(คลิกเพื่ออ่านชิ้นงานชวนอ่าน “นิทานการเมือง เรื่องการปฏิวัติที่ห่าม”)
รางวัลชนะเลิศ ประเภทนิทานการเมือง
นิทานการเมือง เรื่อง “ ‘การปฏิวัติที่สุกงอม’ ระลอกนั้น” โดย ศิริจินดา ทองจินดา
ข้อเขียนชิ้นนี้สาธิตให้เห็นว่าการเลือกข้างทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้งในข้อเขียนเชิงวรรณกรรมนั้นสามารถทำได้อย่างเกิดประโยชน์และประเทืองปัญญายิ่ง กล่าวคือ เมื่อลงจะเลือกข้างแล้วก็ใช้การเขียนเป็นพาหนะผลักความคิดของการเลือกข้างไปจนถึงที่สุด จนมันเปิดโปงความจริงและความกลับกลอกของตรรกะฝ่ายตรงข้าม ในกรณีนี้คือความเป็นครอบครัวหรือ “ลูกแหง่ของชาติบ้านเมือง” ที่ไม่เชื่อในการเลือกข้างทางการเมืองแต่ก็ได้เลือกไปแล้วที่จะปกป้องความเป็นครอบครัวเหนือสิ่งอื่นใดและผลักไสผู้ไม่เห็นด้วยให้เป็นปีศาจ ดังที่ข้อเขียนกระตุกเตือนอย่างคมคายว่า “อย่าลืมสิ แท้จริงแล้วครอบครัวคือตรรกะแห่งสงครามนะ สงครามเกิดขึ้นได้ดีที่สุดในครอบครัว ถ้าเราไม่เลือกครอบครัว เรานั่นแหละจะกลายเป็นคนอื่น”
กลวิธีการวางเรื่องที่ดูเผินๆ เหมือนทำไปเพื่อระบายความคับข้องใจทางการเมืองอย่างไม่อ้อมค้อมนั้นแฝงไปด้วยชั้นเชิงในบทสนทนาที่วางเรื่องให้ผู้เล่าเรื่องที่เป็นคนยุคปัจจุบันโต้ตอบย้อนถามกุลิศผู้อยู่ในยุคเจ็ดสิบปีก่อน กล่าวคือ มันได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่าเรื่องสามารถย้อนเกล็ดกุลิศในประเด็นต่างๆ ที่ระบบความคิดของเขาไม่เพียงพอต่อการรองรับความเป็นจริงในสังคมปี 2019 ที่ความดีงามกลายเป็นบ่อเกิดแห่งการฆ่าล้างได้ โดยที่ในขณะเดียวกันนั้นผู้เล่าเรื่องก็ตระหนักถึงคุณค่าและความเป็นไปได้หลายอย่างที่เคยมีในสมัยของกุลิศที่ได้ถูกทำให้สูญหายไปในระหว่างทางของประวัติศาสตร์การเมืองไทย
นอกจากนี้ กลวิธีการวางเรื่องดังกล่าวยังเข้าไปท้าทายความคิดของกุลิศในเรื่องเพศสถานะได้อย่างเหนือความคาดหมาย อีกทั้งแทนที่กุลิศจะเป็นฝ่ายสาธยายข้อคิดและอุดมการณ์ เขากลับกลายเป็นผู้ที่ต้องคอยถามอีกฝ่ายอย่างไม่สู้จะตามทันนัก ประเด็นนี้ชวนให้นึกถึงอัศนี พลจันทร ที่ใช้หลายนามปากกาที่บ่งว่าไม่ใช่ชื่อผู้ชาย เช่น “ประไพ วิเศษธานี” “อำแดงกล่อม” ซึ่งในแง่หนึ่งก็เพื่อขยับเส้นขีดจำกัดในทางคุณค่าของบทบาทเพศสถานะในยุคก่อนหน้า แม้ว่าจะยังอยู่บนฐานของเพศสถานะที่ตายตัว
การบรรลุผลทั้งหมดที่ว่ามานี้ ประกอบกับกลวิธีสร้างบทสนทนาที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกร่วมได้แม้ในท่วงทำนองสาธกอธิบายอย่างนิทานการเมืองนี้ ทำให้งานเขียนชิ้นนี้สมควรแก่การได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทนิทานการเมือง
รางวัลชนะเลิศ ประเภทบทความ
บทความ เรื่อง “การปฏิวัติครั้งสุดท้าย” โดย สายธาร
แม้จะแทบไม่ได้มีองค์ประกอบของข้อมูลหรือชื่อเฉพาะที่อ้างอิงกลับไปยังชิ้นงานซึ่งเป็นโจทย์ตั้งต้นโดยตรง บทความนี้กลับสนทนากับเนื้อหาความคิดของชิ้นงานที่เป็นโจทย์ตั้งต้นได้ถึงหัวใจของตัวงาน คือการพุ่งไปที่ประเด็นนิยามและคุณค่าของความสุกห่ามของการปฏิวัติ และแม้จะใช้ท่วงทำนองการเขียนที่กระชับมากกว่ามุ่งขยายความ แต่ความกระชับนั้นก็ขมวดความคิดที่ซับซ้อนและแหลมคม อีกทั้งยึดกุมประเด็นเรื่องการปฏิวัติครั้งสุดท้ายแบบมาร์กซิสต์ที่เป็นโจทย์สนทนากับนายผีได้โดยตรง กลวิธีการเขียนที่ใช้การถกและเถียงกับตัวเองไปมาอยู่ตลอดเวลาอย่างชวนให้งงและสับสนอยู่บ้างนั้น ก็นับว่าเข้ากันกับข้อเสนอเรื่องการปฏิวัติตลอดเวลา/การปฏิวัติครั้งสุดท้าย อันเป็นประเด็นของบทความ
ความแจ่มชัดในความยอกย้อน อันสะท้อนถึงการทบทวนชุดความคิดและการลงมือกระทำการที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์จากมุมมองของสถานการณ์ปัจจุบันและมุมมองแบบประวัติศาสตร์ระยะยาว ทำให้เห็นถึงสปิริตของการพยายามไม่หลอกตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละทิ้งความหวังหรือความตื่นรู้ต่อความเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตอย่างใหม่
ด้วยความโดดเด่นในการสร้างและหักล้างของถกเถียงอย่างแจ่มชัดในความยอกย้อนวกวน อันเป็นกลวิธีที่ประสบผลได้ก็ต่อเมื่อผู้เขียนเองพยายามขบคิดให้ตลอดและยึดกุมประเด็นได้มั่นคงนั้น ทำให้งานเขียนชิ้นนี้ควรแก่การได้รับรางวัลชนะเลิศในประเภทบทความ
ข้อเขียนที่ผ่านการพิจารณาให้เผยแพร่ ประเภทนิทานการเมืองและบทความ
ในการประกวดรายการที่สาม ในวาระครบรอบการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 นี้ ปรากฏว่ามีผู้ส่งข้อเขียนประเภทนิทานการเมืองเข้ามาจำนวนไม่น้อย และข้อเขียนประเภทบทความอีกจำนวนหนึ่ง งานเขียนเหล่านี้แม้ไม่ถึงกับแจ่มชัดนักในแง่ความคิดและไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบนักในแง่กลวิธีการประพันธ์หรือการถกเถียงอภิปราย แต่ทุกชิ้นต่างมีแง่มุมและข้อเสนอหลายประการที่ชวนสะดุดใจและกระตุ้นให้นำไปคิดต่อหรือคิดแย้ง จนเป็นที่น่าตื่นเต้นว่างานเหล่านี้ล้วนสะท้อนความพยายามอย่างกระตือรือร้นที่จะร่วมสนทนากับประเด็นการปฏิวัติ รัฐประหาร และรวมถึงสิ่งที่เรียกว่าการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475
โครงการเขียนใหม่นายผีจึงตัดสินใจให้เผยแพร่งานทุกชิ้นเหล่านี้เป็นกรณีพิเศษในวาระเฉลิมฉลองเหตุการณ์หมุดหมายอันเป็นหัวใจของการปกครองในประเทศนี้ คือวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 ทั้งนี้ เนื่องจากไม่เพียงลำพังการปฏิวัติ 24 มิถุนา หากแต่กระบวนการและระบบต่างๆ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ตลอดจนถึงจิตสำนึกทางการเมืองของผู้มีอำนาจและราษฎร ก็ดูจะยังอยู่ไม่พ้นข้อกังขาของความห่าม ดิบ กึ่งสุกกึ่งดิบตลอดมา ไม่ผิดกันกับชื่องานเขียนที่เป็นโจทย์ของการประกวดรายการนี้
การให้เผยแพร่ข้อเขียนทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดในรายการนี้เป็นกรณีพิเศษจึงเป็นการร่วมเฉลิมฉลองการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 โดยถือว่าทุกชิ้นเป็นหนึ่งเสียงสะท้อนของราษฎรที่ควรค่าแก่การรับฟังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนที่สุก ห่าม ดิบ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือไม่เพียงใด อีกทั้งเพื่อยืนยันฐานะตำแหน่งแห่งที่ของการปฏิวัติ 24 มิถุนา ที่ลำพังก่อนหน้านี้ก็ถูกผลักไสไปจากประวัติศาสตร์ชาติตลอดมา แต่ในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตรอบใหม่ของการพยายามลบล้างให้สูญหาย รวมทั้งเพื่อตอกย้ำว่า คำถามต่อการปฏิวัติ รัฐประหาร จำนวนนับครั้งไม่ถ้วนที่ผ่านมาในสังคมไทย และที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตอันใกล้อย่างยิ่งนี้ เป็นคำถามที่ราษฎรควรถาม และไม่ควรปล่อยผ่านอีกต่อไป
บทความ เรื่อง “การปฏิวัติที่ห่ามสำหรับฝ่ายก้าวหน้าที่ไม่มีความเจนจัดและไม่มีอำนาจ”
บทความ เรื่อง “สภาพการณ์ 2491 ถึงการแตกสลายของ Bhumibol Consensus”
ประกาศ ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2562
ในวาระครบรอบวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475