คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่ 2019 edition

“แม้แต่ในหมู่กรรมการมันก็เป็นเรื่องเด็กกับผู้ใหญ่เหมือนกับโจทย์ที่ให้คนเขียนประกวด”

ในที่สุดที่ประชุมก็ลงมติว่า.

ผลการประกวดข้อเขียน “ เขียนใหม่นายผี” รายการที่ 1

จากชิ้นงานชวนอ่านตั้งต้น “นิทานการเมืองเรื่องเด็กกับผู้ใหญ่” 

ผู้ชนะเลิศ ประเภทผู้ยังไม่เคยมีสิทธิเลือกตั้ง ได้แก่ จิรัชญา เกศสุระพันธ์

นิทานการเมือง เรื่องเด็กที่เคยคิดว่าเป็นผู้ใหญ่มันดีกว่า

 

ข้อเขียนที่ทางโครงการ “เขียนใหม่นายผี”  ตั้งชื่อเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ชื่อซ้ำกันว่า “นิทานการเมือง เรื่องเด็กที่เคยคิดว่าเป็นผู้ใหญ่มันดีกว่า” นี้ เต็มไปด้วยข้อสังเกตจากมุมมองของคนที่ไม่รู้ว่ายืนอยู่ตรงไหนกันแน่ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ มีประเด็นซับซ้อนและชวนคิดอย่างมากสำหรับผู้อ่าน ไม่ว่าผู้ที่อ่านจะเป็นคนวัยใดเป็นข้อเขียนที่สมวัยและล้ำวัยไปพร้อมๆกัน ข้อเขียนเรียบๆ ที่ดูเหมือนบันทึกส่วนตัวนี้ บ่งบอกว่าผู้เขียนได้อ่านนิทานการเมืองของอัศนี พลจันทร แล้วนำมาคิดต่อและเขียนใหม่ด้วยเสียงที่เป็นของตัวเอง เป็นการคิดต่อที่คงสปิริตของการคิดหลายตลบเพื่อทำให้เกิดคำถามถึงความคิดความเชื่อที่มีอยู่ก่อนหน้า จนไม่มีคำตอบสำเร็จรูปแม้กระทั่งในรูปของสัจธรรมหรือ conventional wisdom แต่ทิ้งคำถามไว้ให้ทุกคนใคร่ครวญต่อไป

 

ผู้ชนะเลิศ ประเภทผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ได้แก่ ศรุต อินทราหยี๋

นิทานการเมือง เรื่องไม้อ่อนกับไม้แก่

ข้อเขียนที่ทางโครงการ “เขียนใหม่นายผี” ตั้งชื่อเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ชื่อซ้ำกันว่า “นิทานการเมือง เรื่องไม้อ่อนกับไม้แก่” ของ ศรุต อินทราหยี๋ นี้ ตั้งใจและจงใจจะเลียนแบบและยั่วล้อไปกับ “นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่” ของอัศนี พลจันทร ในนามปากกา “ศรี อินทรายุทธ” ไล่มาตั้งแต่นามปากกาที่เป็นคำผวนแบบแผลงๆ ไปจนถึงลีลาการเขียนและเนื้อหาที่ล้อกันไป แต่ปรับให้ร่วมสมัยด้วยการเปลี่ยนจากการอ้างชุดคำสุภาษิต และคำโคลง มาเป็นการอภิปรายในกรอบความเป็นภาษา  นอกจากนั้น จากที่อัศนีเสนอไว้ว่าการถกเถียงเรื่องเด็กกับผู้ใหญ่ไม่มีประโยชน์และไม่มีวันจบ  ศรุต อินทราหยี๋ คล้ายจะเสนอต่อยอดไปว่าข้อถกเถียงสำคัญกว่าที่อาจถูกลืมไปในระหว่างการถกปัญหาเด็กกับผู้ใหญ่ หรือไม้อ่อนกับไม้แก่ ก็คือปัญหาความชอบธรรมและอำนาจอันเป็นรากฐานกว่านั้น

ด้วยความครบถ้วนลงตัวของการลงแรงทางภาษา กลวิธี และความคิด มีความรัดกุมทางภาษาและความหมาย จึงเห็นสมควรให้ ศรุต อินทราหยี๋ ได้รับรางวัลชนะเลิศ

นอกจากนี้  ในการประกวดประเภทผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีผลงานที่แม้ไม่ถึงขั้นชนะเลิศ แต่มีความน่าสนใจบางประการที่ทางโครงการเห็นว่าควรให้อยู่ในขั้นผ่านการพิจารณาเผยแพร่ออนไลน์เพื่อการสนทนาต่อไป จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ ผลงานของ ขอม ตลุง และ จันทร์สว่าง

นิทานการเมือง เรื่อง “โลกใหม่”

ข้อเขียน “นิทานการเมือง เรื่อง ‘โลกใหม่’” ของขอม ตลุง มีความน่าสนใจที่ลีลาการเล่าเรื่องหวือหวา ใช้รูปแบบของโพสต์เฟ้ซบุ๊คที่ระดมความเห็นที่จิกกัดเรื่องการศึกษาว่าไม่ชี้วัดคุณภาพของคนได้จริง มีความแสบสันต์ สด และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ชวนให้เห็นถึงความน่าหัวร่อของระบบการศึกษาและผู้มีการศึกษาในเวทีการเมือง และการจบนิทานด้วยการบอกให้เด็ก “ก้าวร้าวเสียเถิด” เมื่อได้คิดตกผลึกแล้วด้วยตัวเอง อันหมายถึงการกล้ายืนยันความคิดของตัวเองโดยไม่ต้องถูกกดไว้จากขนบผู้น้อยผู้ใหญ่ ก็ถือเป็นความกล้าท้าทายจะเสนอแม้ในสิ่งที่ระคายหู อันเป็นสปิริตของ “นายผี” ด้วยส่วนหนึ่ง

นิทานการเมือง เรื่องเด็กในวันนั้นกับผู้ใหญ่ในวันนี้

ข้อเขียน “นิทานการเมือง เรื่องเด็กในวันนั้นกับผู้ใหญ่ในวันนี้” ของจันทร์สว่าง มีความน่าสนใจที่ผู้เขียนเลือกเสนอภาพความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ให้อยู่ในตัวคนคนเดียวกัน แทนที่จะแยกขั้วของวัยนั้นออกไปเสมือนเป็นคนละฝ่าย ชวนให้ฉุกคิดอย่างน่าสะท้อนใจว่าถึงที่สุดแล้วปัญหาของความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ คือปัญหาภายในตัวคนคนเดียวกันที่เมื่อผ่านวัยวันเวลา ผ่านแรงเสียดทาน ก็มีความเป็นผู้ใหญ่ที่มาอธิบายความชอบธรรมของความเป็นผู้ใหญ่นั้นแก่ตัวเองในวัยเด็ก โดยที่จริงๆแล้ว เด็กคนนั้นก็อาจไม่ได้โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่คนนั้นหากเขาไม่ได้เลือกทางเดินอย่างเด็กนั้นตั้งแต่แรก  เป็นบทสนทนาของคนสองวัยในคนคนเดียวกันที่ชวนให้ตั้งข้อกังขาและหงุดหงิดใจรวมทั้งสะท้อนใจไปได้พร้อมๆกัน

 

อนึ่ง ทางโครงการฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่ส่งผลงานมาร่วมในการประกวดรายการแรกนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือก ทางเราจะส่งหนังสือในโครงการ “อ่านนายผี” ไปให้เป็นจำนวน 2 เล่ม เพื่อแทนคำขอบคุณและเพื่อเป็นกำลังใจแก่การฝึกฝนวิทยายุทธต่อไป หรืออย่างที่อัศนี พลจันทร เคยว่าไว้ในโอกาสที่เขามีส่วนจัดการประกวดข้อเขียนที่ ปิยมิตรวันจันทร์ เมื่อราวหกสิบปีที่แล้วว่า

“จริงอยู่ข้อแนะนำของเรานี้[หรือคำตัดสินของกรรมการในที่นี้]อาจคร่ำครึและผิดพลาดไปบ้างก็เป็นได้ แต่นอกจากน้ำใจที่หวังดีโดยบริสุทธิ์แล้วยังจะมีอะไรอีกเล่าสำหรับมิตรสหายในยามยากเกินกว่าการกระทำที่เป็นจริง ขอให้ข้อเขียนเรื่องนี้เป็นเสมือนของกำนัลอันเล็กน้อยที่เราขอน้อมมอบให้แก่มิตรหน้าใหม่ของเราในวงการประพันธ์นั้นเถิด”

ประกาศ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2562

ในวาระครบรอบ 5 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557