บรรณทึก – Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand

ตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในวารสาร Aséanie ฉบับที่ 33 (June 2014), หน้า 520-523 แปลเป็นภาษาไทยโดย พีระ ส่องคืนอธรรม

Martin B. Platt
Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand
2013, Singapore, NUS Press, NIAS Press, 249 p.

 

หนังสือ Isan Writers, Thai Literature: Writing and Regionalism in Modern Thailand [นักเขียนอีสาน, วรรณกรรมไทย: การเขียนกับภูมิภาคนิยมในประเทศไทยสมัยใหม่] นับว่ามาปรากฏตัวได้ถูกจังหวะเวลาอย่างยิ่ง สาเหตุแรกก็เป็นดังที่ตัวผู้เขียน
มาร์ติน แพล็ต เองได้กล่าวไว้ นั่นคือก่อนหน้าที่จะมีหนังสือเล่มนี้ แนวคิดเรื่อง “วรรณกรรมอีสานร่วมสมัย” นั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน กระทั่งจะเป็นหัวข้อในการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการไม่ว่าไทยหรือเทศก็ไม่มี สาเหตุที่สองซึ่งสำคัญยิ่งกว่าก็คือ ในวิกฤตการเมืองที่ดำเนินไประหว่าง “เสื้อแดง” กับ “เสื้อเหลือง” ได้เกิดเหตุอันค่อนข้างไม่คาดฝันขึ้นเมื่อนักเขียนชาวอีสานจำนวนมากในสำนัก “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” ของอดีตฝ่ายซ้าย พากันไปเข้าข้างถือหางฝั่ง “เสื้อเหลือง” จนสืบเนื่องกลายเป็นผู้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งล่าสุดไม่ว่าจะอย่างออกหน้าออกตาหรืออย่างทองไม่รู้ร้อน ด้วยเหตุที่หนังสือเล่มนี้มุ่งสนใจชีวิตและผลงานของนักเขียนชาวอีสานจำนวนยี่สิบสี่คนในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ จึงชวนให้คาดหวังว่าเนื้อหาของหนังสือจะช่วยฉายให้บางแง่มุมของวิกฤตครั้งนี้กระจ่างขึ้นมาได้ เช่นแง่มุมการเมืองเรื่องอัตลักษณ์อีสานกับการสืบอัตลักษณ์การเมืองอีสาน ตลอดจนช่วยแถลงไขว่าทำไมบรรดานักเขียนชาวอีสานจึงดูจะกลับหลังหันทางอุดมการณ์จากหน้ามือเป็นหลังเท้าขนาดนี้

บทที่หนึ่ง “What Makes Isan a Region” [สิ่งใดทำให้อีสานเป็นภูมิภาค] เป็นการสำรวจทบทวนอย่างกระชับถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์แบบอาณานิคมระหว่างส่วนกลางของไทย (กรุงเทพฯ) กับรอบนอกของอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ข้อเขียนของแพล็ตบอกเล่าได้อย่างทะลุปรุโปร่งว่าเหตุใดภูมิภาคนี้ถึงได้เป็นแหล่งบ่มเพาะผู้เห็นต่างทางการเมือง กบฏ นักปฏิวัติ กระทั่งนักแบ่งแยกดินแดนมาอย่างเนิ่นนานตั้งแต่ก่อนหน้าขบวนการคนเสื้อแดงจะเกิดก่อ:

การคัดค้านนโยบายรัฐบาลส่วนกลางที่ได้พยายามปฏิเสธและลบล้างอัตลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเขาเองนั้นถูกแสดงออกมาหลายหนทางด้วยกัน (…) ทางหนึ่งก็ไม่เลิกสอนวรรณคดีและอักขระโบราณทั้งหลาย (โดยมากแล้วสอนกันในวัด) อีกทางหนึ่งก็ลุกขึ้นมานำขบวนการติดอาวุธต่อต้านเป็นระยะๆ อีกทางหนึ่งก็ประท้วงร้องทุกข์ทางเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อมที่มักเคลื่อนขบวนไกลถึงกรุงเทพฯ อีกทางหนึ่งก็เปล่งเสียงบอกความปรารถนาและข้อเรียกร้องทางการเมืองต่อสาธารณะมากขึ้นเรื่อยๆ (หน้า 35)

อาจด้วยความเข้าใจเช่นนี้ แพล็ตจึงเสนอแผนการศึกษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียนอีสานสมัยใหม่กับวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ แทนที่จะมุ่งดูเอาแต่ถ่ายเดียวว่างานเขียนอีสานได้พยายามทำให้เสียงของตนมีคนยินอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับประชาชนคนอีสานที่มักศึกษากันอยู่แล้วในทางมานุษยวิทยาและวรรณคดี แพล็ตต้องการศึกษาความสัมพันธ์ด้านกลับด้วย ดังโจทย์วิจัยว่า “ภูมิภาคอีสานกับวรรณกรรมและนักเขียนจากภูมิภาคอีสานได้ส่งอิทธิพลให้และรับอิทธิพลจากสังคมไทยและวรรณกรรมไทยโดยภาพรวมมาอย่างไรบ้าง” (หน้า xviii)

เมื่อนึกถึงความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างอีสานกับกรุงเทพฯ ดังที่แพล็ตเสนอ ผู้สนใจอ่านก็อาจทึกทักได้ว่าหนังสือเล่มนี้จะส่องสำรวจว่างานเขียนอีสานนั้นสร้างเสียงที่เป็นแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาได้อย่างไรโดยที่ยังไม่แตกแถวจากขนบมาตรฐานของวรรณกรรมไทย ตั้งแต่การใช้ภาษาไทยภาคกลางไปจนถึงการเจริญรอยตามลีลาวรรณศิลป์และรูปแบบทางวรรณกรรมที่ถูกสถาปนาไว้แล้ว และด้วยวิถีทางเช่นนั้นงานเขียนอีสานได้ส่งอิทธิพลกลับคืน ท้าทาย หรือแม้กระทั่งสั่นคลอนอำนาจครอบงำของค่านิยมต่างๆทางวรรณกรรมไทยมาอย่างไรบ้าง แต่ทว่าหนังสือเล่มนี้มิได้ดำเนินไปเช่นนั้น หากวนเวียนอยู่กับการตามรอยพัฒนาการของการเขียนอีสานสมัยใหม่ พร้อมไปกับการแจกแจงข้อมูลชีวประวัติของบรรดานักเขียนชาวอีสานในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบเสียมากกว่า ทั้งที่ด้วยวิธีการสัมภาษณ์นักเขียนรายคนเป็นการส่วนตัวจำนวนสิบเจ็ดคนจากยี่สิบสี่คนที่ได้รับการกล่าวถึงในเล่ม และด้วยการอ่านผลงานของพวกเขาอย่างกว้างขวางประกอบกับเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมหาศาล แพล็ตก็ควรจะมีข้อมูลเหลือเฟือพอที่จะนำไปเขียนบทวิเคราะห์เชิงลึกเรื่องการเขียนและนักเขียนอีสานสมัยใหม่ได้มากกว่าจะเพียงแต่สรุปภาพรวมกว้างๆ ดังที่เป็นอยู่

ด้วยการอ้างอิงข้อมูลในทางรูปธรรม บวกกับการตั้งแง่กังขาต่อ “การส่องสำรวจเชิงทฤษฎีอย่างโจ่งแจ้งและรู้ตัว” (หน้า xiii) แพล็ตจึงไปมุ่งพิจารณาชีวประวัติและทัศนคติของนักเขียนเหล่านี้ต่อผลงานของตนเองประกอบกับภาพรวมของแวดวงวรรณกรรมไทยและสังคมไทยโดยทั่วๆไป แพล็ตใส่เรื่องเล่าฉากชีวิตที่เราคุ้นเคยอย่างเรื่องความยากจนข้นแค้นของนักเขียนกับเรื่องการดิ้นรนต่อสู้ให้ได้มาซึ่งชื่อเสียงและการยอมรับ เช่นเรื่องของ วีระ สุดสังข์ หรือ ฟอน ฝ้าฟาง ผู้กลายเป็นนักอ่านตัวยงเมื่อครั้งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เพราะว่า “เขาไม่มีเงินซื้อข้าวเที่ยงในโรงอาหาร เขาจึงใช้เวลาพักเที่ยงอ่านหนังสือในห้องสมุดแทน” (หน้า 166) ในทำนองเดียวกัน เราก็ได้รับรู้เรื่องราวนักเขียนผู้สู้ชีวิตของ ประชาคม ลุนาชัย ว่าครั้งหนึ่งในสมัยที่เขายังไม่มีชื่อเสียง เขาบังเอิญได้ไปพบเห็นผลงานหน้าหนึ่งของตัวเองที่ได้รับการตีพิมพ์ปรากฏบนถุงกล้วยทอดบนเรือประมงลำที่เขาเป็นลูกเรืออยู่พอดี (หน้า 193)

เช่นนี้แล้ว เนื้อหาตอนกลางของเล่ม (บทที่ 2 ถึงบทที่ 6) จึงมีลีลาเหมือนนิยายแนวการเรียนรู้ (Bildungsroman) ของบรรดาพระเอกในสังกัดสำนักวรรณกรรมเพื่อชีวิต บทเหล่านี้ได้แก่ “Early Isan Writers’ [นักเขียนอีสานยุคแรกเริ่ม], ‘Isan Comes to the Center’ [อีสานมาที่ศูนย์กลาง], ‘Isan Writing Enters the Mainstream’ [งานเขียนอีสานเข้าสู่กระแสหลัก], ‘The Rise of Regionalism’ [การผงาดขึ้นของภูมิภาคนิยม], และ ‘Isan Writing at the End of the 20th Century” [งานเขียนอีสาน ณ จุดสิ้นสุดศตวรรษที่ยี่สิบ] แนวการวิเคราะห์ของแพล็ตนั้นลงล็อคเกินไป เนี้ยบเกินไป และอาจจะหลุดจากความจริงเกินไป

หากจะไม่ขบคิดเชิงทฤษฎีนามธรรมก็ย่อมได้ แต่ข้อเสนอของแพล็ตก็ยังน่าจะเข้มข้นกว่านี้ได้มากถ้าเพียงแต่เขาจะนำมุมมองอันแหลมคมทางการเมืองและสำนึกเชิงประวัติศาสตร์ต่ออัตลักษณ์อีสานที่เขามีอยู่แล้วมาประกอบกันเข้ากับการวิเคราะห์ที่ตามมา ตั้งแต่ตอนต้นเล่ม แพล็ตได้ให้สัญญาว่าจะส่องสำรวจว่างานเขียนอีสานมีส่วนสร้างและถูกสร้างโดยวรรณกรรมไทยสมัยใหม่อย่างไร แต่ครั้นพอถึงบทวิเคราะห์ ประเด็นที่เป็นหัวใจเหล่านี้กลับเห็นได้ชัดว่าหายไป แพล็ตอภิปรายอย่างยืดยาวถึงบริบทสังคม ทัศนคติต่างๆที่นักเขียนอีสานมีต่อผลงานของตน รวมถึงจุดยืนที่ก้ำกึ่งของพวกเขาที่ทั้งเอาทั้งไม่เอาอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน แต่เขากลับไม่ได้สกัดเอานัยสำคัญของบริบททางวรรณกรรมในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาประกอบการพิจารณา

ยกตัวอย่างเช่น ตอนหนึ่งแพล็ตเสนอว่าในทศวรรษ 1970s[2513-2522] นักเขียนอีสานอย่างคำพูน บุญทวี และคำหมาน คนไค มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาเนื่องจากผลงานของพวกเขา “ก้าวพ้นสังกัดทางการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และมีผู้สนใจในระดับชาติ” (หน้า 137) ลูกอีสาน ของคำพูน ตีพิมพ์ปี 1976[2519] ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 1979[2522] ในสมัยเพิ่งก่อตั้งรางวัลใหม่ๆ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ารางวัลนี้เป็นเหตุให้ชื่อของคำพูน บุญทวี ไปปรากฏเป็นหมุดหมายบนแผนที่วรรณกรรมไทยสมัยใหม่

เมื่อเทียบกับ ฟ้าบ่กั้น หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า The Politician and Other Stories ของลาว คำหอมแล้ว ลูกอีสาน มีลีลาผิดกันไกล คือเป็นเหมือนบทบันทึกชีวิตประจำวันในอีสาน และไม่มีสารทางสังคมหรือวาระทางการเมืองใดๆ กระนั้นก็ตาม ผมมีข้อโต้แย้งว่าการให้รางวัลซีไรต์แก่นวนิยายเรื่องนี้ในช่วงเวลานั้นก็เป็นการกระทำทางการเมืองในตัวของมันเอง ปีพุทธศักราชสองพันห้าร้อยยี่สิบสอง ปีแห่งการสถาปนารางวัลในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเวลาสามปีให้หลังจากการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 1979[2519] อันเป็นเหตุการณ์ที่ขับดันให้นักศึกษา นักเขียน และปัญญาชนหันไปเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์กันเป็นโขยง ก่อนหน้าการสังหารหมู่ครั้งนั้น แวดวงวรรณกรรมไทยเคยเป็นสังเวียนของการฟาดฟันกันอย่างดุเดือดระหว่างนักประพันธ์และนักวิจารณ์ฝ่ายซ้ายในสังกัดสำนัก “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” กับนักประพันธ์และนักวิชาการฝ่ายขวา ในประเด็นอย่างเช่นทำเนียบวรรณกรรมไทยมีคุณค่าตรงไหน ควรจะตัดการเรียนการสอนวรรณคดีออกจากหลักสูตรในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหรือไม่ จนกระทั่งประเด็นอย่างเป้าหมายของการเขียนคืออะไร ความรับผิดชอบของนักเขียนคืออะไร

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ปี 1976[2519] ตามด้วยการรัฐประหาร ก็ไม่เหลืออะไรที่จะโต้เถียงกันได้ในทางวรรณกรรม เสียงที่เห็นต่างทั้งหลายก็ถูกทำให้เงียบงันไป เหตุการณ์เหล่านี้มีนัยสำคัญตรงที่มันกรุยทางให้นักวิจารณ์และนักวิชาการวรรณกรรมหัวอนุรักษนิยมแนวใหม่ได้เข้าสู่แวดวงวรรณกรรมโดยไม่มีข้อท้าทายทางการเมืองมาค้ำคอและไ่ม่มีข้อทัดทานทางอุดมการณ์มาขัดหู ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ฝ่ายอนุรักษนิยมเหล่านี้ก็ได้รวมตัวกันเป็นผู้กำกับชะตากรรมและวิวัฒนาการของวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ สภาพแวดล้อมทางวรรณกรรมและการเมืองเช่นนี้เองที่ ลูกอีสาน สามารถถูกเชิดชูให้เป็น “สมบัติ” ทางวรรณกรรมของชาติด้วยการประทับตราเกียรติยศรางวัลซีไรต์ การมอบรางวัลซีไรต์ให้แก่ ลูกอีสาน จึงมิใช่เป็นเพียงการยอมรับหรือเล็งเห็นคุณค่าของจุดยืนที่ว่ากันว่าไม่ฝักใฝ่การเมืองของนวนิยาย หากแต่ตัวรางวัลเองก็เป็นอากัปกิริยาทางการเมือง เป็นการจงใจให้เกิดความสมานฉันท์ปรองดองในทางวรรณกรรมระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา เป็นการลงมือถอนพิษทางการเมือง หรือไม่ก็เป็นการชุบมือเปิบทางอุดมการณ์

แพล็ตลำดับเหตุการณ์การผงาดขึ้นมาของสำนึกระดับภูมิภาคในหมู่นักเขียนอีสานในช่วงทศวรรษที่ 1980s[2523-2532] ได้อย่างยอดเยี่ยม เขาเท้าความอย่างครอบคลุมถึงภูมิหลังประวัติศาสตร์ตลอดจนเส้นทางขรุขระของกลุ่มก้อนที่ทรงอิทธิพลต่างๆในแวดวงวรรณกรรมอีสาน ดังเช่นกลุ่มวรรณกรรมลำน้ำมูลซึ่งก่อตั้งปี 1983[2526] และสโมสรนักเขียนภาคอีสานแห่งประเทศไทยซึ่งก่อตั้งปี 1989[2532] จริงอยู่ แพล็ตกล่าวได้ถูกต้องส่วนหนึ่งตรงที่เขาบอกว่าความสำนึกในวัฒนธรรมอีสานและเสียงเพรียกให้หวนกลับสู่รากเหง้าพื้นถิ่นที่มีมากขึ้นในเวลานั้นเป็นผลโดยตรงจากความผิดหวังตาสว่างจากสำนักวรรณกรรมเพื่อชีวิต ซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีหลังการยุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในช่วงต้นทศวรรษ 1980s[2523-2532] แต่แพล็ตเองก็ยังแสดงความอนาถใจไว้ว่า ขบวนการ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” ที่ว่านั้นได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าไปแล้ว สถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมตามท้องถิ่นก็ถูกปรับแปลงให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ดังที่เขาบอกว่า “แทนที่จะโอบรับและเห็นคุณค่าความสำคัญของความแตกต่างเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ส่วนกลาง[ของไทย]กลับลดทอนความแตกต่างให้กลายเป็นเรื่องไร้แก่นสาร ย่อขนาดลงเหลือเท่าพวงกุญแจของที่ระลึกหรือไม่ก็งานโชว์แสงสีเสียง” (หน้า 157) ที่สำคัญ เราต้องไม่ลืมว่า ถ้าพูดในเชิงอุดมการณ์แล้ว การรณรงค์ทั้งหลายทั้งปวงเพื่อเชิดชูวัฒนธรรมท้องถิ่นและ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” นั้น ก็มีต้นคิดและคนส่งเสริมเป็นพวกชนชั้นนำกรุงเทพฯ และพวกเอ็นจีโอจากกรุงเทพฯ ที่โหยหาอดีตที่สาบสูญไปของตนด้วยการแอบอ้างสร้างภาพวิถีชีวิตชนบทตามอุดมคติ การกลับไปหาวัฒนธรรมท้องถิ่นจึงมีนัยยอกย้อนตรงที่มันกลับตอกย้ำยืนยันการครอบงำการเขียนอีสานใต้เงื้อมเงาอำนาจวัฒนธรรมและวรรณกรรมของไทยภาคกลางและกรุงเทพฯ

ผมมีข้อโต้แย้งว่าการละทิ้งหลักการวรรณกรรมเพื่อชีวิตอย่างเทกระจาดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับอีสาน หากแต่เกิดกับนักเขียนแนวนำเสนอปัญหาสังคมอย่างเข้มข้นในทุกภูมิภาคในสมัยนั้น ข้อแตกต่างอยู่ตรงที่ว่า ในขณะที่นักเขียนอีสานกับนักเขียนภาคใต้กลับไปหาวัฒนธรรมท้องถิ่น คติพื้นบ้าน และตำนานปรัมปรานั้น นักเขียนกรุงเทพฯ และที่อื่นๆ ในภาคกลางจำนวนมากก็ได้หันออกไปตามกระแสวรรณกรรมใหม่ๆ ในโลกตะวันตก อย่างเรื่องแต่งแนวทดลอง อภินิยาย และสัจนิยมมหัศจรรย์ ตรงทางแยกนี้เองที่นักเขียนสายพันธุ์ใหม่ปรากฏตัวขึ้นในแวดวง อย่างเช่น “อัญชัน” หรือ อัญชลี วิวัธนชัย ผู้ชนะรางวัลซีไรต์ปี 1990[2532] ที่อาศัยอยู่นิวยอร์ก และวินทร์ เลียววาริณ สถาปนิกที่ผันตัวมาเป็นนักเขียน ผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ในปี 1997[2540] และอีกครั้งในปี 1999[2542] ด้วยผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายแนวทดลองอันน่าตื่นตะลึง แรงตึงเครียดระหว่างวรรณกรรมไทยสมัยใหม่กับงานเขียนอีสานปรากฏแจ่มแจ้งชัดเจนอย่างที่สุดในยุคสมัยนี้ ข้อนี้เข้าใจได้ง่ายๆ เพียงแค่นึกถึงบทวิเคราะห์อันทะลุทะลวงของ เบ็น แอนเดอร์สัน เรื่องภาวะภูธรสองตลบของปัญญาชนนักเขียนยุค 1970s[2513-2522] ที่มีพื้นเพจากนอกเมืองกรุงแล้วเมื่อย้ายเข้าไปอยู่กรุงเทพฯ ก็พบว่าตัวเองอยู่ไกลจาก “ความศิวิไลซ์” ถึงสองต่อ เพราะในขณะเดียวกันนั้นพวกชนชั้นนำกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ไป “แสวงหาความศิวิไลซ์” ที่ลอนดอน ปารีส และนิวยอร์ก กล่าวอย่างง่ายๆก็คือในขณะที่นักเขียนอีสานกำลังตอบโต้พวกชนชั้นนำกรุงเทพฯด้วยการกลับไปหารากเหง้าพื้นถิ่น พวกชนชั้นนำกรุงเทพฯ ก็กำลังลอกเลียนแบบโลกตะวันตกด้วยการหยิบเอาแนวทางการเขียนวรรณกรรมกระแสใหม่ๆ มาลองใช้ ความสัมพันธ์ระหว่างงานเขียนอีสานกับวรรณกรรมไทยกระแสหลักไม่เคยราบรื่นหรือเป็นเอกภาพ หากแต่อัดแน่นไปด้วยแรงเครียดยื้อยุดฉุดกระชาก แต่อาจด้วยความที่แพล็ตใช้เรื่องเล่าแม่บทในทำนอง “วรรณกรรมไทยสมัยใหม่: ความรุ่งโรจน์และความตกต่ำของวรรณกรรมเพื่อชีวิต” เป็นพล็อตเล่าเรื่องเส้นทางขรุขระของงานเขียนอีสานสมัยใหม่ บรรดาความขัดแย้งใต้พื้นผิวระหว่างการเขียนอีสานสมัยใหม่กับวรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยก็ถูกมองข้ามและมองผ่านๆ ไปเสีย

มีเหตุการณ์หนึ่งที่แพล็ตได้เป็นประจักษ์พยานที่ควรค่าแก่การนำมาเล่าซ้ำในที่นี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีนักข่าวชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่งรับหน้าที่เป็นพิธีกรหลังการแสดงละครเวทีซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของนักเขียนอีสานคนหนึ่ง พิธีกรได้เชิญให้นักศึกษาที่มีส่วนสรรค์สร้างผลงานให้ขึ้นเวที ขอให้แต่ละคนแนะนำตัวและพูดเกี่ยวกับบทบาทของตน ถึงแม้ว่าทุกๆคนเว้าลาวได้ การสัมภาษณ์โต้ตอบก็เป็นภาษาไทยทั้งดุ้น ยกเว้นตอนที่นักศึกษาคนหนึ่งสลับไปใช้ภาษาลาวเมื่อเขาอธิบายว่าตัวละครของเขานั้นเป็นควาย คำภาษาลาว “ควาย” ออกเสียงเหมือนเปี๊ยบกับคำว่า “ควย” อันเป็นคำหยาบในภาษาไทย นักข่าวได้พยายามบังคับให้เขาออกเสียงว่า “ควาย” ตามแบบไทยอยู่หลายครั้ง จนถึงกับบอกให้เขาพูดว่า “เราเป็นคนไทย เราอยู่ประเทศไทย” (หน้า 29) บรรยากาศเริ่มอึดอัดเมื่อนักศึกษาไม่ยอมทำตามและนักข่าวก็ไม่ยอมเลิกราวี สุดท้ายแล้วนักศึกษาหันไปใช้คำว่า “บั๊ฟฟาโล่” ผลก็คือ “ทุกคนหัวเราะ แล้วพิธีกรก็ต้องปล่อยให้มันผ่านไป” (หน้า 29)

แพล็ตชี้ว่าละครเวทีนอกบทสั้นๆฉากนี้เผยอะไรออกมามากทีเดียว “ชาวไทยกรุงเทพฯ ใช้ทุกวิถีทางที่มี (…) ยกตนข่มคนลาวอุบลฯ เพื่อจะจำกัดการแสดงออกตัวตน แต่ก็ได้ปะทะแรงต่อต้านในลักษณะการยืนกรานถึงคุณค่าความเหมาะสมของวัฒนธรรมลาวพร้อมทั้งการไม่ยอมก้มหัวให้แก่การควบคุมของไทย (แม้ในยามที่ถูกบีบให้ทำเช่นนั้น)” (หน้า 29) สิ่งที่ผมรู้สึกสะท้อนใจยิ่งกว่าก็คือกลวิธีการยุติการเผชิญหน้ากันครั้งนี้ นั่นคือ ต้องให้นักศึกษาพูดคำว่า “ควาย” ในภาษาอังกฤษเท่านั้น ไม่ใช่ภาษาไทย พิธีกรนักข่าวจึงจะเลิกคุกคามเขา มันเป็นเพราะว่าเธอพึงพอใจที่เขาหยุดพูดภาษาลาว ถึงแม้จะไม่ได้พูดไทยอย่างที่เธอออกคำสั่งใช่หรือไม่? หรือเป็นเพราะการพูดภาษาอังกฤษนั้นถือเป็นการพิสูจน์ให้เธอเห็นว่านักศึกษาคนนี้ไม่ใช่อ้ายลาวโง่? หรือเป็นเพราะนักศึกษาได้กลายสถานะไปยืนอยู่ระดับเดียวกันหรือสูงกว่า จึงทำให้เธอไม่สามารถกลั่นแกล้งเขาได้แล้ว?

หากมองเหตุการณ์นี้เป็นอุปมาอุปไมยถึงแรงตึงเครียดระหว่างวรรณกรรมไทยสมัยใหม่และงานเขียนอีสาน ก็ทำให้ได้ข้อคิดว่าการที่นักเขียนอีสานจะยกอัตลักษณ์ตนเองขึ้นและทำให้เสียงที่ตนแย้งมีคนยินนั้น ไม่สามารถทำได้ด้วยการหวนกลับสู่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ถูกหน่วยราชการไทยทำให้กลายเป็นสินค้าไปเสียแล้ว หรือด้วยการเจริญรอยตามรูปแบบทางวรรณกรรมของไทยที่ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้ว หากทว่าทำได้ด้วยการมาเหนือเมฆลอยข้ามหัวรั้วเขตวรรณกรรมทั้งของท้องถิ่นและของชาติ ผมชักสงสัยขึ้นมาว่าสาเหตุที่ ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม สร้างความฮือฮาให้แก่วงการวรรณกรรมไทยได้ในปี 1958[2501] นั้นเห็นจะมิใช่เป็นเรื่องของสารทางการเมืองที่มันสื่อหรอก หากแต่เป็นลีลาเชิงวรรณศิลป์หลุดโลกผิดมนุษย์มนา ที่ใช้การเย้ยหยันหน้าตายกวนประสาทชนิดที่หาตัวจับได้ยากในโลกวรรณกรรมไทยนั่นต่างหาก ถึงแม้ ลาว คำหอม จะได้กล่าวอ้างซ้ำๆว่าเขาต้องการให้หนังสือของเขาเป็นสื่อพาเสียงร่ำร้องของชาวอีสานไปสู่พวกชนชั้นนำและนักอ่านชาวกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ก่อกวนใจทว่าคงทนข้ามยุคสมัยที่สุดกลับมิใช่เรื่องที่หนังสือเล่มนี้เล่า แต่เป็นลักษณาการของเสียงกวนประสาทซึ่งเปล่งออกมาเป็นภาษาไทยนี้ต่างหากที่มันแสนจะแปลกแปร่ง แสนจะหลุดโลกผิดมนุษย์มนาสำหรับหูชาวไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ถ้าหากจะหยิบยืมแนวคิดเรื่องวรรณกรรมเสียงส่วนน้อย (littérature mineur) ของเดอเลิซและกวัตตารีมาใช้ ก็กล่าวได้ว่า ฟ้าบ่กั้น รื้อสลายการตีเส้นเขตแดนของภาษาไทยและการตีกรอบความคิดของไทยว่าด้วยความเป็นอีสาน

Isan Writers, Thai Literature ของแพล็ตให้ข้อมูลทางชีวประวัติและข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของชีวิตและการเขียนของนักเขียนอีสานพร้อมหลักฐานอ้างอิงโดยพิสดาร เป็นแหล่งความรู้ชั้นเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับนักเรียนนักศึกษาและนักค้นคว้าวิจัยด้านไทยคดีศึกษาและวรรณกรรมไทย แนวคิดที่รอการต่อยอดของเขาว่าด้วยพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างอีสานกับวรรณกรรมไทย—ดังโจทย์ที่ตั้งไว้ว่างานเขียนอีสานมีส่วนสร้างและถูกสร้างโดยวรรณกรรมไทยอย่างไร—ก็นับเป็นการถางทางใหม่ทางปัญญา ท่ามกลางสภาพความจริงที่ว่าการศึกษาค้นคว้าด้านวรรณกรรมไทยที่ผ่านมานั้นยึดเอาไทย (หรือกรุงเทพฯ ถ้าจะกล่าวให้ถูกยิ่งกว่า) เป็นศูนย์กลางแต่ถ่ายเดียวโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้อภิปรายไว้ในกรณี ฟ้าบ่กั้น ของลาว คำหอม ผมคิดว่าแนวคิดเรื่องวรรณกรรมเสียงส่วนน้อย ของเดอเลิซและกวัตตารี ก็อาจช่วยแต่งเติมมิติที่ลึกล้ำใหม่หมดจดให้แก่การคิดค้นในทางนี้ได้