20 ปี “นพพร ประชากุล วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส” ในความทรงจำของคนทำรูปเล่ม

ปี 2566 นี้ ถือเป็นวาระครบรอบ 20 ปีของหนังสือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ปี 2546  หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนสำคัญเล่มหนึ่งของนพพร ประชากุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ล่วงลับ  เพื่อเป็นการรำลึกถึงอาจารย์นพพร ดิฉันจึงขอใช้วาระนี้เล่าเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเท่าที่ยังพอจำได้เกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ รวมทั้งเรื่องที่ดิฉันได้เรียนรู้ในระหว่างการทำงานครั้งนั้น โดยจะเดินเรื่องเล่าสั้นๆนี้ผ่านเอกสารส่วนตัวของอาจารย์ที่ยังคงได้รับการเก็บรักษาไว้

ขอเริ่มต้นที่ร่างปรู๊ฟปกก่อนสุดท้ายของหนังสือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส  จะเห็นว่าปกหน้าเป็นภาพลายเส้นหอไอเฟล มีชื่อผู้เขียน ชื่อหนังสือ ชื่อผู้จัดพิมพ์ วางบนพื้นหลังสีเหลืองที่มีเส้นตารางกริดสีขาว ส่วนปกหลังพื้นสีแดง มีข้อความโปรยกับรูปผู้เขียน คำโปรยในร่างนี้เป็นข้อความจากหนังสือ อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง ของชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่ผู้ออกแบบปกดึงมาวางพอให้เป็นตัวอย่างไว้ก่อนในระหว่างที่รอคำโปรยปกตัวจริงและประวัติผู้เขียนจากอาจารย์นพพร มีลายมืออาจารย์นพพรเขียนบอกจำนวนหน้าของเนื้อในเพื่อนำไปกำหนดความหนาของสันปก และเขียนไว้ตรงมุมซ้ายสุดว่าให้ลงเครดิตผู้วาดภาพลายเส้นและผู้ออกแบบปกด้วย (แต่ภายหลังข้อมูลส่วนนี้ได้ยกไปไว้ในหน้าเครดิตของหนังสือ)

นี่คืองานในช่วงท้ายๆ ของการจัดพิมพ์หนังสือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ซึ่งอาจารย์นพพรได้ช่วยดูแลอย่างละเอียดถี่ถ้วนทุกขั้นตอนมาตั้งแต่แรกเริ่ม

ที่มาของการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้โดยสังเขปคือ ในราวปี 2542 โครงการจัดพิมพ์คบไฟได้ติดต่อขออนุญาตอาจารย์นพพรเพื่อจัดพิมพ์หนังสือรวมบทความที่อาจารย์เขียนลงในคอลัมน์ “คนกับหนังสือ” ในนิตยสาร สารคดี  โดยว่าจ้างดิฉันให้ติดตามต้นฉบับและจัดทำรูปเล่มหนังสือ แต่อาจารย์นพพรเสนอว่าคบไฟควรจัดพิมพ์บทความแปลคัดสรรเล่มหนึ่งของโรล็องด์ บาร์ตส์ นักวิชาการคนสำคัญของฝรั่งเศสยุคปัจจุบันเสียก่อน เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับวงวิชาการไทย และมีนักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาการแปลภาษาฝรั่งเศส-ไทยที่อยู่ในกำกับดูแลของอาจารย์เอง แปลงานชิ้นนี้เป็นวิทยานิพนธ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยอาจารย์จะช่วยเขียนบทความแนะนำบาร์ตส์กับแนวคิดของเขาในเรื่องสัญศาสตร์วรรณกรรมเพิ่มเติมให้ด้วย เมื่อคบไฟเห็นด้วยกับข้อเสนอของอาจารย์ ทำให้ในที่สุดหนังสือ มายาคติ: สรรนิพนธ์จาก Mythologies ของ Roland Barthes โดยวรรณพิมล อังคศิริสรรพ ได้จัดพิมพ์ออกวางจำหน่ายในปี 2544 ก่อนหน้าที่ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส จะจัดพิมพ์ในอีกสองปีต่อมา[1]


หนังสือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ประกอบด้วยงานเขียน 14 เรื่องอันว่าด้วยวรรณกรรมฝรั่งเศสที่คัดสรรจากยุคสมัยต่างๆของฝรั่งเศส ตั้งแต่ยุคอัศวิน ยุคสุริยราช ยุคแสงสว่างทางภูมิปัญญา เรื่อยมาจนถึงต้นศตวรรษที่ 20 โดยมี “ภาพรวมวรรณกรรมฝรั่งเศสจากอดีตถึงปัจจุบัน” เป็นบทความเปิดเล่ม อาจารย์นพพรระบุไว้ในคำโปรยปกหลังว่า หนังสือเล่มนี้–

“จะพาผู้อ่านไปสำรวจวรรณกรรมฝรั่งเศสทั้งในทางลึกและทางกว้างพร้อมกัน ในทางลึกนั้น ผู้เขียนได้วิเคราะห์ผลงานวรรณกรรมที่คัดเลือกมาจำนวนหนึ่ง รวมถึงผลงานโดยรวมของนักประพันธ์บางคน โดยชี้ชวนให้วิจักษ์ถึงสาระสำคัญและความเกี่ยวพันกับยุคสมัย ตลอดจนวิจารณ์ให้เห็นบางแง่มุมที่น่าสนใจเป็นพิเศษ  ส่วนในทางกว้าง จากลำดับของผลงานวรรณกรรมซึ่งเสนอไล่เรียงจากยุคแรกเริ่มจนถึงยุคปัจจุบัน ผู้อ่านจะแลเห็นเค้าความคลี่คลายของวรรณกรรมฝรั่งเศสซึ่งมีประวัติการสร้างสรรค์ยาวนานกว่าหนึ่งสหัสวรรษ และได้ชื่อว่ามีความซับซ้อน หลายหลาย และรุ่มรวย”

นอกเหนือจากบทความเปิดเล่มดังกล่าวแล้ว ยังมีบทความอื่นอีก 13 เรื่อง กล่าวคือ บทเพลงอัศวินโรล็องด์: มหากาพย์ประจำชาติของฝรั่งเศส, ราบเลส์ ยักษ์ใหญ่แห่งยุคเรอเนสซองส์, ฟีดรา ราชินีแห่งโศกนาฏกรรม, วอลแตร์ เจ้าของปากกาที่คมกว่าอาวุธ, รุสโซ กับอุดมคติแห่งธรรมชาติ, สองบทกวีโรแมนติกของวิกตอร์ อูโก, โฟลแบรต์และเอ็มมา กับการปฏิวัตินวนิยาย, โฟลแบรต์และเฟรเดอริก กับการบ่อนเซาะเรื่องเล่า, โบดแลร์ กวีผู้ปั้นโคลนให้เป็นทอง, พรุสต์: ตัวตน กาลเวลา วรรณกรรม, ‘สัจบท’ ในนวนิยายเรื่อง La Prisonnière ของมาร์แซ็ล พรุสต์, เหยือกแก้วในลำน้ำวิว็อนกับขั้นตอนการทำงานของนักประพันธ์อัจฉริยะ, จากแอนทิโกนีถึงอันตราคนี: วิญญาณขบถในสองบริบท

บทความเหล่านี้เขียนขึ้นในระหว่างปี 2536-2543 ทั้งหมดเคยตีพิมพ์ในนิตยสาร สารคดี ยกเว้นสามเรื่องที่เคยตีพิมพ์ในแหล่งอื่น แต่ทั้งหมดถูกนำมาแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมอย่างละเอียดประณีต ทั้งยังผ่านการตรวจแก้งานครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความ “ ‘สัจบท’ ในนวนิยายเรื่อง La Prisonnière (เชลยสาว) ของมาร์แซ็ล พรุสต์” ซึ่งเป็นบทสรุปย่อวิทยานิพนธ์สาขาวรรณคดีฝรั่งเศสของอาจารย์เอง และเคยลงตีพิมพ์ใน วารสารสมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2533 นั้น อาจารย์นพพรได้เขียนขยายและปรับปรุงเนื้อหาให้ครบถ้วนสำหรับการจัดพิมพ์รวมเล่มในครั้งนี้ด้วย

ในสมัยยี่สิบปีก่อนนั้น แม้เราจะนิยมใช้โปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ดในการพิมพ์ต้นฉบับกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว แต่อาจารย์นพพรยังคงถนัดและยืนยันที่จะส่งต้นฉบับงานที่เขียนเพิ่มเติม รวมทั้งคำนำ บทนำต่างๆ ด้วยลายมือลงบนกระดาษ A4 โดยมีกำหนดนัดรับส่งงานที่คณะศิลปศาสตร์เป็นงวดๆไป ดิฉันจึงมีหน้าที่ไปรับงานมาพิมพ์เป็นต้นร่างแล้วส่งกลับให้อาจารย์ตรวจแก้เพิ่มเติม

 

 

 

 

 

งานเขียนที่ไปรับมาแต่ละคราวอาจจะมีเพียงสองหน้า สามหน้า หรือห้าหน้าบ้าง แต่ต้นฉบับลายมือที่อาจารย์ส่งมอบให้ทุกครั้ง เขียนด้วยลายมือบรรจงเสมอ (แน่นอนว่ามีร่องรอยแก้ไขเพิ่มเติมอีกจนนาทีสุดท้ายด้วย) และมักมีเครื่องหมายบอกระยะวรรคตอนและย่อหน้าในกรณีป้องกันไม่ให้สับสน รวมทั้งยังเขียนบอกให้เน้นข้อความด้วยตัวเอน หรือตัวหนาอย่างชัดเจน ตัวบทหรือบทแปลที่ยกมาอ้างอิง ต้องแยกแยะออกจากเนื้อหาของผู้เขียนบทความ ซึ่งแม้จะไม่ได้เคร่งครัดเต็มที่อย่างงานเขียนที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ แต่ก็ให้แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อผู้อ่านที่สนใจสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ เรื่องเหล่านี้อาจเป็นบรรทัดฐานทั่วไปในการทำหนังสือในปัจจุบัน แต่ในตอนนั้นยังถือเป็นเรื่องใหม่พอสมควรในวงการหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊ก ดิฉันจึงพลอยได้เรียนรู้การทำหนังสือในอีกแง่มุมหนึ่งไปด้วย

 

ส่วนการจัดหน้าทำรูปเล่มในยุคนั้นนิยมใช้โปรแกรม PageMaker ซึ่งก็คล้ายกันกับโปรแกรม InDesign ในปัจจุบัน เพียงแต่มีเครื่องมือทำงานซับซ้อนน้อยกว่า การแก้ไขงานหลังจากที่จัดหน้าด้วยเพจเมกเกอร์แล้ว แม้จะเป็นเพียงการปรับแก้ถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ มักกระทบถึงระบบการตัดคำรายบรรทัดในย่อหน้านั้นๆ ที่อาจทำให้ข้อความถอยร่น วรรคตอนคลาดเคลื่อน หรือมีคำตกบรรทัดไป ทำให้ต้องอ่านทวนและเคาะตัวซ้ำอีกซึ่งใช้เวลาพอสมควร แต่แม้เมื่อทราบปัญหาเหล่านี้แล้ว อาจารย์ก็ไม่ได้ลดละที่จะขอแก้ไขงานเพิ่มเติมอย่างสุภาพเสมอ โดยชี้แจงทุกครั้งให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้ข้อเขียนสื่อความหมายอย่างถูกต้องครบถ้วนและกระจ่างชัดเจน

งานออกแบบปกเป็นอีกเรื่องที่ต้องทำคู่กันไปในระหว่างทำรูปเล่ม ขณะนั้นอาจารย์มีแนวคิดว่ารูปหลักบนปกหนังสือควรเป็นรูปหอไอเฟลที่เป็นภาพวาดลายเส้น ไม่ใช่ภาพถ่าย คุณธนัย เจริญกุล ลูกศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ จึงอาสาวาดภาพจำนวนหนึ่งมาให้เลือก ในที่สุดอาจารย์ตัดสินใจเลือกภาพหอไอเฟลที่มีลายเส้นน้อยที่สุดในการสื่อถึงความเป็นฝรั่งเศส หลังจากนั้นคุณประชา สุวีรานนท์ รับไม้ต่อทำแบบปกให้

 

เกี่ยวกับปกหนังสือนี้ ในแบบร่างแรกๆที่ดิฉันทดลองทำขึ้นมา โดยวางชื่อหนังสือขึ้นต้นแล้วตามด้วยชื่อผู้เขียน ปรากฏว่าเมื่อส่งให้อาจารย์ดู ก็ได้รับคำอธิบายง่ายๆว่า หนังสือเล่มนี้ ชื่อผู้เขียนต้องมาก่อนชื่อหนังสือ เพราะต้องการสื่อความหมายว่า “นพพร ประชากุล วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส” คำอธิบายนี้มีหลักฐานอยู่ในกระดาษชื้นเล็กๆชิ้นหนึ่ง (โปรดสังเกตเปรียบเทียบกระดาษชิ้นนี้กับขนาดของร่างลายมือเขียน “คำนำ” ร่างแรกบนกระดาษ A4) ซึ่งอาจารย์เขียนไว้ว่าผู้เขียนคือภาคประธาน ส่วนชื่อหนังสือเป็นภาคกริยา (“นพพร ประชากุล  subject ตัวเล็ก  วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส verb ตัวใหญ่”)

 

 

เมื่องานปกอยู่ในมือของผู้สันทัดกรณี แบบปกจึงออกมาสวยงามลงตัวและเป็นไปตามดำริของอาจารย์ ดังในเลย์เอาท์ปกหนังสือปรู๊ฟสุดท้าย สมัยนั้นผู้ออกแบบปกยังต้องใส่ชื่อฟอนต์ที่ใช้ในจุดต่างๆ กำกับไว้และสั่งสีเพื่อเป็นไกด์ให้กับร้านเพลทและโรงพิมพ์

 

คำโปรยบนปกหลังที่รออาจารย์เลือกข้อความอยู่นั้น ในที่สุดก็คัดมาจากคำนำร่างแรกซึ่งแต่เดิมอาจารย์เขียนไว้เพียงสั้นๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าสู่ตัวบทความทั้งหลายที่จัดเรียงลำดับไว้แล้วได้เลย ทว่าเมื่ออาจารย์ทบทวนแก้ไขงานทั้งหมดแล้วเห็นว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนคำนำใหม่ รวมทั้งเขียนบทนำต่างหากเพื่ออธิบายให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของวรรณกรรมฝรั่งเศสเสียก่อน และเพื่อให้เข้าใจถึงการคัดเลือกและเรียงลำดับบทความทั้งหมดในเล่มด้วย คำนำร่างแรกนี้จึงถูกยกออกมาเป็นคำโปรยปกแทน

ส่วนรูปผู้เขียนขณะยืนสูบบุหรี่อยู่ อาจารย์เป็นผู้เลือกเองเพื่อให้ล้อกันกับรูปถ่ายโรล็องด์ บาร์ตส์ขณะกำลังจุดบุหรี่สูบ ซึ่งเป็นรูปที่อาจารย์เลือกใช้เป็นปกหนังสือ มายาคติ (หากดิฉันเดาไม่ผิด อาจารย์คงตั้งใจท้าทายมายาคติเรื่องการสูบบุหรี่ในสมัยนั้น)

 

หลังจากที่ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส จัดพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ดิฉันยังได้ช่วยทำงานหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์งานแปลฝรั่งเศส-ไทย อีกหลายเล่มตามที่อาจารย์เสนอให้คบไฟเป็นผู้จัดพิมพ์ คือ ร่างกายใต้บงการ ของมิแช็ล ฟูโกต์ (2547, แปลโดยทองกร โภคธรรม) และ คำสารภาพเล่มที่หนึ่งและเล่มที่สอง ของฌ็อง ฌ้ากส์ รุสโซ (2550, แปลโดยพาชื่น องค์วรรณดี และรัตนสุดา กิตติก้องนภางค์ โดยมีอาจารย์ธรณินทร์ มีเพียร เป็นบรรณาธิการบทแปลเล่มที่สอง)

ครั้นอาจารย์ล้มป่วยในราวปี 2549 ดิฉันจึงเข้าไปช่วยซื้อข้าวของและติดต่อธุระบางอย่างให้ในระหว่างที่อาจารย์ไม่สะดวกจัดการภารกิจด้วยตนเอง โดยที่ดิฉันยังต้องติดตามงานที่อยู่ระหว่างรอการจัดพิมพ์อีกสองเล่ม คือ เศรษฐกิจของทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์ ของปิแยร์ บูร์ดิเยอ (2550, แปลโดยชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข) กับ กงเบรย์ โลกใบแรกของมาร์แซ็ล ของมาร์แซ็ล พรุสต์ (2554, แปลโดยวชิระ ภัทรโพธิกุล)

ในระหว่างที่รักษาตัวอยู่ราวปีเศษ อาจารย์ไม่เคยทิ้งการทำงานตรวจแก้หนังสือที่ยังค้างคา อาจารย์บอกว่างานของบูร์ดิเยอ อ่านยาก แปลยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนมโนทัศน์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาท้ายเล่ม จึงทุ่มเทเวลาให้เป็นพิเศษ บางเวลาอาจารย์ปลีกตัวไปเขียนร่างหัวข้อที่ตั้งใจไว้ว่าจะขยายความเพื่อเป็นบทนำสำหรับหนังสือ กงเบรย์[2] และบางเวลาก็คัดเลือกกับแก้ไขงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของอาจารย์ที่ในภายหลังสำนักพิมพ์วิภาษาและสำนักพิมพ์อ่านจะเข้ามาสานต่อและเป็นผู้จัดพิมพ์ร่วมกันในชื่อชุด ยอกอักษร ย้อนความคิด

อย่างไรก็ดี ตลอดเวลาที่ตั้งหน้าตั้งตาทำงานทั้งที่เจ็บป่วย มีบ่อยครั้งมากที่อาจารย์ถามถึง วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ว่าขายดีหรือไม่ ยังเหลือหนังสือในสต็อคมากแค่ไหน และจะได้พิมพ์ครั้งที่สองไหม ดิฉันพอทราบจากคบไฟมาว่ายอดขายหนังสือไม่ดีนัก และมีแนวโน้มจะถูกตีคืนจากสายส่งด้วย จึงได้แต่อ้อมแอ้มปลอบใจอาจารย์ ว่าวรรณกรรมฝรั่งเศสอาจยังไม่ใช่กระแสนิยมในตลาดหนังสือบ้านเรา คงต้องใช้เวลาอีกสักพัก หรือพักใหญ่ๆ กว่าจะได้ตีพิมพ์ซ้ำ จนกระทั่งในที่สุดดิฉันก็ไม่มีโอกาสตอบบ่ายเบี่ยงใดๆ ต่อหน้าอาจารย์อีกเลย

จนกระทั่งปัจจุบัน วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ยังไม่มีการตีพิมพ์ซ้ำ แต่หนังสือที่เป็นผลผลิตของสาขาวิชาการแปลภาษาฝรั่งเศส-ไทยในกำกับดูแลของอาจารย์ สำเร็จเป็นรูปเล่มแล้วห้าเล่มด้วยกัน มีบางเล่ม เช่น มายาคติ และ ร่างกายใต้บงการ ได้ตีพิมพ์ซ้ำมากกว่าสองครั้ง



ส่วนหนังสือชุด ยอกอักษร ย้อนความคิด (ซึ่งอาจารย์ได้มีส่วนคัดเลือกและแก้ไขต้นฉบับงานเขียนในเบื้องต้น โดยเฉพาะในเล่ม 1) นั้น ปรากฏว่าในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 27 เมื่อกลางเดือนตุลาคมปี 2565 ที่ผ่านมา หรือราว 15 ปีนับจากที่อาจารย์จากไป ดิฉันได้พบด้วยตัวเองว่า มีคนรุ่นใหม่ผู้ซึ่งแววตาเป็นประกายแจ่มใส แวะมาที่บูธสำนักพิมพ์อ่าน ถามหาและซื้อหนังสือชุดนี้ของอาจารย์กลับไป.

เชิงอรรถ

[1] ดิฉันจำได้เลาๆ อีกว่า หลังจากที่จัดพิมพ์ มายาคติ เรียบร้อยแล้ว ดิฉันก็ติดตามต้นฉบับหนังสือ วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส ต่อไป แต่จู่ๆ วันหนึ่งอาจารย์นพพรได้ยื่นเอกสารต้นฉบับหนามากๆ ปึกหนึ่งที่เก็บเข้าแฟ้มไว้อย่างเรียบร้อยมาให้ดู แล้วบอกทำนองว่า “ผมมีขุมทรัพย์จะมอบให้คุณ” อาจารย์ยังเล่าอีกยาวเหยียดถึงคุณงามความยอดเยี่ยมของต้นฉบับหนังสือชุดนั้น ซึ่งตอนนั้นอาจารย์กำลังช่วยอ่านทวนให้แก่ผู้เขียนซึ่งเป็นมิตรของอาจารย์ อาจารย์เสนอให้คบไฟดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือเล่มนั้นก่อนงานของตัวเอง ดิฉันจึงได้เข้าไปดูแลเรื่องการจัดพิมพ์หนังสือขุมทรัพย์เล่มดังกล่าวโดยใช้เวลาอีกนับปีจนกระทั่งมันกลายมาเป็น อ่าน(ไม่)เอาเรื่อง โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จัดพิมพ์ในปี 2545 หลังจากนั้นดิฉันจึงได้ทำงานเล่มที่เป็นงานเขียนของอาจารย์นพพรเองเป็นลำดับถัดมา นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ดิฉันได้เห็นกับตาว่าอาจารย์นพพรเป็นผู้มีน้ำใจกว้างขวางอย่างยิ่ง

[2] เป็นที่รู้กันดีว่าอาจารย์ชื่นชมพรุสต์อย่างมาก ถึงขนาดเคยเปรยว่า หากต้องไปติดเกาะอยู่ที่ไหนสักแห่ง ก็จะขอหยิบงานของพรุสต์ไปอ่านด้วย ทว่าในที่สุดอาจารย์ก็ไม่มีเวลาเขียนขยายความหัวข้อเหล่านี้ให้เสร็จ