ศักย์หลุดพ้นในการเล่าเรื่องของวิดีโอเกม: บทใส่ความย้อนหลังให้โจ๊กเก้อของคัทซึระ ฮาชิโนะ

[มีการ spoil เนื้อหาเกม Persona 4]

[For the English-language original “Radical Potential in Videogame Narrative: A retroaction on Katsura Hashino’s Joker”, click here.]

มีหนังสองเรื่องในปี 2019 ที่ทำเอาฝ่ายซ้ายเถียงกันจ้าละหวั่น  ในตะวันออกไกล ปรสิต (Parasite) ของบองจุนโฮ (Bong Joon Ho) ปรากฏขึ้นเป็นดราม่าชิ้นเอกว่าด้วยชนชั้น ที่ดึงเอาพลังของตลกมืด เรื่องปริศนาเร้นลับ ความรุนแรงเลือดสาด ความหมดอาลัยตายอยาก1 มาใช้ได้อย่างสุดประสิทธิภาพ  พอได้ดู ปรสิต ก่อนข้าแทบจะรู้สึกว่าโจ๊กเก้อ (Joker) ของทอด ฟิลลิปส์ (Todd Phillips) เป็นเพียงของตามหลังมาเท่านั้น  ที่แน่ๆ ลักษณะจำเพาะบางอย่างของชนชั้นล่างชาวเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของคนจนต่อคนรวยและความสามัคคีทางอุดมการณ์ระหว่างทั้งสองชนชั้นอันหล่อเลี้ยงไว้ด้วยจรรยาชายเป็นใหญ่ประสาตะวันออกกับสิ่งที่รับเชื่อตามกันมาว่าคือค่าจ้างที่ยุติธรรมนั้น ดูเหมือนจะวางครอบครัวคิมอยู่บนชั้นการกดขี่ที่ต่ำตมกว่าที่ครอบครัวเฟล็คประสบเสียอีก เป็นการกดขี่ดุจการผ่ากลีบ (lobotomy) “ผู้ป่วยทางจิต” ที่สังคมไม่ต้องการ เพื่อตัดความเป็นไปได้ใดๆ ของการประกอบสร้างตัวตนเข้าด้วยกันหลังภาวะบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง ดังเห็นได้ในช่วงท้ายของหนังที่คิมขี้แตก (Kim Ki-taek) คนพ่อของครอบครัวจนยาก เฝ้าขอขมาไม่หยุดหย่อนแก่ปากดองอิ๊ก (Park Dong-ik) คนพ่อของครอบครัวคนรวยคู่ปรับที่ขี้แตกเป็นคนแทงตายเองหลังจากเหตุการณ์ลูกโซ่ที่นำไปสู่ความตายของลูกสาว แล้วตัวเขาเองก็กลับไปอยู่ในห้องลับหลบภัยใต้ดินห่างจากสถานที่เกิดเหตุไม่ถึงยี่สิบเมตรเพื่อหลบซ่อนจากอำนาจกฎหมายที่ดูท่าว่าจะต้องหลบไปทั้งชีวิต

โดยเหตุที่ตัวหนังเป็นการบิดการ์ตูนตะวันตกขึ้นหิ้งให้ผิดแผกไปจากธรรมเนียมเดิม และโดยสภาพการเมืองอันเป็นผลพลอยล่าสุดจากลัทธินีโอลิเบอรัลในรูปของรัฐบาลทรัมป์ จึงเข้าใจได้ที่ฝ่ายซ้ายตะวันตกจะมีอะไรพล่ามในเรื่องตระกูลเฟล็คมากกว่า  ในเรียงความเกี่ยวกับโจ๊กเก้อ (2019)2 นักปราชญ์ชาวสโลวีน ซลาวอย ชีเช็ค (Slavoj Žižek) ถกประเด็นความคิดเรื่องความแท้ (authenticity) และการโยงตัวตน (identification) ไว้  ชีเช็คบอกว่าความหลงใหลของสาธารณชนต่อโจ๊กเก้อนั้นอยู่ที่ตัวหน้ากาก ตัวละครโจ๊กเก้อที่ทั้งหลากหลายและแทบจะมีสถานะเป็นตำนานในเทพนิยายมนุษย์ค้างคาวนั้นอยู่ในหน้ากากเมคอัพอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับใบหน้าหลังมัน  แน่ล่ะ ความรุนแรงที่ตระกูลคิมและอาเธอร์ เฟล็ค ก่อขึ้นคืออาการบ่งบอกถึงความไร้น้ำยาอย่างหนึ่ง แต่ในขณะที่กรณีของเฟล็คไม่ได้ถูกเสนอออกมาให้เป็นตัวละครที่คนนึกโยงตัวเองด้วยได้ ฝ่ายตระกูลคิมกลับไม่ขัดขืนต่อการโยงตัวตนนั้น  และถึงต่อให้ชีเช็คพูดไปเถอะว่าวิสัยทัศน์อันมืดมนของโจ๊กเก้อ คงไม่เป็นประสบการณ์จอเงินที่ประสบผลสำเร็จหรอกหากไม่มีโครงสร้างแฟนตาซีของตำนานมนุษย์ค้างคาวมาครอบค้ำ สัจนิยมของมันไว้ แต่ในทางตรงข้าม ข้าว่าวิสัยทัศน์ที่มืดมนกว่าของ ปรสิต ทำงานได้ผลโดยไม่ต้องอิงกับจักรวาลของนิยายเรื่องใดๆ แต่ถึงกระนั้นความเป็นสัจนิยมของ ปรสิต ก็มีสิ่งที่ข้าขอเรียกว่านิยายแนวนีโอโกธิกในเมือง มาเป็นโครงสร้างที่ปูพื้นอยู่ข้างใต้   ไม่เชื่อก็ลองนึกดูดีๆสิ คฤหาสน์ที่ไม่อาจเข้าถึงได้ซึ่งแยกขาดจากโลกภายนอกที่ต่ำชั้นกว่าด้วยกำแพงสูงและต้นไม้, โรมานซ์ต้องห้าม, ฆาตกรรมอำพราง, แสงไฟที่กระพริบราวกับมีความหมายและจิตจำนงเป็นของมันเอง, ผีสิงที่จ้องตาเหลือกจากใต้ถุนมืดมิด คุณลักษณะเหล่านี้เอาไปใช้ในโครงเรื่องโกธิกคลาสสิกอันไหนก็ได้ทั้งนั้น

แล้วถ้าเกิดมีตัวละครเปี่ยมด้วยศักย์หลุดพ้นที่ทั้งเป็นของแท้ ทั้งไม่ใช่ไร้น้ำยา ทั้งเชิญชวนให้คนดูโยงตัวตนเข้าด้วยได้ล่ะ? ตัวละครในจอเงินที่จะมีหนึ่งหรือสองข้อคุณธรรมข้างต้นได้นั้นต้องรักษาประสิทธิภาพอยู่ห่างๆ ผ่านการขาดข้อใดข้อหนึ่ง ลองนึกดูว่าถ้าไม่มีเค้าโครงของความขาดที่ว่านี้ การจะศึกษาตัวละครเหล่านี้ในแบบภาพยนตร์ศึกษาก็คงจบเห่: โจ๊กเก้อของคริสโตเฟอร์ โนแลน ที่มีแบ๊คกราวนด์เป็นชนชั้นแรงงานหรือทหาร 3, ทราวิส บิ๊คเคิล ที่ล้างบางถนนเมืองนิวยอร์กในฐานะผู้วางนโยบายสังคมเจริญให้กับชาร์ลส พาลันทีน, วี ที่ตอนตายเปิดหน้ากาก กาย ฟอวคส์ ให้ดูหน้าจะจะ ฯลฯ  ทั้งนี้ ข้าขอกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า ถ้าจะแสดงบทให้สมบูรณ์ทั้งตรีเอกภาพนั้นแล้วไซร้ ก็ต้องใช้สื่อที่ให้ผู้บริโภคมีส่วนรวมมากกว่าการนั่งดูจอเงิน

ในปี 2016 4 ค่ายพัฒนาวีดีโอเกมเมืองคามิคาเซ่ ATLUS วางจำหน่ายเกมยักษ์ใหญ่ล่าสุดของค่าย เพอร์โซน่าห้า (Persona 5) กำกับโดย คัทสึระ ฮาชิโนะ (Katsura Hashino) โดยเวอร์ชั่นภาษาอังกริดที่ออกตามกันมาในปี 2017 ก็ได้รับความสนใจจากสังคมเกมเมอร์ตะวันตกด้วย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามันออกวางจำหน่ายแทบจะเหมาะเหม็งพอดีกับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯในตอนนั้น  ซีรี่ส์นี้ขึ้นชื่อเรื่องการจับขั้วเป็นคู่ในระบบการเล่นและการเล่าเรื่อง ตามแบบฉบับแล้วตัวเอกของ เพอโซน่า ใช้ชีวิตมัธยมปลายญี่ปุ่นทั่วไปในเวลากลางวัน ตกกลางคืนก็จะออกสำรวจโลกต่างมิติอันชั่วช้า เมื่อเนื้อเรื่องแต่ละภาคที่มีความเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกันดำเนินไป ผู้เล่นก็เป็นผู้นำพาตัวเอกตะลุยไปทั้งสองโลก เล็งเป้าจะผ่านให้ได้ทั้งสู้กับบอสและสอบประจำภาคเรียน  สิ่งที่ข้าว่าน่าสนใจสุดๆในซีรี่ส์นี้ก็คือความสัมพันธ์เชิงตัวตนระหว่างผู้เล่นกับตัวเอก ซึ่งไม่อาจเข้าใจได้ในเชิงปรัชญาการออกแบบเกมแบบดีแอนด์ดี (Dungeon & Dragons) แนวสวมบทบาทของตะวันตก หรือในเชิงที่นิยมกันในญี่ปุ่นแบบซีรี่ส์ดัง ไฟนอล แฟนตาซี (Final Fantasy)  ในที่นี้ผู้เล่นไม่ได้สวมความเป็นตัวตนแนวเดส์คาร์ตเข้าไปในตัวละครที่เปิดให้ให้ผู้เล่นปรับแต่งได้ภายในโลกของเกมที่โฆษณาว่ามีตัวเลือกสำคัญให้ผู้เล่นเป็นผู้ตัดสินใจได้อย่าง “อิสระ” และก็ไม่ได้สวมตัวตนของความเป็นอื่นในจินตภาพที่เป็นอื่นซะจนเสือกตัวเองไปบนทุกๆอย่างในเรื่องเล่าแทนตัวผู้เล่น

การโยงตัวตนเข้ากับตัวเอกของเพอโซน่า นั้นเป็นเรื่องที่บังคับไว้ เกมของค่าย ATLUS บางเกมถึงขนาดป้องกันไม่ให้ผู้เล่นเริ่มเกมได้หากไม่ยอมรับเงื่อนไขบางอย่าง หนึ่งในแนวเรื่องตอนเริ่มต้นของทุกๆภาคก็คือตัวเอกเซ็นสัญญาหรือข้อตกลงอะไรบางอย่าง ซึ่ง ณ จุดนี้เกมจะบอกให้ผู้เล่นกระทำการที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงครั้งเดียวในเกม คือการตั้งชื่อตัวเอก เมื่อได้รับการตั้งชื่อแล้วสิ่งที่ฮีโร่ของเรามักจะได้มาก็คือพลังอภินิหารตามชื่อเกมคือเพอโซน่า, หน้ากากอันเหลือคณานับ และอำนาจในการควบคุมบังคับที่ลงมาอยู่ในมือผู้เล่นเสียที การที่พลังได้ตื่นขึ้นเมื่อเกิดการโยงตัวตนเข้ากับตัวเอกนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ โดยเฉพาะในภาคห้าล่าสุดนี้ ฉากเปิดเกมบ่งนัยถึงการให้อิสรภาพ: เปิดฉากมาผู้เล่นจะเห็นตัวเอกไร้ชื่อที่ในฉากก่อนหน้าเรียกว่าโจ๊กเก้อตามฉายาหน้ากากที่ใส่อยู่ กำลังถูกนายตำรวจผู้สอบปากคำลงมือซ้อมและฉีดยาเพื่อให้สารภาพความผิดและเปิดเผยชื่อบรรดาสหายของเขา5 แต่ทว่าชื่อเดียวที่ตัวเอกบอกออกมาก็คือชื่อของเขาเองที่ผู้เล่นเป็นคนกรอกลงไป นั่นเท่ากับว่า—และข้าพเจ้าคิดว่านี่คือจุดอัจฉริยะที่เป็นเอกลักษณ์ของซีรีส์นี้ที่มักจะถูกมองข้ามไป—ผู้เล่น ก็คือ ตัวตนของแท้ของตัวเอกนั่นเอง

ก็อย่างที่ชื่อเกมบอกอยู่เลาๆนั่นแหละ ธีมหลักของจักรวาลเพอร์โซน่า นั้นเดินตามลัทธิไสยศาสตร์ผสมจิตวิทยาของคาร์ล ยุง อยู่ชัดๆ ซึ่งก็เลยชวนให้รู้สึกกระดากไปด้วย  สิ่งที่เรียกว่าเพอร์โซน่าทำงานเหมือนเป็นบุคลาธิษฐานแทนจิตวิญญาณของเจ้าของเพอร์โซน่านั้นๆ ที่ออกมาต่อสู้ในโลกต่างมิติในเกม เพอร์โซน่าถูกแบ่งประเภทตามอาร์คาน่าหลักของไพ่ทาโร่ไรเดอร์-เวทท์ จำแนกตามความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างตัวละครนั้นๆกับตัวเอกที่ถือไพ่คนโง่ (The Fool) อันเป็นสัญลักษณ์ถึงความมีวิชา ที่เป็นผู้เดียวที่สามารถเปลี่ยนไปใช้เพอร์โซน่าได้หลายตัว  ประโยคเด็ดที่เป็นที่รู้จักของซีรี่ส์พูดเป็นนัยว่าเพอร์โซน่าทั้งหลายผุดขึ้นมาจาก “ทะเลวิญญาณของเจ้า” (the sea of thy soul) 6 ซึ่งเปรียบได้กับจิตไร้สำนึกร่วม (collective unconscious) ของยุง  นั่นคือคำอธิบายว่าทำไมเพอร์โซน่าถึงมีรูปร่างหน้าตาเหมือนตัวละครจากเทพนิยาย, ตำนาน, ศาสนา, นวนิยาย 7 ที่มีอยู่ในโลกความเป็นจริง ซึ่งมีลักษณะแม่แบบตรงกับของเจ้าของเพอร์โซน่านั้นๆ ในภาคที่ห้า พวกกลุ่มสมคบคบคิดอภิสิทธิชนเสนอภาพการรับรู้โลกความเป็นจริงที่บิดเบือนไป เกิดเป็น Cognitive World หรือโลกในความรับรู้ ที่เป็นโลกความจริงต่างมิติในโลกของเกม อันมีผู้ครองความเป็นใหญ่คือ Shadow ซึ่งก็คือบรรดาตัวตนที่ก่อรูปก่อร่างขึ้นมาจากแรงผลักดันใต้สำนึก โจ๊กเก้อและสหายกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายผู้ตื่นรับพลังเพอร์โซน่าผ่านการโยงตัวตนเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับหน้ากากมาด้วยความขบถและเจ็บปวดทรมาน พากันตะลุยผ่านโลกต่างมิตินี้ในคราบของกลุ่มโจรจอมใจ (Phantom Thieves of Hearts) ที่ประกาศเป้าหมายในการปฏิรูปสังคมโดยการขโมยหัวใจของเหล่าอภิสิทธิทุจริตชนมาแล้วเปลี่ยนมันซะ ในความหมายที่ออกจะตามตัวอักษรเลยทีเดียว

พูดกันตามหลักภววิทยาแล้ว Cognitive World ในภาคห้าไม่ได้ดำรงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าโลกความจริงของเกมในย่านชิบูย่าที่ญี่ปุ่่น ถ้าวางเรื่องตรรกะภายในแบบไซไฟ/แฟนตาซีของเกมไว้ก่อน ก็จะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงอย่างน่าเอ็นดูระหว่างวิธีการปฏิรูปสังคมของกลุ่มโจรจอมใจกับจิตวิเคราะห์เชิงบำบัด  บรูซ ฟิ้งค์ (Bruce Fink) เขียนไว้, “กระบวนการจิตวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแล้วก็คือการช่วยให้ผู้ถูกวิเคราะห์สามารถทำให้สิ่งที่ยังไม่ถูกประมวลเข้าสู่ระบบสัญลักษณ์สำหรับเขาหรือเธอนั้น กลายออกมาเป็นถ้อยคำได้ ช่วยให้ถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้ถึงประสบการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตก่อนหน้านี้ที่ผู้ถูกวิเคราะห์ยังไม่อาจปะติดปะต่อให้เป็นรูปเป็นร่างทางใดทางหนึ่ง”8  สิ่งที่กลุ่มตัวเอกขโมยมาจากบัลลังก์แห่งแรงผลักดันของ Shadow นั้นในตอนแรกปรากฏให้โจ๊กเก้อเห็นเป็นเพียงแสงสีวนเวียนไปมา สิ่งไร้รูปร่างที่ว่านี้ซึ่งมักไม่แคล้วคือสิ่งที่ตัวร้ายใช้เป็นเครื่องยึดไว้กับเหตุการณ์ที่เป็นความบอบช้ำทางจิตใจอย่างรุนแรง ก็กลายมาเป็นวัตถุจับต้องได้ที่กลุ่มโจรจะสามารถนำกลับออกไปสู่โลกความเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อหลังจากที่ทำให้ Shadow ของตัวร้ายนั้นๆต้องพ่ายแพ้และต้องถูกบีบให้สางเหตุการณ์บอบช้ำนั้นออกมาเป็นคำพูด แล้วหลังจากนั้นตัวตนอันเป็นอัตตาของเจ้าตัวร้ายก็จะทลายลงมาพร้อมคำสารภาพต่อสาธารณชนถึงความผิดที่ตนก่อไว้

แล้ว เพอร์โซน่าห้า กำลังบอกอะไรเราเกี่ยวกับจุดยืนแนวปฏิรูปสังคมที่เราไม่อาจมโนเห็นได้ในตระกูลคิมหรือในผู้ประท้วงใส่หน้ากากตัวตลกทั้งหลายในตอนท้ายของเรื่องโจ๊กเก้อ 9เพอโซน่าห้า อาจจะมีวิชาเหนือขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งโดยการบังคับให้ผู้เล่น/คนดูเผชิญหน้ากับความล้มเหลวที่ไม่มีใครพูดถึงซึ่งนำไปสู่การกำเนิดขึ้นของตัวร้ายตัวหลักของเกมที่เป็นมนุษย์ นั่นคือ ว่าที่ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี มาซาโยชิ ชิโด  คำสัญญาปฏิรูปสังคมของนักประชานิยมชาตินิยมมากบารมีอย่างชิโดในช่วงรณรงค์หาเสียงท้ายเกมก็เป็นคำสัญญาคู่ขนานที่เปรียบได้กับความปรารถนาของกลุ่มโจรเอง แม้โจ๊กเก้อและกลุ่มโจรจะสามารถเอาชนะชิโดได้ในท้ายที่สุด แต่ความสยดสยองที่แท้จริงก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นหลังจากที่ชิโดสารภาพออกอากาศทางทีวีถึงการมีอยู่ของกลุ่มสมคบคิดนี้และการที่ตนก็มีส่วนร่วมกับกลุ่มที่ว่านี้ด้วย แล้วปรากฏว่าโพลสำรวจความเห็นกลับไม่ส่อแววว่าแรงสนับสนุนของสาธารณชนต่อชิโดและพรรคของมันนั้นจะลดน้อยถอยลงแต่ประการใด สาธารณชนที่ในเกมเสนอภาพอย่างเตะตาให้เป็นฝูงชนหลังค่อมไร้ใบหน้าที่สัญจรไปทำงานอยู่ในฉากหลัง ก็สนทนากันในแบบที่รู้กันอยู่แล้วว่าชิโดนั้นน่าสงสัย  แต่บทสนทนาระหว่าง NPC (non-player character; เป็นประเภทตัวละครในวิดีโอเกมส์ที่ผู้เล่นควบคุมไม่ได้และมีบทบาทน้อยประมาณเป็นตัวประกอบฉากหลังในภาพยนตร์) ประกอบฉากก็แสดงให้เห็นว่าภาษาที่ใช้พูดกันถึงความสงสัยนี้เป็นศัพท์ภาษาภายใต้การเมืองผู้แทนที่ถูกควบคุมไว้แต่แรก ความพ่ายแพ้ของชิโดเพียงแค่ฉายไฟไปยังสิ่งที่ผู้เล่นรู้อยู่แก่ใจตั้งแต่แรกแล้วว่าขอบเขตของกลุ่มสมรู้ร่วมคิดที่ว่านี้น่ะครอบคลุมไปถึงไหน : เจ้าพ่อสื่อมวลชน, นักการเงินเอกชน, องค์กรบังคับใช้กฎหมายต่างๆ, บริษัทผู้ผูกขาดเทคโนโลยี, พวกชนชั้นขุนนางเก่า และอีกสารพัด  ว่าง่ายๆคือแท้จริงแล้วไม่มีกลุ่มสมคบคิดอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์บ้านเมืองด้วยซ้ำเพราะจริงๆไอ้พวกนี้เราก็รู้ๆกันอยู่ว่ามันเป็นใครกัน มันไม่ได้ “เบื้องหลัง” ซะหน่อย  ด้วยประการฉะนี้ทั้งคนดูทั้งกลุ่มโจรใจจึงหวนคืนสู่บัญญัติมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ : จะไม่สู้บนสมรภูมิประชาธิปตัยเลือกตั้งลิเบอรัลอันน่าชังไม่ได้  ตามคาดคือพอมาถึงจุดนี้ตัวเกมก็คลี่คลายเนื้อเรื่องไม่ออกเหมือนกับโลกเราที่ก็ยังคลี่คลายอะไรกันไม่ได้ เลยต้องตั้งบอสใหญ่ของเกมที่แท้จริงขึ้นมาซักตัวนึงเป็นพระเจ้าแห่งการควบคุมระดับอภิปรัชญาอย่างน่าเบื่อๆไว้ให้ผู้เล่นได้เอาชนะ

ด้วยลักษณะที่ เพอร์โซน่าห้า เป็นการชนตรงๆ กับทัศนคติของสาธารณชนที่ให้ความสำคัญเกินเหตุกับข้อเท็จจริงที่ถูกทำให้เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจง หรือคำสารภาพของทุจริตชนเป็นคนๆเป็นกรณีๆไปอยู่เช่นนั้น เราไม่เห็นวิถีของ จูเลียน อัสซอนจ์ หรือ? เราจะไม่เรียกเขาผู้นี้ที่กำลังรอการส่งตัวไปดำเนินคดีที่อเมริกาในข้อหาเปิดโปงอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ที่ตัวรัฐเองก็รู้อยู่แก่ใจนั้นว่าเป็นจอมโจรจอมใจตัวจริงได้หรือ? ความตื่นตาตื่นใจที่สื่อมวลชนใช้เป็นเครื่องล่ออย่างเช่นกระบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์, คำกล่าวหาของ OAS (Organization of American States) ที่ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของโบลิเวียมีการฉ้อโกงเกิดขึ้น, หรือกรณีประเทศนี้ที่ ธนาธร จ. โดนปลดจากสภา ส.ส.  กรณีเหล่านี้ไม่ได้กำลังดึงความสนใจเราจากผเด็จภาพรวมอยู่หรือ? พอสมาชิกจอมโจรคนหนึ่งตื่นพลังเพอโซน่าขึ้น เขาก็ทรุดลงคุกเข่าด้วยความเจ็บปวด แล้วของเหลวสีดำไร้คำอธิบายก็ไหลออกมาจากดวงตาราวกับตัวตนของเขาไม่สามารถทนเก็บกลั้นมันไว้ได้อีกต่อไป  ในช่วงเวลาอันน่าหดหู่ข้าก็เตือนตนอยู่เสมอว่าชีวิตทางการเมืองมันไม่มีหรอก มันก็เหมือนชีวิตในเรื่องเล่านวนิยายนั่นแหละ คือไม่ใช่ชีวิตโดยตัวมันเอง หากเป็นแต่เพียงภาพชีวิตที่สะท้อนมาจากของเหลวดำมืดนี้ มองดูดีๆเข้าไปในความเจิ่งนองของมันสิ รูปร่างของมันเป็นลางบอกถึงความเป็นไปได้นานาอันน่าสะพรึงทีเดียว

 

เชิงอรรถ

1 ณ ที่นี้ข้าขอตอกย้ำแง่มุมทางเศรษฐกิจสังคมในความสิ้นหวังของคิมตัวลูก การไถ่โทษของคิมตัวพ่อขึ้นอยู่กับการทำให้ฝันหวานให้เป็นจริงของคนจนเมืองชาวเอเชี่ยนที่ฝันว่าวันนึงเราต้องรวยพอที่จะซื้อบ้านหลังโต นักวิจารณ์หลายคนมองการที่ตัวลูกปล่อยหินฮวงจุ้ยทรัพย์สิน (ที่เป็นอาวุธในการฟาดเขาจนเกือบตาย) ลงไปในน้ำ ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปล่อยวางความมีทรัพย์เพื่อความมีทรัพย์นั้นเองไปซะงั้น การมองแบบนี้ขาดมิติหนึ่งที่เป็นที่คุ้นเคยในหมู่ผู้ศึกษาลาก็อง เหตุแห่งความปรารถนาของลูกชายต่อความมั่งคั่งนั้นเพียงแค่เปลี่ยนย้ายไปวางอยู่บนความปรารถนาที่สร้างขึ้นมาว่าอยากปลดปล่อยพ่อของตัว อันเป็นความปรารถนาที่ตัวพ่อเองไม่เคยถ่ายทอดออกมาให้คนดูได้ยินเลย

2 ซลาวอย ชีเช็ค. “เพิ่มเติมเรื่องโจ๊กเก้อ: จากสุญนิยมไร้การเมืองสู่ฝ่ายซ้ายใหม่, หรือทำไมทรัมป์จึงไม่ใช่โจ๊กเก้อ” http://thephilosophicalsalon.com/more-on-joker-from-apolitical-nihilism-to-a-new-left-or-why-trump-is-no-joker/.

3 อันนี้เป็นทฤษฎีของพวกคลั่งที่ทึกทักเอาจากบทสนทนากับตัวละครฮาวี่ เด๊นท์ ในฉากที่โรงพยาบาล

4 ตอนที่ข้าเซิชดั๊กดั๊กโกออนไลน์เพื่อหาชื่อตั้งให้บทความนี้ ก็พบว่าถ้าตั้งชื่อ โจ๊กเก้อ (2016) ก็จะไปหมายความถึงภาพยนตร์ทมิฬอินเดียเรื่องหนึ่งซึ่งก็บังเอิญเป็นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสังคมเช่นกัน

5 ข้าเปลี่ยนใช้สรรพนามชายตรงนี้ก็มีเหตุผล ในขณะที่เกม เพอโซน่า หลักของค่าย ATLUS มีแต่ตัวเอกชาย ก็มีภาคสามออกใหม่เวอร์ชั่นหนึ่งที่มีให้เลือกเพศตัวเอกได้

6 ประโยคเต็มว่า “ข้าคือเจ้า . . . เจ้าคือข้า . . . จากทะเลวิญญาณของเจ้า จึงข้าได้มา . . .” ตามด้วยประโยคประจำเพอร์โซน่าแต่ละตัว

7 ตัวปลาดจากเทพปกรณัมเลิฟคราฟท์โผล่ให้เห็นตั้งแต่สมัย เพอร์โซน่าสอง (1999) ไม่ต้องพูดถึงเกมอื่นของ ATLUS ที่ไม่ค่อยวางจำหน่ายนอกญี่ปุ่นเช่นซีรี่ส์ จ้าวแม่กลับชาติมาเกิด (Shin Megami Tensei)

8 Bruce Fink. The Lacanian Subject. Princeton University Press, 1997, 25.

9 ตัวละครวิปริตที่ไร้น้ำยาแบบ อาเธอร์ เฟล็ค ก็มีใน เพอร์โซน่า ตัวอย่างเด่นชัดที่สุดเลยก็ โทรุ อาดาชี่ (Tohru Adachi) นักสืบที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องด้วยจากภาคสี่