[For the English-language original “The Boy in the Wake and Other Liars,” click here.]
ดีโยน ณ มานดารูน เขียนเป็นภาษาอังกฤษ
พีระ ส่องคืนอธรรม แปลเป็นภาษาไทย
ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการแปล
ยิ่งพลิกหน้าไป กูยิ่งรู้สึกแปลกหน้าจากตัวตนในอดีตของกูเสียยิ่งกว่าที่กูรู้สึกต่อจอมโกหกทั้งสามใน ลา ซิวดาด อี โลส แปร์โรส ของมาริโอ บาร์กัส โยซา
ย้อนไปหลายปี อาจจะตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจครั้งหลังๆ กูจำได้แผงร้านหนังสือสมัยนั้นไม่เคยขาดบันทึกความทรงจำของผู้สำเร็จการศึกษาจากเตรียมทหารกับสถาบันสาขาของสี่เหล่าทัพไทยที่เล่าเรื่องตัวเองสมัยยังเป็นคาเด็ท เฉกเช่นทหารผู้ไร้ใบหน้า เนื้อหาของบทบันทึกพวกนี้เจริญรอยตามเส้นทางที่ถูกพล็อตไว้แล้ว เริ่มที่ชีวิตพลเรือนนอกรั้ว การสอบเข้า ตามด้วยช่วงปรับตัวที่ยากเข็ญ พ่วงไปกับความผูกพันไม่มีวันเสื่อมคลายของเพื่อนพ้องร่วมก๊วนที่หลอมรวมขึ้นด้วยความลำบากที่ระบบออกแบบไว้ คำสรรเสริญอย่างมาโซคิสต์ต่อความลำบากที่ว่านั่น ต่อด้วยการรู้จักใช้อภิสิทธิ์ของรุ่นพี่อย่างพอประมาณ ตบด้วยสุนทรพจน์สั่งสอนหลังจบการศึกษาในท่าคุกเข่าคำนับธงไทยไตรรงค์ตามธรรมเนียม ฯลฯ ไม่ถึงขั้นเบสต์เซลเล่อร์หรอกถ้าจะให้บอกน่ะนะ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีใครแยแสเอาซะเลย ซึ่งอาจเป็นเพราะความฝันใฝ่ในฝันอันเคยเชื่อและอาจยังเหลือให้เชื่ออยู่ก็เป็นได้ เท่าที่กูได้รู้ได้เห็นมานั้นไม่เคยมีการเปิดเผยเรื่องราวหวังเอาเงินตามกระแส หรือการตีแผ่ด้วยความเอาจริงเอาจังครั้งไหน ที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงจากคนในเสียมากมายแต่กลับหาความจริงได้น้อยนิดถึงเพียงนี้เกี่ยวกับโรงเรียนฝึกว่าที่ทรราชย์ทั้งห้าแห่ง
เหตุที่ความรุนแรงและความฉ้อฉลไม่ว่าในเชิงการเมืองหรือเชิงอาญาไม่เคยถูกสาวไปถึงตัวโรงเรียนนั้นก็เพราะไม่มีวาทะวาทีเชิงวิพากษ์ในความรับรู้ของผู้คนเกี่ยวกับกระบวนการอบรมบ่มเพาะนายทหารไทย กล่าวคือ เมื่อเข้าทำงาน อดีตคาเด็ทต่างก็กลายเป็นผู้ธำรงวินัยการรักษาความลับตามแบบฉบับของวัฒนธรรมนตท.ที่ถูกนำไปขยายผล เป็นความยึดมั่นอันมีรางวัลให้อย่างงามในการไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ใดขณะเงินหลักล้านถูกยักย้ายอยู่ต่อหน้าต่อตาจากกองนี้ไปกรมกิจการนั้นเพื่ออุดหนุนลีลาการกินขี้ปี้นอนไม่รู้ร้อนรู้หนาวของนายพลคนนั้นหรือเจ้านายคนโน้นขณะตนสงบปากสงบคำรอวันถึงตาไปยืนหน้ารางอาหาร เชื่อขนมกินได้เลยว่าถ้าเกิดประณามกถาที่หยิบเอาคำสารภาพของคนในมาสาวไส้ให้สาธารณชนเสพย์มีที่มีทางขึ้นมาบ้างเหมือนที่บันทึกความทรงจำแบบสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองพวกนั้นเคยมีในเมืองไทย สิ่งที่จะต้องเกิดตามมาก็คือการปิดข่าวนั้นอย่างรวดเร็วทันควันในลักษณะเดียวกับการปิดกั้นนวนิยายเล่มแรกของบาร์กัสโยซาที่เปรู
เดอะ ซิตี แอนด์ เดอะ ดอกส์ นวนิยายที่มีเหตุการณ์เสียชีวิตของคาเด็ทเป็นใจกลางเรื่องนี้ฟาดไปที่หัวใจของความฉ้อฉลในระบอบอำนาจนิยม บทเรียนสอนใจที่เห็นชัดที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องราวของร้อยโทกัมโบอา นายทหารปกครองที่ทำตามกติกาอย่างทื่อๆ (ภาษานตท.เรียก “ตู้”) ผู้พยายามรื้อฟื้นการสืบสวนสาเหตุการตายของคาเด็ท ริการ์โด อรานา แล้วลงเอยด้วยการดับอนาคตอาชีพการงานของตัวเอง เมื่อคาเด็ทหัวโจกสมญาไอ้จากัวร์สารภาพกับเขาสองต่อสองในวันที่สายไปแล้วว่าตนเป็นคนฆาตกรรมคาเด็ทร่วมชั้น เรื่องราวของร้อยโทกัมโบอาก็ถึงจุดสูงสุดด้วยอาการปลงตกทิ้งท้ายว่า “ชุบชีวิตอรานาคืนมายังจะง่ายเสียกว่าทำให้กองทัพยอมรับว่าทำผิดพลาดไป”๑
อย่างไรก็ตาม การอ่านแบบถึงแก่นกว่านั้นจะไม่ยอมรับอย่างง่ายๆว่าคำสารภาพผมเป็นฆาตกรของไอ้จากัวร์เป็นความจริง ตัวละคอนหลักสามตัวที่เป็นคาเด็ท – ไอ้กวี ไอ้ขี้ข้า ไอ้จากัวร์ – ล้วนเป็นจอมลวงโลกโดยการปลูกฝัง สภาพแวดล้อมที่โรงเรียนเตรียมทหารเกื้อหนุนนับเป็นความฉ้อฉลแบบหนึ่ง ตรงที่การเอาตัวให้รอดในคราบของตัวตนที่อุปโลกน์ขึ้นมาทำให้คาเด็ทไม่อาจซื่อตรงต่อความคิดความรู้สึกภายในได้เลย
สามคาเด็ท
สมญาของคาเด็ททั้งสามตั้งตามบทบาทของแต่ละคนที่รับมาใช้เองบ้าง ถูกบังคับโดยสถานการณ์บ้าง รวมทั้งที่เป็นความคาดหวังให้ต้องเป็นไปตามนั้นเพื่อเอาตัวให้รอดในโรงเรียน คนแรก อัลแบร์โต แฟร์นันเดซ เล่นเป็นไอ้กวี รับเขียนกลอนลามกขายสนองความเงี่ยนของเพื่อนร่วมชั้น ทำตัวซื่อบื้อไม่เต็มบาทเอาฮาเพื่อว่าตัวเองจะได้ไม่ถูกกลั่นแกล้งมากจนเกินไป คนที่สอง เด็กชายจากครอบครัวโดมิตีลา ผู้ไม่เคยยอมให้อวชาตบุรุษหน้าไหนลิขิตชะตา ตั้งชื่อไอ้จากัวร์ให้ตัวเอง ใช้ชีวิตอาชญากรตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังเข้ารั้วโรงเรียนแห่งนี้ที่มันมองว่าเป็นสถาบันที่ให้ค่าต่อจรรยาเยี่ยงนั้นของตัวมันแล้วก็จะพลอยให้ค่าแก่ตัวมันด้วย คนที่สาม ริการ์โด อรานา ชื่อเล่นไอ้ขี้ข้าที่ตั้งโดยไอ้จากัวร์ด้วยความที่มันไม่สู้หน้าใครไม่สู้คนและไม่สู้จะมีใจแกร่งแม้เพียงกะผีก ก็เป็นเหยื่อขาประจำของการกลั่นแกล้งมาตั้งแต่แรกรับน้อง เป็นคนนอกในชั้นเรียนตน
ไม่นานนักหลังจากไอ้ขี้ข้าเปิดเผยกับนายทหารปกครองว่ามันได้พบเห็นคาเด็ทคนหนึ่งขโมยข้อสอบวิชาเคมี ซึ่งเป็นการขโมยตามคำสั่งของไอ้จากัวร์ ไอ้ขี้ข้าก็ถูกยิงเข้าที่ศีรษะไม่ก็คอระหว่างการฝึกภาคสนาม หลังจากโรงเรียนวินิจฉัยว่าการตายของไอ้ขี้ข้าเป็นอุบัติเหตุ ไอ้กวีที่ถูกความรู้สึกผิดกัดกินและต้องผจญกับความเปลี่ยวดายของตนเป็นครั้งแรก ก็แจ้งข้อกล่าวหาว่าไอ้จากัวร์ยิงไอ้ขี้ข้าเพื่อตอบโต้กับการฟ้องนายขายเพื่อนเรื่องข้อสอบ ผลพวงของเหตุอื้อฉาวอย่างลับๆนี้สุดท้ายก็บังคับให้ไอ้จากัวร์ต้องผจญกับสถานะอันง่อนแง่นของตนบนยอดพีระมิดสังคมคาเด็ท
ถึงเรื่องราวจะเกิดที่เปรู ความคล้ายคลึงนานาระหว่างเลอ็อนซิโยปราโดกับโรงเรียนเตรียมทหารก็ชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมทหารที่มีอยู่ร่วมกัน คาเด็ทที่เข้าเรียนในเลอ็อนซิโยก็เหมือนคาเด็ทของโรงเรียนเตรียมทหาร คือมาจากพื้นเพที่หลากหลาย อัลแบร์โตแฟร์นันเดซไอ้กวีเป็นตัวแทนของชนชั้นสูงบนกองเงินกองทอง ส่วนริการ์โดอรานาไอ้ขี้ข้าเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่สถานะซัดส่ายไปมาระหว่างพอมีพอกินกับอดๆอยากๆ เด็กหนุ่มทั้งสองถูกมองเป็นการลงทุนทางสังคมของครอบครัวตัวเองที่กุลีกุจอหาครูสอนพิเศษกับตัวอย่างข้อสอบราคาแพงสำหรับการเตรียมสอบเข้าเลอ็อนซิโยปราโด โรงเรียนแห่งนี้อวดอ้างตนว่าเป็นแหล่งทุบทำลายความต่างทางชนชั้นแล้วหลอมเอาเศษที่แตกเป็นเสี่ยงๆเข้าด้วยกันเป็นหน่วยครอบครัวใหม่ ในกระบวนการหลอมรวมที่ว่านี้แต่ละคนจะถูกกันให้โดดเดี่ยวจากคนอื่นด้วยการถูกบีบให้สวมความคาดหวังทางสังคมอย่างใหม่ทับลงไปชั้นแล้วชั้นเล่า
ยุทธศาสตร์การหล่อขึ้นรูปอย่างหนึ่งที่พบได้ทั่วไปในบรรดาโรงเรียนทหารของไทยคือการปฏิบัติต่อคาเด็ทน้องใหม่อย่างเท่าเทียมกันเยี่ยงเดนมนุษย์ สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นคนจะค่อยถูกมอบให้ทีละอย่างตามเวลาที่ผ่านไปและตามแต่ความยินยอมพร้อมใจของคาเด็ทรุ่นพี่และนายทหารรุ่นสูงกว่า ทำนองเดียวกับที่บุตรชาวไทยได้รับจากบิดาชาวไทย เริ่มจากปีแรกที่นตท.ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปเพ่นพ่านนอกอาคารเรียน การเคลื่อนไหวร่างกายถูกจำกัดให้ทำได้เฉพาะแบบตั้งฉาก การติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทำได้ไม่เกินคุยโทรศัพท์เดือนละครั้ง ฯลฯ ภายใต้การขู่เข็ญไม่เว้นวันและการริบทุกหนทางที่จะนำไปสู่ความผูกพันที่เป็นของจริงและสำนึกทางชนชั้น บรรดาคาเด็ทในโรงเรียนเตรียมทหารตลอดจนในโรงเรียนเลอ็อนซิโยปราโดก็หันไปผูกผนึกกันด้วยสำนึกสุขสมนิยม เหยียดผิวนิยม และชายเป็นใหญ่นิยม วันๆทำแต่เรื่องระยำตำบอนอย่างไม่น่าไปกันได้กับพันธกิจอันป่าวไว้ของโรงเรียนว่าจะผลิตผู้นำที่ทรงเกียรติ ตัวนวนิยายเอ่ยไว้อย่างจะแจ้งถึงเกียรติภูมิข้อนี้ในกระบวนการฝังหัวที่ปรากฏในโลกความจริง ว่าคาเด็ทจักต้องถือเพื่อนพ้อง อันหมายรวมถึงรุ่นพี่และนายทหารที่ตนชิงชังกับทั้งรุ่นน้องที่ตนข่มเหง ว่าเสมือนเป็นครอบครัวที่สองของตนแม้กระทั่งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภายหลังจบจากโรงเรียนไปแล้ว๒
ตัวนิยายไม่ได้แตะเรื่องความสัมพันธ์ฉันครอบครัวระหว่างชั้นปีในเลอ็อนซิโยปราโด แต่นำผลผลิตของความอัปยศที่ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องดูมีสง่าราศรีนี้มาให้เห็นกระจะตา นั่นคือความเก็บกดใต้สำนึกในตัวจากัวร์จอมอันธพาลคลั่งความรุนแรง ผู้ซึ่งบรรดาเพื่อนร่วมชั้นได้อาศัยตำนานนอกนิบาตแห่งความเหี้ยมหาญอำมหิตของมันมาเป็นเกราะคุ้มกันภัยจากพวกรุ่นพี่ระหว่างพิธีกรรมรับน้องจนหลังพ้นจากนั้น
ดูเผินๆ วีรบุรุษของเรื่องคือไอ้กวี ส่วนพยัคฆ์นักฆ่าคือไอ้จากัวร์ กระนั้นคำโปรยของซาตร์ที่เปิด “ภาคหนึ่ง” ของนวนิยายก็ชี้ไปอีกทาง แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
เราเล่นบทฮีโร่เพราะเราเป็นคนขลาด เล่นบทนักบุญเพราะเราเป็นคนชั่วช้า: เราเล่นบทบาทนักฆ่าเพราะเราอยากจะฆ่าเพื่อนมนุษย์ใจจะขาด: เราเล่นเป็นตัวเราเพราะเราคือไอ้ขี้โกหกมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก
ในแง่นี้ ความเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างไอ้กวีกับไอ้จากัวร์จึงอาจไม่มีอยู่ ฮีโร่เล่นเป็นฮีโร่เพราะมันหาได้เป็นอย่างนั้นไม่ นักฆ่าเป็นนักฆ่าเพราะมันมิใช่นักฆ่า ทั้งสามเล่นเป็นตัวพวกมันก็เพราะพวกมันไม่ได้เป็นอะไรเลย
ไอ้กวี ไอ้ขี้ขลาด
ชื่อเรื่องภาษาสเปนที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า เมืองกับหมู่หมา หมายถึงกรุงลิมาอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเตรียมทหารเลอ็อนซิโยปราโดและหมายถึงคาเด็ทชั้นปีที่สามของโรงเรียนที่ถูกเปรียบเป็นเหมือนหมาโดยรุ่นพี่ปีสี่และปีห้า ฉบับแปลภาษาอังกฤษสำนักพิมพ์เฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์ตั้งชื่อว่า เดอะ ไทม์ ออฟ เดอะ ฮีโร่ ใครก็คงจะทึกทักเอาว่าฮีโร่คนนี้คงหมายถึงตัวละคอนหลักสักคนหนึ่งที่ตั้งมั่นในความดีอะไรสักอย่างถึงแม้ต้องผจญทุกข์ยากสาหัสตลอดเส้นทางในนิยาย อย่างไรก็ตาม ไม่มีคาเด็ทหรือนายทหารซักคนที่โรงเรียนเลอ็อนซิโยปราโดที่เข้าข่ายนี้ และยิ่งไม่ใช่ไอ้กวี อัลแบร์โต แฟร์นันเดซ ตัวนวนิยายเองก็ตั้งคำถามกับคุณค่าของความจงรักภักดีต่อปิตุภูมิตามระบอบบูชาชาติอันมีบุคคลต้นแบบคือบรรดาวีรบุรุษชาวเปรูที่มีรูปปั้นประดิษฐานอยู่ทั่วกรุงลิมา โดยมีเลอ็อนซิโย ปราโด เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ตลกร้ายหน้าตายของชื่อเรื่องฉบับเฟเบอร์แอนด์เฟเบอร์นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการให้ร้ายนักอ่านหัวอ่อนประเภทที่ควรค่าแก่การอ่านบันทึกความทรงจำนตท.มากกว่า
จริงอยู่ว่าเราจะมองการที่ไอ้กวีลุกขึ้นมากล่าวหาไอ้จากัวร์ว่าคือนาทีของวีรบุรุษก็ได้ คือเป็นแพร่งระหว่างทางชั่วกับทางดีของการเรียนรู้เติบโตของอัลแบร์โต แต่การกล่าวหาที่ว่านี้จะถือเป็นวีรกรรมได้ก็ต่อเมื่อไอ้กวีมีเจตนารมย์สูงส่งมารองรับ ตามท้องเรื่องนั้นคำกล่าวหาของอัลแบร์โตมาพร้อมกับคำสารภาพผิดว่าตนเคยทำไม่ดีไว้กับริการ์โด เคยรวมหัวกลั่นแกล้งมันเพราะใครๆก็ทำกัน และยังได้ตอบแทนที่มันช่วยบอกเฉลยข้อสอบวิชาเคมีด้วยการแอบไปคบกับเตเรซาคนรักของมันอีกด้วย การไปมีสัมพันธ์ชู้สาวกับเตเรซาคงสะกิดใจคนอ่านได้ชะงัดถ้ามันสะกิดเจ้าตัวไม่สะเทือนน่ะนะว่าตัวมันเองก็ไม่ได้ดีไปกว่าคนคบชู้อย่างพ่อของมันเลย พอถึงจุดหนึ่งความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของที่อัลแบร์โตมีต่อเตเรซาก็พอกพูนรุนแรงจนการคุยกับตัวเองในหัวของมันเริ่มปะปนด้วยการผุดโพล่งอย่างหวาดระแวงชนิดควบคุมไม่ได้ หนึ่งในสิ่งที่โพล่งขึ้นมานี้คือความคิดที่จะบอกแก๊งคาเด็ทว่าใครเป็นคนฟ้องเรื่องข้อสอบ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นก็เท่ากับการชี้ตัวไอ้ขี้ข้าให้ไอ้จากัวร์มันฆ่า ดังที่ความรู้สึกผิดของมันทำให้มันได้ปักใจเชื่อในเวลาต่อมา
ความสูงส่งในที่นี้จึงกลับตาลปัตรเป็นต่ำตม ในขณะที่ผู้เป็นวีรบุรุษย่อมยกระดับความรู้สึกผิดสู่การไถ่บาป คนขี้ขลาดก็ย่อมใช้กลไกป้องกันทางจิตป้ายความผิดให้ผู้อื่น
ในมือไม่มีอะไรนอกจากความรู้สึกชิงชังตัวเองกับหลักฐานแวดล้อมที่ว่าไอ้จากัวร์ยืนอยู่หลังไอ้ขี้ข้าตอนที่ฝ่ายหลังถูกยิงระหว่างเข้าแถวฝึกภาคสนาม ไอ้กวีได้ยื่นข้อกล่าวหาพร้อมเปิดโปงกิจกรรมมิชอบทั้งหลายที่ทำกันในค่ายทหาร ในใจก็คิดว่าเป็นการล้างแค้นให้ไอ้ขี้ข้าที่ไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมพวกนี้แม้แต่ครั้งเดียว๓
มุมมองแบบกวีฮีโร่ใช้การไม่ได้อีกต่อไปเมื่ออัลแบร์โตถูกเรียกเข้าพบผู้พันแล้วมิได้ยืนยันความเชื่อของตนเมื่อมีสวัสดิภาพในทางโลกมาเป็นเดิมพัน จังหวะที่ผู้พันยื่นคำขาดให้อัลแบร์โตถอนคำกล่าวหาที่ไม่มีมูลและขู่ว่าจะไล่ออกด้วยข้อหาวิปริตทางเพศพร้อมมัดกระดาษกลอนลามกมัดตัวซึ่งเท่ากับทำให้ประวัติมัวหมองและอาจถึงกับดับอเมริกันดรีมที่บิดาเคยให้สัญญาเขาไว้ อารมณ์แรกที่เอิบอาบอัลแบร์โตในตอนนั้นคือความโล่งใจ เมื่อตระหนักได้ว่าตัวเองเล่นใหญ่ไปแล้วกับบทโกรธจนตัวสั่น ไอ้ขี้ขลาดก็รู้สึกขอบคุณที่ได้รับการละเว้นเสียง่ายๆจากความน่าขายหน้าไปยิ่งกว่านี้
ถึงจุดนี้คนอ่านอาจเลือกที่จะเยาะหยันฝ่ายผู้มีอำนาจของโรงเรียนที่มาสกัดกั้นพัฒนาการทางศีลธรรมของไอ้กวี ที่ก็เลยพลอยเป็นการหักล้างเป้าประสงค์สถาบันเสียเอง แต่พึงสังวรว่านอกจากร้อยโทกัมโบอาแล้วนายทหารและพลทหารทุกนายที่ประจำการอยู่ ณ เลอ็อนซิโยปราโดต่างก็เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ทั้งนั้นกับการประพฤติมิชอบทั้งหลายแหล่ที่ถ้าตามไล่บี้แล้วจะไม่ช่วยเสริมเกียรติประวัติ ทุกนายล้วนเป็นพวกย่อหย่อนในหน้าที่และขี้ขลาดที่คอยแต่จะปกป้องความก้าวหน้าในอาชีพของตัวเอง๔ พูดก็พูดเถอะไอ้ขี้ขลาดอัลแบร์โตนี่แหละตัวอย่างคาเด็ทประเภทที่โรงเรียนบอกว่าไม่มีอยู่ในสารบบแต่ยังมีหน้าปั๊มออกมาปีละตั้งไม่รู้กี่ร้อย
ไอ้จากัวร์ ไอ้ขี้โกหก
นวนิยายเรื่องนี้ประกอบด้วยสามเส้นเรื่องอดีตคนละเส้นของริการ์โด อัลแบร์โต กับไอ้จากัวร์ เนื่องจากคนอ่านไม่เคยได้ยินชื่อนามสกุลเต็มของไอ้จากัวร์เวลามีตัวละคอนอื่นใดเรียกชื่อมัน เรื่องเล่าย้อนอดีตของมันช่วงแรกๆจึงดูเหมือนว่าอาจเป็นเรื่องของเพื่อนร่วมชั้นคนไหนก็ได้ของอัลแบร์โต
กว่าจะถึงบางอ้อ ซึ่งสำหรับกูก็ปาเข้าไปเกือบค่อนเล่ม ที่คนอ่านจะจับต้นชนปลายได้ว่าหวานใจวัยเด็กของเตเรซาหาใช่ใครอื่นนอกจากไอ้จากัวร์นั่น เราก็มีอันต้องกังขาไว้ก่อนต่อมุมมองอันกระจัดกระจายที่คาเด็ทคนอื่นๆมีต่อมัน ไม่ว่าจะเป็นจากัวร์จ่าฝูงผู้รวมพลหมู่หมาต่อกรกับพวกรุ่นพี่หมาหมู่ จากัวร์หัวโจกผู้จับเพื่อนคาเด็ทโกนหัวแล้วเอาผมยัดปาก และจากัวร์ผู้ลงตีนกับไอ้ขี้ข้าและต่อมาก็ฆ่าทิ้ง เมื่อนั้นแหละที่ปลายอันหลุดรุ่ยจึงค่อยฝั้นเป็นสายที่สาวพ้นตำนานทั้งหลายของไอ้จากัวร์กลับไปถึงตัวมัน
เงื่อนงำดำมืดของชื่อจริงของไอ้จากัวร์นั้นคู่ขนานไปกับความจริงอันเฉพาะตัวไม่เหมือนใครข้อหนึ่งเกี่ยวกับมัน นั่นคือมันเข้าเรียนที่เลอ็อนซิโยปราโดโดยสมัครใจ บทบาทของจากัวร์ที่สู้เพื่อเอาตัวรอดนั้นมีมาก่อนเข้าโรงเรียน ยุวจากัวร์ที่เคยเป็นนักเรียนตัวอย่างเริ่มหันไปเอาดีทางย่องเบาเพื่อหาเลี้ยงมารดาหม้ายผู้ไม่เห็นดีเห็นงามไปกับมัน หลังถูกสาปส่งและไสส่งด้วยประกาศิตอันเยียบเย็นของมารดาว่าคนอย่างมันคู่ควรกับคุกตะราง มันก็จากบ้านและกลายเป็นสมาชิกแก๊งเต็มตัว
หลายปีต่อมาเมื่อสมาชิกส่วนใหญ่ของแก๊งถูกส่งเข้าคุก ไอ้จากัวร์ก็หลบหนีและหวนกลับบ้านเพื่อพบว่ามารดาได้ตายจากไปนานแล้ว มันรอนแรมอย่างไร้น้ำตาไปตามทรากปรักของวัยเยาว์ ไม่สามารถแม้กระทั่งจะไปเยือนหลุมศพมารดาด้วยกลัวตำรวจ จนไปลงเอยที่หน้าประตูบ้านพ่ออุปถัมภ์และอาศัยอยู่ที่นั่นช่วงหนึ่ง สุดท้ายแล้วไอ้จากัวร์ก็ตัดสินใจสมัครเข้าเลอ็อนซิโยปราโด มันได้กลายมาเป็นจากัวร์มากกว่าโดมิตีลาอันเป็นนามจริงของมัน จนถึงขนาดที่ว่าบทบาทที่สวมนั้นได้ยึดครองชีวิตไปแล้ว ตลกร้ายของการที่พวกนายทหารมาบ่นถึงหนหลังอย่างหน้ามืดตามัวว่าสมัยนี้โรงเรียนกลายเป็นสถานดัดสันดานหัวขโมยที่ถูกส่งตัวมาโดยไม่เต็มใจทั้งที่ตามจริงแล้วไอ้หัวขโมยนั่นแหละเป็นคนเดียวที่ตั้งใจอยากมาเองนั้น ย่อมไม่พ้นชวนให้คนอ่านหลุดหัวเราะหึๆ
ด้วยเสาะหาเรื่อยมาถึงสักครอบครัวหนึ่งที่ในที่สุดจะยอมรับมันอย่างไอ้จากัวร์ที่มันเลือกจะเป็น เป็นอย่างไอ้จากัวร์กร้านโลกผู้ยึดจรรยาประจำตน ผู้หัวเราะเยาะประเพณีการตีบทพี่น้องในสถาบันและหัวเราะใส่รุ่นพี่ทั้งยังกล้าถามพวกนั้นต่อหน้าว่าคิดว่าตัวเองเป็นลูกผู้ชายจริงฤๅ๕ สุดท้ายมันก็ได้เห็นความขี้ขลาดตาขาวของครอบครัวที่มันเลือก ครอบครัวที่ภักดีต่อมันสุดใจในยามที่ยังอ่อนแอและอยู่ในกำมือของรุ่นพี่ ครอบครัวที่พอเห็นท่าไม่ดีขึ้นมาก็โบ้ยความผิดให้มันไว้ก่อนแทนที่จะสืบหาความจริง เมื่อตระหนักถึงความฉิบหายต่อริการ์โดที่กลุ่มก๊วนดิบเถื่อนที่มันเป็นหัวโจกได้ทำลงไป มันตัดสินใจยุติวงจรของการกล่าวโทษไว้ที่ตัวมันและสารภาพการฆาตกรรมไอ้ขี้ข้าต่อร้อยโทกัมโบอา “ผมว่าถ้าให้ดีก็จับผมขังคุกเถอะ ใครๆก็พูดว่าผมจะไปลงเอยที่นั่น แม่ผมคนหนึ่ง คุณก็อีกคน”
เราจะเอาด้วยกับไอ้กวีและพวกขี้ขลาดที่เหลือในการกล่าวโทษไอ้จากัวร์โดยไม่มีหลักฐานไหม ต่อให้ไอ้จากัวร์มันเชื้อเชิญไว้หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันเชื้อเชิญ? เรามองเห็นใครระหว่างนักฆ่ากับไอ้ขี้โกหก? คำสารภาพทำหน้าที่ต่างไปมากนักเมื่ออ่านมันในฐานะเสียงร้องขอความช่วยเหลือของเด็กคนหนึ่งที่ถูกหลอกหลอนจากคำหยามหมิ่นของมารดา–คำที่ผุดขึ้นมาเสมอเมื่อนึกถึงหล่อน และก่อนที่คนอ่านจะไถลไปสู่นิสัยเสียที่ชอบหาฮีโร่ ก็พึงสำเหนียกให้ดีว่าไอ้จากัวร์ล่าเหยื่อผู้อ่อนแอยังไง ว่ามันเล่นงานเด็กที่ครั้งหนึ่งพาหวานใจวัยเด็กของเขาไปกันสองต่อสองจนดั้งหักเลือดท่วมยังไง ว่ามันบังคับขู่เข็ญไอ้ขี้ข้าให้เฝ้ายามแทนมันยังไงในคืนของการขโมยข้อสอบ ถึงกระนั้นมันก็ไม่เหมือนกับบิดาของริการ์โดที่ส่งลูกเข้าเรียนหมายให้เป็นลูกผู้ชายและไม่ถือว่าตัวเองมีส่วนรับผิดชอบใดในการตายของลูก ไอ้จากัวร์ที่หมายให้เพื่อนร่วมชั้นเป็นลูกผู้ชาย ไม่อาจทนอยู่เฉยต่อสำนึกรับผิดชอบที่มีได้ จากเศษเดนที่ไม่มีใครเอาไม่ว่าจะครอบครัวโดยสายเลือดหรือครอบครัวร่วมเลือดสาบาน เด็กกำพร้าผู้นี้เป็นผู้เดียวที่โผล่พ้นขึ้นมาเป็นลูกผู้ชายในแบบที่ไม่มีอะไรใกล้เคียงกันเลยกับลูกผู้ชายในระเบียบสัญลักษณ์ไม่ว่าแบบใดของความเป็นบิดา
* * *
ไอ้ขี้ข้าตายไปพร้อมกับริการ์โด แต่อัลแบร์โตจะอยู่รอดไหมโดยไร้ไอ้กวี? คนอ่านได้เป็นสักขีพยานการฝังกลบไอ้กวีทั้งเป็นในตอนที่อัลแบร์โตตัดสินใจสลัดช่วงเวลาสามปีที่โรงเรียนทิ้งไปให้เป็นแค่การสะดุดที่ไม่พึงประสงค์ในช่วงชีวิตของมันที่ย่านไฮโซมิราโฟลเรส เป็น “ศพที่อย่าได้หาไปปลุกมันอีก” อัลแบร์โตที่บัดนี้ “ได้อนาคตคืนมา” ดูเป็นตัวละคอนที่ผิดไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ราวกับว่าบางสิ่งที่เป็นของจริงได้หลุดหายไปแล้วจากชีวิตขณะที่มันเหม่อมองออกไปในเวิ้งมหาสมุทร สายตากลืนหายไปกับฟองคลื่นและอนาคตที่ชื่อว่าสหรัฐอเมริกา ที่หมายอีกแห่งหนึ่งที่มันมิได้เป็นคนเลือก
เหล่าคาเด็ทยังคงตายกันต่อไปในสภาพการณ์ที่ถูกรายงานอย่างบิดเบือนอยู่ในรั้วรอบอันไม่อาจล่วงของโรงเรียนเตรียมทหาร ขณะที่นอกรั้วนั้นทั้งคนที่เรียนจบและเรียนไม่จบจากที่นั่นก็พากันเปิดโรงเรียนกวดวิชาแบบกินนอนเหมือนอยู่ค่ายที่เรียกเก็บเงินจากผู้ปกครองในราคาแพงระยับเพื่อฝึกซ้อมบุตรหลานวัยรุ่นสู่ชีวิตคาเด็ทผ่านการฝึกซ่อมโดยไร้การกำกับดูแล–ให้ได้ลิ้มชิมลางก่อนการแดกจริง เหล่าผู้มีอำนาจยังคงปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้ความรุนแรงที่เกินเลยแต่ก็ไม่เคยรับผิดชอบอะไรมากไปกว่าโยกย้ายตำแหน่งแต่ในนามในระบบราชการและเพิ่มมาตรการกวดขันชั่วระยะหนึ่ง หากไม่อาจไปถึงการปฏิรูปหรือล้มล้างในระดับสถาบัน บางทีก็อาจมีศักยภาพและความจำเป็นอย่างถึงแก่นที่จะมีบทบันทึกนตท.เสียงแตกสายพันธุ์ใหม่ บันทึกประเภทที่อาจช่วยชีวิตผู้มีสิทธิจะได้เป็นไอ้ขี้ข้ากับไอ้กวี.