“สยามใหม่” ดูเหมือนเป็นคำสำคัญคำหนึ่งในคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” ในนิตยสารรายเดือนสายธาร[1] ฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งออกวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2501 “กุลิศ” ผู้เขียนคอลัมน์เอ่ยถึงคำนี้อยู่สองครั้ง เมื่อเขาเล่าถึงหนังสือสี่เล่มที่เขาส่งไปให้ “คุณเสนีย์ที่รักยิ่ง” อ่าน ได้แก่ ลำนำแห่งเจ้าพระยา, ตำราแม่ครัวหัวป่าก์, วรรณคดีกับชีวิต และ ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ และคงเป็นคำนี้กระมังที่พาให้กุลิศ ลงท้ายจดหมายว่า “ด้วยรักแห่งรัก”[2]
ในปี 2501 นั้น ทั้งกุลิศ (อัศนี พลจันทร) และเสนีย์ เสาวพงศ์ (ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์) ต่างก็อยู่ในวัยสี่สิบปีเท่ากัน เสนีย์ในขณะนั้นรับราชการเป็นนักการทูตอยู่ที่อาร์เจนตินา แต่เขาก็เขียนเรื่อง “ล่องใต้” ส่งมาลงตีพิมพ์ใน สายธาร ด้วย
ส่วนกุลิศ หลังกรณี “กบฏสันติภาพ” แล้ว เขาลาออกจากอาชีพอัยการในวันสิ้นปี 2495 หลังจากนั้นได้ไปศึกษาที่สถาบันลัทธิมาร์กซ์-เลนินที่ปักกิ่งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาเริ่มเขียนงานลงในหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารอีกครั้ง
ใน “จดหมาย” ฉบับแรกของคอลัมน์จดหมายในหมู่มิตร กุลิศทำทีเล่าว่า เดิมเขาตั้งใจจะเขียนจดหมายและส่งไปให้เสนีย์พร้อมกับหนังสือสี่เล่มข้างต้น แต่บังเอิญว่าทองเติม เสมรสุต บรรณาธิการของ สายธาร ผู้เป็นเพื่อนของทั้งเขาและเสนีย์ ได้มาเห็นจดหมายฉบับนี้เข้า ในที่สุดมันจึงกลายมาเป็นงานเปิดคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” ดังกล่าว
แต่ความรักอะไรกันที่พาให้กุลิศลงท้ายจดหมายฉบับลงวันที่ “20 มี.ค. 1958” เช่นนั้น คงต้องค้นหาร่องรอยจากการงานของคนทั้งสอง เช่นในจดหมายฉบับนี้ เราจะเห็นว่า กุลิศเริ่มต้นโดยเล่าถึงความป้ำเป๋อของเขา ที่เกือบจะส่งหนังสือเรื่อง ปีศาจ ไปให้เสนีย์ เสาวพงศ์ อ่าน ทว่าโชคดีที่ได้ทันหยิบมันออกจากห่อหนังสือก่อนจะตีตราครั่งส่งไปรษณีย์
ต่อจากนั้นเนื้อหาในจดหมายก็เข้าสู่หนังสือทั้งสี่เล่มอย่างชวนอ่าน
กุลิศแนะนำ ลำนำแห่งเจ้าพระยา เป็นเล่มแรก เจ้าของนามปากกา “นายผี” เล่าว่า เขาอ่านหนังสือกาพย์กลอนที่เพิ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปีนั้นอย่างมีความหวัง เพราะได้เห็นว่าวงการหนังสือกำลังมีนักกลอนและกวีหนุ่มสาวหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายคน อีกทั้งกาพย์กลอนหลายบทในหนังสือเล่มนี้ ก็ใช้สำนวนใหม่ๆ ใน เช่น “ดวงเดือนรูปเคียว”, “สารธารแห่ง…”
เขาบอกเสนีย์ว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลังจะกลายเป็น “ความพากพูมของสยามใหม่” (น.17)
เมื่ออ่านต่อไปเราจะพบว่า กุลิศคงรู้จักคุ้นเคยกับครอบครัวของเสนีย์อยู่ เขาจึงพูดถึง ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ อย่างออกรสว่า
“ผมส่งมาให้คุณทั้งสองคน; มิใช่เจาะจงส่งมาให้คนรัก[3]ของคุณแต่ผู้เดียว; แลที่สำคัญที่สุดก็คือ อย่าไปเข้าใจว่าผมส่งมาเพื่อให้มันมาต้อนคนรักของคุณเข้าครัวไฟไป.” (น.18)
กุลิศยังแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า นักเขียนและนักประพันธ์ไม่จำเป็นต้องรู้อะไรมากไปกว่าหนังสือที่พวกเขาเขียนขึ้น เขาเสนอตรงกันข้ามว่า ถ้าหากนักเขียนและนักประพันธ์ของไทยเรา “ปรารถนาที่จะเป็นวิศวกรผู้สร้างวิญญาณแห่งสยามใหม่” (น.18) เขาก็จะต้องขวนขวายหาความรู้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งความรู้จากในหนังสือ และความรู้ในชีวิตจริง
กุลิศเปรียบเทียบ ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ กับหนังสืออัตชีวประวัติของ อูลาโนว่า[4] นักเต้นระบำปลายเท้าชาวรัสเซีย ที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าศิลปินที่แท้นั้น มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร มุ่งหวังในเรื่องใด เขาเห็นว่า ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ก็เป็นงานในทำนองเดียวกัน จึงไม่ควรอ่านอย่างเป็นตำราอาหารเท่านั้น
“คุณทั้งสองน่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างนักเขียนอ่านหนังสือของนักเขียน” (น.18)
หนังสือเล่มถัดมา วรรณคดีกับชีวิต ของบรรจง บรรเจอดศิลป์ กุลิศถือโอกาสเล่าถึงการถกเถียงกันว่าด้วยเรื่อง “ศิลปะบริสุทธิ์/ศิลปะเพื่อศิลปะ” กับ “ศิลปะเพื่อชีวิต/ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นความก้าวหน้าของวงการศิลปวรรณคดีไทยในระยะนั้น
กุลิศได้ขอให้เสนีย์ช่วยพิจารณาและแลกเปลี่ยนความเห็นในข้อปัญหาดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนตัวเขาก็เขียนความเห็นในส่วนของเขาไปอีกยืดยาวอย่างเชื่อมั่น ว่าแวดวงศิลปวรรณคดีมีทิศทางที่ “ก้าวรุดหน้าไปอย่างดีและมีพลัง สมกับที่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของวงการศิลปะวรรณคดีแห่งโลก!” (น. 24)
น่าชื่นชมระคนประหลาดใจ ที่กุลิศรักษาความฝันความหวังของเขาเอาไว้ได้ ทั้งที่เขาและเสนีย์ก็เป็นสองคนในจำนวนนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ตลอดจนประชาชนอีกมาก ที่บ้างก็ต้องติดคุก หรือแตกกระจัดพลัดพรายกันไป เมื่อเกิดกรณีกบฏสันติภาพวันที่ 10 พ.ย. 2495 หรือห้าปีก่อนหน้าที่เขาจะเขียนจดหมายฉบับนี้
บางที การงานในช่วงตึงเครียดอย่างยิ่งของสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่เป็นผลดีต่อแวดวงศิลปะวรรณคดีเพื่อประชาชน อาจส่งผลกลับทิศทาง กลายเป็นการขัดเกลาและหล่อหลอมความเข้มแข็งภายในจิตใจให้กับคนรุ่นพวกเขากระมัง
ย้อนกลับไปในปีแห่งความยุ่งยาก พ.ศ. 2495 ในขณะที่กุลิศกำลังทุ่มเททำงานกับ การเมืองรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หลักในการคัดค้านรัฐบาลไทยส่งทหารเข้าร่วมสงครามเกาหลี และรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อเรียกร้องสันติภาพ จนมีรายชื่อผู้สนับสนุนถึงหลักแสนราย[5]
เสนีย์ในตอนนั้นก็ขะมักเขม้นอยู่กับการงานของเขาเช่นกัน นามปากกา “วัลยา” และ “วัลยา ศิลปวัลลภ” แห่งคอลัมน์ “หนังสือ” (บางครั้งใช้ว่า “หนังสือศิลป”) ได้แนะนำและวิจารณ์หนังสืออย่างหลากหลายให้ผู้อ่าน สยามนิกร ได้เปิดโลกทรรศน์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็น “ความรักของเยนแอร์”, “กระท่อมน้อยของลุงทอม”, หรือ “จาก ‘พระลอ’ และ ‘ศรีบูรพา’” ฯลฯ[6]
แต่งานหนึ่งที่กุลิศกับเสนีย์ รวมทั้งเพื่อนในแวดวงนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักศึกษา มีส่วนร่วมกันครั้งสำคัญก็คือ ปาฐกถาภาคฤดูร้อนที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รายการหนึ่งที่จัดขึ้น เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2495 มีเสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นปาฐก ก็คือ “การประพันธ์กับสังคม”
ว่ากันว่าปาฐกถาครั้งนี้มีผู้ฟังกว่าพันคน “ในจำนวนนี้มีนักประพันธ์หลายท่าน เช่นศรีบูรพา, ร.จันทพิมพะ, ขัดติยา อมรทัต, และนักหนังสือพิมพ์เช่นอุทธรณ์ พลกุล และสุรีย์ ทองวาณิช, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคน” (สยามนิกร, 3 เม.ย. 2495) อัศนีได้เขียนบทวิจารณ์และกล่าวถึงปาฐกถานี้อย่างชื่นชมลงในหนังสือพิมพ์ปวงชนรายสัปดาห์ ในเวลาต่อมาด้วย[7]
ทั้งนี้ บางส่วนของปาฐกถา มีรายงานข่าวไว้ดังนี้:
ปาฐกกล่าวถึงความเปนมาของวรรณคดี และความหมายของวรรณคดีในภาษาต่างประเทศและให้คำจำกัดความวรรณคดีว่าเปนการคิดในปฏิมา (image) การประพันธ์เปนการสท้อนชีวิตและลำแสงความเปนจริงของสังคม และเพราะเหตุนี้ นักประพันธ์จึงอาจเปนผู้นำความรู้สึกนึกคิดของคนอ่านให้ก้าวหน้าหรือถอยหลังได้ทั้งสองสถาน …
ปาฐกได้อธิบายคำว่าความก้าวหน้านั้น เปนศัพท์ที่เกิดในปลายศตวรรษที่ 17 ต้นศตวรรษที่ 18 เกี่ยวข้องกับความเจริญเติบโตของชนชั้นกลาง ในยุคนี้เริ่มพัฒนาการทางอุตสาหกรรมอันมีผลเปลี่ยนแปลงสังคมศักดินาล้มหายไป อันเปนที่มาของความคิดในความก้าวหน้าสังคมครั้งแรกเกิดขึ้น ต่อมาภายหลังได้มีการแปลความหมายไปหลายนัย บางคนว่า มนุษย์ไม่สามารถจะก้าวหน้าไปได้ดีกว่าที่เปนอยู่ นอกจากถอยหลังออกไปอยู่กับธรรมชาติอย่างเก่า บางคนอธิบายว่าเปนการแซกแซงแห่งเจตนารมย์ของสวรรค์ และบางคนก็ว่าเปนการกระทำหน้าที่ของประวัติศาสตร์นั่นเอง อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าความก้าวหน้านั้นเกิดจากความวิวัฒน์ของกำลังผลิตและวัฒนธรรมของสังคม …
ผู้พูดได้อภิปรายปัญหาศิลปกับความงามว่า ความงามของศิลปนั้นขึ้นอยู่กับความเปนจริงและความเปนจริงในชีวิตสังคมนั้นมีสภาพแตกต่างกัน มีทั้งความสุขและความทุกข์ ความดีและความชั่ว ความงามและความอัปลักษณ์และคนก็เช่นเดียวกันมีทั้งคนซื่อและคนคด คนสุภาพเรียบร้อยและถ่อยอันธพาล หน้าที่ของศิลปินจึงไม่แต่เพียงจะพูดถึงความงามธรรมดาเท่านั้น ถ้าสท้อนความชั่วช้าให้เห็นจริงจังได้เพียงใดก็เปนความงามทางศิลปเพียงนั้น แต่การสท้อนความชั่วช้านี้ก็เพื่อให้คนขยะแขยงและชิงชัง เพื่อมิให้มีความชั่วช้าเกิดขึ้นได้ต่อไป เช่นเดียวกันกวีเก่าๆ มักจะพูดแต่ความงามของธรรมชาติจนเพ้อเจ้อไม่สำแดงความทารุณแห้งแล้งทุรกันดาร และปลุกให้มนุษย์ต่อสู้กับธรรมชาติอันเปนวัตถุดิบ และเปลี่ยนแปลงธรรมชาตินั้นมาเพื่อเปนประโยชน์แก่ชีวิตของมนุษย์เราเอง …
ในปัญหาที่ว่าจะเขียนอย่างไรดีสำหรับนักเขียนผู้เริ่มแรก ผู้พูดได้ยกคำแนะนำของกอร์กีมาเปนเครื่องประกอบ กอร์กีตอบจดหมายนักเขียนที่เขียนมาถามว่า “ท่านถามว่าจะเขียนอย่างไรดี จงเขียนเถิด-เขียนเหมือนกับว่าท่านเปนพยานในการพิจารณาพิพากษาคดีระหว่างธรรมกับอธรรม”
ผู้ฟังปาฐกถาอันจับใจในวันนั้นคงไม่รู้ว่า ในอีกราวครึ่งปีต่อจากนั้น จะเกิดกรณีกวาดจับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนสันติชนที่พยายามเรียกร้องสันติภาพถึง 104 คนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 (และเพิ่มจำนวนขึ้นอีกในเวลาต่อมา) แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกห้าปี ผู้ที่ติดคุกซึ่งทยอยกันได้รับอิสรภาพเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป และผู้ที่หลบหนีไปในวันนั้น ก็เริ่มกลับมาปักธงต่อสู้ของพวกเขากันต่อไปตามแต่ความคิดความเชื่อและวิธีการที่ตนถนัด
และนิตยสารสายธาร ก็คือพื้นที่หนึ่งที่อัศนี เสนีย์ รวมทั้งเพื่อนร่วมชะตากรรมในครั้งนั้นบางส่วนเลือก
ในหนังสือเล่มที่สี่ที่กุลิศแนะนำให้เสนีย์อ่าน คือ ฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ นั้น กุลิศมองว่างานเขียนของตุล ศิริทรรศน์ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดของปัญญาชนที่มีจิตใจดีงาม และพยายามแสวงสัจธรรมกับทางออกไปสู่อนาคต แม้ในบางครั้งจะพบกับความผิดหวังมืดตื้อก็ตาม
“แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม, โลกของเราย่อมก้าวหน้าไป, อนาคตย่อมเป็นของผู้ไม่ท้อแท้ … การที่ได้ประสพสิ่งไม่ดีไม่งาม, ได้มาพบกับความผิดหวังนี่แหละที่จะสอนเรา, เตือนและกระตุ้นใจเรา, ทำให้เราเกิดความมานะพยายามดิ้นรนขวนขวายไปหาทางใหม่ ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้เราพบทางออกอันถูกต้อง, พบหนทางอันแล่นลิ่วไปสู่อนาคตอันสดใสโน้นนั้น, ฉะนั้นมันก็ยังเป็นสิ่งที่ยังมีข้อดีอยู่แน่เทียว ในเรื่องร้ายนั้นก็ย่อมจะมีส่วนที่ดีของมัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะรู้จักหลีกเลี่ยงส่วนที่ร้าย และรู้จักใช้ส่วนที่ดีให้เป็นประโยชน์แก่เราและแก่โลกได้แค่ไหนอย่างไรต่างหาก” (น.24-25)
หลังจากผ่านเรื่องร้ายมาห้าปี เมื่อกุลิศและเสนีย์ต่างก็กำลังจับปากกาเพื่อสร้างความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนว่ากุลิศได้อาศัยงานเขียนวิจารณ์หนังสือในรูปแบบของจดหมายของเขาฉบับนี้ ปลุกปลอบให้กำลังใจเสนีย์ รวมทั้งเพื่อนพ้องของเขา (และตัวเขาเองเช่นกัน) ความหวังของกุลิศที่จะการใช้งานเขียนเปลี่ยนแปลงสังคมยังปรากฏใน “จดหมายในหมู่มิตร” ฉบับต่อๆ ไปอีกด้วย
“หวังว่าอีกไม่นานเราก็คงจะได้พบกัน” ประโยคสุดท้ายของจดหมายฉบับแรกจบไว้อย่างนี้
กุลิศได้พบเสนีย์สมดังหวังหรือไม่? เราไม่รู้ แต่หลังจากนั้นอีกเพียงราวสองปี อัศนี พลจันทร ก็ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปบุกเบิกงานที่สถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) ที่ฮานอย เวียดนาม เพื่อสานต่อความหวังของเขาและเพื่อนๆ ที่จะก้าวหน้าไปสู่สยามใหม่ด้วยรักแห่งรักนั้นต่อไป.
เชิงอรรถ
[1] นิตยสารฉบับนี้ออกวางจำหน่ายได้เพียงหกฉบับ คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม 2501 แล้วก็ต้องพับฐานไปหลังจากที่สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองในเดือนตุลาคมปีนั้นเอง
[2] จดหมายฉบับนี้คืองานเขียนในคอลัมน์ “จดหมายในหมู่มิตร” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน สายธาร (พ.ค. 2501) และรวมเล่มอยู่ใน อัศนี พลจันทร, ในสายธาร รวมข้อเขียนสังสนทนาว่าด้วยการประพันธ์ (กรุงเทพฯ: อ่าน), 2561 การอ้างอิงเลขหน้าต่อจากนี้จะใช้ตามฉบับสำนักพิมพ์อ่าน และสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ ในสายธาร เพิ่มเติมหรือสั่งซื้อได้ที่ https://readjournal.org/product/naisaitaan/
[3] คนรักของเสนีย์ เสาวพงศ์ คือ เครือพันธ์ ปทุมรส บุตรสาวของเฉลียว ปทุมรส หนึ่งในสามผู้ถูกกล่าวหาในคดีสวรรคต รัชกาลที่ 8
[4] Galína Sergéyevna Ulánova นักเต้นระบำปลายเท้าชาวรัสเซียผู้ได้รับการยกย่องว่าเยี่ยมยอดที่สุดในศตวรรษที่ 20
[5] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน วิวัฒน์ คติธรรมนิตย์, กบฏสันติภาพ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2539.
[6] “ความรักของเยนแอร์ กับคำวิจารณ์ของเบนต์ลีย์” (โดย วัลยา, สยามนิกร, 3 ส.ค. 2495), “วรรณคดีอเมริกันที่สท้อนภาพชีวิตทาสนิโกร กระท่อมน้อยของลุงทอม” (โดย “วัลยา ศิลปวัลลภ”, สยามนิกร, 17 ส.ค. 2495), “หลักการใหม่ของการวิจารณ์ศิลปวรรณคดี จาก ‘พระลอ’ และ ‘ศรีบูรพา’” โดย “วัลยา” (สยามนิกร, 10 ส.ค. 2495)
[7] เนื้อหาของปาฐกถาภาคฤดูร้อนของปีนี้ทั้งห้ารายการ รวมทั้งบทวิจารณ์ของอัศนี มีผู้รวบรวมจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือชื่อ มหาชนทรรศนะ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เฉพาะบทวิจารณ์ปาฐกถาทั้งห้ารายการมีรวมอยู่ใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 3 จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์อ่าน และสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือเพิ่มเติม หรือสั่งซื้อได้ที่ https://readjournal.org/product/article-vol3/
หมายเหตุ: ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจสำนักพิมพ์อ่าน วันที่ 31 ธันวาคม 2561