ข้อคิดหลังดู “เดอะ แบทแมน” ว่าด้วยโรคขยาดความยุติธรรมในศตวรรษที่ ๒๑

[For the English-language original “My Thoughts After The Batman : Some symptoms of 21th century Dikephobia”, click here.]

การเล่าเรื่องแนวซุปเปอร์ฮีโร่กู้โลกในสื่อบันเทิงมันสอนอะไรเราเกี่ยวกับความยุติธรรมไม่ได้เลย! ประโยคประกาศกร้าวแบบนี้มันไม่น่าจะไม่มีใครเถียงข้างข้างคูคูอีกแล้วในยุคนี้ที่ข้อทึกทักไปเองเกี่ยวกับสภาวะความอยากเป็นผู้กู้โลกในเนื้อหาที่นักเขียนบท/การ์ตูนผลิตออกมาถูก “วิจารณ์” อยู่เป็นประจำ บางทีก็โดยน้ำมือของนักเขียนบท/การ์ตูนด้วยกันเองนี่แหละ มันจะมีพวกสายเคยไม่เมนสตรีมอย่างสาย metacommentary หรืออรรถกถาเชิงเมต้าของอลัน มัวร์ ที่ตอนนี้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคสามัญประจำบ้านยี่ห้อดั้งเดิมที่ผู้เสพย์วัฒนธรรมตะวันตกหรือหลังตะวันตกต้องมีไว้ มีการ์ตูนทำลายจารีตสุดคลาสสิกอย่าง เพชฌฆาตหน้ากากพญายม กับ ศึกซุปเปอร์ฮีโร่พันธุ์มหากาฬ  ลักษณะจำเพาะหนึ่งของสายผลิตภัณฑ์นี้คือมันชอบเขียนให้เหล่าซุปเปอร์ฮีโร่และศัตรูของพวกมันโลดแล่นอยู่ในนาเรถีบที่เน้นความเป็นมนุษย์และความมีแนวคิดมากกว่าด้านเดียวให้มากขึ้น เราก็จะเห็นฮีโร่เก๋านอกขนบพันธุ์ใหม่ที่คุณธรรมขาวดำคลุมเครือ, มีความปัจเจกสูงจนไฮเปอร์, แถมด้วยเสื่อมสมรรถภาพทางการเมือง ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับซากหลงเหลือจากยุคลัทธิวิเศษชนหรือ exceptionalism ที่เอามาใส่ห่อใหม่ให้ดูดีขี้น สู้กับภยันตรายที่เป็นเงาสะท้อนให้ครุ่นคิดถึงแต่ตัวเอง ก็จะมีนานๆ ครั้งที่นักเขียนบท/การ์ตูนจะกลับมาหากินกับตีมขายดีเรื่องความยุติธรรมบ้าง โดยแต่ละครั้งก็จะนฤมิตขึ้นมาใหม่ทั้งบริบทของแนวคิดความยุติธรรมที่เค้าว่ากันว่ามันเป็นสิ่งสากลเอาไปใช้ที่ไหนก็ได้ในจักรวาล ทั้งความขัดแย้งระหว่างไอ้นิยายครอบจักรวาลนี้กับอัตตะของฮีโร่ในเรื่อง ซึ่งเอาจริงๆ มันคืออัตตะของคนเขียนเองนั่นแหละ

มีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยในเมนสตรีมของแนวนี้ที่ดูเหมือนจะพาการอรรถกถาเชิงเมต้าไปถึงจุดที่ไกลที่สุดเท่าที่มันจะไปได้แล้ว ซึ่งอย่างดีที่สุดมันก็ทำได้แค่ถือหางเดินตามกระแสจิตสำนึกทางสังคมการเมืองตะวันตกบางกระแสเท่านั้น ที่ข้าพจ้าวจำได้ทันทีเลยก็มีเรื่อง ก๊วนหนุ่มซ่าล่าซุปเปอร์ฮีโร่ เกี่ยวกับกลุ่มซุเปอร์ฮีโร่ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครนอกจากอำนาจของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เรื่องนี้ทำทีเป็นวิจารณ์กระแสการทำให้แนวซุปเปอร์ฮีโร่เป็นกลายสินค้า แต่ในความเป็นจริงเป็นการวิจารณ์ตัวเองที่ไร้ความหมายเพราะซีรี่ยส์นี้เองก็เป็นโปรดักชั่นโดยบริษัทย่อยของบริษัทแอมะซอนอีกทีหนึ่ง; มีเรื่อง อินวิ้นซิเบิ้ล ของรอเบิร์ต เคิกแมน ที่ตั้งคำถามกับประเพณีการประพันธ์ยอดมนุษย์สุดโต่งตามแบบฉบับซุปเปอร์แมน; แล้วก็ซี่รี่ยส์ ศึกซุปเปอร์ฮีโร่พันธุ์มหากาฬ ปี 2562 ของช่องเฮ็ดบีโอ ที่ดำเนินเรื่องต่อจากการ์ตูนต้นตำหรับของอีตามัวร์ มีพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการมีอยู่ของศาลเตี้ยสวมหน้ากากกับกลไกการกดขี่ของอำนาจรัฐที่มันได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไอ้การตีความแนวนี้ใหม่ให้มันดูดาร์คดูถึกขึ้นมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับการเล่าเรื่องที่เป็นแนววิเศษชนกว่าของจักรวาลจอหนังบริษัทมาเว็ว ซึ่งมีสินค้าต้นทุนมหึมาทำกำไรได้มโหศาลแลกมาด้วยการถอดความซับซ้อนของคำถามทางการเมืองในโลกความเป็นจริงออกไปหมด ยิ่งเรื่องความยุติธรรมนี่แทบจะไม่มีการพูดถึงเพราะนาเรถีบกับอุปมัยง่ายๆ ของมาเว็วมักทึกทักแบบไม่ต้องบอกคนดูว่าในเรื่องมันมีความดีที่เป็นสิ่งสัมบูรณ์อยู่แล้ว มันเลยทำให้คำถามที่เคยสำคัญในนาเรถีบบางคำถามหายไปเช่น ความระยำของบริษัท สตาร์คอินดุซทรี่ยส์ ที่เป็นความขัดแย้งหลักในเนื้อเรื่องของหนังที่เริ่มจักรวาลมาเว็วตอนปี 2551 คือเรื่อง มหาประลัยคนเกราะเหล็ก มันถูกลืมและแทนที่ในไตรภาคอ้ายแมงมุมไตรภาคล่าสุดโดยการเน้นไปพูดถึงศักยภาพอันบริสุทธิ์ของฮีโร่วัยรุ่น ปีเต้อ ป๊ากเก้อ[1] แค่ถูกแทนที่เฉยๆ ไม่พอ ไอ้ความระยำของนายทุนอันนี้ยังได้รับการเขียนบทสรรเสริญยาวจนสุดท้ายได้ไถ่บาปตัวเองในเรื่อง อเวนเจอร์ส: เผด็จศึก ปี 2562 โดยนายโทนี่ สตาร์ค เศรษฐีพันล้านผู้รับเหมารายใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการทหาร ผู้ป่วยเป็นโรคสำเร็จความใคร่ด้วยการกุศลและเป็นตัวละครพระผู้ไถ่ในอุดมคติของลัทธินิยมเสรี/นิยมเงิน สู้ศึกสุดท้ายกับคู่กรรมคือนายธานอสตัวร้ายที่ร้ายจนน่าขำจนได้พลีชีพสมใจอยาก พอได้ดูได้เสพย์อะไรพวกนี้มันก็ชักจะทะแม่งทะแม่งขึ้นมาว่า เฮ้ย สรุปคือการช่วยโลกหรือแม้แต่ตัวโลกที่ได้รับการช่วยเหลือเอง มันเป็นแค่วัตถุประกอบฉากการแก้เงื่อนปมจริตวิปลาสของตัวเอกพวกนี้เหรอ?

เทพนิยายอ้ายค้างคาวเป็นหนึ่งในเทพนิยายตะวันตกไม่กี่เรื่องที่มีพื้นที่ให้คนเขียนเข้ามาทดลองอัตราส่วนสูตรผสมระหว่างอรรถกถาเชิงเมต้ากับขนบวิเศษนิยมได้สม่ำเสมอ ที่เด่นๆ เลยก็คือผู้กำกับชาวสหรัฐมะกันแลนด์สองคน คริสโตเฟอร์ โนแล่น กับ แม็ต รีฟส์ กำกับหนังอ้ายค้างคาวของตัวเองเพื่อนำเสนอวาทะกรรมทางสังคมสองวาทะกรรมที่ทำงานส่งเสริมซึ่งกันและกัน เรื่อง แบทแมน อัศวินรัตติกาลผงาด ของโนแล่นเป็นนิทานอุทาหรณ์สอนใจว่าคนเดินดินธรรมดามันไม่มีทางเข้าใจความยุติธรรม เป็นหนังที่สร้างมาเพื่อเมินการเคลื่อนไหวอ็อคคูพาย (Occupy Movement) ที่กำลังดำเนินอยู่ในช่วงนั้น ในขณะที่เรื่อง เดอะ แบทแมน ของรีฟส์ ดูผิวเผินแล้วเป็นออกมาต้านทานการมองโลกไม่สวยของโนแล่นโดยการเอาตัวนายอัศวินรัตติกาลไปวางไว้ในความขัดแย้งเชิงอัตตะระหว่างความยุติธรรมและความพยาบาท แต่ถ้าให้พูดในเชิงการทำงานของทั้งสองบทแล้ว มันก็ต่างกันแค่ในทางปริมาณในการนำเสนอสิ่งเดียวกันเท่านั้น การเทศนาของรีฟส์เป็นแค่การประวิงบทสนทนาเรื่องความยุติธรรมที่เป็นจริงและสามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงให้มันเลยออกไปอยู่ซักจุดหนึ่งในอนาคตที่สัญญากันอยู่นั่นแหละว่าเดี๋ยวมันก็มาถึง ผลที่เกิดขึ้นคือมันเป็นการมองปัญหาที่ไม่ได้ต่างจากการนำเสนอแบบความดีเป็นสิ่งสัมบูรณ์ของโนแล่นที่ปฏิเสธตรงๆ เลยว่าการเปลี่ยนแปลงมันไม่ใช่พลังที่มีชีวิตและเป็นสิ่งธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าในที่นี้เรากำลังเผชิญหน้ากับการปฏิเสธพลังขับเคลื่อนของประวัติศาสตร์ตามจริตอนุรักษ์นิยมทางหนึ่ง และการแบ่งองค์ประกอบความขัดแย้งแบบขอไปทีไม่มีวิภาษตามจริตลัทธินิยมเสรีอีกทางหนึ่ง

ไอ้การแบ่งแบบขอไปทีไม่มีวิภาษนี่มันหมายถึงอะไร? มันก็คือเมสเสจหลักในหนังที่ทึกทักเอาว่าความพยาบาทเป็นสิ่งจริงแท้แน่นอน เป็นผลลัพธ์ตามธรรมชาติเมื่อไม่อัตตะไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม ดูเอาเองในฉากบู๊สุดท้ายของ เดอะ แบทแมน ที่หนึ่งในตัวร้ายเพื่อนนักกราดยิงหมู่จากเรดดิทของอ้ายริดเล่อถ่มคารมใส่อ้ายค้างคาวหลังปะทะกันว่า “ข้าคือพยาบาท” เป็นวลีติดปากของตัวอ้ายค้างคาวเองเวลาออกไปสำเร็จความใคร่ ตัวหนังอยากจะสอนอะไรคนดูก็ไม่รู้แหละ แต่มันเจ๊งตั้งแต่แรกเพราะในบทมันไม่มีเสียงจากมุมมองซื่อสัตย์ของชนชั้นแรงงานเลย มันเจ๊งไม่ใช่เพราะมันประเมินให้เห็นว่าพอความพยาบาทมันสุดโต่งมันจะเกิดอันตรายต่อสังคมได้ ไม่ต้องบอกทุกคนก็รู้กันอยู่แล้วโว้ย แต่มันเจ๊งเพราะหนังแนวซุปเปอร์ฮีโร่ชอบสอนคนดูผ่านความรุนแรงที่มันรู้สึกเบาหวิวเหมือนขนนก ความรุนแรงที่ไร้ความหมายเพราะมันถูกวาดภาพมาให้เลยเถิดจนคนดูชาชินไม่ก็อ่อนไหวกับมันจนเกินไปกันหมดแล้ว แค่นี้ยังไม่พอ มันยังมีอีกประเด็นที่มีอยู่ในทุกสื่อที่เกี่ยวกับอ้ายค้างคาว คือเรื่องการหยิบยกความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างทาสและนายทาสให้เป็นเรื่องน่าใคร่ แม้แต่ใน เดอะ แบทแมน ที่ออกมาให้ชมกันในศตวรรษที่ ๒๑ ตัวนายไพร่ไร้มลทินอัลเฟรดยังคงเป็นเสาหลักศีลธรรมให้กับวิกฤตทางอัตถิภาวะของมกุฎราชกุมารบรู๊ซ เวร และถึงแม้ในหนังจะมีคนเล่าเรื่องชีวิตของโทมัส เวร ให้ฟังกี่เรื่อง มีความขัดแย้งกันขนาดไหนก็ตาม แต่พอดูๆ ไปก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าคนที่อยากจะยัดเยียดภาพสุดท้ายของโทมัสให้กับคนดูคือตัวอัลเฟรดตอนที่มันยืนยันความผุดผ่องในคุณธรรมประจำตัวของโทมัสให้บรู๊ซฟัง ไอ้การให้อัลเฟรดพยายามปกป้องความบริสุทธิ์ของโทมัสในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอันนี้มันจะมีนัยยะเชิงหลุดพ้นก็ต่อเมื่อเราตระหนักว่าตัวอัลเฟรดเองเป็นผู้เล่าเรื่องของชีวิตโทมัสที่เชื่อถือไม่ได้ เป็นผู้เล่าที่ไม่ยอมให้ความทรงจำของจ้าวนายเขาแปดเปื้อนถึงแม้ตัวเองเกือบตายเพราะโดนระเบิดของอ้ายริดเล่อผู้ที่ในวัยเด็กเคยเป็นเหยื่อของโลกอาชญากรรมบนดินที่ตระกูลเวรมีส่วนพัวพัน[2]

ในประวัติศาสตร์มีชีวิตของคอมมูนิสซึ่ม การโหยหาความบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นในทางอุดมการณ์หรือทางจริยธรรมทำให้เกิดผลเสียในการปฏิบัติจัดตั้งมานักต่อนัก คนติดตำราวิชาการพอต้องเผชิญความเป็นจริงของการดิ้นรนอันยืดเยื้อก็จะร้องหาการกลับสู่ม๊ากซิสซึ่มบริสุทธิ์หรือกลับสู่จุดอุบัติการณ์การปฏิวัติของเลนินนิสซึ่ม เพื่อลากเส้นความต่อเนื่องของประวัติศาสร์ผ่านจุดที่ไม่มีการหลั่งเลือดหลั่งเหงื่อ นิสัยวิชาการนิยมแบบนี้ปรากฏให้เห็นในการวางแบบเห็นมวลชนเป็นการผจญภัย เป็นการวางตัวแบบเดียวกับสายตาของหนังเรื่อง เดอะ แบทแมน ที่มองดูประชาชนคนก็อธแท่มเป็นได้แค่เหยื่อไร้ทางสู้ที่จะกลายเป็นพวกโรคจิตตอนไหนก็ไม่รู้หรือไม่ก็เป็นกรรมชนผ้าขี้ริ้ว ล้าหลังจนสังคมสิวิไลซ์ไม่มีที่ให้อยู่ แล้วพอถึงคราวที่นาเรถีบต้องเสนอแนวทางอะไรบางอย่างให้เห็นภาพเมืองก็อธแท่มที่ผ่านพ้นความบอบช้ำไปแล้ว ตัวบทก็ใส่ตัวละครว่าที่นายกเทศมนตรีเบลล่า รีอัล (Bella Reál) ผู้จะมานำการเปลี่ยนแปลงอันจริงแท้ (Real change) มาสู่ก็อธแท่มมหานคร ไอ้มุกคำพ้องเสียงควายๆ มุกนี้มันแดกดันกว่าที่เห็น เพราะสิ่งจริงแท้ในเชิงจิตวิเคระห์คือสิ่งที่อัตตะหลีกเลี่ยงไม่อยากเผชิญจนถึงที่สุด

องค์ประกอบตรงข้ามภายในวาทะกรรมเรื่องความยุติธรรมของ เดอะ แบทแมน เคยปรากฏแล้วในหนังซุปเปอร์ฮีโร่อีกเรื่องคือ เพชฌฆาตหน้ากากพญายม ปี 2548 เป็นเรื่องแปลงมาจากการ์ตูนของนายมัวร์อีกที ผู้กำกับสองคนคือพี่น้องวะชาวสกี้พยายามใส่ความให้มวลชนในหนังมีอำนาจการปฏิบัติเป็นของตัวเองแบบที่มัวร์ไม่เคยใส่ให้ในการ์ตูนต้นฉบับ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นภาพที่ไม่ได้ตั้งใจเสียดสีแต่ก็โดนสีเสียดอยู่ดีที่เคยเห็นกันแล้วในเรื่อง เดอะเมทริกซ์ ปฏิวัติมนุษย์เหนือโลก ที่ออกฉายสองปีก่อน เพชฌฆาตหน้ากากพญายม เป็นภาพหลอกตัวเองในกลางใจจินตนาการฝ่ายซ้ายตะวันตกหรือหลังตะวันตกชัดเจนในจุดสุดยอดของหนังที่ยุทธศาสตร์ก่อการร้ายของอ้ายหน้ากากพญายมจู่ๆ ก็สามารถเป็นแรงบันดาลให้ทั้งประชาชนคนเป็นและคนตายลุกขึ้นมาจลาจลต่อสู้กับรัฐบาลบริเตนใหญ่ได้สำเร็จได้ยังไงก็ไม่รู้ ต่อมาตัว ลันนา วะชาวสกี้ เองก็สรุปเส้นทางของวาทะกรรมโพสโมเดิ้นนิสท์ไร้สมรรถภาพไว้ในเนื้อเรื่องของ เดอะเมทริกซ์ ภาคสี่ที่สะท้อนไว้ในการเดินถอยหลังของซีรี่ยส์ คือเริ่มเดินจากความฝันการก่อกบฏต่อโลกความเป็นจริงที่เปรียบเสมือนคุก (ภาคหนึ่ง) กลายเป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างยอดมนุษย์ออนไลน์ในร้านกาแฟสไตล์เออบั้นชิค (ภาคสี่) ไม่รู้แหละว่าลันนาตั้งใจให้ในหนังมันมีอรรถกถาเชิงเมต้าเยอะขนาดไหน แต่สิ่งที่เสนอตัวออกมาเป็นคำถามให้คนดูคิดคือประสิทธิภาพของการใช้อรรถกถาอันนี้เป็นเครื่องมือว่ามันดีจริงรึปล่าว

ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ฝ่ายซ้ายได้ถอยหนีออกมานี้ การจัดตั้งทางเศรษฐกิจสังคมที่สามารถนำไปสู่อุบัติการณ์ทางการเมืองเป็นงานที่หนัก, ยาวนาน, และไม่หวือหวา ผู้จัดตั้งต้องมีส่วนร่วมโดยตรงในชุมชนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมโดยตรงกับกระบวนการ ไอ้ข้อประเพณีการประพันธ์ที่ว่ามันจะมีกลุ่มคนมีพลังวิเศษสามารถระดมมวลชนได้ด้วยการปฏิบัติการก่อการร้ายหรือก่อการแบบยอดมนุษย์มันเป็นแค่แฟนตาซี การที่แฟนตาซีนี้ยังคงระบาดไปทั่วโลกนิยายตั้งแต่ตอนที่ “ประวัติศาสตร์จบลงไปแล้ว” ในแง่หนึ่งมันบ่งบอกถึงความสับสนของอัตตะระหว่างจินตนาการกับการหลบหนีปัญหา อุตสาหกรรมมังงะ/อนิเมญี่ปุ่นเอาแฟนตาซีนี้ไปทาสีให้สดขึ้นหรือหม่นลงกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ให้ไปแข่งกับตะวันตกในตลาดบันเทิง ตัวอย่างมีมากมาย ทั้งการ์ตูนโชเน็นเรื่องเด็ด วันพีซ ที่จักรวาลมันใหญ่และมีปัญหาต้องแกะปมเยอะ หรือจะเป็นเมะมหากาพย์โค้ด เกี๊ยส การรัฐประหารของลูลุซ มีพระเอกเป็นเชื้อจ้าวเล่นเล่ห์อุบายการเมืองเพื่อรักษาโครงสร้างอำนาจและความชอบธรรมของชนชั้นตัวเองไว้ แต่มีโมเม้นหนึ่งจากเรื่อง อาคาเมะ สวยสังหาร ที่ต้องพูดถึงคือตอนจบเรื่องหลังจากกองทัพกบฏเอาชนะรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีบุญซื่อได้ ทัพกบฏก็จับนายบุญซื่อไปประหารประจารโดยจับขึงให้ทหารกบฏเข้ามาแล่เนื้อทีละคนทีละชิ้นกว่าจะตายก็หลายสิบชั่วโมง เป็นการบรรยายการสำเร็จความใคร่ใส่ตัวร้ายได้อย่างตายด้านน่าสะอิดสะเอียน ภาพแฟนตาซีการล้างแค้นแบบซ้ายตกขอบแบบนี้มันเป็นการดูถูกมวลชนที่แม้แต่อนุรักษ์นิยมก็คิดเองไม่ได้ จะให้ตกแต่งนาเรถีบให้ดูซ้ายยังไงก็ไม่อาจปิดบังเนื้อหาที่ถูกจำกัดโดยรูปแบบของสื่อได้

แล้วเราจะเตรียมตัวเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงยังไง? ในสังคมที่ถูกกดขี่ ความยุติธรรมอันจำเป็นต้องได้มา กับความเสี้ยนจะเอาคืนผู้กดขี่ ย่อมมาคู่กันเป็นธรรมดา งานสำคัญคือการช่วยชุมชนให้ได้มาร่วมกันซึ่งสิ่งแรกโดยเผชิญหน้า และตรึกตรองสิ่งหลังไปพร้อมๆ กัน สำหรับนักเรียนคอมมูนิสซึ่มทุกระดับที่อยากเห็นภาพซักแว่บว่าต้องทำอะไรต่อ แนะนำให้ศึกษาการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมต่างๆ ในพื้นที่ปลดแอกของประเทศจีนช่วงยุคการปฏิวัติ หนึ่งในนั้นคือแคมเปญชำระล้างพรรคคอมมูนิสท์ในปี 2491 มีบันทึกสารคดีไว้ในหนังสือ ฟานเซิน โดยหานติงตอนช่วงเขาทำงานมหาลัยแล้วเป็นสมาชิกทีมทำงานปฏิรูปที่ดินที่ถูกส่งไปหมู่บ้านจางจวงชุน แคมเปญนี้เป้าหมายคือให้สมาชิกพรรคคอมมูนิสท์แต่ละคนออกมาวิจารณ์ตัวเองต่อหน้าคนในชุมชนที่จัดตั้งแบ่งออกเป็นสมาคมหรือสันนิบาตต่างๆ ความผิดและอาชญกรรมตั้งแต่อดีตของแต่ละคนถูกนำมาถกเถียงกันในที่ประชุมสาธารณะ  ใครจะด่าก็ด่าใครมีทุกข์อะไรต้องการจะร้องก็ร้อง สืบสวนกันทุกคดี และแน่นอนว่ามีผู้ถูกกระทำจำนวนหนึ่งต้องการให้เอาคืนโดยการทำร้ายร่างกายหรือเรียกค่าเสียหายแพงหูฉี่จากคนทำงานพรรคที่เคยทุบตีหรือขโมยจากเขา แต่พ้อยท์ของการเคลื่อนไหวนี้คือการแก้นิสัย วิธีการทำงาน และความสัมพันธ์ทางอัตตะที่มีต่อผู้คนของคนทำงานจากพรรค ทีมทำงานที่หานติงเป็นสมาชิกมีหน้าที่ให้พื้นที่กับเสียงของประชากรส่วนที่มีเหตุมีผลเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสนามระดับรากหญ้านี้ไม่มีสถาบันการตัดสิน ไม่มีใครเล่นบทเป็นผู้พิพากษาหรือลูกขุน ไม่ว่าจะเป็นค่าเสียหายชดใช้ให้เหยื่อและชุมชนอย่างเหมาะสมหรือตัวคนทำงานพรรคจะได้รับอนุญาตให้ทำงานต่อหรือไม่ ล้วนแล้วแต่เกิดจากฉันทามติสาธารณะทั้งสิ้น หากคดีซับซ้อนตกลงกันไม่ได้ก็จะเลื่อนไปคุยกันในคราวหน้าหลังจากแต่ละสมาคม แต่ละสันนิบาตไปหารือกันนอกเวลาอีกที และที่สำคัญกว่านั้น กระบวนการวิจารณ์นี้จะทำให้ทุกอัตตะที่มีส่วนเกี่ยวข้อง “ได้มองเห็นตนเองเหมือนที่คนอื่นมองเห็นเขา”[3]

การมองเห็นซึ่งกันและกันนี่แหละที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากหลังหน้ากาก เพราะหน้ากากมันหมายถึงสิ่งเป็นอื่นที่จ้องมองมาจากพื้นที่ปลอดภัยของความว่างเปล่าข้างนอกที่อยู่ลึกๆ ข้างใน เชื่อมั่นในมวลชนแล้วความเป็นไปได้ใหม่จะบังเกิด เป็นหนึ่งกับมวลชนแล้วเราไม่มีอะไรจะต้องกลัว

  ละครเวที Fanshen ดัดแปลงจากหนังสือโดย Davi Hare ภาพจาก https://archive-tworks.org/fanshen/

เชิงอรรถ

[1] ศักยภาพลมลมแล้งแล้งนี้ก็เป็นหนึ่งในนาเรถีบที่ปรากฏตัวเรื่อยๆ ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เอาเข้าจริงแล้วคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้บริสุทธิ์หรือไม่รู้ประสีประสาถ้าเราเข้าใจสภาวะสองอย่างนี้ว่าเป็นการสมาทานการเมือง “ฝ่ายดี” แบบลัทธินิยมเสรี/นิยมเงิน ปัจจุบันวัยรุ่นเด็กและวัยรุ่นโตจำนวนมากมีความคิดและ/หรือการปฏิบัติการวางตัวแบบสลิ่ม คนไหนที่ไม่ได้มีความคิดแบบนั้นส่วนมากก็มักจะมองไม่เห็นธรรมชาติอันเป็นสลิ่มในเนื้อหาของอุดมการณ์นิยมเสรี/นิยมเงิน

[2] หนังของรีฟส์ไม่ใช่งานในอ้ายค้างคาวในสื่อบันเทิงชิ้นแรกที่พูดถึงนายทุนกระดุมผีโทมัส เวร จากหลายมุมมอง ในวิเดโอเกม อ้ายค้างคาว: เดอะเท็วเทวซีรี่ยส์ ออกมาเมื่อปี 2559 ไอ้เวรคนพ่อทำหน้าที่เป็นแขนขาให้กับกลไกการกดขี่ของอำนาจรัฐของมาเฟียใหญ่ฟาลโคนและนายกเมืองก็อธแท่มโดยใช้วิธีจับคู่แข่งทางการเมืองและนักข่าวสายสืบสวนเข้าโรงบาลบ้าอาร์คัมที่บริษัท เวรวิสาหกิจเป็นผู้ให้ทุน

[3] William Hinton, Fanshen, (Monthly Review Press, 2008), 466. บอกไว้ก่อนว่าแคมเปญนี้เป็นการทดลองการปฏิบัติการยุติธรรมจากล่างขึ้นบน ถ้าคดีมันร้ายแรงเกินกว่าท้องถิ่นจะรับมือ ก็ยังมีอำนาจกฏหมายเหนือขึ้นไปอีกขั้นคือศาลระดับมณฑล