เชษฐบุรุษรำลึก: พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา


ข่าวกระเส็นกระสายมาตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อนเกี่ยวกับความพยายามลบชื่อและรื้อย้ายอนุสาวรีย์ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากสถานที่ราชการหลายแห่ง กลายเป็นเรื่องจริงตั้งแต่เดือนแรกของปี 2563  แต่ดูเหมือนมันกลับยิ่งเป็นแรงส่งให้ “ราษฎรทั้งหลาย” ช่วยกันคนละไม้ละมือ กลับไปรื้อหาและขุดค้นประวัติชีวิตของคนทั้งสองมาอ่านใหม่กันอย่างกระตือรือร้น

ดิฉันได้ไปขวนขวายหาเรื่องแบบนี้มาอ่านกับเขาบ้างเหมือนกัน และเมื่อพบว่า พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้ถูกเรียกขานว่า “เชษฐบุรุษ” นั้น ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2490 ในวัยเพียง 58 ปีเศษ ก็นึกอยากรู้ขึ้นมาว่า สังคมไทยในระยะนั้น รำลึกถึงและจดจำการจากไปของหัวหน้าคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อย่างไร?

การค้นหาร่องรอยความรู้สึกแรกของสังคมต่อการจากไปของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (หลังจากนี้จะเรียกว่าพระยาพหลฯ ตามที่ราษฎรเรียกขานกันติดปาก) เริ่มต้นด้วยการกลับไปอ่าน “เอกสารล่วงเวลา” ในหอสมุดแห่งชาติ โดยเลือก สยามนิกร กับ ภาพข่าวสยามนิกร ซึ่งยังพอมีข้อมูลให้สืบค้นได้บางส่วน  น่าเสียดายที่ไม่พบหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ฉบับวันที่ 15 และ 16 กุมภาพันธ์ 2490 ซึ่งน่าจะเป็นฉบับที่มีรายงานข่าวสำคัญดังกล่าว จึงต้องอาศัยข้อมูลประปรายที่พบในฉบับวันต่อๆ มา

แต่โชคดีที่ ภาพข่าวสยามนิกร ซึ่งเป็นนิตยสารภาพข่าวรายปักษ์ที่ระบุว่าจัดทำโดย ลมูล อติพยัคฆ์ และเพิ่งวางจำหน่ายในช่วงต้นปี 2490 นั้น ตีพิมพ์ภาพชุดงานพิธีบรรจุศพและงานพระราชทานเพลิงศพของพระยาพหลฯ ไว้ถึงสองฉบับต่อเนื่องกัน คือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ของปี 2490 1  จากงานเขียนและภาพข่าวที่นำเสนอชีวประวัติ ผลงานและอุดมคติของพระยาพหลฯ นี้เอง เราจึงพอจะเห็นภาพหนึ่งที่สังคมในขณะนั้นเลือกจดจำต่อ “เชษฐบุรุษ” ผู้ถือคติ “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” อีกทั้งนี่ยังเป็นหลักฐานให้เห็นด้วยว่า ครั้งหนึ่งในสมัยประชาธิปไตย บ้านเมืองเคยมีผู้นำที่ราษฎรนับถือได้โดยไม่ไร้เหตุผล

 

เกียรติและประวัติ

 

ภาพข่าวสยามนิกร ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2490

 

เมื่อการจากไปของคนคนหนึ่ง เป็นวาระแห่งการรำลึกถึงคุณความดีของผู้วายชนม์ด้วย จึงขอคัดข้อความเกริ่นนำของ ภาพข่าวสยามนิกร ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2490 ที่แสดงความอาลัยและให้ข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับประวัติชีวิตของพระยาพหลฯ มาดังนี้ :

ที่สุด ชาติไทยก็ได้ศูนย์เสียไปซึ่งคนดีของชาติไปคนหนึ่ง ยังความวิปโยคอย่างใหญ่หลวงยิ่งให้แก่วงการทั่วๆ ไปอย่างสุดซึ้ง ยากที่จะพรรณาได้โดยถี่ถ้วน—นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเชษฐบุรุษของไทยผู้จากผืนแผ่นดินไทยไปแล้ว ไปสู่สุคติภพ ได้เคยสร้างความดีหลายอย่างหลายประการให้แก่ชาติ และแม้ท่านจะจากเราไปแล้วก็ตาม ความดีของท่านก็ยังคงสลักแน่นอยู่บนแผ่นดินอยู่ในความรู้สึกของชาวไทยโดยทั่วไป โดยไม่มีวันจะลืมเลือนไปได้เลยในประวัติศาสตร์ของไทย.

ท่านเชษฐบุรุษ นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เปนบุตรคนที่ ๕ ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (กิ่ม พหลโยธิน) คุณหญิงจับ พหลพลพยุหเสนา เปนมารดา เกิดเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๐ ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓  ได้รับทุนรัฐบาลให้ไปศึกษาวิชาการทหารในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๗ และศึกษาอยู่เวลา ๘ ปี จึงเดินทางกลับเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ และได้รับยศเปนร้อยโทเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗  ต่อมา พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เลื่อนขึ้นเปนร้อยเอกตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๒ ได้เลื่อนขึ้นเปนพันตรี  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เลื่อนขึ้นเปนพันเอก และโปรดเกล้าฯ ให้เปนราชองครักษ์เวร  งานชิ้นสำคัญที่ต้องจารึกลงในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ก็คือ ท่านเชษฐบุรุษได้เปนหัวหน้าคนหนึ่งในสี่เสือแห่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเปนการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ในบั้นปลายทางชีวิตของท่านเชษฐบุรุษ ยังได้เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐบาล ควง อภัยวงศ์ และรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่พร้อมกันไปด้วย – บัดนี้เราก็ได้ศูนย์เสียซึ่งคนดียิ่งคนหนึ่งไปแล้ว แต่ทว่าความดีของคนดีนั้น หาได้ศูนย์เสียไปด้วยไม่ ยังคงประทับอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และในดวงใจของชาวไทยทุกคน

จากนั้นก็ตามมาด้วยภาพข่าวพร้อมคำบรรยายอีกสามหน้า ซึ่งให้ข้อมูลอีกว่างานพิธีบรรจุศพพระยาพหลฯ จัดขึ้นที่วังปารุสกวัน โดยโกศบรรจุศพของหัวหน้าคณะราษฎรนั้นเป็นโกศชั้นเอกอัครมหาเสนาบดี แขกเหรื่อที่เข้าร่วมพิธีมีทั้งบรรดารัฐบุรุษทางการเมือง และทหารทั้งสามเหล่าทัพ

คำบรรยายภาพหน้าซ้าย (เรียงจากบนลงล่าง)

โกษฐ์ชั้นเอกอรรคมหาเสนาบดี เปนที่รองรับเรือนร่างท่านเชษฐบุรุษ ผู้นำปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ตั้งสงบอยู่ ณ วังปารุสกวัน สถานที่ซึ่งท่านได้รับความสุขตลอดมาในชีวิตจนกระทั่งถึงอนิจกรรมลง

ผู้แทนหนังสือพิมพ์สยามนิกร นำหรีดของสยามนิกรไปวาง ณ โกษฐ์บรรจุศพท่านเชษฐบุรุษ

ท่านนายกรัฐมนตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ พร้อมด้วยรัฐบุรุษคนสำคัญๆ เข่น พระยามานวราชเสวี นายพลเอกหลวงอดุลเดชจรัส รัฐมนตรีทองเปลว ชลภูมิ ตลอดทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปคำนับศพอย่างเนืองแน่น ขวา: คุณหญิงพหลฯ กำลังรับแขก

ซ้าย: ผู้แทนหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” นำหรีดของพิมพ์ไทยไปวางเช่นเดียวกัน

ขวา: หลวงอดุลเดชจรัส ผู้พยาบาลท่านเชษฐบุรุษอยู่ตลอดจนกระทั่งท่านสิ้นไป

คำบรรยายภาพหน้าขวา

ในขณะที่ท่านเชษฐบุรุษยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้บำเพ็ญตนอย่างดีที่สุด ที่ได้รับใช้ชาติบ้านเมืองเสมอมาและงานที่ได้กระทำเพื่อชาติทุกๆ คราวนั้น ก็ได้ประสพความสำเร็จเปนผลดีอย่างใหญ่หลวง ภาพทั้งสองภาพในหน้านี้ ได้จากเมื่อท่านเชษฐบุรุษเดินทางไปเจรจาความเมือง ณ ประเทศญี่ปุ่นในระหว่างสงครามสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก  ภาพล่าง: ขณะเมื่อผ่านสหรัฐมลายู และกำลังรับประทานอาหารว่าง ซึ่งทางการเชื้อเชิญท่าน ขอให้ภาพทั้งสองนี้จงเปนเครื่องระลึกในการจากไปสู่สวรรค์ ณ ที่นี้ด้วย

คำบรรยายภาพ

งานกุศลของกองทัพทั้งสาม  แด่—ท่านเชษฐบุรุษ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา คนสำคัญของชาติไทย กองทัพบก—เรือ—อากาศและเสนาธิการทหารกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมกันจัดงานบำเพ็ญกุศลศพท่านเชษฐบุรุษเปนที่ระลึกเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ณ วังปารุสกวัน  ภาพล่าง บุตรและธิดาของท่านเชษฐบุรุษในงานบำเพ็ญกุศลครั้งนี้ กำลังนั่งเรียงรายอยู่ที่หน้าโกษฐบันจุศพ

 

ภาพข่าวสยามนิกร ฉบับถัดมา (ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2490) ให้พื้นที่หน้าคู่ นำเสนอภาพอีกชุดหนึ่งจากงานพระราชทานเพลิงศพของพระยาพหลฯ บทเกริ่นนำในฉบับนี้เล่าถึงภาษิตประจำสกุลพหลโยธิน ที่ว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ” และการเสียสละของพระยาพหลฯ ในการเป็นผู้นำปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

แต่สิ่งที่ยิ่งน่าประทับใจก็คือ การเปิดพินัยกรรมของพระยาพหลฯ ซึ่งทำให้ทราบกันในภายหลังจากที่งานพิธีผ่านพ้นไปเสียแล้วว่า อันที่จริงพระยาพหลฯ ได้ระบุในพินัยกรรมให้จัดงานศพของตนอย่างเรียบง่าย อีกทั้งสมบัติที่ถูกแบ่งตามพินัยกรรมก็มีเพียงพระพุทธรูป ภาพวาด และที่ดินไม่กี่แปลงเท่านั้น ดังรายละเอียดที่คัดมาต่อไปนี้

ภาพข่าวสยามนิกร ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2490

ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ

นี่เปนคติธรรมประจำสกุล “พหลโยธิน” ซึ่งเราท่านทั้งหลายย่อมปฏิเสธกันไม่ได้ว่าจนกระทั่งนาฑีสุดท้าย ท่านนายพลเอกผู้นี ได้ไว้ลายชาติชายแก่ “พหลโยธิน” เปนอย่างมากเพียงไร แม้จนกระทั่งประเทศชาติเข้าที่คับขันก็ตาม

คนทั้งประเทศชินหูคำว่า “พระยาพหล” เมื่อนายพลเอกก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เปนผลสำเร็จในนามของหัวหน้าคณะก่อการนั้น ท่านนายพลเอกได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบการปกครองประชาธิปไตย ท่านนายพลเอกเปนผู้เสียสละ – แน่ละ ถ้าหากการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญไม่เปนผลสำเร็จ อะไรเล่าจะบังเกิดขึ้นแก่ท่านนายพลเอก อย่างน้อยก็ในฐานะที่เปนหัวหนาคณะ ย่อมจะต้องเสี่ยงมากกว่าคนใดคนอื่นเปนธรรมดา

ประวัติศาสตร์ย่อมจะจารึกไว้ตอนหนึ่งในยามที่ประเทศชาติเข้าที่คับขันเหลือเกินแล้ว เราก็ได้ท่านนายพลเอกผู้นี้เข้ามาในวงราชการ ในสมัยที่หาบุคคลให้เหมาะสมแก่ตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ซึ่งโปรดเกล้าให้ยกเลิกนั้น ถ้าไม่ได้ท่านนายพลเอกผู้นี้ก็เปนน่ากลัวว่า บ้านเมืองในขณะนั้นยุ่งกันแน่ ดังนั้นในการประกาศแต่งตั้งแม่ทัพใหญ่ จึงต้องมีคำว่าพระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อท้ายยศที่ว่า “นายพลเอกพจน์ พหลโยธิน” ซึ่งเปนพระยาพหลที่ทหารทั้งหมดคุ้นและเจนหูอยู่แล้ว การยอมรับตำแหน่งแม่ทัพใหญ่จึงต้องนับว่าเปนการเสียสละอยู่ เพราะในขณะนั้นอิทธิพลของผู้บัญชาการทหารสูงสุดมีอยู่เปนอย่างไร ใครก็ย่อมรู้ดี

คุณธรรมของท่านนายพลเอกเปนที่น่าจับใจ มีมิตรมากกว่าศัตรู ท่านเปนคนสมถะดังนั้นตลอดเวลาราชการของท่านผูนี้ โดยที่ว่าไม่รู้จักว่าคำ “กอบโกย” คืออะไร ในพินัยกรรมของท่านนั้น ส่วนใหญ่จึงเปนพระพุทธรูป และภาพน้ำมันทั้งนั้น มีที่ดินอยู่ ๓ แปลง แปลงหนึ่งก็เปนป่าทางแม่น้ำโขงอีก ๒ แปลงก็ไม่มากมายอะไรเลย

ข้อที่แสดงให้เห็นว่า ท่านนายพลเปนผู้ที่มักน้อยเพียงใดนั้น เห็นได้จากเจตน์จำนงอันแน่วแน่ของท่านเอง ซึ่งว่าไว้ในพินัยกรรม์ว่า เมื่อท่านถึงแก่กรรมแล้ว ขอให้จัดการเผาภายใน ๗ วัน ถ้าหากจำแปนก็ไม่เกิน ๕๐ วัน ทั้งนี้มีเงื่อนไขด้วยว่า ให้จัดพิธีกรรมภายในวงเงินที่ท่านเปนสมาชิกคณะราษฎร์อยู่

แต่โดยเหตุ ๒ ประการ คือ การเปิดพินัยกรรมได้กระทำลงเมื่องานพระราชทานเพลิงศพผ่านไปแล้วประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง ท่านนายพลเอกเปนวีรชนที่ทำคุณงามความดีไว้เปนเอนกประการจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกษฐทอง และโปรดเกล้าฯ จัดการศพโดยสมเกียรติ

ชีวิตและร่างกายดับไปแล้ว แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณยังคงอยู่ ท่านนายพลเอกได้ล่วงลับไปแล้วในอาการสงบ แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านนายพลเอก ย่อมจะเปนเครื่องประดับตระกูลตลอดจนชั่วกัลปาวสานต์ สถิตย์อยู่ด้วย “ชาติเสือต้องไว้ลายชาติชายต้องไว้ชื่อ” อันเปนภาษิตต้นสกุลของ “พหลโยธิน”

 

อุดมคติของเชษฐบุรุษ

สยามนิกร 21 ก.พ. 2490

“คุณทำงานอย่าใช้อำนาจพร่ำเพรื่อจะเปนการทำลายหลักประชาธิปไตยและทำลายตัวเอง เพราะอำนาจนั้นเหมือนน้ำในถ้วยแก้ว ถ้าเทน้ำบ่อยๆ ในไม่ช้าน้ำก็จะหมดถ้วยแก้ว อำนาจที่จะใช้ต้องบรรจงใช้ให้ถูกต้องตามความยุตติธรรม”

ช.ศรีสรากร ผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ได้อ้างคำพูดข้างต้นของพระยาพหลฯ ไว้ตอนหนึ่งในบทความ “อุดมคติของผู้ก่อการ” ซึ่งตีพิมพ์ในสยามนิกร  วันที่ 21 ก.พ. 2490 เขาเล่าว่า ในกลุ่มผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 นั้น มีอุดมคติ 10 ประการซึ่งยึดถือร่วมกันอยู่ และเขาเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ สันติบาลใต้ดิน 2 แต่ “เนื่องจากหนังสือสันติบาลใต้ดินได้ลงไปอยู่ใต้ดินเสียแล้ว อุดมคตินั้นจึงไม่แพร่หลายแก่นักอ่านหนังสือ ข้าพเจ้าจึงนำมากล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้ตรงกับวันทำบุญ ๗ วันของท่านพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำปฏิวัติ ๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕”

ทั้งนี้อุดมคติ 10 ประการที่ ช. ศรีสรากร อ้างถึงมีดังนี้

1.เราต้องมีพระเจ้าแผ่นดินเหมือนเดิม 2.เราต้องทำเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น 3.เราต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน  4. เราต้องมีความเห็นอันเที่ยงตรง 5. เราทำเพื่อมุ่งจรรโลงประเทศให้ก้าวหน้า  6. เราต้องไม่ทรยศต่อชาติ  7. เราต้องไม่เย่อหยิ่งลืมตัว  8. เราต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต  9. เราต้องมีความประพฤติดี  10. เราต้องรักษาหน้าที่โดยเด็ดขาดและเที่ยงตรง

ใน “อุดมคติของผู้ก่อการ” ช.ศรีสรากร ได้แจกแจงเป็นรายข้อให้เห็นว่าพระยาพหลฯ ได้รักษาอุดมคติทั้ง 10 ประการไว้ “อย่างบริบูรณ์” เช่นในข้อที่ว่า “เราต้องเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน “ เขาก็ขยายความว่า

เจ้าคุณพหลเปนบุคคลที่เคารพความเห็นของคนอื่น ไม่เหยียดหยามความเห็นของใครๆ เปนผู้ที่มีวิญญาณของนักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ความเห็นขัดแย้งใดๆ ท่านยินดีรับฟังด้วยความเต็มใจไม่ดื้อรั้นแต่อย่างใดเลย ท่านถือว่ามนุษย์ทุกคนมีมันสมอง และทุกๆ มันสมองไม่เหมือนกัน ถ้าหลายๆ สมองช่วยกันคิด ช่วยกันทำ งานจะก้าวหน้าไปด้วยดี และก้าวไปในส่วนรวมเปนผลดีต่อมาตุภูมิของตนเอง

บทความ “อุดมคติของผู้ก่อการ” บอกเราว่า นอกจากพระยาพหลฯ จะมี “ดวงใจแห่งประชาธิปไตย” แล้ว เขายัง “มีความเห็นเที่ยงตรงทุกเมื่อ” “เปนคนละมุลละไม มีความเคารพต่อตัวเอง และมีความบังคับจิตต์ตัวเองอย่างดียิ่ง” และยัง “เปนพระเจ้าแห่งความซื่อสัตย์” จึงควรแก่การสรรเสริญ

หนึ่งวันหลังจากที่บทความนี้ตีพิมพ์ ชื่อพระยาพหลฯ ก็ปรากฏที่พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งของ สยามนิกร อย่างมีสีสันและสะเทือนใจ

“ปรีดีมาก็ถามถึงพระยาพหลฯ” สยามนิกร 22 ก.พ. 2490

นั่นคือรายงานข่าวการเดินทางกลับจากการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสผู้ซึ่งเพิ่งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปไม่กี่เดือน ภายหลังกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 รายละเอียดคัดมาดังนี้

รัฐบุรุษอาวุโส – ปรีดี พนมยงค์ ได้บินมาถึงกรุงเทพฯ ในท่ามกลางความต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่ง เมื่อเย็นวันที่ ๒๐ เดือนนี้ สถานีการบินน้ำคลองเตยแออัดไปด้วยผู้คนราวกับปลาซาร์ดินยัดในกระป๋อง นอกไปจากรัฐมนตรี ประธานสภา ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแล้ว บรรดากรรมกรหลายประเภท ได้พากันแห่ไปต้อนรับกันคับคั่ง สมาคมจีนมากกว่า ๒๐ สมาคมได้พากันชักป้ายแลดูสลอนสพรึบไปหมดตลอดชานชาลาสถานี อันมีข้อความต่างๆกันเปนต้น “เราต้อนรับรัฐบุรุษอาวุโสผู้เชื่อมสัมพันธไมตรีไทยจีน” “นายปรีดีผู้ก่อกำเนิดประชาธิปไตยจงเจริญ” “ต้อนรับนายปรีดีนักประชาธิปไตย …

รัฐบุรุษอาวุโสได้กล่าวตอบคำถามของผู้ไปต้อนรับอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ก่อนจะขึ้นรถยนตร์รัฐบุรุษอาวุโส ได้ถามถึงเชษฐบุรุษพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รายงานให้ทราบในทันใดว่า ในวันนั้นจะได้มีพระราชทานพระราชกุศลทักษิณานุสสรณ์ ซึ่งเปนที่เข้าใจว่ารัฐบุรุษอาวุโสต้องรีบไปคำนับศพในวันนั้นอย่างแน่นอน  …

จากท่าเรือโดยไม่แวะทำเนียบ รัฐบุรุษอาวุโสได้รีบรุดไปคำนับศพท่านเชษฐบุรุษโดยทันที หลังจากนั้นก็ตรงดิ่งไปยังวัดเบ็ญจมบพิตร์ เพื่อเยี่ยมศพ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์  ซึ่งเคยเปนรัฐมนตรีในชุดของท่านด้วย

อย่างไรก็ดี ในระหว่างสืบค้นข้อมูลตามที่เล่ามานี้ ดิฉันมีข้อสงสัยว่าคำว่า “เชษฐบุรุษ” ที่กลายมาเป็นสมญาของพระยาพหลฯนั้น คือเชษฐบุรุษอย่างไร แล้วก็บังเอิญได้อ่านพบข่าวเล็กๆ ในอีกสี่ปีต่อมาในหน้าสุดท้ายของ สยามนิกร เป็นรายงานข่าวพิธีวางศิลาฤกษ์และรูปอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาพหลพลฯ ที่ ต. ปากแพรก อ. เมือง จ. กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2494 โดยมีพลเอกมังกร พรหมโยธี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และประธานกรรมการดำเนินการเรื่องนี้ กล่าวสดุดีเกียรติประวัติของพระยาพหลฯ:

สยามนิกร  24 ธ.ค. 2494 น.10

สดุดีเกียรติประวัติเจ้าคุณพหลฯ ในวันวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาล

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เปนเชษฐบุรุษที่ได้เปนผู้นำในการปกครองขอพระราชทานรัฐธรรมนูญมามอบแก่พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย […] ให้ได้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะประเทศทั้งหลายที่เจริญแล้ว ต่อมาก็ได้บำเพ็ญกรณีกิจในประการอื่นๆ เปนประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองมาเปนเอนกประการ อาทิเช่น ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ตลอดจนเปนนายกรัฐมนตรีในสมัยหนึ่ง ส่วนตำแหน่งในราชการประจำขั้นสุดท้าย ก็ได้เปนผู้บัญชาการทหารบกผ่านการปกครอง บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานที่สำคัญมาเปนอันมาก

ในทางอัธยาศัยส่วนตัว ท่านก็ได้วางตนไว้ในฐานะท่านผู้ใหญ่ที่เหมาะสมเปน […] รักนับถือทั้งผู้ที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนประชาชนพลเมืองเปนส่วนมาก เมื่อใครได้เข้าใกล้ชิดแล้วก็จะรู้ว่าท่านเต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ย่อมเปนที่เคารพนับถือแก่บุคคลทั่วไป นับว่าไม่มีสิ่งที่บกพร่องจะตำหนิติเตียนได้แม้แต่น้อย ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงได้ยกย่องสรรเสริญและตั้งท่านไว้ในที่เชษฐบุรุษ

ด้วยคุณงามความดีของท่านที่มีมาในหนหลังดังกล่าวแล้ว จึงเปนการสมควรจะได้สร้างอนุสาวรีย์ขึ้นไว้เปนที่ระลึก และเห็นว่าการสร้างโรงพยาบาลและสร้างรูปอนุสาวรีย์พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ไว้หน้าโรงพยาบาลย่อมจะได้ประโยชน์กว้างขวาง ที่จะได้ทั้งเปนส่วนบุญส่วนกุศลแก่ท่านตลอดไปมิขาดสาย ได้ประโยชน์แก่ประชาชนผู้เจ็บไข้จะได้ใช้เปนที่รักษาพยาบาล ด้วยเหตุนี้ท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนนตรี จึงได้มอบให้กระทรวงมหาดไทเปนผู้ดำเนินการ และตั้งคณะกรรมการขึ้น ……

เหตุที่คณะกรรมการได้เลือกสร้างโรงพยาบาลและอนุสาวรีย์ ณ จังหวัดกาญจนบุรีนี้ ก็เพราะท่านพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา มีนิวาสถานและสนใจที่จะทะนุบำรุงจังหวัดกาญจนบุรีมาเปนเวลาช้านานแล้ว จึงคิดว่า ท่านมีญาณวิถีใดที่สามารถจะทราบได้ คงจะเปนที่สบใจท่านตามปรารถนา ….

ดิฉันไม่เพียงดีใจที่ได้ค้นพบและเข้าใจความหมายของ “เชษฐบุรุษ” จากข่าวนี้ แต่ยังอดชื่นชมไม่ได้กับความคิดอันยาวไกลของคณะกรรมการดำเนินการภายใต้การกำกับของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่รำลึกถึง “พี่ใหญ่” ของคณะราษฎร ด้วยการสร้างโรงพยาบาล ซึ่งยังคงเปิดให้บริการอยู่มาจนทุกวันนี้ แม้เรายังไม่อาจรู้ได้ว่า รูปปั้นอนุสาวรีย์และชื่อของโรงพยาบาลแห่งนั้นจะถูกลบทำลายด้วยเหตุว่าไม่เป็นที่สบใจของผู้ใดอีกหรือไม่ แต่ความรับรู้ต่อที่มาของนาม และที่มาของอนุสรณ์สถานอันมีไว้บำบัดความป่วยไข้ของราษฎรแห่งนั้น จักไม่ลบเลือนหาย

หากพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีญาณวิถีใดที่จะสามารถทราบได้ คงเป็นที่สบใจ

ยิ่งถูกทำให้ลืม ยิ่งจะจดจำให้ได้
ยิ่งถูกทำลาย ยิ่งจะรักษา.

 

1 ภาพจาก ภาพข่าวสยามนิกร ที่ใช้ในบทความนี้ มาจากเอกสารในรูปแบบไมโครฟิล์มจากหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งดิฉันถ่ายภาพมาด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ แล้วกลับไฟล์ภาพด้วยโปรแกรมโฟโตช็อปอีกทีหนึ่ง  ทั้งนี้ ที่ส่วนต้นของไมโครฟิล์มระบุข้อมูลเอกสารว่า “ภาพข่าวสยามนิกร ปีที่ ๑-๒-๓  ฉบับที่ ๒-๓๒ พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๒” ในขณะที่เนื้อในของภาพข่าวสยามนิกร ไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นฉบับตีพิมพ์ในเดือนใด และไม่มีภาพปก จึงต้องอนุมานจากการเรียงลำดับว่า ภาพชุดงานบรรจุศพพลเอก พระยาพหลฯ มาจาก ภาพข่าวสยามนิกร ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๙๐ ส่วนฉบับถัดมาซึ่งมีภาพชุดงานพระราชทานเพลิงศพพลเอก พระยาพหลฯ มาจาก ภาพข่าวสยามนิกร ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๙๐  เนื้อหาและคำบรรยายภาพที่คัดมาทั้งหมด จะคงรูปแบบการสะกดคำต่างๆ ไว้ตามต้นฉบับ

2 อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ชลอ ศรีศรากร หรือขุนศรีศรากร และหนังสือ สันติบาลใต้ดิน ได้ใน อ่านแล้ว อ่านเล่า: ปริทัศน์หนังสือเก่าและหนังสือหายาก โดย ศรีดาวเรือง (สำนักพิมพ์อ่าน, 2557) https://readjournal.org/product/aanlaewaanlao/