อ่านนายผี “70 ปีก่อนที่ ‘บริเวณ 7 หัวเมือง’ ” (2)

ห้องรับรองภายในมูลนิธิฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ภาพโดยเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์

“คอดียะห์ทีรัก การที่พี่มาติดคุกครั้งนี้ น้องไม่ต้องเสียใจ มันเป็นตักเดรของพระผู้เปนเจ้า ให้น้องคิดเสียว่า พี่จากบ้านเกิดเมืองนอนไปร่ำเรียนที่ต่างประเทศ วันไหนที่พี่ถูกปล่อยตัว ก็จะกลับไปพัฒนาประเทศของเราต่อไป”

ข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ถึงภรรยา จากการอ่านให้ฟังโดยคุณจตุรนต์ เอี่ยมโสภา ในระหว่างการสนทนาที่มูลนิธิฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา วันที่ 14 มกราคม 2561 (คำว่า “ตักเดร” เข้าใจว่าหมายถึงชะตาหรือลิขิต)

นอกเหนือจากวงเสวนาเรื่อง “นายผี กับ ‘บริเวณ 7 หัวเมือง’” ดังที่เล่าไปคราวก่อนแล้ว ในเช้าวันเดียวกันนั้น ดิฉันยังได้ไปเยี่ยมมูลนิธิฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ซึ่งไม่เพียงเป็นโอกาสเรียนรู้เกี่ยวกับผู้นำชนมุสลิมคนสำคัญ แต่สถานที่แห่งนี้จะนำทางดิฉันให้พบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับนายผีต่อไปด้วย

ทว่าในวันนั้นดิฉันละลานตาอยู่กับข้อมูลเอกสารต่างๆ จึงไม่ทันสังเกตเห็นชื่อ “อัศนี” ในบันทึกลายมือของนายแพทย์เจริญ สืบแสง ซึ่งเป็นกรอบรูปแขวนติดอยู่ข้างฝาด้านหนึ่ง และกว่าจะรู้ว่ามีชื่อ “อศนี” แทรกอยู่เงียบเชียบในจดหมายส่วนตัวของท่านฮัจยีสุหลงฉบับหนึ่งด้วย ดิฉันก็กลับมานั่งตื่นเต้นดีใจประสาพวก “ซีแย” หรือ “สยาม” อยู่ที่กรุงเทพฯ แล้ว

(ซ้าย) กรอบรูปนายแพทย์เจริญ สืบแสง (ขุนเจริญวรเวชช์) ภายในมูลนิธิฮัจยีสุหลง ด้านล่างเป็นบันทึกลายมือของ นพ.เจริญ ประจำวันที่ 20 ม.ค. 2494 และ 9 ม.ค. 2494 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ศาลฏีกาตัดสินคดีของฮัจยีสุหลง ในบันทึกลายมือนี้ มีข้อความระบุถึง “เรื่องไปเยี่ยมครูหะยี” และอีกตอนหนึ่งระบุชื่อ “สำนักงานพันธุ์” และ “อัศนี” ด้วย
(ขวา) จดหมายฉบับหนึ่งของฮัจยีสุหลงเขียนถึงภรรยาของเขาลงวันที่ 25 ส.ค. 2493 เล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาได้แจ้งขุนเจริญเรื่องตัดสินใจไม่ยื่นฎีกาคดีหลังศาลอุทธรณ์ตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน แต่ทนายพันธุ์ได้ส่งจดหมายมาแจ้งว่า “อศนี” ให้ทำเรื่องฎีกาต่อไป

อันที่จริงการเดินทางไปปัตตานีครั้งนี้ ตั้งต้นจากการพยายามตามหา ‘ฟาตีมะห์’ ผู้มีตัวตนจริงๆ เพราะเธอปรากฏอยู่ในบทสัมภาษณ์ชิ้นหนึ่งในนิตยสาร ถนนหนังสือ เมื่อปี 2528 (“ฟาตีมะห์ในมิติตัวอักษรและเลือดเนื้อ”, ถนนหนังสือ 3:4 [ต.ต. 2528], 24-25) ซึ่งเล่าว่า รู้จักกับนายผีเมื่อครั้งที่เขาไปรับราชการอยู่ที่ปัตตานีและเช่าบ้านของเธออยู่อาศัยบนถนนมะกรูดในตัวเมือง

ดิฉันจึงใช้เวลาช่วงหนึ่งตระเวนสอบถามไปตามบ้านเรือนย่านนั้น ซึ่งไม่ผิดคาด ไม่มีใครรู้จักฟาตีมะห์ที่ดิฉันกำลังตามหา ทุกบ้านพูดตรงกันว่า ถนนมะกรูดมีการก่อสร้างปรับเปลี่ยนไปจากเดิมมาก ทั้งที่อยู่อาศัยและผู้คนก็เปลี่ยนมือเปลี่ยนรุ่นไปหมดแล้ว

แต่เมื่อดิฉันดั้นด้นต่อไปตามคำแนะนำจากมูลนิธิฮัจยีสุหลงจนถึงบ้านเรือนไม้สองชั้นเก่าแก่หลังหนึ่ง ไม่ไกลจากกุโบร์จือแรบาตู ข้อมูลใหม่บางอย่างก็จุดให้ความหวังริบหรี่กลับเรืองรองขึ้นมา เมื่อเจ้าของบ้าน คือ ครูอนันต์ กับครูอำนวย วานิชรักษ์ บอกว่าทั้งสองไม่รู้จักฟาตีมะห์ที่ดิฉันตามหา แต่บ้านหลังนี้ ขุนเจริญเคยเช่าพักอาศัยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

นั่นคือเวลาเดียวกันกับที่อัศนีมาเป็นอัยการอยู่สองปี !

ในวันนั้น ดิฉันทึกทักเข้าข้างตัวเองว่า ได้เข้าไปอยู่ใต้ชายคาบ้านที่นายผีเคยมาเยี่ยมเยือนเพื่อนสนิทรุ่นพี่อยู่บ่อยๆ  ยิ่งพอได้รู้ว่าต้นกระท้อนที่ปลูกอยู่หน้าบ้านมีอายุถึงกว่าเจ็ดสิบปี ดิฉันก็คิดไปว่า บางที นายผีอาจเคยเห็นเจ้าต้นไม้นี้เมื่อมันยังเล็กอยู่ก็เป็นได้

ต่อมาภายหลัง เมื่อดิฉันสอบถามเรื่องนี้จากคุณขนิษฐ์ สืบแสง ภรรยาวัยเก้าสิบปีเศษของนายแพทย์เจริญ ก็ได้รับคำยืนยัน ว่าอัศนีแวะเวียนไปพูดคุยและกินข้าวที่บ้านหลังนี้อยู่บ่อยครั้ง และทั้งสองมักออกไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ

คุณขนิษฐ์ยังเล่าว่า นพ.เจริญนั้น บางครั้งก็นุ่งโสร่งสวมเสื้อและหมวกมุสลิม เข้าไปคลุกคลีเฮฮาอยู่ภายในบ้านของฮัจยีสุหลงด้วย ครั้งหนึ่งคนในบ้านสืบแสงไปตามหาเขาที่ร้านกาแฟ แล้วกลับมาบอกขนิษฐ์ว่าไม่พบ “แต่มีคนสวมชุดอิสลามคนหนึ่งเสียงเหมือนขุนเจริญมาก”

นี่กระมัง พหุวัฒนธรรมที่เป็นอยู่แต่เดิมในบริเวณ 7 หัวเมือง ก่อนที่ความยุ่งยากทางการเมืองจะระอุขึ้น

 “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร”

ทำไมนายผีถึงเขียนบทความเรื่องศาสนาอิสลามหลายๆ เรื่อง? เป็นคำถามในใจเมื่อดิฉันพบว่างานกลุ่มนี้เริ่มตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องใน สยามนิกร ราวปลายปี 2489 เมื่อเขาย้ายออกจากปัตตานีไปประจำที่สระบุรีแล้วสองปี

งานสองเรื่องแรกในนามปากกา อ.ส. คือ “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร” (24 พ.ย. 2489) และ “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” (9 ธ.ค. 2489) ตามมาด้วย “บริเวณ ๗ หัวเมือง” (14-21 ม.ค. 2490) หลังจากนั้นเขาขมวดประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของชนมุสลิมให้ชัดเจนไว้ในบทบรรณาธิการเรื่อง “การเมืองใน 7 หัวเมือง” ในเดือนถัดมา นอกจากนี้ยังมี “เรื่องรูปเคารพ” (11 ก.พ. 2490) และ “การในพระศาสนา” (7 ม.ค. 2491) (งานเขียนเหล่านี้ รวมทั้งเรื่องอื่นในกลุ่มเดียวกันนี้ สำนักพิมพ์อ่านรวบรวมพิมพ์อยู่ใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1-3) .

พอนับรวมกับบทความ “อิทธิพลของภาสามลายูไนภาสาไทย” ที่ตีพิมพ์ใน วรรนคดีสาร ก่อนหน้านี้ในปี 2487 กับบทความอื่นๆ รวมทั้งนิทานการเมืองที่มีกุลิศกับฟาตีมะห์เป็นตัวเอกอีกนับสิบเรื่องในภายหลัง ก็เห็นชัดว่านายผีใส่ใจใฝ่หาความรู้ในพื้นที่ที่เขาไปรับราชการอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังเปี่ยมด้วยความปรารถนาดีต่อชนมุสลิม ซึ่งเขาได้รู้เห็นกับตัวเองว่าถูกรังแกอย่างไรจากนโยบายรัฐที่ไม่ได้คำนึงถึงและไม่เข้าใจวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้ จนกลายเป็นสร้างความเดือดร้อน คับข้องใจ และบาดหมางกันต่อมา

นายผีคงประเมินว่าศาสนาอิสลามเป็นเรื่องห่างไกลจากความรับรู้ของคนนอกบริเวณ 7 หัวเมืองมากที่สุด เขาจึงศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังจนอธิบายได้ว่าอิสลามไม่ได้ต่างจากพราหมณ์ พุทธ หรือคริสต์

… มีองค์สำคัญในศาสนาอยู่คือพระจ้าวที่เรียกว่าพระอัลลาห์ และมีผู้ประกาศศาสนาเรียกว่าพระนาบีมหมัท เช่นเดียวกับที่คริสเตียนมีพระจ้าวและมีพระมหาเยซูคริสโตจ้าวเปนผู้รับเทวบัญชามาจากพระเจ้าอีกต่อหนึ่ง สรณะของอิสลามิกชนก็เช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชน คือ กล่าวว่าไม่มีใครใดอื่นอีกแล้ว นอกจากพระอัลลาห์เปนจ้าวและพระนาบีมหมัท ผู้รับเทวบัญชามาจากพระอัลลาห์เปนจ้าวพระองค์นั้น (ลา อิลหอิลลัลลาห์มหมัท ราสุลัลลาห์) ผิดกันแต่ที่พุทธศาสนานั้นสรณะอยู่ที่พระพุทธ ซึ่งเปนองค์ประกาศศาสนาเอง และพระธรรมกับพระสงค์ซึ่งเปนสาวกของพระพุทธองค์ […] ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนาไม่มีกล่าวถึงพระเจ้า และพระธรรมของอิสลามนั้นถือเช่นกับองค์พระเจ้าอยู่เองแล้ว อิสลามิกชนบูชาพระธรรม คือพระคัมภีกุรอ่านเหนือสิ่งอื่นใด เนื่องด้วยไม่มีรูปเคารพพระเจ้าหรือพระนาบีมหมัท โดยถือว่าถ้ามัวมุ่งแต่รูปเคารพเสียแล้วก็จะหลงลืมพระธรรมเสียหมด

“ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร” โดย อ.ส. พิมพ์ครั้งแรกใน สยามนิกร 24 พ.ย. 2489 พิมพ์ซ้ำรวมเล่มใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 ข้อความที่คัดมานี้อยู่ในหน้า 163-164.

ดิฉันจำได้เลาๆ ว่า ในวงเสวนาที่มีเพื่อนมุสลิมร่วมฟังด้วยนั้น ใครคนหนึ่งบอกหลังจากที่ได้อ่านเอกสารประกอบงานในวันนั้น ว่านายผีรู้หลักศาสนาอิสลามไม่ใช่แค่ผิวเผิน แต่ในระดับปรัชญาทีเดียว ดูเหมือนเขาจะยกตัวอย่างคำสองสามคำสำคัญที่มาจากคัมภีร์กุรอ่านด้วย

เมื่อกลับมาอ่านทวนและค้นหาคำที่ได้ยินมานั้นในบทความ “ศาสนาอิสลามว่าด้วยอะไร” จึงพบคำอธิบายของ อ.ส. ว่า สภาพของบุคคลในศาสนาอิสลามแบ่งออกเป็นสาม คือ หนึ่ง นัฟส_อิ_อัมมาร่ะ หรือ “สภาพแห่งความเปนสัตว์โลก ยังไม่มีธรรมะใดๆ ที่จะช่วยตกแต่งให้สภาพเดิมนั้นเจริญถูกต้องดีขึ้น” สอง นัฟส_อิ_เลาวาม่ะ เป็นสภาพของบุคคลที่ได้ปฏิบัติตนให้พ้นจากสภาพอันป่าเถื่อนของสัตว์โลกทั้งหลาย “มีธรรมจรรยาสมบัติเปนเครื่องประพฤติ” แต่เพราะกายและจิตยังอ่อนแออยู่ จึงต้องขัดเกลาตนจนเข้าสู่สภาพที่สาม คือ นัฟส_อิ มุลไนอิน่ะ เพื่อเข้าสู่พระเจ้า (ดู ชุมนุมบทความฯ เล่ม 1, น. 164-165)

อ.ส. ยังบอกไว้ในอีกบทความ คือ “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” ว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีเหตุผล ที่ว่าด้วยประโยชน์สุข การอยู่ดีกินดี และการขัดเกลาตนเอง ก่อนที่จะเข้าร่วมอยู่กับพระเจ้าอันเป็นสภาพสูงสุด ซึ่งจะต้องอาศัยเหตุอีกสองประการ:

การตั้งตนเข้าอยู่ในพระประสงค์แห่งพระเปนจ้าว ที่เรียกโดยศัพท์ว่า อิสลามประการหนึ่ง และการสวดมนต์ประพฤติตามหัวข้อบัญญัติซึ่งเรียกว่า ฟาติห อีกประการหนึ่ง สาระของพระศาสนาอยู่ในอิสลามและฟาติห์ … ซึ่งเปนประหนึ่งลำธาร ๒ แควที่ไปรวมในแอ่งเดียวกัน และแอ่งนั้นคือความปลดเปลื้องบาปทั้งสิ้น

“ความเปนจริงในอิสลาม” โดย อ.ส. พิมพ์ครั้งแรกใน สยามนิกร 9 ธ.ค. 2489 พิมพ์ซ้ำรวมเล่มใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 ข้อความที่คัดมานี้อยู่ในหน้า 170.

ดิฉันสงสัยว่าในยุคสมัยของนายผี มีสิ่งที่เรียกกันในขณะนี้ว่า “อิสลามโมโฟเบีย” หรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไร การงานทั้งหมดของเขาแสดงถึงความเชื่อมั่นว่า มีแต่การหาความรู้และทำความเข้าใจด้วยเหตุผลเท่านั้น ที่จะพาให้คนพ้นจากความเกลียด/กลัวกันและกัน และอยู่ด้วยกันอย่างสันติ

ข้อสรุปของเขาเขียนไว้อย่างน่าคิดตั้งแต่ปลายปี 2489:

เราไม่ควรปฏิเสธสิ่งซึ่งเราไม่ได้ศึกษามาก่อน ไม่ควรตำหนิสิ่งซึ่งเราไม่รู้จริง ไม่ควรดูหมิ่นผู้ถือคติต่างกับเรา โดยเชื่อคำกล่าวหาอันลอยๆ หาเหตุผลมิได้ เราควรแลดูศาสนาทุกศาสนาด้วยความเห็นอกเห็นใจและควรดูด้วยอย่างยิ่งว่า ในขณะประกาศศาสนานั้นๆ บ้านเมืองนั้นเปนอยู่อย่างไร ศาสนามีมาก็เพื่อแก้ข้อบกพร่องในกาลสมัยนั้นๆ ในถิ่นประเทศนั้นๆ เปนส่วนใหญ่สำคัญก่อน แล้วความดีเลิศอันเปนปรัชญาสากลจึงได้มีประกอบขึ้นอีกในบั้นปลาย การก่อตั้งศาสนาก็เพื่อความตั้งใจอันดีทั้งนั้น ผู้ก่อตั้งศาสนาที่ได้เสี่ยงภัยต่อชีวิต แลความสุขแห่งตนมา จึงควรได้รับความเห็นใจและนับถือ หาควรดูหมิ่นหรือตำหนิติเตียนอย่างไรไม่

อ.ส., “ความเปนจริงในอิสลาม” ใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 , น. 174-175.

น่าเสียดายที่อีกเพียงหนึ่งปีเศษก็เกิดเรื่องร้ายแรง และจะเกี่ยวข้องโยงโยกับปัญหาความไม่สงบในบริเวณ 7 หัวเมืองอีกยาวนานต่อมา นั่นคือ กรณีจับกุมฮัจยีสุหลงกับผู้ติดตามอีกสามคน ซึ่งลงท้ายด้วยฆาตกรรม

ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา

“คดีฮัจยีสุหลง ที่บ้านผมให้อภัยนะ เราไม่โกรธ แต่เราไม่ลืม เราไม่สามารถลืมได้ เพราะเดี๋ยวจะไปเกิดกับคนอื่นอีก มันตอบแทนในวันสิ้นโลกทั้งนั้น ใครทำอะไรไว้”

จตุรนต์ เอี่ยมโสภา หลานตาของฮัจยีสุหลง ผู้ดูแลมูลนิธิฮัจยีสุหลงฯ ในปัจจุบัน ยืนยันชัดเจนในระหว่างแนะนำเอกสารต่างๆ ซึ่งรวมทั้งบันทึกในเรือนจำบางขวางที่ฮัจยีสุหลงเขียนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2492 ในระหว่างรอการตัดสินของศาลอุทธรณ์อยู่ (บันทึกนี้เคยได้รับการเผยแพร่ในเพจ มูลนิธิฮัจยีสุหลง วันที่ 6 ธันวาคม 2559) ซึ่งเล่าเหตุการณ์ขณะที่เขาถูกจับกุมว่า

มีผู้กำกับการตำรวจมาที่บ้านของข้าพเจ้าพร้อมด้วยตำรวจอีกหลายคน เมื่อเวลา ๕ โมงเย็น ในวันศุกร์ที่ ๑๖ มกราคม ๑๙๔๘ (พ.ศ.๒๔๙๑) โดยได้รับคำสั่งจากผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พระยารัตนภักดี ให้มาจับข้าพเจ้าและตรวจค้นในบ้านทุกห้องเพราะทำหนังสือแทนเติงกู มะหมูด มุหยัดดีน เต็งกู อับดุรก่อดีร เจ้าเมืองปัตตานี เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง ๗ ข้อของราษฎรปัตตานีต่อรัฐบาลไทย …

ฮัจยีสุหลงชี้แจงในบันทึกต่อไปว่า การสั่งจับครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ว่าราชการซึ่งเพิ่งรับตำแหน่งเพียงสิบหกวัน โกรธที่เขาปฏิเสธไม่ช่วยเหลือในเรื่องการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรจังหวัดปัตตานี ทั้งๆ ที่เขาได้อธิบายเหตุผลแล้ว ว่าเป็นเพราะก่อนหน้านี้เขารับปากจะช่วยนายแพทย์เจริญ สืบแสง ไว้แล้ว จึงไม่อาจผิดคำพูด

แต่คำอธิบายดังกล่าวไม่มีผู้รับฟัง ฮัจยีสุหลงจึงถูกเพ่งเล็งหนักเมื่อเสนอข้อเรียกร้องเจ็ดข้อ[1] เพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงความเดือดร้อนของราษฎรในสี่จังหวัดชายแดนใต้ และเมื่อเขาติดต่อกับตวนกูมไฮยิดดินแห่งกลันตันเพื่อประสานงานกับทางกรุงเทพฯ ให้เร่งแก้ปัญหาตามที่เสนอไป เรื่องจึงกลับเป็นว่า “ปลุกปั่นให้ราษฎรใน ๔ จังหวัดงดใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง” และเขาถูกจับกุมตัว

ดิฉันกลับมาค้นรายงานข่าวเรื่องนี้ พบว่าการจับกุมฮัจยีสุหลงมาปรากฏเป็นข่าวใน สยามนิกร ฉบับวันที่ 22 ม.ค. 2491 ซึ่งก็คือเวลาหลังจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ผ่านไปแล้วสองเดือนเศษ พาดหัวข่าวในวันนั้นมี 3 ประเด็นด้วยกัน คือ “จับคนสำคัญฐานยุยง ๔ จังหวัด”, “จอมพลแสดงท่าจะเล่นการเมืองอีก” และ “ทหารไม่พร้อมที่จะเปิดตู้เซฟ”

ในตอนนั้นดิฉันมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องใดๆ ของข่าวเหล่านี้ แต่ต่อไปข้างหน้านายผีจะชี้ให้เห็นว่าการพยายามจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกรณีที่ ปรีดี พนมยงค์ ถูกกล่าวหาว่าวางแผนเปลี่ยนแปลงประเทศที่เรียกว่า “มหาชนรัฐ” โดยซ่อนเอกสารแผนการดังกล่าวในตู้เซฟที่บ้าน นั้น เกี่ยวข้องกับกรณีจับกุมฮัจยีสุหลงด้วย

คดีฮัจยีสุหลงมีการสั่งฟ้องในฐานขบถภายในราชอาณาจักรในเดือนกุมภาพันธ์  และมีรายงานข่าวกรรมการอิสลามจังหวัดกับนายหวันอุสมัน คหบดีคนหนึ่งในปัตตานี ได้ยื่นขอประกันตัวโดยวางเงินประกันสองแสนบาท แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ซ้ำร้ายต่อมาหวันอุสมันก็ถูกจับกุมตัวอีกคนหนึ่ง (สยามนิกร, 2 ก.พ. 2491)

อีกสองเดือนต่อมา เมื่อเกิดจลาจลที่บ้านดุซงญอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2491 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าปราบชนมุสลิมที่รวมตัวกันต่อสู้ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก นายผีก็ดูเหมือนจับสัญญาณทั้งหมดนี้ได้ไว ต้นเดือนพฤษภาคมเขาจึงใช้นามปากกา อ.ส. เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ มหาชน เรื่อง “ความเห็นของผู้อ่านต่อกรณีย์ความไม่สงบใน ๔ จังหวัดภาคใต้”:

“ความเห็นของผู้อ่านต่อกรณีย์ความไม่สงบใน ๔ จังหวัดภาคใต้” โดย อ.ส. ใน มหาชน 9 พ.ค. 2491

ข้าพเจ้าขอรับว่าความยุ่งยากใน ๔ จังหวัดนี้ เกิดแต่มูลเหตุสมัยเผด็จการที่ได้มีการบังคับข่มเหงราษฎรของประเทศทั่วไปเปนการใหญ่ ซึ่งกระทบกระเทือนมาถึงชน ๔ จังหวัดนี้ด้วย ในเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาอุบัติขึ้น ลูกมือของผู้เผด็จการได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้กับชาว ๔ จังหวัดอย่างแทบอาเจียนเปนโลหิต ด้วยการส่งชน ๔ จังหวัดนั้นไปให้ญี่ปุ่นมหามิตรใช้งานเทียบงัวและควาย ญี่ปุ่นได้ถือว่าคนเหล่านี้เปนเชลย เพราะถือว่าเปนชนมะลายูเช่นเดียวกับชนในสหรัฐมะลายูเดิมซึ่งหลบหนีมา ลูกมือเผด็จการก็ช่วยจับเข้าตราง บางทีก็เข้าทำลายทรัพย์สินของเขาเช่นต้อนงัวควายไปฆ่าเลี้ยงทหารญี่ปุ่น บางทีก็เข้าปล้นทำลายดุจโจรจนราษฎรรื้อเรือนหนีไปไม่เปนอันทำมาหากิน พวกขุนศาลตุลาการ นอกจากไม่ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแล้วยังใช้กิริยาวาจาหยาบหยามอย่างกับคนเปนข้าทาษ ข้าราชการน้อยคนนักที่จะถือและเหนว่าคนเหล่านี้คือมนุษย์ด้วยกัน ต่อมาสงครามสงบแล้ว รัฐบาลได้รู้สึกถึงข้อนี้และได้ให้ความเกื้อกูลอุปถัมภ์แก่ชน ๔ จังหวัดเปนอันดี เช่นตั้งจุฬาราชมนตรี และออกพระราชกฤษฎีกาให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอิสลาม และให้เงินช่วยเหลือในกิจการฝ่ายศาสนาด้วย แต่หลังจากนั้นไม่นาน และเปนเวลาที่บ้านเมืองคับแค้นฝืดเคือง ข้าราชการสำคัญๆ ใน ๔ จังหวัดได้ถือโอกาศกอบโกยผลประโยชน์ร่วมกับพ่อค้าใหญ่ๆ เช่น ข้าวที่ส่งไปช่วยเหลือก็นำออกนอกประเทศเสีย ราษฎรได้รับความอดอยากคับแค้นมาก กับเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองใช้ระบบยิงทิ้งบ้าง ปล้นราษฎรทำทีว่าจับผู้ร้ายไม่ได้บ้าง ราษฎรก็ได้รับความเจ็บช้ำอยู่ตลอดเวลา ได้มีผู้ร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลๆ ก็ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขอะไรเปนการจริงจัง ในตอนหลังรัฐประหารกลับยิ่งถือว่า กรณี ๔ จังหวัดภาคใต้เกิดแต่การยุยงปลุกปั่นของคนบางคน พูดให้ชัดก็คือนายปรีดี พนมยงค์ มีนายแช่ม พรมยงค์ เปนหัวหน้า ราษฎรก็ได้แต่รอคอยๆ หนักเข้ารอไม่ไหว หะยีสุหลง บินอับดุลกาเดร์ ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีได้ทำหนังสือไปถึงตวนกูมะห์ยิดดินที่กลันตัน ขอให้ช่วยเจรจากับรัฐบาลให้ได้ผล กลับถูกจับมาฟ้องฐานกบฏภายในและภายนอกพระราชอาณาจักร ราษฎรยิ่งผิดหวังใหญ่ เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเกิดขึ้น พวก ๔ จังหวัดก็ครั่นคร้ามอยู่ว่า อาจได้รับการกดขี่อย่างเดิม แต่ก็อดใจรอต่อไป เพราะรัฐบาลแสดงท่าทีว่าจะแก้ไขช่วยเหลือให้สภาพการณ์ดีขึ้น แต่ในที่สุดเจ้าหน้าที่ในจังหวัดนราธิวาสหลงไปว่า จอมพลจะดำเนินรอยเดิม เพราะลัทธิเกลียดชังชาติอื่นกำลังถูกเพาะให้เกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ในยุคนี้ เพื่อเปนเครื่องมือสนับสนุนความคงอยู่ของรัฐบาลนี้ การปะทะที่ตันหยงมัสจึงได้เกิดขึ้น การที่ราษฎรรวมกันได้มากก็เพราะความคับแค้นใจนั้นสุมกันอยู่นานแล้ว จึงรวมเปนน้ำหนึ่งใจเดียวกันว่าจะต่อสู้ไม่ให้ข่มเหงรังแกกันอย่างโหดร้ายอีกต่อไป

“ความเห็นของผู้อ่านต่อกรณีย์ความไม่สงบใน ๔ จังหวัดภาคใต้” โดย อ.ส. พิมพ์ครั้งแรกใน มหาชน 9 พ.ค. 2491 พิมพ์ซ้ำรวมเล่มใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 ข้อความที่คัดมานี้อยู่ในหน้า 197-198.

ดิฉันค้นหาหนังสือพิมพ์มาพลิกอ่านข่าวเรื่องตู้เซฟพิศวงใบนั้น ก็เห็นจริงอย่างนายผีว่า เพราะในที่สุดพูนศุข พนมยงค์ ก็เป็นผู้เปิดตู้เซฟต่อหน้าบรรดาทหารที่มาค้นหาหลักฐาน แต่ไม่พบแผนการมหาชนรัฐใดๆ ตามที่กล่าวหา นอกจากเครื่องเพชรส่วนตัวจำนวนหนึ่ง ส่วนเรื่องของจอมพล ป. นั้น ข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ใกล้ตัวบอกเราอยู่แล้วว่า เขากลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่สองในวันที่ 8 เมษายน 2491

ในที่สุดคดีของฮัจยีสุหลงตัดสินในศาลชั้นต้นช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2492 ดิฉันค้นไม่พบรายงานข่าวในช่วงนี้ ซึ่งอาจเป็นเพราะหนังสือพิมพ์กำลังติดตามกรณีกบฏวังหลวง ซึ่งกำลังในสายของปรีดี พนมยงค์ พ่ายแพ้แก่กลุ่มรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 หนำซ้ำในค่ำวันที่ 3 มีนาคม สี่รัฐมนตรีที่เป็นนักการเมืองฝ่ายเดียวกับปรีดี ก็ถูกตำรวจยิงสังหารอย่างโหดเหี้ยมทั้งที่ยังใส่กุญแจมือ แล้วซัดทอดว่าเป็นฝีมือของโจรมลายูไปเสียอีก[2]

แต่เมื่อคดีไปถึงชั้นอุทธรณ์มีรายงานข่าวนี้ในหนังสือพิมพ์ การเมืองรายสัปดาห์

การเมืองรายสัปดาห์ 22 ก.ค. 2493

เมื่อวันที่ ๑๑ เดือนนี้ ศาลจังหวัดนนท์บุรีได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีระหว่างอัยการปัตตานีโจทก์ หะยีสุหรงกับพวกจำเลย เรื่องกบฏภายในและภายนอกพระราชอาณาจักร ให้จำเลยซึ่งถูกขังอยู่ในเรือนจำบางขวางนนทบุรีฟัง โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำคุกหะยีสุหรงจำเลยฐานกบฏในพระราชอาณาจักรมีกำหนด ๘ ปี ลดตามมาตรา ๕๙ ให้ ๑ ใน ๓ เหลือ ๔ ปี ๘ เดือน ส่วนจำเลยอีก ๓ คนคือ นายแวสะแม มูฮัมมัด, หะยีแวอุเซ็ง แวเด็ง นายแวมะมิงซิเด็ง พิพากษายืน

คดีนี้ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับโอนคดีมาจากศาลจังหวัดปัตตานี ได้พิพากษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ ให้จำคุกหะยีสุหลงกับพวกอีก ๓ คนดังกล่าวนั้น มีกำหนดคนละ ๓ ปี ฐานกบฏภายในพระราชอาณาจักร และคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์

การเมืองรายสัปดาห์ 22 ก.ค. 2493, น. 6

เป็นอันว่าในการพิจารณาของศาลชั้นอุทธรณ์ ฮัจยีสุหลงถูกตัดสินโทษเพิ่มขึ้น และคงด้วยเหตุนี้ ในจดหมายของฮัจยีสุหลงลงวันที่ 25 สิงหาคม 2493 เขาจึงบอกภรรยาว่า ทีแรกเขาตัดสินใจไม่ยื่นเรื่องฎีกาต่อไปอีก และได้แจ้งเรื่องนี้กับ นพ.เจริญให้ทราบแล้ว แต่หลังจากนั้นไม่นาน ปรากฏว่ามีทนายชื่อพันธุ์ [อินทุวงศ์] เข้าเยี่ยมและบอกว่า “อศนี” ยืนยันให้เขาทำเรื่องฎีกาต่อไป ดังนั้นเพื่อเห็นแก่น้ำใจของเพื่อนๆ ที่ตั้งใจช่วยเหลือ เขาจึงยอมตาม

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืนคดีฮัจยีสุหลงกับพวกในปลายเดือนมกราคม 2494  ฮัจยีสุหลงจึงต้องถูกจำคุกต่อไปอีกหนึ่งปีแปดเดือน ส่วนจำเลยอีกสามคน ได้ถูกกักขังระหว่างการพิจารณามาครบสามปีพอดีจึงได้รับการปล่อยตัวไป

   สยามนิกร 5 มี.ค. 2494

ในรายงานข่าวของ สยามนิกร ฉบับวันที่ 25 มกราคม 2494 ระบุอีกว่า “ขณะนี้นายเจริญ สืบแสง ส.ส.จังหวัดปัตตานีกำลังเตรียมการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ หะยีสุหรงอยู่” และต่อมา นายเจริญก็เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้ต้องหาเปนขบถภาคใต้ เขาให้เหตุผลว่า “เพื่อให้ผู้เคราะห์ร้าย [ทั้งผู้ที่ถูกจำคุกและผู้ที่หลบหนีคดีอยู่] ได้กลับคืนถิ่นที่อยู่เดิมได้ด้วยความปกติสุข … และประสานรอยร้าวแก่ผู้นับถือศาสนาอิสลามกับวงการปกครองของรัฐบาล” (สยามนิกร, 5 มี.ค. 2494) แต่ท้ายที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ตกไป

ทั้งนี้ ในระยะไล่เลี่ยกับการพิจารณาคดีชั้นฎีกายังมีอีกข่าวล้อมกรอบสั้นๆ ใน สยามนิกร (26 ม.ค. 2494) ด้วยว่า “ในการพิจารณางบประมาณปี 2494 เมื่อคราวที่แล้ว นายเจริญ สืบแสง ส.ส.ปัตตานี ได้เสนอแปรญัตติขอให้ตั้งงบประมาณสร้างสำนักงานคณะกรรมการอิสลามใน 4 จังหวัดภาคใต้ ที่ประชุมได้ตกลงอนุมัติให้เฉพาะที่จังหวัดปัตตานีเปนเงิน 100,000 บาท ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้งดไว้ก่อน”

ดิฉันลองเปรียบเทียบลำดับเหตุการณ์ทางคดีกับบันทึกของเจริญ สืบแสง พบว่าบันทึกวันที่ 16 ระบุเรื่อง “พบครู” และเตรียมขออภัยโทษ รวมทั้งการนัดหมายรับผู้ที่พ้นโทษก่อนฮัจยีสุหลงสามคน ให้ไปพักที่สุเหร่าวัดเกาะและปากเกร็ด ขณะที่บันทึกวันที่ 19 และ 20 มีนัดหมายเรื่อง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองที่สำนักงานพันธุ์ ซึ่งมีชื่ออัศนีอยู่ เฉพาะบันทึกวันที่ 20 มีเรื่อง “ไปเยี่ยมครูหะยี” และบันทึกวันที่ 19 นั้น มีเรื่องกระทู้ถามเรื่องไปเมกกะอีกด้วย (บันทึกเหล่านี้สำนักพิมพ์อ่านนำมาพิมพ์อยู่ใน ความงามของชีวิต และสังเขปประวัติ อัศนี พลจันทร หนังสือในโครงการอ่านนายผี ลำดับที่ 20, น. 157-159)

พอถึงตรงนี้ดิฉันจึงหายสงสัยแล้วว่า ทำไมจึงมีโฆษณากรอบเล็กๆ ใน สยามนิกร ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนปีนั้น เชิญชวนชนมุสลิมเดินทางไปนครเมกกะ โดยให้ติดต่อได้ที่ เจริญ สืบแสง หรือที่สมาคมสมางัตปัตตานี[3]

โฆษณาเชิญชวนไปเมกกะใน สยามนิกร

ดิฉันไม่แน่ใจว่านายผีอยู่ตรงไหนชัดๆ ในท่ามกลางข่าวสารที่ไหลเวียนในสังคมช่วงนั้น บางทีการเป็นข้าราชการคงทำให้เขาออกหน้าในเรื่องต่างๆ ไม่ถนัด แต่แน่นอนว่าในช่วงปลายปี 2493 ถึงต้นปี 2494  เขากำลังขะมักเขม้นเผยแพร่งานเขียนอยู่ที่หนังสือพิมพ์ การเมืองรายสัปดาห์ ซึ่งเป็นสื่อหลักในการรณรงค์สันติภาพ คัดค้านการส่งทหารเข้าร่วมในสงครามเกาหลี โดยที่มี เจริญ สืบแสง จดชื่อเป็นเจ้าของ

การเมืองรายสัปดาห์ เล่ม 1 ฉบับที่ 21 วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน 2494

บทความ “เห็นเดือนแล้ว” โดย “แด่ มุสลีมีน” ใน การเมืองรายสัปดาห์ 9 มิ.ย. 2494

จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ มีบันทึกของกุลิศ อินทุศักดิ์ เรื่อง “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!” (16 ธ.ค. 2493) มีผู้ใช้นามปากกาหะยี ซัมซูดิน บิน อับดุลฆานี เขียนเรื่อง “อินโดเนเซียจักไม่เป็นทาส” (17 ก.พ. 2494), และมีบทความโดย “แด่ มุสลีมีน” เรื่อง “เห็นเดือนแล้ว” (9 มิ.ย. 2494) ซึ่งรายงานเรื่องที่ชนมุสลิมในภาคใต้ได้เริ่มเห็นเดือนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2494 อันเป็นสัญญาณเริ่มต้นการถือบวชเดือนรอมฎอน

งานเหล่านี้ชวนให้คิดว่า คงมีชนมุสลิมร่วมอยู่ในขบวนการสันติภาพในครั้งนั้นด้วย น่าเสียดายที่หนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์ เท่าที่เสาะหามาได้มีจำนวนไม่มากพอที่จะศึกษาเรื่องราวในขบวนการสันติภาพให้ละเอียดในประเด็นนี้ได้

คงมีแต่เพียงข้อเท็จจริงต่อมา คือ สันติชนในขบวนการสันติภาพถูกจับกุม 104 คนในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 และผู้คนในขบวนการก็แตกสานซ่านเซ็นกันไป รวมทั้งชะตากรรมของครูสอนศาสนาอิสลาม ผู้แทนราษฎร และอัยการผู้ช่วย ซึ่งต่างก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจดีต่อบริเวณ 7 หัวเมืองในครั้งกระโน้น

เจริญ สืบแสง ในฐานะประธานคณะกรรมการสันติภาพเป็นผู้หนึ่งที่ถูกจับกุม นายผีหลบหนีการตามล่าเอาชีวิต และออกนอกประเทศไปในที่สุด ส่วนฮัจยีสุหลงนั้น หลังจากพ้นโทษออกจากเรือนจำกลับไปบ้านที่ปัตตานีแล้วไม่นาน ก็หลงเชื่อคำของเจ้าหน้าที่ซึ่งเชิญเขาไปพบที่กองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่สงขลาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497

ในวันนั้นเอง ฮัจยีสุหลงกับบุตรชายคนโตและผู้ติดตามอีกสองคน (หนึ่งในสองคนคือ Wan Osman Bin Ahmad) ถูกฆาตกรรมโดยการรัดคอแล้วคว้านท้องยัดแท่งซีเมนต์เพื่ออำพรางศพก่อนนำไปทิ้งทะเลที่บริเวณเกาะหนูเกาะแมว จังหวัดสงขลา กลายเป็นรอยร้าวใหญ่ในระหว่างชนมุสลิมกับรัฐบาลนับจากนั้นมา

ภาพโดย พี่กอฟ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง

น่าสงสัยเหลือเกินว่า จนเวลาผ่านไปแล้วกว่า 70 ปี การสังหารคนที่มีความเห็นแตกต่างไป ก็ยังมีอยู่ให้เห็นและโหดเหี้ยมซ้ำๆ เป็นวงจรวนเวียนอยู่ได้อย่างไรในบ้านเมืองที่มีศาสนานานาให้เลือกรับนับถือ หรือกระทั่งอวดอ้าง

ดิฉันกลับมาอ่านบทความ “ความเปนจริงในศาสนาอิสลาม” ต่อไปจนจบ นายผีขยายความเรื่องความแตกต่างในการนับถือศาสนาออกไปอีกอย่างน่าคิด:

นอกจากศาสนา ความคิดเห็นต่างๆ ก็ดุจกัน บุคคลอาจมีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องด้วยความคิดเห็นของชนส่วนมาก แต่ความคิดเห็นนั้นก็เพี่อความสุขในอนาคตของมวลชน จึงควรรับฟังด้วยการไตร่ตรองเสียก่อน การด่วนตำหนิจึงไม่มีความยุตติธรรมเลย เพราะน้อยนักที่บุคคลในสมัยเมื่อมีคนมาแสดงความคิดเห็นอันแปลกขึ้น จะพอใจในความคิดเห็นนั้น พระพุทธองค์ได้ประสพแล้ว พระนาบีมูหมัดได้ฝ่าฟันมาแล้ว และพระมหาเยซูคริสต์โตจ้าวได้ทรงอุทิศชีวิตร่างกายมาแล้ว เหล่านี้เปนเหตุอันใดเล่า? ถ้าพระศรีอาริย์จะมาตรัสในเวลานี้ ก็เห็นว่าคงเกือบจะต้องสละพระชนม์ชีพเปนอย่างน้อยทีเดียว!

ศีลธรรมไม่ทรามลง ศาสนาก็หาเกิดมีไม่ดอก!

อ.ส., “ความเปนจริงในอิสลาม” ใน ชุมนุมบทความและปกิณกคดีของอัศนี พลจันทร เล่ม 1 , น. 175.

ดิฉันขอเดาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นแก่บริเวณ 7 เมืองนี่กระมัง ที่เป็นส่วนหนึ่งให้นายผีตัดสินใจสมาทานศาสนาพระศรีอาริย์ของเขาจนชั่วชีวิต!



[1] เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 7 ข้อนี้ มีการอ้างอิงแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดและลำดับก่อนหลัง ในที่นี้ขอสรุปเนื้อหาของข้อเรียกร้องทั้ง 7 โดยย่อดังนี้ 1. ขอให้มีการปกครองใน 4 จังหวัดโดยผู้มีตำแหน่งสูงสุดเป็นมุสลิมที่ได้รับเลือกจากใน 4 จังหวัด 2. ขอให้ข้าราชการใน 4 จังหวัดเป็นมลายู 80 เปอร์เซ็น 3. หนังสือในราชการให้ใช้ทั้งภาษามลายูกับภาษาไทยคู่กัน 4.ขอให้ใช้ภาษามลายูในการศึกษาระดับชั้นประถม 5.ขอให้มีศาลรับพิจารณาตามกฎหมายอิสลามแยกจากศาลจังหวัดที่มีอยู่แล้ว 6. ผลประโยชน์รายได้ใน 4 จังหวัดต้องใช้จ่ายภายใน 4 จังหวัดเท่านั้น และ 7. ให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีสิทธิ์ในการออกระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติการศาสนาอิสลาม

[2] รัฐมนตรีทั้งสี่คือ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส. จังหวัดอุบลราชธานี, ถวิล อุดล ส.ส. จังหวัดร้อยเอ็ด, จำลอง ดาวเรือง ส.ส. จังหวัดมหาสารคาม จากพรรคสหชีพ และทองเปลว ชลภูมิ ส.ส. จังหวัดปราจีนบุรี พรรคแนวรัฐธรรมนูญ

[3] ข้อมูลเบื้องต้นจากหน้าเพจมูลนิธิ “ฮัจยีสุหลง” ระบุว่าสมางัตปัตตานีเป็นสมาคมแรกที่ก่อตั้งในปัตตานีโดยมี Wan Osman Bin Ahmad หรือแวสะแม มูฮำมัด เป็นนายกสมาคม ดิฉันสงสัยว่าเป็นคนเดียวกับคหบดีชื่อหวันอุสมัน ผู้ยื่นขอประกันตัวฮัจยีสุหลงในปลายเดือนมกราคม 2491 แล้วถูกจับกุมตัวในเวลาต่อมา ทั้งนี้ Wan Osman Bin Ahmad เป็นหนึ่งในสามคนที่ถูกฆาตกรรมพร้อมกับฮัจยีสุหลงเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2497

หมายเหตุคำขอบคุณ
– ขอบคุณคุณจตุรนต์ เอี่ยมโสภา สำหรับการต้อนรับและข้อมูลเอกสารต่างๆ ที่มูลนิธิฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา
– ขอบคุณป้าน้อย ขนิษฐ์ สืบแสง และคุณเฉลิมชัย สืบแสง ที่ได้ให้ข้อมูลบอกเล่าและอนุญาตให้เผยแพร่สำเนาบันทึกต่างๆ ของ นพ.เจริญ สืบแสง
– บทความต่างๆ จากหนังสือพิมพ์ สยามนิกร ที่อ้างถึงในที่นี้ สืบค้นจากหอสมุดแห่งชาติจึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
– ขอบคุณ คุณวิชัย นภารัศมี ที่เอื้อเฟื้อไฟล์สำเนาบทความเป็นบางส่วนจากหนังสือพิมพ์การเมืองรายสัปดาห์