ตอนฉันเรียน ป.สี่ จำได้ว่าครูสอนวิชานาฏศิลป์ที่โรงเรียนอนุบาลศรีสะเกษเคยพูดกับพวกเรานักเรียนในห้องทำนองว่า “คนอีสานขาดความเป็นผู้นำ ดูสิประเทศไทยไม่เคยมีนายกฯ จากภาคอีสานเลยซักคน” (ไม่นับสฤษดิ์ละกันเนาะ)
ไม่รู้ทำไมมันจำฝังใจ อาจจะเป็นคำพูดแรกๆ ในชีวิตมั้งที่ทำให้เราได้เอะใจว่า เอ้อ “คนอีสาน” นี่มันแตกต่างจากคนภาคอื่นนะ
พอมาถึงยุคนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีคนอีสานชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครูจิ๊กอาจพูดแบบนั้นไม่ได้แล้ว (555) แต่ก็มานึกถึงคำพูดของครูเพราะกระแสการหาเสียงเลือกตั้งช่วงนี้นี่แหละ ทั้ง #ฟ้ารักพ่อ ของกองเชียร์ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ทั้ง #ป๊าขอโอกาส ของเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ทั้ง #รักลุงตู่ ของประยุทธ์ จันทร์โอชา มันทำให้เราเกิดสงสัยขึ้นมาในคำนำหน้าที่ติดตัวนักการเมืองและผู้มีอำนาจในสังคมไทย
คำพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคำนับญาติ แน่ละว่าเป็นการนับอาวุโสซ้อนการเป็นเครือญาติสมมุติ แต่มันน่าสนใจก็ตรงที่ว่า เครือญาติของชาติพันธุ์ไหนบ้างล่ะ? ฉันรู้สึกแปลกใจที่คำแต้จิ๋วถูกนำมาใช้เป็นคำนับญาติในเกมอำนาจอย่างแพร่หลาย ทั้ง “ป๊า” “เจ๊” ตลอดจน “เสี่ย” (ซึ่งไม่เชิงนับเป็นญาติ แต่นับอาวุโสแน่ๆ) แต่กลับไม่มีคำลาวที่ถูกนำมาใช้เป็นคำนับญาติเลย ถึงแม้ว่าจำนวนประชากรไทยเชื้อสายลาวจะไม่ได้น้อยไปกว่าประชากรไทยเชื้อสายแต้จิ๋วเลย (แต่หลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อแปดปีที่แล้ว คนไทยเชื้อสายจีนครองที่นั่งร้อยละ 78 ในสภาผู้แทนราษฎร อิ_อิ)
ขนาด สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ นักการเมืองหนุ่มคนดังคนหนึ่งของศรีสะเกษทุกวันนี้ ก็ยังเรียกกันว่า “เสี่ยโต้ง” เลย (โอเค เขาเชื้อสายจีน แต่เขาพูดลาวชัดมากนะ ไมไม่เรียกเขา “อาวโต้ง” หรือ “อ้ายโต้ง” ล่ะ?)
พูดไปสองไพเบี้ย รู้แล้วนิ่งเสียบาบ่าบ้า (2501)
Read Ghost Master #18
น.น.น. (อัศนี พลจันทร)
คนไทยเราที่เป็นคนธรรมดาสามัญ มักมีอัธยาศรัยอันดี, แลเมื่อความคิดเรื่องตัวใครตัวมันแห่ง ‘อารยชาติ’ ยังมิได้เข้าครอบงำจิตใจคนไทยเราเสียทั้งหมด, เราก็มักจะร้องเรียกกันแลกันเป็นพี่เป็นน้อง, เป็นลุงเป็นป้า, ฯลฯ, กล่าวคือเป็นวงศาคณาญาติ; เห็นคนจีนเข้าก็ทักว่า ‘เจ๊ก’, เห็นคนแขกก็ทักว่า ‘บัง’, เรียกเป็นอาเป็นพี่, มีแต่คนสมัยใหม่ดอกที่เรียกคนจีนว่า คนจีน, หรือจีน, เรียก ‘แขก’ ว่า คนอินเดีย ฤๅคนมลายู คนอาหรับตามแต่กรณี, แต่น่าเสียดายที่คนจำพวกหนึ่งมีสันดานอันดูหมิ่นผู้อื่นเป็นนิตย์ แลมาใช้คำ ‘เจ๊ก’, คำ ‘บัง’ ไปในความอันแสดงเหยียดหยาม, ทั้งแถมคำ ‘ไอ้’ เข้าข้างหน้าคำเหล่านั้นอีกด้วย. ในสมัยก่อนก็มีคนจำพวกหนึ่ง ใช้คำ ‘อ้าย’ สำหรับแสดงความเหยียดหยามโดยตรงอยู่แล้ว, เช่นในคำพิพากษาของ ‘ท่านตุลาการ’ ทีแรกก็เรียกจำเลยว่า ขุนนั่น, หลวงนี่, ฤๅนายโน่นดีๆ, พอตอนท้ายกล่าวถึงว่าจำเลยก็มีผิด ก็ยกเอาคำ ‘อ้าย’ มาใส่หน้าชื่อจำเลยเสียเลย. คนพวกนี้ดูหมิ่นพี่น้องชาติอื่น จึงเรียกพี่น้องลาวว่า ‘อ้าย’, แต่คนผู้มีไมตรีจิตแลสันดานอันงามทั้งหลายนั้นย่อมได้ยินคำ ‘อ้าย’ เป็นที่ซาบซึ้งอย่างปลาด, คำเรียก, ซึ่งเดิมเป็นคำธรรมดาและดี, ก็กลายเป็นคำแสลงหู แสลงหัวใจ.
ภาษาพูดแบบบ้านๆ (el habla popular) ของภาษาสเปนในเม็กซิโก สามารถจะเติม “el” หรือ “la” (เทียบได้กับ “the” ในภาษาอังกฤษ แต่แบ่งเพศชายหรือหญิง) นำหน้าชื่อคน เติมแล้วมีนัยของการให้ความนับถือหรือรู้จักมักคุ้น ส่วนจะนับถือในทางดีหรือทางไม่ดีนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง
ในรวมเรื่องสั้น ท่งกุลาลุกไหม้ ของฆวาน รูลโฟ ปรากฏการใช้คำนำหน้าแบบบ้านๆ เช่นนี้หลายครั้ง อย่างในเรื่อง “หน่อแนวของ มาตีลเด อาร์กังเฆล | La Herencia de Matilde Arcángel” มีคำว่า “La Matilde | อีนางมาตีลเด” หญิงสาวผู้เป็นที่รักของชายต่ำต้อยผู้เล่าเรื่อง หรืออย่าง “หน้าด่านไปเหนือ | Paso del Norte” ก็มีการเรียกเพื่อนบ้าน “El Carmelo | บักการ์เมโล” ที่ไปทำงานสหรัฐอเมริกาจนกลับมารวยเติบ
และอย่างในเรื่อง “คืนที่มันถืกถิ้มไว้ผู้เดียว | La noche que lo dejaron solo” ก็ปรากฏฉายากบฏ “El Catorce | อ้ายสิบสี่” ในคำพูดของทหารฝ่ายรัฐบาล แน่ละว่าทหารฝ่ายรัฐบาลไม่ต้องการให้เกียรติกบฏคนนี้ด้วยการเรียกเป็น “ท่าน” แต่ในขณะเดียวกันจะใช้ถ้อยคำกดเหยียดไปเลยอย่าง “ไอ้” ก็ไม่สู้จะเหมาะสมนัก เพราะกบฏบ้านนอกคนนี้ได้กลายเป็นตำนานจนมีสมญาเชิดชูที่มีนัยซับซ้อนยิ่ง ดังในเชิงอรรถที่ฉันแปลสรุปมาจาก พจนานุกรมผลงานของ ฆวาน รูลโฟ ว่า
** Victoriano Ramírez López (1892-1929) สมาชิกกลุ่มกบฏคริสเตโรผู้เลื่องลือในความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวยามสู้รบกับกองทัพรัฐบาลกลาง มีตำนานหลากหลายว่าด้วยสมญานาม “El Catorce” หรือ “อ้ายสิบสี่” ดังเช่นเมื่อมือลั่นไกปืนทีหนึ่งเขาก็สังหารทหารส่วนกลางไปสิบสี่นาย หรือเมื่อยกอาหารเข้าปากเขาก็กินตอร์ตียาไปได้สิบสี่แผ่น และในเมื่อไม่เคยได้รับการศึกษาเขาจึงนับได้ถึงเลขสิบสี่เท่านั้น – ผู้แปล
ถึงแม้จะตีความตามตำนานเรื่องสุดท้ายว่า “อ้ายสิบสี่” คนนี้ “โง่” ถึงขั้นไม่รู้จักเลขสิบห้า มันก็ยังตีความซ้อนเข้าไปได้อีกชั้นหนึ่งว่า เห็นมั้ย ขนาดพี่แกเป็นคนบ้านนอกไร้การศึกษา นับเลขได้แค่นี้ นายสิบสี่ยังกล้าหาญชาญชัย มีความเป็นวีรบุรุษมากเสียยิ่งกว่านายร้อยนายพันของพวกรัฐบาลจากเม็กซิโกโน่นอีก
เบ็นที่รัก, Re : จิตร ภูมิศักดิ์กับจดหมายรักแปดฉบับ (2559)
Dear Kru Ben, Re : Jit Phumisak & Eight Love Letters
อีไอดา
ฉันใช้ความพยายามอยู่พักใหญ่กว่าจะสลัดความคุ้นเคยกับคำนำหน้าทั้งหลายแล้วเรียกเธอว่า “เบ็น” เฉยๆ เหมือนอย่างที่ลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนร่วมงาน หรือคนทั่วไปแถวบ้านที่เมืองนอกของเธอก็เรียกได้เสมอหน้าสบายใจ แต่เธอก็ยังไม่ยอมอีก เซ้าซี้ให้ฉันเรียกเธอว่า “ไอ้แก่” “ไอ้ควาย” ฉันก็ท้าว่างั้นเธอก็เปลี่ยนคำนำหน้าเวลาเรียกฉันจาก “คุณ” เป็น “อี” ก่อนสิ!
ตอนแม่ฉันเป็นเด็ก วิ่งเล่นกับพี่สาวอยู่บ้านตึกแถวตรงตลาดสดใกล้สถานีรถไฟศรีสะเกษ แม่เรียกพี่สาวคนหนึ่งว่า “อีห่าปุ๊” ส่วนพี่สาวคนนั้นก็เรียกแม่ว่า “อีห่าแป๋ม” โดยไม่มีความรู้สึกว่ามันหยาบคายหรือลดทอนศักดิ์ศรีกันแต่อย่างใด
เป็นไปได้ว่าด้วยความเป็นเด็ก แม่กับป้าจึงไม่รู้ว่าคำว่า “อีห่า” สามารถใช้เป็นคำด่าที่เจ็บแสบ แต่ถึงกระนั้น คำว่า “อี” กับคำว่า “ห่า” โดดๆ ในภาษาลาวอีสาน ก็ไม่ได้มีความหยาบในตัวมันเองเลย “อี” เป็นคำสามัญ เช่นเดียวกับ “ห่า” ที่นอกจากจะหมายถึงโรคห่า ยังหมายถึง “ครั้ง” ด้วย
แต่ตอนที่แม่เล่าเรื่องนี้ให้ลูกๆ ฟัง น้องหล้าฉันขำหนักมาก พูด “อีห่าแป๋ม!!!” ตาม แล้วก็หันมาหาฉัน พูดว่า “อีห่าพี!!! 555” แม่สะดุ้ง บอกว่าอย่าเอาไปพูดกับใครนะลูก มันไม่เพราะ
ก็ไอ้ความอิหลักอิเหลื่อของคำลาวอีสาน จะใช้อย่างใกล้ชิดสนิทสนมหรือรังเกียจเดียดฉันท์ก็ได้แล้วแต่คนจะพูดและคนจะฟังนี่แหละ ที่ทำให้มันสามารถเป็นภาชนะรองรับแนวคิดซับซ้อนจากต่างวัฒนธรรมได้อย่างวิเศษ
“El Catorce” จึงแปลได้เป็น “อ้ายสิบสี่” โดยจะมองว่าเขาเป็นอ้ายหรือไอ้วายร้ายของทางการ หรือจะมองว่าเขาเป็นอ้ายหรือพี่ชายคนกล้าของไทบ้าน ก็ได้ทั้งสองอย่าง จะฟังแล้วรู้สึกซาบซึ้งอย่างประหลาด หรือจะฟังแล้วรู้สึกแสลงหูแสลงหัวใจ ก็ได้ทั้งสองทาง
Sí se puede | นี่เด้ เฮาเฮ็ดได้ ⬛