วัฒน์ วรรลยางกูร “ศรีบูรพา” แห่งยุคสมัย

 

ในชั่วชีวิตของการเป็นนักต่อสู้และนักเขียน วัฒน์ วรรลยางกูร อาจจะเปลี่ยนเรือโดยสารมากกว่าหนึ่งลำ แต่เป้าหมายของเขาไม่เคยเปลี่ยน

แม้จะเป็นคนร่วมรุ่นและร่วมเรือโดยสารลำเดียวกันหลายครั้งหลายครา ผมไม่มีโอกาสได้รู้จักคุณวัฒน์เป็นการส่วนตัว ผมรู้จักคุณวัฒน์ผ่านตัวหนังสือของเขาเป็นสำคัญ มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เคยได้พบตัวจริงๆ ของคุณวัฒน์และได้พูดคุยกันอย่างออกรสชาติเกี่ยวกับวรรณกรรมโดยเฉพาะบทกวี แต่เพียงครั้งเดียวก็นับว่าเพียงพอที่จะช่วยยืนยันความเป็น “ตัวจริง” ของคุณวัฒน์

สำหรับผม วัฒน์ วรรลยางกูร มิได้เป็นเพียงนักเขียนรางวัลศรีบูรพา แต่เขาคือ “ศรีบูรพา” แห่งยุคสมัยของเรา ในทุกมิติของความเป็นนักเขียนและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ในฐานะนักเขียน คุณวัฒน์ไม่ต่างจากคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือที่รู้จักกันดีจากนามปากกา ศรีบูรพา ที่ได้สร้างผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย บทกวี บทเพลง บทความและความเรียง จำนวนมาก ที่บันทึกเรื่องราวและอารมณ์ของยุคสมัยด้วยจุดยืนและสายตาของผู้ใฝ่หาประชาธิปไตยและความเป็นธรรม

ในช่วงการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 วัฒน์ วรรลยางกูร สร้างชื่อจากนวนิยายเรื่อง ตำบลช่อมะกอก ซึ่งเผยแพร่เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์ อธิปัตย์ ของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย นวนิยายที่เป็นเสมือนบันทึกแห่งยุคสมัย บอกเล่าเรื่องราวความร่วมมือระหว่างขบวนการนักศึกษาและสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปากเพื่อท้องและความเป็นธรรมของชาวนา

สำหรับสหายร่วมรบในสงครามประชาชน ภายหลังเหตุการณ์การสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519  บทเพลง “จากลานโพธิ์สู่ภูพาน” ของวัฒน์ วรรลยางกูร เป็นดั่งบันทึกอารมณ์อันเร่าร้อนของคนหนุ่มสาวผู้ใฝ่ฝันถึงสังคมใหม่

หลังการอำลา “เรือโดยสาร” ที่เขาหมดศรัทธาว่าจะนำพาไปสู่เป้าหมายปลายทางดังที่วาดหวังไว้ งานของวัฒน์ยังทำหน้าที่อย่างซื่อตรงในการบันทึกยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เหยียบย่ำและทำลายล้างคนเล็กคนน้อยในสังคม โดยเฉพาะในสังคมชนบท ผลงานอันน่าจดจำของเขาในช่วงนี้มีหลายเล่มมาก ไม่ว่าจะเป็น มนต์รักทรานซิสเตอร์ บอกเล่าเรื่องราวของคนหนุ่มสาวชาวบ้านที่ต้องประสบเคราะห์กรรมต่างๆ นานาหลังการเข้ามาของวิทยุทรานซิสเตอร์และผู้อุปถัมภ์รายการทั้งที่เอ่ยนามและไม่เอ่ยนาม หรือ ฉากและชีวิต ที่เป็นเสมือนบันทึกความทรงจำชีวิตเด็กริมคลองแห่งท้องทุ่งนาในภาคกลางของวัฒน์ บันทึกเรื่องราวและโศกนาฎกรรมที่ไม่มีใครจดจำหรือบันทึก

และเมื่อประชาชนในท้องไร่ท้องนาที่เคยโลดแล่นอยู่บนหน้ากระดาษนวนิยายและเรื่องสั้นของเขาได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเป็นคนเหมือนกันด้วยตัวของพวกเขาเอง ผิดกับเหล่านักเขียนเพื่อประชาชนบนหน้ากระดาษ คุณวัฒน์ได้กระโจนเข้าร่วมขบวนกับพวกเขาอย่างไม่รีรอหรือลังเลใจ ผันตัวไปทำงานด้านวัฒนธรรมผ่านเสียงเพลงแทนตัวหนังสือจนกลายเป็นขวัญใจคนเสื้อแดง

ในฐานะนักต่อสู้ คุณวัฒน์ก็ไม่ต่างจากศรีบูรพา เขายึดมั่นในอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตยและเพื่อความเป็นธรรมอย่างไม่สั่นคลอน และยอมสละทิ้งทุกอย่างในชีวิตแม้กระทั่งต้องเนรเทศตัวเองไปอยู่ต่างแดน ก็ยังดีกว่าจะยอมค้อมหัวให้กับอำนาจเผด็จการ  และเฉกเช่นเดียวกับศรีบูรพา คุณวัฒน์ต้องจากทุกคนที่เขารักไปขณะอยู่ต่างแดน

กระนั้นก็ดี ก่อนที่พวกเขาทั้งคู่จะจากไป ทั้งคู่ได้ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของคนหนุ่มสาวและประชาชนที่พวกเขาเชื่อมั่นมาโดยตลอด ศรีบูรพาได้รับรู้ถึงขบวนการนักศึกษาประชาชนที่โค่นล้มอำนาจเผด็จการทรราชในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ส่วนคุณวัฒน์ได้รับรู้การต่อสู้เพื่อทะลุเพดานสังคมไทยของคนหนุ่มสาว

หากศรีบูรพาคือนักเขียนผู้เป็นทั้งแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตของคนหนุ่มสาว (หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นคุณวัฒน์) ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ฉันใด  วัฒน์ วรรลยางกูร ก็จะเป็นแรงดาลใจให้แก่คนหนุ่มสาวในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ฉันนั้น

เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ ในสายธาร วัฒน์ วรรลยางกูร
หนังสือที่ระลึกในงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน 2565  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา