ชั้นหนังสือนพพร ประชากุล

 

รูปถ่ายของนพพร ประชากุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจเป็นที่คุ้นตาในหมู่ลูกศิษย์และมิตรสหายหลายคน โดยเฉพาะในช่วงรำลึกถึงการจากไปของอาจารย์ในวันที่ 17 พฤศจิกายนของทุกปี  ในปีนี้รูปถ่ายนี้ถูกจัดวางอย่างลำลองไว้บนชั้นหนังสือที่เรียบง่ายคู่หนึ่ง ซึ่งจะขอเรียกในเบื้องต้นว่า “ชั้นหนังสือนพพร ประชากุล”

 

ภายในชั้นหนังสือนพพร ประชากุล นี้ บรรจุหนังสือและเอกสารจำนวนหนึ่งที่อาจารย์เคยใช้ในระหว่างการสอนและค้นคว้าประกอบงานเขียนและแปลบทความวิชาการต่างๆ  ฝั่งซ้ายมือเป็นงานภาษาต่างประเทศ ช่องแรกจัดเก็บงานของนักเขียนคนโปรดของอาจารย์คือ มาร์แซ็ล พรุสต์ และงานของนักวิชาการที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพรุสต์ หนังสือในช่องนี้มีหลายเล่มที่มักอยู่ใกล้ตัวและเป็นเหมือนเพื่อนของอาจารย์ในระยะที่กำลังเจ็บป่วย วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของอาจารย์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องของพรุสต์ก็รวมอยู่ในที่นี้ด้วยเช่นกัน

 

ส่วนหนังสือภาษาต่างประเทศอื่นๆ อยู่ในช่องหนังสือถัดลงมา ตามด้วยนิตยสารและวารสาร  ชั้นหนังสือฝั่งขวาคือที่เก็บหนังสือและนิตยสาร/วารสารภาษาไทย หลายเล่มมีร่องรอยลายมือของอาจารย์เขียนแสดงความเห็นตอบโต้กับตัวบทด้วย

ด้านล่างสุดของชั้นทั้งสองฝั่งเป็นเอกสารประกอบการสอนรายวิชา เอกสารถ่ายสำเนาเป็นเรื่องๆ รวมทั้งเอกสารบางส่วนที่อาจารย์ได้จัดรวมเข้าแฟ้มไว้เองเมื่อนานมาแล้ว เช่น แฟ้มสตรีศึกษา ส่วนเอกสารเย็บเล่มที่บนสันเขียนว่า TRANSLATION THEORY นั้น เป็นลายมือของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ผู้รวบรวมงานทฤษฎีใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกันกับอาจารย์นพพรอยู่เสมอ เอกสารกลุ่มนี้ยังอยู่ในระหว่างรอการจำแนกลงบัญชีรายการและจัดเข้าแฟ้มให้เป็นระบบเพื่อสะดวกแก่การค้นคว้าต่อไป

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเล็กน้อยว่าเอกสารที่เขียนด้วยลายมือของอาจารย์นพพรในระหว่างการทำงานสอน กับลายมือต้นร่างและงานปรับแก้ต้นฉบับงานเขียนก่อนตีพิมพ์เป็นบทความในนิตยสารหรือหนังสือต่างๆนั้น เป็นเอกสารกลุ่มที่มีอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว จนควรนับเป็นหลักฐานยืนยันให้เห็นถึงวิธีการทำงานอันละเอียดลอออย่างน่าทึ่งของอาจารย์ดังที่รู้กันดีในแวดวงผู้ใกล้ชิด และอาจเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้สนใจได้

 

ตัวอย่างร่างลายมืองานวิเคราะห์บทกวี “คืนหนึ่งของ ‘ไส้แห้ง’ ” ก่อนจะกลายมาเป็นบทความ “ ‘ไส้แห้ง’ กับ ‘สมองตัน’ : กับดักกวีไทยสมัยใหม่” ตีพิมพ์ใน สารคดี ปีที่ 15 ฉบับที่ 180 กุมภาพันธ์ 2543

 

สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้ดูแลรักษาหนังสือและเอกสารเหล่านี้ของอาจารย์นพพรมานานปี ได้ใช้ประกอบการค้นคว้าและเผยแพร่เพื่อสาธารณประโยชน์เป็นครั้งคราว บัดนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้ทำโครงการคลังจดหมายเหตุร่วมกันกับมูลนิธิสิทธิอิสรา และนำหนังสือและเอกสารเหล่านี้เข้ามาอยู่ภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีชื่อเรียกอย่างลำลองว่า “SISAAN” (สามารถออกเสียงหรือสะกดไทยได้ว่า ซิสอ่าน, สิสาน, สีสาน, ศรีสาน แล้วแต่ความพึงใจของผู้อ่าน)

ชั้นหนังสือของนพพรจะอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับหนังสือ เอกสาร รวมทั้งสิ่งของส่วนตัวของนักคิดนักเขียนสามัญชนอีกจำนวนหนึ่งที่โครงการ SISAAN นำมาเก็บรักษาไว้ เคียงคู่กับคลังจดหมายเหตุ “ศรีสามัญ” ที่รวบรวมวัตถุดิบภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เอกสารข้อมูลต่างๆ ว่าด้วยการต่อสู้ของประชาชนนิรนามในบางช่วงของประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในอดีตได้นำมามอบไว้ให้ ทั้งหมดนี้จะค่อยๆ ทยอยเปิดตัวต่อไป

แม้ นพพร ประชากุล จะเป็นอาจารย์ในสังกัดเขตรั้วสถาบันมหาวิทยาลัย แต่เขาเป็นที่จดจำและเป็นแรงบันดาลใจจากความเป็นนักวิจารณ์และนักวิชาการสามัญของนักอ่านสาธารณชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โครงการ SISAAN จะทำหน้าที่เก็บรักษามรดกของเขาในฐานะนั้น และขอใช้วาระครบรอบ 17 ปีการจากไปของเขาเป็นวาระแจ้งข่าวแก่ลูกศิษย์ลูกหา เพื่อนมิตร รวมทั้งนักอ่านทุกท่าน เพื่อเป็นที่รับทราบโดยทั่วกันต่อไป

ภาพถ่ายประกอบบทความโดย ภาวดี ประเสริฐสังข์


หมายเหตุ 

โครงการคลังจดหมายเหตุในนาม SISAAN และศรีสามัญ อยู่ระหว่างจัดทำบัญชีรายการเอกสารทั้งหมด รวมทั้งการสแกนเพื่อเก็บเป็นดิจิตอลสำหรับเตรียมเผยแพร่เป็นเว็บไซต์ให้สาธารณะชนเข้าถึงได้ง่าย ส่วนหนังสือหรือเอกสารบางส่วน จะได้จัดพื้นที่คล้ายห้องสมุดย่อมๆ สำหรับผู้ที่สนใจมาใช้บริการอ่านหรือค้นคว้าต่อไป รวมถึง “ชั้นหนังสือนพพร ประชากุล” นี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ สำนักพิมพ์อ่านเองได้เปิดคอลัมน์ “ทิ้งรอยเพื่อทิ้งรอย” ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ เพื่อเป็นพื้นที่รวบรวมเกร็ดเรื่องราวและผลงานของนพพร ประชากุล และเปิดให้บุคคลทั่วไปเสนองานเขียนเพื่อลงในคอลัมน์นี้ด้วย  งานเขียนชิ้นแรกที่เผยแพร่ คือ “ทิ้งรอยโดยทิ้งรอย” โดยชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เผยแพร่เมื่อปี 2565 และชิ้นถัดมาในปี 2566 คือ “20 ปี “นพพร ประชากุล วิจักษ์วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส” ในความทรงจำของคนทำรูปเล่ม” โดยเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ผู้สนใจส่งงานเขียนเกี่ยวกับนพพร ประชากุล เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์อ่าน สามารถส่งถึงกองบรรณาธิการได้ที่ [email protected]