สิถามหาแม่มันหญัง แม่รัฐบาลบ่มีดอก | El gobierno no tiene madre

ตอนที่ฉันบอกมิตรสหายท่านหนึ่งว่าตัวเองจะย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา มิตรสหายท่านนั้นขวางคิ้ว ตอบกลับมาว่า “What can America possibly give you in this historical moment? / ในยุคสมัยเยี่ยงนี้อเมริกาจะมีอะไรให้เธอยะ” เหมือนเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ สหรัฐฯ จะมีอะไรให้ฉันเล่า? ประธานาธิบดีทรั้มป์ที่ทำอะไรไม่คิด ระบบยุติธรรมที่ชวนสิ้นหวัง สังคมผุพัง เศรษฐกิจถอยหลัง เอาตัวเราไปแทรกตรงกลางมันจะได้อะไรขึ้นมา?

ตอบไม่ได้เต็มปากเหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็มีอย่างหนึ่งที่พูดได้อย่างไม่ลังเลว่าอเมริกามีให้ฉันแน่ๆ คำตอบนั้นคือ “¡México!” ประเทศติดกัน อเมริกาเหมือนกัน

ในยุคที่ “เสียงส่วนใหญ่” ในโลก “เสรีประชาธิปไตย” สั่งขวาหันด้วยผู้ปกครองอย่าง ดอนั่ลด์ ทรั้มป์, ประยุทธ์ จันทร์โอช่า, เทรีซ่า เม, โรดริโก้ ดูเตร์เต้, ฌาอีร์ โบว์โซนารู อย่างน้อยก็ยังมีเม็กซิโก ที่เพิ่งเลือกตั้งนักการเมืองปีกซ้ายอย่าง อันเดร๊ส มันเวล โล้เปซ โอบราดอร์ (Andrés Manuel López Obrador เรียกสั้นๆ ติดปากว่า AMLO หรือ “อัมโล”) ไปนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีได้สำเร็จ

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติเม็กซิโกตั้งแต่หลังการปฏิวัติเมื่อราวร้อยปีก่อน ที่อำนาจรัฐถ่ายโอนสู่พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับพรรคปีกขวา Partido Revolucionario Institucional เรียกสั้นๆ ว่า PRI หรือ “ปรี” (ไม่นับปี 2000-2012 ซึ่งอำนาจอยู่กับพรรคปีกกลาง)

[Andrés Manuel López Obrador ประธานาธิบดีเม็กซิโกผู้ดำรงตำแหน่งครบรอบหนึ่งร้อยวันในวันนี้]

ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่ดีแค่ไหน แต่รู้แน่ๆ ว่าประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับรัฐบาลเก่ามาก ช่วงก่อนการเลือกตั้งปีที่แล้ว เพลงใหม่เพลงหนึ่งของ Zoé วงร็อคอัลเทอร์เนทีฟชื่อดังของเม็กซิโก ยังได้แฝงคำด่าพรรค “(อั)ปรี(ย์)” ไว้อย่างแนบเนียนในท่อนจบเพลง “No Hay Mal Que Dure / ไม่มีเลวร้ายไหนอยู่ได้นาน”

No hay mal que dure más de 100 años, uh-uuh, decía mi madre / เลวยังไงก็อยู่ได้ไม่เกินร้อยปีหรอก แม่เคยบอกไว้
No hay mal que dure más de 100 años, uh-uuh, decía mi madre / เลวยังไงก็อยู่ได้ไม่เกินร้อยปีหรอก แม่เคยบอกไว้
Uh-uuh, decía mi madre / ฮู้-อู-อู้-อู-อู่ แม่เคยบอกไว้
Uh-uuh, decía mi madre / ฮู้-อู-อู้-อู-อู่ แม่เคยบอกไว้
¡PRI chinga tu madre! / พรรคไดโนเสาร์ เย็ดแม่มึง!

ที่แปลคำว่า “PRI” ว่า “พรรคไดโนเสาร์” ก็เพราะมิวสิควิดีโอของเพลงนั้นจบด้วยภาพไดโนเสาร์

เพลงวรรคนี้ นอกจากจะสบถออกมาโต้งๆ อย่างไม่น่าจะเข้ากันได้กับซาวด์ซิ้นธ์ย้อนยุค+มิวสิควิดีโอติ๊สต์แตกแล้ว ยังน่าสนใจในตัวภาษาที่พลิกวรรค “decía mi madre / แม่เคยบอกไว้” กลายเป็น “chinga tu madre / เย็ดแม่มึง” ได้อย่างไร้รอยต่อ

ชาวเม็กซิโกดูจะชอบยกแม่มาด่ากันเป็นนิสัยทีเดียว แม่รัฐบาลก็ไม่เว้น

(ส่วนพ่อนั้นมีไว้ชม — “¡qué padre!” แปลว่า “how cool!” หรือ “เจ๋งว่ะ!”)


ความเดิมตอนที่แล้ว: ชาวเม็กซิโกมีคำด่าคนผ่านการด่าแม่เป็นเอกลักษณ์ในโลกภาษาสเปนว่า “hijo de la chingada” [“ลูกอีถูกเย็ด”] เฉกเช่นเดียวกับที่ชาวลาวอีสานมีคำด่าคนผ่านการด่าแม่เป็นเอกลักษณ์ในโลกภาษาไทยว่า “หมาสี้แม่มึงเอ๊ย” [“perro que chinga a tu madre”]

ประเดิมตอนนี้: ไขนัยของวลี “el gobierno no tiene madre” ซึ่งมีความหมายสองระดับ หนึ่งคือความหมายตามสำนวนว่า “รัฐบาลสันดานเสีย” หรือ “ไอ้รัฐบาลพ่อแม่ไม่สั่งสอน” สองคือความหมายตามตัวอักษรว่า “รัฐบาลมันไม่มีแม่” แล้วมาคิดใคร่ครวญกันต่อเรื่องความหวังต่อการเลือกตั้งเปลี่ยนรัฐบาล


ใน “ลูบีนา” เรื่องสั้นที่คนรู้จักมากที่สุดเรื่องหนึ่งของ ฆวาน รูลโฟ ก็มีการด่ารัฐบาลผ่านการด่าแม่เช่นเดียวกัน ในเรื่องนั้น ชายคนหนึ่งเล่าความหลังเมื่อครั้งตนได้ถูกบรรจุเป็นครูที่ชุมชนแสนโดดเดี่ยวและสิ้นหวัง ดังคำพรรณนาตอนหนึ่งที่ทำให้แบ๊ง บก.คำลาว ท่งกุลาลุกไหม้ น้ำตาคลอเบ้าตอนที่เรานั่งแปลด้วยกัน

ลูบีนามีแต่ซุมผู้เฒ่าหลังงุ้มกับซุมบ่ทันได้เกิด คือเขาว่านั่นละ… แล้วกะซุมแม่ญิงจ่อยโซ แฮงสิเฮ็ดหญังกะบ่มี ซุมเด็กน้อยเกิดใหม่ใหญ่ลุนกะเสียจ้อยจากหั้นไปแล้ว… มันเป็นบ่าวกันตั้งแต่ฟ้าทันได้ฮุ่งแจ้งพุ้น คือเขาว่านั่นละ โตนจากเอิกแม่แล้ว พอแต่บายบักจกเป็นกะเสียจากลูบีนาไปจ้อย หั้นแหลว มันเป็นมาจั่งซี้ละ

วันหนึ่งเขาได้ออกปากชวนชาวบ้านไปหาที่ดินดำน้ำชุ่มอยู่แทนยอดเขาลมฟ้าทะมึนว่า (ยกมาจากสำนวนแปลฉบับร่างปี 2015 ที่เป็นภาษาไทยมาตรฐาน)

“เราไปจากที่นี่กันเถอะพ่อแม่พี่น้อง” ผมบอก “ไปไหนๆ ก็ไม่อดตายหรอก รัฐบาลเขาจะยื่นมือมาช่วย”

พวกเขาฟังผมตาไม่กะพริบ พลางก็มองผมจากเบื้องลึกในตาที่ฉายแววเล็กๆ ออกมาจากก้นบึ้งข้างใน

“รัฐบาลจะช่วยเหลือเราอย่างนั้นหรืออาจารย์? พ่อคุณรู้จักรัฐบาลหรือเปล่า?” / ¿Tú no conoces al gobierno?

ผมบอกไปว่ารู้จักสิ

“พวกเราก็รู้จัก บังเอิญเจอเข้าน่ะ แต่แม่ของรัฐบาลนี่สิเราไม่เห็นรู้จักซักนิดเดียว” / —También nosotros lo conocemos. Da esa casualidad. De lo que no sabemos nada es de la madre de gobierno.

ผมบอกไปว่าก็คือประเทศชาตินั่นไง ฟังแล้วพวกเขาส่ายหัวบอกว่าไม่จริงแล้วก็ปล่อยก๊าก นั่นเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมเห็นชาวลูบีนาหัวเราะ พวกเขาแยกเขี้ยวเห็นฟันสึกเป็นร่อง บอกผมว่าไม่หรอกพ่อคุณ รัฐบาลมันมีแม่ซะที่ไหน / Yo les dije que era la Patria. Pelaron los dientes molenques y me dijeron que no, que el gobierno no tenía madre.

ฉันอ่านครั้งแรกๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า “el gobierno no tenía madre” เป็นคำด่า คิดว่าเป็นการตบมุกเล่นหัวตามตัวอักษรเฉยๆ ว่า รัฐบาลไม่มีแม่ ก็เลยไม่มีใครคอยอบรมสั่งสอน จนกระทั่งได้อ่าน พจนานุกรมผลงาน ฆวาน รูลโฟ และกระทู้เว็บ wordreference เรื่องของคำนี้ จึงได้รู้ว่า “__ no tener madre / __ไม่มีแม่” มันเป็นภาษาปากในเม็กซิโก มักใช้ในทางลบเพื่อด่าทอว่าสารเลว สันดาน พ่อแม่ไม่สั่งสอน

รูลโฟแกมีลีลาอย่างนี้แหละ ชอบเอาคำภาษาปากของชาวบ้านมาขยี้ต่อเหมือนคำกวี จนคนอ่านที่ไม่รู้ประสานึกว่าไม่ใช่ภาษาปาก นึกว่ามีเฉพาะระดับความหมายที่พูดถึง “รัฐบาล” เสมือนว่าเป็น “บุคคล” ดังที่บทเล่าขยายความต่อไปว่า

ซึ่งก็พูดถูก คุณรู้ไม๊? พะณะท่านมันจะนึกถึงพวกเขาขึ้นมาก็แต่ตอนหนุ่มชาวบ้านมีเรื่องมีราวอะไรทางพื้นราบนี่ คราวนั้นแหละถึงได้ส่งพวกไปตามเก็บกันถึงลูบีนา นอกนั้นแล้วก็ไม่รู้หรอกว่ารัฐบาลมันมีอยู่จริงไหม / El señor ese sólo se acuerda de ellos cuando alguno de los muchachos ha hecho alguna fechoría acá abajo. Entonces manda por él hasta Luvina y se lo matan. De ahí en más no saben si existe.

จากคำสบถที่ใช้ได้หลากหลายสถานการณ์ รูลโฟบิดสำนวนให้กลายเป็นมีความหมายตามตัวอักษรด้วย ซึ่งไม่ได้บิดสำนวนเพื่อสะท้อนหรือตอกย้ำภาพ “ชาวบ้านโง่” ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลเป็นสถาบัน หากแต่เป็นการเปิดโปงให้เห็นว่าอำนาจรัฐในโลกของชาวบ้านนี้เป็นเช่นนี้ เป็น “เพิ่น” เป็น “ใผจักคนจากพื้นราบ” เป็น “El señor ese” ที่อยู่ห่างไกล ให้โทษได้ถึงตาย แต่ไม่เคยให้คุณเลย

และนอกจากจะเปิดโปงอำนาจจนเปลือยแล้ว ตัวละครผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นอดีตอาจารย์ยังยอมรับตรรกะของชาวลูบีนาอีกด้วยว่า ในเมื่อไม่รู้ว่ารัฐบาลมันหายหัวไปไหน มันก็ถูกแล้วที่จะคิดถึงมันในฐานะ “บักนั่น” บักหนึ่ง

สุดท้ายเมื่อได้ทราบนัยยะของวลีนี้ ก็ได้สำนวนแปลร่างตีพิมพ์ว่า

เขาเจ้าญิงแข้วแขแมแล้วบอกข้อยว่า บ่แม่น สิถามหาแม่มันหญัง แม่รัฐบาลบ่มีดอก

กะแม่นควมเขาเจ้าเว้าอยู่ ฮู้บ่เจ้า? บักนั่นสิจื่อหน้าไทบ้านไว้กะเฉพาะแต่ญามมีบ่าวแวงจักบักมาเฮ็ดเรื่องอีหญังไว้ทางลุ่มพี้ กะสิส่งคนนำไปฮอดลูบีนาแล้วฆ่าถิ้ม นอกจากนั้นแล้วกะบ่ฮู้จักเลยว่าบักรัฐบาลมีอีหลีบ่

เป็นการเติมคำที่เป็นสำนวนว่า “สิถามหาแม่มันหญัง” ลงไปทดแทนสำนวนที่หล่นหายไปในการแปล เพื่อส่งแรงกระทบถึงผู้อ่านได้ทันทีเหมือนในต้นฉบับ ไม่ต้องมาย้อนคิดไขรหัสว่า “แม่รัฐบาลบ่มีดอก” มันชวนให้หัวเราะยังไง

ส่วนตัวยังไม่รู้สึกพอใจเต็มที่กับสำนวนแปลนี้ รู้สึกว่าอ่านแล้วอาจมีคนงงได้ ว่ามีใคร “ถามหาแม่มัน” ตอนไหน ตัวละครอาจารย์แค่เปรยเฉยๆ นี่ว่ามารดาของรัฐบาลคือประเทศชาติเท่านั้น

ถ้ากลับไปเปลี่ยนได้อาจแก้ไขสำนวนแปลให้เป็น “บ่แม่น บักรัฐบาลสันดาน แม่มันบ่มีดอก” หรืออะไรทำนองนั้น


วันจันทร์ที่ 11 มีนาคมนี้ Andrés Manuel López Obrador (คนแถวนั้นเรียก AMLO หรือ “อัมโล”) ประธานาบดีคนใหม่ของเม็กซิโกได้ครองตำแหน่งนี้ครบ 100 วันพอดี เป็น 100 วันที่เต็มไปด้วยมาตรการเร่งด่วน ชวนให้คิดว่าเม็กซิโกกำลังได้เปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์จริงๆ หลังยุคของปธน. Enrique Peña Nieto ที่ฉาวโฉ่ด้วยเรื่องคอร์รัปชั่นและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

AMLO เลิกใช้เครื่องบินเจ็ต Boeing 787 Dreamliner ประจำตำแหน่งประธานาธิบดี ขายเอาเงินเข้ารัฐ หันมาโดยสารเครื่องบินกับคนทั่วไป

มองมาที่บ้านเรา การบินไทยประกาศว่าตัวเองขาดทุนถึงหนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนไทยก็ยังต้องแบกภาระความภูมิใจแห่งชาติศาสน์กษัตริย์นี้ของเราต่อไป จะไม่ให้รู้สึกปลาบปลื้มแทนชาวเม็กซิโกได้อย่างไร?

AMLO ยกเลิกเงินบำนาญสำหรับอดีตประธานาธิบดี ตั้งเพดานเงินเดือนข้าราชการ ยกเลิกและขายรถหรูประจำตำแหน่งข้าราชการระดับสูง รายงานบัญชีทรัพย์สินของตัวเองต่อสาธารณะ และสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐทำเช่นกันทั้งหมด มิฉะนั้นจะถูกปลดจากตำแหน่ง

มองมาที่บ้านเรา ผู้บริหารด้านการศึกษายื่นใบลาออกกันเป็นแถบเมื่อมีระเบียบใหม่ออกมาให้แจ้งบัญชีทรัพย์สิน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาล อัยการ และองค์กรอิสระ ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองแถมยังมีผลย้อนหลัง ส่วนรองนายกรัฐมนตรีรอดจากข้อหาคอร์รัปชั่นเรื่องนาฬิกาหรู 21 เรือนด้วยข้ออ้างว่ายืมเพื่อนที่ตายไปแล้วมา จะไม่ให้รู้สึกชื่นชมเม็กซิโกอย่างอิจฉาตาร้อนได้อย่างไร?

AMLO เปลี่ยน Los Pinos จากที่เคยเป็นสถานที่พำนักอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีตลอดแปดสิบปีที่ผ่านมาให้กลายเป็นศูนย์วัฒนธรรมและพื้นที่สาธารณะ พร้อมจัดฉายหนังเรื่อง Roma ของ Alfonso Cuarón เกี่ยวกับคนจนคนรวยในเม็กซิโกยุค 1970s ที่นั่น

มองมาที่บ้านเรา ศูนย์วัฒนธรรมอย่างหอศิลป์กรุงเทพฯ จากที่กีดกันสาธารณชนออกไปอยู่แล้วโดยอ้างความใกล้กับ “เขตพระราชฐาน” ทั้งตรงลานด้านหน้าและบางทีก็พื้นที่จัดแสดงชั้นบนสุด ยังไม่พอ ยังมีหน้ามาเรียกร้องให้สาธารณชนช่วยกันกอบกู้ไม่ให้ถูกตัดงบจากรัฐบาลอีก นับประสาอะไรกับโครงการพลิกโฉมสถานที่สาธารณะอีกจำนวนมากในประเทศนี้ที่ไม่เคยถามประชาชน จนคนพากันพูดอย่างเอือมระอาว่า “คิดเสียว่าเช่าเขาอยู่” จะไม่ให้อยากย้ายไปอยู่เม็กซิโกได้อย่างไร?

AMLO สั่งยกเลิกการก่อสร้างสนามบินแห่งที่สองของเมืองกรุงอย่างกลางคัน เป็นเรื่องฮือฮาที่เขาผลักดันจนสำเร็จในเวลาอันสั้น มาตรการนี้ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนส่วนใหญ่กว่า 70% ที่วาดหวังจะได้สนามบินใหญ่อันดับสามของโลกมาใช้ แต่ก็ได้ใจผู้สนับสนุนไปเต็มๆ เพราะเป็นการแสดงการไม่อ่อนข้อต่อ “เจ้าพ่อมาเฟีย” พร้อมทำตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนขึ้นดำรงตำแหน่ง

มองมาที่บ้านเรา แม้แต่คนที่เคยเชียร์ประยุทธ์และรัฐบาล คสช. ที่ปกครองให้ประเทศ “สงบ” ได้ในช่วงแรกๆ ตอนนี้ยังส่ายหัวกันเป็นแถบ เพราะความเด็ดขาดขึงขังที่เคยชื่นชมก็ไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ต้องการแต่จะเอาใจทุกฝ่ายเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งอย่างเดียว (ไม่ได้บอกว่าความเด็ดขาดเป็นเรื่องดีนะ แต่ได้คุยกับคนขับแท็กสิกรุงเทพฯ คนหนึ่งที่อดีตเป็นเสื้อแดง แต่ต่อมาโอเคกับ คสช. แล้วตอนนี้จะโหวตให้พรรคอนาคตใหม่)

https://www.instagram.com/p/Buxix7MI0At/
[สปริงนิวส์ลงข่าวภาพนี้พร้อมพาดหัว “เลือกตั้ง62 : “บิ๊กตู่” ปรับลุคใหม่ ชิงแต้มวัยโจ๋ ไม่เกรี้ยวกราดแล้ว ลั่น “ผมพร้อม”” พาดหัวทำนองเดียวกับหนังสือพิมพ์อื่นๆ]

ถึงฉันจะรู้สึกอินกับ AMLO แต่อีกใจหนึ่งก็เตือนตัวเองว่า ชาวซาปาติสต้าในชนบทเม็กซิโกก็ไม่มีทางที่จะตื่นเต้นไปกับฉัน มีแต่จะระแวงมากกว่าว่ารัฐบาลชุดนี้จะแอบมาลักเอาสิทธิของพวกเขาไปด้วยเล่ห์กลใดอีกบ้าง

ยกตัวอย่างชัดๆ ก็แผนการสร้าง Tren Maya หรือรถไฟมายา ที่จะใช้งบราวสองแสนล้านบาทตัดเส้นทางสามสายผ่านขุนเขา หาดทราย และโบราณสถานสำคัญแห่งภาคตะวันออกเฉียงใต้เม็กซิกันอันอุดมไปด้วยเสือจากัวร์อ้วนพีและเด็กน้อยผอมโซ ภูมิภาคเดียวกันกับฐานที่มั่นของชาวซาปาติสต้านั่นแหละ โครงการรัฐ “ฝ่ายซ้าย” ที่อ้างว่าจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมให้ชนพื้นเมืองผู้ยากจนนี้เป็นนโยบายสำคัญอันดับต้นๆ ของ AMLO ที่เขาเร่งผลักดันด้วยการทำประชามติเอา-ไม่เอา Tren Maya โดยเฉพาะ ซึ่งก็ผ่านฉลุยโดยมีคนไปออกเสียงเพียงไม่ถึงร้อยละหนึ่งของจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิทั่วประเทศ ทั้งนี้โดยไม่แยแสต่อการต่อต้านจากชุมชนซาปาติสต้า อนุชนเผ่ามายา ผู้มองว่าแผนการนี้จะนำความฉิบหายมาสู่สรรพสิ่ง

หนึ่งในวิถีทางตอบโต้ของชาวซาปาติสต้าต่อนัยอุบายนี้ คือการออกแถลงการณ์ด่าแม่รัฐบาลต้อนรับปีใหม่ พวกเขามองว่ารัฐบาลเอาวิธีการที่ดูเป็นประชาธิปไตยมาใช้โจมตีชุมชนที่อยู่มาแต่ดั้งแต่เดิม

…ไอ้รถไฟมายาขี้หมูขี้หมาของพวกมันน่ะ ยังมีหน้าเอาชื่อบรรพชนของเราไปใช้อีก พวกเราไม่ยอมรับสิ่งนี้ อยากใช้ชื่ออะไรก็ใช้ไปเถอะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน แต่ในเมื่อไม่ได้ถามเอากับเรา ถ้าจะให้ดีก็ใช้ชื่อแม่มันสิ / si quiere así como no nos preguntó, que le ponga su nombre de su mamá.

ชาวซาปาติสต้าไม่ฝากความหวังไว้กับนักการเมืองในระบบ เรียกรัฐบาลทางการว่า “el mal gobierno / รัฐบาลเลว” เพื่อแยกจากรัฐบาลที่บริหารกันภายในเครือข่ายชุมชนซาปาติสต้าว่า “el buen gobierno / รัฐบาลดี” เรียกบรรดานักการเมืองอาชีพว่า “la clase política / ชนชั้นการเมือง” ที่ไว้ใจไม่ได้ เพราะทุกพรรคทั้งปีกซ้าย-ปีกกลาง-ปีกขวาได้ร่วมมือกัน “ขายชาติ” ไปแล้วตั้งแต่ตอนที่ทุกฝ่ายพร้อมจะหักหลังชุมชนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 27 เกี่ยวกับที่ดินของชุมชน (ejidos) ให้สามารถแปลงเป็นทุนที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อเบิกทางให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ที่จะไหลบ่ามากับ NAFTA (ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ ปี 1994)

ตอนที่ฉันไปเรียนจากชุมชนที่เม็กซิโกเมื่อปี 2014 ควายแดงเดียวดายอย่างฉันมีปัญหาเรื่องการอธิบายสังกัดทางการเมืองของตัวเองอยู่พอควร เพราะหลายๆ แง่มุม อุดมการณ์อย่างซาปาติสต้ามีส่วนคล้ายคลึงกับ “คนเสื้อเหลือง” ที่ต่อต้านระบอบรัฐสภาที่เปิดพื้นที่ให้นักการเมืองที่ขายชาติ มากกว่าจะคล้ายกับ “คนเสื้อแดง” ที่ต้องการธำรงรักษาสถาบันพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

ครั้งหนึ่งฉันเลยได้ทียกมือหยอดคำถามคาใจ ว่าชาวซาปาติสต้าจะคิดเห็นอย่างไรถ้าในปี 2006 เป็นฝ่ายซ้ายที่ชนะการเลือกตั้งและ AMLO ได้เป็นประธานาธิบดีแทน ซึ่งจริงๆ แล้วเขาก็เกือบชนะในปีนั้น คะแนนโหวตสูสีมากจนฝ่าย AMLO เชื่อว่ามีการทุจริต เกิดการประท้วงผลการเลือกตั้งอยู่นานหลายเดือน

อาจารย์  Efraín ชาวซาปาติสต้าทวนคำถามฉัน แล้วบอกคนในวงว่าก็น่าคิดดีเนาะว่าจะเป็นยังไง แต่ความจริงก็คือเขาไม่ชนะ คล้ายจะบอกใบ้ว่าถึงที่สุดแล้วมันไม่ได้สลักสำคัญอะไรว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี ประชาชนอย่างพวกเขาก็จะไม่ได้สิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันอยู่วันยังค่ำ จะปรี (PRI พรรคปีกขวา) ปัน (PAN พรรคปีกกลาง) หรือเปเรเด (PRD พรรคปีกซ้าย) มันก็เจ้าที่ดินทั้งนั้น — ใช่ พรรคฝ่ายซ้ายก็มีเจ้าที่ดิน อาจารย์เอ๊ฟฟราอีนยืนยันเมื่อฉันทวนคำตอบเขา

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย เอ้อ ฉันก็รู้สึกอย่างนั้นกับการเลือกตั้งของประเทศตัวเองเหมือนกันนี่หว่า เฮ้อ ขนาด “พรรคสามัญชน | Commoner Party” ซึ่งมีกลิ่นอายของซาปาติสต้าอยู่มากทีเดียว ฉันยังรู้สึกไม่ตื่นเต้นด้วยเลย ทำไมนะทำไม ทำไมฉันตายด้านไปเสียแล้ว

ได้แต่อาศัยเรื่องราวข่าวสารต่างประเทศหล่อเลี้ยงความหวังกำลังใจของเราไป เหมือนภาษิตเขาว่าหละเนาะ “the grass is always greener on the other side | ต้องหญ้าฝั่งโน้นถึงจะไม่เหม็นเขียว”

[ป้ายโฆษณา “หลานลุงตู่” ที่ยิงกันรัวๆ ทุกช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และกูเกิ้ลที่มีป้ายตามเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ]

แต่ก็นะ เล่นเน็ตหาอ่านบทวิเคราะห์ผลงานช่วงร้อยวันแรกในตำแหน่งของ AMLO ไปเพลินๆ ก็ยังต้องมาเจอป้ายโฆษณา Google AdSense ของแคมเปญ “หลานลุงตู่ | thainephews.com” ที่ไม่รู้ว่าคิดกันออกมาได้อย่างไร นี่ใจคอเขาอยากจะให้เรานับตัวเองเป็น nephew ของเขาจริงๆ เหรอ? จะตามหลอกหลอนกูและดูถูกสติปัญญาประชาชนไปถึงไหนวะคะ?

เรียกหลานหาพ่อมึงเหรอ | Enrique Peña no soy tu Nieto

[Enrique Peña Nieto ประธานาธิบดีเม็กซิโกจากพรรค PRI ปี 2012-2017 / ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ปี 2014-?]

หมายเหตุ: มีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับรถไฟมายาในวันที่ 21 สิงหาคม 2019