คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – การละเมิดอำนาจศาล

(คลิกเพื่ออ่านชิ้นงานชวนอ่าน “การละเมิดอำนาจศาล”)

การประกวดบทความเขียนใหม่นายผีในรายการที่ 4 “การละเมิดอำนาจศาล” แม้จะแบ่งเป็นสองประเภทตามความถนัดทางวิชาการด้านกฎหมาย แต่ผลงานที่ผ่านการพิจารณาเผยแพร่จากทั้งสองประเภทล้วนแต่ชี้ประเด็นสำคัญตรงกันว่า การที่ผู้พิพากษามีสิทธิและอำนาจดังที่เป็นอยู่ตลอดมาในการพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลนั้น อาจกลายเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน ทั้งยังขัดกับหลักการสำคัญในเรื่องการมีส่วนได้เสียในประเด็นแห่งคดี ซึ่งในท้ายที่สุดจะวกกลับมาทำลายความน่าเชื่อถือของศาลเสียเอง อันเป็นสิ่งที่กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิดอำนาจศาลอ้างว่ามีมาเพื่อพิทักษ์

นอกจากนี้ วิธีการที่แตกต่างกันไปในการให้เหตุผลและอภิปรายดังที่ปรากฏในชิ้นงานเขียนใหม่ ยังชวนให้จินตนาการไปถึงตอนจบของบทความตั้งต้นของอัศนี พลจันทร ที่ขาดหายไปเนื่องจากหนังสือพิมพ์ซึ่งตีพิมพ์ต้นฉบับบทความดังกล่าวในปี  2491 ถูกทำให้สูญหายไปจากแหล่งข้อมูลสาธารณะ การได้เห็นความเป็นไปได้ว่าบทความนี้มีทางจบได้หลายแบบจึงมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน และการ “เขียนใหม่” ในเรื่องนี้ก็สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการ “เขียนต่อ” ความเดิมเมื่อราวเจ็ดสิบปีที่แล้วที่ไม่ทราบตอนจบ และคดีเดิมที่ยังไม่ยอมจบ ดังที่อัศนี พลจันทร ในนามปากกา “สายฟ้า” กล่าวไว้ว่า “การจัดการศาลยุตติธรรมอย่างใหม่หรือการปฏิวัติการศาลยุตติธรรมนั้น เปนหลักใหญ่หลักหนึ่งแห่งการปฏิวัติระบอบการปกครอง ซึ่งการปฏิวัติเมื่อปี ๒๔๗๕ ของเรายังหาได้ก้าวไปถึงไม่.”

 

รางวัลชนะเลิศ ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย ได้แก่

บทความเรื่อง “คดีละเมิดอำนาจศาลกับกระบวนพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของไทย” โดย สรชา สุเมธวานิชย์

บทความ เรื่อง คดีละเมิดอำนาจศาลกับกระบวนพิจารณาคดีละเมิดอำนาจศาลของไทย

งานเขียนชิ้นนี้เริ่มจากการให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นมาของข้อกฎหมายในเรื่องการละเมิดอำนาจศาล แล้วนำกรณีคดีละเมิดอำนาจศาลในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนักศึกษาเจ็ดคนที่ป้ายหน้าศาลจังหวัดขอนแก่น มาสาธิตอภิปราย โดยสามารถเสนอให้เห็นได้อย่างกระจ่างชัดถึงปัญหาของวิธีพิจารณาคดีอย่างที่เรียกว่าคดีละเมิดอำนาจศาล ว่าขัดกับหลักการเรื่องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดี และก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการดำเนินคดีแบบ ONE STOP SERVICE รวมถึงการลงโทษที่ซ้ำซ้อน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงขัดกับหลักแห่งความยุติธรรม หากยังจะมีผลย้อนกลับมา
สร้างปัญหาให้แก่การบริหารงานยุติธรรมของศาลเสียเอง

ด้วยความหนักแน่นของข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าคดีละเมิดอำนาจศาลนับตั้งแต่ช่วงก่อนยุคสมัยของอัศนี พลจันทร จนถึงยุคปัจจุบัน, การสาธิตกรณีตัวอย่างที่แจ่มชัด อีกทั้งด้วยภาษาเขียนที่กระชับรัดกุม คุมประเด็นการนำเสนอได้ครบถ้วนในความยาวเพียงสี่หน้า โดยไม่ละเลยการอ้างอิงตัวบทกับหลักฐานประกอบความเห็น อันเป็นลีลาการเขียนซึ่งผู้อ่านที่ติดตามข้อเขียนของอัศนี พลจันทร ในนามปากกา “สายฟ้า” อาจรู้สึกได้ถึงความละม้ายคล้ายกันได้อีกประการหนึ่งด้วยนั้น ทำให้บทความนี้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

รางวัลชนะเลิศ ประเภทผู้ไม่ได้ศึกษาหรือประกอบอาชีพทางกฎหมาย ได้แก่

บทความเรื่อง “ข้าพเจ้าใคร่ถาม” โดย ชนา ชุติสมิต

บทความ เรื่อง ข้าพเจ้าใคร่ถาม

บทความนี้เขียนขึ้นจากความสนใจของประชาชนคนหนึ่งซึ่งอาศัยข้อมูลที่เสาะหาด้วยตนเอง แล้วเรียบเรียงเป็นชิ้นงานที่เสนอมุมมองความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาคดีละเมิดอำนาจศาลได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งยังสามารถเร้าความรู้สึกต่อความอยุติธรรมของระบบยุติธรรมไทยอย่างได้ผล ด้วยการใช้วิธีตั้งคำถามโดยสามัญสำนึกกลับไปยังศาล ที่ก็เคยเป็นฝ่ายกระทำการละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างอุกอาจและสาหัสเสียยิ่งกว่าในหลายคดีที่ประชาชนถูกกล่าวหาว่าละเมิดอำนาจศาล

เช่นกันกับที่ “สายฟ้า” เคยได้นำ “เกียรติศักดิ์ของมหาชนชาวสยามทั้งหมด ” มาประจันหน้าท้าทายอำนาจของ “ผู้กระทำการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ผู้เขียนก็ได้ตั้งข้อหา “ศาลละเมิดอำนาจรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน” จากกรณีการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่เพิ่มสิทธิอำนาจให้ตนเองโดยข้ามอำนาจอัยการ มางัดกันกับข้อหา “ละเมิดอำนาจศาล” ที่ถูกนำมาใช้กับการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าป้ายศาลจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังกระบวนการพิจารณาคดีความผิดตามมาตรา112 ของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อันสะท้อนข้อข้องใจสะสมของผู้คนจำนวนหนึ่งต่อการทำหน้าที่ของศาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การเรียบเรียงความคิดอย่างชัดเจนเป็นเหตุเป็นผล บนฐานของสามัญสำนึกของวิญญูชนนอกวงการกฎหมาย นับแต่ประเด็นตั้งต้นของบทความไปจนถึงคำถามรั้งท้ายที่ว่า “หากศาลไม่พิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีระบอบตุลาการต่อไปทำไม” ทำให้บทความนี้สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ

ผลงานที่ผ่านการพิจารณาในประเภทผู้ศึกษาหรือประชอบอาชีพทางกฎหมาย มี 2 บทความ ได้แก่

บทความเรื่อง “ละเมิดอำนาจศาล หรือ ละเมิดอำนาจใคร” โดย อภิสิทธิ์ เรือนมูล

บทความ เรื่อง ละเมิดอำนาจศาล หรือ ละเมิดอำนาจใคร

บทความนี้มีความน่าสนใจที่ได้พยายามสืบสาวอภิปรายตั้งแต่กรอบคิดทางปรัชญามาจนกระทั่งถึงการอภิปรายข้อกำหนดยิบย่อยที่สุดที่สะท้อนความไร้สาระที่สุดในเรื่องการละเมิดอำนาจศาลของไทย นั่นคือข้อกำหนดการห้ามใส่รองเท้าแตะเข้าไปในศาล โดยที่การอภิปรายนั้นยังคงวกกลับมาที่คำถามในทางปรัชญาการเมืองอันเป็นหัวใจ ว่าอำนาจศาลที่ว่าถูกละเมิดนั้น คืออำนาจใคร

บทความเรื่อง “การละเมิดอำนาจศาล” โดย จิระวัฒน์ ลีละวาณิชย์

บทความ เรื่อง การละเมิดอำนาจศาล: ข้อเสนอสู่จุดสมดุลระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและพลเมือง

บทความนี้มีความน่าสนใจที่วิธีการเขียนแบบไม่ตั้งแง่และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายในการวิเคราะห์ปัญหาและเสนอทางออกสำหรับกฎหมายการละเมิดอำนาจศาล วิธีการเขียนเช่นนี้สร้างบรรยากาศการอ่านที่เอื้อต่อการใช้วิจารณญาณตัดสินโดยผู้อ่านเองถึงน้ำหนักของความข้างต่างๆ ตลอดจนประเด็นต่างๆ ที่ผู้เขียนยกมาเสนอ เช่น การยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ของคดีละเมิดอำนาจศาลที่อังกฤษ

 

ความหลากหลายในน้ำเสียงที่ต่างก็น่ารับฟังในบทความทั้งสี่ชิ้นนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่าการเสนอความเห็นวิจารณ์เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางกฎหมายของศาลไทยนั้น สามารถทำได้และควรได้รับการส่งเสริม ทั้งนี้ ความน่าเชื่อถือของศาลนั้นมิใช่อยู่ที่การปราศจากเสียงวิจารณ์ หากอยู่ที่การยอมรับให้มีการวิจารณ์ เพราะเหตุว่าศาลเองย่อมต้องสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การใช้อำนาจของตนนั้นมิได้เป็นฝ่ายไปละเมิดอำนาจอันไม่ควรถูกละเมิดเสียยิ่งกว่าของประชาราษฎร

ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยผลักดันให้คำของ “สายฟ้า” ที่ยืนยันว่าการทำงานในฐานะนักกฎหมายของเขาเป็นไปเพื่อ “เกียรติศักดิ์ของมหาชนชาวสยามทั้งหมด” นั้น เป็นสิ่งสมมุติที่มีน้ำหนักมากพอจะเรียกได้ว่าความจริง

ประกาศ ณ วันที่ 21 กรกฎาคม 2562

ในวาระครบรอบวันที่ อัศนี พลจันทร เข้าทำงานที่กรมอัยการ พ.ศ. 2484