คำประกาศ
“อนึ่งเล่า สภาพของข้าพเจ้า . . . นั้นหาไกลกว่าการหวัว[หัวเราะ]ไม่เลย, ดูดุจนกฮูกแห่งราตรีกาลที่ร่อนร้องไปเหนือทิวไม้สูงเตือนผู้หลับให้ตื่น, เตือนผู้ตื่นให้ลุก, เตือนผู้ลุกให้โลด มันจะมีประโยชน์อันใดสำหรับผู้เรืองปัญญาทั้งหลาย?”
อัศนี พลจันทร เขียนในนามปากกา ประไพ วิเศษธานี เมื่อปี 2504
ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นการอ่านงานเขียนจากอดีตอย่างใส่ใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน สร้างนวัตกรรมการประกวดผลงานเชิงวรรณกรรม และเฟ้นหาข้อเขียนคุณภาพและทันสมัยจากสาธารณชนในสปิริตของ “นายผี” อัศนี พลจันทร ในหัวข้อที่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
โครงการอ่านนายผี ของสำนักพิมพ์อ่าน ร่วมกับ อ่านออนไลน์ จึงจัดโครงการ “เขียนใหม่นายผี” ขึ้น ประกวดข้อเขียนหลากหลายรูปแบบ รวม 7 รายการประกวด 13 ประเภทการแข่งขัน ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 80,000 บาท เพื่อนำข้อเขียนที่ผ่านการคัดเลือกไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวันสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนปี 2562
ทั้งนี้ สำนักพิมพ์อ่านได้รับอนุญาตเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากคุณวิมลมาลี พลจันทร ทายาทผู้ถือลิขสิทธิ์ ให้นำผลงานคัดสรรจากหน้าหนังสือพิมพ์ของ “นายผี” อัศนี พลจันทร มาเผยแพร่ทาง อ่านออนไลน์ ในรูปของ “ชิ้นงานชวนอ่าน” เพื่อการเข้าถึงและชุบชีวิตขึ้นใหม่โดยง่ายในพื้นที่ออนไลน์
รูปแบบข้อเขียน
- นิทานการเมือง
- จดหมาย
- รายงานข่าว
- บทวิจารณ์ที่เขียนเป็นร้อยแก้ว
- บทวิจารณ์ที่เขียนเป็นร้อยกรอง
- บทความ
กติกาเข้าร่วมโครงการ
นิยาม การ “เขียนใหม่” ในที่นี้ อาจเป็นการเขียนสืบต่อจากที่ต้นเรื่องทิ้งท้ายไว้ หรืออาจเขียนทับรอยเดิมล้อไปกับข้อเขียนของอัศนี พลจันทร หรืออาจเขียนขึ้นมาใหม่หมดจดก็ได้ เงื่อนไขขอเพียงให้มี “สปิริต” เดียวกันกับที่อัศนีเคยเขียนไว้ในรายการนั้นๆ ส่วน “สปิริต” นี้จะเป็นเช่นไร เป็นการตีความของผู้เขียนใหม่แต่ละคน
ความยาว ของข้อเขียนสำหรับการประกวดรายการที่ 1-6 กำหนดที่ 1-5 หน้ากระดาษ A4 ตัวพิมพ์ Browalia New 16pt เพื่อการอ่านอย่างสะดวกรวดเร็วบนพื้นที่ออนไลน์ แต่สำหรับการประกวดรายการที่ 7 หัวข้อ “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร” กำหนดที่ 5-20 หน้ากระดาษ A4 เพื่อให้พื้นที่สำหรับการคิดค้นอภิปรายอย่างเต็มที่
วิธีส่งผลงาน ส่งข้อเขียนใหม่ทางอีเมลมาที่ [email protected] โดยระบุหัวเรื่องอีเมลด้วยคำว่า “เขียนใหม่นายผี” และในเนื้อหาอีเมล กรุณาขึ้นต้นด้วยการระบุชื่อ “รายการที่ส่งประกวด” (1-7), ชื่อ “หัวข้อ” (โปรดดูในตารางสรุปท้าย และในกรณีที่ไม่ได้ระบุหัวข้อไว้ ให้ผู้เขียนใหม่กำหนดหัวข้อเอง), และ “ประเภท” ที่ส่งเข้าประกวด ให้ชัดเจน พร้อมแนบไฟล์ .doc, .docx, หรือ .pdf และเขียนแนะนำตัวสั้นๆ 1-3 บรรทัด สำหรับการนำไปประกอบการเผยแพร่ข้อเขียนใหม่ต่อสาธารณะในกรณีที่ผลงานผ่านการคัดเลือก ทั้งนี้ ในขั้นของการเผยแพร่ ผู้เขียนใหม่สามารถใช้ชื่อตามกฎหมายหรือใช้นามปากกาก็ได้ และสามารถเขียนใหม่เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้
กำหนดส่งผลงาน ภายในเวลาเที่ยงคืนของวันสุดท้ายที่เปิดรับผลงานในแต่ละรายการ
ประกาศผล ติดตามการเผยแพร่ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกได้ทาง อ่านออนไลน์ และเพจเฟ้ซบุ๊ค “สำนักพิมพ์ อ่าน” ตามหมุดหมายวาระสำคัญของแต่ละรายการ อันได้แก่วาระครบรอบ 5 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557, วาระรำลึกการเสียชีวิตของ ครูครอง จันดาวงศ์ เมื่อปี 2504, วาระครบรอบวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475, วาระครบรอบวันที่อัศนี พลจันทร เริ่มเข้าทำงานอัยการเมื่อปี 2484, วาระรำลึกการเสียชีวิตของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เมื่อปี 2497, วาระครบรอบวันสันติภาพไทย จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี 2488, และวาระครบรอบชาตกาล 101 ปีนายผี อัศนี พลจันทร
ระยะเวลาโครงการ
5 พฤษภาคม – 15 กันยายน 2562 จัดเป็นช่วงๆ ทั้งหมด 7 รายการประกวด 13 ประเภทการแข่งขัน (สำหรับรายละเอียดของแต่ละรายการและประเภท รวมทั้งลิงก์ดาวน์โหลดไฟล์ผลงานชวนอ่าน โปรดเลื่อนดูด้านล่าง)
- รายการที่ 1 เขียนใหม่ “นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ในวาระครบรอบ 5 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 2 เขียนใหม่ “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ในวาระรำลึกการเสียชีวิตของ ครูครอง จันดาวงศ์ เมื่อปี 2504 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 3 เขียนใหม่ “นิทานการเมือง เรื่องการปฏิวัติที่ห่าม”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ในวาระครบรอบวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 4 เขียนใหม่ “การละเมิดอำนาจศาล”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ในวาระครบรอบวันที่อัศนี พลจันทร เริ่มเข้าทำงานอัยการเมื่อปี 2484 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 5 เขียนใหม่ “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ในวาระรำลึกการเสียชีวิตของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เมื่อปี 2497 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 6 เขียนใหม่ “จดหมายจากเบอร์ลิน”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ในวาระครบรอบวันสันติภาพไทย จากสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี 2488 [อ่านคำตัดสินที่นี่]
- รายการที่ 7 เขียนใหม่ “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร”
- รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562
- ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 15 กันยายน 2562 ในวาระครบรอบชาตกาล 101 ปีนายผี อัศนี พลจันทร [อ่านคำตัดสินที่นี่]
รางวัล
สำหรับการประกวดรายการที่ 1-6 ผู้ชนะเลิศในแต่ละประเภทของแต่ละรายการ จะได้รับรางวัลมูลค่ารวม 6,000 บาท ได้รับการตีพิมพ์ผลงานบน อ่านออนไลน์ พร้อมคำวิจารณ์จาก “กรรมกร” ผู้ตัดสิน
- box set หนังสือโครงการอ่านนายผีจำนวน 1 ชุดหรือ 20 เล่ม มูลค่า 3,000 บาท
- บัตรกำนัล 2,000 บาทสำหรับซื้อสินค้าสำนักพิมพ์อ่าน
- เงินจำนวน 1,000 บาท
ผู้เขียนใหม่ท่านอื่นๆ ที่ผ่านการคัดเลือกในแต่ละรายการ (จำนวนไม่แน่นอน) มีสิทธิได้รับหนังสือจากโครงการอ่านนายผี 5 เล่มที่เกี่ยวข้องกับรายการประกวดนั้นๆ ไปครอบครอง หรืออาจรับเป็นบัตรกำนัลราคาเท่ากันสำหรับซื้อสินค้าสำนักพิมพ์อ่าน พร้อมตีพิมพ์ผลงานบน อ่านออนไลน์
สำหรับการประกวดรายการสุดท้าย “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร” ผู้ชนะเลิศได้รับรางวัลพิเศษ “ชนะเลิศแต่หนหลัง” เงินรางวัลจำนวน 5,000 บาท พร้อมสิทธิเลือกรับหนังสือของสำนักพิมพ์อ่านได้ทุกเล่ม ได้รับการตีพิมพ์ผลงานบน อ่านออนไลน์ พร้อมคำวิจารณ์ และทาง “คณะกรรมกร” ผู้ตัดสิน อาจพิจารณาให้รางวัลมูลค่าลดหลั่นลงไปสำหรับผลงานอื่นๆ ที่เข้าขั้น ทั้งนี้ ผลการตัดสินของคณะกรรมกรถือเป็นที่สิ้นสุด
“คณะกรรมกร” ผู้ร่วมตัดสิน
- เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ บรรณาธิการ โครงการอ่านนายผี สำนักพิมพ์อ่าน
- พีระ ส่องคืนอธรรม ผู้ช่วยบรรณาธิการ อ่านออนไลน์ สำนักพิมพ์อ่าน
- ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์อ่าน
- ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ที่ปรึกษาสำนักพิมพ์อ่าน
รายการที่ 1 “นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่”
“ศรี อินทรายุธ” เขียนนิทานการเมืองเรื่อง “เด็กกับผู้ใหญ่” ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ การเมือง ฉบับวันที่ 27 ธ.ค. 2490 และเป็นงานเขียนชิ้นแรกๆ ชิ้นหนึ่งของอัศนีภายหลังรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ผ่านไปแล้วหนึ่งเดือนเศษ แม้จะเป็นนิทานการเมืองที่มีเนื้อหาเพียงสั้นๆ แต่มีประเด็นข้องแวะกับเรื่องการเมืองในหลายแง่มุม ทั้งชวนให้นึกมาถึงการเมืองภายใต้ระบอบรัฐประหารที่กำลังวนเวียนมาครบรอบห้าปีในยุคสมัยของเรา และลำพังวิวาทะ “เด็กกับผู้ใหญ่ใครดีกว่ากัน” ก็เพียงพอแล้วที่โครงการ “เขียนใหม่นายผี” จะขอเลือกมาเป็น “ชิ้นงานชวนอ่าน” ประเดิมเป็นเรื่องแรก เพื่อเชิญชวน “เด็กที่กำลังจะเป็นผู้ใหญ่” เขียนภาคต่อ
เชิญชวน เขียนนิทานการเมืองใหม่ในหัวข้อ “นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่ 2019 edition” การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทผู้ที่มีอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
2) ประเภทผู้มีอายุถึงเกณฑ์ได้สิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 ในวาระครบรอบ 5 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557
คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – นิทานการเมือง เรื่องเด็กกับผู้ใหญ่ 2019 edition
รายการที่ 2 “โอ้…อีศาน” และ “อีศานล่ม”
งานในกลุ่มกาพย์กลอนอีก 2 ชิ้นที่นายผีเขียนว่าด้วยสภาพความทุกข์ร้อนยากลำบากของคนอีศาน ซึ่งจะว่าไป อาจนับเป็นภาคต่อหรือภาคตามจาก “อีศาน” อันโด่งดังของเขา ที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้าในเดือนเมษายน 2495
“อีศานล่ม” ตีพิมพ์อยู่ในคอลัมน์ “นายผีเขียนอักษราวลี” ในหนังสือพิมพ์ ปิยมิตรวันจันทร์ ปี 2501 ซึ่งเป็นระยะที่เขากลับมาจากประเทศจีนรอบแรกแล้ว หลังจากที่ต้องหลบหนีการตามล่าภายหลังการกวาดจับนักเขียนนักหนังสือพิมพ์จำนวนมากในกรณีกบฏสันติภาพ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495
ส่วน “โอ้อีศาน” เป็นงานที่ไม่ทราบวันเวลาที่เขียนหรือตีพิมพ์ที่ชัดเจน เนื่องจากเรานำต้นฉบับมาจากงานที่ปรากฏอยู่ในการอ้างอิงของคุณสุจิรา คุปตารักษ์ ในปริญญานิพนธ์เรื่อง “วิเคราะห์บทร้อยกรองของ ‘นายผี’“ ว่าเป็นสำเนาลายมือเขียนที่ได้รับมาจากบุคคลผู้ใกล้ชิดกับนายผีมาอีกต่อหนึ่ง ขณะที่ในต้นร่างงานของคุณวิมล พลจันทร ผู้รวบรวมต้นฉบับผลงานกาพย์กลอนทั้งหมดของนายผี ระบุว่า “โอ้อีศาน” ตีพิมพ์อยู่ใน ปิยมิตรวันจันทร์ ปี 2502 ทว่าสำนักพิมพ์อ่านสืบค้นไม่พบงานดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
แต่ทั้ง “อีศานล่ม” และ “โอ้อีศาน” ก็ทำให้เราเห็นถึงความคิดคำนึงของอัศนีต่อพื้นที่อันเป็นอีกความหวังหนึ่งของเขา เป็นความหวังที่จะเห็นอีศานนับแสนล้านตื่น ลุก และโลดไป
เชิญชวน เขียนบทวิจารณ์เป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง ภาษาไทยหรือภาษาลาวหรือภาษาอีสาน ต่อบทกวีเกี่ยวกับอีสานสองชิ้นของนายผี คือ “โอ้...อีศาน” กับ “อีศานล่ม” (โดยอาจเปรียบเทียบหรือไม่ก็ได้ กับบทกวี “อีศาน!” ซึ่งมีชื่อเสียงกว่า) หัวข้อกำหนดเองโดยผู้เขียนใหม่ การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทร้อยแก้ว
2) ประเภทร้อยกรอง
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ในวาระรำลึกการเสียชีวิตของ ครูครอง จันดาวงศ์ เมื่อปี 2504
คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – วิจารณ์ “อีศานล่ม” และ “โอ้…อีศาน”
รายการที่ 3 “นิทานการเมือง เรื่องการปฏิวัติที่ห่าม”
งานเขียนที่อาจนับเป็นทั้งนิทานการเมืองและเป็นบันทึกเหตุการณ์รัฐประหารซ้อนในวันที่ 1 ตุลาคม 2491 เพื่อตอบโต้และโค่นอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ทำไม่สำเร็จ และตีพิมพ์ในระหว่างที่สถานการณ์ยังสดๆ ร้อนๆ อยู่ด้วย โดยมีความยาว 2 ตอน ลงในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ การเมือง วันที่ 30 ต.ค. และ 13 พ.ย. 2491
“กุลิศ อินทุศักดิ์” ผู้เขียน สมมุติตัวละครชื่อ “กุลิศ” บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในคืนรัฐประหารที่เขาได้พบเห็นและไปสืบข่าว (nose) มา โดยที่กุลิศยังได้สนทนาถกเถียงกับฟาตีมะห์ เพื่อนหญิงของเขา เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างรัฐประหารกับปฏิวัติ รวมทั้งสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการเมืองภายในประเทศขณะนั้นด้วย
เชิญชวน เขียนนิทานการเมืองหรือบทความใหม่ในหัวข้อ “การปฏิวัติที่ห่าม 2019 edition” การประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทนิทานการเมือง
2) ประเภทบทความ
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 24 มิถุนายน 2562 ในวาระครบรอบวันปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475
รายการที่ 4 “การละเมิดอำนาจศาล”
นามปากกา “สายฟ้า” ปรากฏในบทความขนาดยาวหลายชิ้นในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ การเมือง ช่วงปี 2491 ซึ่งสอดคล้องกับเนื้อหาโดยรวมของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ที่มีรายงานข่าวและข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองชัดเจน และเป็นพื้นที่การทำงานวิพากษ์วิจารณ์การเมืองของอัศนีด้วยรูปแบบบทความ
“การละเมิดอำนาจศาล” ตีพิมพ์ลงใน การเมือง ฉบับวันที่ 27 พ.ย. 2491 โดยนำคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒/๒๔๙๑ ซึ่งได้ให้คำวินิจฉัยเรื่องละเมิดอำนาจศาลไว้ มาเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงอำนาจตุลาการที่พึงเป็นภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็เพิ่มเติมรายละเอียดข้อขัดแย้งระหว่างผู้พิพากษากับอัยการที่เป็นคดีความดังกล่าว และเสนอข้อคิดเห็นจากสายตาของนักกฎหมายและอัยการคนหนึ่ง
เชิญชวน เขียนบทความต่อยอดประเด็นที่เสนอในบริบทปัจจุบันของประเทศ หัวข้อกำหนดเองโดยผู้เขียนใหม่ การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพเกี่ยวกับกฎหมาย
2) ประเภทผู้ศึกษาหรือประกอบอาชีพอื่นๆ
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ในวาระครบรอบวันที่อัศนี พลจันทร เริ่มเข้าทำงานอัยการเมื่อปี 2484
รายการที่ 5 “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!”
บันทึกรายงานข่าวต่างประเทศชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร การเมือง วันที่ 16 ธ.ค. 2493 กุลิศ อินทุศักดิ์ หยิบเอาเหตุการณ์การประท้วงศาลจักรวรรดินิยมอังกฤษของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ มาเขียนเล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น พร้อมกับให้ลำดับความเป็นมาของเหตุการณ์การพรากสามีภรรยามุสลิมคู่หนึ่งให้แยกทางกัน เพียงเพราะฝ่ายหญิงผู้มีเชื้อสายดัชต์ ไม่ได้รับการยินยอมจากมารดาผู้ทิ้งบุตรสาวไปในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องภายในครอบครัวนี้จึงกลายเป็นชนวนให้คนจำนวนมากในสิงคโปร์ออกมาประท้วงต่อต้านอังกฤษ
แน่นอนว่ากุลิศย่อมเขียนจากจุดยืนข้างผู้ถูกกระทำและคัดค้านจักรวรรดินิยม แต่ก็เป็นงานอีกรูปแบบหนึ่งที่เราจะมองเห็นความเป็นนักหนังสือพิมพ์ของอัศนี พลจันทร และพลอยสงสัยถึงการเล่าข่าวในสื่อสารพัดรูปแบบในปัจจุบัน
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่านั้นคือการนำเสนอข่าวนี้โดยละเอียดให้เป็นที่รับรู้ถึงการกดขี่ ที่แม้กระทำต่อปัจเจกบุคคล แต่ส่งผลสะเทือนให้คนร่วมสังคมลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องร่วมกัน และการนำข่าวดังกล่าวมารายงานข้ามพรมแดน ก็สะท้อนสปิริตของความมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันหรือ solidarity ที่จะร่วมเป็นปากเสียงและร่วมต่อสู้คัดง้างกับการกดขี่ดังกล่าวนั้นที่เกิดขึ้นกับชาวมลายูมุสลิม
เชิญชวน เขียนรายงานข่าวเรื่องเกี่ยวกับชนมุสลิมมลายูขึ้นใหม่ 1 เรื่อง หัวข้อกำหนดเองโดยผู้เขียนใหม่ การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทข่าวเกี่ยวกับอินโดนีเซีย ติมอร์เลสเต มาเลเซีย บรูไน หรือสิงคโปร์
2) ประเภทข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 13 สิงหาคม 2562 ในวาระวันรำลึกการเสียชีวิต ฮัจยีสุหลง บิน อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา
คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – “อัลละหุ อักบฺร! มฺรเดกะห มุสลีมีน! ตันหยงมลายู เฮาะฆ โอรังมลายู!”
รายการที่ 6 “จดหมายจากเบอร์ลิน”
เรื่องสั้นในรูปแบบจดหมายจาก “ปทุม” ถึงชายคนรัก ชื่อ “อรรถ” โดย “อ.ส.” กำหนดให้ปทุมเดินทางไปร่วมงานฉลองของเยาวชนและนักศึกษาสากลครั้งที่ 3 ที่เบอร์ลิน แล้วเขียนเล่าถึงการเดินทางของเธอ เพื่อนำไปสู่ประเด็นความก้าวหน้าของผู้หญิงและการเรียกร้องสันติภาพต่อต้านสงคราม ซึ่งในประเทศไทยในราวปี 2494-2495 ก็ได้เกิดขบวนการสันติภาพรณรงค์ประเด็นดังกล่าวอย่างแข็งขันด้วยเช่นกัน
เรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือไปจากบทความและกาพย์กลอนที่อัศนีเขียนออกมามากมายในระยะนั้นในสิ่งพิมพ์หลายฉบับด้วยกัน เพื่อร่วมรณรงค์คัดค้านสงครามเกาหลีและเรียกร้องสันติภาพ งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร วันที่ 6 ส.ค. 2494 แต่หลังจากนั้นอีกปีเศษขบวนการสันติภาพไทยก็ปิดฉากลงเพราะการกวาดจับผู้ต่อต้านรัฐบาลครั้งใหญ่ สื่อสิ่งพิมพ์ก้าวหน้าทั้งหลายก็พลอยพับฐานรอเวลาตื่น ลุก และโลดขึ้นใหม่อีกครั้งในราวปี 2500
เชิญชวน เขียนจดหมายขึ้นใหม่ ในหัวข้อ “จดหมายถึงเบอร์ลิน ปี 2019” หรือ “จดหมายจากเบอร์ลิน ปี 2019” ก็ได้ การประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท
1) ประเภทผู้อาศัยอยู่นอกราชอาณาจักรไทย
2) ประเภทผู้อาศัยอยู่ภายในราชอาณาจักรไทย
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ในวาระครบรอบวันสันติภาพไทย จากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488
รายการที่ 7 “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร”
คำประกาศของนายผีว่า เขาไม่ได้ชื่อผี แต่คือพระศิวะผู้เป็นนายของผี และจะมาแก้เก่งพวกภูตผี ในกาพย์กลอน “นายผีคือใคร?” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2489 วันนั้นเป็นวันครบ 5 ปีที่กองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม นี่คือการปักหมุดอย่างทะนงตนของนักเขียนวัย 28 ปี ในขณะนั้น ว่าเขาตัดสินใจจะทำอะไรต่อไปในสถานการณ์ทางการเมืองที่ฝ่ายถืออุดมการณ์ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในจุดวิกฤต และเริ่มนับถอยหลังสู่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลต่อเนื่องมาถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยในบ้านเมืองปัจจุบันด้วย
ในปลายปี 2489 นั้น อัศนี พลจันทร รับราชการในตำแหน่งอัยการมาเป็นเวลา 5 ปีแล้ว และนานเท่ากันกับที่นายผี อินทรายุธ สายฟ้า กุลิศ อินทุศักดิ์ ทำงานเขียนของพวกเขา แต่นับจากจุดนี้ไป ทั้งตัวตนและงานเขียนในทุกนามปากกาก็จะยิ่งท้าทายอำนาจกดขี่ทั้งมวล และท้ายที่สุดยังพาให้นักปฏิวัติวัยเลยสี่สิบคนหนึ่ง ก้าวเท้าออกจากประเทศ เพื่อยืนกรานการทำงานของตนจนวาระสุดท้าย
สำนักพิมพ์อ่านได้จัดพิมพ์หนังสือรวมผลงานชุดสมบูรณ์ของอัศนี พลจันทร ในวาระ 100 ปีชาตกาลของเขาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2561 โดยหวังว่าจะส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้อ่านงานของนักปฏิวัติของประชาชนคนหนึ่ง และใช้สปิริตวิพากษ์วิจารณ์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขา ค้นหาทิศทางที่จะก้าวเดินต่อไปในยุคสมัยของตนเอง
ชิ้นงานชวนอ่าน ในรายการที่ 7 “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร” จึงเป็นงานเขียนทั้งหมดของอัศนี พลจันทร โดยที่ผู้เขียนใหม่นายผียังอาจสืบค้นข้อมูลประกอบจากรายการเสวนาต่างๆ ที่สำนักพิมพ์อ่านเป็นผู้ร่วมจัด เช่น
- รายการ “กวีของนายผี และการเมืองของอัศนี พลจันทร” ในวาระครบรอบชาติกาล 95 ปีของนายผี อัศนี พลจันทร วันที่ 18 กันยายน 2556 [วิดีโองาน ช่วงของเดือนวาด พิมวนา, ช่วงของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ช่วงของเนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์]
- รายการ “วรรณกรรมของนายผี กับความยุติธรรมของอัศนี พลจันทร” ในวาระครบรอบชาติกาล 100 ปีของนายผี อัศนี พลจันทร วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 [วิดีโองาน]
- ทั้งนี้ นอกจากคอลัมน์อ่านนายผี บน อ่านออนไลน์ แล้ว สำนักพิมพ์อ่านยังได้เคยเผยแพร่ Notes และ Videos บางส่วนผ่านทางหน้าเพจเฟ้ซบุ๊ก สำนักพิมพ์ อ่าน และมีงานเผยแพร่ใน YouTube ทางช่องรายการ Read Channel ด้วย ผู้เขียนใหม่นายผีจึงสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้โดยสะดวก
เชิญชวน เขียนชิ้นงานรูปแบบใดก็ได้ (ไม่ว่าจะเป็น กาพย์กลอน นิทานการเมือง จดหมาย รายงานข่าว บทวิจารณ์ บทความ ฯลฯ หรือผสมผสานกันหลายรูปแบบ) ความยาว 5-20 หน้ากระดาษ A4 ในหัวข้อ “ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร”
รับผลงานภายในวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562
ประกาศผลตัดสินและเผยแพร่ผลงานวันที่ 15 กันยายน 2562 ในวาระครบรอบชาตกาล 101 ปีนายผี อัศนี พลจันทร
คำตัดสิน “เขียนใหม่นายผี” – ยุทธวิธีนายผี ยุทธศาสตร์อัศนี พลจันทร
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ [email protected]