อานิสงส์ของทางผ่าน: จับเคล็ดกวี ฆวาน รูลโฟ ในสำนวนแปลภาษาที่สอง

I. ชื่อนั้นสำคัญไฉน?

ในระหว่างที่ไวรัสโคโรน่าห่าตำปอดแพร่ระบาดอยู่ตะพึดตะพือ สิ่งที่ช่วยสร้างสมาธิให้ฉันได้มากที่สุดคือการหันไปจดจ่อกับความหมกมุ่นส่วนตัวที่ใหญ่กว่าการเกาะติดสถานการณ์ การย้อนอ่านรวมเรื่องสั้นของฆวาน รูลโฟ คือความหมกมุ่นนั้น

เมื่อปลายปีที่แล้ว (2019) รวมเรื่องสั้นของรูลโฟถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษสำนวนใหม่ เจอข่าวดีที่ไม่คาดฝันอย่างนี้ มีหรือที่แฟนคลับเดนตายอย่างฉันจะไม่รีบจับจองมาเป็นของตัวเอง

หน้าหงายทันทีเมื่อเห็นชื่อหนังสือ – El Llano in flames – พี่แกจะมาไม้ไหนกันนี่ เล่นไม่แปลคำว่าทุ่งบนปกเสียอย่างนั้น

[การไม่แปลชื่อเฉพาะบนปกรวมเรื่องสั้นของรูลโฟปรากฏในสำนวนแปลภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน และภาษาฝรั่งเศสตามลำดับ]

El Llano in flames นับเป็นสำนวนแปลอังกฤษฉบับที่สามหลัง The Burning Plain and Other Stories โดย George D. Schade เมื่อปี 1967 และ The Plain in Flames โดย Ilan Stavans เมื่อปี 2012 แต่ก็นับได้ว่าเป็นฉบับแรกที่แปลโดยคนอังกฤษสำหรับจัดจำหน่ายในอังกฤษ ฝีมือของนักแปลชื่อ Stephen Beechinor เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กเล่มแรกของสำนักพิมพ์อินดี้ Structo Press

ทำไมถึงทิ้งคำว่า El Llano ไว้อย่างนั้น? Beechinor ให้เหตุผลไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า

El Llano หรือ El Llano Grande เป็นชื่อของที่ราบแห้งแล้งไร้ไม้ยืนต้นไร้ไม้พุ่มไร้นกในฆาลิสโก เม็กซิโกที่เป็นฉากของเรื่องราวในเล่ม เห็นที่ราบนี้ได้บนปกสำนวนแปลที่มีแผนที่แสดงระดับสูงต่ำ ในคำว่า El Llano เรามีวิสามานยนาม มีภูมินาม มีชื่อสถานที่ที่บอกหน้าตาของดิน ส่วนคำว่า llano ที่เป็นคำนามทั่วไปหมายถึงที่ราบแห้งที่อาจมีขนาดกว้างใหญ่ไพศาล พบในตอนเหนือของอเมริกาใต้และในภาคหรดีของสหรัฐอเมริกา  ดังเช่นคำว่า veldt หรือ steppe หรือ glen หรือ bayou คำว่า llano มีความเจาะจงทางภูมิศาสตร์ การที่จะถ่ายโอนสิ่งเจาะจงไปเป็นสิ่งทั่วไปก็จะเป็นการใส่ความมัน [to transpose the particular into the generic would be to traduce it.] และสุดท้ายก็คือเหตุผลทางตัวพิมพ์ ตัวทวิอักษร ‘Ll’ ที่ขึ้นต้นนั่นน่ะสะดุดตาดี มันสะกิดใจได้อย่างพอเหมาะพอเจาะเลย

ประเด็นของ Beechinor คือการแปล El Llano ซึ่งเป็นคำเฉพาะของภูมิภาคว่า “the Plain” หรือ “ทุ่งราบ” เฉยๆนั้นนับเป็นการใส่ความมัน (ไม่รู้เขาตั้งใจเล่นกับคำว่า “traduce” หรือเปล่า ในภาษาอังกฤษมันแปลว่าใส่ร้ายป้ายสี แต่ในภาษาสเปน “traducir” มันแปลว่าแปล) แต่พอฉันอ่านแล้วก็ไพล่คิดไปถึงคำเตือนที่เคยได้ยินว่าการแปล “El Llano en llamas” ว่า “ท่งกุลาลุกไหม้” จะทำให้หลายคนไม่พอใจ เพราะจะเป็นการใส่ความคนกุลาและ/หรือทุ่งกุลาร้องไห้ของใครเขา (!)

แต่ที่น่าสนใจกว่าการอ้างความถูกผิดคือเหตุผลเรื่องความสะดุดตา ด้วยว่ามันอ้างถึงเอฟเฟ็กต์ทางสุนทรีย์ ในแง่นี้มันสามารถเอามาประชันกันได้กับเหตุผลของ Stavans ผู้แปลคนก่อนหน้า ผู้ยื่นคำขาดกับสำนักพิมพ์ว่าต้องตั้งชื่อมันว่า The Plain in Flames เขาให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

แล้วก็ถ้าคุณเห็นชื่อบนปก… ผมจะบอกให้นะว่า ชื่อเรื่องในภาษาสเปนน่ะมีการสัมผัสอักษร – El Llano en Llamas – Llano. Llamas. สำนวนแปลภาษาอังกฤษฉบับแรกใช้ชื่อว่า The Burning Plain ซึ่งทื่อมากๆ จืดมากๆ ไม่น่าสนใจเอามากๆ  ผมบอกไปทันทีว่าผมจะแปล แต่ต้องเป็น The Plain in Flames ที่เล่นกับการสัมผัสอักษรนะ  มูลนิธิฆวาน รูลโฟบอก “we love it.” สำนักพิมพ์บอก “we can’t do it” – เพราะว่าชื่อของรูลโฟมันผูกกับ The Burning Plain ไปแล้วในใจคน และถ้าคุณมาเปลี่ยนชื่อ คุณอาจจะเสียคนอ่านไปได้  ผมบอกผมไม่ยอม ถ้าไม่ใช้ชื่อ “The Plain in Flames” ผมก็ไม่แปล  ท้ายที่สุดพวกเราก็โน้มน้าวพวกเขาได้สำเร็จ พวกเขาอิดออดด้วยเหตุผลด้านการตลาด ซึ่งก็เป็นอะไรที่นักแปลมักต้องฝ่าฟัน

ขณะที่ Beechinor ตั้งใจให้ชื่อเตะตา Stavans กลับตั้งใจให้มันรื่นหู เล่นสัมผัสแบบผิวๆระหว่าง “เพลน” กับ “เฟลมส์” คล้ายในชื่อภาษาสเปนที่นอกจากสัมผัสพยัญชนะแล้วยังมีจังหวะจะโคน เอ็ลย้าโหน่เอ็นย้าหมัส ลีลางดงามประหนึ่งภุชงคประยาตฉันท์ ๑๒ (ถลันจ้วงทะลวงจ้ำ บุรุษนำอนงค์หนุน บุรุษรุกอนงค์รุน ประจญร่วมประจัญบาน, ฉันท์ยอเกียรติชาวนครราชสีมา)

[การเล่นจังหวะและสัมผัสพยัญชนะบนปกรวมเรื่องสั้นของรูลโฟปรากฏในหลายสำนวนแปลเช่นกัน ตามลำดับคือภาษาอังกฤษ ภาษาดัตช์ และภาษาตุรกี (มีอีกฉบับหนึ่งในตุรกีใช้ชื่อว่า Kızgın Ova ซึ่งไม่มีสัมผัสแพรวพราวเหมือน Ova Alev Alev)]

แง่มุมสลับซับซ้อนของชื่อเรื่องเป็นรูปย่อของตัวบททั้งเล่ม นั่นคือเป็นร้อยแก้วที่เสพได้อย่างร้อยกรอง รีวิว El Llano en llamas ของแฟนคลับเดนตายอีกคนหนึ่งเสนอไว้ว่า

 

ผมกลับมาอ่านมันใหม่ทุกๆปีหรือสองปี ยังตื่นตาตื่นใจไม่หายว่าอะไรจะเขียนดีแท้ เพียงแต่ตอนนี้ผมว่ามันไม่ได้เป็นเพราะความแปลกใหม่ของเรื่องหรือฝืมือในการใช้ภาษาหรอก ผมว่ามันเป็นเพราะดนตรีที่เขารังสรรค์ขึ้นมาในระหว่างน้ำหนักเสียง พยางค์ กับเครื่องหมายวรรคตอนมากกว่า มันมีอะไรบางอย่างระหว่างบรรทัดที่ยกระดับตัวบทไปอีกชั้นหนึ่ง ผมเชื่ออย่างนี้นะแต่ก็ไม่รู้เหมือนกัน

ผู้รีวิวคนนี้ช่วยให้ฉันกระจ่างแก่ใจมากขึ้นถึงคำว่า “poetic” ที่คนชอบใช้อธิบายงานเขียนของรูลโฟ ว่านอกจากถ้อยคำที่เลือกสรรมาอย่างรัดกุมแล้ว มันยังเหมือนกวีนิพนธ์ตรงความเป็นดนตรี ใช้เสียงและความเงียบ อักษรและวรรคตอน รังสรรค์ประสบประการณ์สุนทรีย์ที่สั่นพ้องไปหลายระดับอย่างน่าพิศวง

การแปลผลงานของรูลโฟที่แสน poetic จึงต้องเข้าถึง poetics หรือกวีศาสตร์ของมันให้ได้ เราจะมาพินิจดู “ฉันทลักษณ์” นี้เป็นส่วนๆ ไล่ตั้งแต่เครื่องหมายวรรคตอนและการอรรถาธิบาย ไปจนถึงการเล่นคำและภาพพจน์ทั้งในต้นฉบับและฉบับแปล

 

II.  วรรคตอนและอรรถาธิบาย

ความต่างอย่างแรกๆ ที่สัมผัสได้เมื่อเปิดดูฉบับแปลของ Beechinor คือความสะอาดตาของเครื่องหมายวรรคตอนเมื่อเทียบกับฉบับอังกฤษอื่นๆ ตลอดจนฉบับ ท่งกุลาลุกไหม้ ไม่มีการใช้อัญประกาศคู่เพื่อกำกับคำพูดที่เปล่งออกมา แต่ประยุกต์ใช้ขีดยาวเหมือนต้นฉบับภาษาสเปน ไม่มีการใช้อัญประกาศเดี่ยวเพื่อกำกับความคิดหรือคำพูดที่จำมาอีกต่อหนึ่ง แต่ประยุกต์ใช้ตัวเอียงแทนซึ่งไม่เหมือนต้นฉบับที่ใช้ “ ” และ « »  Beechinor ให้สัมภาษณ์ว่าเขาใช้เครื่องหมายวรรคตอนแบบนี้เพื่อ “ขจัดความรก สะสางเครื่องเคราส่วนเกินออกไปจากหน้ากระดาษ เปิดทางให้ไวยากรณ์ได้ทำหน้าที่อย่างเสรีในฉบับแปลมากเท่าที่มันทำมาแล้วในต้นฉบับ”

[เปรียบเทียบเครื่องหมายวรรคตอนจากเรื่อง “Paso del Norte”/“หน้าด่านไปเหนือ” ฉบับของ Beechinor ที่ใช้ยัติภาคยาวและตัวเอียง กับฉบับท่งกุลาลุกไหม้ ที่ใช้อัญประกาศคู่และอัญประกาศเดี่ยว]

จำได้ว่าตอนทำ ท่งกุลาลุกไหม้ บ.ก.ไอดาก็เคยตั้งข้อสังเกตถึงไอ้ตัวขีดยาวในต้นฉบับนี้อยู่ ว่ามันจะเป็นอย่างมาร์เกอริต ดูราส หรือเปล่าที่ใช้เครื่องหมายเดียวกัน ซึ่งฉบับแปลไทยของ อ่าน ก็ใช้ตามต้นฉบับฝรั่งเศส ตอนนั้นฉันตอบไปว่ารูลโฟไม่ได้จงใจใช้เครื่องหมายวรรคตอนหลุดโลกอะไร มันเป็นขนบของการเขียนภาษาเขาเฉยๆ แต่พอมาเห็นฉบับนี้ที่ประยุกต์ใช้ขีดยาวบวกตัวเอียงก็ทำให้ได้คิดใหม่ ว่าในเมื่อมันมีอิมแพ็คมากกว่าการใช้อัญประกาศตามขนบไทย กล้าๆใช้ขีดยาวแบบต้นฉบับไปเลยก็น่าจะเผยสุนทรียะบางอย่างออกมาได้ดี

สุนทรียะที่ว่าคือการที่บทสนทนาให้ความรู้สึกเหมือนบทละคร ส่วนการใช้ตัวเอียงบอกความคิดหรือคำพูดที่จำมาอีกต่อหนึ่งก็ยิ่งขับเน้นความเป็นโมโนล็อกหรือการพูดอยู่คนเดียวของเรื่องสั้นส่วนใหญ่ของรูลโฟ อย่างในเรื่องเปิดเล่ม “Nos han dado la tierra”/“เพิ่นปันดินดอนให้เฮาแล้ว” ที่มีเส้นแบ่งระหว่างคำพูดกับความคิดด้วยบรรยากาศร้อนแดดแผดเผาจนการเปล่งเสียงกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย

Faustino dice:

—Puede que llueva.

Todos levantamos la cara y miramos una nube negra y pesada que pasa por encima de nuestras cabezas. Y pensamos: «Puede que sí.»

Faustino says:

—Might be rain.

We all lift our faces to consider the weighty black cloud passing overhead. And we are thinking: Might just.

เฟาสตีโนเว้า

“คือฝนสิตก”

เหมิดสู่คนเงยหน้าขึ้นเบิ่งขี้ฝ้าแหล้ๆ ก้อนหนักที่ลอยมาอยู่เทิงหัวเฮา แล้วเฮากะคึด ‘คือสิแม่น’

 

Might just ชวนให้รู้สึกเหมือนเรากำลังฟังเสียงในหัวของตัวละครเสียยิ่งกว่า «Puede que sí» ในต้นฉบับ และชวนให้เห็นคอนทราสต์ระหว่างพูดกับคิดได้ชัดกว่าการใช้อัญประกาศสองแบบในฉบับของไทย

กวาดสายตาดูฉบับแปลอังกฤษทั้งสามฉบับแล้วก็ไม่พบเชิงอรรถแม้แต่จุดเดียว แต่ก็แปลกใจอยู่ดีเมื่อหันไปดูเล่มนี้ในโลกภาษาสเปนที่หลายฉบับอุดมไปด้วยเชิงอรรถเสียเอง

ยกตัวอย่างเช่นในฉบับของสำนักพิมพ์ Cátedra ที่ตีพิมพ์ในประเทศสเปนเมื่อปี 1999 ซึ่งฉันยืมมาจากห้องสมุดประชาชนแถวบ้าน นั่งนับดูแล้วมีเชิงอรรถทั้งหมด 178 จุดจากเรื่องสั้น 17 เรื่อง เฉลี่ยแล้วเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งมีเชิงอรรถอยู่ถึง 10 จุด ส่วนใหญ่ยาวไม่ถึงบรรทัด แปลคำภาษาถิ่น คำเรียกข้าวของเครื่องใช้ และชื่อนกชื่อไม้ แต่ไม่มีการแปลชื่อสถานที่ ไม่มีการอธิบายประวัติบุคคลหรือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในเรื่อง เรียกได้ว่าเชิงอรรถเล่มนี้ให้อารมณ์เหมือนดูรายการ “ภาษาเม็กซิกันวันละคำ”

อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะฉบับของ Cátedra นี้พิมพ์ที่ยุโรป ห่างไกลจากเม็กซิโก ผู้จัดทำเลยพยายามทำอภิธานศัพท์ช่วยคนอ่าน ประกอบการขับเน้นและคงความต่างของความเหลื่อมกันระหว่างภาษาสเปนกับเม็กซิกัน

พออ่านฉบับบริทิชของ Beechinor ดูดีๆ แล้วก็จับสำนึกถึงระยะห่างนี้ได้เหมือนกัน แม้ไม่มีฟุตโน้ตก็มีการแปลแบบขยายความอยู่เยอะ และไม่มีการทิ้งคำศัพท์จากต้นฉบับไว้ตรงนั้นตรงนี้แบบฉบับอเมริกันปี 2012 ของ Stavans ที่เชื่อว่าผู้อ่านอเมริกันอิงลิชร่วมสมัยรู้ถ้อยคำสำนวนภาษาสเปนมากขึ้นแล้วด้วยกระบวนการออสโมซิสข้ามพรมแดน

การแปลแบบขยายความของ Beechinor หลายจุดนั้นประเสริฐเปิดสมองมาก แต่ก็มีหลายจุดที่รู้สึกว่าเสียอรรถรส จุดที่ประเสริฐก็คือการแปลคำหรือสำนวนที่ไม่เคยถูกแปลในฉบับก่อนๆ ทำให้คนอ่านตาดำๆอย่างฉันได้เข้าใจเสียทีหลังงมโข่งอยู่นาน อย่างเช่นฉายา “เอเรมีเตส” ของพ่อลูกคู่หนึ่งที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว ฉันเพิ่งมาตระหนักว่าฉายานี้มันพ้องกับคำว่า “eremita” หรือ “ฤๅษี” เมื่อได้อ่าน:

Rulfo: En Corazón de María vivían, no hace mucho tiempo, un padre y un hijo conocidos como los Eremites; si acaso, porque los dos se llamaban Euremios.

Beechinor: Not that long ago there was a father and son living in Corazón de María known as Los eremites, as in hermits, which might have had something to do with them both being called Euremio.

น่าสิฮู้ตั้งแต่กี้น้อกู!

หรืออย่างในการแปลคำพังเพยเม็กซิกันจุดหนึ่งที่ฉบับท่งกุลาลุกไหม้ แปลแบบตรงตัวพร้อมฟุตโน้ตอธิบายยาวเหยียด Beechinor กลับถ่ายทอดออกมาอย่างเรียบง่ายและได้ความ:

Rulfo: Los Torricos, que para todo lo que se comían necesitaban la sal de tequesquite, para mis elotes no, nunca buscaron ni hablaron de echarle tequesquite a mis elotes, que eran de los que se daban en Cabeza del Toro.

ท่งกุลาลุกไหม้ : ปกติแล้วอ้ายน้องโตร์รีโกกินหญังต้องใส่เกือเตเกสกีเตลงไปตลอด แต่เพิ่นกะบ่เคยเฮ็ดจั่งซั้นกับเข้าโคตรข้อยเลย เพิ่นบ่เคยแม้แต่สิเว้าว่าสิเอาเกือเตเกสกีเตใส่ฝักเข้าโคตรข้อยซ้ำ* เข้าโคตรจากดินผาหัวกะทิงนี่

*เตเกสกีเต หรือ tequesquite หมายความตามตัวว่า “หินเอือด (หินมีคราบเกลือ)” เป็นหินสีเทามีเกลือปน บ้างแห้งจับเป็นก้อนตามพื้นหนองบึง บ้างผุดบนผิวดิน ใช้ต้มทำเกลือตั้งแต่สมัยก่อนสเปนยึดครอง การกล่าวว่าต้องการ “เอาเกลือเตเกสกีเตใส่ฝักเข้าโคตร” ใครสักคน หรือ “echarle tequesquite a sus elotes” เป็นสำนวน หมายความว่าผู้พูดปรารถนาเข้ายึดครองคนคนนั้น -ผู้แปล

Beechinor: The Torricos, who would salt your own food for themselves before eating it off your plate, didn’t carry on like that with my corn on the cob; it never even crossed their minds about seasoning my cobs, the ones that grew in Cabeza del Toro, with salt from the salt lakes.

มันคลี่ความนัยของสำนวนออกจนฉายนิสัยทำนาบนหลังคนของอ้ายน้องโตร์รีโกได้ชัดเลยว่าไหม ส่วนเกลือที่ Beechinor ไม่เก็บชื่อเฉพาะก็ยังปรากฏตัวอยู่เป็น “เกลือจากนาเกลือ”

ส่วนที่ผู้แปลขยายความจนเสียอรรถรสก็คือจุดที่มันไม่เข้ากับสถานการณ์ อย่างเช่นในเรื่องเดียวกันตอนที่ตาคนเล่าเรื่องพูดถึง “el guango” ที่อาจกำลังจะกลายเป็นอาวุธสังหาร Beechinor แกก็เอาคำขยายยัดปากคนเล่าว่า

Rulfo: Lo vi que se movía en dirección de un tejocote y que agarraba el guango que yo siempre tenía recargado allí. Luego vi que regresaba con el guango en la mano.

Beechinor: I saw him move in the direction of a tejocote tree and grab the guango knife, the short curved machete I always left hanging there. Then I saw him return, and the guango knife in his hand.

ในจังหวะหน้าสิ่วหน้าขวาน (literally) เช่นนี้ รู้สึกมันไม่ใช่เลยที่ตาคนนี้จะคิดอธิบายว่า “กวางโก” คืออะไรไม่ว่าเขาจะพูดกับตัวเองหรือเล่าให้ใครฟัง สู้ทำเชิงอรรถแบบฉบับของ Cátedra ไปเลยยังจะดีซะกว่า

Cátedra: Lo vi que se movía en dirección de un tejocote14 y que agarraba el guango15 que yo siempre tenía recargado allí. Luego vi que regresaba con el guango en la mano.

14 tecojote: planta que da un fruto amarillo, parecido a la ciruela; el fruto mismo.
15 el guango: especie de machete.

เมื่อกลับไปดูสำนวนแปลของ Beechinor จุดนี้ดีๆ จะจับได้ถึงแรงตึงเครียดระหว่างระดับจำเพาะกับระดับทั่วไป ขอให้สังเกตการประกบคำทั่วไปเข้ากับคำจำเพาะ tejocote กลายเป็น tejocote tree, guango กลายเป็น guango knife ขณะที่เขายืนกรานว่า El Llano/un llano มีความจำเพาะทางภูมิศาสตร์เกินกว่าจะแปลเป็นคำว่า The Plain/a plain ได้ แต่ในอีกทางหนึ่งเขาก็ใส่คำทั่วไปกำกับคำเฉพาะถิ่นอื่นๆ เพื่ออรรถาธิบายช่วยคนอ่านด้วยเหมือนกันนี่นา ถึงยุทธวิธีจะแตกต่าง มันก็เพื่อยุทธศาสตร์เดียวกันไหมกับฉบับอังกฤษก่อนหน้าทั้งสองฉบับที่แปล guango ไปเลยว่า machete ซึ่งเป็นคำสเปนที่เข้าใจกันทั่วไปในโลกภาษาอังกฤษ และแปล tecojote ไปเลยว่า hawthorn (Stavans) หรือ hawthorn tree (Schade) โดยอนุโลมว่าเป็นพืชสกุลเดียวกัน

 

III.  พลังการเสกจินตภาพ

คนเรานึกภาพในหัวได้ไม่เท่ากัน สำหรับคนที่ไม่ได้มีจินตนาการบรรเจิด เห็นภาพในหัวไม่ค่อยชัด เต็มสิบอาจจะได้ซักสี่อย่างฉัน ความยากที่สุดของงานรูลโฟไม่ใช่ภาษาพูดของชาวบ้านเม็กซิกันหรือเกร็ดวัฒนธรรมท้องถิ่น อันนั้นน่ะซื้อ พจนานุกรมผลงานฆวานรูลโฟ มาอ่านก็กระจ่างเกือบจะหมด แต่ความซับซ้อนทางประสาทสัมผัส จิตสำนึก และความทรงจำ ที่ต้องอาศัย “ตาใน” เม้กเซ้นส์นี่สิ อ่านกี่รอบก็ยังต้องงมซาวไปแบบคนตาสั่ว

ไออักษรของรูลโฟเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ไม่รู้ว่าเป็นหมอกหรือฝุ่นควันหรืออะไร หยดน้ำจากใบหน้านั้นเป็นน้ำตาหรือเหงื่อหรือเลือดกันนะ ตกลงไอ้คนนี้มันตายหรือไม่ตายวะ แล้วอีคนนั้นมันจำไม่ได้อย่างที่มันบอกได้ยังไง ฯลฯ ความคลุมเครือเหล่านี้รูลโฟสร้างขึ้นด้วยการเล่าเรื่องแบบ “บอกไม่หมด” ใช้สำนึกขาดๆเกินๆของตัวละครพรรณนาประสบการณ์ผ่านสำเนียงแปลกๆแปร่งๆโดยแทบไม่มีสุรเสียงของผู้แต่งมาอธิบายหรือให้บริบท บางเรื่องเรียกร้องการมีส่วนร่วมจากผู้อ่านสูงจนถ้าอ่านเอาเรื่องอาจพาลอ่านไม่รู้เรื่องเอาได้

[พจนานุกรมผลงานฆวานรูลโฟ กับ There Was a Lot of Fog, or Smoke, or I’m Not Sure What: Walking with Juan Rulfo]

การอ่านสำนวนแปลหลายๆสำนวนช่วยให้ฉัน “เห็นภาพ” มากขึ้นมาก กล่าวได้ว่า El Llano in flames เป็นไฟฉายวิเศษ หลายประโยคเสกภาพผุดขึ้นมาในหัวฉันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างจากเรื่อง “El hombre”/“บักนั่น” ซึ่งอ่านยากที่สุดในเล่มด้วยจินตภาพสลับซับซ้อนแบบคิวบิสต์ ตัดสลับความคิดของชายสองคนที่ล้างแค้นซึ่งกันและกันในฉากที่แตกกระจายออกไปหลายเหลี่ยมมุม

เริ่มตั้งแต่ประโยคที่ไม่ได้ซับซ้อนคลุมเครืออะไร สำนวนแปลของ Beechinor ก็จะถ่ายออกมาแบบที่เป็นการขยายความมากกว่า อย่างเช่นในคำเล่าถึงบักนั่นที่ระลึกถึงลูกเมียก็ไปสืดขี้มูกไป ฉบับของ Schade แปลว่า “He sniffled when he remembered them” ขณะที่ Beechinor แปลด้วยกริยาวลีว่า “He was all choked up remembering them” ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวสมกับการผันกริยาแบบต่อเนื่องในต้นฉบับ (“Se sorbía los mocos al acordarse de ellos”) แต่ขณะเดียวกันก็แปรความของอาหารสืดน้ำมูกนั้นออกมา ต่างจากการแปลว่า sniffle หรือสูดขี้มูกใน simple past tense ที่อาจต้องการแปลแค่กริยานั้นแล้วให้ผู้อ่านนึกภาพต่อเอาเองว่ากริยานั้นในยามนั้นบอกถึงภาวะอย่างไร

ส่วนวรรคตอนที่อาจจะต้องคิดภาพตามเสียหน่อยว่ามองจากมุมไหนยังไง สำนวนแปล Beechinor ก็ลื่นไหลและคมชัด อย่างเช่นตอนเปิดเรื่องที่มีการพรรณนาเส้นทางเต็มไปด้วยเรียวหนามกับหญ้าเจ้าชู้ที่บักนั่นกำลังมุ่งไป เส้นทางที่แสนแคบเหมือนทางมดไต่ มุ่งขึ้นสู่ฟ้าไม่มีเลี้ยวออก ลับหายไปแล้วมาปรากฏขึ้นใหม่ไกลออกไปอีก ใต้ฟ้าที่ไกลกว่าเดิม สารภาพว่าอ่านต้นฉบับแล้วฉันไม่เคยนึกภาพมันออก สำนวนของ Beechinor เป็นฉบับแรกที่ทำให้ฉันเห็นภาพระยะประชิดจนคันคะเยอตัดฉับไปเป็นภาพระยะไกลจากมุมสูง คนตัวเล็กเท่ามด และมีภูเขาหลายลูกซ้อนกันลึกเข้าไปในฉากหลัง

Beechinor: The path rose through grassland full of thorn bushes and stinging plants. It looked like an ant trail, it was so narrow. Rising without detour towards the sky. Getting lost up there before re-emerging further away, beneath a sky deeper in the distance.

Stavans: The path went up, among weeds, full of thorns and ground scrub. It was so narrow it looked like an ant’s path. It went up to the sky, without switchbacks. It would get lost farther along and then reappear later, under a still more distant sky.

Rulfo: La vereda subía, entre yerbas, llena de espinas y de malas mujeres. Parecía un camino de hormigas de tan angosta. Subía sin rodeos hacia el cielo. Se perdía allí y luego volvía a aparecer más lejos, bajo un cielo más lejano.

ดูประโยคแรก จะเห็นได้ว่าการไม่ใช้จุลภาคสับตรงกลางในฉบับ Beechinor ทำให้จังหวะของภาพไม่สะดุด (แม้ว่าต้นฉบับจะมีจุลภาคคั่นตรงนั้น ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเวิร์กเหมือนกันในภาษาอังกฤษซึ่งใช้คอมม่าไม่บ่อยเท่า) ต่อมาคำว่า ant trail เสกภาพมดย้ายรังขึ้นที่สูงขึ้นมาในหัวทันที ปรับสมองเราให้พร้อมรับภาพความแคบที่กำลังจะตามมา แทนที่จะลำดับภาพว่ามันแคบก่อนถึงเปรียบกับทางมดเดินเหมือนในสำนวนอังกฤษอื่นๆ ส่วน a sky deeper in the distance ก็เป็นจิตรกรรมมากกว่า a still more distant sky ที่ไม่ชัดว่าฟ้าส่วนนั้นไกลกว่าเดิมจากมุมมองไหน

บางวรรคตอนที่ฉันอ่านแล้วไม่เห็นภาพเลยว่าอะไรเป็นอะไร Beechinor ก็วาดมันออกมาได้ดี ตัวอย่างหนึ่งคือการแปลบทพรรณนาถึงช่วงเวลาที่แม่ลูกครอบครัวหนึ่งกำลังจะผล็อยหลับไม่รับรู้ถึงภัยร้ายของบักนั่นที่กำลังจะมาปาดคอ ต้นฉบับบรรยายไว้อย่างชวนพิศวงว่า “cuando el cansancio del cuerpo raspa las cuerdas de la desconfianza y las rompe” หรือ “ยามที่ความเมื่อยล้าของร่างกายเสียดสีเส้นสายความหวาดระแวงจนขาด” ลองมาเทียบสำนวนแปลอังกฤษทั้งสามตามลำดับดู

Schade: when the body’s tiredness wears away the cords of distrust and breaks them.

Stavans: when the body’s tiredness scrapes the strings of distrust and breaks them.

Beechinor: when fatigue scrapes away at our body’s wary cords and breaks them.

ฉบับล่าสุดเป็นฉบับเดียวที่กล้าย้ายคำว่า body มาขยาย cords/strings เพื่อบ่งบอกว่าไอ้เส้นความระแวงเนี้ยะมันอยู่ในร่างกายของเรานะ ไม่ว่ามันจะอ่านถูกจริงๆหรือไม่ การเสี่ยงตีความในจุดนี้ก็ชวนให้ฉันประหวัดถึงเส้นเอ็นอันเป็นความหมายที่แฝงอยู่จริงๆซะด้วยในคำว่า cuerdas ของต้นฉบับ. cuerda หมายถึงเส้นใยที่ยืดหยุ่นได้ แต่มีนัยหลากหลายตั้งแต่เชือกด้าย สายรัด สายเครื่องดนตรี ลานนาฬิกา ไปจนถึงเส้นเอ็นที่แทบจะรั้งท้ายรายการในพจนานุกรม (เป็นความหมายอันดับที่ 22 จาก 24 ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสเปน มีมาร์คไว้ด้วยว่า poco usado “ไม่ค่อยใช้กัน”) ต้องอาศัยใบบุญของ Beechinor นี่แหละฉันถึงไขวรรคปริศนานี้ได้ในที่สุด ว่ามันพรรณนาภวังค์ก่อนหลับตอนเรายืดเส้นเหยียดสายที่เครียดตึงแล้วมีน้ำหนักมากดเบียดสำนึกจนขาดผึงนี่เอง

วรรคตอนที่นึกภาพตามยากกว่านั้นอีกคือส่วนที่มีการเล่นกับความหมายของคำในภาษาสเปน ในส่วนนี้ Beechinor ก็แปลออกมาได้ดูสมจริง สอนให้ฉันเห็นว่าการแปลให้คนอ่านเห็นภาพก่อนดีกว่า ค่อยหาทางใส่ความหมายระดับอื่นคืนก็ได้ถ้าต้องการจริงๆ ดีกว่าการแปลให้ได้ความหมายทุกระดับแต่ภาพออกมางงๆ อย่างจักขุวิญญาณมหัศจรรย์ในเรื่อง “¡Diles que no me maten!”/“บอกซุมมันสาว่าอย่าฆ่าข้อย!” ที่ตาเฒ่าผู้รู้ตัวว่ากำลังจะถูกประหารชีวิตหรี่ตามองดินใต้เท้าในความมืด ดินที่เป็นชีวิตทั้งชีวิตของเขาตลอดหกสิบปีที่ผ่านมา ที่เขากอบกำในอุ้งมือ ที่เขาชิมมันเหมือนชิมรสชิ้นเนื้อ “นานพอดูแล้วที่เขาเอาดวงตาเพ่งดินจนแหลก ละเลียดแลมันทุกชิ้นส่วนปานว่ามันคือชิ้นสุดท้าย ราวรู้ว่ามันจะเป็นชิ้นสุดท้าย” [Se vino largo rato desmenuzándola con los ojos, saboreando cada pedazo como si fuera el último, sabiendo casi que sería el último.]

ในประโยคนี้มีการเล่นกับประสาทตาเชื่อมไปหาประสาทมือและประสาทลิ้น ใช้คำว่า “desmenuzar” ทั้งในความหมาย “ป่น” ตามรากคำและ “เพ่งพินิจ” ตามสำนวน และใช้คำว่า “saborear” ทั้งในความหมาย “ลิ้มรส” ตามรากคำและ “เอ็นจอย” ตามสำนวน คราวนี้เรามาลองดูสำนวนแปลอังกฤษ

Schade: For a long time he’d been crumbling it with his eyes, savoring each piece as if it were the last one, almost knowing it would be the last.

Beechinor: For so long poring over it with his eyes, savouring every part of it as if it were the last, practically knowing that it would be the last.

ทั้งสองใช้คำว่า savor/savour เหมือนกัน ซึ่งกินความทั้งสองนัยเหมือนภาษาสเปน แต่พอคำว่า desmenuzar พวกเขาเลือกแปลไปคนละทาง ฉบับเก่าแปลเป็น crumble ซึ่งอ่านแล้วงง ต้องจินตนาการแบบเซอร์เรียลหน่อยๆว่าดวงตาของเขาคนนี้มันบดดินจนแหลกและลิ้มรสชาติได้ด้วยแฮะ ส่วนฉบับใหม่แปลเป็นกริยาวลี pore over ซึ่งเสกภาพตัวเองนั่งหลังขดหลังแข็งแปลรูลโฟขึ้นมาในหัวเลย เข้าใจอาการประสาทแปรปรวนจากการใช้สายตาอย่างหนักหน่วงได้ทันที

สรุปได้ว่า สำนวนแปลของ Beechinor ไม่ได้สลายหมอกความคลุมเครือให้หมดไป หากมันช่วยคลี่คลายให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไรมากกว่าฉบับอังกฤษสำนวนอื่นๆ รักษาความน่าพิศวงอย่างกวีอยู่แม้อาจไม่ครบ แต่ก็ยังดีกว่าพิศวงไปก่งก๊งไป

IV.  ลวดลายการซ้ำคำ

ถ้าจะนิยาม “ฉันทลักษณ์” ของรูลโฟคร่าวๆว่าเป็นการเล่นกับจุดตัดและแรงตึงระหว่างความเคร่งครัดประหยัดคำเยี่ยงกวีนิพนธ์กับจังหวะจะโคนแบบภาษาพูดของชาวบ้าน ก็จะช่วยให้เข้าใจกวีศาสตร์ของเขาได้ดี

Stavans ตระหนักชัดในข้อนี้กว่าใคร เขาเขียนในคำนำผู้แปลว่าตัวเองพยายาม “ปลุกความเงียบของรูลโฟให้ขึ้นมาโลดแล่นในภาษาอังกฤษ–เก็บลีลาลัดจังหวะของเขาให้ได้โดยไม่เลยเถิดไปซ่อนลายการซ้ำคำของเขา” [to make Rulfo’s silence come to life in English–to capture his syncopated style without unnecessarily hiding his flair for repetition.]

ในคำปวารณาตนของผู้แปลนี้มีการชักเย่อกันระหว่าง “ลีลาลัดจังหวะ” กับ “ลวดลายการซ้ำคำ” นั่นคือถ้าจัดวางคำเป็นจังหวะขัดมากไป ไม่ลงล็อกถ้อยคำสำนวนที่ผู้คนคุ้นเคยมากไป ก็จะเสี่ยงลบลูกคลื่นที่กำหนดจังหวะของเสียงเล่า กลบทำนองภาษาพูดที่รูลโฟใช้ในแบบที่ไม่ใช่แค่เป็นกลิ่นอายหรือสีสันพื้นถิ่น แต่ซึมลึกถึงโครงสร้างของงานเขียน ตั้งแต่ระดับคำที่ซ้ำเสียง ระดับประโยคที่ซ้ำคำเชื่อม ไปจนถึงระดับย่อหน้าที่ซ้ำประโยคคั่นความอย่าง “นั่นละที่ข้าจำได้” หรือ “เราคิดไว้หยั่งงั้นน่ะนะ” หรือ “มันก็เป็นไปได้อยู่”

ตัวกำหนดจังหวะที่เด่นที่สุดปรากฏใน “Acuérdate”/“จื่อได้บ่มึง” ที่ตลอดทั้งเรื่องเป็นการพูดเตือนความจำเพื่อนสมัยเรียนถึงเรื่องราวครั้งหลัง ท่ามกลางรายละเอียดยิบย่อยอุ๊ยุอ๊ะยะ มีการใช้วลีเตือนความจำ “acuérdate” หรือ “te debes/has de acordar” มากถึง 10 ครั้งในความสั้นเพียง 4 หน้า ถ้าให้ฉันแปลฉันคงจะแปลวลีนี้ว่า “Don’t you remember” ให้เด่นสมกับเป็นโน้ตนำ น่าเสียดายที่ทั้งสามฉบับที่ได้รับการตีพิมพ์แปลมันจืดๆว่า “Remember” แต่ก็เห็นถึงความพยายามกำหนดจังหวะของ Beechinor ในการใส่เครื่องหมายคำถามเข้าไปแทนจุลภาคหลังวลีเปิดเรื่อง

Beechinor: Remember Urbano Gómez? Don Urbano’s son, the grandson of Dimas who used to direct the Nativity plays and died reciting Groan wicked angel during that outburst of the flu. Ages ago, fifteen years maybe. But you must remember him.

Rulfo: Acuérdate de Urbano Gómez, hijo de don Urbano, nieto de Dimas, aquél que dirigía las pastorelas y que murió recitando el “rezonga ángel maldito” cuando la época de la gripe. De ésto hace ya años, quizá quince. Pero te debes acordar de él.

ปรัศนีตัวนี้ช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นภาษาพูด ทดแทนรูปสรรพนาม “te” ของผู้ฟังที่หายไปได้ดี

ในเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องที่มีการซ้ำวลีแม้จะไม่ชัดเท่า ต้องอาศัยการสังเกตของคนอ่าน Beechinor ก็ทำได้ดีกว่าฉบับก่อนๆ อย่างใน “Es que somos muy pobres”/“จั่งว่าเฮาทุกข์ญากหลาย” ที่มีการซ้ำวลี “Que Dios los/las ampare a los/las dos” หรือ “ขอพระเจ้าคุ้มครองทั้งสองเถิด” โดยครั้งแรกพูดถึงแม่วัวกับลูกวัวที่ประสบอุทกภัย ส่วนครั้งที่สองพูดถึงพี่สาวสองคนที่ระเห็จไปเป็นกะหรี่ El Llano in flames เป็นฉบับเดียวที่ใช้วลีเดียวกันเป๊ะๆ ในสำนวนแปล: “God help the pair of them”

ลวดลายการซ้ำคำที่แปลยากที่สุดคงเป็นประเภทที่เล่นกับระดับความหมายของคำ ดังตัวอย่างจักขุวิญญาณมหัศจรรย์ที่เพ่งมอง ป่น และลิ้มรสได้อย่างที่ได้วิเคราะห์ไปแล้ว รูลโฟชอบแอบหยอดความหมายอีกระดับเข้าไปข้างในความหมายที่ใช้กันตามสำนวน หลายครั้งลีลานี้มีการซ้ำคำด้วย อย่างการเล่นคำว่า “cajón” ที่หมายถึงกล่องก็ได้ โลงศพก็ได้ หรือภูมิประเทศที่ถูกบีบเข้าระหว่างหน้าผาก็ได้ ในเรื่อง “El hombre”/“บักนั่น” ตัวละครที่ไล่หลังเตรียมล้างแค้นสังเกตเห็นว่าบักนั่นหนีเข้าไปทางช่องผาหรือ “los cajones” ไปสู่ “tu propio cajón”/“โลงของมึงเอง แล้วในย่อหน้าถัดมาภาพก็ตัดไปที่บักนั่นถึงทางตันจริงๆเมื่อเห็นแม่น้ำ “se encajonaba” หรือถูกบีบเข้าระหว่างผาสูง มาดูกันว่าแต่ละฉบับแปลอย่างไร เริ่มที่ George D. Schade

“You’re caught,” said the one following him, who was now sitting on the river bank. “You’ve come to a dead end. First doing that terrible thing and now going where you get boxed in by the river toward your own coffin. . . / The man saw that the river was narrowing between steep cliffs, and he stopped.

จะเห็นว่าผู้แปลฉบับแรกเน้นแปลให้ได้ความเป็นหลัก จะได้คำหรือไม่ไม่สำคัญ ซึ่งดูจะเป็นยุทธศาสตร์ตรงข้ามกับ Ilan Stavans ที่ใส่คำว่า “box” มาแบบเต็มๆ

“You’re trapped,” said the man who was after him, who was now sitting on the riverbank. “You’ve cornered yourself. First, by committing your evil deed and now by boxing yourself in, in your own box. . . / The man saw that the river was being boxed in between high walls and he stopped.

โดยไม่ชัดนักในความหมาย อ่านแล้วงงว่า “your own box” คืออะไร แต่พอเรามาลองอ่านของ Stephen Beechinor ดู

–You are trapped, said the man who was after him and was now sitting on the riverbank. You’ve gone and boxed yourself in. First by your misdeeds and now by heading for the ravines, and those ravines will be the box you’ll end up in. . . / The man saw the river boxed in between sheer walls and he stopped.

จะพบว่าได้ทั้งคำได้ทั้งความอย่างไม่เสียลาย เป็นอานิสงส์จากการแต่งรูปประโยคใหม่ สังเกตว่าเขายก “box” แรกขึ้นไปประโยคก่อนหน้า แล้วแต่งวลี “the box you’ll end up in” ขึ้นมาให้ฟังดูเป็นคำขู่ อ่านแล้วประหวัดรู้ถึงการเดินลงโลง

ยังมีอีกลวดลายการซ้ำคำที่ฉันอยากพูดถึง คือลวดลายที่ไม่มีในต้นฉบับ แต่ซึมซับมาจากการอ่านสำนวนแปล นี่เป็นข้อพิสูจน์หนึ่งว่าทางผ่านก็เผยและขับเน้นศักยภาพทางสุนทรียะของต้นทางได้เหมือนกัน

ในการตรวจปรู๊ฟดิจิตัล ท่งกุลาลุกไหม้ ก่อนตีพิมพ์ หลังนั่งแก้ทั้งคืนฉันส่ง 25 จุดที่จะแก้ไปให้บ.ก.ไอดาในเวลาค่อนรุ่ง เช้าวันสุดท้ายนั้นบ.ก.ลงเอยยึดเอาการซ้ำคำในฉบับแปลอังกฤษเป็นตัวช่วยตัดสินในจุดหนึ่ง ซึ่งขับเน้นตัวบทให้ได้จังหวะยิ่งกว่าเดิม ในประโยคปิดท้ายเรื่อง “En la madrugada”/“ญามค่อนสิแจ้ง” ที่เล่าถึงบรรยากาศในหมู่บ้านหลังความตายของเจ้าที่ดินประจำหมู่บ้าน ต้นฉบับว่า

Y las campanas estuvieron doblando a muerto toda la noche, hasta el amanecer, hasta que fueron cortadas por el toque del alba.

ฉันเสนอแก้ส่วนที่ทำตัวหนาไป จาก จนเซ้า แล้วจึงหยุดไปพ้อมเสียงรังฆังบอกเวลาเซ้า แก้เป็น จนแจ้ง จนมันดับไปใต้เสียงรังฆังบอกเวลาเซ้าปรากฏว่าบ.ก.ยอมแก้

เพราะคิดว่าการเล่นจังหวะคำว่า “จน” ตามต้นฉบับก็น่าจะดีกว่า ทิ้งไว้แค่นั้นไม่ต้องไปขยายความให้ว่า “แล้วจึง”

แต่ บ.ก. ก็ปรับเพิ่มด้วยการ

คงคำว่า “จนเซ้า” ไว้ เพราะมันย้ำภาวะจุดตัดนี้ [ระหว่างระฆังไว้อาลัย VS ระฆังที่บอกเวลาเช้า การสิ้นสุดลงของผู้ให้ดวงไฟ VS การเกิดขึ้นของแสงเช้าวันใหม่] ในภาษาอังกฤษทั้งสองเล่มก็ใช้คำเดียวกันทั้งสองจุดคือ dawn

ทั้งสองเล่มที่ว่าหมายถึงของ Schade: “until dawn, until they were cut short by the peals of dawn” กับของ Stavans: “until dawn, until they were cut short by the tolling of the dawn” (สังเกตว่าต้นฉบับใช้ “amanecer” กับ “alba” สองคำ)

แต่ บ.ก. ยังมีอีกเหตุผลที่เปลี่ยน “จนแจ้ง” กลับเป็น “จนเซ้า”

อีกเหตุผลที่ไม่ใช้แจ้งเพราะ แจ้ง=daybreak ตามชื่อเรื่องที่ Schade แปลไว้ให้เป็นภาวะรอยต่อ แต่ในประโยคปิดเรื่องเขาก็ยังใช้ dawn หมายถึงอรุณรุ่งแล้วหรือเช้าแล้ว

จะเห็นได้ว่าการอ่านสำนวนแปลอังกฤษสองฉบับของ บ.ก. ช่วยปรับสายตาในการเลือกใช้คำแปลให้ละเอียดลออยิ่งขึ้นว่าจะ “แจ้ง” หรือจะ “เซ้า” น่าสังเกตว่าชื่อเรื่องนี้ถูกแปลไม่เหมือนกันเลยในภาษาอังกฤษแต่ละฉบับ คนแรกแปลว่า “At daybreak” คนที่สองแปลว่า “At Dawn” คนที่สามแปลว่า “At first light” เป็นภาวะรอยต่อที่ราตรีกำลังคลี่คลาย มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับ “ตาใน” ของนักอ่านที่กลายเป็นนักแปลแต่ละคน

 

V.  สรุป

สำนวนแปลใน El Llano in flames มีอะไรให้จับผิดอยู่เหมือนกัน ยังเจอจุดที่ฉันเห็นว่าน่าจะแปลผิดความหมายนิดๆหน่อยๆ กับอีกหลายจุดที่น่าจะหละหลวมเกินไปในโครงสร้างประโยคและทิ้งบางคำไปเฉยๆ อย่างในประโยคแรกของเรื่อง เปิดเล่มที่คำว่า “After” ที่ควรจะเป็นคำแรกหายไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย

ถึงกระนั้น ด้วยกลวิธีการวรรคตอนและอรรถาธิบาย ด้วยพลังการเสกจินตภาพ และด้วยการไว้ลายในด้านการซ้ำคำดังที่ได้สาธยายมา สำหรับฉันก็ตัดสินได้ว่าสำนวนแปลของ Stephen Beechinor เป็นสำนวนแปลอังกฤษที่ดีที่สุดเท่าที่เรามี

เพ็ญพิสาข์ ศรีวรนารถเคยแจกแจงไว้ว่าการแปลวรรณกรรมผ่านภาษาที่สองมีปัญหาอย่างไรบ้าง ฉันเห็นด้วยว่าควรแปลจากภาษาต้นฉบับ แต่เผอิญว่ากรณีศึกษาที่เพ็ญพิสาข์ใช้คือ Pedro Páramo นวนิยายของฆวาน รูลโฟพอดี เมื่อพูดถึงผลงานวรรณกรรมโดยเฉพาะของคนนี้ที่มีลีลากวีเป็นแบบฉบับจนเกิดคำว่า “el estilo rulfiano” หรือ “สไตล์รูลเฟียโน” ในแง่นี้การศึกษาสำนวนแปลที่ถูกเสนอผ่านจินตภาพของบทแปลโดยผู้อื่นหรือในภาษาอื่นประกอบกันไป ก็ช่วยเป็นคู่สนทนาให้เห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายของการถ่ายทอดทั้งในเชิงความหมายและสุนทรียะด้วยเช่นกัน

ในกรณีของรูลโฟ ความน่าสนใจของการศึกษาสำนวนแปลในภาษาอื่นยังมีประเด็นสำคัญอีกว่า รูลโฟเขียนด้วยภาษาพูดของชาวบ้าน จึงยิ่งน่าสนใจว่าการถ่ายความเป็นภาษาไทบ้าน (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็น “ภาษาถิ่น”) ของแต่ละภาษานั้นจะแก้ปัญหากันอย่างไร

ฉันเองบอกไม่ได้ว่า Beechinor ใช้ภาษาไทบ้านบริเตนแค่ไหนอย่างไร เท่าที่ตามอ่านรีวิวมีคนหนึ่งบอกว่าภาษาเป็นธรรมชาติมากสำหรับผู้อ่านบริทิชอิงลิชโดยไม่มีจุดแปร่งหูเลย ส่วนฉันที่เป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษถิ่นอเมริกาอ่านแล้วก็มีงงสำนวนบ้างตามประสาและตามสมควร แต่โดยรวมแล้วสำหรับฉันก็ได้อารมณ์กว่าฉบับที่ใช้ภาษาแปลจัดๆของ Stavans และได้ความงดงามแบบกวีมากกว่าฉบับที่อ่านง่ายไปหน่อยของ Schade

บทเรียนสำหรับฉันจึงเป็นว่า การแปลจึงต้องอาศัยทั้งสายตาพญาเหยี่ยวที่ยึดกุมความหมายหลักให้ได้ และใช้ตารวมของแมลงวันที่สัมผัสไวต่อภาพรายล้อมอันมีพลวัตเคลื่อนไหว เพื่อจะได้ประกอบนานาเสี้ยวส่วนนั้นเป็นภาพในหัวของนักแปล.