สำนักพิมพ์ อ่าน: เพื่อการอ่าน

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2

190 ฿

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เล่ม 2
ผู้เขียน อัศนี พลจันทร
ลำดับที่ 9 ในโครงการ “อ่านนายผี”
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก มีนาคม 2560
368 หน้า

หมวดหมู่:

รายละเอียด

หมายเหตุการจัดพิมพ์

นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร เป็นงานของคุณอัศนี พลจันทร หรือ “นายผี” ในกลุ่มเรื่องสั้น/เรื่องแต่ง (และเรื่องสั้นแปล 2 เรื่อง) ที่ไม่ได้ใช้รูปแบบกาพย์กลอนในการนำเสนอ สำนักพิมพ์อ่านได้รวบรวมขึ้นมาจากงานตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์สยามนิกรรายวัน, การเมืองรายสัปดาห์, มหาชนรายสัปดาห์, สยามสมัยรายสัปดาห์, ปิยมิตรวันจันทร์ และนิตยสารรายเดือน อักษรสาส์น ในระหว่าง พ.ศ. 2489-2503 โดยผู้เขียนใช้นามปากกา “กุลิศ อินทุศักดิ์”, “กุลิศ อินทุศักติ”, “อินทรายุธ”, “ศรี อินทรายุธ”, “อำแดงกล่อม” และ “หง เกลียวกาม” จึงนำมาจัดพิมพ์หนังสือในโครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 8 และ 9

ก่อนหน้านี้ เคยมีผู้รวบรวมจัดพิมพ์งานในกลุ่มเรื่องสั้นของคุณอัศนีมาแล้วในลักษณะคัดสรร เช่น พระเจ้าอยู่ที่ไหน รวมบทกวี เรื่องสั้น เรื่องแปลของนายผี (อัศนี พลจันทร) พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2519 โดยสำนักพิมพ์กระแสธาร* และคำตอบนั้นอยู่ที่ไหน? ซึ่งเป็นงานรวมเรื่องสั้น 11 เรื่องจาก สยามสมัย กับอีก 1 เรื่องจาก อักษรสาส์น คือ “สัมไป ฮาตี” พิมพ์เป็นรูปเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 โดยชมรมโดมทักษิณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมาสำนักพิมพ์กำแพงได้จัดพิมพ์ครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2533 ในชื่อเดียวกัน โดยคัดเลือกไว้เฉพาะเรื่องสั้นจาก สยามสมัย กับเพิ่มเรื่องสั้นอีก 4 เรื่อง รวมเป็น 15 เรื่องด้วยกัน หลังจากนั้นสำนักพิมพ์สามัญชนได้จัดพิมพ์รวมเรื่องสั้น “นายผี”: อัศนี พลจันทร ในปี 2541

ในการจัดพิมพ์ นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร ครั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับต้นฉบับงานพิมพ์ดีดและสำเนางานตีพิมพ์จากหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะงานในช่วง พ.ศ. 2489-2490 มาจากคุณวิมลมาลี พลจันทร บุตรสาวของคุณอัศนี และคุณวิมล พลจันทร ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับและผลงานของคุณอัศนีไว้ นอกจากนั้น เรายังได้รับนิตยสารอักษรสาส์น ฉบับปีที่ 1 (เม.ย 2492-มี.ค. 2493) จำนวน 12 เล่ม มาจากคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว อีกทั้งสำเนาไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์การเมือง ระหว่าง พ.ศ. 2489-2492 จำนวน 15 ฉบับจากคุณไทเรล ฮาเบอร์คอร์ณ ซึ่งสืบค้นมาจากหอสมุด Australian National University และสำเนาไมโครฟิล์มหนังสือพิมพ์ มหาชน ของปี 2490-2491 จำนวน 72 ฉบับ ซึ่งคุณไอดา อรุณวงศ์ สืบค้นมาจากหอสมุดของมหาวิทยาลัยคอร์แนลในระหว่างเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง “The Politics of Criticism in Thailand: Arts and Aan” เมื่อปลายปี 2555 ส่วนที่นอกจากนี้ เราได้สืบค้นจากหอสมุดต่างๆ ภายในประเทศ

เกี่ยวกับชื่อหนังสือชุด นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร นี้ สำนักพิมพ์อ่านมีเหตุผลสองประการในการนำ “นิทานการเมือง” มารวมไว้ในชื่อหนังสือชุดนี้ด้วย กล่าวคือ หนึ่ง ในระหว่างสืบค้นต้นฉบับ เราพบว่ามีงานที่ตีพิมพ์ภายใต้คอลัมน์ “นิทานการเมือง” สี่เรื่องด้วยกัน คือ “เด็กกับผู้ใหญ่” (การเมือง, 27 ธ.ค. 2490), “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” (มหาชน, 27 มิ.ย. 2491), “การปฏิวัติที่ห่าม” (การเมือง, 30 ต.ค. และ 13 พ.ย. 2491) และ “กาเซะห์ ซายังเซียม!” (การเมือง, 22 พ.ค. 2492) คอลัมน์ดังกล่าวพบเป็นครั้งคราวทั้งในหนังสือพิมพ์การเมือง โดยมีผู้เขียนหลายคนสลับกันเสนอความเห็นในเรื่องการเมืองด้วยรูปแบบของเรื่องเล่า เช่น เพทาย โชตินุชิต เขียน “รัฐธรรมนูญปลาด” (การเมือง, 20 ธ.ค. 2490), “คนธรรพ์” เขียน “จอมพลกับสังฆราช” (การเมือง, 15 ม.ค. 2492), ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม เขียน “ทหาร:โจร” (การเมือง, 19 พ.ย. 2492) เป็นต้น คุณอัศนีเองก็เขียนเรื่องเล่าในคอลัมน์ “นิทานการเมือง” นี้ โดยหลังจากเรื่อง “เด็กกับผู้ใหญ่” ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เพียงหนึ่งเดือน เขาก็ใช้ตัวละคร กุลิศ อินทุศักดิ์ ที่เคยสร้างไว้ในงานเรื่องสั้นในปี 2489 กับตัวละครฟาตีมะห์ที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นตัวเดินเรื่องในนิทานการเมืองเรื่อง “ฟาตีมะห์แห่งเกามอีบู” เพื่อวิจารณ์การเมืองไทยโดยเปรียบเทียบกับโลกมลายูภาคใต้ และตัวละครทั้งสองนี้ยังเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องสั้นอีก 7 เรื่อง ขณะที่แนวเรื่องจะขยายมาสู่แนวอิงประวัติศาสตร์การต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินโดนีเซีย

สอง หากพิจารณาอายุของงานกลุ่มเรื่องสั้นนับตั้งแต่ชิ้นแรก คือ “ทิวาราตรีที่พระตะบอง” (สยามนิกร, ส.ค. 2489) จนถึงเรื่องสุดท้าย คือ “จางวางขุยตายเพราะใคร” (ปิยมิตรวันจันทร์, ก.ค. 2503) จะพบว่าเรื่องแรกที่สุดนั้นตีพิมพ์เมื่อ 72 ปีก่อน ส่วนเรื่องสุดท้ายก็มีอายุ 58 ปีแล้ว แต่เนื่องจากคุณอัศนีเขียนงานเหล่านี้ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2490 จนถึงหลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จในปี 2501 เล็กน้อย ในแง่หนึ่งเราจึงอาจอ่านงานชุดนี้พร้อมกับดูว่าคุณอัศนีเขียนถึงสังคมและการเมืองในช่วงดังกล่าวไว้อย่างไรบ้างหรือไม่ หลังจากที่เราได้เห็นการทำงานของเขามาแล้วใน กาพย์กลอนวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองสยาม การตั้งชื่อหนังสือ นิทานการเมืองและเรื่องสั้นของอัศนี พลจันทร ในที่นี้ จึงเป็นการยืนยันสปิริตการทำงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของคุณอัศนีนั่นเอง

การจัดพิมพ์ซ้ำในวาระ 100 ปีชาตกาล อัศนี พลจันทรในปี 2561 สำนักพิมพ์อ่านมีโอกาสได้สืบค้นต้นฉบับงานตีพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือพิมพ์ สยามนิกร เพิ่มเติมโดยได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักหอสมุดแห่งชาติ อีกทั้งเรายังได้รับสำเนานิตยสาร อักษรสาส์น เพิ่มเติมจากคุณธิกานต์ ศรีนารา ซึ่งได้ถ่ายสำเนามาจากต้นฉบับที่อยู่ในความครอบครองของคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ มาด้วย เราจึงมีโอกาสชำระต้นฉบับเรื่องสั้นจากงานตีพิมพ์ครั้งแรกได้เพิ่มเติม และได้พยายามรักษารูปแบบภาษาตลอดจนการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามต้นฉบับเพื่อเก็บร่องรอยการใช้ภาษาตามยุคสมัยไว้ ดังนั้นคำบางคำจึงอาจสะกดแบบหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง แต่สะกดต่างไปในอีกที่หนึ่ง รูปคำที่พบยังอาจแปลกตาและไม่ตรงตามพจนานุกรมฉบับปัจจุบันด้วย เช่น กะสุน, กะซิบ, กำพืช, ขอบเขตต์, ขะโมย, จิตต์ใจ, ชะวา, นิสสัย, นาฑี, บันทุก, ประสพ, ประชาธิปตัย, ปลาด, ปอร์ตุเกศ, ปฏิปักข์, พากพูม, ศีร์ษะ, สพาน, สอาด, อิศรภาพ, อิสสรภาพ, โอกาศ เป็นต้น

นอกจากนั้น เรื่องสั้นบางเรื่องซึ่งในระหว่างสืบค้นต้นฉบับ พบว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่าน เราก็ได้ทำหมายเหตุท้ายเรื่องไว้ คือ “เจ้าขุนทอง”, “สัมไปฮาตี” และ “บริการบ้านเช่า”

การเรียงลำดับเรื่อง เราได้จัดเรียงไปตามเวลาการตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2489-2503 แต่เพื่อให้แนวเรื่องอยู่เป็นหมวดหมู่และมีความต่อเนื่องในการอ่าน จึงได้นำเรื่องเกี่ยวกับโลกมลายูที่มีกุลิศ อินทุศักดิ์ กับฟาตีมะห์ เป็นตัวละคร มารวมไว้ในเล่มแรก แล้วปิดท้ายด้วยงานแปลเรื่องสั้นของราษิท ชาหัน ส่วนเล่มที่สองนั้นเป็นงานเขียนในยุคสยามสมัย และ ปิยมิตรวันจันทร์ ทั้งหมด

สารบัญเรื่องสั้น
– มีมืดก็มีสว่าง
– ต่อตระกูลหมอ
– หลวงพ่อ
– จากสาวถึงสาว
– นำ้มือนาง
– ชะรอยกรรม
– หมาไม่ตาย-คนตาย
– หมออะไร
– คำตอบนั้นอยู่ที่ไหน?
– ผู้วิเศษกับเสือดาว
– ไปเป็นโจร
– ความยุติธรรม
– จากกองเถ้าถ่าน
– บริการบ้านเช่า
– จากรัง
– จี้ในคลองแสนแสบ
– เป็นเหตุเพราะโรคห่า
– กลางทะเลลม
– อภิปรัชญาแห่งการครองรัก
– เป็นไปได้
– จางวางขุยตายเพราะใคร