดอยู่ในนี้ญังได้ญินเสียงแม่ญิงฮ้องใส่ ‘แญกมันจากกันแหน่เดี๋ยวมันสิฆ่ากัน!’ อีกจักคาวนึงกะได้ญินเสียงอีกคนฮ้องใส่ ‘ผัวกูถืกฆ่า! จับมันไว้!’

“ทางผู้ว่าฯ เพิ่นบ่ตีงซ้ำ ยืนท่าเดิม เอ้อ เมลีตอน คำนั้นมันเอิ้นว่าหญังเกาะที่เขาว่ากัน…”

“บ่หวั่นไหว (Impávido [แก้จากฉบับดั้งเดิมซึ่งเขียนว่า Impálido])

“หั้นละๆ บ่หวั่นไหว บัดนี้ตอนนั้นทางนอกมีเหตุอนอัว ทางในกะทรงสิสงบลง […] บักพิธีกรที่เว้ามาตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ญกแขนขอให้คนอยู่ในควมสงบเพื่อไว้อาลัยเหญื่อผู้เคาะฮ้าย เอ้อ เมลีตอน เหญื่อซุมใด๋เกาะที่เพิ่นขอให้เฮามิดเสียงไว้อาลัย?”

“ซุมกรรมอนาถ* (Los del efipoco [แก้จากฉบับดั้งเดิมซึ่งเขียนว่า epifoco])

*กรรมอนาถ แปลจาก efipoco ซึ่งเป็นคำที่ไม่มีอยู่ แต่สลับเสียงมาจาก epifoco อันหมายความถึงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว สันนิษฐานว่ารูลโฟจงใจให้ตัวละครพูดผิด จึงเลือกสะกดว่า กรรมอนาถ แทนที่จะเป็น กัมปนาท – ผู้แปล

หมายเหตุด้านนิรุกติศาสตร์เบื้องต้น, รวมผลงานฆวาน รูลโฟ
Nota filológica preliminar, Toda la obra
Sergio López Mena

เรื่องสั้น “วันแผ่นดินปี้น” ของรูลโฟได้รับการพิมพ์สองปีให้หลังการปรากฏตัวครั้งแรกของรวมเรื่องสั้น ท่งกุลาลุกไหม้ เรื่องเล่าโศกนาฏกรรมชวนหัวเรื่องนี้ […] ผ่านการปรับเปลี่ยนเพียงไม่กี่จุด ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นก็คงอยู่ถาวรตั้งแต่ฉบับนั้นเป็นต้นมา  นั่นคือ คำว่า impálido เปลี่ยนเป็น impávido ซึ่งเท่ากับการลบอารมณ์ขันเกี่ยวกับตัว ส.ส. ที่เกิดจากการเข้าใจคำสับสนของตัวละครหลักผู้เล่าเรื่องที่มีอยู่ในฉบับพิมพ์ครั้งแรกทิ้งไปอย่างไม่สามารถอธิบายได้ แล้วเพื่อเป็นการทดแทนที่ได้ลบการพูดคำผิดตรงนั้น คำอีกคำในเรื่องที่แต่เดิมไม่มีบทบาทชวนหัวเราะ คือคำว่า epifoco ก็ถูกบิดให้กลายเป็น efipoco ด้วยการสลับเสียงในคำจนโดดออกมา


ครั้งแรกที่ได้อ่านหมายเหตุการแก้ไขต้นฉบับข้างต้น ฉันกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ในใจเมื่ออ่านไปถึงตรงที่ López Mena บอกว่า “ไม่สามารถอธิบาย” การลบมุกตลกนี้ทิ้งได้ เพราะมันไม่เห็นจะเข้าใจยากตรงไหนเลย ถ้าเอามุกนั้นไว้มันก็จะชวนให้คนอ่านรู้สึกว่าชาวบ้านโง่ไงเล่า!

เผอิญคนมันได้อ่านบทวิจารณ์ของชูศักดิ์มาก่อนอะเนาะ อิ_อิ

ชูศักดิ์ได้ชี้ให้เห็นในกรณีของ ฟ้าบ่กั้น ว่าผู้แต่งคาดหวังกับผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายซึ่งก็คือปัญญาชนในเมืองสูงเกินไป นั่นคือผู้ฟังโดยนัย (implied listener) ของเรื่องเล่าความทุกข์ยากของชาวบ้านถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้อ่านด้วยจิตสำนึกแบบที่เห็นคนเท่ากัน งานที่ตั้งใจเขียนเพื่อให้คนเมืองได้เกิดมโนธรรมสำนึกต่อสภาพชีวิตของเพื่อนมนุษย์ผู้ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม จึงกลับถูกนำไปตอกย้ำการแบ่งชั้นให้ผู้อ่านกลุ่มเป้าหมายรู้สึกว่าตนมีความรู้ความเข้าใจเหนือกว่าชาวบ้านที่โง่เขลางมงายทั้งในตัวบทและในชีวิตจริง

แล้วผู้ฟังโดยนัยของเรื่องแต่งของ ฆวาน รูลโฟ คือใครกันล่ะ? พอจะเทียบได้ไหมกับ “ปัญญาชน” “ชาวเมือง” อย่างที่ ลาว คำหอม คาดหวังไว้ว่าจะเป็นผู้อ่าน ฟ้าบ่กั้น?

ในเรื่อง “วันแผ่นดินปี้น” ถึงจะมีแค่เสียงสนทนาของตัวละครสองตัว แต่จริงๆแล้วบรรยากาศการเล่าคือมี “หมู่สู” หรือ “ustedes aquí” เป็นกลุ่มคนที่นั่งฟังตาแป๋วอยู่ในหมู่บ้าน (หรือนั่งอ่านตากลมอยู่บนหน้ากระดาษ) ไม่มีเสียงอยู่ในตัวบท ผู้อ่านคงต้องคิดเอาเองว่า “หมู่สู” นี้จะมีปฏิกิริยาอย่างไร

แต่นอกโลกของตัวบท “หมู่สู” ของ ฆวาน รูลโฟ ก็ต้องมีปัญญาชนคนเมืองอยู่ในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างที่รูลโฟเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนวนิยายเล่มที่เขาเขียนไม่สำเร็จว่า

ข้อยฮู้จักควมเป็นจริงแบบหนึ่งซื่อๆ และกะอยากให้ผู้อื่นฮู้จัก… ข้อยคึดอยากให้เรื่อง La cordillera ให้ภาพควมเรียบง่ายของคนซนบท ให้มันถ่ายทอดควมเรียบง่ายในดวงใจเขาเจ้า คนเมืองเห็นว่าปัญหาเขาเจ้าเป็นปัญหาของซนบท แต่มันเป็นปัญหาของทังประเทศ เป็นปัญหาเดียวกันกับของเมือง ญ้อนว่าคนจากหม้องนั้นมาอยู่พี้ ญ้ายมาเมือง แล้วกะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่พี้ แต่เพิ่นกะสิบ่ป๋าถิ้มอันที่เพิ่นเคยเป็นมาดอกจนกว่าสิถึงจุดหนึ่งพุ้น ปัญหานั้นเพิ่นกะจูงมา

It’s just that I’m familiar with a reality that I want others to get to know… Above all, what I want to do in La Cordillera is to show the simplicity of countrypeople, their candor. The man of the city sees their problems as country problems. But it’s the problem of the whole country. It’s the problem of the city itself. Because, when the countryman moves here, to the city, there’s a change. But to a certain extent he continues to be what he was. He brings the problem with him.

เห็นได้ว่ารูลโฟต้องการสลายแนวคิดการแบ่งคนชนบทออกจากคนเมือง ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ปัญหาของชนบท” ที่ไม่ใช่ปัญหาของเมืองไปด้วย มันคือแผ่นดินเดียวกัน ฟ้าเดียวกัน

การที่รูลโฟเอามุกตลกนั้นออกจึงเม้กเซ้นส์จะตายไป เพราะไม่งั้นผู้อ่านปัญญาชนคนเมืองก็จะมองว่าตัวละครชาวบ้านความจำดีที่ถูกยกให้เป็น “ผู้รู้” คนนี้ที่แท้ก็เป็น “อ้ายโง่” ผู้ไม่รู้ภาษาอย่างน่าหัวเราะ ทำนองเดียวกันกับ “ผู้ใหญ่ลี” ในเพลงพ.ศ.สองพันห้าร้อยสี่คนนั้นที่ไม่รู้ว่า “สุกร” แปลว่าอะไรแล้วยังทำตัวเป็นผู้รู้นั่นไง! การให้ตัวละครไปพูดผิดตรงคำที่เป็นศัพท์แสง “กัมปนาท” แทน จึงชวนให้ตีความต่างไปว่าคนที่ใช้คำชั้นสูงอย่างน่าหัวเราะคือพวกคนเมืองข้าราชการมากกว่าจะเป็นชาวบ้านผู้เล่าเรื่อง

รูลโฟต้องได้บทเรียนจากผลงานของ ลาว คำหอม แน่ๆเลย


นักกานเมือง (2501)
The Politician, translated by Domnern Garden (1973)
ลาว คำหอม

ทั้งสามโอ้เอ้กับเหล้าโรงน้ำใสแจ๋วมาแต่เช้า เสียงสนทนาปราศรัยค่อยแก่กล้ามากขึ้นตามความร้อนแรงของดวงอาทิตย์ และเอาการเอางานมากยิ่งขึ้น เมื่อเจ้าเกิดภารโรงของศาลากลางจังหวัดเร่เข้ามาร่วมวง

“อาจารย์ยังไม่รู้ซี บ้านเมืองเขายุ่ง หลวงพิบูล หลวงเผ่า* เปิดแน่บไปถึงไหนๆ แล้ว” เกิดพูดพลางลากม้านั่งมาร่วมโต๊ะ ทั้งสามหันไปมองอย่างตั้งใจ

“ขยันยุ่งเหลือเกินนิ” ก้อยอ้อแอ้ในลำคอ “นี่ละมังที่พวกปากมากมันพูดปาวๆ ตอนเลือกผู้แทน มันว่าไงนะอาจารย์? อะไรนะ? ไตไตนี่แหละ” ยื่นหน้าไปทางเขิน

“ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต” เขินพูดอย่างเคร่งขรึม “เขาเรียกว่ารัฐประหาร ประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” เขาอวดภูมิต่อ “เอ็งนี่โง่ ไม่รู้แล้วอย่าคุย ข้ารู้ดี ตอนเลือกผู้แทนคราวก่อน นายอำเภอกับข้าหลวงยังยกมือไหว้ข้าปลกๆ ขอให้ข้าเป็นหัวคะแนนให้เจ้านาย”

*Field Marshal Phibunsongkhram and Police Gen. Phao Sriyanon fled the country after a public uprising set off by a rigged election.

แขมคำ (2512)
Dark Glasses, translated by Domnern Garden (1991)
ลาว คำหอม

ขณะนั้นพวกเขากำลังยิ้มหัวกันอยู่ ทั้งสองคนสวมหมวกปีกกว้าง ใส่เสื้อแขนยาวสีครามอ่อนๆ เพราะพวกเขาสวมแว่นตาดำทั้งสองคน แม่จึงไม่ทราบว่าเขามองดูแกหรือไม่

“แขมคำเกิดมาสวย” คนที่ยืนเกาะราวกี่พูด

“ช่าย แขมคาม เกิดมาสวย” เพื่อนของเขาลากเสียงย้ำประโยคเดิม

แม่ลังเลตัดสินใจไม่ถูกว่าควรจะทำอย่างไร จะอยู่ที่นั่นหรือเตลิดขึ้นเรือน

“ไม่ใช่ ฉันเกิดยามแลง”

“เหรอ แต่ก็ยังสวย”

“ไม่ใช่ นายไม่เข้าใจ” เธอวางกระสวยลงบนผืนผ้า ยกมือขึ้นเสยผม หันไปมองแว่นสีดำของเขา เส้นไหมสีม่วงจากหลอดในกระสวยปลิวตามลมเป็นเส้นโค้ง

“นายฟังฉันไม่เข้าใจ ฉันเกิดยามแลง”

สองหนุ่มสบตากันแลกยิ้ม หญิงสาวพูดขึ้นอีก

“แม่เล่าว่า เมื่อเจ็บท้องฉัน แม่กำลังเกี่ยวข้าวอยู่ในนา พ่อรีบนำกลับบ้าน ถึงยามแลงฉันก็เกิด ใช่ไหมแม่?”

นางสะดุ้งเมื่อจู่ๆ ก็ได้ยินเสียงลูกสาวอ้างเป็นพยาน

“ถูกของแขมแหละค่ะ” เสียงแม่สั่น “แขมเกิดยามแลง แลงกว่านี้”

พูดพลางมองหาดวงตะวันที่ลอยเรี่ยยอดไม้ แต่ก่อนที่ใครจะทันได้ต่อความ พ่อก็พูดส่งลงมาจากบนบ้าน

“เออ! ให้บ้า—กันหมดทั้งแม่ลูกนั่น สวย—ไทยเขาแปลว่างาม”


ลองเรียงลำดับเวลาตีพิมพ์ผลงานแต่ละเรื่องที่ยกมาดู พบว่ามีความคาบเกี่ยวกันอย่างน่าสนใจ

“วันแผ่นดินปี้น” พิมพ์ครั้งแรก México en la Cultura พ.ศ. 2498
“นักกานเมือง” พิมพ์ครั้งแรก ปิยมิตร พ.ศ. 2501
“แขมคำ” พิมพ์ครั้งแรก ฟ้าบ่กั้น พ.ศ. 2512
“วันแผ่นดินปี้น” พิมพ์ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2517

แน่นอนละว่า ฟ้าบ่กั้น ไม่ได้ถูกแปลเป็นภาษาสเปนทันให้รูลโฟได้อ่าน แต่ลองคิดเล่นๆดูสิว่า ลาว คำหอม อาจจะไปเข้าฝัน ฆวาน รูลโฟ หรือฝากผีสางเทวดาไปกระซิบข้างหูเขาก็ได้ ใครจะรู้? ในดินแดน(สัจนิยม)มหัศจรรย์ อะไรๆก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นแหละ

รูลโฟจึงสามารถเรียนรู้จากลาวได้แน่ ว่ามุกอย่าง “เกิดมาสวย”/“เกิดตอนสาย” ในเรื่อง “แขมคำ” นั้นลดทอนตัวละครชาวบ้าน(ผู้หญิง)ให้เป็นเหยื่อโง่ๆ ไม่เท่าทันเล่ห์กลของชาวเมือง(ผู้ชาย)ที่มีเงิน และมุกอย่าง “ประชาธิปไตยเว้ย ไม่ใช่ไตไต เขาเรียกว่ารัฐประหาร ประชาธิปไตยน่ะ มันต้องรัฐประหารบ่อยๆ” ในเรื่อง “นักกานเมือง” นั้นถึงแม้จะชัดว่าเป็นการเขียนเชิงเสียดสี แต่ก็ถูกอ่านได้คือๆเก่าว่าเป็นคำเว้าไร้สาระของไทบ้านขี้เมา ที่ต้องอาศัยมุมกดของสายตาคนช่างคิดช่างตีความจึงจะเกิดนัยยะเยาะเย้ยอย่างแยบยลขึ้นมา


บทวิเคราะห์เรื่องอำนาจในเรื่องสั้น “วันแผ่นดินปี้น”
De la utopía de la solidaridad al dolor del cambio: discursos alrededor de un terremoto (2009)
Berenice Villagómez Castillo

ความคิดที่ว่าความโง่เขลาของเมลีตอน [อดีตนายกเทศบาลผู้จำคำสุนทรพจน์ของผู้ว่าฯ ได้อย่างพิสดาร] เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาใช้คำผิดๆ ยัดปากตัวละครผู้ว่าฯ ดูจะมีเหตุผลรองรับในต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกมากกว่าฉบับหลัง ที่ซึ่ง Sergio López Mena ใน “หมายเหตุด้านนิรุกติศาสตร์เบื้องต้น” ในเล่ม รวมผลงานฆวาน รูลโฟ ได้ชี้จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงไว้บางจุด […]

ถ้าหากรูลโฟคงให้มีการใช้คำสับสนอย่างฉบับแรกไว้ ตัวบทก็จะสนับสนุนการตีความบนฐานความคิดว่าความไร้วัฒนธรรมของคู่สนทนาในเรื่องได้ยัดเอาอะไรที่ไม่เป็นภาษาใส่ปากผู้มีอำนาจที่มาเยือน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ López Mena ถือว่าไม่สามารถอธิบายได้นั้นสำหรับข้าพเจ้าแล้วเม้กเซ้นส์มาก นั่นก็คือ ในการสนทนาโต้ตอบกันนั้น ผู้เล่าเรื่องทั้งสองใช้คำศัพท์ที่เรียบง่าย (หรืออาจจะโบราณ) ภาษาที่ใช้จึงสร้างภาพพวกเขาเป็นคนต่ำฐานะที่เคยชินกับการรับใช้ผู้หลักผู้ใหญ่—แต่มิได้สร้างภาพของคนโง่เขลา การเปลี่ยนถ่ายการใช้คำสับสนให้กลายเป็นของ “บักพิธีกร” ก็แง้มเปิดความเป็นไปได้อีกอย่างว่าพวกผู้ปกครองนั้นอาจเป็นพวกด้อยสติปัญญาเสียเอง แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่ามันเป็นการตั้งใจทำเป็นพูดผิดเพื่อจะเสียดสี เพราะว่าในทำนองเดียวกันกับที่บารมีของท่านประธานาธิบดีแผ่มายังผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่อง บารมีก็แผ่จากผู้ว่าราชการจังหวัดมายังเมลีตอนเช่นกัน จึงถือได้ว่าอดีตนายกเทศบาลผู้นี้ได้ร่วมวงไพบูลย์ของความโง่เขลาไปด้วย

[…]

ข้อผิดพลาดที่น่ากล่าวถึงมากที่สุดข้อหนึ่งในเรียงความของ Macías y Hee ในความเห็นของข้าพเจ้าก็คือการจับเอาตัวละครหลักผู้เล่าเรื่องทั้งสองตัวเข้าไปอยู่บนระนาบวาทกรรมระดับเดียวกัน อันที่จริงแล้วผู้เล่าเรื่องคนที่สองมีลักษณะผิดแผกไปจากอดีตนายกเทศบาลตรงที่เขาเป็นตัวแทนของบรรดาคนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงไพบูลย์ทางอำนาจการเมือง นั่นก็คือเป็นตัวแทนของคนที่เหลือในชุมชน


บทวิเคราะห์เปิดสมองของ Villagómez Castillo ข้างต้น ทำให้ฉันได้ฉุกคิดว่า ตัวละคร “ชาวบ้าน” จริงๆแล้วอาจจะไม่ได้เป็นตัวแทนของ “ความคิดแบบชาวบ้าน” เสมอไป เราต่างหากที่อาจไปยัดเยียด “ความเป็นชาวบ้าน” ให้เขามากเกินเหตุ

เลยได้คิดใหม่อีกตลบนึงว่า เออ หรือประเด็นจริงๆของการแก้ไขต้นฉบับของรูลโฟมันจะไม่ได้อยู่ที่ว่าเมลีตอนโง่หรือไม่โง่ รู้ทันหรือรู้ไม่ทัน ไม่ได้อยู่ที่การต้องถอนอคติฝังหัวผู้อ่านในเมืองว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่องรู้ราวเพื่อให้เราหันมาหัวเราะเยาะพวกปัญญาชนคนนอกได้อย่างสนิทใจ แต่อาจอยู่ที่เรื่องอื่น? หรือประเด็นจริงๆไม่ได้อยู่ที่ขั้วตรงข้ามระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “รัฐ” แต่อาจอยู่ที่ขั้วตรงข้ามอย่างอื่น?

คุณูปการสำคัญของการตีความแบบของชูศักดิ์ใน “ฟ้าบ่กั้น หยังว่าให้ห่างกัน” คือการทำให้ผู้อ่านเห็นว่า “ชาวบ้าน” ไม่ได้ต่ำต้อยไปกว่า “รัฐ” หรือนักวิจารณ์ปัญญาชนที่ตีความ/ตีค่าตัวบทวรรณกรรมตามกรอบความคิดแบบ “รัฐ” ที่สร้างโดยเจ้านายสยามสืบเนื่องมาจนจอมพลสฤษดิ์และถนอม ชูศักดิ์เผยให้เห็นศักยภาพในตัวบทที่ “เปลือยโฉมหน้าของการเมืองที่ถูกปกปิดและห่อหุ้มไว้ด้วยคำพูดอันสวยหรูแต่ว่างเปล่า ด้วยคุณธรรมอันสูงส่งแต่ไร้ความหมาย” แล้วสรุปการตีความของตนว่า ฟ้าบ่กั้น สามารถดึงฟ้าลงต่ำได้ ตราบใดที่ผู้อ่านละวางอคติเกี่ยวกับคุณธรรมของชาวบ้านและนักการเมืองไปเสียก่อน อย่างเช่นวิธีการที่ชูศักดิ์ตีความย่อหน้านี้จากเรื่อง “นักกานเมือง”:

“เขาว่าผู้แทนโตมากนี่ ใหญ่กว่าผู้ใหญ่ ใหญ่กว่ากำนัน ใหญ่กว่านายอำเภอ ใหญ่กว่าข้าหลวง และยิ่งสำคัญตรงที่ใหญ่กว่าตำรวจนี่ซี จะทำอะไรก็ได้ จะแดกเหล้า ตีหัวคน เตะก้นเจ๊ก ใครจะทำไม? หมู่หวดมันเฮี้ยนนัก จะได้แก้ลำซะที”

เราอาจจะตีความคำบรรยายสรรพคุณผู้แทนที่ขวานเพื่อนกินเหล้าของเขินพูดในที่นี้ว่าเป็นการเสียดสีแดกดันผู้แทนในเมืองไทยก็ย่อมได้ แต่เหตุที่เราตีความเช่นนั้น ก็เพราะเราเชื่อในวาทกรรมประชาธิปไตยคุณธรรมว่าผู้แทนต้องเป็นคนดีมีคุณธรรม เสียสละเพื่อบ้านเมือง แต่ถ้าเราละวางจากอคติดังกล่าว เราจะพบว่านี่คือเนื้อแท้ของนักการเมืองและของการเป็นผู้แทน การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ และผู้แทนคือผู้มีโอกาสได้ใช้อำนาจ ผิดกันแต่ว่า ผู้แทนนั้น ชาวบ้านยังมีโอกาสได้เลือก ขณะที่บรรดาผู้มีอำนาจที่ขวานไล่เรียงมาข้างต้น . . . ล้วนเป็นกลุ่มคนที่รัฐแต่งตั้งโดยชาวบ้านไม่มีสิทธิเลือกเลย . . . ในแง่นี้เราจะพบว่าชาวบ้านต่างหากที่เข้าใจ หรือรู้ดีว่าการเมืองคืออะไรและผู้แทนทำหน้าที่อะไร

แต่ในขณะที่ชูศักดิ์พยายามยืนยันความเม้กเซ้นส์ของตรรกะชาวบ้านเพื่อเป็นการตีแสกหน้าปัญญาชนที่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าชาวบ้านแต่ปรากฏว่าอ่านไม่แตกเอง (อุ๊ย เข้าตัว) วิธีการให้เหตุผลของชูศักดิ์ก็ตอกย้ำกรอบคิดขั้วตรงข้ามระหว่าง “ชาวบ้าน” กับ “รัฐ” ที่มีปัญญาชนนักวิจารณ์เป็นร่างทรงไปพร้อมๆกัน

และด้วยความที่ฉันยึดติดจนถึงขั้นยึดถือสมาทานกรอบคิดเช่นนั้นที่วิ่งวนอยู่ในบทวิจารณ์ ฟ้าบ่กั้น พอได้ไปเจอ ท่งกุลาลุกไหม้ ของ ฆวาน รูลโฟ แล้วรู้สึกสองเล่มนี้มันเข้าคู่กันดี ฉันเลยตั้งหน้าตั้งตาอ่านมันโดย “น้อมนำ” กรอบคิดนั้นมาใช้อย่างไม่มีคำว่าผิดฝาผิดตัว จนพาลมองไม่เห็นว่า ตัวละคร “ชาวบ้าน” มันอาจจะไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับ “รัฐ” หรือ “ส่วนกลาง” หรือ “ชนชั้นนำ” ก็ได้

“ชาวบ้าน” ไม่ได้มีความหลากหลายเพียงในแนวทางการใช้คำพูดและความเงียบตอบโต้ ขัดขืน ตีมึน ต่อรองกับรัฐ แต่ยังหลากหลายในวิธีและดีกรีการผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย

“วันแผ่นดินปี้น” จึงสามารถอ่านได้หลายแบบกว่าที่ฉันเคยคิด นอกจากจะอ่านว่าเรื่องสั้นนี้เสียดสีนักการเมืองข้าราชการด้วยการเปลือยโฉมหน้าของคำพูดสวยหรูแต่ที่แท้กลวง ยังอาจ “อ่านใหม่” ได้อีกว่ามันเป็นการเสียดสีชาวบ้านที่โหนความเป็นรัฐและเปิดโปงว่าชาวบ้านเองก็เหลวไหลที่มัวสนใจแต่ท่านผู้ว่าฯจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่นหรือเล่าเรื่องอย่างอื่น การตีความหมายเช่นนี้ซับซ้อนไปกว่าการตั้งต้นคิดว่า “ชุมชน” หรือ “ชาวบ้าน” มีตรรกะผิดแผกจากรัฐด้วยเหตุที่เขาเป็นชาวบ้านและใช้ภาษาชาวบ้าน

ซึ่งถ้าฉันได้อ่านที่ชูศักดิ์ “อ่านใหม่” เรื่อง คำพิพากษา ของชาติ กอบจิตติ เสียแต่แรก ฉันก็คงจะได้เห็นว่าชูศักดิ์ไม่ได้ตอกย้ำขั้วตรงข้ามนี้ในบทวิจารณ์ชิ้นอื่นๆ ตรงกันข้าม เขาได้กล่าวถึงขนาดว่าตัวละครชาวบ้านไทยมุงใน คำพิพากษา มีส่วนใกล้เคียงกับชาวบ้านที่ช่วยประหัตประหารศัตรูแทนรัฐในเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งด้วยความอำมหิตและความขี้ขลาด—ชูศักดิ์ไม่ได้พยายามตีความเข้าข้างชาวบ้านเหล่านั้นเลย

กว่าฉันจะถอดแว่นชูศักดิ์ออกได้ ก็ต้องใส่แว่นของอีกคนซ้อนลงไปเสียก่อน ถึงได้เข้าใจว่าตัวเองอ่านการ “อ่านใหม่” ของชูศักดิ์ผิดมาตลอด คือนำมันมาใช้เป็นกรอบความเชื่อ เป็นแว่นเพื่อ “อ่านซ้ำซาก” มากกว่าจะยึดหลักการเบื้องหลังที่อ่านเพื่อให้เห็นพหุลักษณ์ของตัวบทที่เราอาจเผลอปักใจเชื่อไปแล้วว่ามันหมายถึงอะไร

แต่สุดท้ายก็ได้คิด คงจะเหมือนคืนหนึ่งคืนนั้นที่ ลาว คำหอม ไปเข้าฝัน ฆวาน รูลโฟ.